Skip to main content
sharethis



 


ท่ามกลางวิกฤตพลังงาน ปัญหาข้าวยากหมากแพง และภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นถึงระดับโลก อันมีความสลับซับซ้อนและนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ได้ก่อให้เกิดปมปัญหาที่พัวพันยุ่งเหยิงเพิ่มมากขึ้น อาทิ นโยบายการปลูกพืชพลังงานทดแทนซึ่งส่งผลคุกคามต่อพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าชุมชน ป่าหัวไร่ปลายนา พื้นที่ชุ่มน้ำ ขณะที่การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เช่นการจัดการที่ดิน น้ำ ป่า กลับดูเหมือนจะเป็นแสงสว่างดวงน้อยในการแก้ปัญหา โดยปัจจุบันพบว่า ป่าชุมชนกว่าหมื่นแห่งที่กระจายทั่วประเทศได้ทำหน้าที่เป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหาร เป็นแหล่งพลังงาน และเป็นตัวช่วยรักษาพันธุกรรมพืชท้องถิ่น


 


ก่อให้เกิดคำถามถึงการเข้ามามีบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการร่วมแก้ไขวิฤตที่ดังกล่าวของประเทศ และด้วยความคาดหวังในการแก้ปัญหา คณะทำงานพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคี และองค์กรผู้สนับสนุน กว่า 40 องค์กรจึงได้ร่วมกันจัดงาน "มหกรรมสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย" พร้อมเปิดการสัมมนาระดับชาติเรื่อง "ป่าชุมชน: ความมั่นคงแห่งชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน" ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ อาคารสำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม พ.ศ.2551


 


กิจกรรม "มหกรรมสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย" เป็นการนำรูปธรรมความสำเร็จของกลุ่ม ชุมชน หน่วยงาน องค์กรที่ปฏิบัติการดูแลรักษาป่าสร้างความมั่นคงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ เผยแพร่และยกระดับเชื่อมโยงสู่ประเด็นระดับโลกทั้งเรื่องโลกร้อนและพลังงานทดแทน ความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกิจกรรมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นิทรรศการวิชาการและการแสดงทางวัฒนธรรม โดยในวันแรกมีผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน


 


นายวิเศษ สุจินพรัหม คณะกรรมการจัดงานมหกรรมสมัชชาป่าชุมชนฯ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่าเป็นการจัดงานในระดับชาติเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการจัดงานในระดับภูมิภาคมาแล้วหลายครั้ง โดยการจัดงานในครั้งนี้มุ่งหวังที่จะนำเสนอบทบาทของสมัชชาป่าชุมชน ให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ เพื่อการผสานงานการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต โดยสมัชชาป่าชุมชนจะเป็นผู้ผสานความร่วมมือจากภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของภาครัฐ ธุรกิจเพื่อสังคม ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชน


 


อีกทั้งเป็นการปลุกกระแสความสนใจเกี่ยวกับป่าชุมชนในฐานะที่เป็นทางเลือกทางรอดในภาวะที่สังคมกำลังประสบปัญหาข่าวยากหมากแพง มีวิกฤตอาหาร และวิกฤตพลังงาน นอกจากนี้ยังหวังให้เป็นการเปิดเวที เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียน ประสบการณ์ เปิดโอกาสแสดงความคิดเห็น อันจะทำให้ได้เห็นทางออกที่หลากหลายของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อสังคมจะได้มีทางเลือกในการแก้ปัญหามากขึ้น


 


"ถึงวันนี้ปัญหาความแตกแยกทางการเมือง ยังไม่มีทางออก เพราะการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเป็นปัญหาร่วมกันของทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ไขซึ่งไม่มีการแบ่งสี" นายวิเศษกล่าว


 


ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองถูกให้ความสำคัญมากในสังคม รวมทั้งในส่วนการนำเสนอของสื่อมวลชน จนทำให้ปัญหาความเดือดร้อนอื่นๆ ของประชาชนที่มีอยู่มากมายถูกลดทอนความสำคัญลง ซึ่งในส่วนนี้บางปัญหาก็ทำให้ได้ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้จึงหวังปลุกกระแสความสนใจและความเข้าในในเรื่องป่าชุมชนของสังคม  


 


แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการทำความเข้าใจเรื่องป่าชุมชน การรักษาป่าของชาวบ้านที่อยู่กับป่า ร่วมทั้งเรื่องกฎหมายมาโดยตลอด แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้อยู่อีกมาก โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ในสังคมเมือง งานในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะได้นำเสนอเรื่องราวของชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่าให้คนเมืองรับรู้ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับป่า โดยขยับมาใกล้พวกเขามากขึ้น


 


ด้านผศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ กล่าวว่า ณ วันนี้ทุกคนต้องช่วยกันปลุกจิตสำนึก และเชื่อว่าการรักษาวัฒนธรรมช่วยชาติได้ จากหลักคิดนิเวศวิทยาภูมิทัศน์ โดยเฉพาะภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโดยมนุษย์ สะท้อนสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่


 


"เราต้องเรียนรู้จากภูมิทัศน์วัฒนธรรม โดยเรียนรู้จากคำว่าพอ แล้วเรากลับไปรักษาป่าของเรา ตัวอย่างเช่น ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าชุมชน"


 


งานสัมมนาป่าชุมชนครั้งนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ เวทีการนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากรูปธรรมความสำเร็จและกรณีศึกษาหลากหลายหัวข้อภายใต้ประเด็น ทั้งป่าชุมชนกับความมั่นคงของวิถีชีวิตคนท้องถิ่น ความมั่นคงทางอาหารและสวัสดิการท้องถิ่นในระบบนิเวศที่หลากหลาย ป่าชุมชนกับโลกร้อน ความหลากหลายทางชีวภาพและพลังงานทางเลือก การแปรรูป เพิ่มมูลค่า และการจัดการผลผลิตจากป่าและ บทเรียนและบทบาทเยาวชน..เมล็ดพันธุ์ใหม่ รักษาป่าของแผ่นดิน


 


สำหรับนิทรรศการภายในงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่ 1 นิทรรศการของหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนที่ 2 นิทรรศการรูปธรรมการจัดการป่าชุมชนในระดับพื้นที่ ซึ่งได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชน งานฝีมือ ผักสดและอาหารของท้องถิ่น รวมทั้งมีการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอันสะท้อนวิถีที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการจัดมุมศิลปะเพื่อให้เด็กๆ ได้ร่วมถ่ายทอดจินตนาการเกี่ยวกับป่าชุมชนในความคิดของพวกเขาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net