มัทนา พนานิรามัย : สังคมจะเตรียมตัวอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้อย่างมี "คุณภาพ" ?

* หมายเหตุ : การนำเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน" จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2550 ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

หัวข้อเสวนาในช่วงเช้า คือ "แรงงานและสวัสดิการแรงงาน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก"

การนำเสนอในประเด็นต่างๆ ได้แก่ "แรงงานนอกระบบ" โดย ผศ.ดร.วัชรียา โตสงวน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "แรงงานข้ามชาติ" โดย ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "คนจนในชุมชนเมือง" โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ., "สวัสดิการแรงงาน" โดย ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ., "ระบบประกันสังคม" โดย อภิชาต สถินิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

หัวข้อเสวนาในช่วงบ่าย คือ "สวัสดิการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก" มีการนำเสนอประเด็น ได้แก่ "มาตรการทางการคลังเพื่อคนยากจนและด้อยโอกาส" โดย ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม" โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "การคลังท้องถิ่นกับสวัสดิการสังคม" โดย รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ" โดย รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "นโยบายสังคมและสวัสดิการสังคม" รศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล คณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ มธ., "องค์กรการเงินชุมชน" โดย คุณภีม ภคเมธาวี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

ทั้งหมดนี้ "ประชาไท" จะทยอยนำเสนอ โปรดติดตาม

 

 

"ถึงจุดหนึ่งคุณก็จะไปนอนแบ็บอยู่ที่เตียงโรงพยาบาล และถึงอีกจุดหนึ่งไม่ว่าอะไรก็ไม่รู้เรื่อง นี่คือวิถีชีวิตที่เกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ มันก็จะเป็นลักษณะอย่างนี้ ดังนั้นมันถึงต้องมีการสร้างความเตรียมพร้อมที่จะให้ผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี"

 

นอกเหนือจาก "ความยากจน" ที่หลายฝ่ายมองอย่างมีความหวังว่าเป็น "ปัญหา" ที่พอจะแก้ไขได้ แต่ "การสูงวัย" ของประชากร เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่อาจหลีกเลี่ยง และต้องยอมรับว่าการสูงวัยของประชากรก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน

 

ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ได้เสนอประเด็น "สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ" เพื่อหาทางรับมือกับการสูงอายุของประชากร ในแง่ของการตั้งคำถามกับหลักประกันสุขภาพและกองทุนเพื่อผู้สูงอายุเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันว่า จะพัฒนาอย่างไรให้มีความครอบคลุมถ้วนหน้า ที่สำคัญก็คือ หลักประกันเพื่อผู้สูงอายุจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก

 

0 0 0

 

"สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ"

รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

มีหลายประเด็นที่หลายท่านพูดไปแล้ว แต่ว่าดิฉันก็จะมาเก็บเอาประเด็นที่แตกต่างจากของคนอื่น และตั้งใจมาตั้งแต่ต้นว่าจะพูดถึง 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ ผลกระทบของการสูงอายุของประชากรต่อเศรษฐกิจ โดยมองในระดับรวม เรื่องที่สอง คือ การเตรียมตัวของสังคมเพื่อรองรับภาระที่จะเกิดจากการสูงอายุของประชากร

 

หลายท่านพูดไปแล้วเรื่องการสูงอายุของประชากร ดิฉันก็เลยจะขอเข้าไปในรายละเอียดเรื่อง "การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงประชากร" หรือ Population dividend อีกนิดหนึ่ง ที่เรามีปัญหาเรื่องสูงอายุ สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงประชากร (Demographic transition) ซึ่งมันเกิดทั่วโลก มีที่เกิดช้าหน่อยก็คือที่แอฟริกา ไม่เคยเกิดสักที มันเกิดปัญหาเรื่องโรคเอดส์ขึ้นมาซะก่อน มันประหลาดกว่าคนอื่น แต่ที่อื่นนี่เกิดมาหมดแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงประชากรก็ืำทำให้สภาวะประชากรของประเทศสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน

 

ขั้นตอนแรก ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง มีเด็กเยอะแยะ ซึ่งเราเห็นกันอยู่ตลอดเวลาในรูป "พีระมิดประชากร" หรือ Population pyramid ซึ่งเป็นรูปเจดีย์ฐานใหญ่ แต่เมื่อทั้งอัดราเกิดและอัตราตายลดลง มันก็จะมีขั้นตอนเวลาหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นขั้นตอนแห่ง Window of opportunity หรือ "หน้าต่างแห่งโอกาส" คือเป็นขั้นตอนที่มีสัดส่วนของคนในวัยทำงานสูง ในขณะที่สัดส่วนของวัยเด็กเริ่มลดลง และสัดส่วนของวัยสูงอายุก็ยังไม่มากนัก เพราะฉะนั้น ในสังคมที่มีขั้นตอนนี้เกิดขึ้น จะมีคนในวัยทำงานสูงเมื่อเทียบกับคนที่เป็นภาระ ซึ่งขั้นตอนนี้ ทำให้สิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นการปันผลประชากรก็ดี หรือหน้าต่างแห่งโอกาส มันก็จะสื่อไปในเรื่องดีทั้งนั้น

 

มีการศึกษามากมายที่บอกว่า ถ้าสังคมใช้โอกาสอย่างถูกต้องในขั้นตอนนี้ เช่น มีนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง จะทำให้ความเป็นอยู่ของประชากรก้าวขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว เกาหลีก็ดี ฮ่องกง ไต้หวันก็ดี แม้กระทั่งสิงคโปร์ หรือประเทศ 5 เสือทั้งหลายทั้งปวงนี่ ช่วงที่ก้าวกระโดดล้วนแต่เป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากหน้าต่างแห่งโอกาสทั้งสิ้น

 

ประเทศไทยเราก็อยู่ในช่วงนี้ ที่กำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากตรงนี้เหมือนกัน แต่ว่าจังหวะแบบนี้มันไม่ได้อยู่ถาวร ถึงสักพักหนึ่งแล้ว สัดส่วนของวัยทำงาน เมื่อเทีียบกับวัยที่เรียกไปแล้วว่าเป็นวัยที่เป็นภาระ อย่างเด็กกับผู้สูงอายุ มันก็จะไม่เพิ่มแล้วในส่วนของวัยเด็ก แต่จะมาเพิ่มที่วัยสูงอายุ ซึ่งจริงๆ แล้ว ในช่วงประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเรากำลังอยู่ในช่วงหน้าต่างแห่งโอกาส และเราได้รับประโยชน์จากตรงนั้นมากนะคะ

 

ทีนี้ เมื่อเราพูดถึงการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงประชากร หรือ Population dividend ดิฉันขอแยกแยะให้ละเอียดลงไปอีกนิดหนึ่ง คือการเก็บเกี่ยวที่ว่านั้นมันมี 2 ระลอกด้วยกัน โดยระลอกแรกเขาเรียกว่า First population dividend ประโยชน์ของมันเกิดจากการที่สัดส่วนของประชากรในวัยทำงานเพิ่ม ดังที่ดิฉันพูดไปเมื่อสักครู่นี้ เกิดจากตรงนี้เพียวๆ เลย และมันก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าคุณจะบริหารประเทศดีหรือไม่ดีก็ตาม ประโยชน์ตรงนี้มันก็เกิด แต่ว่าน่าเสียดายที่มันเกิดเพียงแค่แวบเดียวแล้วมันก็หมดไป เกิดครั้งเดียว one shot ไม่มีต่อเนื่องอะไรไปที่อื่น นั่นคือ First population dividend

 

ส่วนการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงประชากรระลอกที่สอง (Second population dividend) นั้น เป็นเรื่องที่มีคนเริ่มพูดกันมากขึ้น มันเกิดจากอะไร? เกิดจากการที่คนวัยทำงานมีมาก เริ่มต้นรู้ว่าตัวเองจะต้องเริ่มออมสำหรับอนาคต เกิดมีอุปสงค์ (Demand) ของ "การออม" เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากตรงนี้กระทำได้สำเร็จ การออมของประเทศมันจะสูงขึ้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ก็ทราบอยู่แล้วว่าการออมกับการลงทุนมันเป็นของคู่กัน มันคนละด้านของเหรียญเท่ัานั้นเอง เพราะถ้าคุณสามารถที่จะใช้มันได้อย่างเป็นประโยชน์ case มันก็จะโตขึ้น มันก็สามารถจะไปเพิ่มความสามารถในการผลิต (Productivity) เพิ่มอะไรต่างๆ ได้ และจุดใหญ่ใจความก็คือการเพิ่มความสามารถในการผลิต ถ้าจะไปแก่งแย่งทรัพยากรจากตรงนั้นตรงนี้ตรงที่อื่น มันไม่ได้อะไรเท่าไหร่ เพราะมันอยู่ในอ่าง ถ้าคนหนึ่งได้มาก อีกคนหนึ่งก็ต้องได้น้อย

 

ต้องบอกว่าการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงประชากรระลอกที่สองมันไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และถ้าเกิดขึ้นแล้ว สามารถที่จะจัดระบบได้ดี มันจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปได้ยาวนาน และเราจะเชื่อมโยงผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงประชากรระลอกที่สองต้องได้น้อย อะไรต่างๆ ได้หรือเปล่านั้น มันเกี่ยวข้องกับที่ว่า เราจะสร้างหลักประกันให้กับผู้สูงอายุได้อย่างไรด้วย มันเกี่ยวกับหลักประกันต่อเนื่องกัน ซึ่งตรงนี้ดิฉันขอพูดย่อๆ เนื่องจากหลายคนได้พูดไปแล้ว ซึ่งหลักใหญ่ๆ คือการสร้างหลักประกันให้กับผู้สูงอายุในเรื่องการเงิน มันก็คือระบบกำหนดประโยชน์ทดแทนและไม่ต้องมีการออมไว้ล่วงหน้า (Pay-as-you-go) หรือไม่ก็ระบบการออมไว้ล่วงหน้า (Fully funded)

 

ระบบกำหนดประโยชน์ทดแทนฯ นั้น คือจากมือมาเข้าปากเลย แบบหาเ้ช้ากินค่ำ จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ คือจากคนทำงานส่งมาให้คนสูงอายุเมื่อไหร่ก็เอาไปใช้เมื่อนั้น มันไม่มีโอกาสในช่วงตรงที่หา ซึ่งถ้ามันเป็นแบบการออมไว้ล่วงหน้า ก็จะเป็นการหาแล้วเก็บ กว่าจะได้ใช้ก็อีกหลายสิบปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ พูดง่ายๆ ว่าระบบกำหนดประโยชน์ทดแทนมันไม่ได้ส่งเสริมการออม ทั้งสองระบบก็มีทั้งจุดดี-จุดด้อยอยู่เยอะ ซึ่งมันแตกต่างกัน แต่ว่าระบบการออมไว้ล่วงหน้า หรือ Fully Funded จะเป็นเรื่องการส่งเสริมการออม ซึ่งถ้าหากเราคิดว่าการออมเป็นประโยชน์ก็ต้องมาส่งเสริมเรื่องนี้ ถ้าเราจะสร้างระบบประกันเศรษฐกิจให้กับผู้สูงอายุ เราก็ต้องมาพยายามส่งเสริมตรงนี้ให้มันเกิดให้ได้ เพื่อว่าจะได้สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงประชากรตรงนั้นได้

 

ทีนี้ ดิฉันจะพูดถึง เรื่องที่สอง คือ "สังคมจะเตรียมตัวอย่างไรในการจะสร้างสวัสดิการให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้อย่างมีคุณภาพพอสมควร" ไม่ว่าคุณจะวัยไหนก็แล้วแต่ มันจะเข้ามาสู่วัยสูงอายุทุกคน แล้ววัยสูงอายุนี่มันเริ่มต้นจากการที่ตอนแรกๆ ออกจากงานก็ยังแข็งแรงอยู่ enjoy ชีวิตอยู่ ยังช่วยตัวเองได้ แต่ไปถึงจุดหนึ่ง จะเริ่มช่วยตัวเองได้น้อยลง ถึงจุดหนึ่งคุณก็จะไปนอนแบ็บอยู่ที่เตียงโรงพยาบาล และถึงอีกจุดหนึ่งไม่ว่าอะไรก็ไม่รู้เรื่อง นี่คือวิถีชีวิตที่เกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ มันก็จะเป็นลักษณะอย่างนี้ ดังนั้นมันถึงต้องมีการสร้างความเตรียมพร้อมที่จะให้ผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เขาพูดกันมานานแล้ว ว่ามันต้องมีหลายเรื่องด้วยกัน

 

เรื่องแรกที่มีความสำคัญที่สุด คือ เรื่องสุขภาพ และเรื่องที่ 2 คือ เรื่องความมั่นคงทางเศรษฐฏิจ เรื่องที่ 3 คือ เรื่องที่อยู่่อาศัย แม้ว่ามันจะมีเรืองที่เกี่ยวข้องกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว มันเป็นเรื่องของการที่ต้องมีคนดูแลในระยะยาว (Long Term Care) จะเป็นอย่างไร มีใครรับหรือเปล่า หรืออะไรอีกเยอะแยะ แต่ดิฉันคงจะไม่พูดถึงทุกเรื่อง เพราะมันยาวเกินไป ตรงนี้จะพูดถึงเฉพาะเรื่อง "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" เป็นหลัก

 

ในเรื่องของสุขภาพนั้น การที่เรามี "ประกันสุขภาพ" มันก็ช่วยแก้วิกฤตทางการเงินของผู้สูงอายุได้ในระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วมันก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด เหตุเพราะว่าัมันยังไม่ได้แก้ไข "การเข้าถึงบริการของผูู้สูงอายุ" สำหรับคนที่ขาดผู้ดูแล

 

ปัจจุบันนี้ ถ้าคุณมีเงินจริง การประกันสุขภาพมันแก้ไขเรื่องทางการเงิน (Financial) ไป คุณไม่ต้องห่วงตรงนั้น คุณสามารถเข้าถึงได้ แต่อย่างน้อยที่สุด คุณต้องมีคนพาไป แล้วอยู่บ้านมีคนดูแลหรือเปล่า มีคนจำนวนมากที่มีเงิน แต่ไม่มีคนพาไป เขาไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็มีการพูดกันเยอะว่า มันจะต้องมีการจัดระบบอะไรที่มันเป็นแบบเสร็จสิ้นที่เดียว หรือ one stop service หรือเปล่า ไม่ใช่ว่า จะเอ็กซเรย์ต้องเดินไปอีกตึกหนึ่ง พอจะตรวจเรื่องอื่นก็จะต้องไปอีกตึกหนึ่ง คือผู้สูงอายุที่มีลูกหลานก็ไปได้ แต่ต้องนึกถึงผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานด้วย

 

อีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่อง การมีคนดูแลในระยะยาว (Long term care) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมหาศาลในอนาคต การครอบครอง (Occupancy) เตียงในโรงพยาบาลของประเทศอย่างญี่ปุ่น เกือบครึ่งถูกยึดโดยผู้สูงอายุหมด และพวกนี้ไปไหนไม่ได้ ก็อยู่ตรงนั้นน่ะ รัฐบาลก็แบกภาระจนไม่ไหวแล้ว แต่ก็พยายามแบก แล้วก็โยนกลับไปให้ครัวเรือนรับ ครัวเรือนตอนนี้ก็บอกว่าไม่รับแล้ว รับไม่ไหวเหมือนกัน เวลามีคนพาผู้สูงอายุไปที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็ไม่ค่อยกล้ารับ เพราะกลัวว่าเขาจะไม่รับกลับ อะไรอย่างนี้เป็นต้น มันจะเริ่มมีเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ระบบเรื่องนี้สำคัญ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ได้เจอกับทุกคน แต่ในอนาคตมันจะเยอะขึ้นมาก ในตอนนี้ก็ห้า้ล้านเข้าไปแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องวางระบบให้ดี ต้องมีรายละเอียดอีกเยอะ

 

เรื่องเหล่านี้จะให้ใครเป็นคนจัด? ให้รัฐจัด หรือว่าเป็นเรื่องของตลาดจัด (Market) ซึ่งตลาดบางส่วนคงจัดได้ สำหรับผู้ที่มีความสามารถในการจ่าย (Ability to pay) แต่ว่าถึงกระนั้นก็ตาม รัฐก็มีหน้าที่ออกกฎระเบียบอะไรต่างๆ ให้มันเหมาะสม ซึ่งตอนนี้อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total fertility rate) มันคือ 1.5 พูดง่ายๆ คือว่า ถ้าในอนาคตต่อไปอีกไม่กี่ปี ภาวะเจริญพันธุ์ยังอยู่ในระดับนี้ ประชากรไทยจะเริ่มลด อย่านึกว่าจะเพิ่มตลอดนะคะ การที่จะแทนที่ (Replace) ตัวเองได้ มันต้องมีลูกสองคน แต่ขณะนี้มันไปไม่ถึงแล้ว มีแค่ 1.5 คน ในอนาคตไม่สามารถ replace ตัวเองได้แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐต้องคิด วางระบบ การที่มีลูกน้อยแบบนั้นมันทำให้ในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแลอย่างมาก เราไม่ได้พูดถึงว่าเราจะทำให้ประเพณีเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวถูกทำลายไป เพราะนั่นเป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นเองอยู่แล้ว

 

ในเมื่อมีลูกน้อยคนลงก็ทำให้จุดเสี่ยงที่จะไม่มีคนดูแลสูงขึ้น ถึงตรงนั้น พอคนที่มี Ability to pay ไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว เงินตรงนั้นก็ใช้ไม่ได้ โดนคนอื่นโกงไปหมด มีเรื่องการทำร้าย (Abuse) ผู้สูงอายุเยอะแยะไปหมด สังคมจะต้องมาพยายามคิดถึงการออกกฎระเบียบต่างๆ อย่างน้อยที่สุด สมมติว่ามีผู้จัดการมรดก (Trustee) ที่จะมาดูแลตรงนี้ได้ ให้เงินไปได้ แต่กฎระเบียบต่างๆ ตรงนี้ยังไม่มี เพราะฉะนั้นนี่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม ขอพูดผ่านๆ ไปแล้วกันว่ามันมีปัญหา แต่ัมันไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าสังคมต้องมาคุยกันให้มันจริงๆ จังๆ ว่าเราจะใช้ระบบแบบใดจึงจะมีประสิทธิภาพ (Efficient) ที่สุด

 

นักเศรษฐศาสตร์เราก็ต้องพูดว่า จะจัดอย่้างไรให้ต้นทุนมันถูกแล้วก็ได้ผล บางอย่างรัฐจัดอาจจะดี บางอย่างตลาดจัดก็จะดีกว่า แต่ว่าคุณต้องไปออกกฎระเบียบอะไรต่างๆ ให้มันสอดคล้อง นี่คือเรื่องสุขภาพ

 

ทีนี้มาพูดถึงเรื่อง "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" อันนี้เป็นผลจากงานวิจัยของดิฉันเอง ซึ่งทำสามปี มีรายละเอียดอะไรอื่นๆ เยอะ แต่ว่าสิ่งที่ดิฉันประมาณมา ดิฉันใช้ข้อมูลของการสำรวจรายได้รายจ่ายที่เขามีมาตั้งแต่ปี 1981 ถึงปี 2004 คือมีทั้งหมดประมาณ 11 ปี ก็ประเมินมาหมด สิ่งที่เราประเมินก็คือสิ่งที่ดิฉันแปลว่าเป็น "บัญชีการโอนประชาชาติ" (National Transfer Flow Account)

 

 

 

 

บัญชีการโอนประชาชาตินี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง? ข้อมูลที่ให้ ถ้าจะพูดอย่างย่อที่สุดก็คือพยายามเอาเรื่องอายุเข้าไปใส่ในบัญชีรายได้ประชาชาติ (National Income Account) ซึ่งเรามีอยู่เป็นประจำนั่นเอง แต่ว่าบัญชีรายได้ประชาชาติของเรานั้นไม่มีมิติของอายุเข้าไปเกี่ยวข้องเลย ยกตัวอย่างเช่น เรามีปริมาณการบริโภครวม หรือ Consumption ว่าเ็ป็นเท่าไหร่ แต่เราไม่รู้ว่าเป็น Consumption ของคนกลุ่มหรืออายุเท่าไหน เรามีการชดเชยรายได้โดยการขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่แรงงาน (Income Compensation to Labor) เยอะแยะ แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าตรงนั้นเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของใคร

 

เรามีการเก็บภาษี เรามีข้อมูลรายจ่ายของรัฐ (Government Expenditure) แต่เราก็ไม่เคยรู้ว่ารายจ่ายตรงนั้น ในที่สุดแล้วมันไปได้ประโยชน์กับคนกลุ่มไหน เพราะฉะนั้น ตรงนี้สิ่งที่อาจารย์ของดิฉันที่สหรัฐฯ พัฒนาขึ้นมา และเป็นโครงการที่ทำอยู่ใน 23 ประเทศด้วยกันในขณะนี้ สาระใหญ่ก็คือเอาเรื่องอายุเ้ข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีตัวเลขที่ขออธิบายนิดหนึ่งก็คือว่า ถ้าเราประเมินในสองระดับ คือ แบบรวมยอด (Aggregate) กับรายบุคคล (Per Capita) การประเมินแบบรายบุคคลนั้นจะให้ข้อมูลในฐานะที่ว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยมีรายได้ (Income) ต่อปีเท่าไหร่ บริโภคเท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขการบริโภค คือ 58,000 แต่ตรงนี้ต้องเรียนให้ทราบว่า เราเอารายจ่าย การบริโภคซึ่งมาจากของรัฐเข้ามาด้วย นี่คือส่วนที่เพิ่มเติม

 

ถ้าหากว่าดูในเรื่องของการบริโภคภาคครัวเรือนเฉยๆ ก็ทำได้ ตัวเลขในส่วนของภาคเอกชน (Private) ก็คือ 47,000 แต่ว่ามันก็ยังมีการบริโภคที่เกิดจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น รายการอะไรทั้งหลายทั้งปวงที่ภาครัฐอุดหนุน ซึ่งรายจ่ายในภาคครัวเรือนมันไม่ได้สะท้อนถึงการบริโภคที่แท้จริง เพราะฉะนั้นตรง Public นี่เราก็เอามาจากรายจ่ายของภาครัฐซึ่งใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เราก็พยายามทอนกลับไปว่าใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายต่างๆ เหล่านั้น

 

 

 

 

 

 

กล่าวโดยสรุปก็คือว่า ในปี 2004 การบริโภคต่อปีมันตกอยู่ที่ 58,000 เป็นการบริโภคภาคครัวเรือน เฉลี่ยต่อคน 47,000 และประชาชนได้รับการบริโภคนั้นผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐอีกประมาณ 50,000 กว่า รายได้จากแรงงาน (Labor income) ตกประมาณ 50,000 กว่า เพราะฉะนั้นปริมาณที่ขาด (Deficit) ก็คือขาดดุลประมาณ 8,000 บาท ตรงนี้ก็จะขอดูเป็นรายกลุ่มอายุนิดหนึ่ง ถ้าดูเป็นรายกลุ่มอายุก็จะเห็นได้ว่า อายุตั้งแต่ 0 ถึง 24 มีรายจ่าย 51,000 เป็นรายจ่ายของภาคครัวเรือน 35,000 ประมาณ 16,000 เป็นการใช้จ่ายที่บริโภคโดยการใช้จ่ายของภาครัฐ ตัวเลขที่มันสูงตรงนี้ก็คงเดาได้ คือใช้เรื่องการศึกษาส่วนใหญ่ แต่รายได้เฉลี่ยมันตกประมาณหมื่นกว่า เพราะฉะนั้น คนในกลุ่มอายุนี้โดยเฉลี่ยแล้ว ต่อปีก็จะขาดดุลผู้บริโภคอยู่ประมาณ 41,000

 

ในกลุ่มวัยทำงาน ถ้าคุณหาได้น้อยกว่าที่คุณบริโภค อยู่ตรงที่ประมาณ 27,000 ผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยแล้วก็คือผู้ที่บริโภคมากกว่าส่วนที่คุณหาได้หรือผลิตได้จากแรงงานของตัวคุณเองอยู่ 43,000 สามารถบอกได้ว่าทำไมคุณบริโภคได้มากกว่าส่วนที่คุณผลิต มันมาจากเครื่องมือหนึ่ง คือว่าใครสะสมสินทรัพย์ไว้ก็ได้รายได้จากสินทรัพย์มาโปะ ซึ่งตรงนี้เรียกว่า Asset based re-allocation ตรงนี้อาจจะเป็นส่วนรายได้จากสินทรัพย์ตอนที่คุณหาได้มากกว่าการบริโภค คุณเก็บเอาไว้ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการออม พอมาถึงจุดที่คุณหาได้้น้อยกว่ารายได้จากสินทรัพย์ที่หาได้ไม่พอ คุณก็ขายสินทรัพย์ได้ ก็รวมอยู่ตรงนี้หมด ที่คุณออมไว้ก็อยู่ตรงนี้หมด

 

ช่องทางอีกอันหนึ่งที่ได้ก็คือได้โดยการโอนมาจากที่อื่น แน่นอนว่าในวัยเด็กก็จะมีครอบครัวเป็นคนโอนให้เสียส่วนใหญ่ หรือโอนผ่านทางภาครัฐ อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่คือสิ่งที่พยายามจะประเมินเข้ามา ตารางต่อไปจะเป็นภาพของการประเมินแบบรวมยอด (Aggregate) ก็คือเอาจำนวนประชากรในกลุ่มอายุนั้นๆ คูณด้วยค่าเฉลี่ย per capita ของกลุ่มอายุนั้นๆ ก็จะได้เป็นอย่างนี้ แถว total ก็เอามาจากบัญชีรายได้ประชาชาติเลย ก็คือเราใช้ตัวนั้นเป็นตัวคุมยอดอีกที

 

ทีนี้ก็อย่างที่ดิฉันเรียนว่า เมื่อคุณผลิตได้หรือหาได้ รายได้จากแรงงานของคุณน้อยกว่าสิ่งที่คุณบริโภค มันจะกระทำได้อย่างไร ก็โดยวิธีการโอนเงินโอนจากภาคเอกชน (Private transfer) หรือเงินโอนจากรัฐ (Public transfer) หรือมิฉะนั้นก็คือการจัดการด้านสินทรัพย์ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว

 

เมื่อเปรียบเทียบวิธีการปิดงบขาดดุลรายได้ของคนไทย ของผู้สูงอายุไทย กับการปิดงบของประเทศอื่นๆ เขา ก็จะเห็นได้ว่าของไทยเรานั้นมันมี 3 ตัวด้วยกันที่พึ่งพา ก็อย่างที่ดิฉันเรียนแล้วก็คือ พึ่งเงินโอนจากครัวเรือน  (Family transfer) หรือจริงๆ แล้วก็คือเงินโอนจากภาคเอกชน (Private transfer) กับเงินโอนจากรัฐ (Public transfer) หรือพึ่งรายได้จากสินทรัพย์ (Asset based re-allocation) ซึ่งก็จะพบว่าประเทศไทยนั้น ผู้สูงอายุของไทยพึ่งพาี่รายได้จากสินทรัำพย์กันเยอะ พึ่งพาครอบครัวนี่ก็็ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้และไต้หวัน แต่ถ้าถามว่าผู้สูงอายุไทยได้รับเงินโอนจากรัฐมากน้อยแค่ไหน ต้องบอกว่าเราแทบจะไม่ได้เลย น้อยมาก เมื่อเทียบกับเกาหลีหรือเทียบกับไต้หวัน จะเห็นว่าเรารับน้อยมาก แต่ผู้สูงอายุของเขาจะได้้รับเงินโอนที่ผ่านทางภาครัฐมากกว่าเยอะเลย

 

นี่ก็เป็นการมองในภาพคร่าวๆ ว่าวิธีการที่ผู้สูงอายุเขาอยู่กันยังไงในอดีต ในปี 2004 นี่ก็คือใช้สินทรัพย์ของตัวเองประมาณครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็คือพึ่งพาครอบครัว คร่าวๆ เป็นแบบนั้น การที่รัฐเข้ามาช่วยเหลือ หรืออาจจะไม่ใช่การช่วยเหลือ แต่เป็นการโอนผ่านรัฐนั้น เมืองไทยยังมีค่อนข้างน้อย แต่ก็ถือว่ามีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ตรงนี้ดิฉันต้องเรียนให้ทราบนิดนึงว่า เนื่องจากเราศึกษาข้อมูลจากหลายประเทศ เราจึงสามารถเปรียบเทียบรูปแบบพวกนี้ระหว่างประเทศได้ เราจะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุในประเทศ อย่างเช่น อเมริกา หรือญี่ปุ่น มีรายจ่ายที่สูงขึ้นเป็นพิเศษ โอเคว่าเด็กแรกเกิดนี่รายจ่ายยังไม่ค่อยเยอะ มันก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา ในวัยเรียนรายจ่ายก็จะเพิ่มสูง และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นมา บอกได้เลยว่ามันคือรายจ่ายเรื่องสุขภาพทั้งนั้น

 

ยิ่งมีเทคโนโลยีเรื่องการรักษาพยาบาลสูงขึ้นเท่าไหร่ รายจ่ายผู้สูงอายุก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น ซึ่งของไทยเรานี่จะค่อยๆ เพิ่ม แต่ว่าของอเมริกานี่เพิ่มแบบเยอะมาก ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของระบบการประะกันสุขภาพด้วยว่า คุณจะให้ระบบประกันอย่างไร ยิ่งมีประกันโดยที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีอะไรเลย รายจ่ายมันก็ไม่มีเพดาน มันก็ขึ้นไปได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของการประกันมันก็ต้องคำนึงถึงว่า ทุกอย่างมันอาจจะดีหมดในเรื่องการสร้างประกัน แต่ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral hazard) อะไรต่างๆ ด้วย ขนาดของอเมริกาซึ่งมีการร่วมจ่าย (Co-payment) ไม่ใช่น้อย แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังพุ่งขึ้นไปเยอะมาก ซึ่งตรงนี้ ที่เราพูดกันทั่วๆ ไปว่าวัยพึ่งพิงนั้นคือ 0-15 จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอก คนไทยนี่นะ พึ่งตัวเองไม่ได้หรอกจนกระทั่งถึงอายุ 25 โดยเฉลี่ย และสำหรับคนที่เรียนเยอะๆ 25 แล้วก็อาจจะยังพึ่งตัวเองไม่ได้ แต่อันนี้ก็เป็นค่าเฉลี่ยนะคะ คือก่อนวัย 25 เป็นลักษณะของวัยที่บริโภคเยอะกว่าส่วนที่คุณผลิตได้ทั้งนั้น ถ้าจะพูดว่ายากจน พวกนี้ก็ยากจนทั้งหมด เพราะถ้าคุณตีความว่าคนยากจนคือคนที่บริโภคมากกว่าส่วนที่ตัวเองหาได้ เพราะฉะนั้นพวกนี้มันจนหมดน่ะ แต่บังเอิญว่าการจนแบบเด็กมันไม่ีมีปัญหา เพราะเงินโอนจากครอบครัวมันมีเยอะมาก อะไรอย่างนี้เป็นต้น

 

ส่วนผู้สูงอายุนั้น เริ่มพึ่งตัวเองไม่ได้เมื่ออายุ 57 โดยเฉลี่ย และปรากฏว่าวัยที่พึ่งตัวเองไม่ได้มันลดลงเรื่อยๆ ในอดีตนั้นผู้สูงอายุเริ่มพึ่งตัวเองไม่ได้เมื่ออายุ 60 แต่ตอนนี้มันเริ่มลดลง เหตุผลก็เพราะว่าออกจากงานเร็วขึ้น จะด้วยจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ไม่รู้ ดิฉันมีการศึกษาเพิ่มเติมซึ่งไม่ได้นำเสนอตรงนี้ ก็คือว่าผลิตภาพด้านแรงงาน (Labor productivity) ของผู้สูงอายุ มันเพิ่มช้ากว่าวัยหนุ่มสาว วัยหนุ่มสาวเพิ่มเร็วกว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเรื่องของการศึกษาของวัยหนุ่มสาวที่มันมีการศึกษาดีขึ้น อะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นโดยเฉลี่ย เราพึ่งตัวเองได้ แต่การที่ตัวเองพึ่งตัวเองไม่ได้ในเรื่องการเงินมันเกิดเร็วขึ้น

 

 

 

 

ตรงนี้ดิฉันเปรียบเทียบการขาดดุลรายได้ระดับบุคคล (Life cycle deposit) ของ 2 ปี โดยปรับเป็นราคาคงที่แล้ว เพราะฉะนั้นมันเป็นสภาพที่เป็นจริง ซึ่งประเด็นที่จะชี้นิดหนึ่งก็คือว่า ตามที่ดิฉันพูด ส่วนที่ตรงนี้ที่เป็นค่าติดลบคือช่วงที่คุณหาส่วนเกินได้สักพัก เราจะเห็นได้ว่า แม้ในสภาพความเป็นจริง หรือ in real term เงินที่เป็นส่วนเกิน (Surplus) ก็เพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่ขาดดุล (Deficit) มันก็เพิ่มมากกว่า เพราะฉะนั้น การที่เรา enjoy กับมาตรฐานการครองชีพ (Standard of living) ที่มันเพิ่มขึ้น จริงๆ แล้วมันไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการที่คุณได้ส่วนเกิน (Surplus) เพิ่มขึ้นเพียวๆ แต่มันได้มาจากส่วนหนึ่งคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปันผลรายได้ประชากร หรือ Demographic population dividend อันแรกนั่น นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ที่เรา enjoy มาได้ตรงนั้น ส่วนหนึ่งมันไม่ได้เกิดจากการที่ผลิตภาพด้านแรงงานมันเพิ่มขึ้นมาเพียวๆ แต่มันมาจากการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงประชากร หรือ population dividend นี่แหละ และ population dividend ที่ว่านั้นมันก็จะหมดไปในที่สุด

 

พูดถึง "หลักประกันด้านรายได้" กันบ้าง แน่นอนว่าจริงๆ แล้ว เราต้องการที่จะป้องกันให้ผู้สูงอายุพ้นจากสภาพยากจน แต่จากที่ดิฉันได้พูดเมื่อสักครู่นี้ จริงๆ แล้วในช่วงชีวิตของคนเรา ถ้าเรานิยามในลักษณะอย่างนั้น เรายากจน 2 ช่วงตลอดนะ แต่ทีนี้ความยากจนสองช่วงนั้นมันมีอะไรที่มารองรับตรงนั้นหรือเปล่า ในวัยเด็กนี่ส่วนใหญ่พ่อแม่ก็รองรับซะจนหลังอานไปหมดแล้ว แต่ทีนี้วัยสูงอายุมันทำให้ผู้สูงอายุไม่มีสเน่ห์ขนาดนั้น ไม่ค่อยมีใครมารองรับมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องสร้างระบบขึ้นมา เพื่อจะให้ได้ระบบที่ต้องการ ก็คือการป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุตกไปอยู่ในความยากจน หรือถ้าจะให้ดีก็คือการทำให้มาตรฐานการครองชีพอย่าลดลงไปจากตอนที่ทำงานมากนัก

 

แต่ว่าในกระบวนการตรงนั้น ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เราต้องดูด้วยว่า มันต้องไม่มีผลกระทบในด้านเศรษฐกิจมากนัก ถ้าหากว่าจัดแล้วมันเป็นผลดีต่อด้านเศรษฐกิจด้วย มันก็ย่อมจะดี ซึ่งผลกระทบอันหนึ่งที่เห็นชัดๆ ก็คือว่าเราอยากจะให้ทุกคนมีระบบบำนาญที่ดี ระบบบำนาญที่เยอะ แต่แน่นอนว่าระบบบำนาญดีๆ เยอะๆ มันจะไปทำลายแรงกระตุ้นในการทำงาน (Incentive) เพราะฉะนั้นก็ต้องออกแบบระบบที่จะไม่ไปทำลาย incentive ในการทำงาน อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

 

หลายท่านคงทราบว่าดิฉันมีอคติ (Bias) คืออยากให้มีการส่งเสริมการออมล่วงหน้า (Fully funded) มากกว่าการกำหนดประโยชน์ทดแทนแบบไม่้ต้องออมไว้ล่วงหน้า (Pay-as-you-go) ดิฉันพูดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลานะคะ แต่แน่นอนว่าดิฉันก็เข้าใจว่าระบบพวกนี้มันไป fully funded ตลอดไม่ได้ เพราะในสังคมนี้ก็อย่างที่บอก ถ้าคุณจะออมไว้ให้ตัวเอง คุณก็ต้องหาให้เพียงพอกับการบริโภคตลอดชีวิต แต่บางคนมันไม่ได้น่ะ เพราะฉะนั้นมันก็มีข้อยกเว้นบ้างในการที่จะเป็นเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข มันคงจำเป็นต้องมี และนั่นคือ "ฐานแรก" ในหลักประกัน 3 ชั้นที่ธนาคารโลก (World Bank) เขาพูดไว้

 

 

 

 

ชั้นแรก คือ การให้ความคุ้มครองที่ต่ำที่สุด และตรงนี้เน้นที่เรื่องการจัดสรรปันส่วน (Redistribution) มันทำได้ มันเป็นการหยอดเงินแล้วก็เข้าไปอยู่กองกลาง คนที่อายุสั้นก็ทำบุญไป เพราะถ้าเหลือก็เอาให้คนอายุยืนใช้ไป แต่ถ้าเป็นแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined contribution) คนอาจจะมองว่ามันคือการค่อยๆ หยอดใส่กระปุกของตัวเอง กระปุกใครกระปุกมัน ถึงตายเร็ว เงินเหลือไม่ได้ใช้ ฉันก็เอาคืน อะไรแบบนั้น แต่ถ้าเป็นเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขมันไม่ใช่ เป็นแบบจัดสรรปันส่วน แต่ถึงยังไงมันก็คงต้องมีบ้างในเรื่องการกำหนดประโยชน์ทดแทนฯ ดิฉันก็คิดว่าต้องมีวินัย คือข้อเท็จจริงในที่สุดแล้ว เราจะรักษามาตรฐานความเป็นอยู่ให้มันดีได้ตลอดชีวิต มันต้องมีวินัยการเงิน ถ้าหาได้เยอะจริงก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าหาไม่ได้เยอะจริง มันต้องพยายาม

 

ตอนที่หาได้เยอะ อย่าไปคิดว่าตอนนี้หาได้ ไม่เป็นไร แต่อีกสองช่วงยาวๆ คิดบ้างหรือเปล่า อีกสองช่วงที่ยาวๆ จะเอา Finance ตรงนั้นมาจากไหน เพราะฉะนั้นในแง่ของเวิลด์แบงก์เขาก็พูดถึงหลักประกัน 3 ชั้นด้วยกัน ชั้นแรกก็คือขั้นต่ำ พูดไปแล้วเรื่องจัดสรรปันส่วน Redistribution ก็ต้องมีบ้าง ส่วนชั้นที่ 2 ชั้นที่ 3 ก็เป็นแบบกำหนดเงินสมทบ defined contribution กระปุกใครกระปุกมัน อันนี้ก็ไม่แชร์กันแล้ว ก็เป็นลักษณะแบบนั้น คืออันนี้ก็เป็นความเห็นทั่วๆ ไปของเวิลด์แบงก์

 

ทีนี้พูดถึงวิธีสร้างหลักประกันของคนไทย ดิฉันมองว่า เรื่องของการเพิ่มอายุในการทำงานมันจำเป็นแล้วล่ะ คือมันขัดกันน่ะ คนเราอายุยืนยาวขึ้น แต่ดันรีไทร์เร็วขึ้น มันออกมาเป็นลักษณะนี้ส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้มันก็เริ่มจะมีกระแสย้อนกลับ (Reverse trend) ที่จะให้คนทำงานนานขึ้นแล้ว ค่อยๆ เพิ่มจาก 60 เป็น 62 จาก 62 เป็น 65 แล้วในที่สุด หลายๆ ประเทศต้องไปจบที่ 67 ประเทศไทยก็จะไปจบที่ 55 คือมันต้องช่วยกันผลิตน่ะ เพราะว่าการบริโภคมันยาว ช่วงบริโภคมันยาว เพราะฉะนั้นนโยบายที่ตามมาก็คงจะต้องมีเรื่องของการเทรนนิ่งสำหรับคนที่ใกล้สูงอายุ ถ้าเขาจะเปลี่ยนอาชีพ มันก็ต้องมีเสริม มีอะไรตามมาเยอะแยะ คิดว่ามันจำเป็น เพื่อที่จะช่วยลดเวลาที่ขาดดุลให้มันน้อยลง แล้วก็รีบส่งเสริมการออมอะไรต่างๆ ก็ว่ากันไป

 

เราพูดกันมาหลายครั้งแล้วเรื่องระบบ เราต้องการหลักประกันถ้วนหน้า (Universal coverage) สำหรับผู้สูงอายุในเรื่องของความยากจนอะไรต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหาว่าสถิติตรงไหนบอกว่าคนนั้นจนแล้วก็ต้องจนไปเรื่อยๆ หายจนไม่ได้ และคนที่ไม่จน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทางจน มันเป็นเรื่องของพลวัต (Dynamic)

 

เพราะฉะนั้น มันจำเป็นที่จะต้องมีระบบพวกนี้รองรับเอาไว้ ไม่ใช่รอจนเขาตกลงมาแล้วค่อยทำอะไร แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เขาตกลงมาจะดีกว่า ระบบพวกนี้ก็คือระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะไม่ให้เขาตกลงมา หวังว่า ถ้าระบบของเราดีพอ คนที่จะตกลงมารอรับการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพอะไรต่างๆ มันจะได้น้อยลง แ่ต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย มันเยอะแน่นอน ในอนาคตต้องมีมากมายมหาศาลแน่นอน และถึงจุดนั้นก็ไม่ทราบว่ารัฐจะเอาเงินที่ไหนมาช่วยเหลือ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นกฎหมายอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย มันจึงมีความจำเป็นต้องสร้างระบบเหล่านี้ ต้องรีบสร้าง ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่าัมันต้องรีบสร้าง เพราะคนกลุ่มแรกมันก็มีอยู่แล้วล่ะ คือลูกจ้างเอกชน ดี-มาก-น้อยแค่ไหนช่างมันก่อน แต่เราก็ยังมีปัญหา คือว่าในที่สุดแล้วเงินมันก็ไม่ค่อยพอ กองทุนมันก็อยู่ไม่ค่อยได้ แต่อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็ยังมีบ้าง ก็จบไปก่อน

 

กลุ่มที่หนักก็คือกลุ่มที่ไม่ครอบคลุม ซึ่งก็เป็นส่วนใหญ่ของประชากรไทยด้วย บ่อยครั้งเราพูดถึงแรงงานนอกระบบว่าคนไม่ได้ทำงานตลอดชีวิต ถึงยังไงก็ต้องแก่ เพราะฉะนั้น "นอกระบบ" ไม่ใช่เรื่องของแรงงานนอกระบบอย่างเดียว แต่มันคือประชาชนทุกคน เข้าใจว่าหลายท่านที่จบมาจากญี่ป่นก็คงทราบว่า คนญี่ปุ่นพออายุ 20 คุณต้องจ่าย ไม่ว่าคุณจะมีเงินหรือไม่มีเงิน คุณก็ต้องจ่าย ถ้าไม่จ่ายก็คือข้อยกเว้น แต่ว่าคนปกติทั่วไปที่ไม่เข้าข่ายจะโดนยกเว้นก็ต้องจ่าย หมด คุณจะไม่มีเงินหรืออะไรยังไงก็ต้องมีคนอื่นจ่ายให้คุณน่ะ ครอบครัวคุณก็ต้องจ่ายให้คุณ แต่เราคงไปไม่ถึงระบบนั้น ปัญหายากของเราก็คือว่า จะทำยังไงให้ระบบนั้นอยู่ใน universal coverage หรือแบบครอบคลุมถ้วนหน้า

 

แน่นอน เราพูดกันอยู่ตลอดเวลาว่ากองทุนไหนพร้อมก็ให้ทำไป แต่ไม่รู้ว่าวันไหนจะได้เห็นรึเปล่า ตอนนี้มีการถกเถียงว่าจะเอาแบบบังคับไหม หรือสมัครใจ ดิฉันว่าถ้าสมัครใจ ก็ไม่มีวันจะเกิด universal coverage มันต้องเป็นแบบระบบบังคับ ทีนี้ระบบบังคับนี่จะทำอย่างไร ตรงนี้แหละเป็นกรณีที่หลายๆ คนพูดถึงกัน มันเป็นกลไกในการที่จะทำอย่างไร หลายคนก็พูดถึงว่าจะผ่านกองทุนชุมชนหรืออะไรต่างๆ ขณะนี้ คณะกรรมการสูงอายุแ่ห่งชาติ เขาก็มอบหมายให้กระทรวงการคลังดูแล โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังให้ไปออกแบบมาว่าจะเป็นอย่างไร ดิฉันมีโอกาสได้คุยกับเขาบ่อยๆ เขาก็อยากให้เป็นแบบสมัครใจ ดิฉันก็บอกว่า ถ้าเป็นแบบสมัครใจมันไม่มีทางครอบคลุม แต่จะบังคับ เขาก็บอกว่ามันไม่มีทางเกิด เพราะแรงเสียดทานมันจะเยอะมาก ก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปกันต่อไป

 

ส่วนเรื่องของการบริหารจัดการนี่อาจจะยากนิดหนึ่ง เพราะสิ่งที่เขามีคิดอยู่ในใจคือการตั้งเป็นกองทุนต่างหาก คนที่มีอยู่แล้วปล่อยไป ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา กองทุนตรงนี้รับเงินจากใครบ้าง? ก็รับเงินจากฝ่ายนิติบุคคลทั้งหลายทั้งปวง คือมันต้องเป็นนิติบุคคลถึงจะทำได้ เช่น อบต. กลุ่มอาชีพ หรืออะไร แต่มันต้องมีการจดทะเบียน เพราะว่ามันจะต้องมีคนที่รับผิดชอบชัดเจน เรื่องของผู้สูงอายุมันไม่ใช่เรื่องของสวัสดิการอย่างอื่นๆ มันต่างกัน สวัสดิการอื่นๆ รับมาแล้วจ่ายไป ช่วงรับกับช่วงจ่ายมันไม่ห่างกันเท่าไหร่ แต่อันนี้มันต้องสะสมเป็น 20-30 ปี พอสะสมเป็นเวลายี่สิบสามสิบปี กองมันมหาศาล มันต้องอาศัยความสามารถเพิ่มเติมอะไรอีกหลายๆ อย่างที่จะทำได้ และอย่างน้อยที่สุดประชาชนต้องเชื่อถือ อย่างถ้าจะให้ดิฉันเอาเงินไปฝากใครสักคน แล้วบอกว่าอีก 30 ปีคุณถึงจะได้รับประโยชน์จากอันนั้น ดิฉันก็ต้องดูมากๆ เลย แต่ถ้าบอกว่าฝากไปแล้ว อีกสองปีหรือปีหน้าถ้าคุณเจ็บป่วยอะไรอย่างนี้มาเอาไป มันพอได้น่ะ

 

เพราะฉะั้นั้น ภาพที่ดิฉันมอง คล้ายๆ กับว่ามันจะโอเค ก็คือว่าเป็นไปได้ มันต้องผ่านนิติบุคคลอะไรบางอย่างที่อาจจะเป็น อบต.หรืออะไรที่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวข้องด้วย คืออย่างระบบของแคนาดาซึ่งอาจารย์หลายท่านก็คงคุ้นเคยนั้น เขาให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นคนจัดการให้ ครบทุกเรื่องเลย คุณต้องจัดสวัสดิการให้ครบ และเขาจะมีมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum standard) ว่าคุณต้องจัดได้เท่านี้ ถ้าคุณจัดให้ได้แค่นี้ รัฐบาลกลางก็จะจัดตั้งกองทุนเพื่อการร่วมลงทุน (Matching fund) เข้ามาให้ อะไรต่างๆ แบบนี้ เราก็คงจะต้องทำอะไรแบบนั้นเป็นการให้สิ่งจูงใจ

 

ถึงที่สุดแล้ว เรื่องของท้องถิ่นต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน แต่ว่ามันจะเกี่ยวข้องในรูปแบบใด ก็คงต้องมีการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม ในชนบทกับในเมือง ก็อาจจะเป็นคนละรูปแบบกัน นี่คือภาพกว้างๆ ที่ดิฉันมองว่าจะจัดยังไงที่จะทำให้เกิดการครอบคลุมถ้วนหน้าของวัยชราภาพจริงๆ ขอบคุณมากค่ะ

 


รายงานอื่นๆ ที่น่าสนใจ :

นฤมล นิราทร : แล้ว "คนจน" ก็จะ "จน" ต่อไป ?

วัชรียา โตสงวน: คนส่วนใหญ่ไร้สวัสดิการ! ไม่ใช่เรื่องต้อง"ช่วยเหลือ"แต่คือความบกพร่องที่ต้อง"แก้ไข"

กิริยา กุลกลการ : ทำไมไม่กระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นดูแล "แรงงานข้ามชาติ"

ปราณี ทินกร : ดู "ความจริงใจ" ของรัฐบาลได้จากงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาของ "ประชาชน"

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ : แรงงานนอกระบบก็มีบำนาญได้ : แนวทางสวัสดิการ "การออมพันธมิตร" รัฐ+ชุมชน

นภาพร อติวานิชพงศ์ : ชุมชนแรงงานเป็นโต้โผ แล้วรัฐสนับสนุน - ทางออกการจัดการสวัสดิการสังคม

 

 

ชมเทปบันทึกงาน เสวนา "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท