Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


วันก่อนผมไปประชุมผู้ปกครอง ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมา วันนั้นมีผู้ปกครองพูดคุยกันมากมายหลายเรื่อง หลากประเด็น แต่ประเด็่นที่เรียกได้ว่า hot ที่สุดที่เหล่าผู้ปกครองหยิบยกมาพูดกันก็คือ เรื่องรับน้อง จะด้วยข่าว หรือ การประชาสัมพันธ์ของกลุ่มต่อต้าน ที่โหมกระหน่ำทุกๆปีก็ตามแต่ เรื่องเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองให้ความสนใจกันมากๆ ทุกปี เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องกังวลกับความปลอดภัย ทั้งเนื้อตัวและจิตใจของลูกๆ ซึ่งแม้แต่พื้นที่มีความเจริญและถูกสังคมมองว่าเป็นอาณาบริเวณที่มีแต่เด็กเนิร์ดอย่างคณะฝั่งสายสุขภาพก็ยังมีระบบ SOTUS และแน่นอนคณะที่เข้าไปประชุมผู้ปกครองวันนั้นก็เป็นหนึ่งในคณะที่นิยมรับน้องด้วยระบบ SOTUS เช่นกัน

ระหว่างที่นั่งรอเด็กๆเขาสัมภาษณ์กัน ก็เป็นช่วงเวลาที่เหล่าผู้ปกครอง จะหันหน้าเข้ามาสมาคมกัน ชั่วระยะเวลาหนึ่ง 3-4 ชั่วโมง คุยกันเองบ้าง บางคนก็เล่าถึงประสบการณ์ของตนเอง บางคนก็เล่าถึงประสบการณ์ของลูกอีกคนหนึ่งของตนเอง ที่เคยโดนมาก่อน บางท่านก็มาถามผม (ทั้งๆที่ผมไม่เคยเรียนคณะนั้น) ว่าที่(มหาวิทยาลัย)นี้ เขารับน้องกันหนักไหม เป็นยังไง ที่ลึกๆแล้วก็เป็นคำถามทั่วไป ที่พบได้ทุกปี ไอ้เราก็ไม่รู้จะตอบยังไง เพราะไม่เคยโดนคุณหมอ หรือพยาบาลว้าก หรือปิดห้องมืดใส่ ก็เลยตอบไปแบบ general tone มากที่สุด จากข้อมูล และหลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่ตามเน็ต ตามงานศึกษา (แต่ก็ไม่ได้อ้างอิงถึงงานของธงชัย วินิจจะกูล[i] เพราะงานชิ้นนั้น เพราะเป็นที่ทราบกันว่า SOTUS และการรับน้องแต่ละแห่งไม่ได้มีความเหมือนกันเสียทีเดียว งานและคำอธิบายของธงชัยจึงยังไม่อาจนำมาใช้เป็นกรอบในการพูดถึงเรื่อง SOTUS หรือ Hazing ได้ไม่เต็มที่)

ผมก็พูดคุย เล่าไปเรื่อย รับน้อง โดยพื้นฐานสุด น้องจะเจออะไรบ้าง เขาจะเล่นเกมอะไรกับน้องบ้าง แตะเนื้อต้องตัวไหม เล่นปฏิบัติการสงครามจิตวิทยา อะไร ยังไง ฯลฯ โดยรวมก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันทุกปี ละพวก Anti-SOTUS ก็พูดถึงกันทุกปี ไม่มีอะไรใหม่ ถูกบ้าง ผิดบ้าง ก็ว่ากันไป ที่ไหนมีเอกลักษณ์อะไร พิเศษแบบไหน แตกต่างยังไง ก็คงไม่มีใครจะสามารถลงลึกในรายละเอียดได้อย่างแจ่มชัดนอกจากหลักการพื้นฐานที่แต่ละแห่งมีร่วมกันเท่านั้น

พูดจบ บางคนเขาก็ทำท่าตกใจ ว่ามีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นด้วยเหรอ แล้วก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากต่างจังหวัดถามต่อ ว่า ถ้าไม่เอาล่ะจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับลูกหลานตนเองไหม ไอ้เราก็ไม่รู้จะตอบยังไง ก็เลยพยายามตอบไปโดยมีฐานอยู่บนทฤษฎีและข้อเท็จจริง ปนๆกันไป เพื่อไม่ให้เขาตกใจหรือตื่นตระหนกกับความจริงที่หนักอึ้งเกี่ยวกับระบบ SOTUS คุยไปคุยมา แลกเปลี่ยนไปเรื่อย ก็เริ่มรู้สึกได้ว่า เฮ้ย ระบบ SOTUS นี่มันก็ซับซ้อน และสอดรับกับบริบทของสังคมไทยที่เป็นอยู่ในตอนนี้เหมือนกันนะ แถมยังสามารถฝังรากควบคู่เป็นวัฒนธรรมองค์กรได้ในหลายๆ องค์กรอีกด้วย

ที่สำคัญและน่าสนใจคือ ฝ่ายต่อต้านมักจะอาศัยแต่มุมมองจาก "คนนอก" (outsider) หรือมุมมองประเภท เช่น "ผู้ใหญ่มองเด็ก" (through-children) ที่มักมองว่า ไร้สาระ หรือ สรรหาคำอธิบายแบบสากลนิยมมาใช้ และรีบติดฉลากให้กับระบบเหล่านี้ แต่ก็หามีผู้ใดจะเจาะเข้าไปศึกษาแบบ case-by-case ไม่ เพราะแน่นอนว่าระบบ SOTUS ในแต่ละที่ สถาบัน และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนั้นมีแตกต่างกัน แต่ก็ไม่มีการศึกษาใดๆจะสามารถเข้าไปยืนยันได้ถึงความแตกต่างของ กระบวนการ ผลลัพธ์ ผลพลอยได้ ผลระยะสั้น ระยะยาว ที่มีเฉพาะด้าน เฉพาะตัว ที่แตกต่างกันไปในแต่ละแห่งอย่างจริงจังเลย

คนภายนอกก็ยังคงอาศัยมุมมองจากงานศึกษาเพียงไม่กี่ชิ้น และกรณีศึกษาจากสำนักข่าวที่ทะยอยลงกันซ้ำๆ ถึงประเด็น 'ความรุนแรง' ทั้งทางกายภาพ และเชิงสัญลักษณ์ที่ปรากฏออกมาเป็นครั้งคราว (ทุกปี)

สิ่งเหล่านี้ทำให้การยืนยันด้วยข้อมูลคำอธิบายเชิงสารัตถะนิยมไม่เหมาะที่จะถูกนำมาใช้ และอ่อนด้อยมากในการจะยันหรือต่อต้านระบบ จริงๆ ถ้าฝ่ายต่อต้านสามารถ หาข้อสรุป หาข้อมูลที่เป็นรูปธรรม และรอบด้านกว่านี้มาอ้างใช้ หรือ โต้ฝ่ายที่สนับสนุนระบบ SOTUS มันจะช่วยสร้างพลวัต และการขับเคลื่อนในประเด็นเหล่านี้ได้มากๆ ไม่ใช่เถียงกันไปเถียงกันมาข้างๆคูๆ ในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 แล้วสักพักก็พักรบ แล้วรอหาข่าวความรุนแรงและผู้บาดเจ็บทางกายจากระบบ SOTUS มาโจมตีทีละเล็กน้อย หรือในหลายๆ ครั้งอาจพักรบยาวเป็นปี แล้วกลับมารบกันใหม่เฉพาะช่วงเปิดภาคการศึกษาที่ 1 วนกันไปในช่วงดังกล่าวของทุกปี

ประเด็นคือ จะมีใครยินดีเข้าไปหาข้อมูล หรือลงมือทำหรือเปล่า ถ้าต้องการจะได้ข้อมูลจากการรับน้องและ ระบบ SOTUS ของทุกสถาบันมาสร้างเป็นข้อสรุปทางยุทธศาสตร์ในการต่อต้านและทำลาย SOTUS ตามอุดมการณ์ของฝ่ายต่อต้าน เพราะการหาข้อมูลในระบบสภาพแวดล้อมแบบปิดมันยาก และลำบาก รวมถึงต้องใช้เวลานานมากกว่าจะรวบรวมข้อมูล และหลักฐานต่างๆได้ ข้อนี้คือข้อจำกัดที่สำคัญ เนื่องจากผู้เก็บข้อมูลจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะใช้ “คนใน” (insider) ในการสืบสาวข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ แล้วรวบรวมขึ้นเป็นชิ้นเป็นอันได้ (เพราะคนนอกหรือการใช้คนที่ถูกเรียกว่า “คนไม่เอารุ่น” ไปสืบ ในบางแห่งแทบจะไม่สามารถหาข้อมูล หรือ เรื่องลึกๆภายในได้เลย) ถ้าเหล่าหัวก้าวหน้า และฝ่ายต่อต้านสามารถทำเรื่องเหล่านี้ หรือเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ แล้วดึงออกมาได้

ผมคิดว่าน่าจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นต่อการพัฒนาได้มากเลยล่ะ เพราะถ้ายังเย้วๆกันอยู่แบบทุกวันนี้ มันก็ยังไม่หายไปง่ายๆแน่ ถึงแม้จะบอกได้ว่า สาธิต มช หรือบางมหาลัย เลิกว้ากแล้ว แต่ไม่ใช่ว่ามันจะมาเป็นสัญญาณถึงการล่มสลายของระบบ SOTUS ในสังคมไทยได้ซะทีเดียว SOTUS ที่เป็นโรงงานผลิตระบบอุปถัมภ์หลักๆ อาจจะเหมือนกำลังจะถูกทำลาย แต่อีกคำถามหนึ่งคือ มันกำลังถูกทำลาย หรือมันกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบ และปรับตัวกับบริบทสมัยใหม่ แล้วขยับขยายไปหาวิธีอื่นในการคงระบบอุปถัมภ์เอาไว้ (เพราะจริงๆแล้วทุกวันนี้ เราไม่ได้สู้่กันแค่ระบบ SOTUS แต่เบื้องหลังของระบบ SOTUS ยังมี ระบบอุปถัมภ์ และโครงสร้างสังคมแบบ Crony แพร่กระจายอยู่ลึกๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่ถ้าจะทำการแก้ไข และใช้เวลานาน)

อย่างที่ผมบอกแหละครับ ฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายปฏิรูปล้มล้างระบบควรหาวิธีใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลง ปรับรูปแบบกลยุทธ์การต่อสู้ของตนเองไปเรื่อยๆ ไม่ให้ซ้ำกันบ่อยเกินไป เพื่อให้สามารถจะล้อมกรอบ หรือ นำหน้าสิ่งที่ตนเองกำลังต่อสู้อยู่ให้ได้หลายๆ ก้าว

กลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือ การรู้เขารู้เรา รบอย่างไรก็ชนะ ดังที่ Sun Tzu เคยกล่าวไว้ ยิ่งรู้เรื่องภายในละเอียดมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการวางแผน วางยุทธศาสตร์การต่อสู้ของพวกคุณเท่านั้น ถ้าอยากสู้กับระบบ ก็ควรศึกษาข้อมูล ความแตกต่าง เอกลักษณ์ของสถาบันแต่ละแห่งให้ละเอียด รอบด้าน ผมว่ามันไม่ยากเกินไปสำหรับฝ่ายกลุ่มต่อต้านที่มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ ทุกสถาบัน อยากจะได้ข้อมูลก็ลองหาคนในเป็นสายที่ไว้ใจได้สักคนสองคน แต่อาจจะลำบากสักหน่อย หรือถ้าหาแบบนั้นไม่ได้ก็ลองส่งคนของตัวเองแอดมิดชั่นเข้าไปสืบเก็บข้อมูล เพื่อให้ได้หน่วยกล้าตายที่ซื่อสัตย์กับกลุ่มของพวกคุณ รีบๆเตี๊ยมกันเสียตั้งแต่แรกก่อนจะเข้าไปสู่ระบบนั้นๆ

มันอยู่ที่ตัวของพวกคุณแล้วตอนนี้ จะเลือกเล่นเกมแบบเดิม หรือจะเปลี่ยนวิธีสู้ก็สุดแท้แต่

 




[i]  Thongchai Winichakul (2015). “The Hazing Scandals in Thailand Reflect Deeper Problems in Social Relations”. In ISEAS Yusof Ishak Institute, 56, Page 1-9.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net