Skip to main content
sharethis

พูดคุยกับ "เน โพน ลัต" อดีตนักโทษการเมืองที่ปัจจุบันมุ่งทำงานส่งเสริมการเข้าถึงไอซีที และรณรงค์แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคด้านการสื่อสารในพม่า โดยเขาตั้งสังเกตการเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารในพม่าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และน่าจะเร็วขึ้นอีกเมื่อบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ 2 แห่งกำลังจะเข้ามาลงทุนระบบ 3G ในประเทศ

ขณะที่อีกด้านหนึ่งการเผยแพร่ความเกลียดชังผ่านโลกออนไลน์ในพม่า โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ก็เป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข เขาและเพื่อนๆ จึงเปิดตัวการรณรงค์ "พูดจาภาษาดอกไม้" ต่อต้านการใช้ถ้อยคำแห่งความเกลียดชังผ่านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารรูปแบบต่างๆ โดยเริ่มเปิดตัวการณรงค์ดังกล่าวทั่วประเทศในวันนี้

000

เน โพน ลัต อดีตนักโทษการเมืองและผู้อำนวยการ Myanmar ICT for Development Organization และภาพโปสเตอร์สำหรับการรณรงค์ "พูดจาภาษาดอกไม้" ต่อต้านการใช้ถ้อยคำแห่งความเกลียดชังผ่านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวการณรงค์ดังกล่าวทั่วพม่าในวันที่ 4 เม.ย. 57 (ที่มา: ประชาไท)

 

คลิปสัมภาษณ์ "เน โพน ลัต" อธิบายการทำงานของ MIDO ทำอะไรบ้างและใครคือกลุ่มเป้าหมายของการอบรม รวมทั้งอธิบายการณรงค์ "พูดจาภาษาดอกไม้" ที่จะเริ่มเปิดตัวการณรงค์เดือนเมษายนนี้ (เรียบเรียงวิดีโอโดย วศิน ปฐมหยก)

 

เน โพน ลัต (Nay Phone Latt) ชายหนุ่มที่ยิ้มและหัวเราะง่าย นั่งคุยกับประชาไทในบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 21 มีนาคม 2557 ในนครย่างกุ้ง มันเป็นเวลาไม่ถึง 2 ปีหลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำอินเส่ง ซึ่งเขาถูกตัดสินจำคุกจากความผิดหลายกระทงรวมกันเป็นเวลา 20 ปี 6 เดือน

"ผมมีการ์ตูนล้อเลียนผู้นำทหารอยู่ในอีเมล์ของผม – ความผิดฐานนี้ผมถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และผมก็เข้าร่วมในการปฏิวัติชายจีวร ในปี 2007 ความผิดฐานนี้ผมถูกตัดสินจำคุก 2 ปีและก็ข้อหาสุดท้ายคือ ผมมีวีซีดีที่ผิดกฎหมายและผมส่งต่อวีซีดีนั้นให้เพื่อน ผมถูกตัดสินจำคุกในความผิดฐานนี้ 3 ปี กับ 6 เดือน รวมแล้วเป็น 20 ปี กับ 6 เดือน แต่โชคดีที่ผมติดคุกจริงๆ แค่ 4 ปี” เน โพน ลัต กล่าวพร้อมหัวเราะปิดท้าย เมื่อเล่าถึงโทษจำคุกที่เขาถูกตัดสินโดยศาลในเรือนจำอินเส่งเมื่อปี 2554หลังจากที่ถูกกักขังเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว

อย่างไรก็ตามภายใต้บรรยากาศของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในพม่า เขาได้รับการอภัยโทษออกมาในต้นปี 2555 และเขาก็ไม่ทำให้ 4 ปีในเรือนจำต้องสูญเปล่า เขาเริ่มการก่อตั้งองค์กร Myanmar ICT for Development Organization หรือ MIDO เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร ให้กับประชาชนหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนในชนบท คนรุ่นใหม่ และคนสูงอายุ

ในอีกด้านหนึ่ง พื้นเพของเขานั้นเป็นวิศกรคอมพิวเตอร์ที่มีประสบการณ์ทำงานในสิงคโปร์มากว่า 3 ปี ก่อนที่จะกลับสู่บ้านเกิด ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฐานะสมาชิกพรรค NLD และเปิดอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็เป็นบล็อกเกอร์ และทำหน้าที่เป็นสื่อทางเลือกในการสื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติชายจีวรในปี 2550 คนหนุ่มคนนี้จึงเป็นนักโทษการเมืองที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักทั้งในฐานะนักโทษการเมือง และในฐานะนักเขียนและบล็อกเกอร์

เขาได้รับรางวัล จากสมาคมนักเขียน PEN สหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นผู้เผยแพร่งานเขียนส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกด้วยความกล้าหาญ เมื่อปี 2553

ประชาไทพูดคุยกับเขาถึงข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารในพม่า ซึ่งต้องบอกว่า เปลี่ยนไปอย่างเร็ว และน่าจะเร็วขึ้นอีกเมื่อบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อีก 2 แห่งกำลังจะเข้ามาลงทุนระบบ 3G ในประเทศ

แต่แม้เสรีภาพในการสื่อสารจะเป็นประเด็นหลักที่เขาให้ความสำคัญ แต่เมื่อปัจจุบันพม่ากำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อย่างรุนแรงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐยะไข่ เขาเห็นว่า การเผยแพร่ความเกลียดชังผ่านโลกออนไลน์ ก็เป็นอีกวาระเร่งด่วนหนึ่งที่จะต้องเร่งรณรงค์ ซึ่งแคมเปญดังกล่าว มีการเปิดตัวเพื่อรณรงค์ทั่วประเทศในวันนี้ (4 เม.ย.) โดยเราได้พูดคุยกับเขาในประเด็นนี้ด้วย

 

000

"เราอาจจะพูดได้ว่าเรามีเสรีภาพขึ้นมาแล้วระดับหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเผด็จการทหาร แต่ปัญหาคือ ตอนนี้ก็ยังคงมีกฎหมาย และข้อบังคับจำนวนมากที่บัญญัติขึ้นในยุคของเผด็จการทหาร และยังคงบังคับใช้อยู่" เน โพน ลัต ผู้อำนวยการ MIDO

 

เสรีภาพการสื่อสารในพม่า และกฎหมายสมัยรัฐบาลทหารที่ยังมีผลบังคับใช้

เน โพน ลัต ชี้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลเผด็จการทหารแล้ว ตอนนั้นเว็บไซต์ เว็บเมล์ และเครือข่ายออนไลน์ถูกปิดกั้น เช่น gmail, gtalk, หรือแม้แต่บล็อกต่างๆ ล้วนถูกปิดกั้น การเปิดอินเทอร์เน็ตคาเฟเป็นเรื่องผิดกกฎหมาย การใช้ gmail เป็นเรื่องผิดกกฎหมาย

แต่ปัจจุบันนี้ รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ข่าว หรือบล็อก รัฐบาลเปิดสำหรับหลายๆ อย่าง คุณสามารถใช้ gmail ได้อย่างถูกกฎหมาย และสามารถเปิดอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ได้ เราอาจจะพูดได้ว่าเรามีเสรีภาพขึ้นมาแล้วระดับหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเผด็จการทหาร แต่ปัญหาคือ ตอนนี้ก็ยังคงมีกฎหมาย และข้อบังคับจำนวนมากที่บัญญัติขึ้นในยุคของเผด็จการทหาร และยังคงบังคับใช้อยู่

กฎหมายที่เป็นที่รู้จักกันมากคือกฎหมาย Electronic Transactions Law หรือกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกฎหมายนี้บังคับใช้สมัยรัฐบาลทหารเมื่อปี 2547และรัฐบาลทหารก็ใช้กฎหมายนี้ในการส่งคนจำนวนมากเข้าคุกและจองจำเป็นเวลาหลายปี ทั้งนักการเมืองและนักกิจกรรมทางสังคม กฎหมายฉบับถูกใช้มากและเป็นที่รู้จักดีในช่วงการปฏิวัติชายจีวร เมื่อปี 2550 ซึ่งรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการจับกุมนักการเมือง และมันยังเป็นกฎหมายที่ยังบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เองที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในส่วนของความผิดและบทลงโทษ ซึ่งแก้ไขลดโทษลงจากเดิมจำคุก 7-15 ปี มาเป็น 5-7 ปี แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขแค่ในส่วนของการลดโทษนั้นผมคิดว่าไม่เพียงพอ เพราะยังมีตัวบทอีกหลายข้อที่ต้องการการแก้ไขปรับปรุง

มาตรการอีกอย่างก็คือ PAC Law หรือ Public Access Center เป็นกฎหมายที่จัดระเบียบการเปิดอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ในประเทศพม่า ถ้าคุณจะเปิดอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ คุณต้องจดทะเบียนตามที่กำหนดไว้ใน PAC Law ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็มีข้อบังคับที่เคร่งครัดออยู่มากและยังคงบังคับใช้อยู่

กฎหมายอีกฉบับก็คือ Telecommunication Law ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2555 กฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้บริษัท Telenor และ Ooredoo สามารถมาลงทุนในประเทศพม่าได้ นี่ก็ต้องการการปรับปรุงเช่นกัน

 

คนรุ่นใหม่และการเข้าถึงสมาร์ทโฟน และพื้นที่ห่างไกลจากอินเทอร์เน็ต

เน โพน ลัต ระบุว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมือถือในประเทศนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ “ผมคาดว่า หลังเดือนสิงหาคม บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่าง Telenor และ Ooredoo จะสามารถเริ่มให้บริการระบบ 3G ได้ และคาดว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมือถือจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

“และคุณก็จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่นั้นใช้สมาร์ทโฟน ใช้อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊กเกือบจะตลอดเวลา คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะให้ความสนใจมากกับการเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมออนไลน์”

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ห่างไกลในพม่ายังคงมีความยากลำบากในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเน โพน ลัต ชี้ให้เห็นข้อจำกัดนี้ว่า “คุณจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่นี้อยู่ในย่านเมืองใหญ่ แต่ถ้าคุณไปอยู่ในพื้นที่ชนบท คุณก็จะไม่เห็นปรากฏการณ์แบบนี้ ในพื้นที่ชนบท คนในหมู่บ้านบางแห่งก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ คนในพื้นที่ชนบทบางที่ก็ไม่มีคอมพิวเตอร์ และบางที่ก็ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้”

“เมื่อเราคิดถึงประเทศในภาพรวมแล้ว เราไม่สามารถพูดได้หรอกว่าประชาชนชาวพม่าเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสื่อสารในระดับที่ดี”

เขากล่าวด้วยว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับพื้นที่ในชนบทบางแห่งที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสื่อสาร เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณจะใช้อินเทอร์เน็ต คุณก็ต้องมีไฟฟ้า แต่ในหมู่บ้านหลายๆ แห่งไม่มีไฟฟ้า พวกเขาไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมือถือได้เลย นี่เป็นปัจจัยพื้นฐานเลยคือคนต้องเข้าถึงไฟฟ้าและนี่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลแต่รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ประชาชนในพื้นที่ชนบทส่วนหนึ่งก็ใช้พลังงานจากน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อที่จะเข้าถึงไฟฟ้า

 

คลิปสัมภาษณ์ "เน โพน ลัต" อธิบายการทำงานของ MIDO ทำอะไรบ้างและใครคือกลุ่มเป้าหมายของการอบรม รวมทั้งอธิบายการณรงค์ "พูดจาภาษาดอกไม้" ที่จะเริ่มเปิดตัวการณรงค์เดือนเมษายนนี้ (เรียบเรียงวิดีโอโดย วศิน ปฐมหยก)

 

พูดจาภาษาดอกไม้” แคมเปญต่อต้านความเกลียดชัง

โปสเตอร์สำหรับการรณรงค์ "พูดจาภาษาดอกไม้" ต่อต้านการใช้ถ้อยคำแห่งความเกลียดชังผ่านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารรูปแบบต่างๆ โดยในภาพโปสเตอร์เป็นภาพหญิงสาวกับกิ่งดอกประดู่ อันมีความเป็นทั้งการ "พูดจาภาษาดอกไม้" และยังเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์พม่า หรือติงยานด้วย (ที่มา: MIDO/แฟ้มภาพ)

 

เน โพน ลัต เล่าถึงกิจกรรมที่ทำภายหลังจากได้รับการปล่อยตัวว่า ได้ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งองค์กรที่เรียกว่า MIDO – Myanma ICTfor Development Organization “เราโฟกัสที่การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร และเรามีการจัดอบรมให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ และความรู้พื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร เรายังให้ความสนใจเรื่องของนโยบายด้วย เราพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายที่ดีด้านเทคโนโลยีสื่อสารและพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขข้อกฎหมายและนโยบายด้านเทคโนโลยีสื่อสาร”

เขาเล่าถึงกิจกรรมที่เริ่มรณรงค์ในเร็วๆ นี้ ด้วยว่า “ที่สำคัญอีกประการคือ ตอนนี้เราเริ่มการรณรงค์เพื่อต่อต้าน “ถ้อยคำที่อันตราย” ตอนนี้เราเริ่มมีเสรีภาพในการสื่อสาร แต่ก็มีการใช้เสรีภาพในทางที่ผิด มีคนจำนวนหนึ่งที่ใช่เสรีภาพไปในทางที่ผิด ใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง และถ้อยคำที่อันตราย ผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่ออื่นๆ ตอนนี้เราเริ่มการรณรงค์นี้โดยเนื้อหาคือการบอกว่า คุณต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่คุณพูด อย่าเผยแพร่ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง และถ้อยคำที่อันตราย”

“เราเริ่มแคมเปญนี้จากงานเยาวชนอาเซียน ตามด้วยงานอาเซียนภาคประชาสังคม และจากนี้เราจะเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนและเราจะเริ่มรณรงค์ไปทั่วประเทศในเดือนเมษายนนี้ ก่อนเทศกาลติงยาน หรือสงกรานต์พม่า” เขาระบุด้วยว่า รูปแบบการรณรงค์ ก็จะมีการเผยแพร่ผ่านโปสเตอร์ โปสการ์ด เสื้อยืด และกำลังแต่งเพลงเพื่อเผยแพร่ ผ่านวีซีดี

“สำหรับการรณรงค์ออนไลน์นั้นบอกได้ว่าการตอบสนองค่อนข้างจะเร็วมาก ผมคิดว่าตอนนี้เรามีคนบางกลุ่มที่เผยแพร่ความเกลียดชัง และความรุนแรงผ่านอินเทอร์เน็ต และนั่นเป็นอันตรายต่อสังคมของเรา ผมคิดว่าแค่ถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชังมันยังไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ ถ้าบอกว่าผมเกลียดคุณ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผมบอกว่าผมอยากฆ่าคุณ และผมจะโทรไปบอกเพื่อนผมให้ฆ่าคุณ นั่นไม่ใช่ Hate Speech แต่นั่นคือถ้อยคำที่อันตราย อันตรายต่อสังคมของเราและประเทศของเรา เราผมคิดว่าเราควรทำอะไรบางอย่าง และในพื้นที่ห่างไกล ยังมีคนที่ขาดการศึกษาและมันง่ายมากที่จะกระตุ้นให้พวกเขาใช้ความรุนแรง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องทำการรณรงค์-ไม่ใช่เพื่อให้การศึกษาแต่เพื่อสร้างความตระหนักแก่พวกเขา”

ทั้งนี้วันที่ประชาไทสัมภาษณ์ เน โพน ลัต เขากำลังจะเดินทางไปยังพื้นที่ชนบททางตะวันตกของเมืองย่างกุ้ง เพื่อจัดอบรมด้านการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและการเขียนข่าว เขาเล่าว่า ในพื้นที่ชนบทหลายๆ ที่ ประชาชนต้องการบอกเล่าเรื่องราวและข่าวสารของตัวเอง แต่พวกเขาขาดทักษะ และก็ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีสื่อสารได้

“ผมก็จะช่วยบอกพวกเขาว่าทำอย่างไรถึงจะใช้งานเทคโนโลยีสื่อสารเพื่อตอบสนองพวกเขาและสังคมของพวกเขาได้ ผมก็จะไปพูดคุยกับพวกเขาเรื่องการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร และเรื่องการทำข่าวภาคพลเมือง จะเขียนข่าวอย่างไร”

เน โพน ลัต กล่าวด้วยว่า ขณะที่ประเทศกำลังมีเสรีภาพมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าห่วงสำหรับสังคมก็คือการเผยแพร่ความเกลียดชัง (Hate Speech) และความรุนแรงซึ่งเขาเห็นว่าเป็นสิ่งอันตรายต่อสังคมพม่า เขาบอกว่า ลำพังความเกลียดชัง นั้นไม่เป็นปัญหาเท่ากับ การสร้างถ้อยคำแห่งความอันตราย (Dangerous Speech) และนี่ก็เป็นสาเหตุที่องค์กร MIDO ของเขาเริ่มการรณรงค์ “การพูดจาภาษาดอกไม้” ในวันนี้ (4 เม.ย. 2557)

โดยการรณรงค์นั้นทำหลายวิธีการ เฟซบุ๊กเพจก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในวันนี้ นอกจากนี้ก็มีการรณรงค์ผ่านสื่อออฟไลน์ เช่น โปสเตอร์ โปสการ์ด เสื้อยืด และกำลังทำซีดีเพลงเพื่อเผยแพร่อีกช่องทางหนึ่งด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net