Skip to main content
sharethis

รวบนิสิต-นักกิจกรรม ‘ปัดฝุ่นประชาธิปไตย’ ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ตำรวจไม่ยอมให้มีทนาย แต่ให้อาจารย์เข้าเป็นพยานแทน ขู่ไม่ยอมจะฟ้องอาญาให้หมดสภาพนิสิต ตัวแทน NDM ย้ำฝ่ายโหวตโนถูกเลือกปฏิบัติ สุดท้ายศาลทหารยกคำร้องฝากขัง เหตุเป็นคดีโทษน้อย

24 มิ.ย. 2559 มีการจัดกิจกรรมขึ้นหลายแห่งเพื่อเป็นการรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ (หลักสี่) มีการรวมตัวของนิสิต กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือเอ็นดีเอ็ม (New Democracy Movement: NDM) เพื่อจัดกิจกรรม ‘ปัดฝุ่นประชาธิปไตย’ และรำลึกถึงคณะราษฎร

ภายหลังการจัดกิจกรรม เวลา 10.05 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรม รวม 7 คนขึ้นรถและพาไปที่ สน.บางเขน ประกอบด้วย 1.อรัญญิกา จังหวะ อายุ 21 ปี นิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 2.เกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย อายุ 21 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 3.สุทธิดา วัฒนสิงห์ อายุ 21 ปี นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 4.กานต์ สถิตศิวกุล อายุ 19 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 5.อุทัย ช่วยตั้ว อายุ 21 ปี นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 6.คุณภัทร คะชะนา อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 4 และ 7.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 23 ปี สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ทั้งนี้เจ้าหน้าตำรวจยังได้นำรถของชนกนันท์มาตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือของนิสิต นักศึกษาคนอื่นๆ ไว้ด้วย
ต่อมา ผู้จัดกิจกรรมเรียกร้องขอให้มีทนายมาเป็นพยานตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตและพยายามจะให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเป็นพยานแทน ทั้งมีการบอกว่า ถ้าไม่ยอมจะฟ้องคดีอาญาทำให้หมดสถานภาพนิสิต

เวลา 14.05 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังนำตัวทั้ง 7 คนเข้าห้องสอบสวนเพื่อแจ้งข้อหา โดยแหล่งข่าวในพื้นที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาทั้ง 7 คนในข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 เรื่องชุมนุมเกิน 5 คน และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  เนื่องจากจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหาและยังปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม ตำรวจเตรียมนำตัวส่งศาลทหารภายในวันนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนได้เตรียมขอประกันตัวในชั้นศาล ยกเว้นชนกนันท์ซึ่งเป็นสมาชิก NDM 

เวลา 16.03 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าตำรวจ สน.บางเขน นำตัว 7 นิสิต-นักศึกษาที่ทำกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ มาขออนุญาตฝากขังที่ศาลทหาร โดยระบุเหตุผลว่ายังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก 

เวลา 19.40 น. เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานกระบวนการภายในศาลว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังโดยไม่คัดค้านการประกันตัว ขณะที่ทนายจำเลยยื่นคัดค้านคำร้องฝากขัง ศาลทหารกรุงเทพได้เริ่มการไต่สวนคำร้องฝากขัง โดยพนักงานสอบสวนระบุว่าทราบขณะจับกุมว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษา ส่วนของกลางในคดีที่เป็นเอกสารทางการเมือง แต่ยังไม่ได้อ่าน และไม่ทราบว่าพยาน 4 ปากที่จะสอบเพิ่มเติมคือใคร เพราะไม่ใช่เจ้าของสำนวน ส่วนกระบวนการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา แต่เป็นเรื่องของเจ้าพนักงาน ทั้งเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำทั้งหมดไว้แล้ว โดยให้การปฏิเสธ

หนึ่งในผู้ต้องหา ยังขึ้นแถลงต่อศาลถึงความตั้งใจในการร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 และตั้งใจไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่ ทั้งยังเป็นนักศึกษา และอยู่ระหว่างการสอบในมหาวิทยาลัย จึงขอให้ศาลปล่อยตัว

เวลา 20.40 น. ทั้ง 7 คนได้รับการปล่อยตัวจากศาลทหาร เนื่องจากศาลทหารไม่อนุมัติคำร้องขอฝากขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยศาลเห็นว่าเป็นคดีมีอัตราโทษต่ำ และผู้ต้องหาทั้งหมดยังเป็นนักศึกษาอยู่ ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัวในวันนี้


ช่วงเที่ยงวันนี้ นักกิจกรรมรวมตัวหน้าศาลทหาร เรียกร้องปล่อยเพื่อนที่ถูกจับกุม

ด้านปกรณ์ อารีกุล หรือแมน ปกรณ์ หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า การดำเนินการจับกุมนิสิตนักศึกษา นักกิจกรรม และสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ จากกรณีการรณรงค์โหวตโนเมื่อวานนี้ (23 มิถุนายน 2559) ที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ และกรณีการจัดกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตยในวันนี้ เป็นการตอกย้ำความเป็นเผด็จการของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ปกรณ์ยืนยันว่า ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะยังคงรณรงค์โหวตโนต่อไป แม้จะถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะเห็นว่าเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากฝ่ายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีพื้นที่ในการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ กรธ. ก็ควรมีพื้นที่ในการแสดงออกเช่นกัน

“เมื่อมีการรณรงค์จากฝ่ายเรา มีการจับกุมด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ พ.ร.บ.ประชามติ ผมคิดว่าเป็นอีกครั้งที่เราถูกเลือกปฏิบัติ ทำไมเวลาคนอื่นออกไปแสดงความคิดเห็นสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุด คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ คสช. กลับไม่มีความเห็นอะไรเลย” ปกรณ์กล่าว

 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net