ภาคประชาสังคม-NGO แถลงประณามผู้ก่อเหตุระเบิด จ.ปัตตานี เสนอเร่งพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย

ภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แถลงการณ์แสดงความเสียใจ- ประณามผู้ก่อเหตุระเบิดภายในตลาดโต้รุ่ง จ.ปัตตานี พร้อมเสนอให้เวทีพูดคุยสันติภาพเร่งเรื่องพื้นที่ปลอดภัย

25 ต.ค. 2559 จากกรณีเหตุระเบิดภายในตลาดโต้รุ่ง ถนนพิพิธ เขตเทศบาลเมืองปัตตานี ช่วงค่ำของวันที่ 24 ต.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ สมพร ขุนทะกะพันธ์ และนริศรา มากชูชิต บาดเจ็บสาหัส อีกทั้งมีผู้ได้รับบาดอีกหลายราย คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่รวม 28 องค์กร กล่าวประณามการก่อเหตุดังกล่าวเนื่องจากเป็นการก่อเหตุต่อผู้บริสุทธิ์ เสนอให้พื้นที่สาธารณะเช่น โรงเรียน วัด หรือพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สนามรบหรือจุดตั้งกองกำลังถูกละเว้นจากการก่อเหตุรุนแรง อีกทั้งยังเสนอให้เวทีการพูดคุยสันติภาพที่ประเทศมาเลเซียเร่งพูดคุยและสร้างข้อตกลงเพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดภัยแก่ประชาชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวประณามผู้ก่อเหตุพร้อมกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเป็นการกระทำความผิดทางอาญาทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ อีกทั้งการก่อเหตุดังกล่าวยังเป็นก่อเหตุรุนแรงก่อนการเจรจาสันติภาพละวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบเพียง 1 วัน ส่งผลระยะยาวถึงศักยภาพของประชาชนในการดำรงชีวิต และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธไม่ว่าฝ่ายใดหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประหัตประหารรวมทั้งเรียกร้องให้รัฐทำการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดอย่างเต็มที่ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ระหว่างทางที่หาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยแนวทางสันติวิธี

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคม

25 ตุลาคม 2559 ณ ตลาดโต้รุ่ง อ. เมือง จ. ปัตตานี

ขอแสดงความเสียใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ กับครอบครัวผู้เสียชีวิต _ป้าสมพร ขุนทะกะพันธ์ และน้องนริศรา มากชูชิต และขอวิงวอน ภาวนาให้ผู้บาดเจ็บนับสามสิบคน ปลอดภัย และมีจิตใจที่เข้มแข็ง จากการประสบเหตุการณ์ระเบิดในตลาดโต้รุ่ง เมื่อคืนนี้

การกระทำความรุนแรงที่ไม่คำนึงถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่กระทำการอันโหดร้าย ต่อ เด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนที่ไม่มีอาวุธและไม่ใช่เป็นคู่ต่อสู้. ถือเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีสิทธิ์ มีชีวิตรอด เป็นการกระทำการยกเข่ง เหมารวมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีคนหลากหลายศาสนา เพศ วัย จำนวนมาก ไปใช้ประโยชน์ กลุ่มคนที่กระทำจึงเป็นกลุ่มคนที่ควรถูกประณามจากสาธารณะอย่างยิ่ง

เราทั้งหลายขอวิงวอน ภาวนา ร้องขอให้
1. ผู้ก่อเหตุยุติการกระทำเยี่ยงนี้เสีย
2. ขอให้ละเว้นการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ เด็ก ผู้หญิง คน แก่ และคนที่ไม่มีอาวุธ
3. ขอให้พื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ตลาด ถนนหนทาง โรงเรียน วัด มัสยิด โบถส์คริสต์ และ พื้นที่ อื่น ๆ ที่มิใช่สนามรบหรือจุดตั้งกองกำลัง ถูกละเว้นจากการทำความรุนแรงและมีความปลอดภัย 
4. ขอให้รัฐเร่งจับกุมคนกระทำในครั้งนี้และทำความกระจ่างให้แก่ประชาชนโดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการไม่ให้มีการก่อเหตุซ้ำในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ
5. ขอให้โต๊ะพูดคุยสันติสุข สันติภาพ ที่มาเลเซีย ในวันนี้ เร่งพูดคุยและ ได้ร่วมกันทำเรื่องพื้นที่สาธารณะ ปลอดภัย ตามข้อเสนอขององค์กรผู้หญิงที่ท่านรับในการพูดคุยเมื่อ 2 กันยายน 2559 ให้เป็นข้อตกลงสำคัญที่จะร่วมกันทำให้เป็นจริง เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน ที่ ท่าน บอกว่า สำคัญต่อท่าน
6. ขอให้กลุ่มก่อการอื่น ๆ ในพื้นที่ ยุติการทำรุนแรงต่อพลเรือน และพื้นที่สาธารณะ 
7. ขอเรียกร้องให้พี่น้องชาวไทยทั่วประเทศร่วมลงนามในแถลงการณ์ของเรา เพื่อแสดงพลังพลเมืองไม่เอาความรุนแรง

เราจึงขอลงนามเพื่อข้อเรียกร้องทั้งหมด

คณะทำงานวาระผู้หญิง ทั้ง 23 องค์กรสมาชิก 
1. กลุ่มเซากูน่า
2. กลุ่มด้วยใจ
3. กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้
4. กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี
5. เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ( Civic Women)
6. เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
7. เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ
8. เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้
9. เครือข่ายชุมชนศรัทธา
10. เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี
11. เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก
12. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
13. เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้
14. ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส
15. ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส 
16. มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า 
17. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) 
18. สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา
19. สภาประชาสังคมชายแดนใต้
20. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ 
21. ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา
22. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า 
23. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 
24. ชุมชนคูหามุข เทศบาบนครยะลา
25. เครือข่ายสตรีชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
26. ชมรมพุทธรักษา
27. กลุ่มสตรีพุทธเพื่อสังคม 
28. เครือข่ายสานเสวนาพุทธ_มุสลิม

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแสดงความเสียใจต่อต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ประนามเหตุรุนแรงและการวางระเบิดที่ตลาดโต้รุ่ง จังหวัดปัตตานี ขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายอดทนอดกั้น ยึดมั่นแนวทางสันติ

เผยแพร่วันที่ 25 ตุลาคม 2559

แถลงการณ์

แสดงความเสียใจต่อต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บ

ประณามเหตุรุนแรงและการวางระเบิดที่ตลาดโต้รุ่ง จังหวัดปัตตานี

ขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายอดทนอดกั้น ยึดมั่นแนวทางสันติ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2559 เวลาประมาณ 9.00 . เวลา 14.00 . และเวลา 19.00 . มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ปัตตานี  หลายฝ่ายประเมินว่าเป็นการกระทำความรุนแรงอันเนื่องจากวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ  โดยเกิดเหตุระเบิดที่อำเภอยะรัง แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ  มีการลอบยิงบุคคลในพื้นที่อำเภอหนองจิก มีผู้เสียชีวิตสองรายเป็นสามีภรรยาและผู้บาดเจ็บหนึ่งราย และเหตุการณ์ที่สามเป็นเหตุการณ์ระเบิดที่ตลาดโต้รุ่ง อำเภอเมือง ปัตตานี เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตเป็นหญิง 1 ราย ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 19 ราย ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ละขอประนามผู้ก่อเหตุระเบิดดังกล่าวซึ่งได้ก่อความรุนแรงต่อพลเรือน เด็กและสตรีผู้บริสุทธิ์ สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน อีกทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะการลอบวางระเบิดในตัวเมืองจังหวัดปัตตานีในเวลา 19.00 . ในพื้นที่ตลาดสาธารณะ ขณะที่ชาวบ้านเดินทางมาเพื่อจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก  ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากการใช้อาวุธไม่ว่าจากฝ่ายใด

การใช้ระเบิดที่มีวิถีการทำลายแบบไม่เจาะจงส่งผลให้มีผู้หญิงและเด็กได้รับบาดเจ็บ  การลอบวางระเบิดในที่สาธารณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเป็นการกระทำความผิดทางอาญาทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ โดยอาจเป็นความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกด้วย จึงควรถูกประนามจากทุกฝ่าย และรัฐต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและรับโทษตามกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

ารก่อเหตุรุนแรงก่อนการเจรจาที่เป็นข่าวสารว่าจะมีขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม และรวมถึงตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ ไม่แต่เพียงส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งร่างกายและทรัพย์สิน แต่ยังส่งผลระยะยาวถึงศักยภาพของประชาชนในการดำรงชีวิต ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งจากความพิการ หรือผลกระทบทางด้านจิตใจที่กว่าจะฟื้นคืนได้ต้องใช้เวลายาวนาน  เหตุระเบิดยังเป็นการส่งเสริมให้วงจรของความรุนแรงยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังส่งผลลบต่อบรรยากาศการเจรจาสันติภาพซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธไม่ว่าฝ่ายใดหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประหัตประหารและก่อเหตุรุนแรงที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และรัฐจะต้องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ช่วยเหลือต่อผู้เสียหายทั้งทรัพย์สินและผู้ได้รับบาดเจ็บ  วมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดอย่างเต็มที่ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ความอดทนอดกลั้นของทุกฝ่ายจะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ ะหว่างทางที่หลายฝ่ายกำลังหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยแนวทางสันติวิธี

วันที่  25 ตุลาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท