Skip to main content
sharethis
Event Date

เวทีวิชาการ “วิเคราะห์การรับฟังพยานหลักฐานของศาลในคดีอาญา ผ่านคดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงรัฐบาลประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ” วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 08.30-12.00 น. ณ. ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคำพิพากษาคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ในช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติด และวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษาทั้งสามชั้นศาลของคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง รวมทั้งระดมข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบการค้นหาความจริง การรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีอาญา

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามยาเสพติดปี 2548 คดีนี้มีเจ้าพนักงานตำรวจตกเป็นจำเลย 6 คน ในฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย 5 คน ยกฟ้อง 1 คน และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 6 คน ส่วนศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ด้วยเหตุผลหลักคือพยานบุคคลปากสำคัญของโจทก์และโจทก์ร่วมมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ

คดีนี้เป็นหนึ่งในคดีฆาตกรรมอีกนับพันคดีที่เกิดขึ้นในช่วงนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 และในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เองก็มีบุคคลที่เสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก ที่สามารถตรวจสอบรายชื่อได้มีกว่า 20 ราย แต่คดีส่วนใหญ่กลับไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนหาตัวนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ คดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ฯ จึงเป็นกรณีเดียวที่สามารถนำคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลได้ ซึ่งก็เกิดจากความพยายามอย่างหนักของญาติและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และต้องเสี่ยงกับการคุกคามอย่างมากมาย แต่ผลสุดท้ายก็ยังไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

คดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์นี้ แม้ในทางคดีจะสิ้นสุดลงแล้วโดยคำพิพากษาศาลฎีกาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่คำพิพากษาของศาลยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องนำมาศึกษาวิเคราะห์ในทางวิชาการต่อไปเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาล เนื่องจากคดีนี้ศาลฎีกาได้มีการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในลักษณะที่แตกต่างไปจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จนทำให้ผลของคดีออกมาสวนทางกันอย่างมาก ซึ่งนำมาสู่การตั้งคำถามว่าหลักเกณฑ์ในการรับฟังและวินิจฉัยพยานหลักฐานของศาลเป็นอย่างไร ซึ่งหากจะมีการนำคำพิพากษาของศาลดังกล่าวในแต่ละชั้นมาทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์อย่างเป็นวิชาการแล้ว ก็จะช่วยสร้างองค์ความรู้แก่วงการกฎหมายไทยไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังอาจช่วยกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องได้หันมาทบทวนประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยให้ดีขึ้นในอนาคต

ขอเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจในหัวข้อเวทีเสวนาวิชาการนี้ได้ตามวันและเวลาดังกล่าวข้างต้นและติดตามเรื่องราวเหตุการณ์คดีนี้ได้ที่ http://naksit.net/2018/09/case/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net