ความทรงจำที่ตกค้าง: สิ่งที่ผมกลัวไม่ใช้ปืนแต่เป็นอำนาจ (ตามอำเภอใจ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

-1-

หลายคนจดจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ในฐานะวันเริ่มต้นของการเปิดประตูไปสู่การรัฐประหาร และหลายคนก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์คนที่ออกมาเชียร์กฎอัยการศึกเพื่อให้ทหารปกป้องการเลือกตั้ง

ในตอนนั้น ผมจำได้ว่ามี  นิติราษฎร์ที่ออกมาแถลงค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า ไม่ชอบมาพากลและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และมีหลายคนตั้งข้อสังเกตอย่าง อาจารย์สมศักดิ์ อาจารย์เกษียร แล้วก็คุณใบตองแห้ง อีกทั้ง มวลชนคนเสื้อแดงก็ไม่ถอยทัพหากการประกาศกฎอัยการศึกจะบั่นทอนประชาธิปไตยให้มากขึ้นไปอีก (ดูรายละเอียดที่นี้)

แต่ปัจจัยสำคัญก็คือ ฝ่ายรัฐบาลเสียเองที่ “เชื่อใจ” ทหารจนไม่คิดจะคัดค้านใดๆ ดังนั้นพอรัฐประหาร เราทุกคนก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

กว่าที่คนจะลุกฮือลงถนนก็ไปเขาไปวันที่ 23 และมีปริมาณน้อยมาก และเย็นวันนั้นมีคนโดนจับต่อหน้าต่อตาผม จากการชุมนุมที่หน้าหอศิลปฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ปอน อภิชาติ’ โชคดีที่มีคนติดตามไปด้วยอย่างพี่ปุ๊ ธนาพล(ไม่ได้โดนจับ แต่ไปกับเขาด้วย) และคนที่เกือบจะโดนจับคนสุดท้ายของวันนั้นก็คือชายร่างท้วมและเป็นนักศึกษาชื่อว่า "จ่านิว" ที่ไปตะโกนเรียกให้ทหารปล่อยตัวอภิชาติ ก่อนจะมีทหารเข้ามารุมจะจับตัวไป

นึกถึงตอนนั้นยังสั่นและกลัวไม่หาย ผมจำได้ว่าผมและคนอีกมากไปช่วยกันดึงจ่านิวออกจากมือทหาร ก่อนที่หัวหน้าทหารจะตะโกนอะไรซักอย่าง ที่ผมได้ยินประมาณว่า "สกรัม" และปากกระบอกปืนก็เล็งมาบริเวณใบหน้าผม

ผมและเพื่อนที่ไปด้วยกันวิ่งแตกกระจายกันไปคนละทิศละทาง ก่อนจะตั้งสติแล้วตะโกนเรียกหากัน ผมขอยืมมือถือเพื่อนทั้งที่มือยังสั่น เพื่อโทรบอกหัวหน้าผมว่า พี่อย่ากลับมา มันอันตราย พาพี่และแฟนกลับไป ก่อนที่ผมเองจะวิ่งขึ้นไปตรงบันไดหน้าหอศิลปฯ

ผมเคยผ่านการะทะเลาะวิวาทมาบ้าง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะทำให้จิตใจผมสั่นได้ขนาดนี้

-2-

น่าแปลกอยู่เหมือนกัน ที่ทหารทำให้ผมเชื่อว่า ผมหวาดกลัวพวกเขาเพราะกระสุนปืน แต่แท้จริงแล้ว ผมกลัวการใช้อำนาจของพวกเขามากกว่า

ความน่ากลัวเริ่มต้นจาก การออกประกาศเรียกคนผ่านจอทีวี ใครจะไปคิดว่าบ้านนี้เมืองนี้จะมีอะไรแบบที่ในหนังเขาทำกัน เหมือนเวลาทหารเกณฑ์ไพร่พลคนไปรบโดยที่คนถูกเรียกก็ไม่ค่อยเต็มใจนัก ดังนั้น ส่วนที่จะต่างก็มีเพียงเหตุผลของการเรียก ที่ทหารไม่เคยชี้แจงว่าเพราะเหตุใด

ผมมาทราบเอาภายหลังก็หลายวันหลังรัฐประหาร อำนาจที่รองรับการเรียกตัวหรือควบคุมตัวมีชื่อว่า “กฎอัยการศึก” และไม่ใช่แค่มีอำนาจเรียก ยังมีอำนาจกักตัวได้นานสูงสุดถึง 7 วัน โดยไม่ต้องพบทนายความ พบญาติ หรือเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว

และในระหว่างที่สับสนอลหม่านกับการเรียกคนไปรายงานตัวนั้น ก็มีกระแสข่าวออกมาอีกว่า คนที่ถูกเรียกไปบางส่วนจะถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” ภายหลังออกจากค่ายทหารหลายราย

และหลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่าทหารมีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ หรือจริงๆ แล้วพวกเขามีความผิดอย่างที่ทหารตั้งข้อหาให้เขาหรือไม่ ก็ไม่มีใครรู้เสียด้วยซ้ำ

-3-

สำหรับผมไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าการถูกเรียกเข้าค่ายทหารแล้วออกมาด้วยการถูกตั้งข้อหา เพราะว่า ไม่มีใครล่วงรู้ถึงกระบวนการปิดลับเหล่านี้ ว่ามันคือกระบวนการอะไร ถูกต้องยุติธรรมหรือไม่ และมีอะไรเป็นหลักประกันในชีวิตให้ผมได้บ้างหรือเปล่า

แม้นักการเมืองและแกนนำมวลชนหลายคนจะออกมาบอกว่าสุขสบายดีในค่ายทหาร แต่บางคนก็หดหู่และเสียสุขภาพจิตไปมากเหมือนกัน หลายคนเล่าว่าถูกสอบสวนอย่างหนัก ถูกคุกคามทางความคิดและจิตใจ ก่อนจะมีเรื่องใหญ่หลายเรื่องตามมา อย่างเช่น การหายตัวไปของกริชสุดา และข่าวลือของการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีอาวุธ

ต้องย้ำอีกครั้งว่า ในการควบคุมตัวของทหารนั้น ไม่มีทนายความ ไม่ได้ติดต่อญาติ ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ฯลฯ แต่อย่างใด ทำยังมีกลไกรองรับไม่ต้องรับผิดได้อีกด้วย

ไม่ใช่แค่คนที่ถูกเรียกไปรายงานตัว คนที่ถูกจับจากการออกไปชุมนุมเองก็ไม่ต่างกัน มีการยึดตรวจค้นโทรศัพท์เพื่อสำรวจความคิดและหาการกระทำความผิด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่มีการวางกลยุทธ์สกัดกั้นและสกัดจับบุคคลที่มีท่าทีต่อต้านหรือกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ และใช้วาทกรรม “ปรับทัศนคติ” ที่พูดคุยแกมบังคับให้ยอมรับอำนาจรัฐประหาร รวมถึงต้องแเซ็นสัญญารับเงื่อนไขว่า พวกเขาจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก มิเช่นนั้นจะมีโทษ

และที่มากกว่านั้น การตั้งข้อหาแปลกๆ ที่ดูไม่สอดคล้องกับการกระทำที่กล่าวหา เช่น การให้ดอกไม้ การโปรยใบปลิว การโพสต์เฟซบุ๊กล้อเลียน สิ่งเหล่านี้การเป็นข้อหาภัยความมั่นคงไปหมดแล้ว

สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้ผมมั่นใจว่า สิ่งที่ผมกลัวหาใช่ความตายจากปากกระสุนปืนของทหาร แต่คืออำนาจที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพได้อย่างอิสระ เพราะถ้ามีคนยิงกระสุนใส่ผมในคืนวันที่ 23 พฤษภาคม 2557  ผมก็ไม่แน่ใจว่าระบบยุติธรรมจะคืนความเป็นธรรมให้ผมได้จริงหรือเปล่า

จะมีสังคมใดที่น่ากลัวไปกว่า สังคมที่ปล่อยให้คนทำผิดลอยนวลได้แบบนี้อีก 

-4-

หลายคนอาจจะคิดว่ารากของปัญหาคือ การที่ คสช. สถาปนาตัวเองเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ พร้อมทั้งใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อออกประกาศหรือคำสั่ง คสช. มาริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

และก็คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า คสช. เพิ่มอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปสอดแทรกในกระบวนการยุติธรรมแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเ็น ตำรวจ พนักงานสอบสวน อัยการ แถมยังเอาคนขึ้นศาลทหารของตนเอง และก็ยังมีเรือนจำในค่ายทหารของตัวเองอีก

แต่สำหรับผม มันเป็นซึกหนึ่งของปัญหา เพราะกฎหมายที่เอามาบังคับใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีรากฐานมาจากกฎหมายเดิมๆ ที่มีปัญหาด้วยตัวมันเองแถมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

หนึ่ง ตระกูลกฎหมายความมั่นคง = กฎอัยการศึก / พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอื่นๆ

ซึ่งมันเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ รวบรัด และมองข้ามกระบวนการถ่วงดุลอำนาจที่สำคัญเหมือนกฎหมายปกติ จนอาจจะลุกลามเป็นการละเมิดสิทธิที่ร้ายแรงเหมือนอย่างที่เกิดในภาคใต้ เช่น ซ้อมทรมาน อุ้มหาย เป็นต้น

สอง ตระกูลกฎหมายหมิ่นประมาท = มาตรา 112 / มาตรา 116 /พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีนิยามความผิดที่กว้างขวางไม่ชัดเจน อีกทั้ง กฎหมายดังกล่าวยังถูกนำมาใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่กลับไม่มีหลักการคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เช่น การยกเว้นโทษเพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตและเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน และด้วยเหตุที่มันอยู่ใต้ธงความมั่นคง เจตนาบริสุทธิ์ของประชาชนจึงไม่เคยได้พิสูจน์เลย

สิ่งเหล่านี้ เราล้วนรู้ดีถึงปัญหามาก่อนแล้ว เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ตั้งใจฟัง ลืมมันไป อย่างเช่น การบังคับใช้กฎอัยการศึกหรือกฎหมายความมั่นคงที่ภาคใต้ หรือการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน หรือคนที่ออกมาตั้งคำถามต่อวิกฤติการเมืองไทย

ท้ายที่สุดแล้ว มันน่าสนใจตรงที่ว่า อำนาจแบบนี้มีสองคำที่คู่กัน นั้นก็คือ คำว่า ‘เชื่อใจ’ ที่ทำให้เกิดอำนาจ ‘ตามอำเภอใจ’

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ณัชปกร นามเมือง ศึกษาจบระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันทำงานที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท