United Nations : ใครช่วยเอาองค์กรนี้ไปทิ้งถังขยะทีเถอะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

Uncensored

 

โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย

 

 

 

           

10 สิงหาคม : สงครามและอาชญากรรมของอิสราเอลยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด ในเลบานอน เป็นวันที่ 30 ในกาซา เป็นวันที่เท่าไหร่....อาจจะไม่มีใครสนใจที่จะนับอีกแล้ว  

 

ผ่านไปกว่า 1,000 ศพ กว่า 3,000 ผู้บาดเจ็บ กว่า 900,000 ผู้อพยพลี้ภัย กว่า 2 พันล้านดอลลาร์สำหรับความล่มจมล้มละลายของประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่ง ยังจะมีใครเชื่ออยู่อีกหรือเปล่าว่า...ทั้งหมดนี้อิสราเอลทำเพราะต้องการช่วยทหารที่ถูกจับเป็นตัวประกัน 2 คน?

 

หลายสิบปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ในโลกถูกหลอกให้เชื่อว่า โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า "ประชาคมโลก" และ "กฎหมายระหว่างประเทศ" ถ้าจะมีความจริงบางอย่างที่สงครามเลบานอนสามารถหยิบยื่นให้กับเราได้ มันกำลังบอกผู้คนส่วนใหญ่ว่า "ตื่นจากความฝัน" ซะทีเถอะ

 

อย่าหลอกตัวเองต่อไปอีกเลย

 

 

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการเจรจาเกือบเดือน ผู้นำไม่กี่คนของโลก สมาชิกถาวรของ "คณะมนตรีความมั่นคง" ได้นำเสนอร่างแรกของ "แผนสันติภาพ" ระหว่างอิสราเอล-เลบานอนออกมา : ไม่มีการหยุดยิงทันที ไม่มีการถอนทหารของอิสราเอล และไม่มีการคืน "ชีบา ฟาร์มส์"  ให้เลบานอน ฯลฯ  และนี่คือสิ่งที่พวกเขา "กล้าเรียก" มันว่า แผนสันติภาพ  

 

ขณะที่ผู้นำไม่กี่คนเหล่านี้ กำลังเล่นลิเกเรื่อง "เจรจาสันติภาพ" กันไปเรื่อยๆ และไม่รีบร้อนนั้น อิสราเอลยังคงโจมตีเลบานอน (ประเทศที่ไม่มีพลเรือน) ต่อไป อย่างไม่สนใจเสียงประท้วงสงครามเช่นกัน

 

อิสราเอลยังยืนยันว่า จะเดินหน้าโจมตีต่อไปเรื่อยๆ และจะยังไม่มีการถอนทหารใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าผลการเจรจาและมติยูเอ็นจะออกมาอย่างไรก็ตาม

 

30 วันผ่านไป ยังไม่มีใครมองเห็นตอนจบของสงครามตะวันออกกลางรอบใหม่ แต่สิ่งที่คนทั้งโลกเริ่มมองเห็นมากขึ้นก็คือ เนื้อแท้ของยูเอ็น...หลังจากมายาคติที่ห่อหุ้มไว้เริ่มหลุดลอกออกไปมากขึ้นทุกที

 

Useless Nations…United Illusions....ใครช่วยเอาไปทิ้งถังขยะทีสิ o

 

0 0 0

 

ยูเอ็นหมดสภาพ - เพิ่งเป็นวันนี้ หรือว่าเป็นมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว?

 

รอน เจคอบส์

3 สิงหาคม 2006 

 

ศพกำลังเพิ่มขึ้น บ้านเมืองเละเป็นซากมากขึ้น ขณะที่อิสราเอลยังคงทิ้งบอมบ์ที่อเมริกาให้มาตันแล้วตันเล่า ยิงกระสุนที่อเมริกาให้มานัดแล้วนัดเล่า ใส่ประชาชนชาวเลบานอนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอิสราเอลพูดว่า ใครก็ตามที่ยังเหลืออยู่ทางภาคใต้ของเลบานอน ไม่ได้อพยพไป อิสราเอลจะถือว่าคนๆ นั้นเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ถือว่า "เป็นการเล่นตามกติกา" และประโยคนี้เองก็สามารถพูดใหม่ได้ว่า อิสราเอลขอเดินหน้าสังหารหมู่แบบไม่ต้องยั้งมือ

 

 

 

 

ระหว่างที่การสังหารนี้ดำเนินไป "โลกที่เป็นทางการ" ทั้งใบ...ก็เอาแต่นั่งดูกันไปเรื่อยๆ บางรายนั่งดูไป บีบมือไป ด้วยความทุกข์ทรมานใจ ขณะที่บางรายก็แอบเชียร์อิสราเอลอยู่อย่างเงียบๆ (ยกเว้นวอชิงตันไว้นิดนึง ที่เชียร์ไม่ค่อยเงียบ) อย่างไรก็ตาม อิสราเอล ผู้ซึ่งไม่เคยสนใจอยู่แล้วว่าโลกใบนี้จะคิดยังไง ก็ยังคงแสดงนิสัยเดิมๆ ของมันออกมาตามปกติ หลังจากโจมตีจุดที่มันรู้อยู่แล้วว่าบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งสถานีของยูเอ็น และเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นก็ได้ขอร้องหลายรอบแล้วให้อิสราเอลหยุดโจมตี แต่ถึงอย่างนั้น หลัง 6 ชั่วโมงผ่านไป กองทัพอิสราเอลก็ยิงถล่มสถานีของยูเอ็นและสังหารเจ้าหน้าที่ยูเอ็น 4 คนเข้าจนได้ เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ของยูเอ็นไม่ได้ติดอาวุธ ไม่มีอำนาจที่จะต่อกรใดๆ พวกเขาเป็นแค่เป้านิ่ง...ที่พร้อมจะถูกยิงได้ง่ายๆ ตลอดเวลา

 

 

และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็นับเป็นภาพสะท้อนที่ดี ที่จะทำให้เรามองเห็นสัจธรรมบางอย่างในการทำงานของยูเอ็น ว่าด้วยกรณีที่เกี่ยวข้องกับอเมริกาและอิสราเอล ก็เพราะโครงสร้างที่เป็นลำดับชั้น การให้น้ำหนักสมาชิก "คณะมนตรีความมั่นคง" ที่ไม่เท่าเทียมกันนี่เอง แม้แต่มติยูเอ็นที่ชาติอื่นๆ ให้การสนับสนุนอย่างท่วมท้น ก็สามารถถูกวอชิงตันวีโต้ล้มไปได้ง่ายๆ แค่จุดนี้จุดเดียว ก็รับประกันได้แล้วว่า อิสราเอลจะไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ สำหรับความผิดหรืออาชญากรรมที่ทำไว้ ตราบใดที่มันมีวอชิงตันเป็นพันธมิตรที่ซื่อสัตย์รู้ใจตลอดกาล พูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ อิสราเอลสามารถจะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ โดยไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะมีการตอบโต้จากประชาคมโลก

 

เร็วๆ นี้ ท่ามกลางสถานการณ์อิสราเอลโจมตีเลบานอน และยูเอ็นทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง มีคนถามผมว่า คิดว่างานนี้...ยูเอ็นหมดสภาพไปเลยมั้ย หมดความน่าเชื่อถือไปเลยมั้ย ผมตอบไปว่าไม่ ยูเอ็นไม่ได้หมดความน่าเชื่อถืออะไรในวันที่อิสราเอลเริ่มสงคราม เพราะสำหรับผม ความน่าเชื่อถือของยูเอ็น...หมดไปตั้งนานแล้ว หลายสิบปีมาแล้ว ตั้งแต่ยูเอ็นล้มเหลวที่จะบังคับใช้  "มติยูเอ็นที่ 242" กับอิสราเอล ซึ่งมีใจความสำคัญคือ เรียกร้อง "การถอนทหารอิสราเอลออกจากดินแดนที่อิสราเอลยึดครองมาได้ ในความขัดแย้งเร็วๆ นี้" (สงครามหกวัน) รวมทั้ง "หยุดการอ้างสิทธิและการกระทำที่ก้าวร้าว" ด้วยเช่นกัน - - อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางคนไม่ค่อยเห็นด้วยกับตรงนี้เท่าไหร่ เพราะสำหรับพวกเขา ความน่าเชื่อถือของยูเอ็นดูเหมือนจะเสื่อมสลายไปก่อนหน้านั้นหลายปี

 

 

ตราบใดที่อิสราเอลยังสามารถยึดครองดินแดนที่ไม่ได้เป็นของมัน โดยปราศจากการแซงก์ชันหรือตอบโต้ของยูเอ็น ยูเอ็นย่อมไม่น่าเชื่อถือ ตราบใดที่อิสราเอลยังขโมยที่ดินคนอื่น เพื่อมาสร้างที่อยู่อาศัย ให้คนของตัวเองย้ายเข้ามาตั้งรกราก ยูเอ็นย่อมไม่น่าเชื่อถือ ตราบใดที่ทหารของอิสราเอลยังโจมตีและฆ่าพลเรือนได้ตามอำเภอใจ ยูเอ็นย่อมไม่น่าเชื่อถือ  และตราบใดที่รัฐบาลอิสราเอล สามารถผลิต-ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูง ได้ โดยไม่มีการลงโทษอะไร ขณะที่เพื่อนบ้านของมันต้องถูกโจมตีและบุกทำลาย เพียงเพราะแค่ถูกสงสัยว่าจะมีอาวุธนี้เท่านั้น ตราบนั้น...ยูเอ็นย่อมไม่มีน้ำยาอะไรให้น่าเชื่อถือแม้แต่น้อย

 

ด้วยเหตุนี้ ความล้มเหลวครั้งล่าสุดของยูเอ็นในอันที่จะแก้ปัญหาครั้งนี้ จึงเป็นแค่อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ช่วยตอกย้ำความเสื่อมสมรรถภาพของยูเอ็นให้เห็นชัดขึ้นเท่านั้น ในกรณีที่อิสราเอลโจมตีสถานีของยูเอ็น ความไร้น้ำยาของยูเอ็นปรากฏชัดเจน เมื่อ โคฟี อันนัน ต้องยอมอ่อนข้อแก้ไขถ้อยคำในแถลงการณ์เสียใหม่ ลบคำเดิมที่ว่าอิสราเอลโจมตี "โดยเจตนา" ออกไป ใครๆ ต่างก็เดาได้ว่า มันคงต้องเกี่ยวข้องกับความกดดันจากอเมริกาอยู่แล้ว อเมริกายังคงกำหนดทิศทางส่วนใหญ่ของยูเอ็น และอิสราเอลแทบจะลอยตัวจากการถูกประณาม ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่ว่าจะมีพฤติกรรมอันธพาลแค่ไหน

 

ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ไม่เพียงแต่อิสราเอลจะรู้ว่ามีสถานีของยูเอ็นตั้งอยู่ที่นั่น แต่มันยังได้รับคำขอร้องให้หยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง ในงานแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยรู้มาก่อน และไม่ยอมให้ยูเอ็นเข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนที่จะมีขึ้นด้วย และตอนจบของเรื่องนี้ก็พอเดาได้ไม่ยาก จากประวัติของอิสราเอลที่ผ่านๆ มา อิสราเอลจะทำลายหลักฐานทุกอย่าง  แล้วก็เดินหน้าทำอะไรตามอำเภอใจต่อไป ยูเอ็นผู้เสื่อมสมรรถภาพ...ก็คงไม่มีปัญญาจะเอาเรื่องได้

 

 

 

และถ้าอิสราเอลกลับมายึดครองเลบานอนรอบใหม่ คำถามที่จะตามมาก็คือ คณะมนตรีความมั่นคงจะกล้าบังคับใช้ "มติยูเอ็นที่ 1559" กับกองทัพของเทลอาวีฟหรือไม่? อย่างที่รู้กันว่า มติยูเอ็นฉบับนี้ ซึ่งระบุให้ปลดอาวุธกองกำลังทั้งหมดของเลบานอนและให้ทหารต่างชาติออกไปจากประเทศนั้น มีเป้าหมายที่จะเล่นงานเฮซบอลเลาะห์กับกองทัพของซีเรีย ปีที่แล้ว อเมริกากับฝรั่งเศสเป็นผู้ผลักดันมติยูเอ็นฉบับนี้ และมันก็ได้รับการสนับสนุนท่วมท้นเป็นเอกฉันท์จากคณะมนตรีความมั่นคง อย่างไรก็ตาม ถ้าอิสราเอลคิดจะกลับมายึดครองเลบานอนรอบใหม่ เป็นไปได้ว่า เราอาจจะได้เห็นความไร้น้ำยาของยูเอ็นกันอีกครั้ง

 

แต่จะว่าไป ความไร้น้ำยา-ไร้อำนาจ-ไร้สมรรถภาพของยูเอ็น มันก็ชัดเจนตำตาอยู่แล้วตอนนี้ อันเนื่องมาจากข้อตกลงเพื่อหยุดยิงฉบับเดียวที่คณะมนตรีความมั่นคงจะโหวตให้ผ่านไปได้อย่างไร้อุปสรรค ก็คือข้อตกลงที่เขียนขึ้นโดย อักษะ "วอชิงตัน-เทลอาวีฟ-ลอนดอน" เท่านั้น ขณะที่การตัดสินใจดังกล่าวคงจะทำให้ยูเอ็นมีเครดิตน่าเชื่อถือดูดีอย่างมากในสายตาของ 2-3 เมืองหลวงที่ว่า แต่สำหรับเมืองอื่นๆๆๆ ที่เหลือในโลก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะให้ผลตรงกันข้าม o

 

 

.....................................................

รอน เจคอบส์ (Ron Jacobs) นักเขียนประจำของ CounterPunch เจ้าของผลงานหนังสือ  The Way the Wind Blew: a history of the Weather Underground บทความชิ้นนี้ของเขา Now, When Exactly Did the UN Lose Its Street Cred? ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Zaman Daily อิสตันบูล ตุรกี - ส่วนที่แปลมานี้มีการตัดทิ้งบางส่วนเพื่อให้กระชับ

.....................................................

 

 

(คล้ายๆ) คำอธิบายท้าย

 

เผด็จการยูเอ็น มติยูเอ็น และกระดาษเช็ดก้น

อุทัยวรรณ เจริญวัย

 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีมติยูเอ็น (มติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ - UN Resolution) มากมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล แต่ไม่สามารถบังคับใช้กับอิสราเอลได้ ("พ่อยูเอ็น" ไม่ยอมให้ "ยูเอ็น" บังคับใช้) และต่อไปนี้เป็นตัวอย่างมติยูเอ็น 2 ฉบับที่ความล้มเหลวในการบังคับใช้มัน...ถือเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางจนถึงทุกวันนี้

 

มติยูเอ็น 242 

ผ่านโหวตเป็นเอกฉันท์โดยคณะมนตรีความมั่นคง ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1967 หลังจาก "สงครามหกวัน" สิ้นสุดได้ไม่นาน เซคชันแรกของมตินี้ระบุชัดถึง "ความไม่สามารถยอมรับได้ ของการได้มาของดินแดนในช่วงสงคราม" (หรือแปลง่ายๆ ว่า ดินแดนที่ไปยึดครองมาด้วยกำลังในช่วงสงครามนั้น - ยูเอ็นไม่ยอมรับ) แต่เนื้อหาสำคัญที่สุดของมตินี้ ก็คือ เพื่อที่จะบรรลุ "สันติภาพที่คงทนถาวรและอยู่บนความยุติธรรม" ให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรการที่ระบุไว้ หนึ่งในนั้นได้แก่ "การถอนทหารอิสราเอลออกจากดินแดนที่อิสราเอลยึดครองมาได้ ในความขัดแย้งเร็วๆ นี้"

 

แต่จนถึงทุกวันนี้ ผ่านมาจะสี่ทศวรรษแล้ว อิสราเอลยังคง "ดื้อด้านยึดครอง" ทั้ง กาซา เวสแบงก์ และ ที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights - ของซีเรีย) เหมือนไม่เคยมีมตินี้เกิดขึ้น

 

 

มติยูเอ็น 338

ผ่านโหวตเป็นเอกฉันท์ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 1973 เป็นความพยายามของยูเอ็นที่จะจบ "สงครามยมคิปปูร์" (Yom Kippur War) ที่เกิดขึ้นตอนนั้น มตินี้มีเนื้อหาสั้นๆ เรียกร้องให้อิสราเอลและเพื่อนบ้านหยุดต่อสู้กันทันที และระบุด้วยว่า หลังจากหยุดยิงแล้วให้ "เริ่มบังคับใช้" มติยูเอ็นฉบับที่ 242 "โดยด่วน"

 

เกือบสี่ทศวรรษ ที่อิสราเอลหลีกเลี่ยง บิดพลิ้ว หาข้ออ้างไม่ยอมปฏิบัติตามมติ 2 ฉบับนี้ที่มีข้อความง่ายๆ เขียนไว้ชัดเจน (เกิดมาชาตินี้ อิสราเอลรู้จักแต่มติยูเอ็น 1559 ฉบับเดียวที่คิดจะปลดอาวุธเฮซบอลเลาะห์) อิสราเอลยังคงใช้กำลังก้าวร้าวทางทหาร และขโมยที่ดินของปาเลสไตน์มาเป็นของตัวเองอยู่ทุกวัน ด้วยเหตุนี้ มติยูเอ็นจำนวนมากจึงมีค่าแค่ "กระดาษเช็ดก้น" (ลายการ์ตูน) เท่านั้น และปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ ก็ด้วยความอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อจากโครงสร้างของคณะมนตรีความมั่นคงที่ฉ้อฉลและไม่เป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่แรก

 

โครงสร้างอุบาทว์ล้าหลังของคณะมนตรีความมั่นคง

เพราะยูเอ็นเป็นองค์กรที่เกิดจากซากขี้เถ้าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โครงสร้างของคณะมนตรีความมั่นคง จึงตอบสนองผู้มีอำนาจที่ชนะสงครามโลกตอนนั้น สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงมี 2 ประเภทหรือ 2 วรรณะไม่เท่าเทียมกัน ประเภทแรกคือเผด็จการ 5 ชาติมหาอำนาจหลังสงครามได้แก่ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย ประเภทที่ 2 ได้แก่ตัวประกอบอดทน ปัจจุบันมีจำนวน 10 ชาติ หมุนเวียนกันเข้ามาทำงานประเทศละ 2 ปี ซึ่งสมาชิกกลุ่มนี้ได้แต่เล่นบทตัวประกอบไปวันๆ เพราะหนึ่งเสียงของตัวเองไม่มีความหมายจริง

 

 

ต่อให้ 10 ประเทศสมาชิก-ไม่ถาวร เป็นผู้เสนอและโหวตรับมติยูเอ็นฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างท่วมท้น 10 เสียง แต่ถ้า 1 ในเผด็จการ  5 ชาติ โหวตไม่เห็นด้วย หรืออย่างที่เรียกว่า "ใช้อำนาจวีโต้" มติยูเอ็นฉบับนั้นย่อมตกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความขัดแย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นในโลกก็ตาม (ยังไม่นับโอกาสที่มหาอำนาจจะล็อบบี้-ติดสินบนชาติเล็กๆ 10 ชาติให้เล่นบทที่ตัวเองต้องการได้อีกต่างหาก) มติยูเอ็นที่จะผ่าน ต้องการอย่างน้อย 9 เสียง และนั่นหมายถึง ชาติมหาอำนาจ 5 เสียงต้องตกลงเห็นชอบอย่างพร้อมเพรียง

 

อย่างไรก็ตาม การยุติความขัดแย้งในโลก ไม่ได้เป็นเรื่องของการหาข้อตกลงหรือวางแนวทางกว้างๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องการนำไปปฏิบัติอีกด้วย ด้วยเหตุนี้มติยูเอ็นบางฉบับที่อุตส่าห์หลุดรอดการวีโต้มาได้ จึงพร้อมจะเป็นมติที่ไร้ความหมายได้อีกรอบ

 

จากประวัติการทำงานของยูเอ็นที่ผ่านมา ในกรณีที่ชาติหนึ่งชาติใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่เคารพมติยูเอ็น คณะมนตรีความมั่นคงจะใช้อำนาจตอบโต้เท่าที่มีอยู่เข้าจัดการในรูปแบบต่างๆ กัน และหนึ่งในมาตรการตอบโต้หรือมาตรการลงโทษยอดนิยมสุดฮิต (โดยเฉพาะในยุค 90) ก็คือ มาตรการแซงก์ชัน

 

มาตรการแซงชันคืออะไรได้บ้าง? โดยทั่วไป มาตรการแซงก์ชัน หมายถึงการตัดการค้าและการลงทุนประเทศเป้าหมายที่ต้องการลงโทษ กีดกันประเทศนั้นออกจากการซื้อขายสินค้ากับตลาดโลก บางครั้ง มาตรการแซงก์ชันอาจถูกใช้แบบเฉพาะเจาะจงก็ได้ อาทิ การแซงก์ชันสินค้าบางตัว เช่นอาวุธหรือน้ำมัน การตัดการจราจรทางอากาศ การระงับความสัมพันธ์ทางการทูต การขัดขวางการเดินทางหรือความเคลื่อนไหวของปัจเจกบุคคล การขัดขวางการลงทุน ตลอดจนการห้ามถอนเงินหรือการแช่แข็งบัญชีเงินฝากในต่างประเทศ

 

ประเทศที่มีความลุ่มหลงคลั่งไคล้ในมาตรการนี้อย่างรุนแรงก็คืออเมริกา 70% ของการลงโทษด้วยการแซงก์ชันมาจากการริเริ่มของอเมริกาประเทศเดียวเลย ในขณะที่ประเทศที่ถูกยูเอ็นลงโทษด้วยการคว่ำบาตรหรือแซงก์ชัน มีด้วยกันมากมายหลายประเทศ ในอิรัก เด็กอิรักกว่า 500,000 คน ต้องเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและภาวะขาดสารอาหาร อันเนื่องมาจากมาตรการแซงก์ชันของยูเอ็นภายใต้การนำของอเมริกาและอังกฤษ ที่ยาวนานเป็นเวลา 13 ปี ขณะที่การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและการไม่ปฏิบัติตามมติยูเอ็นของอิสราเอล...กลับ "ลอยนวล" ไร้การลงโทษใดๆ มาตลอดเวลาอันยาวนาน

 

ถึงแม้ยูเอ็นหรือสหประชาชาติจะประกอบด้วยหน่วยงานหลักถึง 6 ส่วน นอกจากคณะมนตรีความมั่นคงแล้ว ยังมี คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะภาวะทรัสตี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักเลขาธิการ และ สมัชชาใหญ่ (UN General Assembly) แต่อำนาจที่แท้จริงในการตัดสินชะตากรรมและความขัดแย้งสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่ที่คณะมนตรีความมั่นคง-หัวใจสำคัญของยูเอ็นเท่านั้น สมัชชาใหญ่ที่มีโครงสร้างเป็นประชาธิปไตย 192 ประเทศมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน เป็นแค่หน่วยงานที่ไร้อำนาจอย่างสิ้นเชิงในทางปฏิบัติ ขณะที่หน่วยงานด้านการพัฒนาสังคมและสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น (ส่วนที่ดีที่สุดของยูเอ็น) ก็มีหน้าที่หลัก "คอยเก็บกวาดรับใช้" ในสิ่งที่มหาอำนาจและลูกน้องในอุปถัมภ์ของมัน "ทำสกปรก" เอาไว้ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก

 

จากขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทั้งหมด อาจพูดได้ว่า คณะมนตรีความมั่นคง เป็นหน่วยงานที่มีฤทธิ์เดชสร้างสรรค์บันดาลหรือบ่อนทำลายสันติภาพของโลกโดยตรง

 

แต่กว่า 60 ปีที่ผ่านมา งาช้างไม่สามารถงอกจากปาก snoopy ได้ฉันท์ใด "สันติภาพที่คงทนถาวรและอยู่บนความยุติธรรม" ย่อมไม่สามารถงอกจากปากคณะมนตรีความมั่นคงภายใต้อำนาจเผด็จการ 5 ชาติได้

 

ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่า อเมริกาคือผู้บริจาครายใหญ่สุดของยูเอ็น (ประมาณ 22%) แผนปฏิรูปยูเอ็นใดๆ ที่ไม่กล้า "ปลดแอก" ตัวเองจากอเมริกา ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะมนตรีความมั่นคง ก็เป็นแค่อเดียสนุกๆ แก้เครียดของคนไม่กี่คน ที่ไม่สัมพันธ์กับโลกและไร้ความหมาย

 

ตราบใดที่ยูเอ็นไม่สามารถ "มีวิวัฒนาการ" มาเป็นที่อยู่ของประชาธิปไตย และไม่สามารถส่งมอบสันติภาพตามความต้องการของ "เสียงส่วนใหญ่" ในประชาคมโลกได้ ตราบนั้น...ที่ที่เหมาะกับมันมีแห่งเดียว คือ "ถังขยะ"  o

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท