ทั่วโลกเสี่ยงวิกฤตหนักด้านยาปฏิชีวนะ พบ 'เชื้อดื้อยา' คร่า 700,000 ชีวิต/ปี

เมื่อไม่นานมานี้สื่อต่างประเทศพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในเรื่องที่เชื้อโรคจำนวนมากเริ่มวิวัฒนาการจนสามารถต้านทานยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพได้หรือที่เรียกกันว่าเชื้อดื้อยา จนมีการประกาศผลการวิเคราะห์เรื่องปัญหาเชื้อโรคดื้อยา (AMR) ว่าถ้าหากไม่มีแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็อาจจะก่อให้เกิดวิกฤตอย่างหนักได้


ที่มาภาพ: http://www.cdc.gov/getsmart/community/about/antibiotic-resistance-faqs.html

23 พ.ค. 2559 ในเว็บไซต์ที่มีการวิเคราะห์เรื่องของปัญหาเชื้อดื้อยา amr-review.org ระบุว่าปัญหานี้เป็นภาระหนักมากโดยเฉพาะในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่เริ่มมีการเติบโตเพราะอาจจะทำให้การศัลยกรรมหรือการติดเชื้อเล็กน้อยกลายเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ รวมถึงทำให้ต้องอาศัยค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นทั้งฝ่ายผู้ให้บริการสุขภาพและฝ่ายผู้รับบริการ

จากที่ก่อนหน้านี้วิทยาการทางการแพทย์สามารถเอาชนะเชื้อโรคได้มาโดยตลอด 50 ปี แต่ปัจจุบันการดื้อยามีเพิ่มมากขึ้นจนทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 50,000 คนต่อปีจากการที่เชื้อโรคดื้อยาจากการสำรวจในยุโรปและสหรัฐฯ และมีการประเมินว่าในระดับโลกอาจจะมีผู้เสียชีวิตราว 700,000 คนต่อปีในกรณีเชื้อโรคดื้อยา

เรื่องนี้ทำให้แซลลี เดวีส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของอังกฤษกล่าวว่าพวกเขามาถึงจุดอันตรายแล้วและควรต้องมีปฏิบัติการอะไรบางอย่างในระดับโลกเพื่อทำให้ภาวะเชื้อโรคดื้อยาแผ่ขยายออกไปช้าลง ถ้าหากไม่มีปฏิบัติการในเรื่องนี้แล้วก็อาจจะส่งผลให้การเสียชีวิตในกรณีนี้มีเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 ล้านคนภายในปี 2593

สาเหตุหนึ่งคือการใช้ยาปฏิชีวนะทั่วโลกมากเกินไปจนเป็นเหตุเร่งให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อจนสามารถต้านยาได้ แพทย์ในประเทศไทยเคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ต่อสื่อ สกายนิวส์ว่า การที่เชื้อโรคที่ต้านทานยาได้อาจจะทำให้เกิด "การล่มสลายของระบบการแพทย์สมัยใหม่" ได้ถ้าหากไม่มีปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนในเรื่องการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของเชื้อโรคเหล่านี้

สกายนิวส์ยังได้สัมภาษณ์ พญ. วารุณี วานเดอพิทท์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ ผู้ที่บอกว่าเธอต้องเจอกรณีเด็กเสียชีวิตจากการติดเชื้อทั้งที่ก่อนหน้านี้มันเป็นกรณีของการติดเชื้อที่สามารถรักษาได้ และถ้าหากไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อด้านการแพทย์สมัยใหม่

"คุณจะไม่สามารถรักษาแบบไอซียูได้อีกต่อไป คุณจะไม่สามารถได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ คุณจะไม่สามารถได้รับการผ่าตัด" วารุณีกล่าว

นักวิจัยระบุว่าปัญหาเชื้อดื้อยานั้นเกิดขึ้นหนักเป็นพิเศษในอินเดียและจีน อีกทั้งยังเกิดขึ้นพอสมควรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยิ่งอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อไร้พรมแดนก็ทำให้การจำกัดเชื้อดื้อยาทำได้ยากขึ้น

ในประเทศไทยมีการใช้งบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายในการพึ่งพายาปฏิชีวนะมากเกินไป โดยที่แพทย์เตือนว่าการขายยาปฏิชีวนะโดยไม่มีใบสั่งยาจะเพิ่มความเสี่ยงในการนำไปใช้อย่างผิดวิธีและทำให้แบคทีเรียกลายพันธุ์ได้ มีการประเมินว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อโรคที่ดื้อยา 10,000 - 35,000 ราย ในแต่ละปี

นพ.กำธร มาลาธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลรามาธิบดีในกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ต่อสกายนิวส์ในเรื่องการใช้ยาผิดๆ ว่า บางทีคนไข้ก็ทานยาเม็ดเดียวแทนที่จะทานสองเม็ด ซึ่งจะส่งผลแย่กว่าทานยาแค่ 2 วันแทนที่จะทานยา 5 วันเสียอีก เพราะคนไข้จะได้รับยาที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรียน้อยกว่าจำนวนปกติทำให้แบคทีเรียดื้อยาที่คนไข้ทานได้มากขึ้น ในเรื่องนี้ นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ประธานสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยก็ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เช่นกันว่าควรมีการสั่งห้ามการขายยาโดยตรงโดยไม่มีใบสั่งยาและควรมีการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเชื้อดื้อยามากขึ้น

นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ระบุถึงเรื่องนี้ว่าสาเหตุที่เมื่อช่วงราว 50 ปีที่ผ่านมาการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ลดลงไม่ได้เป็นเพราะยาปฏิชีวนะแต่เป็นเพราะระบบจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดีขึ้นอย่างบ้านเรือน ท่อน้ำทิ้ง ระบบน้ำสะอาด เป็นสิ่งที่ช่วยลดเชื้อวัณโรคและอหิวาตกโรคที่แพร่หลายมากในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19

ดิอิโคโนมิสต์ระบุต่อไปว่าการที่เชื้อดื้อยานี้มีโอกาสส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างเจ็บคอเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย เรื่องการปศุสัตว์ ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ โดยที่สกายนิวส์ประเมินว่าน่าจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการปศุสัตว์ราวร้อยละ 70 ทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่เนื้อสัตว์จะมีแบคทีเรียที่ดื้อยาปนมาด้วย

ในบทความของดิอิโคโนมิสต์ชี้ว่าปัญหานี้มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องของตลาดยาด้วย การที่เชื้อโรคมีความสามารถดื้อยาเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของตัวผู้ใช้ยาเองที่ไม่ได้ใช้ยาให้ครบตามจำนวนที่กำหนดเพราะคิดว่าหายจากอาการที่เป็นแล้วแต่ในความเป็นจริงเชื้อดื้อยายังคงมีชีวิตอยู่ เมื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้ง่ายๆ จึงหันมาผลิตยาที่ฆ่าเชื้อได้ดีขึ้นแม้แต่ในเชื้อที่ดื้อยาตัวอื่น แต่เนื่องจากมันมีราคาแพงจึงพยายามเก็บไว้ในกรณีเจ็บป่วยที่รักษาได้ยากลำบากจริงๆ เท่านั้น แต่มันก็ทำให้ยาพวกนี้ขายได้น้อยและไม่ส่งเสริมให้บริษัทยาทำการวิจัยและพัฒนาตัวยาเหล่านี้ อย่างเช่นตัวยา อาร์เทมิซินิน ที่ใช้รักษามาลาเรียแทนยาตัวเดิมหลังจากที่เชื้อปรสิตต้านทานยาตัวเดิมได้นั้นมาจากนักวิชาการของจีนไม่ได้มาจากบริษัทยาตะวันตก

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าการแก้ไขปัญหากระทำได้โดยหลายวิธี เริ่มตั้งแต่การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในการเร่งการเจริญเติบโตในปศุสัตว์ซึ่งทางสหภาพยุโรปมีการสั่งห้ามในเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว ควรมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นทั้งในคนและสัตว์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อตั้งแต่แรก ในสถานพยาบาลเองที่เป็นแหล่งเพาะเชื้อต้านทานโรคก็ควรจะมีระบบอนามัยที่ดีขึ้นกว่านี้ รัฐบาลแต่ละประเทศควรให้ความรู้แก่ประชาชนว่ายาปฏิชีวนะทำงานอย่างไรและพวกเขาจะช่วยลดการแพร่เชื้อที่ต้านทานโรคได้อย่างไร

ในแง่นโยบายส่งเสริมจูงใจนวัตกรรมยานั้นมีการประกาศตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาแล้วว่ามีบริษัทยาและบริษัทตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ 85 แห่ง ลงนามให้สัญญาว่าจะมีปฏิบัติการต่อปัญหาเชื้อโรคดื้อยา และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข้อเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานให้กับรัฐบาลอังกฤษ จิม โอนีลล์ ซึ่งเสนอให้มี "รางวัลเข้าสู่ตลาด" แก่บริษัทที่ผลิตยาปฏิชีวนะใหม่ที่ใช้งานได้ออกมาโดยรางวัลดังกล่าวมีมูลค่า 800 - 1,300 ล้านดอลลาร์โดยยังไม่นับรวมรายได้จากการขายยา

โอนีลล์ ยังเสนอให้มีการเพิ่มทุนการวิจัยโดยรัฐบาลอังกฤษและจีนเพื่อส่งเสริมเทคนิคการวินิจฉัยโรคที่มีราคาถูกลง เช่น ถ้าหากว่าหมอสามารถบอกได้ทันทีว่าการติดเชื้อนั้นเป็นเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียก็จะสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าควรหรือไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ (ยาปฏิชีวนะไม่มีผลกับไวรัส) รวมถึงทราบได้ว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะแบบไหนทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายยาที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาบางส่วนได้และทำให้สามารถจำกัดจำนวนของเชื้อดื้อยาประเภทใหม่ๆ ลงได้ด้วย

ในเว็บไซต์ศูนย์ป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ มีหน้าเพจที่ให้ความรู้เรื่องเชื้อโรคดื้อยาโดยเฉพาะ โดยระบุว่าการที่เชื้อโรคดื้อยานั้นเป็นการที่เชื้อโรคเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ยาที่คนไข้ใช้อยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพน้อยลงทำให้เชื้อบางส่วนเหลือรอด เมื่อเชื้อเหล่านี้อยู่รอดได้ก็จะแบ่งตัวเพิ่มและทำอันตรายได้มากขึ้น ทำให้มีตัวเชื้อโรคที่ดื้อยาเพิ่มขึ้นไปด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Antibiotics : When the drugs don’t work , The Economist, 21-05-2016
http://www.economist.com/news/leaders/21699116-how-combat-dangerous-rise-antibiotic-resistance-when-drugs-dont-work

Antibiotic Resistance Becoming Global 'Crisis', Sky News, 12-05-2016
http://news.sky.com/story/1694324/antibiotic-resistance-becoming-global-crisis

เว็บไซต์ Review on Antimicrobial Resistance
http://amr-review.org/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Antibiotic Resistance Questions and Answers, CDC
http://www.cdc.gov/getsmart/community/about/antibiotic-resistance-faqs.html
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท