Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ FCCT ห้ามเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐจัดเสวนาแนวทางแก้ปัญหาไร้รัฐของชาวโรฮิงญา โดยให้อ่านข้อเสนอ 15 นาทีแล้วปิดงาน ห้ามสื่อซักถาม เครือข่ายเรียกร้อง 'ออง ซาน ซูจี' ทบทวนกฎหมายยุครัฐบาลทหารพม่า พ.ร.บ.สัญชาติ ค.ศ. 1982 ที่มีผลเพิกถอนสัญชาติชาวโรฮิงญา ให้หน่วยงานระหว่างประเทศมีส่วนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ผู้อพยพ และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

23 มิ.ย. 2559 10.30 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย หรือ FCCT มีการจัดแถลงยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงยาจากประเทศพม่า เพื่อเสนอต่อ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเดินทางเยือนประเทศไทยในช่วงวันที่ 23-25 มิ.ย. 2559 นี้

ในการแถลงข่าวซึ่งจัดโดยเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) และ Asylum Access Thailand (AAT) สามารถจัดได้ไม่เกิน 15 นาทีเท่านั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. ลุมพินี เข้ามาควบคุมพื้นที่ FCCT และขอให้ผู้จัดงานยกเลิกการแถลงข่าว โดยอ้างว่าเข้าข่ายความผิดในมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา และการแถลงข่าวอาจส่งผลกระทบต่อรายงานเรื่องบัญชีการค้ามนุษย์ที่ไทยอยู่ในบัญชีที่ 3 (Tier 3) หรือกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์เลวร้าย ติดต่อกัน 2 ปี และสหรัฐอเมริกากำลังจะเผยแพร่รายงานออกมาเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ผู้แถลงข่าวได้ทำการเจรจาต่อรอง จนทางเจ้าหน้าที่อนุญาตให้จัดกิจกรรมเพียงแค่อ่านแถลงการณ์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ตั้งวงเสวนาหรือ ถาม-ตอบคำถามใดๆ ในขณะเดียวกันภายในงานพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายกำลังกันอยู่โดยรอบสถานที่ประมาณ 20 ราย

โดยพุทธนี กางกั้น เจ้าหน้าที่จาก Fortify Rights ผู้จัดงาน กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.)ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อผ่านมายังผู้ประสานงานขององค์กรว่า ขอให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว แต่ในเช้าวันจัดงานก็ได้มีการเรียกตัวกลุ่มผู้จัดไปพบที่ สน.ลุมพินี ในช่วงเช้า เพื่อเจรจาว่าจะให้กิจกรรมดำเนินไปเพียงแต่อ่านข้อเสนอแต่เพียงเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เกิดการสัมภาษณ์หรือตอบคำถามใดๆ จากสื่อมวลชน เนื่องจากเกรงว่าคำถามจะนำไปสู่ประเด็นที่อ่อนไหวได้ นอกจากการเรียกพบกลุ่มผู้จัดในตอนเช้า ยังมีการเรียกพบฮัญจี อิสมาอิล เลขาธิการกลุ่มโรฮิงยาในประเทศไทย ที่บริเวณหน้าโรงแรมอินเตอร์คอนดิเน็นตัล อีกด้วย

พุทธนี ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหตุผลที่ต้องขอให้ยกเลิกการจัดงานเพราะว่าขณะนี้ ออง ซาน ซูจี มีกำหนดการเดินทางมาเยี่ยมประเทศไทย จึงไม่อยากให้เสียความสัมพันธ์อันดี เนื่องจากไทยกับพม่ากำลังจะมีข้อตกลงหลายๆ อย่างร่วมกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้เน้นย้ำว่าครั้งนี้เป็นการตักเตือน ไม่ใช่การตั้งข้อหา แต่หากไม่มีการปฏิบัติตามก็จะมีการใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น

พุทธนี ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงสถานการณ์เรื่องผู้อพยพโรฮิงญาในไทยว่า มีความเป็นห่วงต่อกลุ่มผู้อพยพ เนื่องจากหากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความกังวลมากเกินไปต่อหัวข้อดังกล่าวก็อาจจะทำให้กลุ่มชาวโรฮิงญาในไทยได้รับความลำบากในการใช้ชีวิตมากขึ้น จึงอย่าจะขอให้เข้าใจว่าเป้าหมายหลักของการจัดงานจริงๆ แล้ว เพียงต้องการที่จะนำเสนอข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่ต้องการจะนำเสนอเรื่องชาวโรฮิงญา ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปพูดถึงเรื่องความมั่นคงแต่อย่างใด

โดยข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญามีดังนี้

000

เรื่อง ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาจากประเทศพม่า

กราบเรียน ฯพณฯ ของ ออง ซาน ซูจี ประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศ

เนื่องในโอกาสที่ท่านมาเยือนประเทศไทย ในวันที่ 23-25 มิถุนายน 2559 เราเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) ที่ประกอบด้วยสถาบันวิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรศาสนาในประเทศไทยเห็นว่า ที่ได้ทำงานช่วยเหลือศึกษากลุ่มผู้อพยพเคลื่อนย้ายในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงยาทั้งจากประเทศพม่าและบังคลาเทศ จึงเรียกร้องต่อท่านดังนี้

ให้ทบทวน พ.ร.บ. ความเป็นพลเมือง (สัญชาติ) ค.ศ. 1982 เพื่อยุติการไร้รัฐ ไร้สัญชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา รวมถึงให้คืนสถานะสัญชาติให้กับชาวโรฮิงญาที่เคยมีสัญชาติพม่ามาก่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ความเป็นพลเมืองฉบับดังกล่าว

ให้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้หน่วยงานระหว่างประเทศเข้าถึงและดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาในพื้นที่รัฐยะไข่ ที่เข้าไม่ถึงบริการและความช่วยเหลือ

ให้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในรัฐต่างๆ ในประเทศพม่า โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และให้พิจารณารับรองสนธิสัญญาที่รับรองสิทธิมนุษยชน เช่น CERD และปฏิญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของบุคคลไร้รัฐและปฏิญญาในการลดจำนวนคนไร้รัฐในประเทศ

ให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับประเทศที่เกี่ยวข้อง และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งประบวนการบาหลี (Bali Process) ในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและผู้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จากประเทศพม่าที่รวมถึงชาวโรฮิงญา และให้หลักประกันในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ให้รัฐบาลพม่าตั้งคณะทำงานร่วมกันกับประเทศที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมและพิสูจน์สัญชาติในกระบวนการส่งกลับโดยสมัครใจของผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่า โดยการมีส่วนร่วมจากประชาสังคม

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net