Skip to main content
sharethis

หลังเริ่มทดลองออกอากาศทีวีในระบบดิจิตอลได้ราวหนึ่งสัปดาห์ สำนักงาน กสทช.ได้เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” ขึ้น เมื่อวันที่ 9 เม.ย. โดยระบุว่า ศูนย์นี้จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมบันทึกเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย "ประชาไท" สัมภาษณ์ "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช. ถึงรายละเอียดของศูนย์ดังกล่าว
 


ภาพจากเว็บไซต์ สำนักงาน กสทช.
 

-ศูนย์นี้มีที่มาอย่างไร
ปกติ สำนักงาน กสทช.ทั้ง 14 เขต ก็สามารถติดตามหรือมอนิเตอร์สถานีวิทยุชุมชนได้อยู่แล้ว เพียงแต่อุปกรณ์เครื่องมือ ไม่สามารถมอนิเตอร์ได้หลายช่องเหมือนกรณีนี้ สอง หลายหน่วยงานไม่ว่าวุฒิสภา หน่วยงานด้านความมั่นคง ทำหนังสือถึง กสทช. โดยเฉพาะถึงผมว่าขณะนี้มีหลายสถานีที่ออกอากาศหมิ่นสถาบัน หรือจาบจ้วงสถาบันฯ ขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการส่วนนี้ด้วย ซึ่งเราก็บอกไปแล้วว่าเราดำเนินการเฉพาะกฎหมายที่เราถืออยู่ เราตรวจสอบเรื่องเนื้อหาให้ได้ แต่คนที่จะตรวจสอบว่าเขากระทำความผิดหรือไม่ ต้องเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. เราตรวจสอบกำกับดูแลเฉพาะในการมอนิเตอร์ให้เท่านั้น แต่เราจะส่งข้อมูลให้หน่วยงานอื่น ก็เป็นดำริที่ทางผมเองนำเรียนท่านประธาน กสทช.ว่าควรมีการจัดตั้งศูนย์และหาเครื่องไม้เครื่องมือขึ้นมาเพื่อมอนิเตอร์


-มีแผนการดำเนินงานอย่างไร 
เริ่มตั้งแต่วันที่เปิดศูนย์ (9 เม.ย.) มีเจ้าหน้าที่ประจำวันละ 3 กะ กะละ 5 คน ตลอด 24 ชั่วโมง จะสแกนโทรทัศน์ได้ทีละ 40 ช่อง วิทยุทีละ 40 ช่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสแกนทั้งหมดไม่ได้ แต่เปลี่ยนสแกนได้ทีละ 40 ช่อง เพื่อตรวจดู แต่แผนในอนาคต 1 ปีข้างหน้า จะขยายเป็นสแกนครั้งละ 200 ช่อง โดยสแกนไปเรื่อยๆ เพื่อดูเนื้อหาโดยเฉพาะเวลามีเรื่องร้องเรียนเข้ามา จะได้สแกนช่องนั้นได้ทันที

โดยขอบเขตที่สแกนคือ ฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม ทีวีทางเน็ต แต่ทีวีทางเน็ต อาจส่งให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการ

ที่เราสแกนไม่ได้จับผิดใครทั้งสิ้น จะจับเฉพาะกรณีที่ หนึ่ง คลื่นวิทยุที่สแกนไปรบกวนคลื่นวิทยุการบิน โดยเมื่อพบจะแจ้งให้หยุดหรือลดกำลังส่งในการออกอากาศลง เพราะจะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เครื่องบินอาจจะตกได้

ในส่วนที่สอง คือ สแกนแล้วพบเรื่องหมิ่นสถาบัน หรือจาบจ้วงสถาบันตามมาตรา 112 ก็จะส่งเรื่องให้ สตช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่เรื่องอื่น เราเก็บเป็นหลักฐานเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร

กรณีอื่นเช่น พูดจาหมิ่นประมาท ด่ากันไปด่ากันมา แม้จะเป็นเรื่องการเมือง เราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแน่นอน อันนี้ต้องไปดำเนินคดีในชั้นศาลกันเอง ถ้ามีหมายศาลมาขอบันทึกเทปก็จะส่งให้ ที่ผ่านมา ได้รับหนังสือร้องเรียนเยอะมาก ที่ด่ากันไปมา เราให้บันทึกเทปได้ แต่ไม่ใช่การเข้าไปปิด
 

-สื่อบางแห่งรายงานว่าถ้าเจอเนื้อหาหมิ่นฯ จะปิดสถานีทันที?
กฎหมายที่เราถือคือ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ในสองกฎหมายที่ถือไว้คือ หนึ่ง ถ้าเป็นสถานีวิทยุที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับเราไว้ ในกรณีที่เป็นสถานีวิทยุที่ผิดกฎหมาย อันนี้ปกติถ้าเราเจอเราก็ต้องปิดอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ได้มาลงทะเบียนกับเราไว้เลย

ส่วนที่สอง คือ สถานีวิทยุที่ลงทะเบียนกับเราไว้ คือ หนึ่งมีการใช้วิทยุคมนาคมถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว สอง เนื้อหาที่ออกไปถ้าออกอากาศโดยที่ หนึ่ง ผิดกฎหมาย อย. โฆษณาเกินความเป็นจริง เราก็ต้องส่งเรื่องนี้ให้ อย.ดำเนินการ หลัง อย.ดำเนินการแล้ว จะแจ้งมาว่าที่เรา เช่น ถ้าเนื้อหาผิดกฎหมาย ก็จะมีโทษตักเตือน ปรับ สั่งพักใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาต ตามสเต็ปของความร้ายแรงที่เกิดขึ้น

กรณีผิดมาตรา 112 ก็ส่ง สตช. ให้ดำเนินการ ถ้าผิดกฎหมายอาญา เขาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล ออกศาลออกหมายจับ ถ้าเป็นกระบวนการนั้นแล้ว ก็ต้องส่งผลการพิจารณาคดีของศาลมาให้เรา เราก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของเราอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ เราไปทำอะไร อันนั้นมันผิดกระบวนการในการทำงาน
 

-ใครบ้างที่จะเป็นผู้แจ้งเข้ามา
หนึ่งเรา initiate เองส่วนหนึ่ง สอง สตช. ประชาชน กองทัพ หรือหน่วยงานความมั่นคง แจ้งเรามาที่ศูนย์ 1200 หรือทำหนังสือแจ้งเป็นทางการมา เพื่อให้เรามอนิเตอร์สถานีโทรทัศน์ หรือสถานีวิทยุใดที่มีการออกอากาศหมิ่นสถาบันฯ เพื่อบันทึกเทปและส่งให้เขา แล้วเขาก็ไปดำเนินการ ถ้าเข้าองค์ประกอบความผิดก็ไปดำเนินการในชั้นศาล เมื่อได้ข้อยุติแล้วก็ส่งเรื่องมาให้เรา แต่ถ้าเขาออกอากาศโดยรบกวนคลื่นวิทยุการบิน ก็เป็นหน้าที่ของเราเอง โดยเราจะประสานงานกับวิทยุการบินในการเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง

สำนักงาน กสทช.ขอร้องว่าอย่าออกอากาศ สองส่วนเท่านั้น คือ รบกวนวิทยุการบิน-หมิ่นสถาบัน อย่างอื่นเราถือว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไรที่จะไปดำเนินการ เพราะบ้านเมืองก็วุ่นวายพออยู่แล้ว เราคงไม่ดำเนินการเพื่อจะไปอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่นอน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net