Skip to main content
sharethis

ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชาวบ้านกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง 8 คน ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีฟ้องบริษัทเอกชนที่ปล่อยสารตะกั่วลงสู่ลำห้วย ให้ฟื้นฟูลำห้วย พร้อมเรียกค่าเสียหายกว่าร้อยล้าน ในวันที่ 26 เม.ย.นี้

เด็กในหมู่บ้านคลิตี้ล่างกำลังเล่นน้ำในบริเวณน้ำตกธิดาดอยซึ่งยังคงมีการปนเปื้อนตะกั่วอยู่บ้างเช่นกัน ภาพ: จามร เข้าใจคิด
 
25 เม.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ศาลจังหวัดกาญจนบุรีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีชาวบ้านกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง 8 คน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ฟ้องบริษัทเอกชนที่ปล่อยสารตะกั่วลงสู่ลำห้วย ให้ฟื้นฟูลำห้วย พร้อมเรียกค่าเสียหายกว่าร้อยล้าน ในวันที่ 26 เม.ย. นี้ เวลา 9.00 น. ณ ศาลจังหวัดกาญจนบุรี
 
ใบแจ้งข่าวระบุรายละเอียดด้วยว่า จากเหตุการณ์โรงแต่งแร่ตะกั่วริมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรปล่อยน้ำหางแร่ จนก่อให้เกิดสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ตลอดสาย เป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่างเจ็บป่วยล้มตาย จนเป็นข่าวใหญ่ในปี 2541
 
ในปี 2542 หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กรมอนามัย ได้เข้าไปตรวจเลือดชาวบ้านคลิตี้ล่างเพื่อหาระดับสารตะกั่วในเลือด พบว่าชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูง โดยเด็กอายุ 0-6 ปีมีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 23.56 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, เด็กอายุ 7-15 ปีมีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 28.30 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, และผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 26.31 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่การสำรวจระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ยของคนไทยทั่วไปเมื่อปี 2538 – 2539 โดยกองอาชีวอนามัย พบว่ามีค่า 4.29 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แม้จนปัจจุบันตะกั่วในเลือดของชาวบ้านคลิตี้ก็ยังสูงอยู่
กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสภาพแวดล้อมในลำห้วยคลิตี้ พบว่าตะกอนธารน้ำมีตะกั่วจากกิจกรรมเหมืองแร่ปนเปื้อนจำนวนมาก สัตว์น้ำ จำพวกปลา  กุ้ง หอย มีตะกั่วปนเปื้อนในเนื้อเกินค่ามาตรฐานมาก
 
เป็นเหตุให้ กำธร ศรีสุวรรณมาลา และชาวบ้านคลิตี้รวม 8 คน เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1  และคงศักดิ์ กลีบบัว จำเลยที่ 2 ในฐานความผิดละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2546 เรียกร้องให้ผู้ก่อให้เกิดมลพิษฟื้นฟูลำห้วยและเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 119,036,400 บาท
 
ศาลจังหวัดกาญจนบุรี พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินให้โจทก์ทั้ง 8 ราย จำนวน 4,260,000 บาท  ทั้งสองฝ่ายยื่นอุทธรณ์  ต่อมาศาลอุทธรณ์ แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาให้จำเลยชดใช้เพิ่มขึ้นเป็น 29,551,000 บาท
 
เป็นเวลากว่า 13 ปี ในกระบวนการยุติธรรม นับตั้งแต่ฟ้องเมื่อ 30 ม.ค. 2546 ในที่สุดศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาคดีนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 26 เมษายน 2559 ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net