SWING ร้องรัฐเปลี่ยนมุมมองการค้าบริการ ชี้เน้นคุ้มครองผู้ค้าบริการมากกว่าลงโทษ

มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐทบทวน พ.ร.บ.ค้าประเวณี ชี้เน้นการคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศและพัฒนาอาชีพกับคุณภาพชีวิต มากกว่าการลงโทษ พร้อมขอสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2559 มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือสวิง(Service Worker In Group: SWING) ได้ออกแถลงการณ์ถึงการค้าบริการทางเพศในสังคมไทย จากกรณีการบุกจับสถานบริการที่จังหวัดภูเก็ต 2 แห่ง  ซึ่งมีข้อเรียกร้องหลักให้ภาครัฐทบทวนนโยบาย รวมไปถึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวไม่ให้มีลักษณะการกดทับความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการ  (ข่าวโดยไทยรัฐ รวบทั้ง 'จีสตริง' จนท.ภูเก็ต บุกจับสถานบริการ อนาจาร-เปิดเกินเวลา)

โดยสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ได้เสนอว่าภาครัฐควรทบทวนกฎหมายการค้าประเวณีที่มีอยู่ เพราะเป็นการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่ได้แก้ปัญหาได้จริง

ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการเรียกร้องให้มีการทบทวน พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี เนื่องด้วยมีคนจำนวนมากเลือกใช้อาชีพนี้เลี้ยงตนเอง และครอบครัว ต้องการมีรายได้ รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดการจับปรับไม่ได้ทำให้ผู้ค้าบริการทางเพศออกจากอาชีพนี้ แต่ทำให้เขาอยู่ในอาชีพนี้มากขึ้น เนื่องจากเมื่อถูกจับ-ถูกปรับแล้วก็จะขาดรายได้ทำให้จำเป็นต้องอยู่ในอาชีพนี้ต่อ คิดว่ามาตรการแบบนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการแก้ปัญหา เนื่องจากอาชีพขายบริการนั้นเกือบเป็นอาชีพสุดท้ายของทางเลือก แต่กลับถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ

โดยทางมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการได้เปิดเผยกรณีตัวอย่างของความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายที่พนักงานบริการทางเพศได้รับจากเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายว่า มีกรณีที่พนักงานบริการถูกทำร้ายโดยชาวต่างชาติ แต่เมื่อแจ้งความกลับถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะสนใจในเนื้อหาของการทำร้ายร่างกาย โดยมุ่งเน้นไปที่การพบเจอชาวต่างขาติ เพื่อจะบีบบังคับให้พนักงานบริการรับสารภาพว่าค้าบริการ เพื่อจะได้เอาผิดฐานค้าประเวณี

หรือในอีกกรณีหนึ่งที่มีพนักงานบริการถูกเจ้าหน้าที่ปรับ แต่ไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าปรับ เจ้าหน้าที่จึงทำการยึดโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งผ่อนมาของพนักงานบริการรายนั้น แล้วให้ไปไถ่ที่สำนักงานในวันอื่น แต่เมื่อพนักงานบริการรายนั้นไปที่สำนักงานก็ถูกบ่ายเบี่ยง ท้ายที่สุดก็ยึดโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นไว้

จำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการอธิบายว่า การที่พนักงานบริการทางเพศจะเข้าสู่อาชีพนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาเลือกจะประกอบอาชีพนี้ แต่ไม่ได้ขายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในส่วนของนโยบายของภาครัฐนั้น นายจำรองให้ความเห็นว่าเป็นการกวาดล้าง โดยลืมมองว่าอาชีพนี้สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ ปีๆ หนึ่งมีรายได้จากการธุรกิจท่องเที่ยวเท่าไร และได้แบ่งมาเป็นสวัสดิการให้พนักงานเหล่านี้เท่าไร ได้แยกแยะไหมว่ามาจากภาคธุรกิจส่วนนี้เท่าไร แต่การที่มองว่าเป็นปัญหาแล้วมากวาดจับ ยิ่งไปกว่านั้นการกวาดล้างอาชีพพนักงานบริการจะเป็นการผลักให้พวกเขาเหล่านี้ลงสู่ใต้ดิน และแน่นอนว่าไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเมื่อลงสู่ใต้ดินย่อมมีคนจำนวนหนึ่งที่ได้ประโยชน์

นอกจากนี้สุรศักดิ์ เนียมถนอม ผู้จัดการฝ่ายงานป้องกันมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ อธิบายเพิ่มเติมว่าผู้ค้าบริการทางเพศถูกทำให้ผิดกฎหมาย ในขณะที่สถานประกอบการนั้นอยู่ภายใต้กฎหมาย ในฐานะแรงงาน พวกเขาไม่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลใดๆ จากทางภาครัฐ ตลอดจนการกระทำความรุนแรงต่างๆ จากทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการ

แถลงการณ์ : กรณีการบุกจับสถานบริการ จ.ภูเก็ต

กฎหมายหลักของประเทศไทยในการจัดการการค้าบริการทางเพศ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539  เน้นการคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศและเพิ่มพูนโอกาสในการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต มากกว่าการลงโทษ โดยอธิบายว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมของคนทำให้เกิดการเข้าสู่ธุรกิจทางเพศ แต่ดูเหมือนว่าแนวทางปฏิบัติของภาครัฐไม่สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะเน้นการจับกุม ลงโทษ และประณามผู้ค้าบริการมากกว่าการช่วยเหลือดังที่กฎหมายกำหนด

รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 สิหาคม 2559 โดยพาดหัวข่าวว่า “รวบจับ ‘จีสตริง’ จนท.ภูเก็ต บุกจับสถานบริการ อนาจาร-เปิดเกินเวลา”  เป็นอีกกรณีที่สะท้อนแนวทางการจับกุมลงโทษผู้ค้าบริการที่เป็นองค์ประกอบที่ไร้อำนาจต่อรองในธุรกิจการค้าบริการทางเพศ โดยตัวแสดงอีกมากมายไม่ได้ถูกจัดการแตะต้อง รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายมนุษย์  น้อยครั้งเท่านั้นที่จะเห็นภาพข่าวการจับกุมบุคคลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งการกำหนดเวลาเปิด-ปิดสถานบริการ และกำหนดให้ผู้ค้าบริการ/พนักงานบริการแต่งกายหรือทำการแสดงที่ถูกเรียกว่า “อนาจาร “   รัฐไทยเลือกจะจัดการกับคนเล็กคนน้อยที่ไร้พลังต่อรองกับผู้กำกับควบคุมสถานบริการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

มาตรการจับกุมลงโทษเช่นนี้ถูกใช้ซ้ำ ๆ มาเป็นทศวรรษโดยไม่มีประสิทธิผลนัก เพราะไม่สามารถทำให้การค้าบริการทางเพศในสังคมไทยลดน้อยลงไป และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพรบ.ที่จะให้เกิดการคุ้มครอง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ค้าบริการแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเช่นนี้เป็นการรังแกและซ้ำเติมให้ชีวิตและการทำงานของผู้ค้าบริการมากมาย ที่ไร้พลังต่อรองและกำลังถอยหลังติดกำแพง ไม่รู้ว่าจะหาทางออกในการหารายได้มาเพื่อเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัวของพวกเขาเพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐและสังคมอย่างไรต่อไป

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐและสังคมไทยจะทบทวนท่าทีและมาตรการที่ขัดแย้งกันเองระหว่างกฎหมายที่มีอยู่กับมาตรการที่รัฐไทยจัดการกับการค้าบริการทางเพศที่ไม่แก้ปัญหา รังแกคนเล็กคนน้อยแต่ไม่แตะต้องคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสังคม และไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมชาติมากมายที่ลำบากยากไร้อยู่แล้ว แต่กลับตีตราประณามมากกว่าจะเสริมสร้างโอกาสดังที่กฎหมายของรัฐกำหนด

นอกจากนั้นพวกเราขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนยุติการนำเสนอภาพข่าวที่เหยียบย้ำศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ค้าบริการดังเช่นภาพข่าวที่ปรากฏในครั้งนี้และในอดีตที่ผ่านมา  การนำเสนอภาพข่าวด้วยวิธีการเช่นนี้ไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นหมดไปแต่กลับทำให้คนกลุ่มหนึ่ง(ผู้ค้าบริการ/พนักงานบริการ)ต้องมีสถานภาพเหมือนไม่ใช่ “คน” ดังเช่นบุคคลอื่น

เครือข่ายพนักงานบริการพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เครือข่ายพนักงานบริการพื้นที่เมืองพัทยา

มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ(SWING)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท