ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ-และแนวคิด รธน. จากกรีก-สหรัฐมาถึงกรุงสยาม

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เล่าเรื่องรัฐธรรมนูญ เริ่มจากยุคกรีกโบราณ การตั้งกติกาการเมืองเพื่อเลี่ยงความรุนแรง การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในอังกฤษ แนวคิดแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยใน รธน.สหรัฐอเมริกา แนวคิดสิทธิและเสรีภาพจากฝรั่งเศส ข่าวรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามาถึงกรุงสยามใน นสพ. "หมอบรัดเลย์" คำกราบบังคมทูลต่อ ร.5 ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ความย้อนแย้งของรัฐธรรมนูญไทยและวงจรอุบาทว์รัฐประหารสลับรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วิดีโอการบรรยายของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ"

21 พ.ค. 2559 ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ” ในงานเสวนาทางวิชาการ “รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ที่ห้องอเนกประสงค์ริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์

ธเนศ กล่าวว่า ต้นกำเนิดที่เก่าที่สุดของแนวคิดรัฐธรรมนูญคือ กรีกโบราณ เมื่อ 2000-3000 ปีมาแล้ว เพลโต นักปรัชญาชื่อดัง เป็นคนแรกๆ ที่เสนอว่า เครื่องมือที่จะนำสู่ระบบการเมืองที่ไม่ต้องเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงคือมีกติกาขึ้น ซึ่งต่อมาเรียกสิ่งนี้ว่ารัฐธรรมนูญ ต่อมา อริสโตเติล ศิษย์ของเพลโต เสนอเรื่องการจำกัดอำนาจของรัฐบาลเพื่อไม่ให้เลื่อนไหลสู่ระบอบทรราช

จากแนวคิดเกี่ยวกับกติกาการปกครองดังกล่าว นำสู่การเกิดปรัชญาการเมืองที่มองว่ารัฐและการปกครองไม่ใช่เรื่องบุญญาบารมี แต่คนทั่วไปเข้ามาเกี่ยวข้องได้ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ นี่ทำให้ระบบการเมืองการปกครองเป็นรัฐฆราวาส (secular state)

ธเนศ ตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดปรัชญาการเมืองระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออกว่า โลกตะวันออกมองว่า คนส่วนน้อยเป็นคนพิเศษ เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติ ขณะที่โลกตะวันตก มองว่าระบบเป็นตัวผลักดันการเปลี่ยนแปลง คนนั้นมีดีมีชั่ว ถ้าระบบดีทำให้คนไม่ดีดีได้ อย่างไรก็ตาม แนวคิดโลกตะวันออกไม่ได้หยุดนิ่ง โดยมีแนวคิดของเมิ่งจื้อ ที่พูดถึงการยกระดับราษฎรเท่าผู้ปกครอง โดยบอกว่า ความชอบธรรมของอำนาจรัฐมาจากราษฎร แต่ก็ยังจบที่โองการสวรรค์

ต่อมา ธเนศ ฉายให้เห็นตารางเวลาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองฝั่งตะวันตก โดยเริ่มที่ปี 1581 ซึ่งเกิดปฏิวัติในเนเธอร์แลนด์ สมัยที่ยังเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสเปน มีการอ้างความชอบธรรมของอำนาจประชาชน ขณะที่อังกฤษ ปี 1642-60 เกิดสงครามกลางเมืองปี 1688 เกิดการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ปี 1689 เกิด Bill of Rights ซึ่งอำนาจกษัตริย์ถูกจำกัด

ต่อมา สหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชและร่างรัฐธรรมนูญ คติความเชื่อเรื่องรัฐธรรมนูญน่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ผลสะเทือนของประชาธิปไตยสหรัฐอเมริกาแผ่ขยายไปทั่วโลก ไม่กี่ปีต่อมาปี 1789 เกิดปฏิวัติของกระฎุมพีในฝรั่งเศส ทำให้อำนาจการปกครองเป็นอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชน

ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องพูดสองเรื่องคือ แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา และสิทธิเสรีภาพเป็นของประชาชนที่มาจากฝรั่งเศส

อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร และสิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่ตรงไหน ประกันอย่างไร ต้องทำให้ได้

ค.ศ. 1865 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ข่าวเรื่องรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาถึงสยาม หมอบรัดเลย์เขียนบทความ "กระษัตริย์ในเมืองยูในติศเทค" อธิบายระบอบการปกครองของสหรัฐเมริกาที่ปกครองโดย "เปรศซิเดนต์" และแปลรัฐธรรมนูญให้คนสยามได้ดู โดยเล่าถึง "กอนสติตัวชัน" คือ "กดหมายสั้นๆ" ว่า "เป็นต่างกษัตริย์ ถ้าแม้นเปรศซิเดนต์ จะหักทำลายเมื่อใดก็จะเป็นเรื่องใหญ่เมื่อนั้น" 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์เริ่มพลิกผันในยุคล่าอาณานิคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ให้แสดงความเห็นต่อปัญหา เหตุการณ์อังกฤษยึดเมืองมัณฑะเลย์ ในปี พ.ศ. 2428 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขณะนั้นเป็นอัครราชทูตประจำกรุงปารีส ร่วมกับเจ้านายพระองค์อื่นและข้าราชการในสถานทูต

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ร่างจดหมายเสนอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกว่า "คำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103" ว่ากรุงสยามไม่รอดแน่ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ราษฎรต้องมีความยุติธรรมและมีสิทธิเสรีภาพ คือพูดเหมือนหลักการรัฐธรรมนูญทั่วโลก เสนอเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น "คอนสติตูชาแนลโมนากี" หรือระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเสนอว่า รัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยสติปัญญาของราษฎรจำนวนมาก คนที่เข้ามาร่วมต้องได้รับความยุติธรรมจากรัฐธรรมนูญถึงจะทำได้สำเร็จ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์บอกว่า ความเห็นที่มีประโยชน์ต้องให้เขามีอำนาจที่จะแสดงออกมาให้ปรากฏ

นี่คือความเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกมากระแทกกรุงสยามอย่างแรง

จะเห็นที่จริงแล้ว ชนชั้นนำและผู้ปกครองสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 รู้จักรัฐธรรมนูญแล้ว และนำความเห็นเสนอเรียกร้องรัฐธรรมนูญนี้กราบบังคมทูล รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ทรงเห็นด้วยในหลักการแต่บอกว่าปฏิบัติยากและไม่มีหลักประกันว่าจะได้อย่างที่เสนอจึงจะปฏิรูปอย่างที่เตรียมไว้แล้ว ผลคือ ผู้เสนอทั้งหมดถูกเรียกตัวกลับจากสถานทูตต่างๆ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ไม่ได้รับราชการต่อ

24 มิถุนายน 2475 เป็นปฏิบัติการที่ทำให้แนวคิด ความคิด ความเข้าใจ เรื่องรัฐธรรมนูญปรากฏเป็นจริงขึ้นในประเทศสยามด้วยการปฏิวัติรัฐประการ แล้วได้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ขึ้น

ต่อมา 10 ธันวาคม 2475 มีรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคำปรารภเปลี่ยน เริ่มต้นพูดถึงอุดมการณ์รัฐสยามเก่า จากโบราณถึง พ.ศ. 2475 และว่าข้าราชการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามปกครอง "ดำรงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์"

จะเห็นว่าความย้อนแย้งของรัฐธรรมนูญไทย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2475 มาแล้ว ช่วงต่อมาที่น่าสนใจคือ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปี พ.ศ. 2489 ฝ่ายรัฐสภา เริ่มมีความมั่นคง ฝ่ายปรีดีมองว่าควรจะเปลี่ยนให้รัฐธรรมนูญเป็นสากล และเป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ มากขึ้นจึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้น ปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกสมาชิกประเภทสอง ให้มีสองสภาจากการเลือกตั้งและห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งทางการเมือง แปลว่า ห้ามทหารมีตำแหน่งทางการเมือง คือให้การเมืองเป็นการเมืองของพลเรือน ขณะเดียวกัน เปิดให้ชนชั้นสูงเล่นการเมืองได้

รัฐธรรมนูญ 2489 อารัมภบทเปลี่ยน ตัดคติจักรพรรดิราช และประวัติออก เล่าประวัติรัฐธรรมนูญชั่วคราว รัฐธรรมนูญฉบับถาวร และตรวจสอบรัฐธรรมนูญทั่วโลก

ในบทเฉพาะกาลของปี 2489 มาตรา 90 ระบุว่า วาระแรกให้องค์การเลือกตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกสมาชิกพฤติสภาชุดแรกก่อน

"ฐานะของรัฐธรรมนูญ 2489 ใช้ได้ไม่ถึงปี 8 พ.ย. 2490 เกิดรัฐประหาร จากนั้นเราเข้าถึงวงจรอุบาทว์ ยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ รัฐประหารตลอด" ธเนศกล่าว แต่ก็แสดงว่า มีการยอมรับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญว่า ไม่ว่าจะได้อำนาจมาอย่างไร ต้องกลับสู่การมีรัฐธรรมนูญรองรับโดยเร็ว

ระหว่าง พ.ศ. 2495 - 2496 มีการฟ้องว่าการยึดอำนาจขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีคำพิพากษาว่า หากสำเร็จถือว่าชอบธรรมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ออกกฎหมายได้ ทำให้ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป และผู้ยึดอำนาจลดการพึ่งพารัฐธรรมนูญลง เพราะถือว่าศาลฎีกาให้คำตัดสินแล้ว นอกจากนี้จะเห็นการใช้สภาสูง เป็นฐานอำนาจของกลุ่มผู้ยึดอำนาจ 

สำหรับสัดส่วนทหารและพลเรือนในวุฒิสภา จะเห็นว่าสัดส่วนของทหารมากขึ้นในช่วงหลัง

พ.ศ. 2476 ทหาร 62% พลเรือน 38%
พ.ศ. 2489, 2490 และ 2492 ห้ามข้าราชการมีตำแหน่งทางการเมือง
พ.ศ. 2494 ทหาร 74% พลเรือน 17%
พ.ศ. 2500 ทหาร 74%
พ.ศ. 2518 ทหาร 14%
พ.ศ. 2519 ทหาร 41.47%

ตั้งคำถามว่าชุดต่อไปจะมีเท่าไหร่ 

โดยสรุป ความหมายของรัฐธรรมนูญไทย ไม่ได้ยืนยันการอำนาจการปกครองหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของและมาจากประชาชน จึงไม่คุ้มครอง ปกป้อง เสรีภาพของประชาชน

รัฐธรรมนูญเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจกันเอง ไม่ใช่ความสัมพันธ์กับประชาชน โดยประชาชนเป็นเชิงอรรถ

รัฐธรรมนูญเป็นผลรวมของกฎหมายลูก อยากให้มีนโยบายอะไรให้ไปเขียนใส่รัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่นไม่ใช่หน้าที่รัฐธรรมนูญที่ควรมีเนื้อหาว่า จะประกันว่าอำนาจของใคร จำกัดอำนาจผู้ปกครอง และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลายเป็นว่าใครมีอำนาจก็ประกาศกฎหมายและปกครองไปเท่านั้น

ขอยกคำของ เสน่ห์ จามริก ในหนังสือ "การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ" ว่า รัฐธรรมนูญเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจของทุกคน การศึกษาต้องเป็นเชิงประจักษ์ ไม่ใช่ยึดกับหลักการหรือสมมติฐานอันเลื่อนลอย ที่สำคัญคือต้องไม่จำกัดการศึกษาแต่เรื่องการตีความตัวบทกฎหมาย แต่ต้องขยายถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจอื่นๆ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท