เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังค้านแผน PDP 2010

เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังค้าน กพช.พิจารณาแผน PDP 2010 ฉบับ 3 ชี้เปิดรับฟังความเห็นแค่ครึ่งวัน ไม่ให้ความสำคัญการมีส่วนร่วม นักวิชาการเผยแผนอนุรักษ์พลังงานฯ ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 49 ล้านตัน/ปี เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 นิวเคลียร์ 5

 
 
 
วันที่ 7 มิ.ย.55 เมื่อเวลา 11.20 น.ที่ศาลาชุมชุน มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง เครือข่ายประชาชน อ.กันตัง จ.ตรัง เปิดแถลงข่าวการคัดค้านร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573 (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นำเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 8 มิ.ย.55 โดยมีชาวบ้านร่วมประมาณ 20 คน
 
นายชนะชัย สังข์แดหวา แถลงว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.55 กระทรวงพลังงานได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า2555-2573 (PDP2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาในวันที่ 8 มิ.ย.55 โดยร่างเนื้อหาได้กำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เมื่อสิ้นสุดปี 2573 ไว้ที่ประมาณ 71,087 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตปัจจุบันที่มีอยู่ 32,629 เมกะวัตต์
 
นายชนะชัย แถลงอีกว่า จากเอกสารนำเสนอของกระทรวงฯ ตามแผน PDP2010 ปรับปรุงครั้งที่ 2 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 18,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 7,740 เมกะวัตต์ ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ  10,982 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 8,319 เมกะวัตต์ พลังงานหมุนเวียน 4,433 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4,000 เมกะวัตต์
 
สำหรับแผน PDP2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 25,451 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าซื้อจากต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 6,374 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส 750 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์
 
“การจัดทำร่างแผน PDP มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี 2554 – 2573เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.54 ที่ได้กำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานไว้ที่ 96,653 ล้านหน่วย ในปี 2573 ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อราคาเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่กระทรวงพลังงานกลับกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานไว้ในร่างแผน PDP ฉบับนี้เพียงร้อยละ 20 หรือ 3,494 เมกะวัตต์ภายใน 20 ปี ของเป้าหมายที่ครม.ให้ความเห็นชอบ” นายชนะชัย ระบุ
 
นายไตรณรงค์ เกื้อเส้ง แถลงว่า เครือข่ายประชาชน อ.กันตัง จ.ตรัง มีความเห็นว่ากระทรวงพลังงานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.55 แค่ครึ่งวัน และครั้งเดียวในกรุงเทพ โดยส่งหนังสือเชิญในวันที่ 30 พ.ค.55 อีกทั้งเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าน้อยมากในการพิจารณาเอกสารร่าง ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคมากขึ้น เพราะแผนนี้อาจจะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้นทุนการผลิตจะกลายมาเป็นภาระแก่ภาคประชาชน
 
นายไตรณรงค์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลปัจจุบันมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.54 เห็นชอบเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน 17,470 เมกะวัตต์ ภายใน 20 ปี หากเพิ่มประสิทธิภาพตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ก็สามารถตัดพลังงานนิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ ถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ลดโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และการนำเข้าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้อีก 16 โรง 9,500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 400,000 ล้านบาทและสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับระบบพลังงานของประเทศ
 
“หากคิดกำลังผลิตไฟฟ้าที่ได้จากแผนอนุรักษ์พลังงาน อีกร้อยละ 80 ที่ถูกตัดออก จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิดที่ จ.ตรัง ภาคใต้ และภาคอื่นๆ ของประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถลดความขัดแย้งในพื้นที่ได้” นายไตรณรงค์ กล่าว
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.55 ที่ห้องประชุมอาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สถาบันวิจัยและพัฒนาหน่วยวิจัยพลังงานหมุนเวียน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นศูนย์ประสานงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา และองค์กรเครือข่าย จัดเสวนา “ปัญหาพลังงาน...ทำไมจึงกลายเป็นปัญหาของท้องถิ่น” โดยมีผู้เข้าร่วมจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร และตรัง ประมาณ 300 คน
 
นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการด้านพลังงานมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นำเสนอผ่านการเสวนาว่า แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554 – 2573) ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มีศักยภาพในการประหยัดไฟฟ้าภายในปี 2573 ภาคอุตสาหกรรม 33,500 ล้านหน่วย ภาคอาคารธุรกิจขนาดใหญ่27,420 ล้านหน่วย ภาคอาคารขนาดเล็กและบ้านเรือน 23,220 ล้านหน่วย รวม 84,140 ล้านหน่วย หรือ 24.2% ของแผน PDP 2010 โดยกำหนดเป้าหมายของแผนฯ ประมาณร้อยละ 82 ของศักยภาพ หรือประมาณ 69,000 ล้านหน่วย หรือประมาณ 10,500 เมกะวัตต์ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 49 ล้านตันต่อปี ประหยัดพลังงานได้ 272,000 ล้านบาทต่อปี
 
แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี เป็นแผนซึ่งมีความคุ้มค่าในการลงทุน คิดเฉลี่ย 2,000-6,000 บาทต่อตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เป้าหมายการประหยัดไฟฟ้าในปี 2573 เทียบเท่ากับการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดได้ 10,500 เมกะวัตต์ หากรวมกำลังการผลิตสำรอง 15% แผนอนุรักษ์พลังงานฯ สามารถลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ 12,077 เมกะวัตต์ สามารถยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง (7,200 เมกะวัตต์) บวกกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง (5,000 เมกะวัตต์)
 
นายศุภกิจ กล่าวด้วยว่า แผนพัฒนาพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี พ.ศ.2555-2564 ของกระทรวงพลังงาน สามารถพัฒนาด้านพลังงานจากเปอร์เซ็นต์การทดแทนฟอสซิล 25% ไม่รวม NGV กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 9,201 เมกะวัตต์ ปริมาณความร้อน 9,335 ktoe เชื้อเพลิงชีวภาพ 39.97 ล้านลิตรต่อวัน เปอร์เซ็นต์ทดแทนน้ำมัน 44% สำหรับด้านเศรษฐกิจสามารถลดการนำเข้าน้ำมัน 5.74 แสนล้านบาท ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 4.42 แสนล้านบาท ด้านสิ่งแวดล้อม การลด CO2 จำนวน 76 ล้านตันต่อปี ในปี 2564 รายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิต 2.3 หมื่นล้านบาท ด้านการพัฒนางานนวัตกรรมและเทคโนโลยี แผนงานวิจัยมีแผนปฏิบัติการชัดเจน ปี 2555-2559
 
ส่วนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573 (แผน PDP 2010) ของกระทรวงพลังงาน พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า จาก 22,315 เมกะวัตต์ ในปี 2552 เป็น 52,890 เมกะวัตต์ ในปี 2573 และพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 146,182ล้านหน่วยเป็น 347,947 ล้านหน่วยในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 29,212 เมกะวัตต์ ในปี 2552 เป็น 65,547 เมกะวัตต์ ในปี 2573
 
กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 2553-2573 เพิ่มขึ้น 54,005 เมกะวัตต์ โดยมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 16,670 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 11,669 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 5,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 8,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 512 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 4,617 เมกะวัตต์ และระบบผลิตพลังงานร่วมไฟฟ้า-ความร้อน 7,137 เมกะวัตต์
 
“ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจนถึงเดือนมิถุนายน 2554 เท่ากับ 23,900 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าการพยากรณ์ตามแผน PDP 2010 คือ 24,568 เมกะวัตต์ ไปแล้ว 668 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับกำลังผลิตสำรองอีก 15% จึงสามารถเลิกโครงการโรงไฟฟ้าได้แล้ว 768 เมกะวัตต์” นายศุภกิจ กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท