Skip to main content
sharethis
Event Date

เสวนา

“ชุมชนลุ่มน้ำกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

วันที่ 23 ธันวาคม 2553
ห้องประชุม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
 


หลักการและเหตุผล
ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆอันเป็นที่ตระหนักของทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบขึ้นทั่วทั้งโลก ประเทศไทยเองก็เผชิญกับวิกฤตของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างรุนแรง ในปี พ.ศ. 2553 เกิดวิกฤตความแห้งแล้งและน้ำท่วมอย่างรุนแรงต่อเนื่องกัน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตความหนาวเย็นมากกว่าทุกปีตามมาอีก โดยในเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนที่มีวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้นพร้อมกัน 3 อย่างคือน้ำท่วม ความหนาวเย็น และความแห้งแล้ง  น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก 
 
ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาโลกร้อนมุ่งไปที่การบรรเทาการแพร่กระจายหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาพที่ออกมาจึงเน้นไปที่การรณรงค์กับคนเมืองเรื่องการลดการใช้พลังงาน เช่น การปิดไฟ การใช้ถุงผ้า  นอกจากนี้การปรับตัวและการเตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงก็เป็นยุทธศาสตร์สำคัญอีกอันหนึ่งที่ได้เริ่มมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับยุทธศาตร์การลดก๊าซเรือนกระจก  
 
อย่างไรก็ตามการทำงานเรื่องภาวะโลกร้อนทั้งสองยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังขาดมิติที่เชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะลุ่มน้ำหรือริมน้ำอยู่มาก ทั้งที่ชุมชนเหล่านี้เป็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกและอย่างรุนแรง ทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่จะสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือน้อยที่สุด  นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องปกติที่ชุมชนที่มีชีวิตพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติเหล่านี้ได้มีการเรียนรู้และปรับตัวมาหลายชั่วอายุคน จนสั่งสมเป็นภูมิปัญญาและวิถีปฏิบัติ  การเรียนรู้จากชุมชนเหล่านี้จะช่วยให้เกิดแนวทางใหม่ๆในการแก้ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากผลของสภาวะโลกร้อน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำจะช่วยให้พวกเขาสามารถเตรียมรับมือกับความแปรปรวนที่จะเกิดขึ้นได้
 
ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งตัวชุมชนลุ่มน้ำเองควรจะได้มีการตระหนักร่วมกันถึงความสำคัญของของชุมชนท้องถิ่นต่อการแก้ปัญหาและเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น การทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศกับชุมชนลุ่มน้ำจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน ดังนั้นโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ และ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกันจัดการเสวนาเรื่องนี้ขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรมของชุมชนลุ่มน้ำต่อไป 
 
วัตถุประสงค์
1. เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและความเชื่อมโยงกับชุมชนลุ่มน้ำ
2. เพื่อทำความเข้าใจถึงความสำคัญของชุมชนลุ่มน้ำกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
3. เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสู่สาธารณชน
 
องค์กรร่วมจัด
1. เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
2. ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
 
กำหนดการ
เวทีเสวนา “ชุมชนลุ่มน้ำกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”
วันพฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2553
ห้องประชุม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
13.00 – 13.15 น. กล่าวเปิดการเสวนา โดย ดร. ชยันต์ วรรธนภูติ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
13.15 – 14.30 น. “น้ำท่วม น้ำแล้ง และผลกระทบกับคนลุ่มน้ำ” เสียงจากตัวแทนคนลุ่มน้ำภาคเหนือพื้นที่ต่างๆ
14.30 – 15.00 น. “ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ” โดย นิวัตน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ
15.00 – 15.30 น. “ปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของภาคประชาชน” โดย กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี (BioThai)
15.30 – 16.00 น. เวทีคำถามและอภิปรายเปิด
16.00 น เดินทางกลับ
 
หมายเหตุ ดำเนินรายการโดย ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น  โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net