สปท. ไฟเขียวแผนปฏิรูปพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการคนพิการ

21 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลา 9.30 น. ที่ผ่านมา การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคตะ  ประธานสปท.ทำหน้าที่ประธานประชุม ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม จำนวน 2 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องการพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการคนพิการ
 
วิเชียร ชวลิต รองประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงแผนปฏิรูปการพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการคนพิการ ว่า ที่ต้องเร่งปฏิรูปเนื่องจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและสามารถสัมฤทธิผลในการปฏิรูปได้ในระยะยาว รวมทั้งจะสามารถลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านสุขภาพและอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้
 
“ต้องปฏิรูปให้คนพิการได้สิทธิในการประกอบอาชีพในระบบ กำหนดอัตรากำลังข้าราชการในศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด และพัฒนาศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทำหน้าที่กำกับดูแลศูนย์บริการคนพิการทั่วไปอย่างจริงจัง รวมถึงพัฒนาศูนย์บริการคนทั่วไปให้มีมาตรฐานการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ" วิเชียร กล่าว
 
ทั้งนี้ สมาชิกสปท.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนแผนปฏิรูปตามรายงานนี้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีส่วนร่วมทางสังคมและสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ แต่บางส่วนเสนอแนะว่าไม่ควรตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการเพิ่มขึ้นอีก แต่ควรหาวิธีทำให้ศูนย์ฯ ที่มีอยู่แล้วดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงคนพิการได้อย่างแท้จริง จากนั้นที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 145 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง
 

สนช.มณเฑียร แจงสาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

มณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ  "อินไซด์ รัฐสภา" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา ถึงสาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)ว่า CRPD เป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ส่งเสริมพิทักษ์ และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานและมีความเสมอภาคอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนินของคนพิการ อนุสัญญาฉบับนี้ยังถือเป็นอนุสัญญาฉบับแรกที่ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนพิการ ไม่เฉพาะด้านพลเมือง แต่รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและชีวิตครอบครัว นอกจากสิทธิข้างต้นแล้ว อนุสัญญาฉบับนี้ยังมีกลไกพิเศษคือ ได้ระบุถึงการติดตามตรวจสอบทั้งในระดับชาติ นานาชาติ และกำหนดการมีส่วนร่วมขององค์กรคนพิการ ขณะเดียวกันได้พูดถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่นำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาได้อีกด้วย จึงถือเป็นสนธิสัญญาที่มองได้ 2 มิติ คือ มองให้เป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นหรือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาได้ด้วย

มณเฑียร กล่าวเพิ่มเติมว่า CRPD เป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนฉบับแรกที่สหภาพยุโรป หรือ EUเข้าเป็นภาคีด้วย โดยมองว่า อาเซียนมีลักษณะการรวมตัวของประเทศสมาชิกในระดับภูมิภาคคล้ายกับ EUจึงมีความหวังว่า จะทำให้อาเซียนเข้าเป็นภาคี CRPDซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง ศึกษารูปแบบกฎบัตรอาเซียน หากเข้าเป็นได้จะเหมือนเป็นภาคี 2 ชั้น คือ ระดับภูมิภาค ที่จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือประเทศสมาชิกด้วยกัน กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน หรือ อาเซียนอาจจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษที่ดูเรื่องกิจการคนพิการขึ้น  

ทั้งนี้ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เป็น 1 ใน 9 สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการสหประชาชาติ โดยไทยเป็นภาคีอยู่ 7 ฉบับ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีประเทศสมาชิกลงนามให้สัตยาบัน และมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม กรณีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2551 มีผลบังคับวันที่ 28 ส.ค. 2551 เป็นสนธิสัญญาที่ภาคประชาสังคมตื่นตัวที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง

ที่มา สำนักข่าวไทย และข่าวรัฐสภา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท