'สิทธิการประกันตัว' ทนาย-อดีตผู้ต้องขังชี้ เรื่องเกินเอื้อมของคดีภาคใต้–112

 

23 เม.ย. 2557 ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนา “การปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ” เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีแห่งการถูกคุมขังของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข จัดโดย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลุ่มยี่สิบสี่มิถุนา ประชาธิปไตย เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นอดีตนักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานก่อนจะหันมารณรงค์ด้านการเมืองหลังเกิดรัฐประหารในปี 2549 เขาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด จนกระทั่งก่อนถูกจับกุม สมยศได้รณรงค์รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เขาเห็นว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม จากนั้นจึงถูกจับกุมในความผิดมาตรา 112 เสียเองเมื่อปี 2554 จากกรณีเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความสองชิ้นเขียนโดยนักเขียนชื่อ "จิตร พลจันทร์" ที่อัยการฟ้องว่าเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ เขาถูกศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี และขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์

ช่วงบ่ายของงาน มีวงเสวนาเรื่อง ปัญหาและผลกระทบของผู้ต้องหาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติและไม่ได้รับการประกันตัว โดยมีวิทยากรผู้มีประสบการณ์จากกฎหมายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ และอดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ร่วมแลกเปลี่ยน

ประกันไม่ได้ ออกจากคุกโดนเก็บ-คุกคาม

นูรอัยนี อุมา ผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาพบว่าคดีเหล่านี้มีถึงร้อยละ 80 ที่ศาลพิพากษายก ต่อมาภาคประชาชนจึงผลักดันจนมีกลไกที่ช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง คือ ให้หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่รับรองว่าผู้ต้องหาคนนี้ประกันตัวมาอยู่ภายใต้หน่วยงานความมั่นคงได้ แต่บางกรณีศาลยังคงไม่ให้ประกันตัว อ้างว่าเป็นคดีความมั่นคง เกรงจะหลบหนี

นูรอัยนี กล่าวว่า คดีความมั่นคงในภาคใต้ใช้เงินประกันราว 600,000-800,000 บาทต่อหนึ่งคดี ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับชาวบ้านทั่วไป บางคนหาได้ บางคนต้องพึ่งกองทุนยุติธรรม ซึ่งมีคณะกรรมการจากหลายฝ่ายพิจารณาและกระบวนการก็ล่าช้ามาก บางทีใช้เวลากว่าหนึ่งปี จนผู้ร้องหาทางประกันตัวออกไปเองได้แล้ว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญคือ หลังผู้ต้องหาคดีความมั่นคงออกจากเรือนจำ ไม่ว่าจะเพราะได้ประกันตัวหรือศาลยกฟ้อง ก็ยังมีปัญหาถูกคุกคาม หลายปีที่ผ่านมาผู้ที่ศาลยกฟ้องในคดีความมั่นคงถึง 17 รายที่ถูกยิงเสียชีวิตหลังจากออกจากเรือนจำ

นูรอัยนี ตอบคำถามด้วยว่า ข้อเหมือนของผู้ต้องหาคดีความมั่นคง คือ เป็นชายไทยมุสลิม ที่ผ่านมาไม่มีชายไทยพุทธแม้แต่คนเดียวที่โดนคดีอั้งยี่ซ่องโจรและก่อการร้ายในภาคใต้ นอกจากนี้ยังมักเป็นผู้นำด้านศาสนาหรือผู้สอน/ผู้เรียนในโรงเรียนปอเนาะดังๆ ที่ภาคใต้

ส่วนการรับสารภาพ ในพื้นที่อื่นอาจทำให้คดีจบเร็วขึ้น แต่ในภาคใต้ หากรับคดีแรก คดีที่สอง สาม สี่ จะตามมา เคยมีเจ้าหน้าที่กล่อมให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพในคดีมีอาวุธปืนในครอบครองซึ่งจะได้รับโทษแค่โทษปรับ ซึ่งศาลก็พิพากษาเช่นนั้น แต่หลังจากนั้นมีคดียิงผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ตามมาอีก 4-5 คดี

ที่ผ่านมา นอกจากช่วยเหลือผู้ต้องหาในทางคดีแล้ว ทางมูลนิธิฯ ยังทำงานอบรมสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำด้วย เพราะคนข้างในไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เป็นชาวบ้าน เป็นครู เป็นนักศึกษาอยู่ดีๆ ก็ตกเป็นจำเลย ตอนนี้ผู้ต้องหาความมั่นคงมีกว่า 1,000 คน ใช้เวลาพิจารณาคดีโดยเฉลี่ย 2-3 ปีในศาลชั้นต้นซึ่งถือว่าล่าช้า นอกจากนี้ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงยังต้องใส่โซ่ตรวน ส่วนที่ต้องโทษประหารชีวิตจะถูกขังเดี่ยว

ให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่เหมือนกัน ยิ่งขยายความแตกแยก

ธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงชายแดนใต้ เล่าประสบการณ์ว่า หลังเรียนจบก็ทำงานเป็นครูที่ปอเนาะแห่งหนึ่ง ราวปี 2550 เจ้าหน้าที่ทหารมาล้อมบ้านกลางดึกและเชิญตัวไปในฐานะผู้ต้องสงสัย โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีคนซัดทอดว่าเป็นผู้ก่อเหตุวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดยะลา หลังจากนั้นถูกควบคุมตัว 3 ปี 2 เดือน กว่าศาลจะพิพากษายกฟ้อง ตอนที่อยู่ข้างในเรือนจำนั้นชีวิตยากลำบากและทรมานมาก

ในช่วงแรกๆ ของการต่อสู้คดี ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเลย แต่โชคดีว่าภาคประชาสังคมผลักดันจนมีนโยบายใหม่ว่า คดีความมั่นคงนั้นสามารถประกันตัวได้หากมีตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง รับรอง แต่ก็ต้องมีเงินด้วยคดีละ 800,000 บาท บางคนถูกฟ้องคดีเป็น 10 คดี บางคนถึงขนาดตัวอยู่ข้างในเรือนจำ แต่มีคดีเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างนอก

ในเรือนจำอยู่อย่างยากลำบาก จากการคุยกับเพื่อนที่อยู่ข้างใน พบว่า แต่ละคนมีปัญหาครอบครัว คนในพื้นที่ไม่รู้กฎหมายเลย,  ภรรยาขอหย่า, คนกำลังศึกษาก็หยุดชะงัก, มีปัญหาหนี้สิน ฯลฯ

ธรรมรัตน์ กล่าวว่า หลังจากได้ออกมาก็มารวมตัวกับเพื่อนๆ เพื่อให้ความรู้กับบรรดาญาติผู้ต้องหาที่ท้อแท้ ทำให้คนในพื้นที่เข้าใจเรื่องราวมากยิ่งขึ้น ถ้าโดนจับก็จะมีกลุ่มพวกเขาไปช่วยทันที ที่รวมกลุ่มกันทำงานลักษณะนี้เนื่องจากเข้าใจความรู้สึกนั้นดีเพราะเผชิญกับมันมาก่อน อย่างไรก็ตาม เขาระบุด้วยว่า ตอนนี้มีเพื่อนถูกยิงเสียชีวิตหลังได้ประกันแล้วถึง 5 คน ขณะที่อีกคนต้องพิการนั่งรถเข็นตลอดชีวิต

“การไม่ให้ประกันตัวส่งผลกระทบมาก เราน่าจะใช้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ บางทีสามจังหวัดชายแดนใช้แบบหนึ่ง กรุงเทพฯ ใช้แบบหนึ่ง มันอาจทำให้ยิ่งสร้างความแตกแยกได้” ธรรมรัตน์กล่าว

ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่ม เรดนนท์ อดีตผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 กล่าวว่า ผู้ต้องขังทุกคนมีความคาดหวังว่าจะได้ประกันตัวด้วยกันทั้งสิ้น ที่ผ่านมาผู้ต้องหาคดีนี้ทั้งหมดเคยมีประสบการณ์ยื่นประกันตัวหลายรอบแต่ได้รับการปฏิเสธ ตัวเขาเองยื่นประกันอย่างน้อย 8 ครั้ง สมยศ พฤกษาเกษมสุขยื่นประกันตัวมากว่า 12 ครั้ง

“ผมเชื่อว่าผมบริสุทธิ์ มีหลักฐานอะไรมา ผมสู้ได้ แต่คดีของผมกับสุรภักดิ์นั้นกลับต่างกัน ผมตกใจมากที่คดีของสุรภักดิ์ศาลให้ความเมตตามาก มีการพูดเรื่องการลงโทษทางสังคม ก็ได้แต่คิดว่าทำไมไม่เกิดลักษณะเช่นนี้ในยุคผมบ้าง ยุคนั้นคือในปี 53 ช่วงก่อนสลายการชุมนุม มีผังล้มเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ช่วงนั้นมีการทำให้ผังล้มเจ้าเป็นความจริง”ธันย์ฐวุฒิกล่าว

ธันย์ฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า มีความแตกต่างระหว่างคดีความมั่นคงและ 112 คือ คดี 112 ไม่ค่อยมีทนายที่กล้าหาญมารับทำคดีให้  ได้รับความสนใจจากประชาชนมากกว่า แต่ยิ่งได้รับความสนใจก็จะยิ่งไม่ได้ประกันตัว

ธันย์ฐวุฒิ กล่าวโดยสรุปว่า การไม่ได้รับการประกันตัวอย่างยาวนานระหว่างต่อสู้คดีทำให้ผู้ต้องหาท้อแท้ และกระทบต่อการสู้คดี เช่นกรณีของเขาก็ต้องตัดสินใจถอนอุทธรณ์ เพราะความคิดถึงครอบครัวและคิดว่าการรับสารภาพเพื่อขออภัยโทษน่าจะออกจากเรือนจำได้เร็วกว่า  

“ตอนปีแรกมันยังกัดฟันได้ แต่พอมันผ่านมาสามปีมันก็ท้อ อะไรก็ได้ขอให้เราได้ออก ต่อให้เราไม่ผิดเราก็ต้องกล้ำกลืนมันให้ได้”  ธันย์ฐวุฒิกล่าว

อดีตผู้ต้องโทษคดี 112 กล่าวอีกว่า อีกประการหนึ่งที่ทำให้ยุติการต่อสู้คดีคือ การเห็นตัวอย่างจากกรณีของ “อากง” หรืออำพล  ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี ใช้เงินประกันตัวสูงถึงสองล้าน ประกอบกับการรับรองจากนักวิชาการหลายคน แต่ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว อากงและเขาจึงตัดสินใจไม่สู้คดีต่อ

อดีตผู้ต้องขังสรุปว่า คดี 112 มีปัญหาทุกกระบวนการ มีการใช้จิตวิทยาให้รับสารภาพเหมือนคดีทางภาคใต้ มาเรือนจำก็ถูกทำร้ายร่างกาย ตัวเขาถูกนักโทษด้วยกันกระทืบสามวันซ้อน เพราะคดีแบบนี้ผู้ต้องขังไม่มีใครชอบเพราะเข้าใจว่าคดีเหล่านี้ดูหมิ่นในหลวงที่ให้พระราชทานอภัยโทษกับทุกคน

เขากล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะทำต่อไป คือ ไปพบเจอเพื่อนที่ประสบปัญหาติดคุกในคดีการเมืองที่ประสบความยากลำบากในชีวิต เขาไม่หวังกับนักการเมืองที่จะมาดูแล แต่ตัดสินใจจะช่วยเหลือกันเอง ปัจจุบันนี้ได้ก่อตั้งกลุ่มอดีตนักโทษการเมือง นำกรณีศึกษาต่างๆ มานำเสนอต่อสาธารณะและพยายามหาอาชีพ ช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขังเหล่านั้นตามกำลัง

ลูกชายสมยศอ่านจดหมายพ่อ  3 ปีไม่ได้กลับบ้าน

หลังจากการเสวนา นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของนายสมยศ ได้อ่านจดหมายซึ่งเขียนโดยนายสมยศถึงชีวิตที่ต้องจากครอบครัวไปอยู่ในเรือนจำเกือบ 3 ปี โดยระบุถึงเหตุผล แรงบันดาลใจและความประทับใจในการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องสิทธิในเรื่องต่างๆ ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถูกคุมขัง และการตัดสินใจต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดแม้จะไม่ได้รับการประกันตัว

"ผมถูกจับกุมคุมขัง และถูกยัดเยียดข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากผมได้ประกาศว่ามาตรา 112 ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และจะรวบรวมรายชื่อประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112   มีการออกหมายจับโดยผมไม่รู้ตัวมาก่อน แม้พยายามขอประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญถึง 15 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ถูกปฏิเสธ เป็นการเลือกปฏิบัติเมื่อเปรียบเทียงกับกรณีอื่นแบบเดียวกัน  ผมจึงต้องต่อสู้แม้ว่าจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานสักเพียงใดก็ตาม  ทั้งนี้เพื่อยืนยันในสิทธิเสรีภาพที่ติดตัวผมมาตั้งแต่เกิดเป็นคนแล้ว

การต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดจากศาลชั้นต้นถึงศาลฎีกา  ไม่เพียงแต่ต้องทุกข์ทรมานยาวนานต่อไปอีก แต่ยังไม่ได้รับสิทธิเหมือนนักโทษคนอื่น ๆ แม้แต่ในกลุ่มนักโทษการเมืองด้วยกัน เช่น ถูกขังรวมกับนักโทษทั่วไป  ไม่ได้รับสิทธิเลื่อนชั้นนักโทษเพื่อลดโทษตามระเบียบราชทัณฑ์  ไม่ได้รับสิทธิพระราชทานอภัยโทษ  ไม่ได้รับสิทธิการฝึกอาชีพระหว่างจำคุก ฯลฯ

ผมอาจได้รับความเมตตาสงสารให้ได้รับอิสรภาพ  หากผมยอมรับสารภาพด้วยการปรักปรำตนเอง  หรือปรักปรำผู้อื่นตามความประสงค์ของผู้อยู่เหนืออำนาจรัฐ  หากเป็นเช่นนี้อิสรภาพที่ได้มาจะมีคุณค่า มีความหมายได้อย่างไรกันเล่า? เพราะเท่ากับว่าผมต้องตกอยู่ในกรงขังแห่งมโนธรรมของตนเอง และเป็นการกระทำความผิดต่อทุกคนที่ใฝ่ฝันถึงสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคตลอดไป

ผมเลือกที่จะทุกข์ทรมานเพื่อต่อสู้กับกฎหมายไม่เป็นธรรมและกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล  จนกว่าคดีจะถึงที่สุดแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะได้คำตอบจากความฉ้อฉลเหมือนเดิมหรือไม่ก็อาจจะต้องจบชีวิตลงก่อนการตัดสินคดี  ผมอาจตายไปเสียก่อน แต่สัจจะ และความจริงยังคงอยู่นิรันดร์ไป" ตอนหนึ่งในจดหมายระบุ  (อ่านฉบับเต็มที่นี่

เมื่อชาติ ไม่เท่ากับ ประชาชน

ต่อมามีวงเสวนาทางออกและการปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ

วาด รวี บรรณาธิการ นักเขียน และหนึ่งในคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขกฎหมายมาตรา 112  กล่าวถึงการต่อตัวของความคิดเรื่องชาติ ความมั่นคงของชาติ ตลอดจนแนวคิดชาตินิยมและกษัตริย์นิยม พร้อมระบุด้วยว่า ความที่คิดขับเคลื่อนในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นโดยเนื้อหาที่ขับเคลื่อนไม่ใช่สิ่งเดียวกับแนวทางสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) เหมือนประเทศอื่นๆ แต่คล้ายกับเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ยอมเปลี่นแปลงไปตามวิถีประชาธิปไตย ทั้งนี้ ประชาธิปไตยไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นประสบการณ์การต่อสู้ร่วมกันของมนุษย์ มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงถึงขั้นจิตสำนึกที่ผู้คนตระหนักรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะมีกลไกซึ่งขัดฝืนอยู่ตลอดเวลา เมื่อสำนึกเรื่องนี้มีความหมายน้อย ทำให้สำนึกเรื่องชาติของสังคมไทยเป็นชาติที่ว่างเปล่าและถูกสวม ทับ กลืนกินได้โดยศาสนาหรือพระมหากษัตริย์ได้ตลอดเวลา มากกว่าจะผูกโยงกับประชาชนหรือพลเมือง กลายเป็นข้ออ้างของมาตรา 112

ความเป็นรัฐของรัฐประชาธิปไตยต้องผูกกับสิทธิเสรีภาพของพลเมือง จะถูกจำกัดได้เพียงประการเดียวคือ เพื่อความมั่นคงของสิทธิเสรีภาพนั้นเองของคนส่วนใหญ่ แต่ที่ผ่านมาคนที่ไม่ให้แก้มาตรา112 นอกจากจะเอาสถาบันกษัตริย์ไปผูกกับชาติแล้ว เขายังบอกว่าเขามีสิทธิจะรักสถาบันกษัต่ริย์มากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่การรักสถาบันเป็นวัฒนธรรม ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยวัฒนธรรมใดๆ ไม่อาจมีอภิสิทธิ์ ไม่อาจอยู่เหนือหลักการทั่วไปเรื่องสิทธิเสรีภาพได้

บรรยากาศความกลัวกลับมาเข้มข้น

สุวรรณา ตาลเหล็ก กลุ่มยี่สิบสี่มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยสมยศ กล่าวว่า ไม่ว่าคดีมาตรา 112 จะถูกมองอย่างไร แต่ผู้ต้องหาควรมีสิทธิในการประกันตัวตามหลักพื้นฐานของกฎหมายเท่าเทียมกับคดีอื่นๆ ที่ผ่านมาหลายคนยังผลักออกไปอีกว่าคดี 112 ไม่ใช่นักโทษทางการเมือง ซึ่งเธอไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เพราะผู้ต้องหาคดีนี้ล้วนถูกจับกุมโดยเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมือง

เธอกล่าวว่าในฐานะนักเคลื่อนไหวรณรงค์ประเด็นนี้ สิ่งที่น่าหนักใจมากที่สุดในตอนนี้ คือ มาตรา112 ถูกขยายอาณาเขตการใช้มาถึงคนในครอบครัว สร้างความหวาดกลัวในสังคมมากขึ้น ที่ผ่านมาก็เคลื่อนไหวยากลำบากอยู่แล้ว มาถึงตอนนี้บรรยากาศยิ่งทำให้คนหวาดกลัวและระแวงกันอย่างหนัก

“การทำงานเรื่อง 112 น่าจะริบหรี่เต็มที่ คนที่ทำงานรณรงค์เรื่องนี้ก็ยังระแวงหลังเจอข่าวพ่อแม่แจ้งจับลูก พวกเขาก็ระแวงเพื่อนๆ และเขากำลังถอย ทำอย่างไรให้การรณรงค์เรื่องนี้ต่อไปได้ และคนที่ตัดสินใจสู้คดีก็ควรให้โอกาสประกันตัวมาต่อสู้คดี” สุวรรณากล่าว

เธอกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กลุ่ม 24 มิถุนาฯ เคยยื่นหนังสือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้เปิดเวทีวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 112 เป็นเวทีสาธารณะ ในฐานะเป็นองค์กรด้านสิทธิ แต่ทุกอย่างก็เงียบไปหมด

ศราวุธ ประทุมราช สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนกล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมกาสิทธิมนุษยชนว่า ในเรื่อง 112 นั้น แม้บทบาทของกสม.จะค่อนข้างน้อย แต่เมื่อสองปีที่แล้วทาง กสม.ได้ตั้งคณะทำงานให้ทำงานศึกษากรณีการใช้มาตรา 112 ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย ซึ่งได้มีการสอบถามความเห็นหลากหลาย รวมถึงศึกษาปัญหาในทางประวัติศาสตร์ และการบังคับใช้ในกรณีต่างๆ ในยุคปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ยังคงไม่ผ่านคณะกรรมการชุดใหญ่ของ กสม. และยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะแม้ว่าจะศึกษาเสร็จสิ้นนานแล้วก็ตาม

หนทางเดียวที่จะแก้ 112 ตั้งพรรคการเมือง สร้างวาระในสภา

ธนพร ศรียากูล พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ติดตามข่าวมาโดยตลอดในเรื่องนี้ แต่คำถามคือ แล้วอย่างไรต่อ ถ้าต้องการแก้มาตรา 112 แล้วไม่เป็น ส.ส. ไม่ตั้งพรรคการเมือง ก็ยังคิดไม่ออกว่ามีวิธีการใดที่จะดีกว่านี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าการที่เราจะเสนอข้อเรียกร้องหรือการแก้ไขอะไรสักอย่างต้องผ่านกระบวนการการแสวงหาการยอมรับ ได้รับการยินยอมพร้อมใจว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ กระบวนการการเลือกตั้งตอบคำถามนี้ได้

“พรรคนี้กำลังทำให้เรื่องแบบนี้จับต้องได้ แล้วก็กำลังจะตอบคำถามว่า ถ้าในเวทีกสม.ไม่อยากพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ทำไมเราไม่สร้างโอกาสเองในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือการประชุมสภาผ้แทน ผมไม่คิดยืมจมูกคนอื่นหายใจ ถ้าผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัหาเรื้อรัง และทำให้ประเทศเราไม่มีทางออก เป็นปัญหาหนักขึ้น ผมก็จะไม่นอนเฉยๆ จึงอาสาทำงาน ท่านจะจ้างผมหรือไม่เป็นสิทธิของท่าน” ธนพรกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท