Skip to main content
sharethis
Event Date

หอภาพยนตร์ขอเชิญชมภาพยนตร์ในโปรแกรม “หนังไทยกับวิกฤติต้มยำกุ้ง” และร่วมกิจกรรมภาพยนตร์สนทนาในหัวข้อเดียวกันกับวิทยากร ธนิตย์ จิตนุกูล, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม,ก้อง ฤทธิ์ดี และธนาพล อิ๋วสกุล ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ในวันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2560 ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแต่อย่างใด

ปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในขณะที่วงการภาพยนตร์ก็กำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤตไม่ต่างกัน เมื่อจำนวนภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายได้ลดต่ำลงจนเหลือเพียงไม่ถึง 20 เรื่องในปีนี้ และลดลงไปถึงจุดต่ำสุดเหลือเพียง 9 เรื่องในปี พ.ศ. 2543 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ยังได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเป็นช่วงที่นักทำหนังโฆษณาอย่าง นนทรีย์ นิมิบุตร, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และ เป็นเอก รัตนเรือง ได้เริ่มก้าวเข้ามาทำหนังไทย และพลิกโฉมวงการออกไปสู่สากลด้วยรูปแบบและแนวคิดใหม่ ๆ 

ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ๆ ที่สอดแทรกเรื่องราวของวิกฤติต้มยำกุ้งเข้าไปคือ เรื่องตลก 69 (2542) ของเป็นเอก รัตนเรือง ในขณะที่ภาพยนตร์บางเรื่องในช่วงเวลานั้น แม้จะไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิกฤตต้มยำกุ้งโดยตรง แต่ก็ใช้เหตุการณ์ในช่วงที่เศรษฐกิจระส่ำระส่ายในอดีตเป็นฉากหลังของเรื่อง เช่น เสือ โจรพันธุ์เสือ (2541) หรือ สตางค์ (2543) นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์เรื่อง สวัสดีบ้านนอก (2542) ที่นำเสนอเสน่ห์ของวิถีชีวิตผู้คนในชนบท ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้แก่คนไทยเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจในตอนนั้น

แต่แนวภาพยนตร์ที่โดดเด่นที่สุดในภาวะหลังการพ่ายแพ้สงครามเศรษฐกิจกับต่างชาตินี้ คือ ภาพยนตร์แนวชาตินิยม ทั้งในแง่การต่อสู้กับต่างชาติ หรือแสดงถึงคุณค่าของอัตลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งมีออกมามากมายอย่างต่อเนื่อง เช่น ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ (2543) สุริโยไท (2544) 7 ประจัญบาน (2545) องค์บาก (2546) โหมโรง (2547) ต้มยำกุ้ง (2548) ฯลฯ โดยที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่งคือ บางระจัน (2543) ของธนิตย์ จิตนุกูล สันนิษฐานว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ บางระจัน มีประเด็นพูดถึงความสามัคคีของคนในชาติเพื่อร่วมปกป้องศัตรูจากต่างแดน สอดคล้องกับกระแสการปลุกความสามัคคีของคนในชาติที่กำลังบอบช้ำจากวิฤตต้มยำกุ้ง 

ปี พ.ศ. 2546 เมื่อวิกฤตต้มยำกุ้งได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทยอีกครั้ง จากการที่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ดำเนินการชำระหนี้ที่ประเทศไทยกู้มาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าว และโปรโมตว่าเป็นการล้างหนี้ให้แก่ประเทศ ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ธนิตย์ จิตต์นุกูล ก็ได้หยิบเอาสถานการณ์ดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง 102 ปิดกรุงเทพปล้น (๒๕๔๗) ที่เล่าถึงกลุ่มก่อการร้ายซึ่งพยายามหยุดยั้งการชำระหนี้ IMF ของรัฐบาลทักษิณ

ปัจจุบัน แม้เรื่องราวของวิกฤตต้มยำกุ้งจะผ่านมานานนับสิบปี แต่อาการฝันร้ายจากวิกฤตต้มยำกุ้งยังคงตกค้างอยู่ในภาพยนตร์ไทย ในปี พ.ศ. 2557 มีหนังไทยถึง 2 เรื่องที่อ้างอิงถึงวิกฤตการณ์ดังกล่าวและเข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเป็นผลงานคนทำหนังที่เติบโตขึ้นในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง คือ ภวังค์รัก ของลี ชาตะเมธีกุล ที่มีเบื้องหลังของเรื่องเป็นสภาพสังคมกรุงเทพในยุคล่มสลายเศรษฐกิจ ปี 2540 และ Mother หนังกึ่งสารคดีของ วรกร ฤทัยวาณิชกุล ซึ่งเล่าเรื่องราวของแม่ผู้พยายามฆ่าตัวตายจากความเครียดเรื่องธุรกิจในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่หลอกหลอนสังคมไทย เดือนกันยายนนี้ หอภาพยนตร์ขอเชิญชมภาพยนตร์ในโปรแกรม “หนังไทยกับวิกฤติต้มยำกุ้ง” และร่วมกิจกรรมภาพยนตร์สนทนาในหัวข้อเดียวกันกับวิทยากร ธนิตย์ จิตนุกูล, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม,ก้อง ฤทธิ์ดี และธนาพล อิ๋วสกุล ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ในวันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2560 ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแต่อย่างใด
---------------------------------------------------------------
โปรแกรมภาพยนตร์และกิจกรรม 

เสาร์ที่ 16 กันยายน 
13.00 น. ภวังค์รัก 
15.00 น. Mother 

อังคารที่ 19 กันยายน 
17.30 น. สวัสดีบ้านนอก 

พฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 
17.30 น. องค์บาก 

พุธที่ 27 กันยายน 
17.30 น. บางระจัน 

ศุกร์ 29 กันยายน 
17.30 น. เรื่องตลก 69 

เสาร์ที่ 30 กันยายน
13.00 น. 102 ปิดกรุงเทพปล้น 
15.00 น. กิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “หนังไทยกับวิกฤตต้มยำกุ้ง” กับวิทยากร ธนิตย์ จิตนุกูล, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม,ก้อง ฤทธิ์ดี และธนาพล อิ๋วสกุล ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

อ่านรายละเอียดเเละเรื่องย่อภาพยนตร์เพิ่มเติมได้ที่https://www.facebook.com/pg/ThaiFilmArchivePage/photos/?tab=album&album_id=1600316846685176

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net