Skip to main content
sharethis
Event Date

หัวร่อต่ออำนาจ: สันติวิธีและอารมณ์ขัน โดย ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ วันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค. เวลา 16:00น. ที่ The Reading Room สีลม 19

มหาตมะคานธีเคยกล่าวว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่มีอารมณ์ขัน ก็คงฆ่าตัวตายไปนานแล้ว” ในหมู่นักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นที่รู้กันว่าอารมณ์ขันเป็นสถานพำนักทางใจ ช่วยให้ผ่านพ้นมรสุมความท้อแท้สิ้นหวังระหว่างระยะทางอันยาวไกลในการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า แต่มหาตมะคานธีคงลืมบอกไปว่า แท้จริงนั้นอารมณ์ขันมีศักยภาพเกินกว่าเป็นเพียงเครื่องบรรเทาอาการบอบช้ำทางจิตใจ เพราะอารมณ์ขันนั้นเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางสังคมการเมืองอย่างสันติได้เป็นอย่างดี The Reading Room ขอเชิญทุกท่านร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนกับดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ ใน "หัวร่อต่ออำนาจ: สันติวิธีและอารมณ์ขัน" ในวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค. เวลา 16:00น. เป็นต้นไป

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ “แบบไร้ความรุนแรง” (nonviolent struggle) ในช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา รูปแบบทางต่างๆ ของอารมณ์ขันกลายเป็น “พาหะ” (vehicle) อันทรงพลังที่นักเคลื่อนไหวใช้บั่นทอนอำนาจชนชั้นนำ โดยเฉพาะผู้นำระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็กในช่วงสงครามเย็น หรือกลุ่มเยาวชนในประเทศจอร์เจียและยูเครน ที่สามารถโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยมได้ในที่สุด ในฝั่งประเทศ “ตะวันตก” กลุ่มคัดค้านสงครามปราบปรามการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ทั้งในประเทศสหรัฐฯ เอง รวมถึงประเทศอังกฤษ ใช้การเดินขบวนแบบคาร์นิวาล และสรรสร้างคำขวัญเชิงเสียดสีเป็นวิธีการประท้วงหลัก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มล้อเลียนระบอบเลือกตั้งในประเทศเนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย

ส่วนในเอเชีย การล้อเลียนเสียดสีเป็นเครื่องมือยอดนิยมหนึ่งในการประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหาร และอำนาจนิยม เช่นกลุ่ม Moustache Brothers ในเมียนมาร์ หรือผู้ประท้วงในสิงคโปร์ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงในไทย ปรากฏการณ์ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นในประเทศแถบแอฟริกา ทั้งแคมเปญล้อเลียนรัฐบาลในประเทศซูดาน อียิปต์ และซีเรียช่วงการปฏิวัติอาหรับ แต่กลุ่มที่ใช้รูปแบบอารมณ์ในฐานะปฏิบัติการไร้ความรุนแรงได้อย่างเฉียบขาดทรงประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การเปลี่ยนจากรัฐบาลเผด็จการเป็นประชาธิปไตยคือกลุ่ม “ออทปอร์” (Otpor) ในประเทศเซอร์เบีย

ดร.จันจิรา จะมาแบ่งปันเรื่องเล่าและประสบการณ์ใช้ตลกเสียดสี (satire) การล้อเลียน (parody) และการเดินขบวนคาร์นิวาล (Carnival) ของกลุ่มออทปอร์ ที่กลายเป็น “มรดก” แห่งแรงบันดาลใจ ให้แก่นักปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรุ่นใหม่ทั่วโลก นอกจากนี้ จะมีการวิเคราะห์เชื่อมโยงความเหมือนหรือแตกต่างของรูปแบบการใช้อารมณ์ขันเช่นนี้ในประเทศเซอร์เบียกับกลุ่มประท้วงในเมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ในช่วงท้ายของการสนทนาด้วย

เกี่ยวกับวิทยากร
ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ เป็นอาจารย์ประจำสาขาการเมืองระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลา โทรป ประเทศออสเตรเลีย เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสันติวิธีและอารมณ์ขันในเซอร์เบียช่วงทศวรรษที่ 1990 จันจิราอาศัยอยู่ในประเทศเซอร์เบียราวห้าเดือนเพื่อเก็บข้อมูลภาคสนาม และเพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ขันของชาวเซิร์บ วิทยานิพนธ์เล่มนี้กำลังจะถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือโดยสำนักพิมพ์ Syracuse University Press (New York)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net