วิถีเกษตรชุมชนโคกยาว ยึดแนวเกษตรอินทรีย์ ปลูกถั่วแดงตามร่องยูคาสร้างรายได้เสริม

การปลูกถั่วแดงถือเป็นอาชีพเสริม แต่อาชีพหลักจะยึดแนวคิดการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์  เพื่อผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ นอกจากความมั่นคงทางอาหาร ยังทำให้เกษตรกรมีความเป็นอิสระในการดำรงชีวิต ขณะที่สมาชิก คปอ.แต่ละพื้นที่เตรียมนำผลิตที่รวบรวมได้ เช่น พืชผัก ข้าว ปันน้ำใจช่วยพี่น้องทางภาคใต้ที่ถูกน้ำท่วม

สุภาพ คำแหล้ ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เล่าให้ฟังว่า การปลูกถั่วแดงในช่วงที่ผ่านมาทำไม่ได้เต็มที่มากนัก หลังจากสามี คือ เด่น คำแหล้ (ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว) ได้หายตัวไปนับแต่วันที่ 16 เม.ย.2559 หลังจากเข้าไปหาหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามรอยต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการตามหา และต้องเดินทางไปยื่นหนังสือต่อองค์กรสิทธิมนุษยชน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆให้เข้ามามีส่วนร่วมในการติตามและสืบสวนสอบสวนในการหายตัวไป อีกทั้งก็ต้องเดินทางไปรักษาอากาโรคมดลูกอักเสบหลายครั้ง

สุภาพ เล่าอีกว่า ในพื้นที่โคกยาวแห่งนี้ยายภาพเข้ามาอยู่ นับแต่ปี 2512 ก่อนที่จะมีการประกาศป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ตอนช่วงเด็กๆ ได้ช่วยพ่อกับแม่ทำการเกษตร และปลูกข้าวโพด ปลูกถั่วแดง แต่หลังจากแต่งงานในปี 2525 ส่วนสามีก่อนหน้านี้จะหารับจ้างแบกข้าวโพดและช่วยทำการเกษตร  พอได้ที่ดินทำกินสืบทอดมาจากพ่อกับแม่ ก็ได้ช่วยกันทำมาหากินเลี้ยงชีพไปวันๆ โดยไม่เคยได้หนีหายไปไหน และทุกครั้งก่อนจะพากันออกไปขายของที่ตลาด ถ้ามีเวลาก็จะมาช่วยกันทำ ทั้งเตรียมดิน ลงปลูกและตีถั่วแดง และตอนนี้เป็นช่วงตีถั่วแดง ก็ต้องมาทำคนเดียว ลูกหลานก็ไม่มี แต่ก็ต้องทำเพื่อเป็นการหารายได้เสริม นอกเหลือจากงานหลักคือการทำพืชผักสวนครัวที่ชุมชนยึดในแนวรูปแบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ 

ส่วน บุญมี  วิยาโรจน์ รองประธานโฉนดชุมชนโคกยาว บอกว่า การปลูกข้าวโพดและถั่วแดง เป็นวิถีชีวิตเกษตรกรในการหาเลี้ยงชีพที่สืบต่อกันมายาวนานของชีวิตคนอยู่กับป่า อยู่ตามโคกตามดอน ช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี จะเริ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ข้าวโพดเริ่มออกดอกประมาณปลายเดือนพฤษภาคม จะทำการลงปลูกถั่วแดงไปตามร่องระหว่างต้นข้าวโพดไปด้วย เพราะช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนสิงหาคม ข้าวโพดจะเริ่มเป็นฝักเต็มที่ ก็จะทำการหักข้าวโพด จากนั้นเริ่มช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคม จะทำการตีถั่วแดง เพื่อนำไปขายให้กับพ่อค้าที่รับซื้อในหมู่บ้านทุ่งลุยลาย

บุญมี บอกอีกว่า ทุกวันนี้เลิกปลูกข้าวโพดกันแล้วเพราะปัญหาความแห้งแล้ง ความสมบูรณ์ที่เคยมีทั้งบนพื้นดินและตามลำห้วยขาดแคลนน้ำ ผลมาจากสภาพหน้าดินเกิดความเสื่อมโทรม จึงหันมาทำการปลูกถั่วแดงอย่างเดียว เพราะเป็นพืชที่ทนความแห้งแล้งได้มากกว่า แต่ทุกวันนี้ต้องมาปลูกตามระหว่างร่องยูคาฯ ตามมติที่ประชุมการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ภายหลังจากที่กรมป่าไม้ได้มีโครงการปลูกป่าทดแทน และผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน และเข้ามาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส จำนวนกว่า 1,500 ไร่ ทำให้สภาพดินเกิดความเสื่อม

รองประธานโฉนดชุมชนโคกยาว เล่าให้ฟังอีกว่า แม้เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าจะจัดสรรพื้นที่รองรับให้ แต่ไม่สามารถเข้าทำกินที่บอกว่าจะจัดสรรให้ได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของเดิมอยู่แล้ว ทำให้ผู้เดือดร้อนตกอยู่ในสภาพไร้ที่ทำกิน จึงได้เรียกร้องที่ทำกินมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งช่วงปี 2550 ได้มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและให้เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายพิจารณาแก้ไขปัญหา จนมีมติให้สามารถเข้าทำกินในระหว่างร่องยูคาฯได้ จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ

ตลอดการ ร่วมกันต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินจะมี เด่น คำแหล้ จะเป็นแกนนำชุมชนโคกยาว เพื่อเร่งให้ภาครัฐเร่งดำเนินงานโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน ที่ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการวางแผนการจัดการทั้งในเรื่องการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในที่อยู่อาศัย

“แม้ทุกวันนี้ เด่น จะหายไปอย่างไร้ร่องรอย แต่ก็ยังค้นหากันอยู่ และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)ยังคงร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เพื่อให้ภาครัฐเร่งดำเนินการจัดทำโฉนดชุมชน เพื่อจัดเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยแบบแปลงรวม ซึ่งการปลูกถั่วแดงถือเป็นอาชีพเสริม แต่อาชีพหลักของสมาชิกชุมชนโคกยาว เพื่อลดปัจจัยจากภายนอก คือจะยึดแนวคิดการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์  เพื่อความปลอดภัยจากสารพิษ และนอกจากความมั่นคงทางอาหาร ยังเป็นการรักษาฟื้นฟูธรรมชาติ และสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ และทำให้เกษตรกรมีความเป็นอิสระในการดำรงชีวิตที่ดี และแม้พื้นที่โคกยาวจะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา แต่ทุกหลังคาเรือนจะมีโอ่งรองรับน้ำฝน เพื่อใช้ประโยชน์ในผลผลิตทางการเกษตร ที่สำคัญตอนนี้ทางสมาชิก คปอ.แต่ละพื้นที่กำลังปรึกษาเตรียมการนำผลิตที่รวบรวมได้ เช่น พืชผักผัก ข้าว เพื่อปันน้ำใจช่วยพี่น้องทางภาคใต้ที่ถูกน้ำท่วม” บุญมี กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท