Skip to main content
sharethis

สุภิญญา นัด 24 ช่อง ชี้แจงกลไกกำกับดูแลตนเองและรับเรื่องร้องเรียนคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมทำแผนแจ้งประชาชนหากเกิดเหตุภัยพิบัติ ด้านโฆษณาเตรียมร่วมกับสมาคมยกระดับเทรนด์ฟรีทีวีใหม่ ยันมาตรฐานไม่แพ้ของเดิม

11 เม.ย.2557 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดประชุมชี้แจง เพื่อทำความเข้าใจต่อประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับ โดยมีผู้บริหาร บรรณาธิการ หัวหน้าข่าว ดิจิตอลทีวี ทั้ง 24 ช่อง ให้ความสนใจเข้าร่วม

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องจะเกิดขึ้นหลังจากที่จะมอบใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งทั้ง 24 ช่อง จะต้องเตรียมแผนและความพร้อม ตามเงื่อนไขและประกาศของ กสทช. ได้แก่ แผนการออกอากาศเพื่อรับมือเหตุภัยพิบัติ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ “ซึ่งคีย์สำคัญของประกาศฉบับนี้คือ สถานีสามารถรายงานเหตุฉุกเฉินภัยพิบัติได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์ พร้อมรายงานแผนต่อ กสทช.ภายหลัง 30 วัน และส่งชื่อและเบอร์โทรติดต่อผู้ประสานงานหลักของสถานีอย่างน้อย 2 คน เพื่อประสานงานหากเกิดเหตุ พร้อมส่งแผนเตรียมความพร้อมหลังได้รับใบอนุญาต 30 วัน

นอกจากนี้ สำนักงานได้ชี้แจง เรื่องแนวทางกำกับตนเองของช่อง ตามกรอบจรรยาบรรณ ทั้งในระดับสถานี สภาวิชาชีพ หรือสมาคม พร้อมทั้งชี้แจงการจัดทำกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะต้องมีกระบวนการและช่องทางการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่อสาธารณะ ภายใน 30 วันโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมและค่าบริการ และจัดให้มีบริการรับเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์ รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบใน 7 วัน และเสนอต่อ กสทช.ทุก 6 เดือน

ทั้งนี้ในเรื่องโฆษณา นางสาวสุภิญญาเปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (วันที่ 10 เม.ย. 57)   ตนพร้อมสำนักงานได้ร่วมประชุมกับสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่าง กสทช. สมาคมโฆษณาฯ และ ทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องเรื่องการกำกับมาตรฐานโฆษณา ในการประชุมปรึกษาหารือกับทางสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย พบว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับฟรีทีวีเดิมคือช่อง 3-5-7-9 มาตลอด 19 ปี ตั้งแต่ยกเลิกระบบ คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.)โดยรัฐ มาเป็นระบบช่องเซ็นเซอร์โฆษณาเอง เวลานี้ฟรีทีวีเพิ่มจากเดิม 4 ช่องที่มีโฆษณาได้เป็น 24 ช่องธุรกิจ ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมควรรวมตัวกันเพื่อกำหนดมาตรฐานร่วมกันในการเซ็นเซอร์โฆษณา

ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า “การกำกับโฆษณาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1. เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ต่างๆ เช่น โฆษณาอาหารและยาเกินจริง ส่วนระดับ 2 เป็นโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณ จริยธรรม เช่น โฆษณาที่ไม่โอ้อวดเกินจริง หรือความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม สังคม ละเมิดสิทธิมนุยชน ซึ่งการกำกับในชั้นกฎหมายจริงๆแล้ว มีความง่ายกว่า เพราะมีข้อกำหนดไว้ชัดเจน แต่ทีวีดิจิตอลรายใหม่อาจจะไม่คุ้นกับกฎระเบียบที่มีมากกว่าในฟรีทีวี ส่วนการกำกับจริยธรรมจรรยาบรรณเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากกว่า ซึ่งอุตสาหกรรมควรกำกับตนเองก่อน”

ผลจาการหารือร่วมกัน ทางสมาคมโฆษณาฯจะประสานความร่วมมือกับทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องในการกำกับมาตรฐานโฆษณา พัฒนากลไกร่วมกัน รวมทั้งจัดประชุมปฏิบัติการณ์ หรือ workshop อบรมข้อกฎหมาย กติกา มารยาทต่างๆให้ฝ่ายเซ็นเซอร์โฆษณาของ 24 ช่อง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย. สคบ.ด้วย นอกจากนี้ได้มีการหารือถึงหาแนวทางการปฏิรูประบบการวัดเรตติ้งความนิยมรายการทีวีด้วยเพื่อส่งเสริมแข่งขันเสรีเป็นธรรม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net