Skip to main content
sharethis

Yes! Magazine นำเสนอเรื่อง การจัดตั้งทีมนักกีฬาโอลิมปิกจากผู้ลี้ภัยเป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ที่บราซิล จากที่ในโลกตอนนี้มีผู้ลี้ภัยมากถึง 20 ล้านคน ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลที่ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นจึงประกาศตั้งทีมใหม่ให้กับนักกีฬาที่เป็นผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ

ในบทความของ Yes! ระบุถึงเรื่องราวของผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 2 พี่น้อง คือ ยุสรา และซาราห์ มาร์ดินี โดยที่ทั้งสองคนต่างก็หนีตายจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย เดินทางโดยสารภาคพื้นดินผ่านประเทศเลบานอนและตุรกี จนกระทั่งขึ้นเรือร่วมกับผู้ลี้ภัยอื่นๆ อีก 18 คนและประสบภัยกลางทะเลอีเจียนเพื่อเครื่องยนตร์เรือขัดข้อง พี่น้องมาร์ดินีและผู้ลี้ภัยหญิงอีกคนหนึ่งกระโดดลงน้ำแล้วช่วยกันผลักเรือไปจนถึงเกาะเลสโบสภายในเวลา 3 ชั่วโมง

มาร์ดินีมีแผนการจะกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวที่กรุงเบอร์ลินว่ามันคงน่าอดสูถ้าหากเธอจมน้ำตายไปตั้งแต่ตอนนั้น มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากจมน้ำเสียชีวิตในการพยายามเดินทางไปถึงยุโรปอย่างปลอดภัย ในปีนี้ก็ปาเข้าไป 2,500 รายแล้ว แต่ความอดสูที่มาร์ดินีหมายถึง คือการที่เธอเป็นนักกีฬาแข่งขันว่ายน้ำ และเธอได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 10 นักกีฬาโอลิมปิกสังกัดทีมผู้ลี้ภัยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคปี 2559 ที่ริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล สำหรับผู้คนที่สูญเสียถิ่นฐานบ้านเกิดและสูญเสียสัญชาติของตัวเองไป การกีฬากลายเป็นสิ่งที่คืนส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเธอ

ก่อนหน้าที่จะมีการจัดทีมให้แก่ผู้ลี้ภัยมาร์ดินีและเพื่อนร่วมทีมของเธอคงกลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมโอลิมปิก แต่การที่พวกเธอไม่สามารถเข้าร่วมได้ก็ถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎบัตรโอลิมปิกเองที่ระบุไว้ว่าการเล่นกีฬาถือเป็นสิทธิมนุษยชน มนุษย์ทุกคนต้องมีโอกาสฝึกฝนการกีฬาโดยไม่ถูกแบ่งแยกกีดกันด้วยอะไรก็ตาม

ข้อความในกฎบัตรดังกล่าวถือแนวคิดที่มีคุณค่า แต่ก้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่โอลิมปิกเป็นงานแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ แม้ว่าทุกคนจะมีสิทธิเข้าแข่งกีฬาแต่ว่าไม่ใช่นักกีฬาทุกคนที่จะมีสังกัดประเทศ คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงสร้างทีมโอลิมปิคผู้ลี้ภัยขึ้นเพื่อหวังว่าจะช่วงแก้ปัญหานี้

ทีมของผ้ลี้ภัยประกอบด้วยนักกีฬา 10 คน ทุกคนคือผู้ที่สหรัฐฯ ให้สถานะว่าเป็นผู้ลี้ภัย นอกจากมาร์ดินีแล้วยังมีนักว่ายน้ำรายอื่นๆ อีกที่มาจากซีเรียได้แก่ รามี อนิส มีนักยูโดสองรายที่มาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกคือ โปโปล มิเซนกา และ โยลานด์ บุกาซา มาบิกา นักวิ่งมาราธอนที่มาจากเอธิโอเปีย โยนาส ไคนด์ และนักวิ่งอีก 5 คนจากประเทศเซาท์ซูดาน ได้แก่ เจมส์ เนียง เชียงเจียก, ยีช เพอ เบียล, เปาโล อโมตุน โลโคโร, โรส นาทิเก โลโคเนียน, แองเจลินา นาดา โลฮาลิธ ผู้คนเหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นทีมนักกีฬาโอลิมปิกผู้ลี้ภัย (ROA)

โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติกล่าวว่าการจัดตั้งทีมกีฬานี้จะเป็นสัญลักษณ์ของความหวังให้กับผู้ลี้ภัยในโลกของเราและทำให้เกิดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบวิกฤตผู้ลี้ภัย เขายังกล่าวในการประกาศการคัดเลือกทีมนักกีฬาต่อไปปว่าการตัดสินใจครั้งนี้ยังถือเป็นการส่งสัญญาณต่อประชาคมโลกว่าผู้ลี้ภัยคือเพื่อนร่วมโลกที่มีส่วนในการเติมเต็มสังคม ทีมผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการโอลิมปิกโซลิแดริตีที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการแต่ละชาติที่ต้องการงบประมาณองค์กรหรือการสนับสนุนด้านการฝึกซ้อม

สำหรับในแง่พิธีการต่างๆ นั้นทีมผู้ลี้ภัยจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้สู่พิธีเปิดในฐานะผู้ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาติใดโดยเฉพาะและจะถือธงของโอลิมปิกแทนธงชาติ อย่างไรก็ตามนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักกีฬาไม่สังกัดประเทศใดได้ลงเล่นในกีฬาโอลิมปิก บิล มัลลอน นักประวัติศาสตร์โอลิมปิกและผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักประวัติศาสตร์โอลิมปิกนานาชาติกล่าวว่าเคยมีคนที่ลงแข่งโดยไม่สังกัดสัญชาติใดมาก่อนเนื่องจากภาวะสงครามหรือการการคว่ำบาตรทางการเมืองในประเทศของพวกเขา เช่นในปี 2535 นักกีฬาชาวยูโกสลาเวียคนหนึ่งผู้ที่ประเทศเขาถูกสั่งแบนเพราะความเกี่ยวข้องกับสงครามบอลข่านยังได้รับอนุญาตให้ลงแขงในฐานะ "นักกีฬาโอลิมปิกอิสระ"

อย่างไรก็ตาม Yes! ชี้ว่าการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัย 10 คน เข้าร่วมแข่งขันก็ม่ได้หมายความว่าคนทุกคนจะสามารถเข้าถึงการร่วมแข่งขันได้ยังมีคนบางกลุ่มที่อยู่ในสถานะทางการเมืองที่ถูกบีบคั้นจนไม่สามารถส่งนักกีฬาไปร่วมงานโอลิมปิกได้ เช่น ชาวทิเบตผู้อยู่ภายใต้การยึดครองของจีนแผ่นดินใหญ่พวกเขาต้องลงแข่งภายใต้ธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เช่นนั้นก็จะลงแข่งไม่ได้เลย แต่การที่จัดตั้งทีมผู้ลี้ภัยขึ้นทำให้มีความหวังถึงการแข่งขันที่มีส่วนร่วมมากขึ้นในอนาคต เทนซิง เชรัป ผู้จัดการโครงการมูลนิธิชาวทิเบตอเมริกันแห่งรัฐมินนิโซตากล่าวชื่นชมคณะกรรมการโอลิมปิกที่ได้สร้างพื้นที่ให้กับผู้ลี้ภัยและยอมรับเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับกีฬาแต่อย่างเดียวแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใฝ่หาเสรีภาพด้วย

ในขณะที่ข่าวคราวของผู้ลี้ภัยมักจะเน้นไปในเรื่องความยากลำบากและโศกนาฏกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเป็นหมู่คณะเสี่ยงอันตราย หรือค่ายผู้ลี้ภัยที่ทรุดโทรม บิลล์ แคนนี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายงานบริการผู้อพยพและผู้ลี้ภัยของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่าการนำเสนอภาพข่าวเช่นนี้เป็นการทำให้เรื่องราวของผู้ลี้ภัยขาดแง่มุมความเป็นมนุษย์ และเขาหวังว่าโอลิมปิคจะสามารถทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถเล่าเรื่องราวส่วนตัวเกี่ยวกับครอบครัวของพวกเขาได้ทำให้ผู้คนสามารถเล็งเห็นได้ว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้แทบไม่แตกต่างจากเราเลย

การที่มีผู้ชมจำนวนมากในกีฬาโอลิมปิกที่ ริโอ เดอจาเนโร ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้วิกฤตผู้ลี้ภัยดีขึ้น จากที่มีสถิติระบุถึงจำนวนผู้ชมกีฬาโอลิมปิกผ่านทางโทรทัศน์อย่างล้นหลาม มันเป็นเรื่องสำคัญในช่วงที่ผู้คนทั่วโลกมีมุมมองทางลบต่อผู้ลี้ภัย แม้แต่เรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่เป็นนักกีฬาก็เต็มไปด้วยความวิบากแต่ก็สมควรต้องมีคนรับรู้อย่างมิเซนกากับมาบิกา นักยูโดจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกผู้หนีออกจากความโหดร้ายในประเทศตัวเองแล้วลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยในช่วงปี 2556 ที่มีการแข่งขันยูโดชิงแชมป์ในริโอ

มิเซนกาหนีออกจากประเทศหลังจากที่แม่ของเขาถูกสังหารและพี่ชายเขาหายตัวไป เขาบอกว่า "ผมเห็นสงครามมามากเกินไป เห็นการเสียชีวิตมากเกินไปแล้ว" เรื่องราวของมาบิกาก็คล้ายๆ กัน เธอสูญเสียครอบครัวให้กับการสู้รบในคองโก ทั้งสองคนต่างก็หันเข้าสู่หนทางแห่งยูโดเพื่อเป็นทางออก มาบิกาบอกว่า "ยูโดเป็นชีวิตของฉัน มันช่วยให้ฉันหนีจากสงครามแล้วเดินไปยังเส้นทางอื่นได้"

แคนนีกล่าวว่าถ้าผู้คนได้เข้าใจว่าผู้ลี้ภัยเป็นใครและต้องผ่านอะไรมาบ้าง ก็น่าจะทำให้คนในประเทศของแคนนีคือสหรัฐฯ ยอมรับพวกเขาให้ได้ใช้ชีวิตใหม่ในประเทศได้มากขึ้น

ในขณะเดียวกันนักกีฬาก็ได้รับการฝึกซ้อมในประเทศที่พวกเขาขอลี้ภัย เช่น นักวิ่งจากเซาท์ซูดานได้รับการฝึกซ้อมในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ผู้ฝึกสอนพวกเขาคือ เตกลา โลรูเป เธอเป็นคนชนะเลิศการแข่งมาราธอนสองครั้งและเคยลงแข่งโอลิมปิกสามครั้ง เธอบอกว่าเมื่อเธอหรือใครก็ตามได้มองไปที่พวกเขาแล้วก็จะเห็นได้ว่าผู้คนไม่ได้เลือกอยากจะเป็นผู้ลี้ภัย พวกเราเองก็อาจจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยเมื่อไหร่ก็ได้

ยุสรา มาดินี ฝึกซ้อมโดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติเยอรมนี ไมเคิล เชิร์ป รองหัวหน้าฝ่ายสื่อของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติเยอรมนีกล่าวว่าเยอรมนีภูมิใจที่ได้สนับสนุนยุสราและส่งเสริมความพยายามในการแข่งขันกีฬาโอลิมิกของเธอ และสองพี่น้องมาดินีเป้นตัวอย่างที่น่าประทับใจของประชากรผู้ลี้ภัยในเยอรมนีที่มีเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านคนในช่วง 15 เดือน ที่ผ่านมา เชิร์ปบอกอีกว่าการที่ผู้ลี้ภัยเล่านี้สูญเสียบ้านเกิดและทนทุกข์จากการเดินทางที่เลวร้ายทำให้พวกเขาให้แรงบันดาลใจแก่ชาวเยอรมันได้

มาดินีมองเห็นว่าเรื่องราวส่วนตัวของเธอเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้จากการแถลงข่าวในกรุงเบอร์ลินเมื่อเดือน ก.พ.เธอกล่าวว่า "ปัญหาในซีเรียทำให้ฉันมายืนอยู่ตรงนี้และเป้นเหตุผลว่าทำไมฉันถึงแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและฉันต้องการไปให้ถึงเป้าหมายของตัวเอง" มาดินีกล่าวอีกว่าเธอต้องการเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ให้พวกเขาเชื่อพวกเขาสามารถทำในสิ่งที่ใจตัวเองเชื่อได้

ผู้คนทั่วโลกจะได้รับฟังเรื่องราวของทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัยภายในปีนี้ คนหายพันล้านจะได้เห็นผู้ลี้ภัยลงแข่งขันทัดเทียมกับคนอื่นๆ ในขณะที่กีฬาโอลิมปิกดำเนินตามกฎบัตรของตัวเองในแง่ที่จะไม่มีการแบ่งแยกกีดกันผู้คนที่จะลงแข่ง

 

เรียบเรียงจาก

Olympians Without Nations: First-Ever Team of Refugees Heads to Summer Games, Yes! Magazine, 09-06-2016 http://www.yesmagazine.org/people-power/olympians-without-nations-first-ever-team-of-refugees-heads-to-summer-games-20160609

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net