Skip to main content
sharethis

ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระหว่างวันที่ 5-6 มิ.ย.49 โดยในวันแรก ได้มีการอภิปรายเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมืองกับการควบคุมยาสูบ ซึ่งนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายเพื่อควบคุมผลกระทบทางเศรษฐกิจและด้านการควบคุมยาสูบได้ร่วมนำเสนอข้อมูลวิชาการโดยมีสาระสำคัญดังนี้


 


รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ศูนย์ศึกษานโยบายเพื่อการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การค้าเสรีเป็นประโยชน์เพราะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แต่นำมาใช้กับสินค้าที่ก่อโทษต่อสุขภาพอย่างบุหรี่ไม่ได้ ขณะนี้ประเทศไทยได้ลงนามกับข้อตกลงทางการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่กับหลายประเทศ ทั้งอาฟต้า (AFTA) และ เอฟทีเอ (FTA) กับประเทศต่าง ๆ โดยบางประเทศเป็นคู่ค้าบุหรี่ที่สำคัญของไทย ที่สำคัญคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และจีน ที่ผ่านมาไทยได้ลดอัตราภาษีนำเข้าบุหรี่และยาสูบจากสมาชิกกลุ่มอาเซียนลง ร้อยละ 5 และในปีนี้ไทยกำลังจะลดอัตราภาษีนำเข้าบุหรี่และยาสูบที่ผลิตในอินเดียจากร้อยละ 60 เป็นศูนย์ รวมทั้งจะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับจีนในปี 2553 และกับประเทศคู่ค้าตามข้อตกลงเอฟทีเอด้วย


 


รศ.ดร.อิศรา กล่าวว่า โดยทั่วไปอัตราภาษีนำเข้าที่ลดลงจะทำให้ราคาบุหรี่นำเข้าถูกลง นอกจากนี้ใบยาสูบที่นำเข้ายังมีราคาถูกลงด้วย ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้การบริโภคบุหรี่เพิ่ม และรายรับภาษีของรัฐเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม จากการที่บุหรี่เป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคา ดังนั้น การที่อัตราภาษีนำเข้าลดลงก็ไม่ได้ทำให้ราคาบุหรี่ถูกลงถ้ารัฐไม่ปรับราคาตามไปด้วย แต่ผลอีกด้านหนึ่งก็คือบริษัทบุหรี่จะได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นไว้ทั้งหมด โดยบริษัทใดที่มี Import Content มากก็ได้มาก ทำให้บุหรี่นำเข้าได้กำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าที่โรงงานยาสูบได้ ขณะเดียวกันรายรับภาษีบุหรี่ของรัฐบาลก็จะลดลง


 


จากการคาดการณ์ดังกล่าว ดร.อิศรา เสนอแนะว่า ไทยไม่ควรใช้วิธีปกติในการวิเคราะห์ผลของเอฟทีเอในกรณีของบุหรี่และยาสูบ เพราะสาเหตุสี่ประการคือ หนึ่ง บุหรี่และยาสูบเป็นสินค้าที่เรียกว่า bad ไม่ใช่ good สอง บุหรี่เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มสิ่งเสพย์ติด สาม บุหรี่เป็นสิ่งที่ทำลายชีวิตเช่นเดียวกับการพนัน สี่ ไม่อาจกล่าวได้ว่าการสูบบุหรี่เพิ่มจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น


 


ในกรณีของประเทศไทย ดร.อิศรา ได้เสนอภาพการคาดการณ์ว่าหลังข้อตกลงทางการเสรีกรณีอาฟต้ามีผลว่าจะเกิดผลกระทบทั้งต่อการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นและรายได้ของรัฐบาลลดลง ไม่ว่าจะปรับราคาขายหรือไม่ก็ตาม โดย หากไม่ปรับราคาขายปลีก จะทำให้ผู้จำหน่ายบุหรี่นำเข้าได้กำไรเพิ่ม ร้อยละ 11.27 ขณะที่รายรับภาษีของรัฐจากบุหรี่นำเข้าลดลง 1,177 ล้านบาท ขณะที่บุหรี่ที่ผลิตในประเทศมีกำไรเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 0.02 และรายรับภาษีของรัฐลดลง 8 ล้านบาท หากปรับราคาขายปลีกไปตามสัดส่วน จะทำให้มูลค่าการบริโภคบุหรี่นำเข้าลดลง 380 ล้านบาท และรายรับภาษีของรัฐลดลง 1,027 ล้านบาท ส่วนบุหรี่ในประเทศมีมูลค่าลดลง 2.7 ล้านบาท และภาษีที่เก็บได้ลดลง 7 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในแง่ของการบริโภคจะยังคงเพิ่มขึ้น โดยบุหรี่นอกจะจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น 89 ล้านมวน และบุหรี่ในประเทศจำหน่ายเพิ่ม 7 แสนมวน ซึ่งส่งผลให้คนตายเพราะบุหรี่เพิ่ม 134 คนต่อปี


 


ดร.อิศรา ระบุว่าตัวเลขผลกระทบที่คาดการณ์นี้เป็นค่าประมาณการที่ยังไม่รวมกรณีเอฟทีเอ และการค้าเสรีในรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะในกรณีของจีนและอินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนซึ่งได้ประโยชน์จากอาฟต้า โดยจากนี้บุหรี่นำเข้าราคาถูกจากอินเดียจะเริ่มทะลักเข้ามาในปีนี้และหนุนเพิ่มด้วยสินค้าจากจีนในอีก 4 ปีข้างหน้า และเชื่อว่าผลกระทบจากเอฟทีเอที่กำลังจะเกิดขึ้นกับไทยจะรุนแรงยิ่งกว่ากรณีอาฟต้า


 


"ผลจากเอฟทีเอไม่ได้กระทบแค่นี้ แต่ยังเกี่ยวข้องกับสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกหลายอย่าง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลต่อเยาวชนอย่างมาก จึงจำเป็นต้องช่วยกันป้องกันก่อนจะสายเกินไป" ดร.อิศรา กล่าว


 


นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ชี้ว่า บุหรี่เป็นสินค้าที่ทั้ง "ปล้น" และ "ฆ่า" ผู้สูบ เมื่อปี 2547 องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลกมากจำนวนมากยากจนลง ทั้งจากการเสียเงินซื้อบุหรี่สูบ และค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาตัวจากโรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่เกิดจากการการสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ จนตั้งคำขวัญว่า "บุหรี่ยิ่งสูบยิ่งจน" แม้แต่ ธนาคารโลก (World Bank) ยังมีนโยบายตั้งแต่ปี 2535 ไม่ให้ประเทศใดกู้เงินสำหรับการปลูกหรือทำธุรกิจยาสูบ


 


นพ.สุภกร กล่าวต่อไปว่า ใน กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Convention on Tobacco Control) ซึ่งเป็นมาตรการระดับโลกในการควบคุมยาสูบ ได้เสนอให้การขึ้นภาษีบุหรี่เป็นมาตรการสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ใช้มาตรการขึ้นภาษีบุหรี่มาตั้งแต่ปี 2536 ผลที่เกิดตามมาคือการบริโภคลดลง ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น และมีเงินเข้าคลังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ได้แนะนำว่า การขึ้นภาษีบุหรี่ให้ได้ผลต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ การใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการควบคุมบุหรี่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง 2 ประการ คือ ต้องจัดการกับบุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่มักใช้กลยุทธ์หลีกเลี่ยงภาษีโดยกำหนดอัตราซีไอเอฟที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีให้ต่ำ และปราบปรามบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ผลจากการปราบปรามยาเวพติดที่กระทบถึงการลดลงของบุหรี่เถื่อนในปี 2547 เกิดจากการปราบปราม ไม่ใช่การขึ้นราคา


 


ด้าน ดร.ชลธาร วิศรุตวงศ์ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ได้ให้ข้อมูลเรื่องของการลักลอบจำหน่ายบุหรี่เถื่อนซึ่งเป็นปัจจัยแทรกแซงประสิทธิภาพของมาตรการขึ้นภาษีเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบโดยตรงว่า บุหรี่เถื่อนทำให้สังคมและเศรษฐกิจแย่ลง โดยทำให้ราคาบุหรี่ถูกลง การสูบเพิ่มขึ้น โดยจะขยายตัวมากในกลุ่มวัยรุ่น นโยบายด้านภาษีบุหรี่ของรัฐมีประสิทธิภาพลดลง รายได้ของรัฐลดลง สุขภาพประชาชนอ่อนแอลง และอาชญากรระหว่างประเทศเติบโตเร็วขึ้น ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อรัฐ ผู้ที่เสียภาษีและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งผู้ไม่สูบบุหรี่ ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือ ผู้ลักลอบจำหน่ายและบริษัทบุหรี่


 


ดร.ชลธาร ระบุว่า ขณะนี้รูปแบบการลักลอบขายบุหรี่เถื่อนมี 4 รูปแบบ คือ การลักลอบผ่านทางการผลิตบุหรี่ผิดกฎหมาย บุหรี่ปลอม และกองทัพมด ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์เมื่อปี 2545 ว่าบุหรี่เถื่อนที่ซื้อขายในตลาดโลกมีถึง 1,019 พันล้านมวนต่อปี ขณะที่กรมสรรพสามิตและโรงงานยาสูบเชื่อว่าในแต่ละปีบุหรี่ปลอมมีประมาณ 900-1,200 ล้านมวน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 1,400-1,700 ล้านบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net