สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ปล่อยตัว 'ไผ่ ดาวดิน'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


 

เหตุการณ์เกิดขึ้นจากการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา ในวันที่ 2 ธันวาคม สำนักข่าวบีบีซีไทย ก็เผยแพร่บทความเรื่อง ‘พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย’ ซึ่งเป็นบทความที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะเพียงไม่นานหลังการเผยแพร่บทความ มีประชาชนเข้ามากดไลก์ 27,000 ครั้ง มีการแชร์ 2,478 ครั้ง และมีคอมเมนต์ถึง 1,024 คอมเมนต์

แม้ว่าบทความนี้ถูกสื่อมวลชนฝ่ายขวาวิจารณ์ว่า มีเนื้อหาเชิงลบต่อสถาบันกษัตริย์ไทย แต่ทางการตำรวจไทยก็มิได้มีการฟ้องร้องเอาผิดต่อสำนักข่าวบีบีซีไทย กลับกลายเป็นว่า ในวันที่ 3 ธันวาคม นั้นเอง ทางการตำรวจของแก่น ได้ขออนุมัติต่อศาลให้จับกุม "ไผ่ ดาวดิน" หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะไปแชร์บทความจากบีบีซีไทยดังกล่าว

กรณีการจับกุมดำเนินคดี “ไผ่ ดาวดิน” ตามข้อหามาตรา 112 ครั้งนี้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการตั้งข้อหาตามอำเภอใจ เพราะเมื่อไม่มีการดำเนินคดีบีบีซีไทย ผู้เผยแพร่บทความ และไม่มีการดำเนินคดีผู้กดไลก์กดแชร์คนอื่นเลย  ดำเนินคดีเฉพาะ “ไผ่ ดาวดิน” คดีนี้จึงเท่ากับว่า เป็นการหาเรื่องเล่นงานเฉพาะบุคคล เพราะ”ไผ่ ดาวดิน” เป็นนักศึกษาคนสำคัญในขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน ที่แสดงท่าทีเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มาโดยตลอด จนถูกดำเนินคดีมาแล้ว 5 คดี ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยทั้งสิ้น

แต่เหตุการณ์ดูผ่อนคลายลงในวันที่ 4 ธันวาคม เพราะศาลจังหวัดขอนแก่นให้ประกันตัว "ไผ่ ดาวดิน" ด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท โดยยกเหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธันวาคม ผู้ต้องหามีสอบหนึ่งวิชา หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

แต่พอถึงวันที่ 22 ธันวาคม ศาลจังหวัดขอนแก่นกลับสั่งถอนประกัน "ไผ่ ดาวดิน" และนำตัวกลับเข้าคุก โดยอ้างเหตุว่า นายจตุภัทร์ไม่ลบโพสต์ข่าวบีบีซีไทยที่เป็นเหตุแห่งคดี และยังโพสต์เย้ยหยันอำนาจรัฐ ด้วยข้อความว่า "เศรษฐกิจมันแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน" ซึ่งข้อความนี้ ถูกตีความว่า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทนายความของ"ไผ่ ดาวดิน" ยื่นอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันถึงศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยอธิบายว่า นายจตุภัทร์ไม่เคยผิดเงื่อนไขประกัน และไม่มีแนวโน้มจะก่อความเสียหาย ดังนั้น ข้อวินิจฉัยของศาลจังหวัดขอนแก่นคลาดเคลื่อน จึงขอให้มีคำสั่งยกเลิกการถอนประกัน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ยกคำร้องอุทธรณ์และยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าผู้ต้องหามีพฤติกรรมไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐและกฎหมาย และหากมีการปล่อยตัว ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

ปัญหาสำคัญคือ การถอนประกันของศาลจังหวัดขอนแก่น ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นการดำเนินการที่มีความคลาดเคลื่อน และเหตุผลที่ศาลใช้พิจารณาไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎหมาย เพราะการให้ประกันตัวผู้ต้องหานั้น อยู่ภายใต้หลักการทางกฎหมายว่า "บุคคลผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะได้พิจารณาตัดสิน" และตามวิธีพิจารณาคดีความอาญา สิทธิประกันตัวสามารถยกเว้นได้ตามเงื่อนไข เช่น ผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตราย หรือจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

แต่การเพิกถอนประกัน “ไผ่ ดาวดิน” ศาลได้อ้างเหตุผลที่ไม่มีในตัวบทกฎหมายเลย เช่น การอ้างว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการอ้างเหตุผลที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการประกันตัวแต่แรก และความจริงแล้ว เมื่อฝ่ายตำรวจอ้างการโพสเฟสบุ๊กนี้เป็นหลักฐาน การลบข้อความเสียอีกที่จะตีความได้ว่า ไปกระทำ”ยุ่งเหยิง”ต่อพยานหลักฐาน และการอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ก็เป็นการอ้างนอกเหนือไปจากกรอบกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายใดเลยที่บอกว่า การกระทำ”เย้ยหยันอำนาจรัฐ” เป็นความผิด

ดังนั้น เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม กลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงรวมตัวจัดกิจกรรม "กินข้าวหลามเฉยๆ" บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อแสดงออกโดยสันติว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาเพิกถอนประกันไผ่ ดาวดิน  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รวมตัวกินข้าวหลามและขายข้าวหลามที่บรรจุในกระบอกไม้ไผ่ เพื่อเป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ถึงนายจตุภัทร์ ก่อนที่จะสลายตัวกลับบ้าน

ต่อมา ก็ได้มีเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ที่ออกแถลงการณ์คัดค้านการคุมขัง “ไผ่ ดาวดิน” โดยเสนอว่า การดำเนินการของศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นการบังคับใช้กฎหมายในทางที่จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม และเสนอว่า องค์กรตุลาการควรเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญและได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย องค์กรตุลาการจึงไม่ควรทำตัวเสมือนเป็นผู้พิทักษ์อำนาจรัฐอันไม่ชอบธรรม และเมื่อพิจารณาว่า นายจตุรภัทร์ไม่ได้ทำความผิดใด ก็ควรที่จะปล่อยตัวชั่วคราวเป็นอย่างน้อย เพื่อให้สิทธิในการต่อสู้คดี

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญาให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่า การกล่าววิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจ หรือวิพากษ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการเรียกเงินประกัน หรือหลักประกันใดในคดีอาญา ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใด และทั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และยังไม่เข้าข่ายความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ใครด้วย ตรงกันข้ามการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐ ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบประชาชน

สรุปความแล้ว การจับกุมและการตั้งข้อหาหนักแก่ “ไผ่ ดาวดิน” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐเผด็จการ ต้องการที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตย ปัญหาของเรื่องนี้ คือการใช้กลไกศาลเป็นเครื่องมือ นำเอาเรื่องที่ไม่ควรเป็นความผิดมาดำเนินคดี แล้วยังอ้างเหตุผลนอกกรอบกฎหมายมาห้ามการประกันตัว

การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัว “ไผ่ ดาวดิน” จึงเป็นความชอบธรรม

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 598 วันที่ 7 มกราคม 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท