Skip to main content
sharethis

 



-1-


โป๊กๆๆ โป๊กๆๆ รถตู้ที่นั่งมาเข้าโค้งซ้ายทีขวาที ทำเอาหัวกระแทกกับกระจกรถอยู่หลายรอบจนต้องลืมตาตื่น จึงได้เห็นว่าวิวสองข้างทางตอนนี้มีแต่ต้นไม้กับต้นไม้เต็มไปหมด "เหลืออีก 100 กิโลฯ" พี่โชเฟอร์ตะโกนบอก โอ๊ะโอ... ทางข้างหน้ามีแต่โค้งกับโค้งเช่นกัน ทำให้รู้ได้ทันทีว่า เรากำลังอยู่บนเส้นทางลอยฟ้า ที่มีความยาว 140 กิโลเมตร จากอ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมงขับผ่าน 1,219 โค้งจึงจะขึ้นไปถึง อ.อุ้มผางได้นั่นเอง


 


อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าข้อมูลที่ได้รับมาจะถูกทำให้คลาดเคลื่อนเล็กน้อย ด้วยฝีเท้าของพี่โชเฟอร์ เพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น คณะของเรา - พี่ๆ จากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและสื่อมวลชนหลายสำนัก - ก็มาถึงที่พักผ่อนนอนหลับก่อนที่จะเดินทางไปเข้าร่วมสัมมนา "อุ้มผางกิ๋นบ่เซี้ยง" ในเช้าวันถัดมาที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์อุ้มผาง และคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก จ.ตาก 


 


สำหรับ "อุ้มผางกิ๋นบ่เซี้ยง" นั้นเป็นภาษาคำเมือง แปลได้ว่า "อุ้มผางกินไม่หมด" การสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรของอุ้มผางอย่างยั่งยืน


 


"ถ้าสืบค้นในอินเตอร์เน็ต คนกรุงเทพฯจะพบอุ้มผางเพียงแค่ในแง่มุมการท่องเที่ยวที่น้ำตกทีลอซู ส่วนคุณค่าด้านอื่นๆ นั้นหาไม่เจอ" ศศิน เฉลิมลาภ รองเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าว


 


หากดูในเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะพบว่า อุ้มผางถูกจัดอยู่ในโซนสีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินถล่มเป็นอันดับ 3 โดยดินมีโอกาสถล่มเมื่อมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 300 มิลลิเมตรต่อวัน หน้าดินหนาขาดรากไม้ยึดเหนี่ยวและมีความลาดเอียงของพื้นที่มากกว่า 30 องศา


 


ศศินจึงชี้ให้เห็นว่า นอกจากผืนป่าอุ้มผางซึ่งอยู่ในผืนป่าตะวันตก พื้นที่ป่าที่มีขนาดต่อเนื่องใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และป่าใหญ่ผืนสุดท้ายผืนนี้จะมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หายาก และเป็นแหล่งพืชนานาพันธุ์แล้ว ยังทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของแผ่นดินเอาไว้และช่วยยึดหน้าดินไม่ให้พังทลายไหลลงสู่แม่กลองซึ่งจะไหลสู่เขื่อนศรีนครินทร์อันเป็นแหล่งน้ำที่คนกรุงเทพฯและเขตปริมณฑลใช้กันนั่นเอง


 


ซึ่งนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งในกรณีการคัดค้านการเปลี่ยนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย  โดยรองเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เห็นว่า อันที่จริงหากต้องการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้นักท่องเที่ยวก็เพียงแค่ปรับปรุงห้องน้ำห้องท่า ลานกางเต็นท์ หรือทำร้านค้าสวัสดิการให้ดี ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 38 วรรค 2 สามารถทำได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้เป็นอุทยานฯ


 


เขามองว่า เมื่อประกาศเป็นอุทยานฯ จะเป็นการเปิดช่องให้มีการสร้างถนนลาดยาง บ้านพัก รวมถึงให้สัมปทานร้านค้าต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะทำให้สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่จะส่งผลให้ธรรมชาติไม่ได้พักฟื้น และผู้ประกอบการในท้องถิ่นขาดรายได้ไป เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวขับรถเข้าไปได้เอง ก็ไม่ต้องจ้างรถกระบะ รถสองแถว หรือว่าเช่าเรือยางของคนในท้องถิ่น รวมทั้งอาจไม่ต้องแวะพักที่อุ้มผาง


 



 ทีลอซู


 


ศศิน มองว่า เมื่อทีลอซูเป็นเพียงจุดนิดเดียวของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดังนั้นก็จัดแบ่งเป็นเขตศึกษาธรรมชาติเสีย แค่นั้นปัญหาทั้งหมดก็จบ ทุกฝ่ายก็จะสบายใจ ผู้ประกอบการก็น่าจะเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาจัดระบบการบริการ ก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ เพื่อที่จะรักษาผืนป่าของอุ้มผางให้ยั่งยืน


 


"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางมีศักยภาพสูงในการเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เนื่องจากอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก ตะวันออก และห้วยขาแข้ง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีสัตว์ป่าชุกชุมที่สุด การมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่เช่นนี้จึงทำให้สัตว์ป่าสามารถเดินทางอพยพโยกย้าย เพื่อหากินและกระจายพันธุ์ได้ ซึ่งก็จะไปได้ดีกับการท่องเที่ยว ในที่สุดแล้วเราอาจจะประกาศขอเพิ่มเติมให้เป็นมรดกโลกให้ขึ้นมาถึงป่าตะวันตก หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางด้วยก็ได้ ซึ่งป่าผืนนี้ก็เชื่อมอยู่กับผืนป่าของพม่าด้วย ก็จะให้สัตว์ป่าได้เดินทางโยกย้ายถิ่นไปได้"


 


ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า ที่นี่ไม่มีโจรขโมย ทุกวันนี้ ไม่ต้องปิดบ้าน จอดรถไว้ไม่ต้องดึงกุญแจ แต่วันข้างหน้าถ้ามีการทำถนน ทุกอย่างก็จะเข้ามาได้ง่าย ถ้านายทุนเข้ามา โรงแรม เธค ผับ การค้าประเวณี ยาเสพติดก็จะตามมาด้วย นอกจากนี้ เส้นทางที่สะดวกสบายก็จะทำให้เสน่ห์ของอุ้มผางซึ่งอยู่ที่การมาเที่ยวป่า ต้องเดินทางยากลำบากจนเกิดเป็นความประทับใจก็จะหายไป 


 


เขาเล่าว่า ปกตินักท่องเที่ยวก็มากจนรับไม่ไหวแล้ว ถ้าเส้นทางสะดวกจะยิ่งทำให้คนเข้ามาถึงได้ง่ายๆ อุ้มผางนั้นอยู่ในโซนมรดกโลก และแม้จะบอกว่า ป่าไม้มีเจ้าหน้าที่ดูแล แต่นายทุนก็ใหญ่กว่าอยู่ดี ต้นไม้พวกนี้ใช้เวลานานกว่าจะโต แต่จะถูกตัดไปในนาทีเดียว


 


"ยังอยากให้อุ้มผางเป็นอุ้มผาง" เขากล่าว 


 


สำหรับรายละเอียดการเปลี่ยนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น เสฐียร วัชชราฐิวัฒน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อธิบายว่า จะกันพื้นที่ประมาณ 700,000 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,600,000 ไร่เป็นอุทยานแห่งชาติทีลอซู โดยใช้แม่กลองเป็นตัวแบ่ง


 



เขาเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรืออุทยานแห่งชาติ วัตถุประสงค์ก็ให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมได้เหมือนกัน ทั้งนี้ ต้องใช้มาตรการในการควบคุมที่ชัดเจนขึ้นในการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว โดยได้เสนอให้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เข้าได้ไม่เกิน 700 คนต่อครั้ง 


 


-2-


ในการเดินทางครั้งนี้ คนปลายน้ำอย่าง สุรจิต ชิรเวทย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ร่วมเดินทางมาบอกเล่าเรื่องราวการดำรงชีวิตของคนแม่กลองท่ามกลางกระแสของการพัฒนาบ้านเมืองให้ฟังด้วยว่า  แม่กลองนั้นเป็นเมืองปากแม่น้ำ ในฤดูน้ำหลาก แร่ธาตุสารอาหารถูกพัดมาตกตะกอนบริเวณปากแม่น้ำ ทำให้ปลูกพืชได้ผลดี แต่ด้วยความหวังดีของส่วนราชการกลัวว่า ฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วม ซ้ำยังจะปล่อยน้ำจืดลงทะเลไปเสียเฉยๆ จึงสร้างเขื่อนขึ้นกักเก็บน้ำ


 


"เมื่อน้ำไม่ท่วม สิ่งปฏิกูลต่างๆ ก็จะไม่ถูกชำระ เมื่อน้ำไม่หลาก ตะกอนทับถมซึ่งเป็นทั้งสารอาหารให้สัตว์น้ำที่ปากอ่าวและเป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดีที่จะเข้ามาตามร่องสวนก็หายไป 75% เพราะตะกอนติดเขื่อน มดแมลงก็มีมากขึ้น น้ำจืดที่จะมาดันน้ำทะเลก็ไม่มี ทำให้น้ำทะเลดันเข้ามาในสวน พืชไร่ล้มตาย ผลผลิตจึงลดลง ระบบนิเวศปากอ่าวเริ่มเปลี่ยนไป"


 


สุรจิต แสดงความเห็นว่า การพัฒนานั้นทำได้ แต่ต้องเข้าใจในวิถีชีวิตและธรรมชาติของแต่ละท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ ต้องให้ชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจ โดยสุรจิต ได้ยกตัวอย่างการสร้างสะพานข้ามคลองของรัฐที่ตัดตรงแด่ว เวลาน้ำขึ้น เรือก็ผ่านไม่ได้ ผิดกับสะพานโค้งที่ชาวบ้านช่วยกันสร้าง


 


ถ้านึกถึงแหล่งท่องเที่ยวในแม่กลองตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นตลาดน้ำอัมพวา ซึ่งสุรจิตบอกว่า การท่องเที่ยวนั้นก็เช่นกันที่ต้องจัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ไปสนใจแต่การตลาด อย่างที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ที่ปิดประตูน้ำทั้งหัว ทั้งท้าย กักน้ำไว้ไม่ให้น้ำขึ้น-น้ำลง ทำให้น้ำนิ่งจนเริ่มเน่าเสีย


 


"หากตลาดน้ำอัมพวาแน่น ก็ต้องไปปรับปรุงที่อื่นๆ เช่น ตลาดน้ำบางน้อย ตลาดน้ำบางนกแขวก ให้มันกระจายๆ ไป เฉลี่ยๆ กันไป บางปีน้ำแห้งไม่อยู่คลอง ก็มีคนบ่นว่าเอาเรือเข้ามาขายของที่ตลาดน้ำอัมพวาไม่ได้ ก็ตลาดน้ำก็ต้องแล้วแต่น้ำอำนวยสิ"


 


นอกจากตัวตลาดน้ำ สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ก็คือ โฮมสเตย์ ซึ่งขายเสน่ห์ของธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวแม่กลอง โดยมีการจัดอาหารเช้าและเย็นให้ จัดกิจกรรมให้ทำ เตรียมอาหารให้ใส่บาตรพระในตอนเช้า โดยการจัดโฮมสเตย์ก็ถือว่าช่วยแก้เหงา สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ที่ลูกหลานเข้าไปทำงานในเมืองได้ด้วย


 


"แนะนำให้ลองขายจุดต่างไปเลย สิ่งที่เราขายคือสิ่งที่เรามี และต้องคำนึงถึงด้วยว่า เรารับความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาไหวไหม" สุรจิตกล่าวทิ้งท้าย


 


-3-


นอกจากการร่วมสัมมนาแล้ว คณะของเราได้ลงศึกษาพื้นที่น้ำตกทีลอซู โดยนั่งรถสองแถวเข้าไปตามถนนลาดยาง ผ่านไร่ข้าวโพดจำนวนมาก ซึ่งปลูกโดยชาวกะเหรี่ยงที่ถูกทางการห้ามทำไร่หมุนเวียน ด้วยข้อหาว่าทำไร่เลื่อนลอยทำลายป่า ทั้งที่การปลูกไร่ของชาวกะเหรี่ยงช่วยรักษาหน้าดินเอาไว้ได้มาก โดยจะวนกลับมาปลูกในที่เดิมอีกเมื่อดินฟื้นตัวแล้ว นอกจากนี้ ทางการฯ ยังสนับสนุนให้ทำไร่อยู่กับที่ พ่อค้าก็เอาพันธุ์ข้าวโพดมาขายให้ ข้าวโพดที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวก็จะทำลายหน้าดิน ทั้งยังมีศัตรูพืช ทำให้เกิดการใช้ปุ๋ยเคมีตามมา ส่งผลทั้งปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและสารปนเปื้อน


 


 


 


  ทางไปสู่น้ำตกทีลอซู


 


ทางเข้าต่อไปยังน้ำตกทีลอซูนั้น เป็นทางดินลูกรัง 25 กม. ที่หากใครได้มาในช่วงไม่มีฝนจะได้หน้าคลุกฝุ่นกลับไป ขณะที่การเดินทางของคณะของเราในวันนั้น ได้โคลนจากการลงไปเข็นรถที่ล้อติดหล่มเป็นของฝาก เนื่องจากฝนที่ตกลงมาตั้งแต่เช้าทำให้พื้นดินอ่อนยวบยาบ


 



 บอร์ดวอล์ก


 


จากนั้น พวกเราเดินเท้าต่ออีก 1.5 กม. เพื่อขึ้นไปยังน้ำตกทีลอซู ตามทางเดินที่ทำจากแผ่นปูนต่อกันซึ่งมีชื่อเรียกว่า บอร์ดวอล์ก โดยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อธิบายว่า มีไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดิน จะได้ไม่เหยียบถูกพืชที่ขึ้นอยู่ในป่า และเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว


 



 บอร์ดวอล์กที่อยู่ระหว่างการสร้าง


 


ขณะที่ ศศิน มองว่า หากมีการศึกษาแล้วพบว่า บอร์ดวอล์กไม่มีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายของสัตว์ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าออกแบบกันเอง โดยไม่ศึกษาผลกระทบก็จะมีปัญหาตามมา แต่ในขณะเดียวกันก็มีวิธีที่ง่ายกว่า ในปริมาณเงินที่เท่ากัน โดยไม่ต้องสร้าง เช่น เอาไปปรับทางเท้า สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยจ้างชาวบ้านให้ช่วยปรับพื้นที่ เอาอิฐหรือวัสดุที่สอดคล้องกับธรรมชาติกว่านี้ แล้วทำราวไม้ไผ่ให้จับดีๆ แล้วคอยซ่อมแซมอยู่เสมอ นึกถึงปริมาณเงินก้อนนี้ถ้าจะใช้จริงๆ แค่หมื่นสองหมื่น ที่เหลือก็เก็บไว้ซ่อมบำรุงประจำปี ชาวบ้านได้เงิน ธรรมชาติก็ดูกลมกลืนไปตามความจำเป็น ไม่ดูแปลกแยกหรือโอเวอร์   


 


...


 



ขากลับจากอุ้มผาง เส้นทางข้างหน้าของพวกเรายังเต็มไปด้วยทางโค้ง 1,219 โค้ง พวกเราเลี้ยวไปซ้ายบ้างขวาบ้างในเส้นทางเดียวกับขามา ภาพป่าไม้เขียวขจีสุดลูกหูลูกตาเบื้องหน้าคงหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ไม่ช้าก็เร็ว สักวันนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่กำลังคืบคลานเข้ามาก็คงมาถึงตัวอุ้มผาง ไม่รู้ว่าเมื่อวันนั้นมาถึง "อุ้มผาง" จะเลือกไปทางไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net