Skip to main content
sharethis


 


วานนี้ (21 ต.ค.51) คณะทำงานพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เครือข่ายองค์กรป่าชุมชน และองค์กรความร่วมมือต่างๆ จัด เวทีอภิปรายเรื่อง "บทบาทป่าชุมชนกับความมั่นคงของวิถีชีวิตคนท้องถิ่นในสถานการณ์ปัจจุบัน" โดยเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสัมมนาระดับชาติ "ป่าชุมชน: ความมั่นคงแห่งชีวิต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน ที่ห้องประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก


 


ร่วมอภิปรายโดย นายฉลาดชาย รมิตานนท์ นักวิชาการอาวุโส นายจำนง ประวิทย์ ชุมชนลุ่มน้ำคลองยัน จ.สุราษฎร์ธานี ผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายวิสูตร อยู่คง จากสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี และนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ


 


ผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน กล่าวว่า ป่าชุมชนเปรียบเปรียบเสมือนเป็นซุปเปอร์มาเก็ตตามธรรมชาติที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปเลือกใช้ทุกสิ่งทุกอย่างได้จากที่นั่น ทั้งยารักษาโรค อาหาร และเป็นรีสอร์ทสำหรับการพักผ่อนของชุมชน แต่การใช้สอยนั้นต้องอยู่ในความพอดี พอประมาณจึงจะยั่งยืนไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน


 


ป่ามีความสัมพันธ์กับชุมชน 8 ข้อ แบ่งเป็นด้านบวก 4 ข้อ คือ สร้างแหล่งอาหาร สร้างแหล่งรายได้ สร้างสิ่งแวดล้อม และสร้างความสามัคคีของชุมชน ส่วนปัจจัยที่ลดที่เป็นประโยชน์อีก 4 ข้อ คือ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและลดต้นทุนพลังงาน ลดความเสี่ยงภัยจากระบบตลาด ระบบทุน ลดปัญหาสังคม เช่น การอพยพย้ายถิ่นฐาน และลดโลกร้อน


 


ในส่วนข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่ควรทำ 4 ข้อ คือ 1.รัฐต้องมีการแทรกแซงเพื่อให้ ชุมชนแย่งชิงพื้นที่ป่าชุมชนมาเป็นของชุมชนได้ โดยไม่ใช่การปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด 2.รัฐต้องสนับสนุนการมีกรรมสิทธิ์ในเรื่องที่ดิน โดยกฎหมายต้องมีความชัดเจนในการให้สิทธิที่เหมาะสมต่อชุมชน 3.รัฐต้องเข้าใจ เรียนรู้ และยอมรับว่าป่าชุมชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ ที่มีภูมิปัญญาอันหลากหลาย สามารถจัดการป่าได้อย่างยั่งยืน มีคุณค่า โดยไม่จำเป็นต้องวัดเป็นตัวเงิน 4.รัฐต้องยอมรับให้องค์กรท้องถิ่น ประชาชน มาเป็นพันธมิตรกับรัฐในการดูแลรักษาป่าที่มีความหลากหลาย


 


ทั้งนี้ ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ดูเหมือนจะแตกแยก เศรษฐกิจก็ทำท่าจะแตกเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงปล่อยให้สังคมล่มสลายอีกไม่ได้ ท่ากลางสังคมที่ประสบวิกฤตปัญหาทุกคนจะต้องถอยที่มั่นมาตั้งหลักเข้าสู่ชุมชนซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ และเมื่อกล่าวถึงชุมชน ต้องกล่าวถึงป่าชุมชน ที่มีการใช้และพึ่งพาป่ามาโดยตลอด ดังนั้นการดูแลรักษาป่าในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และรัฐต้องหันมาให้ความสนใจให้มาก


 


"พรมแดนของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่ชายแดน แต่พรมแดนอยู่ที่ชุมชน ซึ่งหากชุมชนล่มสลายประเทศไทยก็จบ" ผศ.ดร.ธันวา กล่าวถึงชุมชนในฐานะเป็นภูมิคุ้มกันของประเทศที่เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของสังคม และป่าชุมชนเองก็เป็นศูนย์รวมจิตใจยึดเหยี่ยวชุมชนเอาไว้ด้วยกัน ด้วยการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ใช้ รักษา และอยู่ร่วมกันกับป่า


 


ด้านนายฉลาดชาย รมิตานนท์ กล่าวถึงปัญหาความยากจนของคนในชนบทว่า มีสาเหตุมาจากปัญหาที่ทำกินไม่เพียงพอ แม้ต่อมาจะมีการปฏิรูปที่ดิน แต่ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปัญหาของคนในชนบทจึงยิ่งแตกตัวเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องหลากหลายขึ้น เช่น การอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน ปัญหาการค้าบริการทางเพศ ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ การมีรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับปี 40 ปี 50 หรือในฉบับใหม่ที่จะมีการร่างขึ้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาถึงราก การแก้ปัญหาจึงน้อยมาก เพราะเง้าของปัญหาเป็นโรคร้ายที่เรื้อรังหมักโหมมของสังคม ไม่ใช่เพียงสีเหลืองหรือสีแดง และทำให้เกิดข้อสงสัยถึงการเมืองใหม่ว่าจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ได้อย่างไร


 


ในส่วนประเด็นการรักษาป่านั้น นายฉลาดชายกล่าวว่า ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของนักป่าไม้ แต่เกี่ยวข้องถึงนักสังคม และนักวิชาการด้วย และถึงแม้ว่าป่าชุมชนจะอยู่ด้วยตนเองได้แต่เมื่อชุมชนมาอยู่ร่วมกัน สภาวะแวดล้อมที่มุงเน้นการค้า และใช่ทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยัง ระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมและชุมชนเองก็จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านเปิดใจ เปิดพื้นที่มาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นพืชเชิงเดียว มาจนถึงการปลูกพืชพลังงานทดแทน อย่างมันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน


 


ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกปัจจุบันอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงเพราะอยู่ในสภาวะที่ขึ้นลงได้ตลอดเวลาไม่มีความสมดุล และในอนาคตยิ่งน่าห่วงมากขึ้น ฉะนั้นจะเอาพืชและผลผลิตทางการเกษตร และเศรษฐกิจรากฐานของไทยไปผูกติดกับเศรษฐกิจโลกอย่างทุ่มเทจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้จะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อชุมชนต้องพึ่งตัวเองได้ มีอิสระและอำนาจในการที่จะคิด ตัดสินใจเลือกในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับตนเองได้อย่างแท้จริง


 


ดังนั้นจึงต้องมีการติดตาม "การเมืองใหม่" อย่างใกล้ชิด ว่าจะเป็นการเมืองของภาคประชาชนได้จริงหรือไม่ การเมืองแบบภาคประชาสังคมที่คนสามารถรวมกลุ่มกันได้ โดยมีความโปร่งใสของข้อมูล โปร่งใสทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะโดยส่วนตัว "ป่าชุมชน" เป็นการเมืองเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และจากประสบการณ์ที่มีมานานกว่า 30 ปี ยังไม่เห็นความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทย ความแตกแยกจึงเกิดขึ้น


 


"ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว จึงอยากขอวอนให้ให้ความสนใจการเปลี่ยนสู่การเมืองใหม่ ว่าจะใหม่แค่ไหน และพร้อมหรือไม่ที่จะก้าวสู่สภาพความเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนในอนาคต ทั้งปัญหาโลกร้อน เศรษฐกิจฟองสบู่ ที่วันนี้มันได้เริ่มส่งผลกระทบมาสู่เราแล้ว" นักวิชาการอาวุโสกล่าว


 


นายจำนง ประวิทย์ กล่าวในฐานะคนทำป่าชุมชนและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนว่า ชุมชนลุ่มน้ำคลองยัน จ.สุราษฎร์ธานี มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่า โดยป่าเป็นผู้เอื้ออำนวยความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่างด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ปัญหาที่มีในปัจจุบันคือการบังคับใช้กฎหมายของรัฐต่อชุมชน ที่ทำให้รัฐและประชาชนเกิดความแตกแยก และบ่มเพาะความเจ็บปวดให้แก่ชุมชน ทั้งนี้เป็นเพราะชุมชนไม่ได้มีบทบาทในการดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรในพื้นที่ ไม่มีกฎหมายออกมารองรับในสิทธิดังกล่าว ร่วมทั้งกฎหมายที่มีไม่สามารถปฏิบัติได้จริง


 


"ถ้าจะพัฒนาป่าให้ยั่งยืนชุมชนจะต้องมีบทบาทในการจัดการด้วย เพราะป่ามีทุกคนเป็นเจ้าของไม่ใช่รัฐเป็นเจ้าของแต่ฝ่ายเดียว" นายจำนงกล่าว พร้อมย้ำว่าหากมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน คนจะสามารถดำเนินชีวิตอยู่รอดได้ ป่าจะมั่งคั่ง และชุมชนจะยั่งยืน


 


ส่วนนายวิสูตร อยู่คง แสดงความเห็นว่า กรณีป่าชุมซึ่งมีอยู่หลายร้อยแห่งในประเทศไทยนั้น มีหลายพื้นที่ที่มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างเข้มแข็ง แต่ก็มีบางพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งในชุมชนเองจากการถูกกระแสทุนนิยมที่ถ่าโถมมาพร้อมๆ กับการช่วยเหลือทางองค์ความรู้และงบประมาณที่เข้ามาสนับสนุน กระทั่งไม่สามารถรักษาป่าไว้ได้


 


"เงินเข้าที่ไหนชาวบ้านแตกกันที่นั่น" นายวิสูตรกล่าว พร้อมย้ำว่าการต่อสู้ของชาวบ้านไม่ว่าจะกับรัฐ หรือทุน นั้นมีความเข้มแข็งสามารถสู้ได้ง่ายๆ แต่การต่อสู้ของคนในชุมชนกันเองนั้นทำได้ยาก และการที่ทุนได้เข้าไปส่งเสริมกิจกรรมบางอย่างในชุมชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชนและส่งผลในการจัดการพื้นที่ป่า


 

แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ กลุ่มชาติพันธ์ หรือที่เรียกกันว่าคนชายขอบนั้นสามารถจัดการดูแลป่าได้ดีกว่าคนที่ได้รับการให้ความรู้หรือการส่งเสริมจากองค์กรต่างๆ ในหลายๆ กลุ่ม อีกทั้งยังสามารถรักษาป่าให้สมบูรณ์ คงอยู่ ก้าวหน้า และคนในชุมชนมีความรู้เท่าทัน โดยการจัดการด้วยใจ ใช้วัฒนธรรมและองค์ความรู้ท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ นอกจากนั้นการจัดการป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อยที่มีอยู่ให้เชื่อมโยงถึงกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อชุมชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net