สัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ทิศทางวุฒิสภาโลกและวุฒิสภาไทย : มาจากไหน ทำอะไร ควรเป็นอย่างไรดี”
ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาแบบสภาคู่ กล่าวคือ มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นต้นมา โดยรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับที่กำหนดเรื่องหน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาจะมีลักษณะบางประการที่คล้ายกัน คือ การกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถือว่าเป็นสภาที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนและมีจุดยึดโยงกับประชาชนมากกว่าวุฒิสภา เช่น การกำหนดให้วุฒิสภาสามารถพิจารณาร่างกฎหมายได้ แต่ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเห็นไม่ตรงกัน สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติยืนยันได้ หรืออย่างในกรณีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาและรัฐบาล รัฐธรรมนูญก็มักจะกำหนดให้เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และให้เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้ เป็นต้น ส่วนเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้น ตั้งแต่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 วุฒิสภามักจะมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎรอย่างเห็นได้ชัด โดยรัฐธรรมนูญอาจกำหนดให้มาจากการแต่งตั้ง หรือการสรรหา อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง แม้จะกำหนดให้มีอำนาจน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน ทั้งนี้ การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเกี่ยวกับทำให้สมาชิกวุฒิสภาบางส่วนมีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง หรือใกล้ชิดกับสภาผู้แทนราษฎรมากเกินไปจนเกิดคำถามเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงเกิดการกำหนดให้ต้องที่มาของสมาชิกวุฒิสภามีสองทาง คือ การสรรหาและการเลือกตั้งโดยตรง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ก็ได้มีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการคัดเลือกในกลุ่มวิชาชีพ แต่มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีที่มาที่ยึดโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งก่อให้เกิดคำถามเรื่องความเหมาะสมเป็นอย่างมาก จนมีกระแสต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มแรกของการมีสภาที่สองในประเทศไทย ได้มีการกล่าวว่าสภาที่สองมีความจำเป็นเนื่องจากประเทศไทยเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงจำเป็นต้องมีสภาที่สองมาเป็น “สภาพี่เลี้ยง” แต่เมื่อประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมานับเป็นเวลากว่า 90 ปีแล้ว จึงจำเป็นต้องทบทวนถึงที่มา บทบาท และอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเพื่อมองว่าการกำหนดประเด็นดังกล่าวในรัฐธรรมนูญควรมีทิศทางอย่างไรต่อไป
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วม สัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ทิศทางวุฒิสภาโลกและวุฒิสภาไทย : มาจากไหน ทำอะไร ควรเป็นอย่างไรดี” ในวันอังคารที่ 12 กันยายน 2566 | เวลา 08.30 – 12.30 น. ณ ห้อง 411 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เปิดงานสัมมนาโดย
รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ - คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
ชมพูนุท ตั้งถาวร - สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
อ.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข - คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์