Skip to main content
sharethis

สรุปเหตุอลหม่านที่ภูเก็ต ประชาชนนับพันรวมตัวกดดันหาตัวลูกชายร้านที่โพสต์เฟซบุ๊ก หลังแค็ปหน้าจอส่งไลน์ทั่ว สงสัยเหตุใดตำรวจเชิญตัวแล้วปล่อย ด้านผู้การฯ ภูเก็ตอธิบายเหตุปล่อย ย้ำเตรียมดำเนินคดีตามขั้นตอน แต่ประชาชนไม่พอใจ กระทั่งแกนนำ กปปส.ช่วยเจรจา สุดท้ายจบที่การแจ้งความคนโพสต์หลังชุมนุมยาว 2 ชม. ด้านตำรวจพื้นที่ระบุคณะกรรมการกลางเตรียมรวบรวมคดีออนไลน์ลักษณะนี้ทั่วประเทศ

ภาพจากผู้ใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Mint Idea-Tv

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559 เวลา 23.30 น.ได้มีการรวมตัวชุมนุมของประชาชนในจังหวัดภูเก็ตจำนวนมากราวพันคน ที่บริเวณหน้าร้านเต้าหู้สามกอง ถ.เยาวราช ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังจากที่มีการส่งต่อข้อมูลในไลน์ซึ่งเป็นภาพสเตตัสบนเฟซบุ๊กของผู้ใช้ชื่อว่า ‘สุธี xxxx’ (เซ็นเซอร์โดยประชาไท)  ในวันที่ 13 ต.ค. 2559 และยังย้อนหลังไปถึงสเตตัสในวันอื่นๆ โดยประชาชนชาวภูเก็ตที่มาชุมนุมเชื่อว่า สุธี เป็นลูกชายของเจ้าของร้านเต้าหู้สามกองและกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงได้มีการนัดรวมตัวไปปิดล้อมบริเวณหน้าตึก ถนนเยาวราช เพื่อให้นำตัว สุธี มาดำเนินคดี อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น ไม่มีทีท่าสงบขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเจรจาทำความเข้าใจและขอให้สลายการชุมนุม ประชาชนที่โกรธแค้นต่อการกระทำดังกล่าวมีการโห่ร้องเป็นระยะ รวมถึงเขียนป้ายข้อความในลักษณะด่าทอแขวนไว้ด้านหน้าร้านด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มหนึ่งขวางปาสิ่งสกปรกเข้าไปในบริเวณดังกล่าว

ชาวบ้านติดใจเชิญตัวไปแล้วทำไมปล่อย ตำรวจแจงทำตามขั้นตอน

ต่อมาเวลาประมาณ 01.30 น. ของวันที่ 15 ต.ค. (กลางดึกคืนวันที่ 14 ต.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 30 นาย ได้เข้าดูแลสถานการณ์ โดย พ.ต.อ.กมล โอศิริ ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต ได้เข้าพูดคุยเจรจากับประชาชนที่มาชุมนุมแต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งในเวลาต่อมา พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ตเข้าเจรจาพูดคุยปัญหาแต่ก็ยังไม่มีข้อยุติ ฝ่ายผู้ชุมนุมก็เริ่มมีอารมณ์มากขึ้น ผู้ชุมนุมยังคงเรียกร้องให้ควบคุมตัวผู้โพสต์ข้อความให้ได้ บางส่วนต้องการให้มาขอขมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศและขอโทษชาวภูเก็ตทั้งหมด บางส่วนต้องการให้ควบคุมตัวและดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในทันที บางส่วนต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกมาจัดการและชี้แจงปัญหานี้ และมีส่วนน้อยที่หารือกันเพื่อไปตามหาบ้านพักของคนขายน้ำเต้าหู้รายดังกล่าว

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เหตุใดเมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) มีการเชิญตัวผู้โพสต์ไปโรงพักแล้วแต่กลับมีการปล่อยตัวไป ต่อเรื่องดังกล่าว พล.ต.ต.ธีระพล พยายามอธิบายเหตุผลว่า กระบวนตามกฏหมายไม่สามารถจับกุมหรือความคุมตัวได้ทันทีเพราะไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าและข้อความที่โพสต์นั้นไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 โดยตรงจึงต้องรอการสอบสวนตามกระบวนการก่อนเพื่อขออนุมัติต่อศาลออกหมายจับ แต่ฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุมยังไม่พอใจต่อคำตอบดังกล่าวและไม่มีท่าทีจะยุติการชุมนุม

ภาพจากผู้ใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Mint Idea-Tv

ต่อมานาย สุรทิน เลี่ยนอุดม อดีตแกนนำ กปปส.ภูเก็ต-อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลรัษฎา ได้เข้าเจรจากับผู้ชุมนุมโดยขออาสาเป็นตัวแทนประชาชนเพื่อจะเข้าไปแจ้งความดำเนินคดีกับสุธี ซึ่งเป็นผู้โพสต์ข้อความ เพื่อให้มีการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ทำให้ผู้ชุมนุมผ่อนคลายอารมณ์ลงและเคลื่อนขบวนไปยัง สภ.เมืองภูเก็ต เพื่อแจ้งความดำเนินคดีแทน

สุรทิน และตัวแทนจากผู้ชุมนุมได้เข้าแจ้งความ สุธี ฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรับปากว่าจะเร่งดำเนินการ แต่ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ เพราะเวลานี้ เป็นเวลาที่พี่น้องประชาชนต้องรักและสามัคคีกัน เพราะเป็นเวลาที่ทุกคนโศกเศร้าเสียใจกับการสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งทุกคนต้องใช้ความถูกต้องและกฎหมายอยู่เหนืออารมณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการเจรจาใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่ประชาชนจะแยกย้ายไปในเวลาประมาณ 02.30 น.

ล่าสุด วันที่ 15 ต.ค. 2559 เวลาประมาณ 11.00 น. ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองภูเก็ต ได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อคืนนี้ขณะที่ประชาชนจำนวนมากไปล้อมร้านสามกองน้ำเต้าหู้นั้น เจ้าของร้านและครอบครัวไม่ได้อยู่ในตึกดังกล่าวแล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่พยายามทำความเข้าใจกับประชาชนกว่า 2 ชม.ในที่สุดทั้งหมดยอมสลายการชุมนุม โดยมีคนไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข้อความแล้วเป็นที่เรียบร้อย ทางตำรวจกำลังดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน ซึ่งต้องดำเนินการได้แน่นอนเพราะอายุความมีถึง 10 ปี และคาดว่าจะมีการรวบรวมกรณีที่เกิดขึ้นทางออนไลน์ในลักษณะนี้ทั่วประเทศให้คณะกรรมการกลางของตำรวจพิจารณาดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้วแต่เจ้าหน้าที่ก็ยังระมัดระวังไม่ให้เกิดการยั่วยุในสถานการณ์ที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังโศกเศร้าอย่างยิ่ง

บทบาทโซเชียลมีเดีย กระจายข่าว-ถ่ายทอดสด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปรากฎการณ์การชุมนุมดังกล่าวเกิดจากการนัดรวมตัวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีการนัดวัน เวลา และสถานที่ แล้วส่งต่อกันเรื่อยๆ สำหรับข้อความที่โพสต์และส่งต่อกันนั้น เท่าที่สามารถตรวจสอบได้ พบว่า ไม่มีลักษณะก้าวร้าวหรือหยาบคาย แต่เป็นลักษณะการตั้งคำถามและการเปรียบเปรย อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการชุมนุมที่หน้าร้านดังกล่าวไม่มีลักษณะของการมีแกนนำที่ชัดเจน ประชาชนแต่ละคนต่างออกมาด้วยความโกรธและไม่พอใจอย่างมากเมื่อทราบว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความถูกปล่อยตัวหลังเข้าพบตำรวจ นอกจากนี้ขณะที่มีการชุมนุมอยู่ ผู้ชุมนุมหลายคนได้ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ผ่านทาง Facebook Live และมีการแชร์ภาพเหตุการณ์ออกไปจำนวนมาก

ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการชุมนุมดังกล่าว พลตำรวจตรี ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจว่า ขณะนี้บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะโศกเศร้า ต้องการความรักความสามัคคี ความสงบเรียบร้อย

"ผมกราบขอร้องสมาชิกทุกท่าน (กลุ่มไลน์) อย่าได้นำข้อความใด ๆ อันเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง โดยฉวยโอกาสอาศัยอารมณ์ของประชาชนในขณะนี้ ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือสำคัญผิด แต่นำมาโพสต์โดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดจนอาจนำไปสู่ความรุนแรง ขอให้ระมัดระวังให้มาก เพราะอาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีหรือมือที่สามเข้ามาแทรกแซงได้ ขอให้ใช้สติปัญญาวิจารณญาณในการโพสต์นะครับ" พลตำรวจตรี ธีระพล กล่าว

มีผู้ล่ารายชื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อคนไทยด้วยการเอง

หลังเกิดเหตุดังกล่าว ในเว็บไซต์ Chang.org ได้มีผู้เข้าไปทำแคมเปญรณรงค์เรียกร้องต่อต้านความรุนแรง มีหัวข้อว่า ร่วมลงชื่อ “ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ” ต่อคนไทยด้วยกันเอง จากกรณีล่าแม่มดที่ภูเก็ต  จนถึงเวลา 12.00 น.ของวันที่ 15 ต.ค.มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 914 คน โดยผู้เริ่มการรณรงค์เขียนข้อเรียกร้องไว้ดังนี้

จากประเด็นที่กำลังพูดถึงกันในขณะนี้ ที่มีผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่ง Live ถ่ายทอดเหตุการณ์ “ชาวภูเก็ตรวมตัวกันเพือขับไล่และให้ดำเนินคดีผู้โพสต์ข้อความล่วงละเมิดสถาบันทำให้ประชาชนไม่พอใจ ในขณะที่คนทั้งประเทศกำลังโศกเศร้า จึงเข้าล้อมบ้านผู้โพสต์ดังกล่าว(หน้าร้านเต้าหู้สามกอง)ขณะนี้ ตร.กำลังเข้าระงับเหตุ” ...

จากเหตุการณ์นี้ ข้าพเจ้าขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จากฝั่งคนไทยที่อ้างตนว่ารักในหลวง รักประเทศไทย แต่การกระทำของพวกท่านทั้งหลายที่ออกไปยังสถานที่นั้น ไปตะโกนเรียกร้องให้เผาบ้านเขา ลากตัวเขาออกมาสำเร็จโทษ โดยไม่สนใจว่าบ้านเมืองยังมีกฎหมายอยู่ ถือว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สิน และชีวิตของผู้อื่น อีกทั้งยังประพฤติตนไม่เหมาะสม ในช่วงเวลาที่สำคัญและเป็นเกียรติเช่นนี้  ...

สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าขอความกรุณา ให้พวกท่านทั้งหลายได้โปรดน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ไปพิจรณาและปรับปรุงพฤติกรรมของพวกท่านด้วยเถิด ...

 - พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน

ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทำให้มีความยุ่งยาก จะทำสังคมและชาติประเทศต้องแตกสลายจนสิ้นเชิง”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แถลงการณ์ สภาการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สวชพ.)

เรื่อง “การใช้เสรีภาพเพื่อความปรองดองสมานฉันท์” เนื่องในวันนักข่าว 5 มีนาคม 2520

นำเสนอแนวทางปราบหมิ่นให้ใช้กฎหมาย อย่าใช้อารมณ์

ในช่วงสายวันนี้ เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานข่าว  แนะปราบพวกหมิ่นสถาบัน อย่าใช้อารมณ์-ใช้กม.จัดการ อ้างถึงเพจทนายคู่ใจ ระบุเนื้อหาของข่าวว่า เพจเฟซบุ๊ก "ทนายคู่ใจ" ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่าหากผู้ใดไปพบบุคคลโพสต์ข้อความหรือแชร์รูปภาพหมิ่นสถาบัน ควรปฏิบัติตัวดังนี้ 1.สงบสติอารมณ์ อย่าไปตอบโต้เชิญชวนให้เข้าไปด่า 2.รีพอร์ตสื่อนั้นตามขั้นตอนของแต่ละสื่อไป 3.ก็อปลิงค์ เก็บหลักฐาน (แคปหน้าจอ) รวบรวมส่งไปให้ทางเจ้าหน้าที่ และ 4.ห้ามแชร์รูปหรือข้อความนั้นโดยเด็ดขาด (เพราะอาจจะโดนไปด้วย) ทั้งนี้ สามารถร้องเรียนไปได้ที่สายด่วน 1200

อาจารย์สันติวิธีแนะรักพระองค์ท่านไม่ควรสร้างความรุนแรง

จันจิรา สมบัติพูนสิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนอยู่ในภาวะเศร้าโศกและคงอยู่ในสภาวะนี้ไปสักพัก การพูดจาอะไรอาจต้องระวัง เพราะความรู้สึกนี้มันจริง คนรู้สึกเศร้าจริงๆ รู้สึกสูญเสียอะไรบางอย่างจริงๆ แต่ถามว่าความรู้สึกนี้ให้ความชอบธรรมต่อการไปทำร้ายคนที่พูดไม่ตรงกับที่เราคิดไหม ถ้าตนเองจะลองพูดในฐานะคนที่ติดตามการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ คิดว่าพระองค์คงไม่อยากเห็นพวกเราทะเลาะกันในนามของท่าน พระองค์ทรงสนับสนุนเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติภาพของประชาชนของพระองค์ การบอกว่าทำเพื่อพระองค์ท่านแล้วไปใช้ความรุนแรงกับประชาชน ซึ่งก็คือประชาชนของพระองค์เช่นกันคงไม่ใช่เรื่องที่พระองค์จะทรงยินดี เราควรปล่อยให้การรำลึกนี้เป็นไปอย่างสงบ แล้วช่วยกันจดจำสิ่งดีงามและคำสอนของพระองค์ท่านดีกว่าการอ้างชื่อของพระองค์ท่านแล้วไปทำร้ายคนอื่น


หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหาเล็กน้อย 15 ต.ค.59

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net