ไต่สวนคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินชุมชนน้ำแดงพัฒนา สกต.

Event Date: 
Monday, 11 September, 2017 - 09:00
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)  ขอเชิญผู้สนใจและสื่อมวลชนเข้าร่วมติดตามและสังเกตการณ์การไต่สวนคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินชุมชนน้ำแดงพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.)  ในวันที่ 11 กันยายน 2560 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2560 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา 4 คน ซึ่งถูกบริษัทอีควอโทเรียล คอมมิวนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ร่วม ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 และวันที่ 28 สิงหาคม 2560 โดยในคำร้องอ้างว่าทั้ง 4 คนเป็นภัยต่อโจทก์ร่วมและพยานของโจทก์ร่วม ซึ่งข้อเท็จจริงที่ฝ่ายบริษัทโจทก์ร่วมอ้างมาเพื่อเป็นเหตุในการขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 วันที่ 17 และ 21 กรกฎาคม 2560 ที่คนของบริษัทได้เข้ามาทำการเก็บเกี่ยวพืชผลในชุมชนน้ำแดงพัฒนา และชาวบ้านได้เข้าไปขอให้คนของบริษัทยุติการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ชาวบ้านเพาะปลูกไว้ แต่บริษัทอ้างว่าชาวบ้านได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินแปลงที่บริษัทโจทก์ร่วมอ้างเป็นเจ้าของ

ชาวบ้านน้ำแดงพัฒนาทั้ง 4 คนที่ถูกยื่นคำร้องของเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ได้แก่ นายไพโรจน์ กลับนุ้ย นายอดิศร ศิริวัฒน์ นายสุวรรณ์ คงพิทักษ์ และนายเริงฤทธิ์ สโมสร ทั้งหมดเป็นผู้นำชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินในชุมชนน้ำแดงพัฒนา ซึ่งทั้ง 4 ถูกฟ้องร่วมกับชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนาอีก 11 คน

หากย้อนไปเมื่อช่วงต้นปี 2560 ชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนารวม 15 คน ถูกออกหมายจับโดยศาลจังหวัดเวียงสระ ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องการถูกออกหมายจับดังกล่าว เพราะตำรวจไม่เคยเรียกชาวบ้านให้ไปพบหรือไปสอบปากคำอะไรเลย หลังจากนั้นวันที่ 20 เมษายน 2560 ตำรวจ สภ. ชัยบุรี ก็ได้ทำการจับกุมชาวบ้านชุดแรกจำนวน 5 คน ภายในชุมชนน้ำแดงพัฒนา หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านที่ถูกออกหมายจับทยอยเข้ามอบตัว ชาวบ้านทั้งที่ถูกจับกุมและที่เข้าพบตำรวจเอง ถูกเรียกหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวคนละ 600,000 บาท ชาวบ้านใช้วิธีเช่าหลักประกัน บางส่วนหยิบยืมจากญาติและได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน เพราะทั้งหมดเป็นเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินและมีฐานะยากจน ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องชาวบ้าน แยกเป็น 3 คดี คือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1460/2560, หมายเลขดำที่ 1461/2560 และหมายเลขดำที่ 1462/2560 โดยแต่ละคดีจะถูกฟ้องใน 3 ข้อหา ได้แก่ 1) บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข  2) ทำให้เสียทรัพย์  และ 3) อั้งยี่

หลังจากมีการดำเนินคดีกับชาวบ้านแล้ว บริษัทที่อ้างสิทธิในที่ดินในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งชุมชนน้ำแดงพัฒนา ได้ให้คนงานเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มที่ชาวบ้านปลูกไว้ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งที่คนของบริษัทเข้ามาในชุมชน ชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา รวมถึงชาวบ้าน 4 คนที่ถูกยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้ ได้เข้าไปพูดคุยและขอให้คนของบริษัทเอกชนหยุดตัดปาล์มและขอให้ออกจากพื้นที่ และแทบทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนาก็จะมีการไปแจ้งความที่ สภ. ชัยบุรี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีใดๆอย่างที่ควรจะเป็น

ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินเป็นข้อพิพาทที่ยังไม่มีข้อยุติว่าใครมีสิทธิดีกว่ากัน เพราะชาวบ้านไร้ที่ดินทำกินได้เข้ามาก่อตั้งชุมชนน้ำแดงพัฒนา และทำการเพราะปลูกเพื่อเลี้ยงชีพในพื้นที่พิพาท ซึ่งเป็นพื้นที่ทิ้งร้างมาก่อนปี 2552 ซึ่งไม่ปรากฎมีเอกชนรายใดมาแสดงสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว กระทั่งปี 2559 ปรากฎเอกชนมาอ้างสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งพืชผลทางเกษตรกรรมชองชาวบ้าน เช่น ปาล์ม ยางพารา สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว นอกจากนี้ เอกสารสิทธิที่บริษัทเอกชนนำมาอ้างสิทธิ์จำนวนหลายแปลง เป็นแปลงที่เคยมีการตรวจสอบจากคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการช่วยเหลือและแก้ปัญหาคดีความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เมื่อปี 2552 แล้วพบว่าเข้าข่ายออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ และในการตรวจสอบในครั้งนั้นก็ระบุด้วยว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดินในบริเวณใกล้เคียงก็น่าจะเข้าข่ายออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเช่นกัน  

ดังนั้น เมื่อข้อพิพาทในที่ดินยังไม่มีข้อยุติ แต่บริษัทเอกชนกลับเข้ามาเก็บเกี่ยวพืชผลที่ชาวบ้านทำการเพาะปลูกไว้ ก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของชาวบ้านในชุมชนที่จะรวมตัวกันเพื่อปกป้องพืชผลที่ตนได้ลงมือเพราะปลูกไว้ การที่บริษัทเอกชนใช้เงื่อนไขการดำเนินคดีและเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวมาเล่นงานชาวบ้าน โดยการขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวชาวบ้านผู้เป็นแกนนำสำคัญของชุมชนนั้น ถือเป็นการใช้เงื่อนไขทางกฎหมายมาขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของาวบ้าน เพราะหากมีการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวชาวบ้านทั้ง 4 ตามคำร้อง ก็ย่อมกระทบต่อสิทธิของชาวบ้านทั้ง 4 ในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และสิทธิที่จะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังจะกระทบกับชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนาที่ถูกดำเนินคดีคนอื่นๆในการที่จะออกมาใช้สิทธิอันชอบธรรมในการปกป้องทรัพย์สิน อันเป็นพืชผลทางการเกษตรของตัวเองด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงขอเชิญผู้สนใจและสื่อมวลชนเข้าร่วมติดตามและสังเกตการณ์คดีเพื่อเป็นสักขีพยานในการไต่สวนครั้งนี้ ในวันที่ 11 กันยายน 2560 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รายละเอียดเพิ่มเติมหรือประสานงาน ติอต่อ :

นายอธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ผู้ประสานงานเครือข่ายทนายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ โทร 0894772563

ข้อมูลเพิ่มเติม :

ชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลคลองน้อย อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2518 - 2519 มีนายทุนสิงคโปร์ ชื่อนาย อันก้ก แซ่ลิ้ม ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทสากลการลงทุน ได้ร่วมมือกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน โดยตกลงจะให้เงินในราคาครอบครัวละ10,000 บาท โดยได้จ่ายมัดจำให้กับชาวบ้านก่อนครอบครัวละ 100 -200 บาท หลังจากนั้นก็ไม่มีการจ่ายเงินส่วนที่เหลือแก่ชาวบ้านแต่อย่างใด  ต่อมาเมื่อประมาณปี 2530 ทางบริษัทได้มีการขัดผลประโยชน์กันเองภายใน จนทำให้ขาดการบริหารจัดการ มีหนี้สินจำนวนมาก จนถูกฟ้องล้มละลาย ที่ดินติดจำนองในธนาคารกลายเป็นหนี้เน่าที่ลูกหนี้ไม่ประสงค์ไถ่ถอน (ที่ดินNPL) จึงปล่อยพื้นที่กลายเป็นสวนปาล์มทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์

เกษตรกรไร้ที่ดินจึงได้ร่วมกันเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยใช้มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และอ้างอิงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพื่อทำการเข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่  และได้ก่อตั้งเป็นชุมชนน้ำแดงพัฒนาขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2552  ปัจจุบันมีเกษตรกรอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ 58  ครอบครัว เกษตรกรได้บุกเบิกใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในที่ดินเอกชนทิ้งร้าง ทำให้เปลี่ยนจากสภาพสวนปาล์มทิ้งร้างเป็นป่าทึบ กลายเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เป็นฐานเศรษฐกิจให้คนจนมีรายได้พออยู่พอกิน

ชุมชนน้ำแดงพัฒนา เป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีจุดยืนมั่นคงในการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ก่อตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม 2551 ด้วยความร่วมมือของเกษตรกรไร้ที่ดิน โดยมีชุมชนที่รวมกันจัดตั้งจำนวน 6 ชุมชน คือ ชุมชนสันติพัฒนา ชุมชนคลองไทรพัฒนา ชุมชนก้าวใหม่ ชุมชนเพิ่มทรัพย์ ชุมชนน้ำแดง และชุมชนทับควาย  ทั้งนี้ประเด็นหลักในการเคลื่อนไหวของ สกต.คือการกระจายการถือคลองที่ดิน และสนับสนุนการรับรองระบบกรรมสิทธิ์รวมในรูปแบบของ “โฉนดชุมชน”

ชุมชนน้ำแดงพัฒนาและสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ได้ผลักดันเชิงนโยบายร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในทางนโยบายเป็นไปในทิศทางที่ดี อาทิ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556  ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง ( MOU ) ข้อ 1 - 3 ระหว่างขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กับตัวแทนรัฐบาลในขณะนั้น ว่าระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน  จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป  และวันที่ 18 มีนาคม 2558 ได้มีคำสั่งของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่ดินเอกชนทิ้งร้าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว

แม้ในช่วงปี 2552 ที่เกษตรกรไร้ที่ดินได้เข้าไปก่อตั้งชุมชนน้ำแดงพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่พื้นที่ทิ้งร้าง จะไม่มีเอกชนรายใดมาแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่หรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน แต่ผ่านไปเกือบ 7 ปี ในช่วงปี 2559 ก็เริ่มมีเอกชนเข้ามาอ้างสิทธิและทำการตัดปาล์มในแปลงที่ชาวบ้านทำการผลิต และช่วงปี 2560 ได้มีการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งทางแพ่งและอาญาหลายคดี  ดังนี้

-   วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2560 ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา 12 คน จากแปลงที่ดินที่พิพาท นส.3 ก เลขที่ 1939, 1943, 1959 เป็นคดีดำหมายเลขที่ 90/2560 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างสืบพยาน

-       วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560 นายภาสกร เจริญมีชัยกุล ฟ้องดำเนินคดีอาญากับชาวชุมชนน้ำแดง2 คน เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 870/2560 ในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์

-       วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560 บริษัทสากลทรัพยากรพัฒนา จำกัด ได้ฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน 1 คนเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1629/2560

-       วันที่ 20 เมษายน 2560 ตำรวจ สภ. ชัยบุรี ได้ทำการจับกุมชาวบ้าน 5 คน ในชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตามหมายจับ ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งมีการออกหมายจับชาวบ้านจำนวนทั้งสิ้น 15 คน ชาวบ้านทั้งที่ถูกจับกุมและที่เข้าพบตำรวจเอง ได้รับประกันตัวออกมา โดยมีหลักประกันคนละ 600,000 บาท ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้วิธีเช่าหลักประกัน บางส่วนหยิบยืมจากญาติและได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน ต่อมามีการยื่นฟ้องชาวบ้าน 15 คน แต่ละคนถูกดำเนินคดี 3 คดี คือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1460/2560 (นายภาสกร เจริญมีชัยกุล),หมายเลขดำที่ 1461/2560 (บริษัท อิควอโทเรียมคอมมิวนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด) และหมายเลขดำที่ 1462/2560 (บริษัท สากลทรัพยากร จำกัด) โดยแต่ละคดีจะมี 3 ข้อหา คือ1) บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือบางส่วน หรือกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข[1] 2) ทำให้เสียทรัพย์[2] และ 3) อั้งยี่[3]

คณะอนุกรรมการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2552 เห็นชอบให้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการช่วยเหลือและแก้ปัญหาคดีความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารสิทธิในที่ดินในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ ชุมชนสันติพัฒนา ชุมชนน้ำแดงพัฒนา และชุมชนคลองไทรพัฒนา ซึ่งทั้ง 3 ชุมชนเป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

คณะทำงานได้ทำการตรวจสอบที่ดินแปลงที่มีเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก จำนวน 9 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 239-0-52 ไร่ ได้แก่ น.ส. 3 ก เลขที่  1940, 1969, 1943, 1941, 1954,1984, 1945, 1987, 1944 ซึ่งเอกสารสิทธิทั้งหมดออกในช่วงปี 2520 จากการตรวจสอบจากข้อมูลในเอกสารสอบสวนสิทธิการถือครองที่ดิน (นส.2 ก ) กับภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าข้อมูลเรื่องการทำประโยชน์ขัดแย้งกับภาพถ่ายทางอากาศ ผลการตรวจสอบจึงเชื่อว่าเอกสารสิทธิ์แปลงที่ถูกตรวจสอบดังกล่าวมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เข้าข่ายออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ และยังพบว่าที่ดินในบริเวณใกล้เคียงก็มีการออกเอกสารสิทธิในลักษณะดังกล่าวอีกหลายแปลง

ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิที่เอกชนนำมาฟ้องชาวบ้าน ได้แก่ เอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก. เลขที่ 1941,1945, 1984, 1987 เป็นแปลงที่เคยมีการตรวจสอบจากคณะทำงานฯเมื่อปี 2552 แล้ว และพบว่าเข้าข่ายออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ส่วนเอกสารสิทธิ์แปลงอื่นๆที่เอกชนนำมาฟ้อง ก็เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดินในบริเวณใกล้เคียงและออกในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับที่ดินแปลงที่เคยถูกตรวจสอบแล้วเมื่อปี 2552 จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าเอกสารสิทธิ์ที่เอกชนน้ำมาฟ้องชาวชุมชนน้ำแดงพัฒนานั้น น่าจะมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเช่นเดียวกัน



[1] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  89,362 , 365 (2)

[2] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 , 359 (4)

[3] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท