กองทัพเรือ vs ภูเก็ตหวาน: ทำไมต้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพโดย orangesparrow  (CC BY-NC-ND 2.0)

 

 

วันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดภูเก็ต ได้มีคำสั่งปล่อยตัว อลัน มอริสัน และ ชุติมา สีดาเสถียร บรรณาธิการและผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ภูเก็ตหวานเป็นการชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัวมูลค่าคนละหนึ่งแสนบาท

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากเว็บไซต์ภูเก็ตหวานหรือ Phuketwan ลงข่าวเรื่องทหารเรือไทยบางคน มีส่วนได้ส่วนเสียกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา โดยรับสินบนหากไม่จับกุมการค้ามนุษย์ดังกล่าว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ได้สัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่รอดมาได้ ทำให้ต่อมา กองทัพเรือฟ้องเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ตามมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประกอบกับมาตรา 326 และมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยกองทัพเรืออ้างว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

ก่อนที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จะมีผลประกาศใช้ คดีนี้คงเป็นเพียงการฟ้องร้องตาม มาตรา 326 และมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา ได้ความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดคือ ปรับและจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และสองปีตามลำดับ แต่เนื่องจากข่าวดังกล่าว เป็นการตีพิมพ์ออนไลน์ จึงได้ทำให้ถูกฟ้องร้องตามมาตรา 14(1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วย ซึ่งมาตราดังกล่าวมีความว่า

“ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน...”

นอกจากมาตรา 14(1) นี้จะมีเนื้อหาซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญา ความคลุมเครือของมาตรา 14 ทั้งมาตรา และมาตรา 15 ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระวางโทษที่สูงถึงห้าปี ทำให้ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกตีความให้เกินไปกว่าเจตนารมณ์เดิมของกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และจัดการกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่กลับถูกใช้คุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป

จากหลายกรณีที่ผ่านมา ที่มีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาคุกคามสื่อ ด้วยความกว้างของกฎหมาย ที่แทบจะตีความให้ครอบคลุมได้หลากหลายกรณี เป็นการทำให้สื่อมวลชนทำงานได้ยากลำบาก และมีข้อจำกัดมากขึ้น ขัดกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดแจ้ง และระวางโทษที่สูงกว่าการหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาถึงสามปี เป็นเรื่องน่าคิดว่าเป็นอัตราโทษที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ สำหรับความผิดฐานดังกล่าว ด้วยปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐ เป็นเรื่องที่ทำให้สื่อมวลชนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงต่อโทษจำคุกมากขึ้น

องค์กรระหว่างประเทศต่างไม่เห็นด้วยกับกองทัพเรือในการดำเนินคดีนี้ สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกมาประณามกองทัพเรือในการดำเนินคดีดังกล่าว และแทนที่จะคุกคามสื่อรายเล็กๆ รัฐไทยควรพิสูจน์ความจริง ว่ากองทัพเรือเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์จริงหรือไม่ และ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่ออกแถลงการณ์ว่าการลงโทษจำคุกไม่ใช่มาตรฐานที่เหมาะสมกับความผิดฐานหมิ่นประมาท และเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อ

กองทัพเรือในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐ มีหลายวิธีในการรับมือกับกรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจะชี้แจงกับเว็บไซต์ภูเก็ตหวานเพื่อแก้ข่าว ซึ่งที่ผ่านมา ภูเก็ตหวานก็เคยชี้แจงในกรณีที่กองทัพเรือถูกกล่าวหาว่ากระทำทารุณต่อชาวโรฮิงญาว่าไม่เป็นความจริง หรือกองทัพเรือเองก็มีสิทธิในการจัดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง แต่กลับเลือกวิธี ใช้กฎหมายที่เป็นปัญหาที่ยังถกเถียงกันในวงกว้าง ว่ามีเนื้อหาขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มาใช้ในการคุกคามสื่อ

ตั้งแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประกาศใช้ในปีพ.ศ. 2550 ได้พิสูจน์แล้วว่า กฎหมายฉบับนี้มีปัญหา และได้ถูกใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ดั้งเดิมหลายต่อหลายครั้ง แทนที่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ออนไลน์ แต่กลับเป็นภัยคุกคามเสรีภาพของพื้นที่ออนไลน์เสียเอง ถึงเวลาหรือยัง ที่รัฐไทยต้องแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างจริงจังเสียที

 

ข้อมูลจาก
http://freedom.ilaw.or.th/case/554#detail

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท