Skip to main content
sharethis
Event Date

16 ตุลาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 17.00 น. ชวนเข้าร่วม รับชม และแลกเปลี่ยนในกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ #1ปีราษฎรฟ้องกลับ จัดขึ้นที่ Doc Club & Pub จะมีทั้งนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับการชุมนุมของราษฎรตลอด 1 ปีที่ผ่านมา, กิจกรรมฉายหนังระดมทุนสนับสนุน #ราษฎรฟ้องกลับ และเสวนาทางกฎหมายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการใช้กระบวนการยุติธรรมโต้กลับโดยประชาชน

กำหนดการและรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้

ตั้งแต่เวลา 11.00 – 17.00 น. ทุกท่านสามารถเข้ารับชมและเข้าร่วมในกิจกรรมแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับการชุมนุมของราษฎรตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ในชื่อ “NEVER SURRENDER” และข้อมูลการโต้กลับด้วยกฎหมายตลอด 1 ปี โดยภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (มีร่วมกิจกรรมชิงรางวัลภายในงาน)

ตั้งแต่เวลา 12.00 -14.00 น. กิจกรรมฉายภาพยนต์เรื่อง “RBG สตรีก้องโลก” เพื่อระดมทุนสนับสนุน #ราษฎรฟ้องกลับ

กิจกรรมนี้เราเปิดขายบัตรในราคา 500 บาท และรับเพียง 25 ที่นั่ง รายได้ทั้งหมดจะนำไปสนับสนุนการฟ้องคดีโต้กลับ ที่ดำเนินการภายใต้ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และแต่ละที่นั่งจะได้รับของสัมมนาคุณเป็นหนังสือเรื่อง “คดีความ” และ “โซฟี โชล” ที่นั่งละ 2 เล่ม

ผู้ที่ประสงค์จะสำรองที่นั่งสำหรับเข้าร่วมกิจกรรมนี้ สามารถทักแอดมินมาได้ที่เพจ “ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” และโอนเงินสำหรับสนับสนุน #ราษฎรฟ้องกลับ ได้ที่บัญชีสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เลขที่ 089-3-67744-5 ธนาคารกสิกรไทย

.

ตั้งแต่เวลา 15.00 – 16.30 น. งานเสวนาทางกฎหมาย เรื่อง “น้ำ แก๊ส กระสุนยาง ประชาชนได้อะไรจากรัฐ”

15.00 – 15.40 น. หัวข้อ 1 ปี ของสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและเสรีภาพสื่อ ผลกระทบและความหวังต่อกระบวนการยุติธรรม โดย

- เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

- ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าวจาก Plus Seven

- ชยพล ดโนทัย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- ฐาปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวจาก The Reporters

15.40- 16.20 น. หัวข้อ บทบาทภาคีนักฎหมายสิทธิมนุษยชน อุปสรรคในการต่อสู้คดี ความเห็น และข้อเสนอแนะ โดย

- วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ

- ศุภมาศ กัญญาภัคโภคิน ผู้แทนภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

- คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

16.20- 16.30 น. แลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็น

ดำเนินรายการโดย ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ เจ้าหน้าที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

.

***หากไม่สามารถมาเข้าร่วมกิจกรรมได้ สามารถรับชมกิจกรรมนี้ผ่าน Facebook Live ได้ที่เพจ “ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน”*** และสามารถลงทะเบียนเพื่อแจ้งความประสงค์เข้างานได้ที่ https://forms.gle/YpNipGSoyxR4ezXA8

.

วิธีการเดินทาง: สามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน ลงที่สถานีลุมพินี หรือ สถานีสีลม หรือถ้าหากผู้ใดเดินทางโดยรถยนต์ สามารถจอดรถได้ที่ตึกอื้อจื่อเหลียง

แผนที่การเดินทาง: https://goo.gl/maps/rf3S5QeLEmTwLPfz8

.

หลักการและเหตุผล #1ปีราษฎรฟ้องกลับ

ในช่วงการชุมนุมสาธารณะ โดยเยาวชน นิสิตนักศึกษาและประชาชนกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2563 รัฐไทยมีการรับมือกับการชุมนุมดังกล่าวที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งอาญาจักรไทยและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เห็นได้จากการที่รัฐไทยใช้วิธีการตอบโต้ “การชุมนุมที่จัดขึ้นโดยสงบและปราศจากอาวุธ” ผ่านการคุกคาม ข่มขู่เพื่อขัดขวางไม่ให้การชุมนุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น “การแจ้งความดำเนินคดี” เพื่อสร้างความกลัวและลดทอนศักยภาพ ประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหว การถูกจับกุมดำเนินคดียังส่งผลทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีต้องเผชิญต่อ “การจำกัดเสรีภาพสิทธิในกระบวนการยุติธรรม” อาทิ อุปสรรคในการเข้าถึงทนายความและการจำกัดสิทธิในการปล่อยชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เป็นต้น และการใช้กำลังในการ “การสลายการชุมนุม” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้งติดต่อกัน ทำให้ทั้งผู้ที่ชุมนุม สื่อมวลชนและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการชุมนุมต่างได้รับบาดเจ็บและความเสียหายเป็นวงกว้าง

.

ด้วยเหตุนี้ นักกฎหมาย ทนายความ ซึ่งทำงานขับเคลื่อนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด และคณะอาจารย์ด้านนิติศาสตร์ จึงได้รวมตัวกันในนามของ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เพื่อฟ้อง “คดีโต้กลับ” หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสร้างบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

.

ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ดำเนินการการฟ้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไปทั้งหมด 11 คดี รวมถึงการรณรงค์ผลักดันให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหน่วยงานรัฐปรับปรุงการดูแลการชุมนุมให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักสากลระหว่างประเทศ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบข้อจำกัดและข้อท้าทายในการทำงานหลายประการที่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยด้านมาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ สังคมไทยได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ลดลง และถูกมองว่าได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการคุกคาม ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนั้นยังพบว่ามี ปัจจัยของผู้ฟ้องคดี ที่จะต้องมีความอดทนและพร้อมรับความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามเนื่องจากต้องเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ และปัจจัยการขาดแคลนทนายความ เนื่องจากทนายความที่ต่อสู้คดีกับรัฐโดยตรงมักเผชิญกับการถูกคุกคามในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

.

เนื่องในวันที่ 16 ตุลาคม 2564 เป็นการครบรอบ 1 ปี การก่อตั้งภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เราจึงได้จัดทำรายงานขึ้นเพื่อสรุปผลการทำงานและวิเคราะห์อุปสรรค ปัญหาและข้อท้าทาย รวมถึงข้อเสนอแนะต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อยกระดับสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศ เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยที่มั่งคงของประเทศต่อไป ภาคีฯ จึงจัดงาน “1 ปี ราษฎรฟ้องกลับ” ในลักษณะนิทรรศการภาพถ่าย พร้อมกับจัดวงเสวนาสาธารณะ เรื่อง “น้ำ แก๊ส กระสุนยาง ประชาชนได้อะไรจากรัฐ” ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้วิวัฒนาการการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางโต้กลับการใช้อำนาจมิชอบของรัฐ

____________________

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นการรวมตัวขององค์กรสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมาย ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

.

รับชมคลิปเปิดตัวภาคีฯ : https://www.facebook.com/105482351558023/posts/106545234785068/

.

สามารถติดตามการดำเนินงานของภาคีฯ ได้ทาง

Facebook: ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

Twitter: HRLawyersTH

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net