Skip to main content
sharethis

ประชาไท—16 มิ.ย. 2549 เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จากทั่วประเทศ รวมตัวกันเตรียมฟ้องศาลปกครองให้ยุบ อพท.เนื่องจากหลายโครงการเห็นได้ชัดเจนว่าทำเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการค้า ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติองค์กรมหาชน พ.ศ.2542 ซ้ำยังทำลายการท่องเที่ยวและทำลายทรัพยากรในท้องถิ่น


 


นายนิคม พุทธา ผู้ประสานงานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (ภาคเหนือ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ ครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จากทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์กลางคืน เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จากเชียงใหม่   ภูหลวง-ภูเรือ จังหวัดเลย เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เกาะช้างจ.ตราด  เกาะลันตา และเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ จะร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ที่กรุงเทพมหานคร  เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งยุบ อพท.


 


"ในขณะนี้ ทีมนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ กำลังรวบรวมข้อมูลที่จะยื่นฟ้องโดยมีประเด็นร่วมคือ 1. การออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พ.ศ.2546 หรือ อพท.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 หรือไม่  2. อพท.ได้ดำเนินการโครงการในหลายๆ พื้นที่และได้กระทำการที่ขัดต่อ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 รวมทั้งขัดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หรือไม่ "


 


นายนิคม กล่าวว่า เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยนายวสันต์ พานิช ได้เชิญกลุ่มองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ที่ อพท.เข้าไปให้ข้อมูลสภาพสถานการณ์ พบว่า อพท.ได้สร้างผลกระทบหลายประการ เช่นมีการไล่รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างเดิม เช่น ที่พักร้านอาหาร มีการกำหนดเขตท่องเที่ยว เข้าได้ หรือไม่ได้ บางพื้นที่เปิดโอกาสให้นายทุนรายใหญ่ต่างถิ่นเข้าไป อีกส่วนมีการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติ มีการพัฒนาถนนหนทาง แหล่งน้ำ สร้างท่าเรือ และการย้ายชุมชนหมู่บ้าน"  


 


"เมื่อพิจารณาถึงที่มาของ อพท.แล้ว นายสมชาย หอมละออ นักกฎหมายจากสภาทนายความ ได้เสนอประเด็นและมีความเห็นในที่ประชุมว่า ควรจะได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ยุบ อพท. โดยจะรวมตัวกันในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ โดยในวันดังกล่าวจะมีการเสวนาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีนักกฎหมาย นักสื่อสารมวลชน และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาถกในประเด็นนี้เพื่อจะประกาศให้รับรู้ว่า เรามีเครือข่ายภาคประชาชน ที่คอยปกป้องฐานทรัพยากรฯท้องถิ่น กลุ่มอนุรักษ์ในภูมิภาคต่างๆ และมั่นใจว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง"


 


ทั้งนี้ นายขวัญชัย โชติพันธุ์ ทนายความสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 ไว้ว่าเจตนารมณ์ ของ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 ตราเป็นกฎหมายขึ้นเพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ของรัฐ หรือการดำเนินงานตามแผนงานหรือนโยบายเพื่อจัดทำบริการสาธารณะด้านใดด้านหนึ่ง ที่มีปัญหาซับซ้อน ความขัดแย้งในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนการทำงานอย่างมีเอกภาพ และประสานงานให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงาน จึงได้ตราเป็น พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 ขึ้น


 


โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. องค์การมหาชน พ.ศ.2542 นั้น ได้ระบุไว้ว่า การจัดตั้งองค์การมหาชน นั้นจะต้องเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การบริการทางแพทย์และสาธารณสุข การสังคมสงเคราะห์ การอำนวยบริการแก่ประชาชน หรือการดำเนินการอันเป็นสาธารณประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ โดยต้องไม่เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก แต่จะต้องจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการอันเป็นสาธารณะประโยชน์


 


ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2546 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พ.ศ.2546 หรือ อพท.เพื่อดำเนินโครงการ โดยการตราพระราชกฤษฎีกานั้นอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542


"แต่หลายพื้นที่ที่ อพท.เข้าไปดำเนินการในปัจจุบันนั้น มีหลายโครงการที่แสดงชัดเจนว่าสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า มิใช่เป็นนโยบายสาธารณะ  จึงไม่สามารถนำ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 มากำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกาได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net