Skip to main content
sharethis

"ปรามูเดีย อนันตา ตูร์" เป็นนักเขียนชาวอินโดนีเซียผู้โด่งดังในแวดวงวรรณกรรมโลก และเป็นนักสู้ที่ยิ่งใหญ่ เรื่องราวของเขาถูกกล่าวถึงอีกครั้งในงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์...โอกาสในการทำความรู้จักเพื่อนบ้านผ่านนักเขียนยิ่งใหญ่แห่งภูมิภาคแบบนี้ มีไม่มากนักในสังคมไทย

    ปรามูเดีย อนันตา ตูร์

 

 

โดย มูฮำหมัด ดือราแม

 

เมื่อถามถึงนักวรรณกรรมผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงมีคนไทยน้อยคนนักที่จะนึกถึง "ปรามูเดีย อนันตา ตูร์"

 

ปรามูเดีย เป็นนักเขียนชาวอินโดนีเซียผู้โด่งดังในแวดวงวรรณกรรมโลก เป็นนักสู้ที่มีผลงานโดดเด่นในยุคแห่งการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอินโดนีเซียให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมดัทช์

 

เขาเสียชีวิตในวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2549 และเรื่องราวของเขาได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งในการสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง "ตำนานแผ่นดิน :คุก ปากกา ปรามูเดีย และกนกพงษ์ รำลึกสองนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2549โดยหลักสูตรภูมิภาคศึกษา (เอเซียตะวันออกเฉียงใต้) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

ในคราวนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะปรามูเดียผู้เป็นสะพานเชื่อมทางวัฒนธรรมระหว่างอินโดนีเซียกับโลกภายนอก โดยมี "ภัควดี วีระภาสพงษ์" นักแปลและนักวิชาการอิสระ ซึ่งเคยแปลงานนักเขียนอินโดนีเซียผู้นี้เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวในบรรทัดถัดๆ ไปจากนี้

 

อย่างไรก็ตาม แม้ปรามูเดียจะโด่งดังเพียงใด แต่ดูเหมือนคนไทยกลับมีโอกาสอ่านงานของเขาตลอดจนงานของนักเขียนในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้อยนัก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

 

คำตอบจาก ภัควดี ผู้แปลงานเขียนของปรามูเดียคือในบ้านเราหานักแปลวรรณกรรมจากภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาไทยที่ลึกซึ้งได้ยากมาก เธอเองก็แปลงานเขียนของปรามูเดียจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ นี่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เยาวชนไทยไม่ค่อยรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านมากนัก แต่กลับรู้เรื่องอเมริกาอย่างดี

 

แน่นอน เมื่องานเขียนของประเทศเพื่อนบ้านได้รับการแปลเป็นภาษาไทยน้อย ทำให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านน้อยไปด้วยและยิ่งในจำนวนน้อยนี้บางส่วนไม่ได้แปลมาจากต้นฉบับเดิม ซึ่งเป็นภาษาของประเทศเพื่อนบ้านด้วยแล้ว ก็มีโอกาสที่งานแปลดังกล่าว จะคลาดเคลื่อนไปจากเดิม

 

ภัควดียังได้ให้แง่คิดอีกอย่างหนึ่งว่า การเขียนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องของชนชั้นปกครอง เช่น เรื่องราวของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ในประวัติศาสตร์เหล่านั้นไม่ได้ให้ภาพของชาวบ้านในยุคนั้นว่า เป็นอยู่อย่างไร

 

"ปัจจุบันมีการพูดถึง "ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน" ขึ้นมา โดยนักเขียนประวัติศาสตร์ภาคประชาชนชื่อดัง เช่น โฮเวิร์ด ซินน์ ชาวอเมริกัน"

 

ภัควดี บอกว่า โฮเวิร์ด ซินน์ จะเขียนประวัติศาสตร์อเมริกาตั้งแต่ยุคก่อตั้งประเทศอเมริกา แต่เขียนในมุมอินเดียนแดง มุมของคนเล็กคนน้อย ชาวบ้าน คนงานเหมืองแร่ เล่าถึงการต่อสู้ของคนพื้นเมืองในยุคนั้น ในขณะที่ปรามูเดีย มีงานเขียนที่คล้ายกับโฮเวิร์ด ซินน์ แต่เขียนในเชิงนวนิยาย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ปรามูเดียจะเขียนเป็นนวนิยาย แต่ก็มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง อธิบายสภาพความเป็นจริงของสังคมชวาในสมัยนั้นเป็นอย่างดี อธิบายถึงความยากลำบากของผู้คนในยุคอาณานิคม สภาพสังคมที่มีชนชั้น โดยชนชั้นล่างถูกรังแกข่มเหงและดูถูกเหยียดหยาม ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยกว้างมาก ขณะที่ชนชั้นล่างพยายามทำตัวเหมือนกับคนรวยในสังคม เช่น จัดงานเลี้ยงใหญ่โต สุดท้ายก็นำความลำบากมาสู่ตนเอง

 

ดร.ชูกูร กาซาลี แห่งมหาวิทยาลัยมาลัง อินโดนีเซีย ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ปรามูเดีย จะใช้ภาษามลายูในงานเขียนของเขา เพราะไม่ต้องการใช้ภาษาชวาที่เป็นภาษาแห่งชนชั้น แต่ในความเป็นจริงภาษามลายูที่เขาใช้ ก็ยังปรากฏสำนวนบางอย่างที่เป็นภาษาชวา คำถามก็คือว่า ในการแปลเป็นภาษาไทยนั้น ได้คำนึงถึงเรื่องนี้หรือไม่

 

 

ขณะที่ดร.แพทริก โจรี อาจารย์ประจำหลักสูตรภูมิภาคศึกษา (เอเซียตะวันออกเฉียงใต้) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มประเทศมลายู ซึ่งเปิดสอนทั้งภาษามลายูและมลายูศึกษาด้วย

 

 

นี่เป็นเพียงเก็บตกบางแง่มุมที่ได้จากการสัมมนา ก่อนที่จะไปทำความรู้จักตัวอย่างงานของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินโดนีเซีย (ในเอกสารประกอบ) และทำความรู้จักตัวตนของ "ปรามูเดีย อนันตา ตูร์" ซึ่งแปลว่า "ที่หนึ่งในการต่อสู้" ในบรรทัดต่อจากนี้ 

 

 

0 0 0 0

 

 

ปรามูเดีย อนันตา ตูร์

(Pramoedya Ananta Toer)

 

โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2549 อินโดนีเซียสูญเสียนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่และโลกสูญเสียนักอุดมคติผู้ต่อสู้ด้วยปลายปากกาอีกคนหนึ่ง ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ เป็นทั้งนักประพันธ์ นักต่อสู้ และเป็นสะพานเชื่อมสายหลักทางวัฒนธรรม ระหว่างอินโดนีเซียกับโลกภายนอกด้วย

ปรามูเดีย หรือที่ชาวอินโดนีเซียเรียกขานกันว่า ปราม เสียชีวิตที่บ้าน ด้วยวัย 81 ปี จากอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวานและโรคหัวใจ เขาเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่วันพฤหัสฯ หลานชายของเขาเล่าว่า ปรามขอออกจากโรงพยาบาลในวันเสาร์ เมื่อกลับมาถึงบ้าน สิ่งแรกที่นักเขียนทำ คือ จุดบุหรี่กานพลูสูบ — กิจวัตรที่เขาทำมาไม่เคยขาด คืนนั้นอาการของเขาทรุดลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น

ปรามูเดีย เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1925 ที่เมืองบลอราบนเกาะชวา ในยุคที่ดินแดนแห่งนี้ ยังเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ เป็นบุตรหัวปีของพี่น้อง 9 คน บิดาเป็นครูใหญ่นักชาตินิยมที่ต่อสู้เพื่อปลดแอก "หมู่เกาะอินดีสตะวันออก" จากอาณานิคมดัทช์ ส่วนมารดา — ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อปรามอย่างมาก — เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี

ปรามูเดียจึงเติบโตขึ้นมาเป็นนักอุดมคติที่มีความคิดก้าวหน้า กล้าหาญ กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ความกล้าหาญนี้เอง ทำให้ชีวิตของเขาถูกจำคุกถึง 3 ครั้ง ใน 3 ยุค 3 รัฐบาล แม้ล่วงจนถึงวัยชรา เขาก็ยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอินโดนีเซียมาตลอด นวนิยายและงานเขียนของเขา เป็นหนังสือต้องห้ามในอินโดนีเซียนานหลายสิบปี แม้จะเป็นที่ลักลอบอ่านกันอย่างแพร่หลายก็ตาม

ปรามในวัยหนุ่มเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยอย่างที่มารดาเขาตั้งความปรารถนาไว้ (แต่ความปรารถนานี้มาลุล่วง ในปี ค.ศ. 1999 เมื่อมหาวิทยาลัยมิชิแกน มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ปราม) เขาเริ่มอาชีพนักหนังสือพิมพ์ด้วยวัยเพียง 16 ปี ผ่านประสบการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองแผ่นดินถิ่นเกิด หลังสงครามจบลง เมื่ออาณานิคมดัทช์กลับเข้ามาในประเทศหมู่เกาะแห่งนี้อีกครั้ง ปรามูเดียถูกรัฐบาลดัทช์จับกุมและจองจำ ในปี ค.ศ. 1947 - 1949 ด้วยข้อหา "ต่อต้านอาณานิคม" ระหว่างอยู่ในห้องขังครั้งแรกนี่เอง ที่เขาเขียนนวนิยายเรื่องแรก The Fugitive เรื่องราวของนายทหารชาวพื้นเมืองที่ต่อสู้กับการยึดครองของญี่ปุ่น โดยใช้ลีลาการเขียนเลียนแบบละครหุ่นวายังของชวา และเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่เขียนด้วยภาษามลายูท้องถิ่น ที่ภายภาคหน้าจะกลายเป็นภาษาอินโดนีเซีย

หลังจากหมู่เกาะอินดีสตะวันออกปลดแอกจากดัทช์เป็นผลสำเร็จ ในปี ค.ศ. 1949 โดยมีซูการ์โน เป็นผู้นำ และก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศเกิดใหม่ที่ชื่อ "อินโดนีเซีย" ปรามูเดียได้รับการปล่อยตัว เขากลับมาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการ พร้อมกับเขียนวรรณกรรม  บทความและงานค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์และนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยด้วย แม้ปรามจะถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีซูการ์โน แต่เขาไม่วายถูกจับขังคุกเป็นครั้งที่สองในยุค "ลัทธิชาตินิยม" เป็นใหญ่ ทั้งนี้ เพราะในปี ค.ศ. 1960 ขณะที่ประธานาธิบดีซูการ์โนกำลังรณรงค์ต่อต้านอำนาจทางเศรษฐกิจของชาวจีนที่เป็นชนกลุ่มน้อย ปรามูเดียกลับต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวจีน ด้วยการตีพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวจีนที่มาตั้งรกรากในอินโดนีเซีย รวมทั้งยืนยันว่าชาวจีนมีบทบาทในการก่อตั้งขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียด้วย รัฐบาลซูการ์โนจึงจับปรามขังคุกเสีย 1 ปี ด้วยข้อหา "เห็นอกเห็นใจชาวจีนมากเกินไป"

ในปี ค.ศ. 1965 เพียงสองสัปดาห์หลังจากซูฮาร์โตทำรัฐประหาร และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี เปิดฉากระบอบการปกครองเผด็จการที่เหี้ยมโหดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ ปรามูเดียเป็นหนึ่งในชาวอินโดนีเซีย 1.5 ล้านคน ที่ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่มีการขึ้นศาล — ยังไม่นับที่ต้องสังเวยชีวิตไปอีกหลายแสนคน ในวันที่เขาถูกจับ นอกจากพานท้ายปืนทหารที่แพ่นลงบนกกหู จนทำให้ปรามหูเกือบหนวกไปตลอดชีวิต เอกสารและงานเขียนทั้งหมดที่เขาเก็บไว้ที่บ้าน ยังถูกขนออกมาเผาเป็นจุณไปต่อหน้าต่อตา ในกองขี้เถ้านั้นมีเอกสารสำคัญหลายชิ้นที่ครอบครัวภรรยาม่ายของ ตีร์โต  อาดี สุรโย นักหนังสือพิมพ์ชาวพื้นเมืองคนแรกในยุคอาณานิคม ส่งมาให้ปรามรวมอยู่ด้วย

นั่นคือ จุดเริ่มต้นของชีวิตจองจำยาวนานถึง 14 ปี 4 ปีแรกในคุกจาการ์ตา ส่วนอีก 10 ปีที่เหลือ คือ คุกบนเกาะบูรู ท่ามกลางความลำบากยากเข็ญ ความตายและคำสั่งห้ามไม่ให้นักโทษพูดจากัน ปรามูเดียเคยรำพึงไว้ว่า "เป็นไปได้หรือที่จะริดรอนสิทธิของมนุษย์ไม่ให้พูดกับตัวเอง?" เพื่อพิสูจน์ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ถึงไม่มีกระดาษหรือปากกา และมีเวลาพูดกับเพื่อนนักโทษแค่เสียงกระซิบตอนอาบน้ำ แต่ปรามก็ไม่ยอมแพ้ต่อความเงียบ ทั้งเขายังพิสูจน์ให้เห็นถึงจารีตมุขปาฐะอันยิ่งใหญ่และมีชีวิตชีวาของชาวชวา ด้วยการเล่าเรื่องของมิงเก ตัวเอกของนวนิยายชุดจตุรภาคเกาะบูรู ซึ่งมีเค้าเรื่องมาจากประวัติชีวิตของตีร์โต อาดี สุรโย

ตำนานการเกิดนวนิยาย 4 ภาค อันประกอบด้วย แผ่นดินของชีวิต (This Earth of Mankind), ผู้สืบทอด (Child of All Nations), รอยย่างก้าว (Footsteps) และ House of Glass ทั้งการกระซิบเล่าให้นักโทษฟังเป็นทอดๆ ระหว่างอาบน้ำ การลักลอบเข้ามาคัดลอกต้นฉบับออกไปเผยแพร่ภายนอก รวมทั้งการเป็นหนังสือต้องห้ามยาวนานในประเทศบ้านเกิดของผู้เขียน เป็นเรื่องราวโลดโผนไม่แพ้ตัวนิยายเอง แม้กระทั่งการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก โดยทูตชาวออสเตรเลียชื่อ

Max Lane ก็ยังเป็นการแปลที่ไม่ธรรมดา เพราะมันทำให้ มร.เลน ถูกรัฐบาลออสเตรเลียเรียกตัวกลับ จนต้องจบเส้นทางการทูตของตน

นวนิยายชุดจตุรภาคเกาะบูรู ถูกแปลไปมากกว่า 20 ภาษาทั่วโลก ในนวนิยายที่มีฉากหลังเป็นหมู่เกาะอินดีสตะวันออก ยุคอาณานิคมดัทช์ เป็นเรื่องราวชีวิตของมิงเก ชายหนุ่มชาวพื้นเมืองฐานะดีผู้ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก มีทั้งเรื่องราวของอุดมคติ ความรัก การต่อสู้ การตื่นขึ้นพบความจริง และการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองที่กดขี่ ผลงานชิ้นนี้ คือ การเขียนประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนขึ้นมาในรูปของนวนิยาย ปรามูเดียรวบรวมเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาร้อยเรียงกัน ทั้งการปฏิวัติในฟิลิปปินส์ การต่อสู้ของชาวอาเจะห์และบาหลี การก่อตั้งหนังสือพิมพ์ของชาวพื้นเมืองและองค์กรขบวนการต่างๆ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยอย่างชาวจีนและโสเภณีญี่ปุ่น

"จุดโฟกัสของปรามมักอยู่ที่ภูมิประเทศอันกว้างใหญ่ พลังทางประวัติศาสตร์, สังคม และการเมืองที่ผนึกประสานกันสร้างประเทศอินโดนีเซียขึ้นมา"  จอห์น แมคกลิน ผู้แปลงานบางชิ้นของปรามูเดียกล่าวถึงงานเขียนของปราม "ไม่มีนักประพันธ์อินโดนีเซียคนไหนอีกแล้ว ที่ทำเช่นนี้ได้สำเร็จเท่าปรามูเดีย และไม่มีนักประพันธ์คนไหนอีกแล้ว ที่ยินดีเสียสละมากเท่าเขาเพื่อบำรุงปัญญาเพื่อนร่วมชาติ" ความสามารถของปรามในการวาด "ภาพขนาดใหญ่" นี่เอง ที่ทำให้เขาโดดเด่นเหนือนักเขียนนิยายชาวเอเชียเกือบทุกคนในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ในจตุรภาคเกาะบูรู ปรามูเดียไม่ได้วิจารณ์แค่ลัทธิอาณานิคม แต่เขายังวิพากษ์ลัทธิทุนนิยมที่กำลังก่อตัว คัดค้านการกีดกันชนกลุ่มน้อย ยกย่องผู้หญิงในฐานะนักต่อสู้ รวมทั้งวิจารณ์รากเหง้าของตัวเอง ซึ่งเขาเรียกว่า ลัทธิชวานิยม เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวชวามีอิทธิพลทางการเมือง เหนือกว่าชนชาติต่างๆ ในอินโดนีเซีย ปรามเรียกร้องเสมอมาให้ประเทศหมู่เกาะนี้ จัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยประชาชนจากทุกเกาะและทุกเชื้อชาติ การที่ปรามเขียนนิยายเป็นภาษามลายู โดยไม่ยอมใช้ภาษาชวา ก็เพราะภาษาชวาเต็มไปด้วยการแบ่งชั้นวรรณะ มิงเก ตัวเอกในนวนิยายชุดนี้ ถึงกับมีความคิดกว้างไกล ใฝ่ฝันถึงการรวบรวมประชาชนทั้งหมดที่พูดภาษามลายู เพื่อก่อตั้งเป็นประเทศมลายูที่ยิ่งใหญ่

ปรามูเดีย มีงานเขียนทั้งหมดมากกว่า 30 เล่ม — ไม่นับรวมที่ถูกรัฐบาลกับพัศดีเผาทิ้งไปอีกมาก ปรามเขียนทั้งนิยาย, เรื่องสั้น, บทความ, สารคดีสั้น และบันทึกความทรงจำ ผลงานทั้งหมดของเขามีการแปลไปแล้วอย่างน้อย 37 ภาษาทั่วโลก แม้ว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ความชราและสุขภาพที่ทรุดโทรมลง ทำให้ปรามูเดียเลิกเขียนหนังสือไปโดยสิ้นเชิง แต่เขาก็ยังร่วมงานกับลูกสาวคนหนึ่ง เพื่อจัดทำสารานุกรมเกี่ยวกับประเทศอินโดนีเซีย

รางวัลที่ปรามูเดียเคยได้รับมีอาทิ P.E.N. Freedom - to - Write Award (1988), รางวัลแมกไซไซ (1995), 11th Fukuoka Asian Culture Prize (2000), Norwegian Authors" Union Award (2004) และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลหลายครั้งหลายคราว

นอม ชอมสกี เคยเขียนถึงผลงานของปรามไว้ว่า "เป็นโชคอันหาได้ยากยิ่งที่ได้รับฟังเสียงของนักเขียนผู้โดดเด่น ผู้ฝ่าฟันการกดขี่บีฑาอันน่าอดสูมาได้ด้วยความกล้าและศักดิ์ศรี ได้รับรู้ความฝัน การต่อสู้ และความเจ็บปวดของเขา ท่ามกลางความเสื่อมโทรมของประเทศ และวัฒนธรรมที่เขาอุตส่าห์ต่อสู้สุดชีวิต เพื่อกอบกู้จากการตกเป็นเบี้ยล่างมาหลายศตวรรษ..."

นวนิยายส่วนใหญ่มักมีเรื่องราวโลดโผนยิ่งใหญ่กว่าชีวิตจริง ปรามูเดียเป็นหนึ่งในนักเขียนน้อยคน ที่ดำเนินชีวิตยิ่งใหญ่ไม่แพ้นิยายที่ตนเขียน แม้รูปกายภายนอกของเขา จะเป็นชายร่างเล็กผอมบาง ดูเผินๆ เหมือนคนอ่อนแอ กอปรกับบุคลิกง่ายๆ ถ่อมตน ไม่เรื่องมาก แต่ปรามูเดียใช้ชีวิต 81 ปี ของตนอย่างสมแล้วกับชื่อที่แปลว่า "ที่หนึ่งในการต่อสู้"

 



เอกสารประกอบ

นิยายพิฆาตอาณานิคม-ปรามูเดีย อนันตา ตูร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net