Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เราอยู่ในสังคมที่ความรุนแรงถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ (Normalization) จนกลายเป็นวัฒนธรรมครอบงำทีมีความน่ากลัว เพราะนอกจากสังคม ซึ่งหมายถึงปัจเจคบุคคลและสถาบันทางสังคมจะไม่ตระหนักว่านี่คือความรุนแรงแล้วยังมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความรุนแรงอีกด้วย

ตัวอย่างความรุนแรงที่เราพบได้บ่อย และมีการนำไปเป็นประเด็นสาธารณะอยู่เนืองๆ ได้แก่ การโฆษณาในประเด็นที่มีความอ่อนไหวไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อคนกลุ่มอื่นๆ และนับครั้งไม่ถ้วนที่โฆษณามีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน

รวมถึงคลิปวิดีโอโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ขอบคุณที่ล้อเลียน ที่ได้เผยแพร่จนมียอดผู้เข้าชมผ่านเฟซบุ๊กถึง 1,057,800 ครั้ง ได้มีการแชร์ออกไปถึง  5,545 ครั้ง และมีจำนวนการชมผ่าน youtube อีก 364,225 ครั้ง
เนื้อหาที่โปรยในคลิปโฆษณา คือ

“ขอบคุณที่ล้อเลียน” เรื่องราวในอดีตของผู้หญิงข้ามเพศที่เปลี่ยนคำล้อเลียนในวัยเด็กเป็นแรงผลักดัน ให้คุณเป็นตัวเองในแบบที่ดีกว่าเดิม"
 

หากเราเปิดดูเนื้อหาเราจะเห็นภาพห้องประชุมที่มีหญิงสาว ที่ดูเหมือนจะมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารนั่งอยู่ที่หัวโต๊ะ รายล้อมไปด้วยพนักงาน เพื่อดูการนำเสนองานของผู้ชาย ที่มีท่าทีลนลาน ในระหว่างที่การนำเสนอดำเนินไปนั้น หญิงสาวที่อยู่หัวโต๊ะก็ได้ย้อนคิดให้ผู้ชมได้เห็นเบื้องหลังว่า เธอคือ “ผู้หญิงข้ามเพศ หรือ Transgender Women”

(Transgender Women หมายถึงบุคคลที่มีอัตลักษณ์ไม่ตรงตามเพศกำเนิด และได้มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงร่างกาย ซึ่งในกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเรื่องสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้มีกระบวนการเคลื่อนไหวให้เกิดการรองรับสถานะทางกฎหมายของบุคคลข้ามเพศ: Gender recognation)

ภาพของเด็กที่ดูกร่าง คือคนที่กำลังนำเสนองาน และเธอซึ่งในตอนนั้น คือ เด็กที่มีบุคคลิกแตกต่างจากกรอบของการเป็นเด็กชายได้โดนกลั่นแกล้ง รังแก ถูกผลักจนล้ม และถูกกล่าวว่า “มึงอ่ะ เป็นผู็หญิงไม่ได้หรอก”

ภาพในโฆษณาหากเราดูโดยไม่ตั้งคำถาม ไม่มีมุมมองด้านมิติความหลากหลายทางเพศ หลายคนอาจมีแนวโน้มคล้อยตามเนื้อหา เพราะดูเหมือนว่า การล้อเลียน/รังแก นี้เองที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อเด็กคนหนึ่ง จนบัดนี้เธอได้เติบโต สวยงาม เป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จเหนือกว่าคนที่รังแกเธอในอดีต

แต่หากเรามีความเข้าใจในประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ สักนิดเราจะพบว่า โฆษณานี้มีปัญหาเพราะการ ขอบคุณที่ล้อเลียน แค่คำนี้ก็มีนัยยะสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงต่อบุคคลข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศ

หากเรายังจำได้ มีข่าวเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศและบางกรณีเป็นเด็กที่มีอัตลักษณ์ชายขอบ ถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง รังแก จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

จึงมีการร่วมกันรณรงค์ต่อต้านทั่วโลก และรวมทั้งในประเทศไทยก็เป้นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหว รณรงค์เหล่านี้ด้วย 

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ Unesco ได้เคยนำเสนอการรณรงค์ในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ (IDAHOT) ซึ่งจัดตรงกับวันที่17 พฤษภาคมของทุกปี ว่า

“แม้ว่านักเรียนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยแต่โรงเรียนและสถานศึกษาอาจไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนที่ต้องเผชิญกับการรังแกและการกลั่นแกล้ง

การรังแก เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น หยอกล้อ ด่าทอ ตราหน้า ทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศและการกีดกันทางสังคม เป็นต้น การรังแกส่งผลกระทบต่อทั้งสิทธิในการได้รับการศึกษาของเด็ก ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ เช่น สิทธิด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ศักดิ์ศรีและเสรีภาพจากการเลือกปฏิบัติ

การรังแกเกิดขึ้นได้ในทุกระดับการศึกษา โดยเริ่มต้นแต่ระดับประถม

การรังแกเกิดจากหลายสาเหตุ แต่มักมีความเชื่อมโยงกับเพศหรือเพศภาวะ และเป็นการตอกย้ำปทัสถานความเข้าใจในเรื่องเพศ ในการเป็นหญิงหรือชาย

วัยรุ่นที่ชอบเพศเดียวกันหรือเป็นคนข้ามเพศมักตกเป็นเหยื่อของการรังแกที่เรียกว่า“การรังแกที่เกิดจากการเกลียดกลัวคนรักเพศ เดียวกันและคนข้ามเพศ” หรือเป็นการรังแกที่เกิดจากวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ แม้ว่าคนที่เปิดเผยเองว่าเป็นเลสเบี้ยน  เกย์ คนรักสองเพศหรือคนข้ามเพศ จะตกเป็นเหยื่อของการรังแกอย่างชัดเจน แต่มุมองต่อผู้อื่นว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน หรือคนข้ามเพศก็สามารถทำให้ผู้ที่ถูกมองเช่นนั้นตกเป็นเหยื่อได้”  (อ้างอิง http://unesdoc.unesco.org/)

ประเด็นนี้เหล่านี้เอง ส่งผลให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยองค์กรภาคประชาสังคมอาทิ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ มูลนิธิเอ็มพลัส  องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ องค์การยูเนสโก ได้ร่วมกันวางแผนการดำเนินงาน “โครงการป้องกันและลดการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในสถานศึกษา” ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2557 – เดือนตุลาคม พ.ศ.2560 เพื่อพัฒนาระบบป้องกัน ดูแลนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการรังแก สร้างความตระหนักกับสถานศึกษาเรื่องการรังแกกัน

โครงการนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผลงานวิจัย “การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศ เดียวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา: รูปแบบ ความสุข ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการป้องกันใน 5 จังหวัดของประเทศไทย” จัดทำโดยองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล, ยูเนสโก และมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเกือบหนึ่งในสามของนักเรียนที่ระบุตนเองว่าเป็นเลสเบี้ยน เกย์ คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (LGBT) รายงานว่าเคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ   29.3 ระบุว่าเคยถูกกระทำทางวาจา นอกจากนี้ร้อยละ 7 ของผู้ที่ถูกรังแกระบุว่าเคยพยายามฆ่าตัวตาย (อ้างอิง http://3c4teen.org/post/1960)

ข้าพเจ้าเองในฐานะนักรณรงค์เคลื่อนไหว LGBTI และเป็นคนที่ทำงานกับเยาวชนในระบบการศึกษาซึ่งหมายรวมทั้งเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชนชาติพันธุ์ เยาวชนผู้พิการ และเยาวชนที่มีความแตกต่างหลากหลายในมิติการเมือง สังคมและวัฒนธรรมมานานกว่า 10 ปี  ได้เห็นผลกระทบจากการถูกข่มเหงรังแก เช่น ครั้งหนึ่งในระหว่างที่มีกิจกรรมอบรมเสริมศักยภาพเยาวชน เยาวชนคนหนึ่งที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นชาติพันธุ์ พูดทั้งน้ำตา ด้วยความรวดเร็ว แต่เราก็สามารถจับใจความได้ว่า

นอกจากตนจะถูกล้อเลียนเรื่องพูดไม่ชัด ด้วยอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการพูดเร็วๆ ทำให้คู่สนทนามักจะฟังไม่ทัน และมีความหวาดกลัวที่จะต้องพูดในที่สาธารณะ นอกจากนี้ตนยังเป็นเยาวชนข้ามเพศ (กะเทย) ทำให้เพื่อนๆ เหยียดหยาม ล้อเลียน กลั่นแกล้ง รังแก บางครั้งถูกบังคับให้ไปออกกำลัง และบ่อยๆที่ถูกท้าทาย ถูกต่อยตี เพื่อที่จะได้มีความเป็นผู้ชาย มากไปกว่านั้นครูในโรงเรียน ก็ไม่ได้มีความเข้าใจที่จะปกป้อง  ทำให้ต้องอดทนกับความรุนแรงอย่างไม่มีทางออก”

ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้ปลดโฆษณาชิ้นนี้ออกจากพื้นที่สื่อสาธารณะ และขอให้ผู้ผลิตออกมารับผิดชอบโดยการขอโทษต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่อเด็กและเยาวชนที่ถูกรังแกอยู่ในระบบการศึกษาทุกคน เพราะโฆษณานี้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการข่มเหงรังแกบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) และย่อมเป็นการสนับสนุนการรังแกเด็กและเยาวชนที่มีอัตลักษณ์ชายขอบอื่นๆ เช่นสนับสนุนการรังแกเด็กและเยาวชนผู้พิการ, การรังแกเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ การรังแกเด็กและเยาวชนที่มีความแตกต่างหลากหลายด้านความคิด ความเชื่อและศาสนา ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความรุนแรงและเป็นสิ่งที่ยอมรับมิได้ทั้งสิ้น

แม้จะมีข้อเท็จจริงที่อาจจะนำมาซึ่งการถกเถียง ดังที่ตัวละครในโฆษณา ได้กล่าวอ้างว่า การถูกล้อเลียนหรือรังแกสามารถใช้เป็นแรงผลักดันด้านบวกที่ทำให้เธอสวยขึ้นก็ได้ แต่นั่นอาจจะเป็นเพียงประสบการณ์ส่วนตัวของเธอ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ข้อเท็จจริงนี้จะเกิดขึ้นกับทุกคน และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากความไม่รู้ ไม่ตระหนักของผู้ชมก็คือ การเข้าใจผิดว่า การรังแก เป็นเรื่องปกติ ทำได้ มีข้อดี ทั้งๆ ที่โดยตัวของมันเองได้ลดทอนศักดิ์ศรี คุณค่า นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานทางสังคม คนไม่เท่ากัน

โฆษณา 'ขอบคุณที่ล้อเลียน' จึงต้องนับเป็นประเด็นทางสังคม ที่ทุกคนต้องร่วมกันเรียกร้องให้เกิดความรับผิดชอบ เราไม่ขอบคุณการล้อเลียน แต่เราต่อต้าน ไม่ยอมรับและเรียกร้องความรับผิดชอบ การเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าต่อทุกคน 

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน มัจฉา พรอินทร์ เป็นนักศึกษาปริญาโทสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักรณรงค์หญิงรักหญิง ที่เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ SOGIE (sexual orientation, gender identity and expression), สิทธิเด็ก สิทธิชาติพันธุ์และสิทธิสตรี ในระดับประเทศและนานาชาติ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net