Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

แม้ข้อเสนอ “นครปัตตานี” จะเป็นแท้งไปในหน้าสื่อมวลชนกระแสหลัก แต่ดูเหมือนว่า “ข้อเสนอทางการเมือง” ชิ้นนี้จะยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ในแวดวงประชาคมไฟใต้ จนนำไปสู่การขยับขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่เสียงสะท้อนจากฝั่งฝากรัฐบาลที่บอกปัดปฏิเสธและแอบอ้างว่าการปรับโครงสร้างองค์กรบริหารใหม่ของรัฐบาลภายใต้การผลักดันกฎหมายฉบับใหม่เป็นการจัดการบริหารปกครองใน “เขตพิเศษ” นั่น ดูจะแห้งแล้งไร้ความหมาย ในเมื่อการถอน “ศอ.บต.” ให้เป็นอิสระและมีกฎหมายรองรับ พร้อมทั้งดุลอำนาจกับ กอ.รมน.นั้น เป็นเพียงการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในกลไกของรัฐเอง หาได้มุ่งสนใจเน้นหนักยังความสัมพันธ์ระหว่าง “ศูนย์กลาง” กับ “ท้องถิ่น” ในรูปแบบใหม่ไม่

หากเรามองว่าความรุนแรงที่ปะทุขึ้นสะสมต่อเนื่องในพื้นที่จนถึงทุกวันนี้เป็นปัญหาที่มีหัวใจหลักคือเรื่อง “การเมือง” หรือความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง “กรุงเทพฯ” กับผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันอุดมด้วยความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม กระทั่งมีคนจำนวนหนึ่งเห็นควรต้องเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ดังกล่าวด้วยการใช้ความรุนแรง อันส่งผลต่อเนื่องสู่ปัญหาต่างๆ มากมายที่ปะทุขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงเช่นนี้ การคลายตัวของปัญหาก็ควรต้องให้ความสำคัญกับ “การเมือง” ในแง่นี้นี่เอง หรือพูดอีกแบบคือการให้การต่อรองระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นเป็นไปได้ด้วยหนทางที่ไม่จำต้องห้ำหั่นกันถึงชีวิตนั่นเอง

แน่นอนว่าเมื่อความรุนแรงอุบัติขึ้นในฐานะเครื่องมือของการต่อรอง ย่อมมีปฏิกิริยาเพื่อต่อต้านหรือคงสภาพทางการเมืองแบบเดิมไว้ แต่กระนั้นเราเองก็ไม่ควรลืมว่ามีผู้เล่นอีกไม่น้อยที่ต้องการนำพาความขัดแย้งครั้งนี้ไปสู่สภาวะที่ไม่จำเป็นต้องต่อรองด้วยชีวิต “พื้นที่กลาง” และผู้ที่โลดเล่นอยู่ในพื้นที่นี้จึงเป็นตัวละครที่สำคัญในการแสวงหาทางเลือกของทางออก หาก “ข้อเสนอทางการเมือง” ที่พวกเขายึดกุมและขับเคลื่อนมีพลังเพียงพอ อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้ตัวละครทุกฟากฝ่ายเข้าร่วมมีบทบาท เป็นไปได้ว่าจะส่วนดึงดูดคู่ขัดแย้งหลักให้หันมาเพ่งมอง “ทางเลือก” นี้ก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ การรับมือต่อกระแส “นครปัตตานี” ของภาคประชาสังคมในพื้นที่จึงน่าสนใจมากกว่าท่าทีของรัฐบาล เมื่อพวกเขาริเริ่มค้นหาและถกเถียงถึงความเป็นไปได้ของการจัดการบริหารปกครองในรูปแบบใหม่ที่จำกัดกรอบให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ โดยหันกลับไปพิจารณาบทเรียนและประสบการณ์การจัดการรูปแบบการกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศผ่านงานวิจัยและบทความวิชาการหลากหลาย

ที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ เครือข่ายองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ได้พยายามหมุนประเด็นเหล่านี้ด้วยการจัดวงคุยย่อยๆ ทั้งในปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ก่อนที่จะกำหนดให้มีเวทีสัมมนาวิชาการ “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?” ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ดูกำหนดการ) ภายใต้การสนับสนุนด้านวิชาการของศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี (ถ่ายทอดสดผ่าน www.deepsouthwatch.org)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net