Skip to main content
sharethis
Event Date

นิทรรศการภาพถ่าย สะท้อนมุมมองการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมกับวิถีชีวิตที่หลากหลาย 
ณ ผนังโค้ง ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จัดแสดงระหว่างวันที่ 4 ต.ค. 65-6 พ.ย. 65 

ถ่ายโดย ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (TSEJ) ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประจำประเทศไทย, ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) จัดนิทรรศการภาพถ่าย “พลังงาน เปลี่ยนผ่าน เป็นธรรม ?” นำเสนอมุมมองเเละวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน 

การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการใช้พลังงานของสังคม จากพลังงานแบบดั้งเดิมคือพลังงานฟอสซิล อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ไปสู่พลังงานที่สะอาด พลังงานทางเลือก-พลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และรวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความยั่งยืนด้านพลังงาน 

การเปลี่ยนผ่านพลังงานมีความสำคัญมาก เพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดของประชาคมโลกในขณะนี้ 

การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ดียังช่วยทำให้เกิดการจ้างงานอย่างเต็มที่เเละกระจายตัวไปในวงกว้าง ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Centre for SDG Research and Support) หรือ SDG Move ระบุว่าในปี 2559 การจ้างงานในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยมีประมาณ 17,758 ตำเเหน่ง หากมีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจนครบถ้วน 100% ในปี 2593 การจ้างงานโดยตรงของพลังงานหมุนเวียนในไทย จะเท่ากับ 172,164 ตำแหน่งงาน 

นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาด้านสังคม เเก้ปัญหาความยากจน เเละให้บริการสาธารณะ อาทิหากรัฐบาลลงทุนติดเเผงโซลาร์เซลล์ขนาดครัวเรือนละ 1.5 กิโลวัตต์ จะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ถึง 225 หน่วย เเละลดรายจ่ายได้กว่า 855 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม แม้การเปลี่ยนผ่านพลังงานจะมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดทดแทนการใช้พลังงานแบบดั้งเดิมที่มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูง แต่จะมีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านมากกว่ากลุ่มอื่น อาทิ แรงงานฝ่ายผลิตในภาคพลังงานแบบดั้งเดิม ตำแหน่งงานในภาคส่วนนี้อาจลดลงถึง 8 ล้านตำแหน่งในปี ค.ศ.2050 หากการเปลี่ยนผ่านพลังงานประสบความสำเร็จในช่วงเวลาดังกล่าว 

สำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานสะอาดคงมีราคาสูงในช่วงแรก ทำให้กระทบต่อการเข้าถึงของผู้บริโภคกลุ่มนี้ 

ชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่โครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ โครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่อาจบั่นทอนวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น จนนำไปสู่การสูญเสียที่อยู่อาศัย-แหล่งทำมาหากิน 

สตรีผู้มีรายได้น้อย ค่านิยมและวัฒนธรรมที่สังคมมีต่อเพศหญิงอาจทำให้สตรีผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงพลังงานสะอาดได้น้อยกว่าเพศชาย และมักไม่ได้รับการยอมรับให้ทำงานในภาคเทคโนโลยีพลังงาน 

นิเวศแหล่งน้ำ ทรัพยากรน้ำอาจได้รับความต้องการเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่มลพิษทางน้ำและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศภายในแหล่งน้ำต่างๆ 

ภาพบรรยากาศภายในงาน (ถ่ายโดย ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ผู้ผลิตอาหารรายย่อย แหล่งผลิตพลังงานสะอาดจำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ จึงอาจกลายเป็นการแก่งแย่งพื้นที่เพาะปลูกและเกิดความขัดแย้งกับกิจกรรมการผลิตอาหาร

สำหรับภาพถ่ายที่จัดแสดงในนิทรรศการ "พลังงาน เปลี่ยนผ่าน เป็นธรรม ?" มีที่มาจากโครงการประกวดภาพถ่ายหัวข้อ "พลังงาน เปลี่ยนผ่าน เป็นธรรม ?" ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 คัดเลือกอย่างเข้มข้นจากผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 289 ภาพ ที่สะท้อนภาพชีวิตประชาชนและความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อาทิ 

ภาพถ่ายรางวัลชนะเลิศ ชื่อภาพ : "พลังงานแห่งอนาคต" ของคุณจิราฤทธิ์ ทิพย์ลุ้ย 
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ชื่อภาพ : "ไก่ย่าง พลังงานแสงอาทิตย์" ของคุณกัมพล คุ้มวงษ์ 
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ชื่อภาพ : "เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์" ของคุณเฉลิม อัชชมานะ 

ภาพถ่ายบางส่วนจากงานนิทรรศการ ถ่ายโดย ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

ร่วมด้วยภาพถ่ายที่ได้รับรางวัล Photo of the week จากการประกวดร่วมห้าสัปดาห์ และ 6 ผลงานภาพถ่ายฝีมือช่างภาพชาวเยอรมันที่ได้รับการแนะนำจากสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำกรุงเทพมหานคร ให้นำมาร่วมจัดแสดง เพื่อให้มุมมองภาพเพิ่มเติมในฐานะประเทศที่เคยมีประสบการณ์ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลประเด็น การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สามารถรับชมย้อนหลัง งานเสวนาหัวข้อ "นโยบายที่ไทยต้องการ...เปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม" ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยตัวแทน 4 พรรคการเมือง ได้ทางลิงก์ 
https://fb.watch/g3c_S2x1P4/ 

และอ่านสรุปสาระสำคัญจากเวที ได้ทางลิงก์ https://www.facebook.com/sdgmoveth/photos/a.1804783659778833/3369330236657493/ 


ภาพบรรยากาศภายในงาน (ถ่ายโดย ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net