ต้องจับตา ว่าที่ กกต. 10 คน เน้นวินิจฉัย แต่ไม่มีประสบการณ์

11 ส.ค. 2549 ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้สมัครกกต. ทั้ง 10 คนที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกแล้วนั้น หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นในเชิงตั้งข้อสังเกตว่า กกต.ชุดใหม่จะทำงานได้คล่องตัวเพียงใด เมื่อ 8 ใน 10 ของผู้ที่ศาลฎีกาเสนอชื่อให้ วุฒิสภาเลือกนั้น เป็นผู้พิพากษา โดยที่ทั้ง 10คนไม่มีประสบการณ์การทำงาน

 

โดยเว็บไซต์คมชัดลึกสัมภาษณ์แหล่งข่าวหลายรายให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน เริ่มจากนายโคทม อารียา อดีตกกต. กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงที่เห็นว่ามีรายชื่ออดีตผู้พิพากษาอยู่ถึง 8 คน ทั้งนี้ นายโคทมกล่าวว่าการคัดเลือกครั้งนี้อาจจะไม่ตรงกับข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่ต้องการเห็นกกต.ที่มีความหลากหลาย และอยากได้คนที่มีประสบการณ์ในการทำงาน

 

ด้านนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า รู้สึกตกใจกับการเลือกครั้งนี้ที่ศาลเฟ้นเอาผู้พิพากษาเข้ามาพร้อมกันถึง 8 คน และที่สำคัญไม่มีคนที่เคยมีประสบการณ์เคยเป็นกกต.มาก่อนเข้ามาด้วย ทำให้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับกกต.ชุดใหม่คือการบริหารงาน การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ ในฐานะที่ตนเคยทำงานกับกกต.เห็นว่าสำนักงานกกต. ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในกกต.กรรมการ 5 จะทำงานไม่ได้เลย

 

จากรายชื่อที่ปรากฎจะเห็นว่าส่วนสำคัญที่หายไปคือตัวแทนของภาคสังคม ซึ่งจะสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ถือเป็นหัวใจที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นองค์ประกอบที่กรรมการชุดพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ได้ทำลายทิ้งไปจนทำให้การเลือกตั้งเกิดปัญหาไม่จบสิ้นจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ เมื่อเห็นอยู่แล้วว่าปัญหาของกกต.ชุดพล.ต.อ.วาสนา เกิดจากการไม่ยอมรับของประชาชนอย่างรุนแรง แต่ที่ประชุมศาลกลับไม่ดึงองค์ประกอบที่สามารถเชื่อมต่อภาคสังคมกลับคืนมา เชื่อว่าจะเป็นปัญหาซ้ำซากอีก

 

"ผมคิดว่ารายชื่อที่ปรากฏนั้นยังไม่ถือว่าเป็นอรหันต์ที่ผ่านการกลั่นกรอง 100 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าน่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร ส.ว.ต้องอย่าประมาท ควรจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างละเอียดอีกครั้ง ที่ผ่านมาเคยใช้เวลาตรวจสอบ 30 หรือ 40 วัน ก็ควรทำไปตามนั้น ไม่ต้องเร่งรีบตามที่รัฐบาลต้องการ" นายคมสัน กล่าว

 

ด้านนายกมลชัย รัตนสกาววงค์ อาจารณ์นิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ อดีตที่ปรึกษานายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตกกต. กล่าวว่า เท่าที่ทราบรายชื่อส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษา และส่วนใหญ่ก็มาจากสายศาลทั้งนั้น ไม่มีสายปกครองเข้ามาเลย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขอดูหน้าตาของ 5 คนก่อนว่า เป็นใครบ้าง ทั้งนี้ เห็นว่า การคัดเลือกของศาล น่าจะเลือกคนนอกเข้ามามากกว่านี้ เท่าที่เห็นก็มีนายแก้วสรร อติโพธิ เพียงคนเดียวซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า ทางวุฒิสภาเขาจะเลือกให้เข้ามาหรือไม่ ส่วนจะเข้ามาจัดการเลือกตั้งได้เลยหรือไม่นั้น เขาเห็นว่า ไม่ว่าจะได้ใครเข้ามา ก็ยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เลย ซึ่งการจัดการเลือกตั้งจะต้องใช้เวลา และดูแล้วแต่ละคน ก็อาจจะยังไม่เคยได้จัดการเลือกตั้ง และไม่เคยทำสำนวนเองด้วย

 

ขณะที่ นายเจษฏ์ โทณวณิก คณบดีนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ใน 10 คน ไม่ว่าส.ว.จะเลือกใครเข้ามาก็ถือว่า แข็งหมด และต่อไปก็ถือว่า การทำงานของกกต.จะเป็นไปในทางระบบตุลาการ ใช้หลักนิติศาสตร์เป็นตัวตั้งไม่เหมือนกกต.ชุดที่ผ่านมา ที่บางเรื่องจะใช้หลักรัฐศาสตร์เป็นตัวนำ ดังนั้น การกระทำใด ๆ ของฝ่ายการเมือง นับจากนี้ไปกกต.ชุดใหม่ก็จะดูว่า เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็อาจถูกดำเนินการได้

 

"ความยืดหยุ่นในการวินิจฉัยการกระทำทุจริตต่าง ๆ ก็คงไม่เหมือนกับกกต.ชุดที่แล้ว แต่จะเคร่งครัดมากขึ้น" นายเจษฏ์ กล่าว

 

เขาบอกด้วยว่า การที่ไม่มีกกต.ชุดเก่าเข้ามาเลย เขามองว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะกกต.ชุดเก่า ได้ฝากฝีมือที่ดีไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ซึ่งการทำงานของกกต.ชุดเก่า ก็เหมาะกับการทำงานของยุคนั้น แต่นี่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว การจะเอาอดีตกกต.ชุดเก่า มาทำงานร่วมกับคนใหม่ อาจจะยิ่งกลายเป็นปัญหามากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะได้เข้ามา 5 คน คนเชื่อว่า ถ้าไม่ขยายเวลาการจัดการเลือกตั้งออกไป ไม่มีทางจัดการเลือกตั้ง แล้วปัญหาจะจบลง เพราะหลายเรื่องที่กกต.ชุดที่ผ่านมาวางยาไว้เยอะ ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นกกต.จังหวัด หรือกกต.เขต รวมทั้งโครงสร้างในการบริหารงานกกต.

 

ดังนั้น เชื่อว่า ถ้า 5 คนที่เข้ามาใหม่ ต้องการที่จะขยายเวลาเลือกตั้งออกไป ก็สามารถทำได้ โดยอาจจะทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังครม.ว่า ไม่สามารถจัดการเลือกตั้ง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ จึงขอขยายเวลา

 

แหล่งข่าวระดับผู้บริหารของ กกต. เปิดเผยภายหลังจากที่เห็นรายชื่อ ผู้ที่ศาลฎีกาเสนอชื่อให้วุฒิคัดเลือกเป็น กกต. ว่า เท่าที่ดูก็เป็นคนที่มีความสามารถ แต่เกือบทั้งหมดเป็นผู้พิพากษา ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาในการทำงานได้ จริงอยู่ที่ กกต. มีกฎหมายกำหนดว่า สามารถขอให้หน่วยงานอื่นมาทำงานในการเลือกตั้งได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว งานการจัดการเลือกตั้ง เป็นงานเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม และเป็นการขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้ความสัมพันธ์ อย่างเช่น กกต. 2 ชุดที่ผ่านมา ที่การบริหารเลือกตั้ง มีนายยุวรัตน์ กมลเวชช หรือ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ซึ่งทั้งคู่มาจากกระทรวงมหาดไทย ทำให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ในเมื่อชุดใหม่เป็นผู้พิพากษาทั้งหมดเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้การประสานงานยากขึ้น

 

"วิธีการเลือกแบบนี้ทำให้มองได้ว่า เราคิดเรื่องการวินิจฉัยเป็นหลัก ซึ่งจริง ๆ การวินิจฉัยการเลือกตั้ง ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม และถือเป็นปลายทาง แต่เราก็ไม่สามารถละเลยต้นทาง อย่างเช่นเรื่องการมีส่วนร่วมกับองค์กรเอกชน หรือการบริหารจัดการการเลือกตั้งได้ เราคิดแค่ว่า ทำปลายทางให้ดี แล้วต้นทางก็จะดีไปด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไร เมื่อมีคนใหม่เข้ามาบริหาร เราก็ต้องเชื่อใจและไว้ใจ"แหล่งข่าว กล่าว

 

ที่มา: http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท