'ฤดูสังหาร' นิตยสารไทม์รายงานความโหดร้ายนโยบายยาเสพติดของ 'ดูเตอร์เต'

นิตยสารไทม์รายงานสภาพที่โหดร้ายภายใต้นโยบาย "สงครามยาเสพติด" ของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ชี้หลังจากมีการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ สิ่งที่เป็นอันตรายต่อฟิลิปปินส์ไม่ใช่ยาเสพติด แต่เป็นตัวประธานาธิบดีเอง

นิตยสารไทม์เล่าถึงกรณีของเรสติตุโต คาสโตร ชายอายุ 46 ปี ผู้เป็นพ่อของลูก 4 คน เขาไม่ได้เป็นเจ้าพ่อค้ายาหรือคนเสนอขายยาเสพติด ไม่แม้แต่กระทั่งจะซื้อยาบ้าที่เรียกกันในหมู่คนแถบนั้นว่า "ชาบู" เพื่อเอามาใช้ด้วยตัวเองเลย ไม่นับว่าเขาจนเสียยิ่งกว่าจะซื้อยาชาบูในราคา 31 ดอลลาร์ต่อกรัม (ราว 1,000 บาทต่อกรัม) เขาเคยแค่ช่วยรับฝากเพื่อนซื้อแลกกับการได้ส่วนแบ่งยาเล็กน้อย คาสโตรคิดที่จะเลิกยาก่อนที่ตัวเองจะติดเพราะกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่ออาชีพและครอบครัวเขา

แต่ในคืนหนึ่งเขาก็ถูกยิงที่ศีรษะ คาสโตรเป็นหนึ่งในเหยื่อรายแรกๆ ของนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่โหดเหี้ยมของดูเตอร์เตที่มีผู้ถูกสังหารเป็นชาวฟิลิปปินส์เกือบ 2,000 รายแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับชาวฟิลิปปินส์เพราะดูเตอร์เตแสดงท่าทีส่งเสริมการใช้ความรุนแรงให้เห็นอย่างชัดเจนใน "สงครามยาเสพติด" ของเขา

เรื่องนี้ไม่เพียงแค่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์เท่านั้นแต่ยังเกิดขึ้นในที่อื่นๆ ด้วยจากข้อมูลขององค์กรเอ็นจีโอด้านนโยบายยาเสพติดระดับสากลเมื่อปี 2558 ระบุว่า ประเทศจีน, มาเลเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย และไทย ต่างก็มีการสังหารผู้ค้ายาเสพติดมาก่อน ในไทยเคยมีสงครามยาเสพติดในสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 13,000 ราย และมีผู้ยอมมอบตัวกับตำรวจมากกว่า 36,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1,200 ราย ในช่วงเดือนแรก ซึ่งไทม์ระบุว่าดูคล้ายกับกรณีของฟิลิปปินส์

อาชญากรรมในฟิลิปปินส์สูงจริงหรือ?

ไทม์ตั้งคำถามว่าอาชญากรรมในฟิลิปปินส์มีความร้ายแรงขนาดไหน ถึงขั้นที่คนเลือกดูเตอร์เตเพื่อให้เขาใช้อำนาจแบบเด็ดขาด ถึงขั้นต้องฆ่าแกงกัน ในทางสถิติจากตัวเลขของสำนักงานสำรวจด้านยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติ (UNODC) ตั้งแต่ปี 2546-2557 แล้ว ฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้มีอาชญากรรมมากไปกว่าหลายประเทศ เช่นสถิติอาชญากรรมการทำร้ายร่างกายในปี 2557 มีเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ 232,685 กรณี จากประชากร 98 ล้านคน เทียบกับสหราชอาณาจักร 375,000 กรณีจากประชากร 64 ล้านคน อาชญากรรมการข่มขืนในฟิลิปปินส์ปี 2557 ก็มีน้อยกว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ในแง่การเป็นเจ้าของอาวุธปืน วิทยาลัยด้านสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ก็สำรวจพบว่าฟิลิปปินส์จัดอยู่ในอันดับที่ 105 จาก 179 อันดับในด้านอัตราการครอบครองอาวุธปืนเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ซึ่งต่ำกว่าฟินแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตามฟิลิปปินส์ก็เคยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมโดยเจตนาสูงพอสมควรแต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นสูงมากเป็นพิเศษ จากข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2556 ระบุว่าฟิลิปปินส์มีอัตราการฆาตกรรมโดยเจตนาอยู่ที่ 9 หน่วยต่อประชากร 100,000 คน เทียบเท่ากับรัสเซีย แต่ก็ยังน้อยกว่าประเทศแถบละตินอเมริกาอย่างโคลอมเบีย (32 หน่วย) เอลซัลวาดอร์ (40 หน่วย) ฮอนดูรัส (84 หน่วย) หลายเท่าตัว ถึงแม้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติของฟิลิปปินส์จะระบุว่าเมืองในฟิลิปปินส์อย่างมะนิลาและดาเวาจะติดอันดับ 15 เมืองที่มีเหตุฆาตกรรมสูงสุดในปี 2553-2558 เฉลี่ย 1,202 ต่อปี แต่ในจำนวนนี้ก็รวมถึงคนจำนวนมากที่เสียชีวิตไปแล้วในช่วง 7 สัปดาห์แรกของนโยบายสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เต

ในแง่ยาเสพติด UNODC ระบุว่าฟิลิปปินส์มีอัตราการใช้สารแอมเฟตามีนในระดับสูง แม้ว่ายังน้อยกว่าออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามฟิลิปปินส์มีการเสพฝิ่นน้อยมากอยู่ที่ 0.05 เทียบกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.41 ระดับการเสพโคเคนของฟิลิปปินส์ก็น้อยพอๆ กันคือ 0.03 นิตยสารไทม์ระบุว่าสถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชาวฟิลิปปินส์ไม่ใช่คนที่เสื่อมทราม แต่เป็นประเทศที่ดูมีสติ เคารพกฎหมาย และยำเกรงต่อพระเจ้า คนฟิลิปปินส์ร้อยละ 37 เข้าโบสถ์ทุกสัปดาห์

ไทม์มองว่าการที่ดูเตอร์เตสามารถเรียกการสนับสนุนจากผู้คนได้มาจากการที่เขาอ้างว่ายาเสพติดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กำลังเป็นภัยต่อประเทศชาติและสิ่งที่จะช่วยให้ชาติพ้นภัยคืออำนาจนิยมแบบเด็ดขาดแบบเก่า เลยลา เดอ ลิมา วุฒิสมาชิกของฟิลิปปินส์กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อไทม์ว่าฟิลิปปินส์กำลังถลำลงสู่ระบอบทรราช ลิมาพูดถึงการสังหารที่เกิดขึ้นในประเทศของเขาว่าไม่ว่ามันจะมาจากคำสั่งของรัฐหรือไม่ก็ตามอย่างน้อยมันก็เป็นการสังหารที่มีรัฐเป็นผู้สร้างแรงจูงใจ

เมินเสียงนักสิทธิมนุษยชน

ริชาร์ด จาวาด เฮย์ดาเรียน ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอ ลา ซาล ในกรุงมะนิลากล่าวว่า ตามความคิดเห็นของชาวฟิลิปปินส์แล้ว เรื่องกฎหมายและความสงบเรียบร้อยเป็นประเด็นใหญ่และรัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องนี้มากเท่าที่ควร ในขณะที่ดูเตอร์เตมีทุนทางการเมืองในการจัดการเรื่องนี้

ไทม์ระบุว่าดูเตอร์เตตัดงบประมาณด้านที่สำคัญต่างๆ อย่างสาธารณสุข การเกษตร แรงงาน การจ้างงาน และกิจการต่างประเทศลง ในขณะที่เพิ่มงบจำนวนมากให้กับหน่วยงานตำรวจและทหาร รวมถึงเพิ่มงบประมาณให้สำนักงานประธานาธิบดีมากขึ้น 10 เท่า และเพิ่มงบประมาณ "การนำเสนอภาพลักษณ์และความบันเทิง" 150 ล้านดอลลาร์

เดอ ลิมา ส.ส. อายุ 56 ปี ผู้เป็นคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมของวุฒิสภาเรียกร้องให้มีการสืบสวนกรณีการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายหลังจากที่ดูเตอร์เตเข้าสู่ตำแหน่งได้ 2 สัปดาห์ แต่เธอก็ถูกผู้สนับสนุนดูเตอร์เตวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักผ่านทางโซเชียลมีเดีย เธอถูกกล่าวหาว่าคอยปกป้องพวกกลุ่มค้ายา ดูเตอร์เตก็โต้ตอบเธอด้วยข้อกล่าวหาแบบทำลายชื่อเสียงด้วยการอ้างเรื่องส่วนตัว เช่นกล่าวหาว่าเธอหลับนอนกับคนขับรถของเธอที่คอยเก็บส่วยแทนเธอ วุฒิสมาชิกหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับเธอและอ้างว่าการสืบสวนในเรื่องนี้ยังเร็วเกินไป แต่ เดอ ลิมา ก็โต้แย้งว่า จะต้องรอให้ตายเป็นหมื่นเป็นแสนคนหรือถึงจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง

กลุ่มที่เห็นด้วยกับเดอ ลิมา คือกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ในเดือน มิ.ย. ตัวแทนสหประชาชาติ 2 คน กล่าวหาดูเตอร์เตว่ายุยงให้เกิดความรุนแรงซึ่งไม่ใช่ต่อคนค้ายาและอาชญากรเท่านั้นแต่ยังทำให้เกิดความรุนแรงต่อนักข่าวด้วย ดูเตอร์เตด่าโต้ตอบยูเอ็นกลับไป และเมื่อไม่นานมานี้ก็ขู่ว่าจะถอดประเทศตัวเองออกจากการเป็นสมาชิกภาพของยูเอ็น ถึงแม้วาจะมีโครงการหลายโครงการจากหน่วยงานของยูเอ็นในฟิลิปปินส์ ดูเตอร์เตยังขู่ว่าจะประกาศกฎอัยการศึกด้วย

องค์กรอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ประกาศต่อต้านการสังหารในฟิลิปปินส์และเรียกร้องให้ดูเตอร์เตเปลี่ยนวาทศิลป์และนโยบายของเขา แต่ดูเตอร์เตก็ตอบปัดเช่นเคยว่าเขาไม่สนใจสิทธิมนุษยชน

คนจนระทมจากนโยบายป่าเถื่อน

ไทม์ระบุว่าสงครามต่อต้านยาเสพติดนั้นส่งผลกระทบมากที่สุดต่อกลุ่มคนจนในระดับหมู่บ้านของฟิลิปปินส์ ในย่านเสื่อมโทรมที่มีเด็กเท้าเปล่าวิ่งเล่นกันข้างท่อระบายน้ำที่ไม่มีฝาปิดนั้นจะมีคนใช้ยาบ้าแบบฟิลิปปินส์ที่เรียกว่าชาบูอยู่มากเพื่อหลบหนีจากโลกความจริงและด้วยสาเหตุด้านการเงิน บางคนยอมค้ายาเพื่อแลกกับเงินมาจุนเจือครอบครัว

ลักษณะการสังหารผู้คนก็เป็นไปอย่างป่าเถื่อน เช่นกรณีของชายพ่อลูก 4 ที่ชื่อ ริคกี อลาบอน ถูกคนซ้อนมอเตอร์ไซค์กราดยิงใส่จนตัวเขามีกระสุน 11 นัด พี่น้องของเขาบอกว่าอลาบอนเพิ่งจะวางมือเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน พวกเขายังไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมใดๆ ได้เพราะพวกเขายากจน ญาติพี่น้องของอลาบอนจึงได้แต่แสดงความคับแค้นประณามดูเตอร์เตว่าเทียบเท่ากับเผด็จการอย่างฮิตเลอร์หรือกัดดาฟี

หญิงวัยรุ่นชื่อเจนนีที่อยู่ทางใต้ของกรุงมะนิลาเปิดเผยว่าเธอเคยเห็นกลุ่มคน 50 คนล้อมสังหารเพื่อนบ้านของเธอ เธอบอกว่ามันเหมือนการลงโทษประหารโดยที่ไม่มีกระบวนการทางกฎหมาย ดูเตอร์เตให้อำนาจตำรวจจะทำอะไรก็ได้ มีคนที่ถูกฆ่าทั้งที่ยังไม่ได้ต่อสู้โต้ตอบอะไร แต่ตำรวจฟิลิปปินส์ก็อ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากผู้นำและสังหารเพื่อป้องกันตัว

โรนัลด์ เดลา โรซา อธิบดีกรมตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ก็มีความจงรักภักดีต่อประธานาธิบดีมาก เขาเคยแสดงออกสนับสนุนดูเตอร์เตมาตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้ง เดลา โรซา ยังอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของเขาทำตามกฎหมายโดยไม่ได้ใช้อำนาจในทางที่ผิด แม้ว่าดูเตอร์เตผู้ที่เขาใกล้ชิดด้วยจะเป็นคนที่ไม่เห็นหลักกฎหมายอยู่ในสายตา

อ้างความชอบธรรมใช้กำจัดศัตรู

เมื่อต้นเดือน ส.ค. ดูเตอร์เตยังประกาศสดทางโทรทัศน์ถึงรายชื่อผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่รัฐ และตำรวจ ที่เขาอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายา เขาสั่งปลดตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องทันที ให้นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาถูกยกเลิกการรักษาความปลอดภัยจากรัฐบาลและต้องไปรายงานตัวต่อศาลสูงสุดภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่มีการอ้างอิงถึงหลักฐานใดๆ ในการประกาศดังกล่าว

โฮเซ ลูอิซ มาร์ติน แกสกง ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์กล่าวว่า เขากำลังพยายามทำความเข้าใจถึงวิธีการประณามทำให้เสียชื่อเสียงในแบบของดูเตอร์เตว่าทำไปเพื่ออะไร แกสกงเข้าใจอย่างหนึ่งว่าดูเตอร์เตรู้สึกโมโหต่ออาชญากรรมจึงสวมหน้ากากแสดงออกแทนคนทุกคนที่เป็นเหยื่อของอาชญากรรม แต่ปัญหาของการประณามชื่อคนออกสื่อเสี่ยงต่อการที่พวกเขาจะถูกใช้ความรุนแรงแบบศาลเตี้ย

นอกจากนี้การประกาศรายชื่อผ่านโทรทัศน์ของดูเตอร์เตยังมีความผิดพลาด หัวหน้าผู้พิพากษา มาเรีย ลัวร์เดส เซเรโน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงดูเตอร์เตว่าผู้พิพากษาทั้ง 7 คนที่ดูเตอร์เตกล่าวหามีอยู่ 4 คนเท่านั้นที่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ มีคนหนึ่งถูกไล่ออกไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 อีกคนหนึ่งเสียชีวิตไป 8 ปีแล้ว

หนึ่งในผู้ที่ถูกประกาศออกหน้าจอโทรทัศน์คือไมเคิล รามา อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเซบู เขารู้สึกเศร้าและประหลาดใจมากที่มีชื่อเขาอยู่ด้วยแม้ว่าในช่วงที่เขาทำงานจนถึงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาเขาจะต่อต้านยาเสพติดมาตลอด รามาสงสัยว่าที่เขาถูกรวมอยู่ในรายชื่อด้วยน่าจะเป็นเพราะเขาเคยขัดแย้งทางการเมืองกับ โทมาส ออสเมนา อดีตนายกเทศมนตรีและนายกเทศมนตรีคนปัจจุบันของเซบู แม้รามาจะดูนิ่งๆ แต่เขาบอกว่าเขาเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัวมาก

ประวัติศาสตร์การสังหารนอกกฎหมาย

บาทหลวงในเซบูกล่าวถึงบรรยากาศความหวาดกลัวจากนโยบายนี้ว่า ทุกวันนี้ผู้คนต่างก็หวาดกลัวใครก็ตามที่ขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อก เขาตั้งคำถามว่าทำไมไม่ใช้วิธีจับกุม ทำไมถึงใช้วิธีสังหารที่ไม่มีกระบวนการยุติธรรม

กระนั้น ไทม์ก็ระบุว่าการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายไม่ใช่เรื่องใหม่ในฟิลิปปินส์ อัลเฟรด แมคคอย ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของฟิลิปปินส์กล่าวว่าในช่วงยุคเผด็จการเฟอร์ดินาน มาร์กอส ช่วงปี 2508-2529 มีผู้คนถูกสังหารราว 3,257 คน มีคนถูกจับขังราว 70,000 คน ดูเตอร์เตเองก็แสดงออกถึงความชื่นชมมาร์กอสอย่างเปิดเผย แม้แต่กระทั่งหลังยุคมาร์กอส ฟิลิปปินส์ก็ยังคงมีการสังหารนอกกฎหมายเกิดขึ้นโดยเฉพาะในทางตอนใต้ที่มีกลุ่มกบฏอยู่

แกสกงบอกว่าการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายเป็นสิ่งที่ตกค้างมาจากยุคสมัยเผด็จการ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือยุคก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการสนับสนุนเชิงนโยบายให้มีการกระทำป่าเถื่อนเช่นนี้

ข้อมูลจากตำรวจฟิลิปปินส์ระบุว่ามีผู้คนจำนวนมากที่กลัวจะถูกสังหารจึงยอมมอบตัว แต่โจเซฟ ฟรังโก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟิลิปปินส์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยางในสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ต่อไทม์ว่าคำว่า "ยอมมอบตัว" ดูจะเป็นแค่คำที่ใช้บิดเบือนความเข้าใจผู้รับสาร (loaded term) โดยที่จริงๆ แล้วตำรวจเป็นฝ่ายเปิดเผยรายชื่อผู้ต้องสงสัยว่าใช้ยาหรือค้ายา แล้วส่งไปตามชุมชนต่างๆ ผู้นำชุมชนก็ถูกกดดันให้สนับสนุนการปราบปรามและหารายชื่อเพิ่มโดยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงน้อยมาก ทำให้คนสามารถกลั่นแกล้งผู้ที่เป็นศัตรูกับตัวเองด้วยการใส่รายชื่อฝ่ายตรงข้ามลงไปได้ คนที่ถูกใส่รายชื่อลงไปมีทางเลือกสามทางเท่านั้น หนึ่งคือรอถูกสังหาร สองคือรอถูกตำรวจจับกุมด้วยความรุนแรง หรือสามคือไปรายงานตัวกับทางการ คนที่รายงานตัวจะต้องลงนามรายชื่อว่าจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษ

ปัญหาคนล้นคุกและการค้ายาที่ยังเกิดขึ้นอยู่ดี

ในแง่ของการบำบัดฟื้นฟู ฟิลิปปินส์มีสถานบำบัดยาเสพติดของเอกชนอยู่แต่ส่วนมากแล้วจะเต็มหมด และในบางแห่งก็มีราคาค่าธรรมเนียมต่อเดือนแพงกว่าที่ชาวฟิลิปปินส์ทั่วไปจะจ่ายได้แต่ก็มีคนที่สามารถจ่ายได้ไปอออยู่หน้าสถานบำบัดจำนวนมากหลังจากที่ดูเตอร์เตชนะการเลือกตั้ง ส่วนคนที่ยอมมอบตัวต่อทางการแต่ไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้ก็มักจะถูกส่งไปให้โครงการบำบัดฟื้นฟูของชุมชนที่มีการฝึกวิชาชีพอย่างการทำผมหรือการทำสบู่และถูกตรวจสอบสัปดาห์ละครั้ง คนที่ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการจะถูกตามล่าและอาจจะถูกจัดการด้วยวิธีอื่น

นอกจากสถานบำบัดฟื้นฟูแล้ว ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในฟิลิปปินส์อาจจะถูกส่งเข้าคุกซึ่งเป็นนรกสำหรับชาวฟิลิปปินส์จากจำนวนผู้ต้องขังที่แออัดกันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหานี้เกิดมาตั้งแต่ก่อนยุคดูเตอร์เตแล้ว และโดยเฉลี่ยแล้วเรือนจำในฟิลิปปินส์รับนักโทษเกิดขีดจำกัดราวร้อยละ 158

ทั้งนี้ไทม์ยังรายงานว่าในเรือนจำความปลอดภัยสูงสุดอย่างเรือนจำนิว บิลิบิด ไม่เพียงมีนักโทษล้นคุกแต่ยังเป็นแหล่งค้ายาร้อยละ 75 ของการค้ายาทั้งหมดในประเทศด้วยและดูเตอร์เตก็รู้เรื่องนี้ แต่คนค้ายารายย่อยและผู้เสพนอกเรือนจำแห่งนี้ก็ยังคงถูกสังหารต่อไป

คลาก โจนส์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียผู้ศึกษาเรื่องระบบเรือนจำฟิลิปปินส์และการค้ายาภายในเรือนจำกล่าวว่า ระบบเรือนจำของฟิลิปปินส์อยู่ในสภาพย่ำแย่อยู่แล้วและอาจจะกำลังถึงจุดวิกฤต โจนส์บอกว่าเขาไม่อยากเห็นเรือนจำฟิลิปปินส์กลายเป็นแบบเม็กซิโกหรือแอฟริกาใต้ที่มีเจ้าพ่อค้ายารายใหญ่ครอบงำเรือนจำอยู่

แต่ปัญหานอกเรือนจำก็ไม่แพ้ในเรือนจำ จากที่หลายคนต้องเสี่ยงชีวิตภายใต้นโยบายปราบปรามด้วยความรุนแรง อัลเบิร์ต กอนซาเลส เล่าถึงตอนที่เพื่อนของเขา โอเมง มาริอาโน ที่เป็นพ่อลูกสองถูกคนในชุดลายพรางสวมหน้ากากปกคลุมใบหน้าบุกเข้ามายิงเสียชีวิต กอนซาเลสประกาศว่าเขาไม่กลัวประธานาธิบดีและจะเป็นพยานให้การในเรื่องที่เพื่อนของเขาถูกสังหาร

"เขา (ดูเตอร์เต) ควรให้โอกาสคนได้กลับตัว พวกเขาเป็นคน ไม่ใช่สัตว์" กอนซาเลสกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

The Killing Time: Inside Philippine President Rodrigo Duterte’s War on Drugs, Time, 25-08-2016
http://time.com/4462352/rodrigo-duterte-drug-war-drugs-philippines-killing/

ข้อมูล Intentional homicides (per 100,000 people), World Bank
http://data.worldbank.org/indicator/VC.IHR.PSRC.P5

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท