เครือข่ายสามัคคีเสรีภาพกรรมกรจี้รัฐยุติการคุกคามผู้นำแรงงานและประชาชน

เครือข่ายสามัคคีเสรีภาพกรรมกรออกแถลงการณ์จี้รัฐยุติการคุกคามผู้นำแรงงานและประชาชน สร้างระบบสวัสดิการสังคม มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ค่าสาธารณูปโภค ลดค่าครองชีพ สร้างหลักประกันในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งการศึกษา สาธารณสุข การบริการสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมทางสังคม
 
1 พ.ค. 2559 เครือข่ายสามัคคีเสรีภาพกรรมกร (สสก.) ได้ออกแถลงการณ์วันกรรมกรสากล "แรงงานจงสามัคคีกันสร้างเอกภาพ  เพื่อสิทธิแรงงาน เสรีภาพการรวมตัว และประชาธิปไตย" โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
วันกรรมกรสากล (May Day) มีจุดกำเนิดมาจากการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก รวมทั้งกรรมกรชิคาโกสหรัฐอเมริกาที่มีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2429 เพื่อเรียกร้องการทำงาน “ระบบสามแปด” ให้มีชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง ซี่งเป็นระบบที่ทำให้นายจ้างเลิกเอารัดเอาเปรียบ และปฏิบัติต่อแรงงานเยี่ยงทาส ในที่สุด วันที่ 1 พฤษภาคม 2433 จึงถูกกำหนดให้เป็นวันรำลึกการต่อสู้ของกรรมกรดังนั้น วันที่ 1 พฤษภาคม จึงมิใช่เพียงวันหยุดประจำปี หรือวันที่รัฐบาลจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติให้เท่านั้น
 
ภายใต้ยุคทุนนิยมเสรี รัฐบาลทุกยุคสมัยต่างยอมจำนนต่อระบบเสรีนิยมใหม่ ทำให้แรงงานไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิแรงงาน ไร้เสรีภาพในการรวมตัว ขาดความมั่นคงจากการจ้างงาน ในขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าโดยสารสาธารณะปรับเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีการควบคุมในทางกลับกันค่าจ้างแรงงานไม่มีการปรับให้สอดคล้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี นโยบายรัฐสวัสดิการที่ไม่เป็นจริงและมีความพยายามจะรื้อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลดการสนับสนุนการศึกษาจาก 15 ปี เหลือเพียง 12 ปี การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ
 
เครือข่ายสามัคคีเสรีภาพกรรมกร (สสก.) อันประกอบไปด้วย สหภาพแรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน สมาพันธ์แรงงาน สภาองค์กรลูกจ้าง ได้ติดตามสถานการณ์แรงงานไทยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ สังคม และการปกครอง ตามแนวทางของรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการจ้างงานและคุณภาพชีวิตของแรงงาน 
 
ในวาระวันกรรมกรสากล เครือข่าย สสก. จึงมีข้อเรียกร้องในด้านแรงงานดังนี้ 
 
1. รัฐต้องให้สัตยาบัน อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิ์ในการรวมตัวกัน และ ILOฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่ง สิทธิในการรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรอง
 
2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมในอัตราเท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพียงพอในการดำรงชีพและการดูแลครอบครัว ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
 
3. รัฐต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 กรณีแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค)ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างประจำโดยเคร่งครัด
 
4. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคมพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ ให้กองทุนประกันสังคมเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด
 
5. รัฐต้องยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ ยุติแทรกแซงการบริหารงานอย่างไร้ซึ่งธรรมาภิบาลและจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพให้ตอบสนองต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
 
นอกจากนี้ เครือข่าย สสก. มีข้อเรียกร้องในด้านสังคมดังต่อไปนี้
 
1) รัฐต้องยุติการคุกคามผู้นำแรงงานและประชาชน โดยการใช้มาตรา 44และ ยุติการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 เป็นเครื่องมือขัดขวางการชุมนุมโดยสงบและการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเองและชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมทั้งนี้ในส่วนของแรงงานยังเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 อีกด้วย
 
2) รัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ค่าสาธารณูปโภค ลดค่าครองชีพ สร้างหลักประกันในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งการศึกษา สาธารณสุข การบริการสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมทางสังคม
 
เครือข่าย สสก.คาดหวังที่จะเห็นความเป็นเอกภาพของขบวนการแรงงานทุกภาคส่วนทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตร แรงงานข้ามชาติ พวกเราจะต้องร่วมกันสรรค์สร้างขบวนการแรงงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศร่วมกับเครือข่ายทางสังคมและภาคประชาชนนำมาซึ่งสังคมสันติประชาธรรม และประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท