Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“โรดแมป”โดยความหมายตรงตัวคือ “แผนที่การเดินทาง” แต่ถูกนำมาใช้ในความหมายของแผนการดำเนินการ แต่กระนั้นในระยะที่ผ่านมาในอดีต สังคมไทยไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า “โรดแมป” หรืออย่างน้อยก็ไม่เคยมีการใช้คำนี้ในทางการเมืองไทยอย่างเป็นทางการ คำว่า “โรดแมป” กลายเป็นคำทางการ หลังจากการยึดอำนาจล้มล้างระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบ (คสช.) ก็แถลงเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย มีสาระสำคัญว่า คสช.มีเป้าหมายที่จะคืนความสุขให้ประชาชนคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนเฉพาะหน้าเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ประเทศชาตินั้นเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญที่สุด คือเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวงตลอดมาได้รับการปกป้องจากคนไทยทุกคน และนำประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนปราศจากความขัดแย้ง

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ คสช.จะใช้โรดแมป 3 ขั้น คือ ระยะที่ 1 คือ ช่วงแรก ของการควบคุมอำนาจในการปกครอง จะดำเนินการในเรื่องการปรองดองสมานฉันท์ให้เร็วที่สุด ในกรอบเวลา 2-3 เดือน ระยะที่ 2 การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกำลังดำเนินการจัดทำอยู่ในฝ่ายกฎหมาย จะมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ สรรหานายกรัฐมนตรี ตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการ ร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการตั้งสภาปฏิรูป เพื่อปฏิรูปการแก้ไขในทุกเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องการและเป็นที่ยอมรับ โดยน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าหากสถานการณ์เรียบร้อยเป็นปกติ ปฏิรูปสำเร็จ ปรองดองสมานฉันท์กับทุกฝ่าย ประชาชนมีความรักความสามัคคีกัน ก็จะเริ่มดำเนินการก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 คือ การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

ในการชี้แจง”โรดแมป”ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังย้ำตอนท้ายด้วยว่า “ประชาธิปไตยที่จะต้องเตรียมการแก้ไขปรับปรุงนั้นก็จะมาถึงในระยะเวลาที่ไม่นานนัก” และ “ทหารก็จะกลับไปทำภารกิจของเราต่อไป และจะคอยเฝ้ามองประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยก้าวต่อไปข้างหน้าสู่อนาคต” ตามนัยยะของการแถลงเช่นนั้น หมายความว่า คณะ คสช.จะดำเนินการเปลี่ยนผ่านตาม”โรดแมป”และนำมาสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยภายในไม่เกิน พ.ศ.2558

โรดแมปของ คสช.ในระยะที่ 1 ดูเหมือนจะผ่านไปเรียบร้อยดี จึงมีการเปลี่ยนผ่านมาสู่ระยะที่สอง โดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2557 มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญถาวร มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมการชุดนี้ ถูกคว่ำในสภาปฏิรูปแห่งชาติในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2558 จึงต้องนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ เหตุการณ์นี้กลายเป็นข้ออ้างสำคัญที่นำมาสู่การเลื่อน”โรดแมป”ครั้งใหญ่ของ คณะ คสช. โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2558 ว่า โรดแมปใหม่จะเป็นไปตามสูตร 6+4+6+4=20 คือ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใน 6 เดือน ทำประชามติภายใน 4 เดือน และเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะประกาศใช้ในเดือนกันยายน พ.ศ.2559 จากนั้น ก็จะร่างกฎหมายลูกภายใน 6 เดือน แล้วก็จะให้มีการเลือกตั้งใน 4 เดือน ซึ่งหมายถึงว่าจะเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2560 นายวิษณุ อธิบายว่า ที่ต้องใช้เวลานานถึง 20 เดือนเพราะการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน”มีความยาก” จึงไม่สามารถทำให้เสร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็วได้

สรุปจาก”โรดแมป”ที่นายวิษณุอธิบายในขณะนั้น ระยะแห่งการครองอำนาจของรัฐบาล คสช.ในระยะเปลี่ยนผ่านขั้นที่สองก็จะยืดยาวจากกรกฎาคม พ.ศ.2557 ถึง กรกฎาคม พ.ศ.2560 หรือเปลี่ยนจาก 1 ปี กลายเป็น 3 ปี แต่เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติมาแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ก็ยังไม่มีการประกาศใช้ และในที่สุด มีแนวโน้มของการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งอีกครั้ง เมื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติออกมาเปิดประเด็นว่า การเลือกตั้งน่าจะเลื่อนไปถึงช่วงกลางปี พ.ศ.2561 เพราะร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ รวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 50 ฉบับ อาจจะพิจารณาไม่เสร็จ

กรณีการแถลงของนายสุรชัย แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจำนวนมาก แต่เมื่อวันที่ 6 มกราคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า “โรดแมปคืออย่างนี้ และก็ยังเป็นเช่นนี้ เพียงแต่เมื่อหลายเดือนก่อนรัฐบาลบอกว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2560 เพราะมองด้วยสมมุติฐานที่ว่าได้ทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 คิดว่าน่าจะได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯลงมาในเดือนพฤศจิกายน 2559 แล้วประกาศใช้ต่อไป ถ้าเป็นอย่างนั้นการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นได้ในปี 2560 แต่บัดนี้เกิดกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ทุกอย่างเลื่อนไป และจนถึงวันนี้ยังไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญลงมา เราจึงนับไม่ถูก ตอบไม่ถูก”

ภายใต้กระแสเช่นนี้ ในวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา สวนดุสิตโพล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโพลเอาใจฝ่ายรัฐบาลทหาร ก็ได้เปิดเผยผลสำรวจว่า ประชาชนที่สำรวจ 51.23% เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมือง ณ วันนี้ ยังไม่พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เพราะยังมีความขัดแย้ง กังวลว่าบ้านเมืองจะไม่สงบ อาจเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหว ปัญหาการเมืองไทยแก้ไขได้ยาก สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ยังไม่พร้อม จะมีพระราชพิธีสำคัญ ขณะที่ 48.77% เห็นว่าควรจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมป ข้อสรุปจากโพลจะเห็นได้ว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจะมีผลตอบรับในทางบวก

เมื่อมาถึงขณะนี้ จะเห็นได้ว่า โรดแมปเดิมของคณะ คสช. ที่เคยแถลงเมื่อหลังการรัฐประหาร กลายเป็นเรื่องที่เป็น”ตำนาน” ไม่มีใครจะประเมินได้ว่า การดำเนินการที่จะให้มีการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า แผนการที่จะให้มีการเลือกตั้งของคณะ คสช.นั้น มาจากการกดดันของโลกนานาชาติ ที่อยากเห็นสังคมไทยแก้ปัญหาด้วยการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า ชนชั้นนำไทยและอาจจะรวมถึงชนชั้นกลางในเมือง ไม่เคยเห็นว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจะเป็นทางออกของประเทศ แต่กลับมีความวิตกเสมอว่า ประชาธิปไตยจะทำมาซึ่งความวุ่นวาย และจะนำมาสู่การบริหารประเทศของนักการเมืองทุจริต พร้อมทั้งนโยบายประชานิยม

ดังนั้น เมื่อสังคมภายใต้ระบบเผด็จการมีเสถียรภาพและมีการปฏิรูปอยู่แล้ว เราก็หาโพลหรือหาข้ออ้างที่จะเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งต่อไป และก็อยู่กันอย่างคืนความสุขให้ประชาชนอย่างนี้



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 599 วันที่ 14 มกราคม 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net