เสวนาวิชาการ สังคมศึกษา : จากพระคุณที่สาม ถึง คศ.3 : พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย 

Event Date: 
Sunday, 16 January, 2022 - 09:00

เนื่องในโอกาสวันครูปี 2565 สาขาวิชาสังคมศึกษา ม.ราชภัฏลำปาง เชิญรับชมการนำเสนอรายงานการวิจัย เรื่อง "จากพระคุณที่สาม ถึง คศ.3 : พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย" โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏลำปาง
.
วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 เวลา 9.00 น.

วิจารณ์งานวิจัยโดย
ผศ.ดร.เจนสมุทร แสงพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ทิชานนท์ ชุมแวงวาปี ครูโรงเรียนเพ็ญพิทยาคม จังหวัดอุดรธานี
คุณเอกภพ พรหมสุทธิรักษ์ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จังหวัดนนทบุรี
.
ร่วมชมผ่าน Live Facebook สังคมศึกษา ราชภัฏลำปาง
...
จากพระคุณที่สาม ถึง คศ.3 :
พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
.
บทคัดย่อ
.
งานวิจัย จากพระคุณที่สาม ถึง คศ.3 : พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย มีวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการคือ ประการแรก เพื่อแสดงให้เห็นพลวัตของการผลิตครูในสังคมไทย ประการที่สองก็เพื่อนำเสนอบทบาทและสถานภาพของครูภายใต้โครงสร้างทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ความเป็นครูได้พัฒนาการมาตามประวัติศาสตร์ สถานภาพของพวกเขามักจะยืนอยู่ข้างเดียวกับผู้มีอำนาจและสัมพันธ์กับมิติทางศาสนาและความเชื่อ
.
ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาแผนใหม่ทำให้การผลิตครูเป็นไปเพื่อตอบสนองโจทย์ของรัฐในการผลิตบุคลากรป้อนระบบราชการและการสร้างพลเมืองของชาติที่เชื่อฟังรัฐ ท่ามกลางความอ่อนแอทางเสรีภาพการแสดงออก และความรู้ที่แหลมคม ทำให้ครูและการเรียนการสอนมิได้มุ่งไปที่การวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ระบบการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยประชาชน และการศึกษาที่สอดคล้องกับความเป็นพลเมืองที่เป็นใจกลางอำนาจแบบใหม่ที่ไม่ได้ขึ้นกับกษัตริย์
.
อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาและการผลิตครูก็ไม่สามารถดำรงอยู่กับประชาธิปไตยได้นาน เช่นเดียวกับระบบการปกครองของประเทศที่รัฐบาลถูกยึดอำนาจและแทนที่ด้วยคณะรัฐประหารบ่อยครั้ง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความเป็นครูได้รับการยกย่องผ่านความศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่รู้จักกันในนาม “พระคุณที่สาม” ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ผนึกอยู่กับระบบราชการที่รวมศูนย์อย่างแนบแน่น ในช่วงแรกข้าราชการครูมีเงินเดือนที่ต่ำเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป แต่ได้รับการชดเชยด้วยสวัสดิการที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัว
.
ต่อมาหลังการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษ 2540 วิชาชีพครูได้ถูกยกระดับขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน และช่องทางการเติบโตผ่านระบบ “วิทยฐานะ” ที่ทำให้พวกเขามีเงินที่เพิ่มขึ้น การอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการและยึดติดกับระบบราชการทำให้ครูถูกแยกขาดออกจากขบวนการแรงงาน เนื่องจากว่า ในสังคมข้าราชการนั้นการรวมตัว หรือเรียกร้องต่อรองต่อผู้บริหารซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานั้นอาจนำไปสู่ปัญหาด้านการงานได้เนื่องจากเป็นการเผชิญหน้าให้กับผู้ให้คุณให้โทษโดยตรงได้ และทำให้ข้าราชการครูจำนวนมากต้องแก้ไขปัญหาในนามปัจเจก
.
ในทางเดียวกัน ครูและบุคลากรอื่นที่อยู่ในโรงเรียนแต่อยู่นอกระบบราชการ กลับถูกเลือกปฏิบัติ เช่นการได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หรือการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับข้าราชการ การรวมตัวของครูที่เข้มแข็งเป็นอย่างยิ่งอยู่ในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในจังหวัดต่างๆ ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนานและมีความเข้มแข็งทางการเงิน ในระยะหลังเสียงเรียกร้องถึงการรวมตัวในฐานะสหภาพครูดังขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นทางการเมืองของคนในวิชาชีพครูที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับชาติไปด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท