20 ปีรัฐแก้ปัญหายาเสพติดล้มเหลว ปรับแก้ กม. ให้รัฐควบคุมการเข้าถึงแอมเฟตามีน

เลขาฯ ศาลยุติธรรมกล่าวในการประชุมเชิงนโยบายเพื่อควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนว่า 20 ปีที่เปลี่ยนยาม้าเป็นยาบ้าเป็นโศกนาฏกรรมรุนแรงที่สุดในการบังคับใช้กฎหมาย ผู้ต้องหาคดียาเสพติดบางรายโทษเท่ากับฆ่า/ข่มขืน ขณะที่ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สนช. ชูข้อเสนอผลักดันแอมเฟตามีนให้รัฐควบคุมและใช้ฟรีเพื่อไม่ให้ธุรกิจนี้อยู่ในพื้นที่มืด มองผู้เสพอย่างเข้าใจไม่ใช่อาชญากร

ที่มาของภาพประกอบ: วิกิพีเดีย

30 สิงหาคม 2559 เวลา 9.00 น. ที่ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน จัดเสวนา 'ความเป็นไปได้ต่อบูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด' ร่วมจัดโดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (IDPC) ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

วิทยา สุริยวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมากับการแก้ไขยาเสพติดยังคงเป็นปัญหา สะท้อนได้จากผู้ต้องขังในเรือนจำร้อยละ 70 เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เสพและผู้ค้ารายย่อยมีแค่ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่ สิ่งนี้สะท้อนว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพ

ด้าน อธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า คดีความผิดเกี่ยวกับแอมเฟตามีนหรือยาบ้า เป็นโศกนาฏกรรมรุนแรงที่สุดในการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2539 ที่เปลี่ยนแอมเฟตามีนจากยาเสพติดประเภทที่ 2 ที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้การควบคุมของแพทย์และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเป็นยาเสพติดประเภท 1 คือยาเสพติดให้โทษ ทำให้ผู้ที่เสพยาแอมเฟตามีนต้องได้รับโทษสูง ซึ่งผู้เสพยาเสพติดมีโทษเทียบเท่ากับคดีฆ่าคนตายหรือคดีข่มขืน ผลที่เกิดตามมาคือคดีเหล่านี้เข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก

จากตัวเลขปี 2554 มีจำนวนคดียาเสพติดถึง 235,000 กว่าคดี และปี 2555 เพิ่มเป็น 282,000 กว่าคดีที่ขึ้นสู่ศาล มีหลายคดีที่ทำให้ผู้พิพากษาลำบากใจในการตัดสินที่ต้องสั่งประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตในคดีที่มียาบ้าในครอบครองเกิน 15 เม็ด แต่ศาลดูแล้วว่าไม่ใช่เป็นกลุ่มผู้ค้า เป็นเพียงผู้เสพยาหรือบางกรณีถูกยัดยายัดข้อหา แต่โทษกลับเทียบเท่าคดีฆ่าคนตาย คดีข่มขืน ศาลจึงเป็นปลายทางของปัญหา การหวังพึ่งศาลอย่างเดียวทำได้ยากเพราะต้องตัดสินตามสำนวนคดี ดังนั้น ควรไปกำหนดที่นโยบายที่ถูกต้อง 20 ปีที่ผ่านมานั้นเห็นว่าควรแก้ไขและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านยาเสพติดให้เหมาะสม

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ในประเทศไทยองค์ความรู้เรื่องปัญหายาเสพติดมีเพียงพอ แต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ถูกผลักดันไปสู่นโยบายอย่างแท้จริง การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา 20 ปี เกิดความล้มเหลวที่เห็นได้ชัดเจนจากนโยบายอาญา ปี 2539 มีการเปลี่ยนคำจากยาม้าเป็นยาบ้า และกลายเป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 ซึ่งโทษหนักขึ้นมาก การจำหน่าย, จ่ายแจก, ให้ มีโทษจำคุก 5 ปีจนถึงประหารชีวิต ผลของการใช้กฎหมายฉบับนี้ทำให้ยาบ้ามีราคาแพงขึ้นแต่ในทางกลับกันการค้ายาบ้าไม่ได้มีจำนวนลดน้อยลงและยังเสริมให้ธุรกิจประเภทนี้มีรายได้สูง จูงใจให้คนเข้าสู่วงจร ส่วนในเรื่องของผู้ถูกจับติดคุกหรือรับโทษส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้เสพหรือผู้ค้ารายย่อยเป็นส่วนมาก นักโทษคดียาเสพติดเหล่านี้ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำมากกว่าการบำบัดฟื้นฟู ต้องปะปนรวมอยู่กับนักโทษคดีรุนแรง สูญเสียอนาคตทำให้เมื่อออกจากเรือนจำ พวกเขาเหล่านี้กลับเข้าสู่สังคมได้ยากทำให้ต้องกลับไปสู่วงจรเดิม

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดต้องเปลี่ยนยาบ้าให้กลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 2 และรัฐควรเข้าไปจัดการยาประเภทนี้ให้มีการใช้ฟรีในด้านการบำบัดรักษา แต่มีกลไกควบคุมที่รัดกุม สิ่งนี้จะทำลายกลไกตลาดยาเสพติดได้และผู้ที่จำเป็นต้องใช้สามารถเข้าถึงได้อย่างมีระบบและมีความรู้ในการใช้ยาเสพติดให้ถูกวิธี ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ดีในประเทศโปรตุเกสที่มีแนวคิดเรื่อง DRUG COURTที่ผู้พิพากษาคดียาเสพติดจะแยกออกมาโดยมีทั้งหมด 3 องค์ในการพิจารณา ได้แก่ 1.ประธานที่มีความรู้เรื่องยาเสพติด 2.ฝ่ายการแพทย์ 3.ฝ่ายกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเข้าใจผู้ใช้ยาเสพติดว่าไม่ใช่อาชญากร ต้องจำแนกประเภทให้ชัดเจนระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้เสพ ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ต้องหาคดียาเสพติดหลายคนที่ควรไปบำบัดมากกว่าส่งเข้าเรือนจำที่มีสภาพโหดร้ายและแออัด และงบประมาณของรัฐก็ต้องใช้มาก แต่ไม่ช่วยลดปัญหายาเสพติด

นเรศ สงเคราะห์สุข นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์การมองยาเสพติดใหม่ ยาบางประเภทเมื่อถูกระบุเป็นยาเสพติดก็กลายเป็นสิ่งเลวร้ายทั้งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ถ้าหากมีการให้การศึกษาและการควบคุมการใช้อย่างถูกวิธี คนเสพยาจึงไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นเพียงผู้ป่วยที่สามารถเยียวยาได้และควรได้รับการรักษามากกว่าลงโทษจับกุม แต่อุปสรรคของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอาจไม่ใช่แค่ยาบ้าหรือแอมเฟตามีน รวมถึงกัญาชา กระท่อม และอื่นๆ ควรทำให้ถูกกฎหมายและรัฐเข้ามาจัดการควบคุมให้ประชาชนได้ใช้อย่างเป็นธรรมและเกิดประโยชน์

เมื่อพูดอย่างนี้ต้องมีกระแสต้านแน่นอน แต่วิธีการแก้ปัญหาที่ผ่านมาคือการจับปรับขังหรือการใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหากลับสร้างปัญหาให้เพิ่มมากขึ้นและกระจายวงกว้าง จึงต้องเริ่มแก้ไขจากการที่รัฐต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ในสังคม ต้องฟังให้มาก สอนสั่งให้น้อยลง เพื่อเข้าใจรากปัญหาโดยเลิกใช้ความรุนแรงและเข้าใจผู้ที่ใช้ยาเสพติด ต้องเปิดวงถกเถียงและฟังความเห็นที่แตกต่าง ทำให้มีพื้นที่พูดคุย ต้องมองยาเสพติดไม่ใช่ปัญหามิติอาชญากรรมอย่างเดียว แต่ต้องมองเรื่องสุขภาพด้วย

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การผลักดันแอมเฟตามีนให้รัฐควบคุมและใช้ฟรี ไม่ได้หมายถึงการให้ใช้ได้ตามอำเภอใจ ไม่ได้ตั้งใจให้ใช้ยาฟรี ไม่มีควบคุม แต่ต้องการให้ยาถูกและใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพและรัฐเป็นผู้ควบคุม ไม่ใช่ตลาดมืดหรือกลุ่มผู้ค้าคุมตลาด เพราะยาแอมเฟตามีนมีประโยชน์ถ้าใช้ถูกต้องตามหลักการแพทย์ เราควรทำให้ยาประเภทนี้ราคาต่ำ ให้คนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างโรคอื่นๆ ตามปกติ มีกลไกการใช้ยาที่รัดกุมทำให้เกิดความไว้วางใจในคุณภาพยา สิ่งนี้จะทำให้ผู้เสพที่ป่วยไม่เข้าสู่วงจรยาเสพติดที่ราคาสูงและการค้ายาเสพติดหรือใช้ยาอย่างผิดวิธี ส่วนคนงานที่ใช้เพื่อบำรุงกำลังหรือกลุ่มที่สังสรรค์ก็ต้องมีการใช้อีกแบบหนึ่ง ต้องแบ่งประเภทคนใช้ยาให้ชัดเจน ไม่เหมารวมปะปนกับผู้ผลิตและผู้ค้า

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า กรณีผลพวงจากนโยบายปราบยาเสพติดยกระดับยาบ้าเท่ากับเฮโรอีน เชื่อว่านโยบายดังกล่าวเป็นผลพวงจากการหาเสียงทางการเมืองและยาเสพติดถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งหากพิจารณาเรื่องนี้จะเห็นว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคนที่เกี่ยวข้องในความเป็นจริงไม่ใช่แค่ผู้ค้า มีเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มอื่นๆ เกิดขึ้นในทุกระดับ เมื่อยาเสพติดนำไปสู่เรื่องการสร้างผลงาน ถ้าเจ้าหน้าที่จับยาเสพติดรายใหญ่ได้ เอาป้ายแขวนคอผู้ต้องหาออกและแถลงข่าว ถูกปลูกฝั่งในสื่อเพื่อให้เกิดการขยายผล มันยิ่งตอกย้ำความเชื่อในสังคมว่ายาบ้าเป็นสิ่งเลวร้าย

ประสงค์ กล่าวต่อว่า การจะแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด ก่อนอื่นต้องทำงานแยกกลุ่มผลประโยชน์ให้ชัดเจน ความจริงแล้วเรือนจำก็เป็นแหล่งค้ายาเสพติด มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต คนที่ได้ประโยชน์จากการปราบปราม ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ศุลกากร เรื่องให้รางวัลนำจับ สิ่งนี้เป็นแรงจูงใจให้เกิดการบิดเบือนและให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจมหาศาลเพราะผลประโยชน์จากรายได้มีจำนวนมาก ดังนั้น การจะให้ยาบ้าหรือแอมเฟตามีนถูกกฎหมายจะต้องมีคนต้านจำนวนมากอย่างแน่นอนเพราะขัดผลประโยชน์ แค่เรื่องรางวัลนำจับก็หมดงบประมาณถึง 400 ล้านกว่าบาท ถ้ายกเลิกรางวัลนำจับและเปลี่ยนเป็นกองทุนช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่รัฐน่าจะลดการทุจริตได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท