Skip to main content
sharethis

กับประเด็นการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประยุทธ์บอกจะรับไปพิจารณา ก.แรงงานชี้ขึ้นอยู่กับพิจารณาร่วมไตรภาคี แต่ละจังหวัด และตามมาตรฐานฝีมือ 'กรุงเทพโพลล์-ม.หอการค้า' ชี้ควรขึ้น คสรท. ยังยื่นที่ 360 บาททั่วประเทศ ขณะที่ 'กลุ่มย่านรังสิต-สหพันธ์แรงงานสิ่งทอ' ยังชูที่ 421 บาทต่อวัน ‘จิตรา’ ชี้ค่าจ้างที่เหมาะสมต้องดูแลคนในครอบครัว 3 คน

<--break- />จากรายงานราคาสินค้าขายปลีก (เฉลี่ยตามลักษณะจำเพาะ) ของ กรุงเทพมหานคร เดือน มี.ค.2559 ของกระทรวงพาณิชย์และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แสดงให้เห็นราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค ซึ่งขอยกตัวอย่างดังนี้ 

(ภาพ: วศิน ปฐมหยก ดูภาพขนาดใหญ่)

รายการ

ราคาต่อวัน

ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ข้าวมันไก่ (ธรรมดา) บรรจุกล่อง 1 กล่อง

34.57 บาท (x3 มื้อ = 103.71 บาท)

ส้มเขียวหวาน พันธุ์สวนทั่วไป ขนาดเล็ก(น้ำหนักผลละ 50 - 60 กรัม) 1 กก.

65.00 บาท

น้ำดื่มบริสุทธิ์ \ บรรจุขวดพลาสติกใส 600 ซีซี \ ตราคริสตั ขวดพลาสติกใส ขวดละ

7.50 บาท (x3 มื้อ = 22.50 บาท)

กล้วยบวดชี/ ใส่ถ้วย 1 ถ้วย

12.60 บาท

ค่าเดินทาง(รถเมล์)เฉลี่ย 8 บาท (ไป-กลับ)

16 บาท

ค่าที่พักราคาประหยัด 2,500 บาทต่อเดือน เฉลียวันละ

83.33 บาท

 

รวม 303.14 บาทต่อวัน 

หมายเหตุ : ยังไม่รวมราคาเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เครื่องใช้สอยในครัวเรือน กิจกรรมนันทนาการ ค่าน้ำ-ไฟ ค่าแสวงหาความรู้ หนังสือ หนังสือพิมพ์ ค่าผ่อนชำระหนี้สินดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ

ที่มาข้อมูล : กระทรวงพาณิชย์, รายงานราคาสินค้าขายปลีก (เฉลี่ยตามลักษณะจำเพาะ) ของภาค กรุงเทพมหานคร ปี 2559 เดือน มี.ค. และค่าโดยสารจาก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  

เทียบข้อมูลชุดเดียวกันกับต้นปี 2558 ได้ที่ : ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จะกินอยู่อย่างไรใน 1 วัน

ประยุทธ์บอกขึ้นค่าแรงจะรับไปพิจารณา

ขณะที่ช่วงเวลาที่ผ่านมามีการนำเสนอตัวเลขการขอปรับขึ้นค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรมหลายตัวเลข ซึ่ง ล่าสุด 1 พ.ค.59 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2559 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะมี 30 เรื่องที่รัฐบาลกำลังทำ อาทิ ส่งเสริมให้ทุกคนไทยมีงานทำ มีค่าตอบแทนที่เพียงพอ มีหลักประกันทางสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดูแลแรงงานทุกระบบ ไม่ว่าแรงงานพิการ แรงงานสูงอายุ แรงงานนอกระบบ แต่ต้องยอมรับว่า ไทยมีปัญหามีแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่งจะต้องประสานกับกระทรวงศึกษาวางระบบใหม่ เป็นเรื่องยากพอๆ กับการขึ้นค่าแรง แต่จะรับไปพิจารณาทั้งหมด

รมว.แรงงานขอเอาไปศึกษาว่าจะขึ้นเท่าไหร่และเป็นพื้นที่ไหม

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเรียกร้อง  15 ข้อของสภาองค์การลูกจ้างแรงงาน 17 องค์กรที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันแรงงาน 1 พ.ค.นี้ ว่า  ส่วนตัวเห็นข้อเรียกร้องทั้ง 15 ข้อแล้วและเห็นผลวิจัยเกี่ยวกับหนี้สินแรงงานซึ่งเผยแพร่ทางสื่อ โดยส่วนของเรียกร้องหลักการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็อยู่ระหว่างการศึกษาซึ่งต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่า จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะให้ปรับในอัตราเท่ากันทั่วประเทศหรือปรับโดยพิจารณาเป็นพื้นที่ 

ก.แรงงานชี้พิจารณาร่วมไตรภาคี แต่ละจังหวัด และตามมาตรฐานฝีมือ

โดย 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีว่า การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการพิจารณาร่วมกันทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ในลักษณะไตรภาคีภายใต้คณะกรรมการค่าจ้าง โดยรับข้อเสนอมาจากอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานซึ่งอนุกรรมการมีองค์ประกอบร่วม 3 ฝ่าย เช่นเดียวกับส่วนกลาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของทุกจังหวัด โดยคณะทำงานฯ ที่แต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด 3 ประการ คือ 1) สภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่และภาพรวมของประเทศ 2) ความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง และ 3) ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ดังนั้น การพิจารณาอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดจึงขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้ให้ความเห็นชอบอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ครั้งล่าสุดอีก 20 สาขาใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐาน ต่ำที่สุดอยู่ที่ 360 บาท/วัน สูงสุดอยู่ที่ 550 บาท/วัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

กรุงเทพโพลล์ระบุแรงงานส่วนใหญ่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ด้านกรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ผ่าน 3 ปี นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ชีวิตแรงงานวันนี้เป็นอย่างไร” โดยเก็บข้อมูลจากแรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,127 คน เมื่อวันที่ 25 - 28  เมษายนที่ผ่านมา พบว่า คำถามความเห็นว่าหลังจากไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี  ควรมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 89.3 เห็นว่าควรขึ้น โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 79.6 อยากให้ขึ้นทั่วประเทศ ส่วนร้อยละ 9.7 อยากให้ขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ เช่น พื้นที่เศรษฐกิจ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ขณะที่ร้อยละ 10.7 เห็นว่าไม่ควรขึ้นเพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี จะทำให้ข้าวของแพงขึ้นค่าครองชีพสูงขึ้น

เมื่อถามต่อว่ากังวลมากน้อยเพียงใดต่อความเสี่ยงที่จะตกงาน หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาท ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.0  กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 33.0 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด สุดท้ายเมื่อถามว่าหลังจากได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม (เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจปี 2556 ร้อยละ 4.6) ขณะที่ร้อยละ 30.6 มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น (ลดลงร้อยละ 13.6) ส่วนร้อยละ 18.9 มีชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ม.หอการค้า เผยแรงงานแบกหนี้สูงสุดรอบ8ปี ขอ 356.76 บาท 

เช่นเดียวกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา โดย ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์ดังกล่าว  แถลงผลสำรวจความคิดเห็น (โพล) สถานภาพแรงงานไทย ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน สำรวจ1,212 ตัวอย่าง วันที่ 18-24 เมษายน 2559 และโพลสถานภาพธุรกิจ วันแรงงานแห่งชาติ สำรวจ 600 ตัวอย่าง วันที่ 18-23 เมษายน 2559 พบว่า สถานภาพทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยปี 2559 แย่สุดในรอบ 8 ปี นับจากปี 2552 เนื่องจากแรงงานมีหนี้สูงสุดในรอบ 8 ปี โดยแรงงาน 95.9% มีภาระหนี้ และมีหนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 119,061 บาท เพิ่มจากปี 2552 ที่มีสัดส่วน 48.51% แบ่งเป็น นอกระบบ 60.62% ในระบบ 39.38% สะท้อนแรงงานมีปัญหารายได้ ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้สถานภาพแรงงาน ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีปัญหา แม้จะหารายได้เสริมจากงานหลักแล้วก็ตาม ยังไม่พอใช้จ่าย มีการนำเงินไปหมุนหนี้นอกระบบมากขึ้น ดังนั้นการที่ธนาคารจะทำนาโนไฟแนนซ์ ดึงเจ้าหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น น่าจะเปิดทางให้กลุ่มแรงงานเข้าถึงการขอเงินกู้ได้มากขึ้น และช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยให้ดีขึ้นได้

“สถานภาพแรงงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แรงงานจึงขอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 356.76 บาท จากปัจจุบัน 300 บาท ให้ทันตามภาวะค่าครองชีพที่มีการขึ้นตามกลไกตลาด และค่าจ้างที่ไม่ปรับขึ้นมาหลายปี อย่างไรก็ตาม แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน เพราะเห็นนายจ้างมีผลประกอบการไม่ดีนักตามเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้รายได้ไม่พอใช้จ่าย จะเป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง เศรษฐกิจซึมตัวทุกพื้นที่ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น"  ธนวรรธน์ กล่าว

คสรท. ยังยื่นที่ 360 บาททั่วประเทศ

ขณะที่ฝั่งแรงงานตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกนำเสนอเพื่อขอปรับขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ 2 ตัวเลข 360 บาท กับ 421 บาท โดย 360 บาทนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และองค์กรสมาชิก ได้ยื่นข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ปี 2559 ผ่านศูนย์บริการประชาชน รับเรื่องราวร้องทุกข์ (กพ.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ข้อหนึ่งว่า รัฐจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี พ.ศ.2557 และปี พ.ศ. 2558 ซึ่งในปัจจุบันจากผลสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แรงงานจะอยู่ได้ต้องมีค่าจ้างวันละ 360 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศ และรัฐต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด 

สำหรับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หากย้อนไปเมื่อ 7 ต.ค.53 ที่กลุ่มดังกล่าวพร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ยื่อข้อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง โดยผู้จัดการออนไลน์ รายงานในครั้งนั้นด้วยว่า สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 421 บาทต่อวัน หรือ 12,000 บาทต่อเดือน ต่อการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ โดยอ้างถึงความเหมาะสมจากข้อมูลที่สำรวจถึงการสอดคล้องของรายได้และค่าครองชีพของแรงงานทั่วประเทศในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

'กลุ่มย่านรังสิต-สหพันธ์แรงงานสิ่งทอ' ยังชูที่ 421 บาทต่อวัน

ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ 421 บาทต่อวันนั้น มีกลุ่มที่ยังใช้ตัวเลขนี้เรียกร้องต่อคือ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง(กสรก.) และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ซึ่งในปี 2559 กลุ่มนี้ยังชุตัวเลขเดิม โดย ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ เปิดเผยกับประชาไทว่า ที่ยังคงตัวเลขนี้โดยไม่ปรับขึ้นเนื่องจากต้องการให้เห็นผล เพราะหากปรับขึ้นโอกาสที่จะได้อาจยากขึ้น

โดย ศรีไพร ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของการเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงไว้กับประชาไทเมื่อต้นปี 2558 แล้วว่า เมื่อปี 2553 เคยมีผลการสำรวจดัชนีค่าครองชีพ ในปีนั้นถ้าจะให้ค่าจ้างเพียงพอตัวเลขค่าจ้างต้องเป็น 421 บาท ปัจจุบันแม้ว่าค่าจ้างเป็น 300 บาทจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี เพราะทุกยุคทุกสมัยไม่เคยควบคุมราคาสินค้า จะเห็นได้จาก คนงานต้องการเพิ่มรายได้ด้วยกานทำงานล่วงเวลา และงานเหมากันมากขึ้น  ยิ่งปัจจุบันแม้ว่าน้ำมันลดราคา แต่ไม่มีสินค่าอุปโภค บริโภคตัวใดปรับลด มีแต่เตรียมเพิ่มราคา หรือลดปริมาณลงหลังคาราแก๊ส และก๊าซปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้การปรับเงินเดือนข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีฐานเงินเดือนสูงและมั่นคงมากกว่าลูกจ้างในภาคเอกชน จึงส่อให้เห็นว่าฝ่ายปกครองชุดนี้เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน แสดงถึงความไร้มาตราฐานในการปกครอง

สำหรับค่าแรงขั้นตำที่ควรจะเป็นนั้น ศรีไพร มองว่า ต้องเป็น 460 บาทต่อวัน ณ ปัจจุบัน แต่พวกเราเคลื่อนไหวไว้ที่ตัวเลข 421 บาทต่อวัน ไปแล้ว ก็คงยังยืนยันเคลื่อนไหว 421 บาทต่อวันต่อไป ส่วนตัวเลขอื่นก็จะเก็บไว้เป็นข้อมูล

‘จิตรา’ ชี้ค่าจ้างที่เหมาะสมต้องดูแลคนในครอบครัว 3 คน

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไว้กับประชาไทตั้งแต่ต้นปี 2559 เช่นกัน โดย จิตรา กล่าวว่า ปัจจุบันการปรับค่าจ้างของคนงานได้รับตามค่าจ้างขั้นต่ำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะทำงานมากี่ปี ไม่มีค่าฝีมือ ส่วนใหญ่ในโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ค่าจ่างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ซึ่งนายจ้างจ่ายเฉพาะวันทำงานเท่านั้นซึ่งการทำงานปกติเดือนละ 26 วันคนงานจะได้รับค่าจ้างทั้งหมด 7,800 บาทต่อเดือน ซึ่งถัวเฉลี่ยคนงานจะได้เงินวันละ 260 บาทเท่านั้น ในการครองชีพ หักค่าประกันสังคม 5% เป็นเงิน 390 บาท เหลือเงินสุทธิต่อเดือน 7,410 บาท

คนงานส่วนใหญ่เป็นคนย้ายถิ่นแล้วซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประจำเช่นค่าเช่าบ้าน ประมาณเดือนละ 2,000 บาท ค่าอาหารมื้อละ 40 บาท วันละ 120 เดือนละ 3600 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเห็นว่าเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเบื้องต้นของคนงานหนึ่งคนใช้เงิน 5,600 บาทที่เหลือ 1,810 บาทซึ่งมีทั้งค่าอื่นๆ อีกจิปาถะที่จำเป็นอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้พูดถึง เงินที่เหลือเท่านี้ทำให้ค่าจ้างวันละ 300 บาทไม่เพียงพอต่อการครองชีพสำหรับคนๆ เดียว ถ้ามีลูก มีพ่อมีแม่ ก็ยิ่งไม่สามารถดูแลได้เลย ต้องหารายได้พิเศษเพิ่มเช่นการทำโอที หรืออาชีพเสริม เงินออมในอนาคตไม่มี บางครอบครัวยังมีหนี้สินจากภาคเกษตรของพ่อแม่

สำหรับค่าแรงที่ควรจะเป็นนั้น จิตรา มองว่า ค่าแรงที่ควรจะเป็นคงหามูลค่าไม่ได้ แต่ค่าจ้างที่เหมาะสม ก็คือสามารถดูแลตัวเองและคนในครอบครัวได้อีก 2 คน เป็น 3 คน จึงเป็นค่าจ้างที่เหมาะสม ค่าเช่าบ้านที่เหมาะสมคือ 10% ของค่าจ้าง ต้องมีเงินเหลือออมประมาณ 20% ของรายได้ และต้องมีการช่วยเหลือเรื่องการเรียนฟรีที่แท้จริงสำหรับเด็ก ค่าจ่างต้องสามารถให้คนสามคนมีอาหารกินแบบมีคุณภาพและกินอิ่ม จึงจะเป็นค่าจ้างที่เหมาะสม การคำนวนค่าจ้างจึงต้องเอาค่าครองชีพและรายได้ที่จำเป็นมาเป็นตัวคำนวนร่วมด้วย

ระบุสวัสดิการอื่นและสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานสำคัญ

นอกจากนี้ จิตรา ยังกล่าวถึงข้อเสนอเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานด้วยว่า ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อปรับค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน และตามอายุการทำงานไม่ใช่จ่ายค่าจ้างตามค่าจ่างขั้นต่ำ ให้สิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อให้มีการเจรจาต่อรอง ค่าจ้างสวัสดิการ โบนัส ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างเต็มที่ รัฐบาลต้องจัดหาที่พักราคาถูกให้กับลูกจ้างย้ายถิ่น หรือสร้างบ้านเพื่อให้คนงานซื้อผ่อนได้

รวมถึง ต้องให้สิทธิในการเลือกตั้งในในเขตพื้นที่สถานประกอบการเพื่อเลือกตั้งตัวแทนในระดับทั้งถิ่นถึงระดับประเทศ เพื่อทำให้คนงานมีตัวแทนของพวกเขาเองในการบริหารประเทศ ต้องมีสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนหรือในโรงงานฟรี รัฐต้องจัดให้มีการเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี

“ความมั่นคงในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ กรณีเลิกจ้างบริษัทปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิต ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามอายุคนงานที่ทำให้เขาสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและให้จัดหางานใหม่ให้ในระหว่างรองานต้องจ่ายเงินช่วยเหลือระหว่างว่างงานที่คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจุบันประกันสังคมจ่ายให้ซึ่งถือว่าน้อยมาก” จิตรา เสนอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net