ThisAble

Thisable.me ชวนล้วงกระเป๋า บ.ก.Thisable.me

ThisAble - 7 ชั่วโมง 41 นาที ago

ชวนรื้อกระเป๋าใน นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ thisable.me ว่าข้างในมีอะไรบ้าง พกของอะไรเป็นแบบไหน เมื่อต้องนั่งวีลแชร์ของจะเป็นแบบไหน “ล้วงกระเป๋าคนพิการ” ตอนแรกอยากชวนไปล้วงกระเป๋าคนใกล้ตัว ว่ามีอะไรบ้าง ชิ้นไหนน่าขโมย(ล้อเล่น) หรือบอกเล่าเรื่องราวอะไรในฐานะคนเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงบ้าง  

หนู : ปกติก็มีกระเป๋าหลายใบเหมือนกัน ส่วนมากเป็นกระเป๋าที่นิ่มๆ สะพายง่าย ไม่ยาวมากเพราะว่า ถ้ายาวมากเวลาแขวนไว้บนรถเข็น แล้วลากกับล้อ บางทีก็ดำ ก็เลยชอบกระเป๋าที่ไม่ยาวมาก ถ้าเกิดเป็นคนสะพายก็อาจอยู่ประมาณสักเอว เราชอบกระเป๋าที่สีเข้มมากกว่า เพราะว่าไม่เลอะง่าย ด้วยความที่เรานั่งวีลแชร์บางครั้งกระเป๋าก็ไปถูกับของที่เราเดินผ่าน เช่น บางครั้งสะพายข้างเอาวางไว้ที่วางแขน แล้วเราก็เว้นไปขูดกับรถ ก็ติดฝุ่นมาหมดเลย ทีนี้เราก็เลยชอบกระเป๋าสีเข้ม ไม่ต้องดูแลมากและน้ำหนักเบา 

กระเป๋าที่ห้องก็น่ามีกระเป๋าอยู่สัก 10 ใบได้ ที่เหลือก็เป็นของแฟน มีทั้งกระเป๋าผ้าใบใหญ่ กระเป๋าสะพายข้าง และกระเป๋าสะพายแบบคาดตัว ตอนนี้ที่ใช้อยู่เป็นใบที่ สะพายคาดตัว สีขาวลายจุด ใบนี้เป็นกระเป๋ามือสองที่ได้มาจาก ตลาดนัดกลางคืนที่นึง ตอนไปซื้อเห็นมาแต่ไกลเลยว่า ลายสะดุดตาแล้วก็น่ารัก เราเองเป็นคนที่ชอบลายจุด ถึงแม้เป็นพื้นสีขาวก็ตามซึ่ง ปกติเราไม่ค่อยใช้ 

ของในกระเป๋าส่วนใหญ่มี กระเป๋าตังค์ โทรศัพท์ แบตสำรอง ลิป ผ้าเช็ดแว่น เหรียญ ยาดม กุญแจเข้าห้อง กรรไกร สมุดโน๊ต แล้วก็พวกอุปกรณ์แต่งหน้าเล็กๆ น้อยๆ  ลิปสติกแป้ง ครีมกันแดด หรือบางวันถ้ารู้ว่าต้องออกไปทำงานข้างนอกนานๆ ก็อาจพกขนมหรือลูกอมชิ้นเล็กๆ ไป เพราะว่าบางทีหิว หลักๆ ก็ประมาณนี้เพราะกระเป๋าใบค่อนข้างเล็ก ใส่อะไรไม่ได้เยอะ แต่ถ้าเป็นของที่อยู่นอกกระเป๋าส่วนมากก็พก iPad ไปด้วย 

ของที่เราขาดไม่ได้เลยจริงๆ ก็มีสมุดโน๊ต พี่คอยบันทึกปฏิทินตารางงาน โทรศัพท์  กุญแจห้อง ลิป กรรไกร อันนี้เป็นของพื้นฐานที่เราเช็คว่าลืมไหม มีอยู่หรือเปล่า อย่างลิปเพราะปกติเราเป็นคนปากแห้งมาก ก็เลยขาดไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้เอามารู้สึกว่าเป็นวันที่แห้งแล้ง

เราคิดว่าด้วยงานของเราต้องพกอุปกรณ์สื่อสาร หรืออุปกรณ์ที่สามารถพิมพ์งานได้ อย่างเมื่อก่อนช่วงที่เรายังไม่คุ้นเคยกับการใช้ iPad ในการทำงานเราก็ต้องพกคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ไปไหนมาไหนตลอด เพราะบางครั้งก็ต้องแก้งานบางครั้งก็ต้องพิมพ์งาน คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ก็แถมมาด้วยที่ชาร์จอันใหญ่ เพราะแบตเตอรี่อยู่ไม่ได้นาน ทำงานแป๊บเดียวก็ต้องชาร์จแล้ว ก็หนักอยู่เหมือนกัน แต่ว่าช่วงหลังก็เปลี่ยนเพราะมีวิธีการทำงานใหม่ๆ และเราก็เริ่มปรับตัว ก็เลยเริ่มมาใช้ iPad ในการทำงาน เพราะรู้สึกว่าชีวิตง่ายขึ้น แต่ถ้าต้องพิมพ์อะไรเยอะๆ หรือต้องพิมพ์อะไรนานๆ หรือต้องใช้ความเร็ว เราก็คิดว่าคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ทำงานสะดวกกว่าอยู่ดี เพียงแต่ทุกวันนี้เวลาไปทำงานก็อาจไม่ได้เร่งรีบขนาดนั้น ก็เลยสามารถพกไอแพด ไปได้ แต่ถ้าให้เลือกว่าทำงานที่ไหนสะดวกก็ต้องเป็นโน๊ตบุ๊คอยู่ดี 

เราคิดว่าด้วยความพิการของเรา การที่เรานั่งวีลแชร์ ก็มีข้อจำกัดเรื่องการถือของหรือการยกของเหมือนกัน หลายครั้งถ้าเราพกของเยอะเกินในกระเป๋าใบเดียว ก็หนักมากๆ เราก็เลยแยกเป็นหลายๆ ใบให้เป็นใบเล็กๆเพื่อที่เวลาเราหยิบ หรือยกกระเป๋าขึ้นมา จากพื้นหรือจากที่แขวนได้ไม่หนักมาก ทำให้เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ก็เห็นว่าเรามีทั้งกระเป๋าสะพาย กระเป๋าย่าม กระเป๋าถุง อยากแยกของเป็นอย่าง เพราะได้หยิบง่ายขึ้น เราพยายามทำให้ไม่พะรุงพะรัง เพราะเยอะแล้วอาจบวมแล้วไปฟาดนู่นฟาดนี่ 

อีกเรื่องหนึ่งที่เราอยากคุยกับผู้ผลิตก็คือ เรารู้สึกว่าหลายครั้งเราเห็นกระเป๋าที่น่ารัก แล้วเราก็อยากใช้งานเหมือนกัน ทั้งกระเป๋าสะพายและกระเป๋าถือ แต่พอเป็นเราที่นั่งวีลแชร์ กลับไม่น่ารักเหมือนเดิม คือไม่ได้อยู่ในท่าที่ควรอยู่ เหมือนในโฆษณา เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่าเราอยาก ใช้กระเป๋าที่สวยงามหรือกระเป๋าที่น่ารัก แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สะพายแบบนั่งแล้วยังสวยอยู่ เราเลยอยากให้คนที่ทำกระเป๋า ทำกระเป๋าที่มีหน้าตาน่ารัก หรือกระเป๋าที่ดูมีสไตล์เป็นแฟชั่น สามารถปรับหลายอย่างในกระเป๋าได้ เช่นปรับความยาวของสายกระเป๋า เพื่อให้คนที่นั่งวีลแชร์แบบเรา ก็สามารถสะพายได้สวย หรือการปรับฟังก์ชันบางอย่างเช่นทำให้ซิป จับและรูดง่ายขึ้น เพื่อให้คนที่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือคนที่มีแรงจับไม่มากสามารถเปิดกระเป๋าได้ง่าย ถ้าเป็นไปได้ก็คงอยากให้มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้น อยากให้มีกระเป๋าสำหรับคนที่ไม่ได้มีแรงมาก หรือถือกระเป๋าไม่ค่อยไหว  เราเชื่อว่าฟังก์ชันของกระเป๋าแบบนี้ก็สามารถทำให้ขายคนอื่นๆ ได้มากขึ้นเหมือนกัน  รวมทั้งขายคนที่นั่งวีลแชร์ได้ด้วย 

อีกอย่างนึงคือเวลาเพื่อนเราหลายคนที่นั่งวีลแชร์ เขาชอบเอากระเป๋าเป้สะพายไว้ข้างหลัง แต่ส่วนตัวเราไม่เคยสะพายกระเป๋าเป้เลย ไม่ใช่ว่าไม่ชอบกระเป๋าเป้ แต่สำหรับเรากล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง และมีแรงน้อย งานสะพายไว้ข้างหลังทำให้เราไม่สามารถหยิบได้ ไกลและใช้แรงเยอะในการที่หันไปหยิบ ส่วนตัวเราเองก็เลยใช้กระเป๋าสะพายและเลือกที่เอาไว้ข้างตัวมากกว่า เพราะว่าหยิบง่าย รู้สึกสบายใจกว่า เพราะถ้าอยู่ข้างหลังเราก็มองไม่เห็น ว่าใครมายุ่งกับกระเป๋าเราหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราก็เอาไว้ข้างๆตัวดีกว่า 

กรรไกร

ชิ้นแรกที่เราเลือกก็คือกรรไกร หลายคนอาจรู้สึกแปลกใจ ที่เราพบกรรไกร แต่ว่าด้วยความที่เราเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง มือและนิ้วของเราไม่แข็งแรง หลายอย่างเราก็ทำได้ แต่บางครั้งอะไรที่ต้องอาศัยการใช้แรง หรือการจับแน่นๆ หรือการดึง เราทำไม่ค่อยไหว เช่นแกะถุงขนม แกะพัสดุ ดึงป้ายเสื้อที่เพิ่งซื้อ เราดึงไม่ออก เราก็ต้องมีกรรไกรพกเอาไว้เพราะเรารู้สึกว่า ใช้งานง่าย ออกกรรไกรที่เราพบเป็นกรรไกรพกพาเล็กๆ มีปลอกใส่ด้วย ก็ทำให้ไม่อันตรายเวลาอยู่ในกระเป๋า หรือถ้ามีอะไรที่ต้องแกะเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนมหรือลูกอม หรือซื้อของมาแล้วแกะไม่ได้ กรรไกรก็ทำได้หมด 

แต่ก็มีบางอย่างที่ถึงแม้เรามีกรรไกรแต่ก็ยังทำไม่ได้อยู่ดี เช่นการเปิดขวดน้ำ อันนี้เราก็ยังเปิดไม่ได้เพราะเราหมุนไม่ออก เราก็ยังพยายามหาอยู่ว่ามีอะไร ที่สามารถช่วยเราหมุนขวดน้ำได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าเป็นกระป๋องแบบเปิดเราสามารถเอากรรไกรงัดได้อยู่ โดยเฉพาะวันไหนถ้าเพิ่งไปทำเล็บมาเราก็ไม่อยากใช้เล็บเปิดกระป๋องเลย ใช้กรรไกรก็ง่ายขึ้นเหมือนกัน ได้ทั้งตัดได้ทั้งงัด 

สมุดโน๊ตจดงาน

ส่วนสมุดก็อาจงงใช่ไหมว่าเดี๋ยวนี้ หลายคนก็ใช้พิมพ์ในโทรศัพท์มือถือ หรือบันทึกลงในปฏิทินในมือถือแต่เรายังเป็นคนที่ชินกับการบันทึกงานลงในสมุดอยู่ เรารู้สึกว่าจับต้องได้ ก็เป็นอะไรที่ดูง่ายสำหรับเรา นอกจากบันทึกลงไปใน วันนั้นๆ แล้ว ยังสามารถจดโน๊ตอื่นๆ ทำเป็นสีต่างๆ ได้ หรือใช้ปากกาไฮไลท์สีต่างๆ มา ทำแล้วสนุก แต่ก็มีปัญหาเหมือนกันด้วยปัจจุบันในหลายๆ ครั้งเราไม่ค่อยพกกระเป๋าออกไปข้างนอกเราถือแค่โทรศัพท์เพราะโทรศัพท์ทำได้ทุกอย่างเช่นจ่ายเงิน ดูคลิป โทรหาคนอื่นได้ ทำได้ทุกอย่างแล้ว เราเลยไม่ค่อยถือกระเป๋าลงจากรถ เช่น เวลาออกไปกินข้าว เราก็เอาไปแค่โทรศัพท์ 

แล้วทีนี้เวลาที่ต้องเช็คงาน ระหว่างที่เราอยู่ข้างนอก หรือระหว่างที่มีแค่โทรศัพท์ ก็ทำให้เราไม่สามารถเช็คงานได้ เพราะเราต้องกลับมาเปิดโน๊ตที่บ้าน นี่ก็เป็นข้อเสียเหมือนกัน ก็เลยคิดว่าอาจต้องทำทั้ง 2 ระบบ แต่ก็ยังรู้สึกว่าการเขียนให้ความสนุกและ ให้ความรู้สึกที่ เราใส่อารมณ์ได้ เช่นบางนาเราอยากไปมากเราเขียนด้วยสีนึง ใส่สติ๊กเกอร์หรือใส่หน้ายิ้ม แต่ว่าในโทรศัพท์ทำแล้วก็ไม่รู้สึกขนาดนั้น ก็เลยยังชอบเขียนในสมุดอยู่ คิดว่าปีหน้าก็คงยังซื้อสมุด น่าเป็นเล่มเล็กๆ ประมาณนี้แหละ เพราะกระเป๋าเราก็เล็ก พกใหญ่กว่านี้หนัก 

ไอโฟน มินิ

ไอโฟนของเราเป็นรุ่นมินิ อย่างที่บอกว่าเราเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง แล้วการถือของหนักๆ หรือการถืออะไรที่มีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ ทำให้เราล้าเร็ว รู้สึกอ่อนแรงมากขึ้น รู้สึกเมื่อยและถือไม่ไหว  อย่างที่เรารู้กันโทรศัพท์เป็นสิ่งของที่ติดอยู่กับมือเสมอ แทบต้องถือตลอดเวลาเพื่อตอบข้อความ เราเลยรู้สึกว่าไอโฟน เครื่องเล็กๆ ถือง่าย ไม่เมื่อยและสามารถพิมพ์ได้ด้วยมือเดียว 

บางครั้งมือข้างเดียวของเราก็ใช้ขับรถวีลแชร์ เพราะรถวีลแชร์ของเราเป็นรถวีลแชร์ไฟฟ้า มีจอยสติ๊กอยู่ทางขวามือ มืออีกข้างหนึ่งก็ยังสามารถพิมพ์ข้อความได้อยู่ หรือไม่ก็กดส่งเป็นเสียงเพื่อคุยธุระได้อยู่ เรารู้สึกว่าสะดวกมากแต่ก็ต้องแลกมากับการที่จอค่อนข้างเล็ก เดี๋ยวนี้พอไปเห็นของคนอื่นส่วนใหญ่เขาใช้แต่จอใหญ่ๆก็รู้สึกว่าของเราเล็กแล้วก็ดูอะไรได้น้อยกว่าคนอื่นแต่สำหรับความสะดวกเราคิดว่าใช้สะดวกมาก เพราะ เบา เล็ก และกะทัดรัด เก็บง่ายถือง่าย 

เรารู้สึกว่าเหมาะกับคนที่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งเพื่อนของเราอีกหลายคนที่เป็นโรคเดียวกัน พอใช้ไอโฟน มินิ เหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าขนาดกำลังดี กับการถือไม่หนัก แถมใส่เคสแล้วก็ยังถือไหว แต่ในบางรุ่นก็ค่อนข้างมีน้ำหนัก ขนาดยังไม่ใส่เคสก็คือหนักแล้ว ส่วนอีกเรื่องนึงก็คือเราชอบหลับระหว่างเล่นโทรศัพท์ อาจอ่านหรือดูอะไรอยู่แล้วหลับ แล้วก็หล่นมาฟาดหน้า เรารู้สึกว่า ไอโฟน มินิ

ก็ฟาดเบาลงนิดนึง ไม่เหมือนกับ ไอแพด หรือโทรศัพท์เครื่องใหญ่ที่ฟาดทีแล้วรู้สึกว่าหน้าแหก 

  Culture & Artบทความคุณภาพชีวิตนลัทพร ไกรฤกษ์ล้วงกระเป๋าคนพิการ
Categories: ThisAble

บาดแผลของจอห์น มกจ๊ก และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้

ThisAble - Fri, 2023-09-15 01:26

เวลาเราเห็นข่าวผู้กระทำผิด ถูกดำเนินคดี และถูกส่งเข้าเรือนจำ หลายคนอาจดีใจที่อาชญากรคนหนึ่งถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ คนดีถูกปกป้องจากคนเลวได้ สังคมปลอดภัยภายใต้การมีอยู่ของกฎหมายและเรือนจำ ดังเช่นวลีแบบ “เอามันไปติดคุก แบบนี้ต้องประหาร” และอีกหลากหลายคำพูดในฐานะความเห็นของบุคคลทั่วไป เรากำลังพูดถึง กระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) ซึ่งถูกใช้ในระบบความยุติธรรมไทยมายาวนาน ใครทำผิดก็ถูกตัดสินโทษและจำคุกหรือประหารชีวิตอัตราโทษร้ายแรง 

ด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ทำให้ นักโทษล้นคุก หลายคนออกไปกระทำความผิดซ้ำ และถูกส่งตัวกลับมาอยู่ที่เดิม หลายคนติดคุกวนเวียนเป็นวัฎจักร กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) จึงถูกเสนอขึ้นเพื่อพยายามแก้ไขวังวนของการเกิดอาชญากร และหยุดระบบการกระทำผิดซ้ำ

ตามที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พูดถึงเป้าหมายของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ว่าเป็นการทำให้คู่กรณีสามารถปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ผู้กระทำผิดสำนึกผิด และยินยอมในการเข้ารับการช่วยเหลือฟื้นฟูพฤติกรรม พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผ่านคนกลางที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการทำหน้าที่เป็น facilitator ระหว่างคู่กรณี วิธีการเช่นนี้ยังเป็นวิธีการที่ช่วยบรรเทาความแตกแยกได้ในหน่วยสังคมขนาดเล็กอย่างครอบครัว โรงเรียน หมู่บ้าน และชุมชน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากย้อนพาไปรู้จักกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับจอห์น มกจ๊ก ในปี 2547 วันที่โจ้ มกจ๊ก สามีถูกวัยรุ่นอายุ 17 ปี ปาก้อนหินใส่รถตู้จนเสียชีวิต ทำให้จอห์นต้องสูญเสียสามีไปในวันนั้น และชีวิตต้องเปลี่ยนไปจากการไร้ผู้นำครอบครอบครัว หากแต่แค่นั้นไม่พอ เธอยังสูญเสียลูกสาวอีก จนเวลาผ่านไปหลายปีก็มีข่าวว่าจอห์นประกาศให้อภัยเด็กที่ทำร้ายสามีของเธอ ปรากฏภาพสวมกอดกับเด็ก จนเกิดคำถามว่ากระบวนการแบบไหนทำให้เธอให้อภัยต่อผู้ที่ทำให้เธอชีวิตเปลี่ยนไปขนาดนี้ 

เราย้อนเวลาไป 20 ปีก่อน วันที่ชีวิตเธอเปลี่ยนไปตลอดกาล รวมถึงย้อนไปในวันที่เธอเริ่มเล่นตลก วันที่เจอโจ้ วันที่สร้างครอบครัว รวมถึงวันที่มีลูก เพื่อทำความรู้จักพวกเขาทั้งครอบครัว จนถึงวันที่เธอตัดสินใจให้อภัยคู่กรณี อะไรทำให้เธอคิดและรู้สึกอยากให้อภัย นอกจากนี้เรายังได้คุยกับป้ามล หรือทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะผู้ผลักดันเรื่องราวที่เกิดขึ้น เราชวนป้ามลตั้งคำถามหลากหลาย เราให้อภัยคนที่ทำผิดได้ไหม เกิดกระบวนการอะไรบ้าง และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้เป็นอย่างไร มีสิ่งที่มีทั้งคำตอบและไม่มีคำตอบในบทสัมภาษณ์นี้ ที่เราอยากชวนผู้อ่านสัมผัสไปพร้อมกับเรา

จุดเริ่มต้นของจอห์น

จอห์น : เราเป็นคนหนองคาย เรียนจบป. 6 พออ่านออกเขียนได้ ตอนนั้นไปเที่ยวที่ชลบุรีแล้วก็แวะมากรุงเทพฯ อยากรู้ว่าคาเฟ่มันเป็นยังไง พอดีตอนนั้นไปนั่งกินข้าวอยู่หน้าพระราม 9 คนในคณะพี่เหลือเฟือ (มกจ๊ก) มาเห็นก็เลยชวนเราไปแนะนำตัวและไปนั่งดูเขาเล่นจนจบ วันแรกที่เจอแกก็รับเข้าไปอยู่ในคณะแล้วควักตังค์ให้ 500 บาทไปซื้อข้าวกิน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการมาเล่นตลก 

ช่วงแรกๆ เข้าไปเป็นคนแคระถือป้ายตอนเขาต่อยมวย ทำเป็นยก 1 ยก 2 โดยมีคนแคระอีก 2 คนต่อยมวยกัน จากนั้นก็ได้เล่นมาตลอด เราไม่ค่อยได้พูดหรอก แค่เขาเห็นสังขารร่างกายของเราเขาก็ตลกแล้ว เป็นคนแคระไม่ค่อยได้มีโอกาสพูด เขาให้ทำอะไรก็ทำ 

สมัยก่อนเล่นตามคาเฟ่ก็ได้ที่ละ 150 บาท วันธรรมดาก็มีประมาณ 2 ที่ วันเสาร์ - อาทิตย์ก็อาจมี 3-5 ที่ ถ้าไปเล่นงานนอกหัวหน้าก็ให้ค่าตัวคนละ 1,000 บาท อันนี้เป็นเรทเฉพาะคนแคระ คนอื่นเขาก็ให้ตามเรทปกติ แต่งานนอกก็ไม่ได้มีทุกวัน จะมีนานๆ ที เงิน 1,000 บาทก็ถือว่าเยอะนะสมัยก่อนทอง 1 สลึง อยู่ที่ประมาณ 1,400 บาท

 

พบรักที่คณะเหลือเฟือ

โจ้เขาอยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยวงนักร้องลูกทุ่ง เฉลิมพล มาลาคำ ตอนหลังพี่เหลือเฟือ ก็ชวนโจ้มาอยู่ในคณะด้วยกัน เลยได้เจอกันและมีโอกาสเล่นตลกด้วยกัน เขาเป็นตลกที่ฉลาดและก็สามารถร้องเพลงได้ด้วย ในบรรดาตลกคนแคระทั้งหลายก็จะมีโจ้คนเดียวที่สามารถร้องเพลงลูกทุ่งได้ด้วย 

ตอนมาอยู่กรุงเทพฯ ครั้งแรกเราไม่เคยคิดเรื่องการมีครอบครัว เราเป็นคนห้าวๆ แบบนี้ โจ้เขามาแอบชอบเราแต่เราไม่รู้ มีอะไรเขาก็ซื้อมาให้เรากินแต่เราก็เฉยๆ แต่พอเพื่อนในคณะเริ่มแซวนานๆ เข้า ก็เริ่มรู้สึกแปลกๆ เลยเรียกโจ้มาคุยว่าตกลงเป็นอย่างไร เขาก็ปฏิเสธ แต่หลังจากนั้นโจ้ก็ซึมๆ หงอยไปเลย เล่นตลกก็ไม่ฮา ตอนหลังพี่เหลือเฟือบอกว่าโจ้มันชอบเรา เราก็บอกว่าจะบ้าเหรอเป็นคนแคระด้วยกันมาเอากันเองอายเขา จอห์นไม่อยากมีครอบครัว

จนเวลาผ่านไปหลายเดือนเราก็เริ่มเห็นใจโจ้ ก็เลยได้มีโอกาสคบกัน ตอนนั้นถึงขั้นเป็นข่าวเลย วันนั้นเราบอกว่าขอทดสอบเขาด้วยการให้เขาเก็บเงินว่าจะสามารถเก็บออมได้ไหมซึ่งเขาก็ทำได้จริงๆ ให้ลดบุหรี่เขาก็ลดได้ ลดจนเลิกได้เลย เมื่อเราเห็นว่าเขาทำได้เราก็โอเคแต่งงานด้วย พี่เหลือเฟือเป็นคนบอกให้เราจัดงาน พี่หม่ำก็มาเป็นผู้ใหญ่ในวันสู่ขอ เรายังจำได้ว่าแกพูดติดตลกว่าตัวเองก็ไม่ได้แต่งงานเหมือนกันหนีตามกับเมียมา วันนั้น เพื่อนๆ พี่ๆ ตลกก็มาช่วยกัน 

เราก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้เป็นคนที่มีครอบครัว ตอนแต่งงานก็ได้ลงหนังสือพิมพ์ออกทีวีทุกช่อง เขาน่าจะไม่เคยเห็นคนแคระแต่งงานกัน สมัยก่อนคงมองเป็นเรื่องแปลก แต่เราก็เฉยๆ มองเป็นเรื่องปกติ ร่างกายเราก็เหมือนคนอื่นทุกอย่างแค่ส่วนสูงเราไม่สูงเฉยๆ แขนไม่ยาว ขาไม่ยาว ความคิดความอ่านความรู้สึกเราก็เหมือนกับทุกคน ตอนตั้งครรภ์ก็ปกติ 

หลังจากแต่งงานก็มาเช่าห้องอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นก็มีลูกด้วยกัน บางคนก็มีคำถามว่าคนแคระมีลูกเป็นอย่างไร แต่คลอดลูกเราผ่าออก แต่ก็เป็นเรื่องปกติไม่มีอะไร ที่คลอดพร้อมกันบางคนต้องไปอยู่ตู้อบ แต่น้องเจนนี่แข็งแรงไม่ต้องไปอบ น้ำหนักเยอะด้วย 2 โล 6 ขีด เป็นเด็กแข็งแรง ตอนนั้นลูกสาวของพี่หม่ำ น้องเอ็ม มาเยี่ยมที่โรงพยาบาลแล้วก็เลยตั้งชื่อเล่นให้ว่าน้องเจนนี่ หลังคลอดลืมตามาก็เห็นซ้อใหญ่ (พี่มดแฟนพี่หม่ำ) มาเยี่ยมแล้ว ส่วนชื่อจริงเราเป็นคนตั้งให้ว่าศุภวรรณ 

หลังผ่าคลอดเราอยู่โรงพยาบาลถึงวันสุดท้าย ตอนเก็บของ เราก็พบว่า ซ้อมดซื้อของใช้เด็กมาให้เต็มตู้ฝากของของเราเลย ไม่ว่าจะเป็นแพมเพิส แป้ง เสื้อผ้าเด็ก น้องเจนนี่ใช้อยู่ปีครึ่งยังไม่หมดเลย 

ชายที่ชื่อโจ้ 

กลับมาที่เรื่องโจ้  โจ้เป็นคนที่ใจดีคุยเก่ง หลังจากมีครอบครัวเราก็แบ่งหน้าที่กัน จอห์นเป็นคนดูแลที่บ้าน ส่วนโจ้จะเป็นคนหาเงิน เขากลับมาจากทำงานแล้วก็เป็นคนดูแลเขา เราก็หาข้าวหาปลาให้เขากิน เพราะบางวันเขาก็กลับจากเล่นตลกดึก 

เขาเป็นคนที่ชอบคุย คุยเก่ง ได้คุยแล้วก็คุยไม่หยุด บางทีเราก็รำคาญ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่มีอะไรหรอก เขาก็จะเล่าให้เราฟังตลอดว่ามีนัดอะไรกับใครที่ไหนอย่างไร หรือให้เราช่วยปลุกเพราะจะไปซ้อมเล่นตลกตอนไหน ตอนอยู่ด้วยกันมีความสุขนะ ตอนที่เสียเขาไปเราก็เลยเครียดหนักและคิดหนักว่าจะอยู่อย่างไร เรากลัวและไม่รู้ว่าจะตอบลูกอย่างไรเมื่อเขาถามหาพ่อตัวเอง 

วันที่เสียโจ้

เขาบอกเราว่าจะหายไป 2-3 วันคือไปเดินสายเล่นเวทีไทย ไปแถวเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง วันเกิดเหตุเรากำลังจะนอน ก็ปิดโทรศัพท์เพราะลูกได้ยินเสียงแล้วเขาจะร้องไห้ ไม่อยากให้เสียงโทรศัพท์รบกวนลูก พอดีตื่นเช้ามากำลังจะไปซื้อนมให้ลูก กำลังออกจากบ้านเจอคนในคณะเดินเข้ามาหาในบ้าน เราก็คิดว่าเขามาด้วยธุระอื่น พอมาถึงเขาก็บอกให้เราใจเย็นๆ โจ้มันโดนวัยรุ่นเขวี้ยงหินใส่รถตู้ โจ้มันเสียแล้ว ตอนได้ยินครั้งแรกก็ไม่เชื่อ แต่พอพี่เหลือเฟือเดินเข้ามาเล่าซ้ำอีกครั้ง เราก็ทรุดลงไปเลย 

ตอนนั้นรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น เพราะเหมือนกับเราเพิ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว มีความสุขตามอัตภาพ พอโจ้ไปแล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร ทั้งลูกและภาระก็ยังรออยู่ หมดงานศพเราก็เพิ่งมีสติกลับมานั่งคิด เลยตัดสินใจจะทำหมูแดดเดียวขาย เราคิดในใจตอนนั้นว่าจะต้องเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ให้ลูกให้ได้ ตอนนั้นพี่เหลือเขาก็มาช่วยดูแล พาเราไปเที่ยวนู่นเที่ยวนี่เพราะกลัวเราจะเบื่อ 

รสชาติของชีวิต

เราเริ่มมาขายหมูแดดเดียว แต่พอทำไม่นานก็เจอรอบ 2 อีกคือเสียลูก 2 ปีกว่าหลังจากที่เราเสียโจ้  ตอนนั้นเราเป็นบ้าไปเลยพักนึง ไม่มีสติใครพาไปไหนก็ไป ก็มีเล่นพนันบ้างแต่ไม่ถึงขั้นกับเข้าบ่อน เราเล่นกับพวกแม่ค้าช่วงบ่ายตอนที่ไม่มีลูกค้า เล่นกันสนุกสนาน มีคนอื่นมาเห็นแล้วเขาเอาไปพูดต่อว่าเราติดการพนัน กลายเป็นข่าวว่าเราเละเทะ แต่พอตั้งสติได้เลยทำน้ำพริกตัวนี้ขึ้นมา ตอนนั้นมีคนเคยถามว่า ผัวตายลูกตายทำไมไม่ฆ่าตัวตายตามไปเลย เราต้องเอากลับมาคิดว่าเขาให้กำลังใจหรือเขาซ้ำเติมกูกันแน่ เลยรู้สึกว่าเราต้องเอาชนะความคิดของคนพวกนี้ให้ได้ 

เราเลยได้ความคิดว่าถ้าใครอยากรู้ความเจ็บปวดของจอห์นก็ต้องมากินน้ำพริกของจอห์น จะได้รู้ว่าความเจ็บปวดมันเป็นอย่างไร ลึกๆ เราอยากให้คนที่ดูถูกเรามาเจอสถานการณ์แบบเราเขาจะได้รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร 

ช่วงแรกๆ เราก็คิดว่าเรื่องนี้คงเป็นเรื่องของกรรมเวร ชาติที่แล้วเราคงไปทำอะไรเขาไว้ ชาตินี้เขาเลยมาเอาคืน คิดอีกแง่นึงรู้สึกว่าคงหมดเวรหมดกรรมของเขา (โจ้และเจนนี่) แล้ว มีแต่เราที่ยังต้องใช้กรรมใช้เวรให้หมด ชาติหน้ามีจริงเราคงได้กลับมาเป็นเนื้อคู่กันอีกมาอยู่เป็นครอบครัวด้วยกันอีก แต่ถ้ามันไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร

ความแค้นและกรรมเก่า

แรกๆ หลังคนที่ปาหินโดนจับเราไม่มองหน้าเขาเลย ขึ้นศาลก็ไม่เคยมองหน้าเขา เห็นแค่รูปร่างว่าเขาเป็นคนตัวใหญ่เท่านั้น จนหลายปีผ่านมาหลังเจนนี่เสียก็รู้สึกได้ว่าเออถ้าเราให้อภัยเขาได้คงดี ถ้าเราลดความแค้นให้น้อยลงชีวิตของเราก็ดีขึ้น เพราะโจ้ก็ตายไปแล้วเจนนี่ก็ไม่อยู่แล้ว เราเอาอะไรกลับมาไม่ได้ 

ตอนนั้นอยากให้อภัยเขาก็เลยโทรหาป้ามล บอกป้ามลว่าเราอยากเจอ คนที่ทำร้ายโจ้ จอห์นอยากให้อภัย เผื่อชีวิตของจอห์นดีขึ้น 

ตอนที่มีเรื่องถามว่าในใจแค้นไหมก็แค้น อยากให้เขาโดนเหมือนที่เราโดน อยากให้เขารู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก ก็มีคิดว่าเป็นเพราะชาติที่แล้วเราเคยไปทำกับเขาหรือเปล่า ชาตินี้เขาเลยมาเอาคืน ถ้าเราให้อภัยเขาในชาตินี้มันก็คงจบในชาตินี้ หยุดกงเกวียนกงกรรม ไม่ต้องจองล้างจองผลาญอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด จอห์นอยากให้มันหมดในชาตินี้ อย่าให้เจอแบบนี้อีกในชาติหน้า 

หลังจากมีเรื่องราวป้ามลก็เป็นคนที่เข้ามาดูแลเราตลอด เราขาดตกบกพร่องอะไรป้ามลก็คอยสอบถามและช่วยเหลือตลอด เข้ามาช่วงแรกๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร บอกแค่ว่าเป็นคนที่มาจากบ้านกาญจนา บ้านเดียวกับคนที่ทำร้ายโจ้ไปอยู่ โดยมีป้ามลเป็นคนดูแลเหมือนเป็นครูใหญ่ของบ้าน ป้ามลก็ดูแลเราจนถึงทุกวันนี้ ไปหาหมอก็ได้บ้านกาญจนานี่แหละช่วย

หลังจากที่เราบอกอยากให้อภัยแล้วป้าก็เลยจัดพิธีขอขมาให้ วันงานเขาก็ถือพวงมาลัยมากราบเรา เราก็กอดแล้วก็ตบหลังเขาเบาๆ บอกเขาว่ามีลูกบอกลูกมีหลานบอกหลานว่าอย่าทำแบบนี้ ทำแล้วคนข้างหลังเขาก็เดือดร้อน ถ้าเป็นครอบครัวของตัวเองจะรู้สึกอย่างไร มีอะไรก็ต้องคิดก่อนทำ เพราะสิ่งที่คุณทำมันทำให้พี่ลำบากมาก เขาก็พยักหน้าร้องไห้แล้วเราก็กอดกัน 

ก่อนหน้านี้เรารู้สึกเหมือนเท้าติดอยู่ในโคลน เพราะเหมือนเราเอาความทุกข์มาฝังไว้กับตัวเองหมด ความแค้นอยู่กับเราหมด เราจมอยู่กับมันและขึ้นมาไม่ได้ เรากังวลอยู่กับเรื่องนี้หากินอะไรก็ไม่ขึ้น พอเราให้อภัยเขาแล้วก็เหมือนขึ้นมาได้มันก็โล่งไปหมด มีแต่ความสบายใจ 

ให้อภัยคนไม่ง่าย

ถ้าใจเราไม่บริสุทธิ์ยังไงก็ให้อภัยไม่ได้ พูดว่าให้อภัยแต่ในใจยังมีความแค้นก็ไม่ได้ เราอยากให้อภัยต่อหน้าเขาพูดกันให้รู้เรื่องไปเลย ต้องรู้สึกให้อภัยจริงๆ ไม่ใช่พูดแต่ปาก ใจยังแค้น  ต้องพูดต้องระบายให้หมดต้องให้อภัยเขาจริงๆ นะ ไม่รู้จะแค้นต่อไปทำไม สุดท้ายคนตายก็ไม่ฟื้น มัวแต่จมปลักอยู่กับอดีต ชีวิตเราและน้องเขาก็ไม่ได้ไปไหน 

เราไม่รู้ว่าคนอื่นที่มองเข้ามาคิดอย่างไร แต่เราให้อภัยไปแล้วเราก็สบายใจ เรารักเขาเหมือนพี่น้อง มีคนพูดเหมือนกันว่าทำไมไปให้อภัยเขาแบบนั้น เราก็อธิบายไปแบบที่เรารู้สึกนี่แหละ แต่เขาเชื่อไหมอีกเรื่องนึง เราก็ไม่มานั่งสนใจ แค่รู้สึกว่าคนข้างบนมองลงมาเขาก็น่าจะดีใจเหมือนกัน จอห์นคิดว่าถ้าโจ้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็คงทำแบบที่จอห์นทำนี่แหละ เพราะเราก็มีนิสัยที่คล้ายๆ กัน ถ้าเรามัวแต่โกรธแค้นกันยังไงมันก็ไม่จบ เราอภัยให้เขาแล้วถ้าเขายังไปสร้างปัญหาอีกก็แล้วแต่เขา แต่เราสบายใจแล้วเราโล่งแล้วพอแล้ว 

ทุกวันนี้เราก็ยังกลับมาที่บ้านกาญจนาทุกปี ป้าเขาให้มาเราก็มา เราก็กลับมาเล่าเรื่องของตัวเองให้น้องๆ ที่นี่ฟัง ว่าสิ่งที่ทำมันมีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร ถ้าออกไปแล้วก็อย่ากลับไปทำอีก บางเรื่องมันก็ไม่มีทางแก้ไข แล้วคนข้างหลังเดือดร้อนไหม ดูพี่เป็นตัวอย่างพี่สูญเสียทุกอย่างและก็ไม่เหลือใครเลย กว่าจะออกมาได้ก็แย่ ทำผิดครั้งแรกมีคนให้อภัยได้แต่ถ้ายังทำผิดอีกคนที่อยากให้อภัยก็มีน้อยลง เราก็บอกความคิดความรู้สึกเราแบบนี้

โรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้

ป้ามล หรือทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในเรื่องราวทั้งหมด ทั้งด้านของผู้สูญเสียซึ่งเจ็บปวด และด้านผู้กระทำผิดซึ่งสับสนและหลงทาง จึงเกิดเป็นแนวคิดที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้หันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน ป้ามลยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้ทำง่าย แต่ทำได้เพราะทั้งผู้กระทำและผู้สูญเสียมีความเป็นมนุษย์ภายใต้ความอ่อนแอหรือความเข้มแข็ง

ป้ามล : จุดเริ่มต้นคือคนที่ทำร้ายสามีจอห์นเป็นเยาวชนปาหินใส่รถตู้จนมีคนเสียชีวิตและถูกจับ จากน้ันก็มาติดอยู่ในสถานควบคุมของเยาวชนเพราะวันที่เขาก่อคดีเขาอายุ 17 ปี เรารู้ว่าเขาคือเด็กในข่าว บ้านกาญจนามีเด็กจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือข่าวทีวี พอเข้ามาถึงบ้านกาญจนา เราดูข้อมูลจากแฟ้มของเขา รวมถึงเรื่องราวที่อยู่ในพื้นที่ข่าวพร้อมกับได้เห็นตัวจริงของเขา

บางมิติการทำงานเราแบ่งเด็กเป็นสองกลุ่ม  กลุ่มแรกคือเด็กก่อคดีที่อยู่ในพื้นที่ข่าวกับกลุ่มสองเด็กก่อคดีแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ข่าว บาดแผลของเขา ความลึกตื้นไม่เท่ากัน เพราะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ข่าวในระยะยาว เรื่องของเขาไม่หลุดหายไปเลยจากตรงนั้น ต่อให้เขาจะอายุสักเท่าไรก็ตาม แต่เด็กที่ไม่เป็นข่าว ระยะยาวเรื่องราวจะหายไป การคุกคามจากอดีตไม่หนัก ไม่รุนแรงอันนี้เป็นสมมติฐานของป้า

สิทธิที่จะถูกลืม

เมื่อเราทำงานกับเขาทั้งสองกลุ่มทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า เราจะควบคุมตัวเขาตามคำพิพากษาของศาลก็พอใช่ไหม เราไม่ต้องทำอะไรแล้วใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่ เพราะเด็กขึ้นหน้า 1แผลลึกกว่า เพราะ ความทรงจำของเขารวมทั้งความทรงจำของสังคมที่มีต่อเขามันอยู่นาน แต่ในปีนั้นป้ายังไม่รู้จักคำว่าสิทธิ์ที่จะถูกลืม ป้ามารู้จักคำนี้ตอนที่ทำเรื่องเด็ก ผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศ 

เรารู้สึกได้ว่าต่อให้พาเขาไปสู่กระบวนการยุติธรรม จนสามารถเอาคนที่กระทำต่อเธอมาลงโทษได้ตามกฎหมาย และกฎหมายก็ดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้น แต่ปรากฏว่าเยียวยาได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะเรื่องราวของเธอที่อยู่บนพื้นที่ข่าวซึ่งเป็นเรื่องของการถูกละเมิดทางเพศ ไม่เคยหายไป เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ข่าวของเธอหายไปหรือไม่ตามมาคุกคามเธอในระยะยาว ทำให้เรารู้จักคำว่า “สิทธิที่จะถูกลืม” หมายถึงเรื่องราวของเธอจะถูกลบออกไปด้วยอำนาจของกฎหมายซึ่งตอนนี้ยังเป็นแค่เป็นไอเดีย 

ย้อนกลับไปที่เด็กบ้านกาญจนา ที่ป้าพูดเมื่อกี้เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงที่เป็นเหยื่อการถูกละเมิดทางเพศ แต่เด็กบ้านกาญจนาเป็นผู้กระทำต่อคนอื่น เราก็พบว่าไม่ว่าเขาจะเป็นเหยื่อในกลุ่มไหน เด็กผู้หญิงที่ถูกละเมิดหรือเด็กบ้านกาญจนาซึ่งเป็นผู้กระทำต่อคนอื่น จริงๆ เขาก็มีความเหมือนกันโดยเฉพาะ ในมิติที่เรียกว่าเป็นผลผลิตของสังคม รากเหง้าของปัญหามาจากที่เดียวกัน แต่เขาออกมาเป็นผลผลิตหรือแสดงผลที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นพอป้าได้มีโอกาสทำงานกับเด็กผู้ชายซึ่งอยู่ในพื้นที่ข่าวป้าพบว่าแค่เราเข้าใจถึงความเจ็บปวดของเขาอย่างเดียวไม่พอ ก็พยายามดูแลเขาอย่างดีที่สุด บาดเจ็บที่ไหนรักษาที่นั่นให้ดีที่สุด เจ็บที่ใจก็รักษาที่ใจ แต่ก็ยังไม่พออยู่ดี 

เราก็เลยมองหาเครื่องมือที่จะทำให้เขาได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมและเราก็นึกถึงผู้เสียหายของเขา ซึ่งก็ต้องบาดเจ็บเหมือนกัน ไม่ว่าจะบาดเจ็บ เพราะคนที่เป็นคู่ชีวิตตายหรือ คนที่เป็นลูกหลานตายหรือตัวเองบาดเจ็บแต่รอดชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เดียวดาย ก็เป็นเรื่องที่หดหู่ทั้งสิ้น จากจุดนั้นก็เลยทำให้เราตามหาจอห์น  ในฐานะผู้เสียหายในคดีที่เด็กบ้านกาญจนา ปาหินใส่รถตู้จนทำให้สามีเขาเสียชีวิต 

คุยกับจอห์น

ครั้งแรกที่พบจอห์น เขาไม่ตอบรับหรอก แต่เราก็เตรียมใจอยู่แล้ว เพราะว่าเราไปในฐานะคนดูแลคนที่ทำให้สามีเขาเสียชีวิต เขาไม่ตอบรับอยู่แล้วอันนี้เราไม่ได้โลกสวย เราเตรียมใจไว้แล้ว 

ใช่ ! พอไปเจอจอห์นจริงๆ เขาไม่อยากคุยด้วย ไม่เป็นมิตร เราก็เข้าใจ ตอนนั้นเขาทำน้ำพริกขาย ห้องที่ทำน้ำพริกเป็นห้องเล็กๆ ซึ่งเราเห็นสภาพแล้วเราก็รู้สึกได้ว่าดูไม่น่าทำของขายได้ ไม่ว่าความสะอาดหรือว่าอุปกรณ์ในการทำ เราก็ลองเสนอทางเลือกให้กับเขา ซึ่งตอนนั้นก็จำได้ว่าเราเปลี่ยนเครื่องปั่นน้ำพริก จากเครื่องปั่นอันเล็กๆ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อทำให้ได้ในปริมาณที่เยอะขึ้น แล้วก็ปรับพื้นที่บ้านให้ดูสะอาดเหมาะสมกับการที่จะทำอาหารการกิน ซึ่งระหว่างที่ไปป้าก็มีเด็กบ้านกาญจนาไปด้วย  แต่ไม่ใช่คนที่ปาหิน ไม่ใช่คู่กรณีของเขาโดยตรงเพราะไม่ใช่จังหวะที่ควรทำ แค่ทำให้เขามีโอกาสได้เห็นเด็กๆ ซึ่งในเชิงสัญลักษณ์ก็คือพวกเดียวกัน แต่ไม่ใช่คนที่ทำร้ายสามีของจอห์น หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในแต่ละครั้งที่เราเข้าไป 

เราเข้าไปดูแลเรื่องที่อยู่ ความสะอาด สุขอนามัยการทำน้ำพริกของเขา เกือบปี จากนั้นเขาแจ้งมาโดยการส่งข้อความมาบอกว่าป้า “หนูอยากให้อภัยเด็กคนนั้น หนูไม่รู้จะทำอย่างไร ป้าจัดการได้ไหมหรือป้ามีวิธีอย่างไร”  จริงๆ ที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยพูดว่าเขาต้องให้อภัยเด็กบ้านกาญจนา แต่พยายามทำให้เขาเห็นว่าเด็กๆ ที่ก่ออาชญากรรม มีบาดแผลมีเรื่องราวในชีวิต มีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการใช้ชีวิตที่เหมาะสมของเขา แต่ไม่ได้พูดเฉพาะเจาะจงไปที่คู่กรณีของเขา แค่พาเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกันกับคู่กรณีที่อยู่ในบ้านกาญจนไปช่วยเขา ทำนู่นทำนี่นิดๆ หน่อยๆ และทุกคนก็สุภาพเป็นมิตร

ณ ตรงนี้เราพบว่าเวลาเยียวยาบาดแผลในใจได้ระดับนึง และการเข้าไปอย่างเป็นมิตรด้วย ก็คงผสมกันหลายอย่าง ป้าก็ไม่แน่ใจว่าอะไรคือปัจจัยชี้ขาด ที่ทำให้จอห์นตัดสินใจบอกกับป้าว่า อยากให้อภัยเด็กคนนั้น 

หลังจากจอห์นส่งข้อความมาทางโทรศัพท์ ป้าก็กลับไปคุยกับคู่กรณีว่าถึงวันที่พี่จอห์น คลายความโกรธคลายความทุกข์มาถึงแล้วตอนนี้เราจะทำยังไง ซึ่งตอนนั้นผู้กระทำได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว แต่ว่าเพิ่งปล่อยไปไม่นาน แต่ยังติดต่อ การ Follow  up ตามปกติ 

ในความไม่แน่ใจ ป้าคิดว่าความสุขงอม ของจอห์นน่าจะมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นก็คือการที่เราเข้าไปในชีวิตของเขาอย่างเป็นมิตร เขาไม่มีญาติ ไม่มีพี่น้อง ถึงแม้คนที่มาช่วยเหลือเขาแบบอีเว้นท์เวลาเขาออกไปให้สัมภาษณ์ในทีวี ก็จะมีการช่วยเหลือ โครมครามมาทีนึง แต่เดี๋ยวก็จะหายไปไม่ใช่เรื่องของการมาให้เวลาในการพูดคุย ซึ่งเขารู้สึกและสัมผัสสิ่งนี้จากบ้านกาญจนาอยู่พอสมควร คนกระทำก็อยู่ที่บ้านกาญจนาด้วย เหมือนเขาได้เชื่อมโยงและค่อยๆ  เห็นภาพชัดขึ้น 

และจากการฟังที่จอห์นเขาให้สัมภาษณ์รายการคนค้นฅนส่วนหนึ่งอาจมาจากความ เป็นคนพุทธความเชื่อเรื่องศาสนาก็มีส่วน ถึงที่สุดเขาก็เลยคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดเป็นการให้อภัยหรือเปล่า เราก็จะบอกว่าก็ดีทั้งสองฝ่าย  คือป้าก็ต้องระวังตัวเองเหมือนกันที่จะไม่เอาเปรียบความรู้สึกเขา

จนกว่าจะสุขงอม

จริงๆ แล้วก็มีหลายกรณีของเด็กบ้านกาญจนา ที่เป็นผู้กระทำในคดีความผิดต่อชีวิตอย่างเช่น กรณีดาราคนหนึ่ง ที่น้องชายถูกยิงเสียชีวิต และคนยิงก็อยู่บ้านกาญจนา หลังจากศาลพิพากษา  ต่อมาเราได้คุยผ่านทางภรรยาของดารา เรื่องการพบกันเพื่อให้คนที่ฆ่าน้องชายได้ขอโทษ  ได้แสดงความรับผิดชอบทางความรู้สึกในฐานะมนุษย์ ซึ่งตอนนั้นดาราคนดังกล่าวยังไม่พร้อม พอเขาไม่พร้อมเราต้องหยุดทันที

เราไม่มีเหตุผล ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำให้ผู้สูญเสียรู้สึกอึดอัดใจกับการที่จะต้องมาให้อภัย เหมือนเรากดดันให้เขาต้องให้อภัย เราไม่ควรทำ เราต้องถอยและรอจังหวะ มีคนหลายคนเคยมาบอกเราว่ารู้จักกับดาราคนนั้นและอาสาจะเป็นคนช่วยคุยให้ซึ่งเราก็แบ่งรับแบ่งสู้ ยกเว้นเขาสนิทกับดาราคนนั้นมากๆ แต่จริงๆ เราไม่ควรทำแบบนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องรอสุกงอม และขึ้นอยู่กับจังหวะด้วย เป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะล้ำเส้น ถ้าเราเปิดประเด็นแล้วเขายังไม่แฮปปี้เราต้องไม่เร้า 

อาจารย์บรูซ แกสตัน

สำหรับกรณีของจอห์นเราใช้เวลา 1 ปีนะโดยประมาณ  เราไปที่บ้านจอห์น ดูแลจอห์น จนถึงวันที่สุกงอมแล้วเขาก็บอกเราว่า อยากให้อภัยเด็กคนนั้นแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งถ้าตัดภาพไปอีกภาพนึงก็คือเมื่อกี้ภาพครอบครัว ดาราที่น้องชายถูกยิงที่ไม่พร้อมให้อภัย ในขณะที่มีอีกกรณีหนึ่งก็คืออาจารย์บรูซ แกสตัน  ซึ่งเป็นศิลปินวงฟองน้ำ ที่กลุ่มวัยรุ่นปล้นอาจารย์บรูซ แกสตัน  ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS  พระโขนง  พวกเขาเรียกตัวเองว่าแก๊งค์เสือ วันที่เขาปล้นอาจารย์มีทั้งหมด 7 - 8 คน หลายคนอายุเกิน 18 ก็เข้าเรือนจำ มี 1 คน อายุ 17 ปี อยู่บ้านกาญจนา 

เด็กที่เป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ป้าพยายามที่จะทำให้บาดแผลของเขาเล็กลง ด้วยการที่เขาได้เผชิญหน้ากับเหยื่อของเขาและเหยื่อของเขาเป็นผู้ให้อภัยเขา อันนี้เป็นหลักการของป้า 

เมื่อเด็ก 1 คนในแก๊งเสือ มาอยู่บ้านกาญจนาเราก็ได้ไปเจรจากับอาจารย์บรูซ แกสตันเพื่อที่จะพาเด็กคนนี้ไปขอโทษอาจารย์ที่บ้าน ตอนที่เราไปเจออาจารย์ ปรากฏว่าไม่ต้องเจรจาเลย อาจารย์ตอบทันทีว่าผมตัดสินใจได้เลย ผมเข้าใจจะให้ผมทำอะไรบอกมาเลยผมยินดี คือไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย

สิ่งที่เราทำไม่ได้ใช้กฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้อง และเราก็ไม่เคยเข้าไปพูดว่าเขาก็ถูกตัดสินแล้ว ศาลก็พิพากษาแล้ว เขาถูกลงโทษตามคำพิพากษาแล้ว  อาจารย์ให้อภัยเขาเถอะ  เราก็ไม่ได้พูดแบบนี้ เราก็แค่สื่อสารความรู้สึกว่า  ผู้กระทำรู้สึกผิด อยากจะขอโทษในวันที่เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้องทั้งกฎหมาย ทั้งความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจารย์บรูซ แกสตัน ยินดีเมื่อทราบเจตนาของเราและให้กำหนดวันขอขมามาเลย และขอไปบ้านกาญจนาด้วยตัวเองด้วยนะ ในที่สุด พิธีขอขมาระหว่างอาจารย์บรูซ แกสตันกับเจ้าไข่คู่กรณีก็เกิดขึ้นต่อหน้าเยาวชนบ้านกาญจนานับร้อยในค่ำคืนนั้น (ช่องไทยพีบีเอสมาทำข่าว)

ป้าคิดว่ากรณีอาจารย์บรูซ แกสตัน มีความต่างกับกรณีอื่นๆ อยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความใจกว้างของอาจารย์โดยเฉพาะการไม่มีข้อสงสัยใดๆ ต่อผู้กระทำเลยแม้แต่น้อยและมิใช่เหตุที่ถึงขั้นสูญเสียตลอดไปเช่นการสูญเสียชีวิต  แต่กรณีของจอห์นเขาสูญเสียคู่ชีวิตซึ่งทำให้เขาหมดสิ้นทุกอย่าง ความคับแค้นใจของเขาจึงเยอะมาก ตอนที่ป้าไปพบจอห์นครั้งแรก เขาเล่าอารมณ์ของตัวเองที่โกรธ เขาบอกว่าทุกครั้งที่ไปศาล แล้วเห็นเด็กคนนี้ เขาคิดในใจว่าอยากจะเอาหินไปปาใส่ เพราะรู้สึกโกรธแค้นมากๆ 

เริ่มจากกฏหมาย?

เวลาเราทำงานกับเด็กบ้านกาญจนา ในฐานะที่เป็นพื้นที่ๆ ใช้กฎหมายควบคุมทุกย่างก้าวเรากลับไม่ใช้กฎหมายหรือใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น  แต่จริงๆ ก็แทบจะไม่จำเป็นหรือ ไม่ใช้การลงโทษ  ไม่ใช้อำนาจนิยม ซึ่งเท่ากับเปิดพื้นที่ให้ Soft  Power  ไหลเข้ามาแบบหลายเฉดสีหลายมิติจนทำให้เกิดนวัตกรรมหรือพอเราทิ้งสิ่งหนึ่งไปก็มีสิ่งใหม่ไหลเข้ามาแทน 

จริงๆ ป้าไม่ได้มีวิชาการอะไร แต่ป้ารู้สึกได้ว่า เวลาที่เด็กๆ เขาได้ขอโทษป้า ขณะที่เขาอยู่บ้านกาญจนาซึ่งเป็นสถานควบคุมที่ให้โอกาส แต่บางคนยังแสดงด้านมืดออกมา การได้ขอโทษป้า ขอโทษเจ้าหน้าที่ การเขียนไดอารี่ก่อนนอน  การเขียนจดหมายถึงป้าว่าผมรู้สึกผิดครับ ขอโทษเจ้าหน้าที่ในวันที่เขาพูดไม่ดี หยาบคายอย่างรุนแรง เราก็เห็นว่าหลังจากที่เขาได้เปล่งวาจารับผิด - ขอโทษ เราเห็นการสบตาของเขากับเรามั่นคงขึ้น เขาไม่ต้องหลบไปจากสายตาของเรา 

เหมือนกับการได้ขอโทษ การได้พูดว่าตัวเองผิด ทำให้เขาไม่ผลักตัวเองออกไปจากสังคมเล็กๆ ในบ้านกาญจนา  ถ้าเขาได้ทำในสัดส่วนที่สมเหตุสมผล เช่นกับเหยื่อหรือผู้เสียหายการกลับคืนสู่สังคมของเขาก็คงสมาร์ทกว่า เพียงแต่เราไม่สามารถทำแบบนี้ได้ทุกกรณี เพราะว่าเด็กบ้านกาญจนาที่มาด้วยคดีทำร้ายผู้อื่นจนถึงขั้นเสียชีวิตก็เยอะ บางคนขึ้นหน้าหนึ่ง ดังนั้นเราก็ต้องมานั่งดูอีกว่าในความเยอะนั้นอะไรที่เราทำได้และอะไรที่เรา ไปไม่ถึงและเราจะออกแบบทดแทนอย่างไร 

ในข้อจำกัดนั้นพบว่าสิ่งที่เราควรทำที่สุดก็คือ คนที่เป็นข่าวหน้าหนึ่งทั้งหลาย เหมือนเลือกปฏิบัตินะ แต่ก็มีหลักการของการเลือกปฏิบัติว่าคนที่อยู่หน้าหนึ่งเรื่องของเขาจะไม่หาย ไปจากพื้นที่ข่าว ดังนั้นถ้าเราทดแทนด้วยการที่ทำให้ผู้เสียหายเป็นผู้ให้อภัย และเขาได้ถูกโอบกอดโดยผู้เสียหาย อย่างเช่นอาจารย์บรูซ แกสตัน  ได้โอบกอดเยาวชนที่ทำร้ายในพิธีขอขมาและ ไข่ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่าเมื่ออาจารย์บรูซ กอดเขา  เขารู้สึกโล่งเลย ตัวเบา เหมือนกับมีพลังอะไรบางอย่างและพลังใจกลับมาอีกครั้งนึง  เมื่ออาจารย์บรูซมาบ้านกาญจนาในครั้งที่ 2 แล้วพูดว่า ไข่เป็นเหมือนลูกอีกคนนึงของผมคำนี้ยิ่งโคตรมีพลัง เพราะเท่ากับยอมรับผู้กระทำอย่างหมดจด ซึ่งไม่ใช่ดีกับไข่ผู้กระทำต่ออาจารย์เท่านั้น  แต่ยังดีกับเด็กทุกๆ คนที่อยู่ในวงกิจกรรมในวันนั้นด้วย 

จากประสบการณ์ป้าสัมผัสได้ว่าการให้อภัยของผู้เสียหายต่อผู้กระทำนั้นยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ป้าก็เรียนรู้จากทุกๆ เคสที่ลงมือทำไม่ได้รู้แบบอ่านตำรา  แต่เรียนรู้ในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์ในทุกๆ เหตุการณ์ ซึ่งทำให้เรายิ่งรู้สึกว่า เราต้องไปต่อ เช่น วันนั้นถ้าไข่ไม่ได้รับการให้อภัยจากอาจารย์บรูซ แกสตัน ไข่ก็อาจกลับไปอยู่แก๊งค์เสือเหมือนเดิมก็ได้ 

เข้าใจคนผ่านบาดแผล

ป้าเริ่มต้นทำพิธีกรรมขอขมาจากการที่ได้ทำงานกับเด็กคนที่เป็นผู้กระทำมาอย่างใกล้ชิด แล้วก็เห็นพัฒนาการทางบวกของเขา ไม่ได้เห็นแค่ความดิบเถื่อนถ่อยของเขาในแต่ละวันที่เราอยู่กับเขา เราเห็นทั้งด้านดีด้านอ่อนแอ ด้านที่สะท้อนวิธีคิดที่ไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะวันที่เขาก่อเหตุจนกระทั่งถึงวันที่เขาค่อยๆ เติบโตผ่านการทำงานของเรา ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรามั่นใจ

เวลาที่ป้าพาเด็กบ้านกาญจนาออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ผู้คนมักจะถามว่าไม่กลัวเด็กพวกนี้หนีเหรอ ป้าเข้าใจคนที่ถามนะ เพราะไม่ได้เห็นเด็กเหล่านี้ทุกวัน เขารู้แต่ว่าเด็กพวกนี้เคยก่อคดี ถูกจับและเข้าคุก ถ้าคุณเห็นเพียงแค่นั้นคำถามนั้นก็ไม่ผิด  แต่ถ้าคุณได้เห็นเท่ากับที่ป้าเห็น คุณก็จะไม่ถาม สิ่งที่ป้าเห็นก็คือความเป็นเด็กหนุ่มธรรมดา อ่อนไหว อ่อนโยน กลัว หิวความรัก โหยหาการยอมรับ เขาคือเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่อยากหาทางลงจากหลังเสือ  

เวลาป้าจะคุยกับเด็กๆ ที่ขึ้นหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง เราจะเห็นความรู้สึกผิดของเขา  เมื่อเราถามว่า อยากพบคนที่ทำร้ายไหม เขาบอกว่าถ้าพบแล้วเขาจะโกรธผมไหม เราก็บอกว่าคงโกรธบ้าง แต่ว่าคงไม่ถึงขั้นทำร้ายหรือเอาคืน ถ้าเราได้มีโอกาสได้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง เขาอาจเปลี่ยนท่าทีก็ได้และ จะดีกว่าไหมถ้าเราไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปแล้วก็กลายเป็นเรื่องที่เรารู้สึกผิดจนเราไม่สามารถให้อภัยตัวเราเองได้ 

ก่อนที่เราจะไปพบกับผู้เสียหายแต่ละคนเราต้องคุยกับผู้กระทำให้จบก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ เราตัดสินใจเองหมด ถ้าเขารู้สึกว่าเขาไม่เอา เขาไม่เห็นประโยชน์ เขาไม่มีความจำเป็นต้องขอโทษเพราะว่าไอ้ผู้เสียหายพวกนี้ ก็เป็นคนไม่ดี ทำร้ายคนในครอบครัวเขา ๆ ต้องปกป้อง  ถ้ามีเรื่องราวแบบนี้หรือแบบใดก็ตามที่สะท้อนความโกรธ  ความแค้น  ความไม่รู้สึกผิดออกมา เราก็ต้องทำงานความคิดกับเขาจนถึงจุดที่สมเหตุสมผล แต่โดยทั่วไปไม่มีหรอก 

อย่างกรณีของน้องชายดาราที่ถูกยิง เสียชีวิต พอผู้กระทำที่อยู่กับเรารู้ว่าพี่ดาราไม่พร้อมให้อภัย รู้ว่าบ้านกาญจนา  รู้ว่าป้าพยายามจะหาช่องทางอยู่นะ วันนึงพอเขาจะปล่อยจากบ้านกาญจนา  หลังจากอยู่กับเรา 3 ปีกว่าตามคำพิพากษา เขาบอกว่า “ป้าไม่ต้องพยายามหรอกครับ พอแล้ว ผมเข้าใจแล้ว ผมรู้ว่าเขาให้อภัยผมไม่ได้และผมก็ไม่โกรธเขาด้วยเพราะว่าผมผิดจริง ๆ ครับ” 

ผู้กระทำคนนี้พอเขาออกจากบ้านกาญจนา เขาบวชกว่า 3 ปี วันสู่เหย้าเขามาในสถานะพระ เรายังแอบถามผู้ปกครองเลยว่าขอร้องให้บวชหรือเขาบวชเอง เพราะผ่านไปกว่า 3 ปีแล้ว พ่อแม่บอกว่าเขาบวชเอง เขาตั้งใจจะบวช เพราะต้องการรับผิดชอบทางความรู้สึก  หลังจากรับผิดชอบทางกฎหมายไปแล้ว นั่นหมายความว่ากระบวนการทำงานต้องทำให้เด็กเห็นห่วงโซ่ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของตัวเอง ด้านพี่ดาราที่เป็นผู้เสียหายที่ไม่พร้อมให้อภัย ป้าคิดว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากระยะเวลาที่ผ่านไป เขาเคยมาถ่ายหนังที่บ้านกาญจนา มาถ่ายรูปกับน้องๆ และเจ้าหน้าที่ที่นี่อย่างเป็นมิตร แม้ปลายทางการขอโทษจะยังไม่เกิดก็ตาม ป้าก็หวังว่าวันนึงจะได้เห็น  ป้าเชื่อมั่นนะว่าวันนั้นจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำให้เด็กเห็นอีกว่า นอกจากพ่อแม่ไม่ทอดทิ้งเขาในวันที่คนโกรธเขา เกลียดชัง เขา แต่พ่อแม่ก็มีปัจจัยผลักไล่ส่งลูกด้วยนะ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่ปัจจัยดึงดูดก็เร้าเขา แต่เด็กบ้านกาญจนาก็ถูกพาไกลไปถึงขั้นที่เห็นว่านโยบายสาธารณะในประเทศที่ไม่มีวิสัยทัศน์  ไม่เอื้อต่อความเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่นและความเปราะบางของเยาวชน

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในผู้ใหญ่

ถ้าเราทำงานกับผู้กระทำอย่างใกล้ชิดในทุกๆ คน ป้าคิดว่าถึงที่สุดเราก็เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเขาไม่ว่าคดีรุนแรงขนาดไหนก็ตาม แต่นั่นหมายความว่าเราจะต้องทำงานความคิดบนเนื้อหาที่ถูกออกแบบด้วย ซึ่งถ้าพื้นที่ใดก็ตามเปิดโอกาสให้กระบวนการและเนื้อหาดังกล่าวเดินทางอย่างสม่ำเสมอมีประสิทธิภาพ ถึงที่สุด ผู้กระทำจะเกิดความคิดใหม่ ๆ และรู้สึกด้วยตัวเองว่า เขามีส่วนอย่างมาก ๆ  ต่อความสูญเสียและความเสียหายนั้น

ใช่ ! เป็นไปได้ที่ผู้กระทำในบ้านกาญจนาเวลาเข้ามาแรก ๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเขาทำร้ายคนอื่น แต่ทำเพราะอยากปกป้องคนในครอบครัว อย่างเยาวชนคนหนึ่งตอนนี้เป็นศิลปิน เขาทำร้ายตาเลี้ยงจนเสียชีวิตโดยมีคนในครอบครัวช่วยกัน ส่วนคุณยายมาเห็นตอนตาเลี้ยงเสียชีวิตแล้ว และทุกคนในครอบครัวถูกจับหมด ตอนเขาถูกจับเข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ เขาเคยเปิดเผยความรู้สึกว่าเขาไม่รู้สึกผิด เพราะว่าเขาทำเพื่อปกป้องยายที่ถูกตาเลี้ยงทำร้าย รวมถึงพยายามละเมิดทางเพศแม่ของเขา ซึ่งเขาเคยไปแจ้งความแต่ตำรวจก็แค่มายืนหน้าประตูบ้าน แล้วก็บอกให้พวกเราใจเย็นอดทน เขาบอกว่าเขาทำทุกอย่างที่ควรจะทำหมดแล้ว  แต่ในที่สุดไม่มีใครมาแก้ปัญหาให้เขาได้ เขาจึงต้องทำแบบนั้น  ในวันนั้นหลังฆ่าตาเลี้ยงทุกคนช่วยเอาศพจากนนทบุรีไปทิ้งถึงพิษณุโลก ถามว่าเขารู้สึกผิดไหมตอนนั้นเขาบอกว่าไม่รู้สึกผิด มันเป็นสัญชาตญาณดิบ ณ ตอนนั้น แต่เมื่อถามว่าเขามารู้สึกผิดเมื่อไหร่  เขาบอกว่ามารู้สึกผิด เมื่อผ่านการทำกระบวนการเพื่อเปลี่ยน mindset ในชื่อวิชาชีวิตที่บ้านกาญจนา 

เมื่อถามเหตุผลว่าอะไรที่ทำให้เขาไม่รู้สึกผิด คำตอบของเขาก็คือความรู้สึกไม่ปลอดภัยในสถานที่ๆ ควบคุมตัวนั่นแหละ และการมาด้วยคดีฆ่าคือเจ๋ง มีคนเกรง  ไม่กล้าแหยม ซึ่งทุกคนต้องรักษาฟอร์มนั้นไว้ เพราะทั้งปลอดภัย  ทั้งข่มคนอื่นได้ แต่พอมาบ้านกาญจนาที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน และมีการทำงานทางความคิด วันหนึ่งเขาเป็นคนพูดเองตอนที่ไปบรรยายร่วมกับป้าให้กับอัยการฟังว่า เป้าหมายผมคือปกป้องยาย ปกป้องแม่ ปกป้องคนในครอบครัวจากการใช้ความรุนแรงของตาเลี้ยง แต่วิธีการของผมผิดทั้งหมดเลย 

เขาต้องเห็น Life line ด้วยตัวเองแต่ไม่ได้แปลว่าเขาตรัสรู้โดยที่เราให้เขานั่งทางใน แต่ต้องมีกระบวนการ  input เปลี่ยน mindset เปลี่ยนมุมมอง ซึ่งถ้าเราใช้กระบวนการและเนื้อหาเพื่อเปลี่ยน mindset โดยไม่มีวัฒนธรรมอำนาจนิยม  มนุษย์น่าจะมีพลังใจพาตัวเองไปถึงเป้าหมายได้

ป้าคิดว่าผู้ต้องขังที่มีอายุมากกว่าวัยรุ่นบ้านกาญจนา ความเข้าใจต่อเรื่องเหล่านี้น่าจะเร็วกว่าด้วยซ้ำไป เพราะคนที่เป็นนักโทษผู้ใหญ่ห่วงโซ่ชีวิตของเขาชัดเจนกว่าเด็กบ้านกาญจนา ซึ่งยังเป็นวัยรุ่นอยู่ สังเกตจากเยาวชนบ้านกาญจนาที่อายุ 22 - 24 ปี ทำงานง่ายกว่ากลุ่มอายุ 16 - 18 ปี แต่ยืนยันว่าทุกคนเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องมีการทำงานทางความคิดด้วย ไม่ใช่เอาเขาไปขังเอาไว้ตามวันเวลาที่ศาลสั่ง แต่ว่าไม่ได้มีกระบวนการเชื่อมโยงตัวเขากับสรรพสิ่งซึ่งสิ่งที่บ้านกาญจนาทำบ่อยๆ ก็คือการเห็นห่วงโซ่ความเสียหายในทุกๆ กรณี

การทำให้เด็กเห็นห่วงโซ่ความเสียหายจะทำให้เขาเข้าใจชัดขึ้น ว่าการกระทำของเขามีผลต่อชีวิตใครกี่คน ไม่ใช่คนเดียวที่เขาฆ่า พ่อแม่ของเหยื่อ คนในชีวิตเหยื่อ เหมือนกับเขานั่นแหละเป็นโดมิโนตัวหนึ่งในครอบครัวเมื่อเขาล้มพ่อแม่ของเขาก็ล้มด้วย น้องชายเขาก็ล้มด้วยพี่สาวเขาก็ล้มด้วย คนที่เคยเรียนมหาวิทยาลัยที่เป็นพี่เขาก็เดือดร้อน เพราะว่าค่าใช้จ่าย มาลงที่เขาหมด เราก็จะวิเคราะห์เรื่องพวกนี้กันอย่างสม่ำเสมอผ่านทางกาณีศึกษาที่หลากหลาย จะได้ไม่เบื่อ 

โรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้

สมมุติว่าถ้าวันนี้มีข่าวการปล้น  การใช้ความรุนแรงโดยวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ผู้เสพข่าวส่วนใหญ่จะเกรี้ยวกราดใส่ คนในข่าว เช่น เอาไปฆ่าเลย ให้มันติดคุกตลอดชีวิตเลย เรามักคิดว่าการใช้ความรุนแรงโต้ตอบแบบตาต่อตา  ฟันต่อฟัน มันน่าจะตอบโจทย์ได้ แต่ความจริงไม่ใช่เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผู้แพ้ยังเดินเครื่อง การจับวัยรุ่นที่ก่อคดีเข้าคุก  แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผู้แพ้ก็ยังทำงานตลอดเวลาไม่เคยหยุดเลย ทั้งกลางวัน กลางคืน ทั้งเดือน ทั้งปี ดังนั้นผู้แพ้คนใหม่ก็จะถูกส่งเข้ามาในสังคมตลอดเวลา ใช่คนผิดต้องไม่ลอยนวล  กฎหมายต้องยุติธรรม แต่ขณะเดียวกันหน้าที่ของเราคือการทำให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้ ทำงานช้าลงหรือหยุดทำงานบ้าง ไม่ใช่ทำงานตลอดเวลาไม่เคยหยุดหย่อน การถ่มถุย  ด้อยค่า  เกรี้ยวกราด คนที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้ ไม่ได้ตอบโจทย์ ขณะเดียวกันคนผิดต้องไม่ลอยนวล 

ป้าคิดว่าคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม อาจเห็นกฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาชัดเจน แต่ไม่พอโดยเฉพาะ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งต้องอยู่บนฐานของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ถ้าเห็นไม่ลึกซึ้งพอ มันสมานฉันท์ไม่ได้ ก็คล้ายๆ กับที่คนรู้สึกทึ่งรู้สึกอึ้งกับการให้อภัยของใหญ่  เยาวชนบ้านกาญจนา ต่อเล็กเยาวชนบ้านกาญจนาอีกคนที่ฆ่าพ่อของใหญ่ หรือการให้อภัยของจอห์นต่อศักดิ์ วัยรุ่นที่ปาหินใส่รถตู้จนสามีจอห์นเสียชีวิต  หรือการให้อภัยวัยรุ่นแก๊งเสือในบ้านกาญจนา โดยอาจารย์บรูซ  แก๊สตัน  ซึ่งการเดินทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสเกลเล็กๆ ของบ้าน กาญจนา คือการใช้ Soft power ใช้ความปลอดภัย การทำให้ด้านมืดเล็กลงและ Empower ให้ด้านสว่างแข็งแรง ด้วยการเปลี่ยน Mindset  เมื่อด้านในของผู้กระทำอ่อนโยน  เห็นคุณค่าชีวิตอื่น การเชื่อมโยงกับผู้เสียหายก็ถูกสนับสนุนอย่างเชื่อมั่น อย่างศรัทธา อย่างมีpassion ซึ่งป้าคิดว่าบ้านกาญจนามีสิ่งนี้ เพียงแต่สเกลของเรายังเล็กมาก 

อันนี้ไม่ได้พูดแบบเอาเปรียบ แต่การที่เราอยู่กับความโกรธ ความไม่ชอบ ความเกลียดชังก็เป็นยาพิษที่อยู่ในใจเราเหมือนกันใช่ไหม เหมือนที่จอห์นเคยบอกว่าหลังจากที่ให้อภัยแล้ว การก้าวขาที่เคยหนักเหมือนกับติดโคลนตมก็เบาขึ้น ไม่ติดขัด เหมือนกับทุกอย่างเบาลง การพูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะไปบอกผู้เสียหายทุกคนว่า คุณต้องให้อภัยนะเพราะการให้อภัยคุณจะรู้สึกดีนะ เราก็พูดไม่ได้ใช่ไหม ในฐานะคนทำงานกับผู้กระทำ แต่ป้าเชื่อว่าสักวันหนึ่งพี่ชายดาราก็อาจมาถึงวันที่ให้อภัยอดีตเด็กบ้านกาญจนาที่ฆ่าน้องชายเขาได้

การฆ่ากันไม่ควรจะเกิดขึ้น นั่นคือหลักการสำคัญ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วถ้าสามารถพาผู้ขัดแย้งมาถึงจุดที่ได้ให้อภัย ได้ขอโทษถึงที่สุดก็ดีทั้งสองฝ่าย คนที่สูญเสียที่อยู่กับความเกลียดชัง  ความโกรธความแค้นก็จะคลายลงทำให้การเดินทางของเขาเบาขึ้น ไม่ต้องแบกอะไร แต่ก็ต้องเป็นความสุขงอมด้วยไม่ใช่การบังคับให้เกิดการให้อภัย

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ พอไปให้น้ำหนักกับ  process ทางกฎหมายเกินไป มันขาดฟิลลิ่ง ขาดความเป็นมนุษย์ ตอนที่ผู้กระทำขอขมาพี่จอห์น ตอนนั้นเขาก็พ้นโทษไปแล้วด้วยนะ ระหว่างที่เขารออยู่ในห้องก่อนพิธีจะเริ่ม เขาตื่นเต้นมากเขาปรึกษาว่าผมจะพูดอย่างไรกับพี่จอห์นดีครับ ระหว่างนั้นเขาเขียนข้อความขอขมา แล้วก็ถือกระดาษใบนั้นคุกเข่าต่อหน้าพี่จอห์นแล้วก็อ่านคำขอขมา  จากนั้นพี่จอห์นก็กอดเขาแล้วรับคำขอขมาพร้อมกับพูดว่าไปใช้ชีวิตดีๆ นะพี่ให้อภัยเราแล้ว

เรื่องของจอห์นกับศักดิ์ ไม่ได้มีการไปพบกับใครเลยในทางกฎหมาย ไม่ได้มีการนั่งล้อมวงกันเพื่อพูดคุยไม่มีอัยการหรือตำรวจ เป็นอำนาจในการตัดสินใจระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำบนความเป็นมนุษย์ที่สุกงอม 

ความรู้สึกของจอห์นที่บอกกับป้าว่าเขาอยากให้อภัยผู้กระทำผ่านการดูแลใจที่ยาวนาน ความตื่นเต้นดีใจของศักดิ์ในค่ำคืนที่จอห์นให้อภัย และต้องเผชิญหน้ากับพี่จอห์น อีกครั้ง หลังจากที่ทำสามีของจอห์นเสียชีวิต ทุกอย่างเป็นเรื่องของคน 2 คนซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้ง โดยมีเราเป็นคนอำนวยเพื่อให้พลังด้านดีของทั้งสองฝ่ายออกมา โดยเฉพาะผู้กระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา ลึกๆ อยากให้ทุกคนเห็นว่าเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะทำสิ่งที่ชั่วร้ายขนาดนั้น 

ทำไมป้าถึงเชื่อในความเป็นมนุษย์ 

ถ้าทุกคนมีทุนที่ดี ที่มากพอและมีทางเลือกเขาคงไม่อยากที่จะพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ถูกคนทั้งบ้านทั้งเมืองเกลียดชังพาตัวเองไปอยู่ในจุดอับที่สุด ป้าว่าการที่เราทำให้มนุษย์ไม่มีทางเลือก เป็นปัจจัยภายนอกเป็นปัจจัยทางสังคมที่ไม่ได้กระทบต่อทุกคนหรอกแต่กระทบต่อคนที่ด้อยที่สุด  เปราะบางที่สุด ดังนั้นเวลาเราเห็นปรากฏการณ์นี้ มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่มันเป็นปัจจัยร่วมของหลายๆ อย่าง โดยปัจเจกที่มีทุนน้อย ทางเลือกน้อย ด้อยที่สุด เปราะบางที่สุดเป็นผู้แสดงผล 

ดังนั้นเวลาเราอยากลงโทษ  อยากเกลียดคนเหล่านี้ ป้าคิดว่าการปล่อยให้เขารับผลตามกฎหมาย การถูกลงโทษตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ขณะเดียวกันเราต้องส่งเสียงให้เห็นว่ามีปัจจัยร่วม อีกหลายตัวที่จะต้องถูกให้น้ำหนักให้ความสำคัญ ถ้าเราต้องการจะแก้ปัญหาระยะยาวเราต้องถามต่อไปว่าเราปล่อยให้เด็กๆ เติบโตในสังคมแบบไหน ระบบนิเวศน์แบบไหน ถ้าเราตั้งคำถามไปถึงตรงนั้น จะเห็นตัวละครที่จะต้องรับผิดชอบประเทศนี้เพิ่มขึ้น 

มีเด็กบ้านกาญจนาคนหนึ่งมาด้วยคดีปล้นเซเว่นอีเลฟเว่น 16 จุด  ในคืนเดียว ถ้าเราตั้งคำถามว่ามึงต้องเหี้ยขนาดไหนวะ ถึงได้ปล้นเซเว่นตั้ง 16 แห่งในคืนเดียวกัน คำถามแบบนั้นจะนำไปสู่ปฏิบัติกับเด็กคนนั้นในอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราเปลี่ยนการตั้งคำถามว่าเขาเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน ในชุมชนในสังคมแบบไหน เขาถึงจ่ายแพงเพื่อต้องการการยอมรับจากเพื่อนๆ เพราะหลังจากเขาปล้นเซเว่น 16 จุดก่อนที่จะถูกจับ  กลุ่มเพื่อน 5-6 คน ได้ให้ฉายาเขาแทนชื่อว่า 16 ปล้น สำหรับเขามีความหมายมาก จากคนที่ไม่เคยมีตัวตนเลย โคตรกระจอก หลังจากปล้นเซเว่นคืนเดียว 16 จุดก็ ได้ฉายา 16 ปล้นมา เขาเกิดแล้วทางอัตลักษณ์ เขารู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็ม 

คำถามก็คือว่าไม่ใช่มันเหี้ยเพราะปล้นเซเว่น 16 จุดแต่ทำไมต้องจ่ายแพงเพื่อให้ตัวเองถูกยอมรับขนาดนั้น อะไรทำให้เด็กคนหนึ่งอยากได้การยอมรับในเชิงความรู้สึก มีเด็กอีกคนในบ้านกาญจนาเคยเขียนในไดอารี่ก่อนนอนว่า ผมลั่นไกครั้งแรกเหยื่อผมไม่ตาย แต่ป้าเชื่อไหมว่าทุกคนยอมรับในความใจกล้าของผม การลั่นไกครั้งที่ 2 จึงต้องมีคนตาย เพราะผมไม่อยากให้คนที่ปลื้มผมผิดหวัง จะสรุปว่าตรรกะเหี้ยมากก็ได้ แต่สรุปแค่นั้นสังคมจะมีอนาคตมั้ย 

แน่นอนถ้าเราหยุดแค่ปัจเจกก็คือเราด่าไอ้คนที่ก่อเหตุให้มันยับไปเลยแต่เราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลยเพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผู้แพ้จะเดินเครื่องต่อไป แต่ถ้าเราตั้งคำถามใหม่ว่าทำไมเราปล่อยให้ลูกหลานลงทุนตามหาตัวตนด้วยราคาที่แพงมาก เราหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า รัฐหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า เราถึงทำ ให้เด็กๆ เกิดความคิดที่ผิดพลาดแบบนี้ นี่คือตรรกะของผู้แพ้โดยเฉพาะเลยนะ  ป้าเรียกสังคมและนโยบายสาธารณะที่ไม่มีวิสัยทัศน์ว่าจำเลยร่วมหรือจำเลยเงา 

ในทุกเหตุการณ์มีจำเลย 2 คนซ้อนกันอยู่ จำเลยที่ 1 ก็คือเด็กผู้สร้างปรากฏการณ์นั้น แต่จำเลยเงาจริงๆ ก็คือนโยบายสาธารณะที่ ไม่มีวิสัยทัศน์ของรัฐ ที่สนับสนุนให้ โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผู้แพ้ทำงานอย่างไม่หยุด ไม่พัก อันนี้เป็นจำเลยร่วมที่ต้องพูดอย่างจริงจัง 

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ thisable.me

  Socialรายงานพิเศษคุณภาพชีวิตการเมืองกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จอห์น มกจ๊กทิชา ณ นคร
Categories: ThisAble

คุยกับนพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ ป้องกันการฆ่าตัวตายสำคัญอย่างไรเมื่อคนพยายามฆ่าตัวตายทุกวัน

ThisAble - Wed, 2023-09-13 18:09

“ทุก 40 วินาที จะมี 1 ชีวิตที่สูญไปจากการทำร้ายตัวเอง คุณสามารถช่วยพวกเขาได้” 

นี่เป็นโพสต์ข้อความจากกรมสุขภาพจิตหลายคนเห็นผ่านหน้าฟีดโซเซียลมีเดียลต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาก่อนวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (วันที่ 9 เดือนกันยายนของทุกปี) จากนั้นคอนเทนต์ฮาวทูช่วยเหลือคนพยายามฆ่าตัวตายก็จะค่อยๆ เลื่อนหายไปแล้วจะกลับมาอีกทีเมื่อมีข่าวเหตุการณ์คนฆ่าตัวตาย 

Thisable.me ชวนนพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ความหวังสำคัญอย่างไรในการยับยั้งการฆ่าตัวตาย การที่ใครสักคนมาบอกว่าอยากฆ่าตัวตายเป็นโอกาสป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยไม่ต้องรอบอกกับจิตแพทย์เท่านั้น ไม่ว่าใครๆ ก็พูดได้

การฆ่าตัวตายคืออะไร 

นพ.ภุชงค์: คำว่าฆ่าตัวตายมีมาทุกยุค ทุกสมัย ตั้งแต่สมัยมีอารยธรรม มีเทพนิยาย และปกรณัม พฤติกรรมการฆ่าตัวตายไม่ใช่ ทำง่ายๆ เหมือนแค่กินข้าว แต่การฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมซับซ้อนที่มีการเพื่อสื่อถึงอะไรบางอย่าง เช่น อยากจบความทรมาน อยากต่อต้านคนอื่น หรือฆ่าตัวตายตามคนรัก หรือทะเลาะกับแฟนแล้วรู้สึกว่าตนเองทำผิดไม่รู้จะผิดยังไงแล้ว  งั้นฆ่าตัวตายเพื่อแสดงให้เห็นว่ารู้สึกผิดมากแค่ไหนก็แล้วกัน หรือบางคนเลือกจับตัวเองเป็นตัวประกันแล้วฆ่าตัวตายเพื่อให้มีน้ำหนักมากพอที่จะเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง 

ทางทฤษฎีจิตวิเคราะห์ การฆ่าตัวตายคือ การย้อนกลับมาต่อต้านตัวเอง (Turning against the self) ซึ่งอยู่บนความสัมพันธ์ ถ้าไม่อยู่กับความสัมพันธ์อีกฝ่ายก็ไม่รู้สึกอะไร เช่น พ่อแม่ทะเลาะกับลูก แล้วลูกเจ็บปวดมาก แต่ลูกจะเอามีดมาแทงพ่อแม่ก็กระไรอยู่ ลูกเลยแทงตัวเอง เพื่อแก้แค้นเอาคืนแล้วทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดตลอดชีวิต

ผมคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมที่มีความหมาย แม้ว่าผมไม่เห็นด้วย แต่ผมเคารพความหมายที่เขาต้องการจะสื่อ หากเขาตายจริงก็น่าเสียดาย เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า 

ถ้าพูดแง่วิทยาศาสตร์ คนๆ หนึ่งเกิดมาเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ แล้วทำไมเขาถึงอยากฆ่าตัวตาย 

ลองมองอีกแง่หนึ่ง การฆ่าตัวตายมันให้ความมั่นคง เราสามารถควบคุมชีวิตตัวเอง ฆ่าตัวเองตายแล้วทุกอย่างจบเลย ไม่ต้องกังวลว่า ชีวิตเดือนหน้าเป็นยังไง ปีหน้าเป็นยังไง ไม่ต้องลุ้นจะได้เกรด ไม่ต้องไปลุ้นว่าสมัครงานแล้วจะได้งานไหม การดิ้นรนช่างเหนื่อยล้า คนยุคนี้เขาอยากได้อะไรที่ควบคุมได้ ทำนายได้เหมือนการเล่นเกม เรารู้ว่า เราเก็บตังค์ เก็บไอเทม เก็บเลเวลไปเพื่ออะไร ทำอะไรแล้วจะได้อะไรโดยมีสถิติให้เห็นชัดเจน แต่ชีวิตจริงมันเสี่ยงจัง ทำอะไรไปตั้งเยอะอาจจะไม่ได้อะไรเลย  ทุ่มเทมากมายเท่าไรเลเวลก็ไม่ได้ขึ้น ไม่ได้ตัวละครที่อยากได้มาครอบครอง ปิดโอกาสเสี่ยงที่จะผิดหวังด้วยการตายไปเลยดีกว่า

มีหลายกระทู้พันทิปที่ตั้งข้อสงสัย พยายามแยกว่า คนนี้เรียกร้องความสนใจว่า อยากฆ่าตัวตายหรือเรียกร้องความสนใจเฉยๆ เราจะต้องแยกเพื่ออะไร 

ผมมองว่า การฆ่าตัวตายเป็นสัญญาณของร้องขอความช่วยเหลือ (Cry for help)  ซึ่งมีท่าทีเหมือนดูเรียกร้องความสนใจให้ช่วย แล้วถ้าเขาเรียกร้องให้คนสนใจ เขาก็ไม่ได้ผิดอะไร มนุษย์เราควรสนใจ ใส่ใจซึ่งกันและกันไม่ใช่เหรอ  

เขาอาจจะมองว่า ถ้าเรียกร้องความสนใจ ก็อย่าไปสนใจ โดยเข้าใจว่า ถ้าไม่สนใจ คนนั้นจะได้หยุดเรียกร้องไปทำอย่างอื่น แต่เรื่องนี้ไม่มีเฉลยแบบนั้น คนที่พยายามฆ่าตัวตายเขาเรียกร้องความสนใจเพราะเขาขาด ยิ่งขาดยิ่งต้องการความสนใจ เขาต้องตะโกนแรงขึ้น ทวีความก้าวร้าวแรงขึ้นเพื่อให้คนสนใจในทางลบ เนื่องจากเขามองตัวเองว่า ไม่ดี ไม่เก่ง ไม่ได้น่ารัก มันไม่เหลืออะไรต่อรองจนต้องเอาตัวเองเป็นตัวประกัน จริงๆ เป็นภาวะที่โคตรน่าสงสาร คุณเคยดูหนังจีนประเภทเซียนพนันที่เงินหมดแล้วบอกว่า เดิมพันด้วยชีวิตฉันเลยไหม! แต่ถ้าเป็นหนัง ฉากนั้นมักจะชนะ (หัวเราะ) ไม่ต้องเดิมพันด้วยชีวิต แต่คนพยายามฆ่าตัวตาย ชีวิตเป็นแต้มเดิมพันสุดท้ายแล้วเพราะชีวิตไม่มีต้นทุนอย่างอื่น เขารู้สึกว่า ไม่มีใครให้โทรหา ไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีแม่ให้กอด ไม่มีเพื่อนจะคุย หรือรู้สึกว่า หันไปหาใครแล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่ หันไปเจอพ่อแม่แต่เขาไม่อยากไปเพิ่มความทุกข์ให้กับพ่อแม่ ไม่อยากหอบความล้มเหลวกลับบ้าน สิ่งที่ทำให้เกิดภาวะสิ้นหวัง ไม่เหลือความหวัง ไม่รู้จะหวังอะไรได้อีกแล้ว 

ผมรู้สึกว่า ความสิ้นหวัง (Hopeless) นี่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้คนคิดจะจบชีวิตหรือไม่จบชีวิต ถ้ามีความหวัง เราก็จะอยู่ต่อ 

ความหวังแบบไหนถึงทำให้คนอยากมีชีวิตอยู่

ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน มนุษย์แต่ละคนก็หวังต่างกัน แต่การมีความหวังเรื่องความต้องการพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ (Basic Needs) เช่น หวังว่าชีวิตจะมีความมั่นคงปลอดภัย หวังว่ามีบ้านอยู่ มีข้าวกิน เป็นต้น 

ถ้าย้อนไปตอนผมยังเด็ก หากผมขยัน อดทน แล้วผมมีงาน มีเงิน มีอนาคตแน่นอน แต่ปัจจุบัน ชีวิตไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนทำให้คนรู้สึกไม่มั่นคง ในอนาคตจะทำอะไรขาย คนไปซื้ออย่างอื่นแทนหรือร้านในออนไลน์ขายถูกกว่าครึ่งหนึ่งไหม AI จะแย่งงานเราไหม อีกหน่อยจะมีงานทำหรือเปล่า ไม่มีความมั่นคงเลย

2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดโรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมได้รับผลกระทบ แล้วเราจะสร้างความหวังให้ตรงกับธีมวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ‘ Creating Hope Through Action’ ได้อย่างไร

ผมมองว่า สังคมสิ้นหวังเป็นแค่มุมมอง เป็นสิ่งที่เราต้องระวัง แต่อย่าเพิ่งไปสรุปว่า สังคมสิ้นหวังจริงๆ ถึงแม้จะมีข่าวที่ทำให้เราเห็นความสิ้นหวังง่ายมาก แต่ก็ไม่ใช่สิ้นหวังโดยสิ้นเชิง ผมไม่ได้หวังโลกที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้หวังโลกที่ไม่เหลื่อมล้ำ ไม่ได้หวังรัฐสวัสดิการที่ทุกคนมีกิน มีใช้ขนาดนั้น แต่ผมหวังว่า หากใครชีวิตมีปัญหารุมเร้า เขานึกว่าไปขอความช่วยเหลือที่ไหน

เวลาเราเห็นข่าวพ่อคนหนึ่งฆ่าทุกคนในครอบครัว รวมถึงเด็กก็ถูกฆ่าตายด้วย เพราะมีปัญหาหนี้สิน ตกงาน รู้สึกสิ้นหวัง พอฟังแล้วก็รู้สึกสะเทือนใจ แต่ก่อนหากเขาจะหันหาความตาย เขาหันไปหาใครได้บ้าง ร้อยปีก่อนอาจจะไปวัด ยกมือไหว้หลวงพ่อขอกินข้าวก้นบาตร แต่ยุคนี้นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะให้ไปไหนนอกจากไปตาย การฆ่าตัวตายเหมือนประตูฉุกเฉินสุดท้าย (Final Exit) หากไม่มีประตูไหนให้ออกก็ออกประตูนี้ แต่ถ้ามีประตูอื่นให้ออกก็จะดีกว่านี้

คอนเทนต์ประเภทคำต้องห้าม ประโยคต้องห้ามพูดกับคนป่วยซึมเศร้า คนคิดฆ่าตัวตายจนเพื่อน คนรู้จักไม่รู้จะใช้คำพูดอะไรกับเรา สุดท้ายเลือกที่จะไม่พูดอะไร เพราะรู้สึกว่าพูดคำไหนก็ผิดไปหมดเลย 

หากหวังดีกับใครสักคนเราต้องคิดให้รอบด้าน การบอกว่าห้ามทำนั่น ห้ามทำนี่ ทำให้คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือคนอยากตายดูเสี่ยง มีความเปราะบาง ทำให้คนอื่นไม่กล้าเข้าไปยุ่ง หลายคนที่เขาไม่กล้าพูดอะไร เพราะกลัวพูดแล้วจะรู้สึกแย่นั้นเป็นเจตนาดี ถ้าห่วงโน่นนี่กันมากจนไม่กล้าสื่อสารคงไม่ดี คอนเทนต์ที่ห้ามพูดว่าอะไรเหล่านั้น อ้างอิงมาจากไหน ผู้เขียนเอาทฤษฎีอะไรมาอธิบาย การพูดคำว่า ‘สู้ๆ นะ’ พูดแล้วแย่เสมอเหรอ ผมสงสัยเหมือนกันว่า สื่อไปเอาคอนเทนต์นี้มาจากไหน ไปสัมภาษณ์ใครมาแล้วเอามาตีความว่า ทุกคนเป็นแบบนั้น การที่พ่อแม่เดินมาบอก “สู้ๆ นะ” แล้วลูบหัวทีหนึ่ง หรือ เราตกงานอยู่แล้วมากินข้าวกับเพื่อน เพื่อนโอบไหล่แล้วบอกว่า “เฮ้ยมึงสู้ๆ นะ” แบบนี้แย่หรือเปล่า  ผมคิดว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คำว่าอะไรถูก คำว่าอะไรผิด เพียงแต่มนุษย์ต้องการหาวิธีแก้ไขปัญหาสำเร็จรูป เหมือนเรียนหนังสือ เราต้องการเฉลยว่า ต้องทำแบบนี้ ห้ามทำแบบนี้ แต่กับเรื่องจิตใจมันไม่ใช่แบบนั้นไง

หากจะป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายจะต้องเริ่มต้องไหน

การป้องกันการฆ่าตัวตายควรเริ่มจากตอนไหน ก็เริ่มตอนที่อยากตาย ตรงนี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้น เมื่อไหร่ผมได้เจอคนไข้แล้วเขามาบอกผมว่า อยากตาย กำลังคิดจะฆ่าตัวตาย ผมรู้สึกประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะเขายังบอกผม ผมยังมีโอกาสได้คุย แต่ก็มีรายที่เสี่ยงฆ่าตัวตายจริงๆ แล้วเขาไม่บอกใครแต่แอบไปทำเลย

เวลาผมคุยกับคนที่อยากฆ่าตัวตาย ผมไม่ได้จะไปบอกว่าเขาคิดผิดหรือถูก ปรัชญาชีวิตว่า เขามีสิทธิ์จะทำหรือไม่ทำไหม ชีวิตเป็นของใคร แต่เรามานั่งคุยกับคนไข้ว่า อะไรเหรอที่ทำให้ไม่อยากอยู่ ทุกข์อย่างไรเหรอ ชีวิตที่อยากอยู่หน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อก่อนเขามีความฝันอะไร แล้วอะไรที่ทำให้เขามีชีวิตจิตใจอยู่ ความฝันเขาโดนทำลายแล้วพังถาวรหรือเปล่า เราช่วยกันสร้างขึ้นมาใหม่ได้ไหม ถ้ามีอาการคิดวนไปวนมา หมอมียาช่วยให้คิดวนน้อยลง สนไหม ถ้านอนไม่หลับ กินแล้วหลับ สนไหม 

การป้องกันการฆ่าตัวตายคือ ต้องป้องก่อนที่จะเกิดความคิดฆ่าตัวตายหรือเปล่า 

หากไม่ได้อยากตายแล้ว จะทำอะไรเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ผมว่า คงเป็นเรื่องของการทำอย่างให้คนมีสุขภาพจิตดี  มีปัจจัยเชิงบวก (Positive Factor) บางคนมีแวบหนึ่งอยากตาย ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เห็นภาพตัวเองกระโดดตึกแล้วเขากลัว รีบมาหาหมอ แบบนี้ไม่น่าเป็นห่วงเพราะเขายังรู้เท่าทันและไม่ได้เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย เพราะเขามีปัจจัยเชิงบวกอยู่เลยไม่คล้อยตามความคิดและตัดสินใจว่าตนเองสมควรตาย 

การสร้างสุขภาพจิตที่ดี ผมว่าใครๆ ก็รู้ เช่น ให้เขียนวิธีการทำยังไงให้ลูกมีสุขภาพจิตดีสัก 4 ข้อ เชื่อไหมว่า ทุกคนเขียนได้  ข้อหนึ่ง พ่อแม่ให้เวลากับครอบครัว แล้วทำไมไม่ให้เวลาครอบครัวล่ะ เพราะต้องทำโอทีเดี๋ยวมีเงินไม่พอใช้ ข้อสอง ไม่กดดันลูก พอเห็นลูกนั่งเล่นโทรศัพท์ เราก็บ่น อยากให้เขาอ่านหนังสือ อยากหันไปทีไรเห็นว่า เขาอ่านหนังสือ ห้ามทำอย่างอื่นเลย ถ้าทำไม่อย่างนั้นจะบ่น  แค่ 2 ข้อนี้ทำให้เห็นว่า เรารู้ว่าจะทำให้คนๆ หนึ่งมีสุขภาพจิตดีอย่างไร นี่สะท้อนให้เห็นว่า เขาเชื่อว่าอย่างอื่นสำคัญกว่า เชื่อความกลัวมากกว่าเชื่อความสุข 

ถ้าอย่างนั้น ป้องการฆ่าตัวตายเท่ากับป้องกันไม่ให้เกิดโรคจิตเวช

การนิยามว่าจากพฤติกรรมฆ่าตัวตายหรือจัดว่าใครป่วยหรือไม่ป่วยไม่ใช่เรื่องง่าย แล้ววิธีการป้องกันโรคทางจิตเวชกว้างเข้าไปใหญ่ เพราะโรคมีหลายแบบด้วย กรณีฆ่าตัวตายเพราะมีปัจจัยที่ชัดเจนอย่างการติดสารเสพติด ทำให้ความยับยั้งชั่งใจต่ำลง ความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงขึ้น หรืออย่างเรื่องการนอน หลายครั้งคนจะฆ่าตัวตายเริ่มต้นมาจากการนอนไม่หลับ ตอนกลางคืนที่เงียบสงัดและทุกคนนอนกันหมดแล้ว มีเรานอนไม่หลับอยู่คนเดียว ก็จะทำให้ความคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อย 

การนอนผิดปกตินั้นเป็นจุดเริ่มต้นการป้องกันการฆ่าตัวตายที่ดีหรือเปล่า  

ใช่ครับ แต่ไม่มีค่าสถิติบอกชัดเจนว่า นอนกี่ชั่วโมงแล้วจะลดอัตราการฆ่าตัวตายได้เท่าไหร่ ถ้าพูดเชิงชีววิทยา เวลาคนเรามองโลก คิด รู้สึก ทำงานผ่านสมองทั้งนั้น หากนอนน้อย การยับยั้งความชั่งใจ ความคงที่ทางอารมณ์เสีย การนอนน้อยอาจจะไม่ใช่เหตุการฆ่าตัวตาย แต่เป็นผลทำให้มีเครียดสูง มีความเศร้านั้นมีผลจากการคิดว่า เราทำผิดยังไงปนกับการด่าตัวเอง คิดวนไปวนมาจนค่อยๆ สร้างพลังงานลบและมองตัวเองในแง่ลบ 

ช่วงที่นอนไม่หลับ การคิดวนและสร้างจินตนาการทางลบไปเรื่อยๆ เหมือนเราถักทอเส้นใยนรกเพื่อให้ตัวเองกระโดดลงไปตาย หากตัดวงจรการนอนไม่หลับด้วยการไปหาหมอ เอายานอนหลับไปกินก่อน ให้กลางคืนเป็นเวลานอน อย่างน้อยสุขภาพกายยังไม่แย่ ส่วนปัญหาสุขภาพจิตค่อยหาทางแก้ไขกันไป

การป้องกันการฆ่าตัวตายคือการนอนหลับให้เพียงพอหรือเปล่า

ตัวเลข 8 ชั่วโมงเป็นค่าเฉลี่ย บางคนอาจจะนอน 6 ชั่วโมง บางคนต้อง 10 ชั่วโมงนอนหลับเพียงพอ บางคนการนอนเริ่มผิดปกติ นอนตีสองตื่นหกโมงเช้า บางคนสะดุ้งตื่นตีสี่แล้วนอนต่อไม่ได้ หรือนอนโต้รุ่งคิดวนไปจนถึงเช้า ฉะนั้นการปรับการนอนเป็นรูปธรรม ปรับง่ายกว่า การปรับความคิดมันยาก 

โลกเราจะต้องมีวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกไปทำไม เมื่อมีคนฆ่าตัวตายทุกวัน

ถ้าเราจะป้องกันการฆ่าตัวตาย ไม่ควรพูดถึงแค่วันเดียว แต่เรากำหนดขึ้นมาให้เกิดความน่าสนใจในการจัดกิจกรรม  ผมมองว่า การมีวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกเป็นเรื่องดี เป็นวันที่เราได้พูดถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย ทำให้เห็นว่า ยังมีเพื่อนมนุษย์ที่ไม่มีความสุข สิ้นหวังอยู่มากมายบนโลกเดียวกับเรา  ใครที่อยากตายก็มีคนเป็นห่วง อยากช่วยเหลืออยู่ผ่านองค์กรต่างๆ อย่างสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สายด่วนสะมาริตันส์ ที่เป็นสายด่วนรับฟังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย

ผมทำงานเป็นจิตแพทย์ เจอเคสฆ่าตัวตายเยอะ แต่ก็มีหลายครั้งที่คนไข้ที่รอดชีวิตมองย้อนกลับไป เขารู้สึกโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ บางคนเวลาตัดสินใจฆ่าตัวตายไปแล้ว ต่อให้ไม่ถึงตายก็ต้องทรมานไปตลอดชีวิต เขาก็รู้สึกเสียดาย วันนั้นไม่น่าทำอย่างนั้นเลย หากมีใครสักคนพร้อมให้ความช่วยเหลือ เป็นรั้วกันก่อนกระโจนสู่ความตายเป็นเรื่องที่ดี  

สถิติบอกว่าวัยไหนเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด 

เกิดขึ้นได้ทุกวัยครับ วัยไหนไม่มีความสุขก็เสี่ยงหมด หากมีข้อมูลว่า วัยรุ่นเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแต่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จแล้วเราจะไม่สนใจก็ไม่ใช่  ไม่ว่าจะเกิดกับวัยไหนก็ตาม เราควรให้ความสนใจทั้งหมดเพราะเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่เกี่ยวกับเพศ ไม่เกี่ยวกับวัย แต่เป็นความรักและห่วงใยในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

ประเทศที่เศรษฐานะสังคมสูง (High Socioeconomic) การป้องกันฆ่าตัวตายทำง่ายกว่าประเทศสวัสดิการไม่ดีไหม สถิติการฆ่าตัวตายเป็นอย่างไร

เขาก็อยากตายด้วยเหตุผลอื่น ไม่ใช่แค่มีเศรษฐานะสังคมสูงหรือต่ำ บางคนเป็นมหาเศรษฐี มีอันจะกิน แต่เขาไม่อยากอยู่ อยากฆ่าตัวตายก็มี เพราะทั้งหมดที่เขามีก็ให้ความสุขเขาไม่ได้ เขาอาจจะอยากมีความสุขบางรูปแบบ ถ้าเราไม่ได้คุยก็คงไม่เข้าใจ

หากมีคนจะโดดตึกตาย ตอนนั้นผมไม่มานั่งคิดหาว่า ปัจจัยอะไรทำให้เขาจะกระโดดตึกตาย แต่ต้องเกลี่ยกล่อมเขา หรือมีคนไข้เข้าห้องฉุกเฉินเพราะกินยา 100 เม็ด ผมคงไม่ต้องมาเช็คว่า อะไรคือปัจจัยทำให้คนนี้ตั้งใจฆ่าตัวตาย มีคนฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้เยอะไหม  สิ่งที่จิตแพทย์ต้องคุยคือ เกิดอะไรขึ้น มนุษย์เราจะรู้ข้อมูล สถิติไปทำไมเหรอ เมื่อการฆ่าตัวตายพฤติกรรม ไม่ใช่แค่ติดเชื้อโควิดแล้วไปดูข้อมูลว่าทำไมคนติดเยอะ ไม่ใช่ทุกคนที่ฆ่าตัวตายแล้วแปลว่า ป่วย แต่เป็นเพราะความรู้สึกสิ้นหวังในชีวิต ต่อให้มีสถิติบ่งชี้ว่าอายุเท่าไหร่ ทำอาชีพอะไร มีสถานะความสัมพันธ์แบบไหนถึงเสี่ยงฆ่าตัวตาย แล้วข้อมูลตรงหมดทุกอย่าง แต่เขาไม่อยากตาย ความเสี่ยงการฆ่าตัวตายก็เป็นศูนย์ ดังนั้นข้อมูลและสถิติมีความจำเป็นไว้เพื่อบริหารนโยบายสาธารณสุขมากกว่า  

อะไรที่เป็นอุปสรรค ทำให้เราป้องกันการฆ่าตัวตายไม่ได้ 

เพราะเขาก็ยังเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง หากคนๆ หนึ่งอยากตาย เฝ้า 24 ชั่วโมงเขาก็หาวิธีทำได้ ภาพการป้องกันที่หมออยากสื่อนั้นเป็นน้ำเสียงนุ่มว่า  “อย่าทำเลย ฉันเป็นห่วงเธอ พวกเราเป็นห่วงคุณ คุณมีความหมายกับเรา เรามาหาทางออกที่สร้างสรรค์กันดีกว่า” แต่ไม่ใช่ภาพของการตะโกนว่า  “อย่าาทำาา!”  เพราะการรณรงค์การป้องกันการฆ่าเป็นแรงของความห่วงใย  ไม่เหมือนการห้ามเพื่อป้องกันโรคเอดส์หรือป้องกันวัณโรคที่รู้สึกว่าอีกอย่างเป็นเชื้อโรค เป็นศัตรู 

หากเราเห็นเหตุคนพยายามฆ่าตัวตาย ควรทำอะไรเพื่อช่วยชีวิต

คุยเลยสิครับ หากคนๆ นั้นเป็นเพื่อนเรา เขารู้ว่าคุณไม่ใช่จิตแพทย์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาอยากคุยในฐานะเพื่อน เราก็คุยในฐานะนั้น แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะคุยยังไง ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราอยากตาย แล้วไปบอกใครสักคน ลองคิดว่า หากเป็นเราอยากได้ยินอะไรจากเขา เราอยากให้มีคนฟังไม่ใช่สักแต่ถาม หรืออยู่ดีๆ มีคนมาบอกว่า อยากตาย เราต้องดีใจที่เขายังไม่ได้ทำ ถ้าหากเขาจะฆ่าตัวตายจริงๆ เขาไม่บอกเราหรอก เขาไปหานิติเวชเลย การที่เขาบอกว่าอยากตาย ตามบทเราต้องห้าม ต้องดึงให้เขามีชีวิตอยู่ ก็พูดตามบทที่ควรเป็นไปก่อนว่า เขามีคุณกับชีวิตเรา เรารักเขา  แต่ผมก็ไม่สามารถบอกได้ว่า วิธีนี้ถูกต้องที่สุด เพราะไม่มีเฉลยว่า พูดแบบไหนจะทำถูกหรือทำผิด เวลาผมคุยกับคนไข้ ผมก็ไม่รู้ว่า คุยถูกหรือผิด แต่ผมลองทำดู หากเพื่อนร้องไห้อยู่จนเราไม่รู้จะทำยังไง ก็ลองโทรเรียกเพื่อนในกลุ่มสัก 3-4 คนมาช่วยกันแก้ปัญหา คงมีสักครั้งหนึ่งในชีวิตที่เพื่อนรวมตัวมาช่วยเพื่อน ผมว่า ตรงนี้มันน่ารักมาก หากเขาเป็นคนไม่มีเพื่อน พาไปให้ถึงห้องฉุกเฉิน ถ้าบอกว่าอยากตาย หมอพยาบาลอยากช่วยคุณ เพราะชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ อยากตายแล้วลงมือทำเลยเสี่ยงกว่าเป็นโรคหัวใจหรือมะเร็งอีก ถ้าทำถูกวิธีก็ไปเลย เพราะความเป็นความตายย้อนคืนกลับมาไม่ได้ หากตายไปแล้วมันน่าเสียดายมาก  

 

Mediaสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตสุขภาพการฆ่าตัวตายวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกWorld Suicide Prevention DayWSPDCreating Hope Through ActionSuicideWHOความหวังสิ้นหวังเรียกร้องความสนใจสู้ๆนะ
Categories: ThisAble

วราวุธ รมต.พม.ระบุ เบี้ยความพิการ 3,000 บาททำได้ แต่ต้องดูสถานการณ์จริงด้วย

ThisAble - Wed, 2023-09-13 14:13

12 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภาเกียกกาย มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่ 2 โดยมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม 

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร   กล่าวถึงเอกสารการแถลงนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของรัฐสวัสดิการ โดยระบุว่าเป็นสวัสดิการโดยรัฐ ไม่ใช่สวัสดิการถ้วนหน้า และระบุถึงสวัสดิการที่จะมีเฉพาะกลุ่มคนพิการ กลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นการเลือกให้เฉพาะกลุ่ม ทั้งที่ควรเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอยู่แล้ว 

“สวัสดิการถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่ยืนยันให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียมกันเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้วที่ต้องบริการประชาชน ไม่ใช่ของขวัญอะไรทั้งนั้น ที่สำคัญเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ใช่แค่การดูแลแค่คนบางกลุ่ม เหมือนที่ท่านเขียนเอาไว้ในนโยบายหน้า 12 ย่อหน้าที่ 2 สิ่งที่รักยิ่งต้องทำคือการลงทุน  ส่งเสริม ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างมีศักยภาพอย่างมีคุณภาพโดยไม่เลือกว่าเขาจะยากจนหรือใครจะเปราะบาง”

ศศินันท์ กล่าวถึงนโยบายขึ้นเบี้ยความพิการเป็น 3,000 บาท ของพรรคชาติไทยพัฒนา โดยหวังว่านโยบายนี้จะสามารถทำได้จริง เพราะที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ของตนพบว่ามีปัญหาไม่ได้รับเบี้ยความพิการ และปัญหาจากการไม่มีบัตรคนพิการ รวมถึงบัตรคนพิการหมดอายุ  

“เบี้ยคนพิการไม่ได้ไม่พอ บัตรคนพิการมีหมดอายุด้วย บัตรหมดอายุจะออกไปก็ลำบาก จะต่ออายุก็ต้องทำบัตรประชาชนก่อน จะรอทำบัตรประชาชนก็ต้องรอรถเคลื่อนที่ จะรอรถเคลื่อนที่ก็ต้องรอจนถึงสิ้นปี ทุกวันนี้ยังไม่ได้เบี้ยยังชีพเลย”

ศศินันท์หวังว่ารัฐบาลคงจะไม่มองเห็นว่าประชาชนเป็นเพียงแค่กลไกทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่และอนาคต และก็หวังเห็นนโยบายที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ตกหล่นไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน  

มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่านายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งยังเป็นส่วนราชการ ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของพระราชบัญญัติทุนหมุนเวียนและไม่ได้รับการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาเหมือนกองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนประกันสังคมและอีกหลายกองทุน

ซึ่งเป็นเหตุให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะต้องส่งเงินคืนกระทรวงการคลัง โดยปี 2559 ถูกยึดไป 2 พันล้านบาท และไม่นานมานี้ก็มีท่าทีว่าจะยึด 3 พันล้าน โดยอ้างว่ามีเงินเหลือเกินสัดส่วนที่กำหนด จึงอยากถามไปทางนายกรัฐมนตรีว่าจะยึดเงิน 3,000 ล้านบาทก้อนนี้ไหม  แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือควรแก้พระราชกฤษฎีกา ปี 2561 คือให้กองทุนคนพิการไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องส่งเงินคืน

มณเฑียรตั้งคำถามถึงกรณีนโยบายดิจิตอล wallet ของรัฐบาล ว่าจะสามารถทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้อย่างสะดวกหรือไม่ ซึ่งใจความสำคัญอยู่ที่เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐว่ารัฐไม่ยอมใส่เงื่อนไขเรื่องการจัดทำให้ประชาชนเข้าถึง ปัญหาความสามารถในการเข้าถึงดิจิตอลก็จะเกิดขึ้น 

“ท้ายที่สุด ผมขอให้ท่านไม่ต้องตอบ แต่ขอให้ท่านสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งรัฐบาลไทยรัฐไทยเป็นผู้เริ่มต้นและรัฐบาลเพื่อไทยสมัยท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้สานต่อ มาช่วยแก้ไขเพิ่มเติมให้มันสมบูรณ์”  

ต่อมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลุกขึ้นตอบข้อซักถามจากสมาชิกรัฐสภาถึงกรณีรัฐสวัสดิการของคนพิการ มีใจความว่า ปัจจุบันสวัสดิการด้านคนพิการใช้เงินเป็นจำนวน 20,000 ล้านบาท กับจำนวนคนพิการ 2.2 ล้านคน การเพิ่มให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสามารถทำได้ แต่ต้องดูว่ารายรับของรัฐบาลเป็นเช่นไรด้วย จะต้องพิจารณาจากความเป็นจริง มิฉะนั้นจะล้มเหลวแบบประเทศทางฝั่งยุโรป 

“3,000 บาทไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม วันนี้ให้อยู่ประมาณ 1,000 บาท ถ้าหากนับจากวันนี้ไปอีกประมาณ 4 ปี แล้วทำขึ้นไปเป็นขั้นบันได 1,000 ปีนี้ 2,000 ปีหน้า 2,000 ปีถัดไปแล้วไป 3,000 บาทประมาณปี 2570 ปริมาณจำนวนคนพิการวันนี้ที่มีอยู่ประมาณ 2.25 ล้านคน จะขึ้นไปประมาณเป็น 2.55 ล้านคนในปี 2570 งบประมาณที่จะต้องใช้ จะเพิ่มจากประมาณ 23,000 ล้านถึง 24,000 ล้าน ขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 91,800 ล้าน หรือเกือบจะใกล้ๆ 1 แสนล้านบาท 

“เรียนว่าพวกเราก็อยากจะให้กับพี่น้องคนพิการที่จะได้รับความช่วยเหลือ ทั้งนี้การจะให้เงิน 100,000 ล้านหรือสองหมื่นกว่าล้าน ก็ต้องดูด้วยเช่นกันว่ารายรับของรัฐบาลเป็นเช่นไร จากนี้ไปจนถึง 2570 เพราะเราไม่อยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเมืองบางเมืองในทวีปยุโรปที่ประกาศให้ตัวเองเป็นรัฐล้มละลายเนื่องจากมีรายจ่ายมากกว่ารายได้”

ในกรณีเรื่องการทำบัตรคนพิการ วราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่าปัจจุบันกรมได้มีการจัดทำจุดบริการทำบัตรคนพิการแบบ One Stop Serviceโดยปัจจุบันมีจุดให้บริการในโรงพยาบาล 111 จุดใน 76 จังหวัด และมีระยะเวลาการทำบัตรเพียง 15 นาทีเท่านั้น และยังสามารถทำได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด

  Socialข่าวการเมืองสิทธิมนุษยชนศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์มณเฑียร บุญตันวราวุธ ศิลปอาชากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เบี้ยความพิการ
Categories: ThisAble

“ห้ามถ่ายรูป ห้ามถ่ายคลิป ห้ามบันทึกเสียง” เมื่อกฎหมายไม่ชัดเจน ส่งผลให้คนหูหนวกเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล

ThisAble - Tue, 2023-09-05 14:33

เชื่อว่าหลายคนที่ไปโรงพยาบาลน่าจะเห็นป้ายที่ติดหน้าห้องตรวจมีโลโก้ห้ามถ่ายรูป ห้ามถ่ายวิดีโอ และห้ามบันทึกเสียงพร้อมกับข้อความคล้ายๆ กันว่า “การถ่ายภาพหรือบันทึกเสียง ในขณะที่แพทย์ พยาบาล ทำการรักษาพยาบาลถือเป็นการละเมิดสิทธิ ในการทำการรักษาผู้ป่วยของแพทย์และพยาบาล และเป็นการขัดขวางหรือทำให้การตรวจรักษาไม่สะดวก ซึ่งอาจเกิดผลร้ายกับผู้ป่วย หากนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตและเกิดความเสียหายขึ้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษทั้งจำและปรับ” และเขียนอ้างอิงบรรทัดสุดว่า อ้างอิงมาจากมาตรา 7 พระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ. 2550

นอกจากป้ายดังกล่าว เราอาจจะเห็นข่าวคนไข้ไม่พอใจหมอ หรือคดีฟ้องร้องกันอยู่บ่อยๆ  ทำให้เกิดความสับสนว่า อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้บ้าง เช่นเดียวกับคนหูหนวกที่ไปใช้บริการ พวกเขาจำเป็นจะต้องมีล่าม และบางครั้งล่ามก็อยู่ในรูปแบบของวิดีโอคอล แล้วการวิดีโอคอลนั้นทำได้หรือไม่ อะไรที่เป็นข้อห้ามแต่อาจถูกยกเว้นในเรื่องการอำนวยความสะดวก และความไม่เข้าใจต่างๆ ทำให้คนหูหนวกเข้าถึงการแพทย์ยากอย่างไร Thisabe.me ชวนคุยกับคนหูหนวกเรื่องประสบการณ์การหาหมอ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของคนหูหนวกไทย 

สิทธิผ่านกฎหมายที่คนหูหนวกควรได้รับ

อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ไทยเองมีความพยายามรักษาความลับของคนไข้ตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่า 

“ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”

จากการตีความมาตรา 7 อาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้าใจว่า ไม่สามารถวิดีโอคอลได้ ส่งผลให้คนหูหนวกไม่สามารถติดต่อกับล่ามภาษามือเพื่อแปลสารของตัวเองและหมอ เช่น อาการที่เป็น การวินิจฉัย การดูแลตัวเอง ยาที่ต้องกิน เป็นต้น

ในสหรัฐอเมริกา มีพระราชบัญญัติคนพิการชาวอเมริกันปี 1990 (Americans with Disabilities Act : ADA) ซึ่งมุ่งขจัดการเลือกปฎิบัติกับคนพิการ ดังนั้นคนพิการทางการได้ยินมีสิทธิขอล่ามเพื่อเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาดำรงตำแหน่งก็ได้เพิ่มความเข้มข้นการเข้าถึงบริการทางสุขภาพอย่างเท่าเทียมด้วยการประกาศใช้รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการดูแลที่จ่ายได้ (The Patient Protection and Affordable Care Act) หรือรู้จักกันสั้นๆ ว่า โอบามาแคร์ มาตรา 1557 ระบุไว้ว่า หากผู้ให้บริการทางสุขภาพที่ได้รับเงินจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐอเมริกานั้นเลือกปฏิบัติบุคคลจากเชื้อชาติ สีผิว ชาติกำเนิด เพศ อายุ หรือความทุพพลภาพเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้สหรัฐฯ จะมีกฏหมายและรัฐบัญญัติ แต่ความเป็นจริงยังมีคนหูหนวกจำนวนมากไม่สามารถขอล่ามจากสถานบริการทางสุขภาพได้ เช่น กรณีของคนหูหนวกที่สื่อสารผิดพลาดจนทำให้ถูกถอนฟันไป 7 ซี่  ( Deaf patient didn’t know she agreed to have 7 teeth removed in Washington, feds say) หรือคนหูหนวกที่ชนะคดี หลังสถานพยาบาลไม่มีล่าม จนทำให้สถานพยาบาลนั้นถูกลงโทษปรับและต้องจัดหาล่ามภาษามือ ในที่สุด (South Florida Hospital Fined Following Deaf Patient's Lawsuit

ปัญหาการเข้าถึงล่ามของคนไข้หูหนวกไทย 

เฟิรสท์—ธัญชนก จิตตกุล 

เฟิรสท์—ธัญชนก จิตตกุล คนหูหนวก เจอปัญหาการสื่อสารระหว่างหมอ พยาบาล กับเธออยู่หลายครั้ง เธอย้อนกลับไปสมัยตอนที่ยังไม่มีบริการล่ามภาษามือออนไลน์ (TTRS) ตอนนั้นเธอขอให้พ่อแม่แฟนมาช่วยสื่อสาร พอมีบริการดังกล่าวก็ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่อีก แต่ TTRS กลับไปไม่ช่วยอำนวยความสะดวกในการหาหมอ

“เราเคยบอกหมอว่า เราเป็นคนหูหนวกนะ ขอใช้ TTRS คุยกับล่ามได้ไหม หันกล้องไปหาหมอ เขาก็ผลักออก ไล่เรากลับบ้าน”

พอเปลี่ยนวิธีสื่อสารเป็นการเขียน ศัพท์ทางการแพทย์ก็เขียนยาก เฟิรสท์จำไม่ได้ว่าคำๆ นั้นในภาษาไทยเขียนว่าอย่างไร พอเขียนภาษาไทยคุยกับหมอ หมอมีท่าทีงงๆ ไม่เข้าใจว่าคืออะไร

คำพูดของเฟิรสท์ชวนให้นึกถึงบทสัมภาษณ์ของชนากานต์ พิทยภูวไนย : หน้าที่ของล่ามภาษามือคือแปลสารให้ครบถ้วน เพื่อเป็นเสียงให้กับคนหูหนวก ที่เล่าทัศนคติที่ค้นพบระหว่างเป็นล่ามให้คนหูดีและคนหูหนวกคือ คนหูหนวกเขียนไม่รู้เรื่องเพราะต้องเข้าใจว่าคนหูหนวกใช้ภาษามือเป็นหลักและเขียนน้อยมาก เช่นเดียวกับที่ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์กล่าวผ่านรายงานเรื่อง TTRS พันธกิจเพื่อ “โลกไม่เงียบ” ของ “คนไร้เสียง”  บนเว็บไซต์ The Story Thailand สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่า คนพิการทางการได้ยินใช้ภาษาเขียนได้ แต่ไม่สะดวก เพราะรูปแบบไวยากรณ์ภาษาเขียนกับภาษามือต่างกัน ภาษาไทยที่คนหูดี พูด อ่าน เขียนทุกวันนี้คือ ภาษาที่สองของคนหูหนวก ล่ามจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือ

โน้ต—ศิริชัย กรุดสุข


ส่วนโน้ต—ศิริชัย กรุดสุข คนหูหนวกอีกคนก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ตอนนั้นทั้งหมอและพยาบาลไม่ให้ใช้บริการ TTRS แบบวิดีโอคอล แต่ให้อ่านปากและเขียนสื่อสาร

“พยาบาลเคยบอกว่าใช้ TTRS เหรอ รู้ไหมมันผิดพ.ร.บ. มันผิดกฎหมาย เราคิดว่าเป็นสิทธิของเราที่จะใช้บริการ TTRS เรารู้สึกว่าเขาใจแคบ มันแปลกมากเลยที่โรงพยาบาลมองแบบนี้”

สิทธิที่โน้ตกล่าวถึงคือ คนหูหนวกมีสิทธิใช้บริการล่ามภาษามือตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ. 2552 ได้ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ การแพทย์ การสมัครงานและการประกอบอาชีพ การติดต่อตำรวจหรือชั้นศาล การประชุมอบรมสัมมนา และบริการสาธารณะอื่นๆ ซึ่งศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) จัดตั้ง เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินสื่อสารกับคนทั่วไปผ่านโทรคมนาคมพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยมีวัตถุประสงค์ให้เข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความกลัวการแอบถ่ายและไม่รู้จักวิธีการสื่อสารกับคนหูหนวก

 หมอไม่พร้อม "แบก " งานหนัก- เงินน้อย- ถูกฟ้อง เป็นชิ้นงานที่เคยเผยแพร่ลงเว็บไซต์ Thaipbs เนื้อหาสัมภาษณ์เภสัชกรประจำโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านนนทบุรี ระบุประเด็นปัญหาที่แพทย์ปัจจุปันต้องเผชิญว่า

“แพทย์รุ่นใหม่จะไม่แบกรับอะไรที่เป็นภาระหนัก เขาจะไม่เป็นเดอะแบก การทำงานต้องมีเวลาพัก เรียกว่า Work life and Balance ไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง หรือถูกกดดันจากผู้ป่วย ปัจจุบันผู้ป่วยและญาติก็ไม่ธรรมดา มีการแอบถ่ายคลิป ตั้งแต่เข้าห้องตรวจ”

 นายแพทย์วัฒ หมอโรงพยาบาล


จากประเด็นดังกล่าว นายแพทย์วัฒ หมอโรงพยาบาลแห่งหนึ่งให้ความเห็นส่วนตัวเรื่องการแอบถ่ายคลิปคุณหมอว่า เหตุการณ์คลิปแอบถ่ายหมอแล้วเป็นข่าว หมอโดนด่า พอเห็นคนไข้ ญาติคนไข้ทำท่าหยิบมือถือขึ้นมา ก็คิดว่าจะถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ นอกจากนี้การถ่ายเป็นการรบกวนอย่างหนึ่ง เหมือนมีคนมากดดัน หมอจะเกร็ง หากรักษาผิดพลาด หมอไม่มีโอกาสแก้ตัว ส่วนปัญหาการใช้ TTRS รูปแบบวิดีโอคอลหรือห้ามล่ามเข้าห้องตรวจนั่นน่าจะเกิดจากความไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับคนหูนวกอย่างไร

“ปัญหาน่าจะคือเรื่องของการรับรู้มากกว่า เอาจริงๆ หมอส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่ามีแอพนี้ ถ้าเขารู้อาจจะมีแนวคิดเปลี่ยนไปว่าหยิบกล้องขึ้นมาไม่ใช่แอบถ่าย เราไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ถ้าไม่ได้เจอกับล่ามภาษามือที่โรงพยาบาล

“ประเด็นนี้เซนซิทีฟ หมอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้กล้อง แถมที่ผ่านมาก็มีอคติ หากสร้างความเข้าใจว่าคนหูหนวกต้องใช้ล่าม เขาหยิบกล้องมาวิดีโอคอลหาล่ามเพื่อการสื่อสาร หมอก็จะเข้าใจมากขึ้น”

ส่วนจะเข้าข่ายผิดมาตรา 7 หรือไม่ หมอวัฒได้กล่าวว่า ถ้าไม่มีผู้เสียหายสามารถใช้วิดีโอคอลได้ ถ่ายรูปได้ แต่ถ้าถ่ายติดคนอื่นแล้วเขาเดือนร้อน ก็มีความผิด หากมีการประชาสัมพันธ์บุคลากรในโรงพยาบาลให้มีความรู้ว่า  คนหูหนวกสื่อสารกับคนหูดีต้องใช้ล่ามภาษามือ ก็น่าจะเป็นความคิดที่ดีมาก 

ล่ามตัวเป็นๆ และ ตู้ TTRS นั้นไม่ตอบโจทย์การใช้งาน 

นอกจากการวิดีโอคอลหาล่ามผ่าน TTRS แล้ว ก็ยังมีบริการตู้ล่าม ที่ตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ แต่ตู้ดังกล่าวนั้นกลับใช้งานจริงไม่ค่อยได้

“ตัวตู้อยู่ข้างนอก เราจะทำยังไงให้หมอมาคุยกับล่ามที่ตู้ มันไม่ค่อยมีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นในแอพพลิเคชั่นง่ายกว่ามากเลย”

คำพูดเฟิร์สทสะท้อนให้เห็นว่าตำแหน่งตู้ TTRS ใน 12 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่บริการสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) และไม่เกิน 2 ตู้ต่อโรงพยาบาลเท่านั้น

ในรายงาน TTRS พันธกิจเพื่อ “โลกไม่เงียบ” ของ “คนไร้เสียง” ได้กล่าวถึง ชนัญชิดา ชีพเสรี หัวหน้าล่ามภาษามือประจำศูนย์ TTRS มีความเห็นตรงกับศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ว่า เทคโนโลยีการสื่อสารจะเข้ามาช่วยแก้ไขข้อจำกัดด้านเวลา ทำให้ล่ามไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปหาหมอกับคนหูหนวกทั้งวันเพื่อรอคุยกับหมอและแปลสารแค่ 10 นาที 

นอกจากวิดีโอคอล โน้ตมองว่า การมีล่ามมาหาหมอด้วยเป็นเรื่องดีกว่าเพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากล่ามอธิบายอาการเจ็บป่วยของคนหูหนวกให้หมอฟังได้อย่างละเอียด ก็จะทำให้คนหูหนวกเข้าใจอาการป่วยชัดเจน 

"แต่ละครั้งที่ใช้บริการล่ามออนไลน์ ก็จะไม่ได้ล่ามคนเดิม แต่ถ้าเอาล่ามประจำของเรามา เขารู้ว่าสุขภาพเราเป็นยังไง แปลต่อเนื่องให้เราได้ ถ้าเปลี่ยนล่าม วิธีการสื่อสารเปลี่ยน เลยไม่สามารถถ่ายทอดข้อความที่เราต้องการสื่อได้ครบถ้วน” 

การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ 

โน้ตเล่าให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาไปหาหมอฟัน แต่หมอฟันไม่ยอมให้ล่ามเข้า เขาไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะไม่ได้ยิน มองไม่เห็นเพราะโดนปิดตา

“อยากให้หมอและพยาบาลรู้และเข้าใจว่าล่ามช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูล มันเป็นเรื่องสำคัญ ล่ามจะได้อธิบายให้ชัดเจน” 

ตามกฎหมายแล้ว การทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนแพทย์จะมีความผิดตามมาตรา 8  ในการบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการให้ผู้รับบริการทราบอย่างเพียงพอที่ผู้รับบริการจะใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับบริการใด และในกรณีที่ผู้รับบริการปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นไม่ได้

“การวิดีโอคอลช่วยให้ล่ามอธิบายอาการเราได้ แต่ถ้าหมอไม่ใช้บริการล่าม มั่วแต่เขียน ดูท่าทางของเรา วินิจฉัยผิด เราตายจะทำยังไง คุณจะรับผิดชอบยังไง ชีวิตเราก็สำคัญ”  เฟิร์สกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดมาตรา 8 ดังนั้นการฟ้องเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของคนหูหนวกจึงแทบจะไม่มีให้เห็นเหมือนในหลายๆ ประเทศที่พยายามกำจัดอุปสรรคการสื่อสารของคนหูหนวก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เป็นต้น 

 

อ้างอิง

http://web1.dep.go.th/sites/default/files/files/law/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%AF%20%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%20%E0%B8%9E.%E0%B8%A8.%202561.PDF

https://www.dep.go.th/images/uploads/files/manual_interpreter2021.pdf

https://www.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Information_Center/Attach/25621124013609AM_17.pdf

https://omhc.dmh.go.th/law/files/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A.%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%9E.%E0%B8%A8.2550.pdf

https://www.ttrs.or.th/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-ttrs/





 

Healthรายงานพิเศษคุณภาพชีวิตสิทธิมนุษยชนต่างประเทศสุขภาพคนหูหนวกคนไข้หูหนวกโรงพยาบาลแพทย์มาตรา 7 พระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ. 2550TTRSการแอบถ่ายวิดีโอคอล
Categories: ThisAble

สรุปเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง 2.0 “ฉันจะช่วยเมื่อเธอต้องการ ” เสวนาที่ว่าด้วยสิทธิและสวัสดิการของผู้ช่วยคนพิการ

ThisAble - Thu, 2023-08-24 18:14

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา Thisable.me ร่วมกับศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณทล จัดงานเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง “ฉันจะช่วยเมื่อเธอต้องการ” เล่าถึงสิทธิและสวัสดิการของผู้ช่วยคนพิการ (พีเอ PA - personal assistant) มีผู้ร่วมเสวนา 3 คน ได้แก่ ไซ ซิน ผู้ช่วยคนพิการนอกระบบ, ชศรา จรัสธนสกุล พีเอจากศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ นนทบุรี , สันติ รุ่งนาสวน คนทำงานอิสระและทำงานเบื้องหลังคนพิการ ชวนคุยโดยอรรถพล ศรีชิษนุวรานนท์ 

จุดเริ่มต้นที่มาอยู่แวดวงพีเอ

สันติ: เราเคยเข้าร่วมอบรมแนวคิดดำรงชีวิตอิสระ และใช้แนวคิดนี้ทำงานกับคนพิการ 

ชศรา: พี่สาวเป็นคนพิการที่ทำงานอยู่ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี ตอนแรกเราไม่ได้เป็นพีเอ แต่ก็ช่วยดูแลพี่สาวและคนพิการอีกคนหนึ่งก่อน ที่นี่พี่สาวเราอยากให้ไปช่วยคนพิการคนอื่น เลยให้ไปอบรมพีเอซึ่งถูกจัดโดยกรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 

ไซ: เราเป็นแรงงานข้ามชาติ ทำงานดูแลผู้สูงอายุมาประมาณ 6 เดือนแล้วรู้สึกไม่ไหว เลยลาออกไปที่ศูนย์จัดหางานเพื่อหางานทำ แล้วนายจ้างคนปัจจุบันโทรมาพอดี และได้งานพีเอแต่เป็นพีเอนอกระบบตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน

 

 ชศรา จรัสธนสกุล

พีเอบนแนวคิดการดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ

สันติ:  พีเอเริ่มต้นจากการมีแนวคิดดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ เมื่อคนพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แต่อยากชีวิตด้วยตัวเอง สิ่งที่เขาทำไม่ได้ต้องมีคนสนับสนุน คนพิการคิด อะไรที่คนพิการทำไม่ได้ พีเอก็ค่อยช่วยสิ่งที่คนพิการทำไม่ได้ แต่มันต้องเกิดจากความต้องการคนพิการเองเป็นหลัก สมมติว่าคนพิการอยากแปรงฟันก่อนอาบน้ำแต่พีเอบอกว่าอาบน้ำก่อนแปรงฟันไหม หรือ คนพิการอยากใส่เสื้อสีแดงแต่พีเอหยิบเสื้อสีส้มมาให้ คนพิการปฏิเสธไม่ใส่เสื้อสีนี้ได้ และพีเอไม่ควรละเมิดสิทธิการเลือกของคนพิการ

ชศรา: หากเป็นพีเอตามแนวคิดการดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ เราจะให้คนพิการตัดสินใจเอง 

รับฟังว่าเขาต้องการอะไร ช่วยเหลือให้ขาทำกิจวัตรประจำวันลุล่วง แล้วพาคนพิการออกสู่สังคม 

ไซ: เราเรียนรู้งานพีเอจากการติดตามนายจ้างไปทำงานที่ต่างๆ นอกจากนี้นายจ้างเป็นคนฝึกให้เราทำงานพีเอบนฐานแนวคิดการดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ 

ความต่างระหว่างผู้ดูแลคนสูงอายุ (Caregiver) กับ พีเอ

สันติ: เราไม่รู้ตอนอบรมเป็นผู้ดูแลคนสูงอายุ เขาสอนอะไรบ้าง งานดูแลผู้สูงอายุอาจจะมองเรื่องการดูสุขอนามัยเป็นหลักแต่พีเอมองเรื่องสังคม โดยมองว่า จะทำอย่างไรให้คนพิการออกมาชีวิตในสังคม 

ไซ: ผู้สูงอายุไม่ออกไปข้างนอก ชอบให้อยู่ดูแลที่บ้าน บางทีตกลงกับเขาว่าทุก 20 นาทีจะมาพลิกตัวให้ทีหนึ่ง พอเวลาทำงานจริง 5 นาทีเรียกครั้ง 2 นาทีเรียกครั้ง อีกอย่างที่แตกต่างกันคือ งานดูแลผู้สูงอายุทำเป็นขั้นตอน แต่งานดูแลคนพิการ จะแล้วแต่คนพิการจะเรียกร้องขอความช่วยเหลือ  

อุปสรรคการทำงาน 

ชศรา: หมาข้างบ้านและญาติของคนพิการที่เราไปดูแลเขามาตัดสินใจแทนตลอด เราบอกให้คนพิการบอกญาติว่าเราไม่สามารถทำตามคำสั่งเขาได้ แต่ทั้งสองคนไม่คุยกัน อีกอย่างคือ ตัวคนพิการใหญ่ เขาต้องพลิกตัวบ่อยเลยต้องใช้แรงเยอะ

เงินค่าตอบแทนคนพิการได้น้อย เราได้ชั่วโมงละ 50 บาท ทำได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน หากทำเกินเวลาไม่ได้เงิน เงินค่าเดินทางไม่ได้เบิกได้ตามจริงแต่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ศูนย์จะจัดให้เท่าไร ซึ่งเงินหาได้เดือนนึงไม่พอต่อการดำรงชีพ 

ไซ: เราเป็นพีเอนอกระบบ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด หากมีพีเอของรัฐมาดูแลนายจ้าง เราจะได้มีเวลาหยุดพักบ้าง เจ้านายเราทำเรื่องขอพีเอจากรัฐบาล ปีที่ผ่านมาบอกว่าได้แล้ว จนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ก็ยังไม่มีพีเอรัฐมา

สันติ รุ่งนาสวน

ปัญหาสวัสดิการผู้ช่วยดูแลพิการไทย

สันติ: กลุ่มคนพิการนำหลักการดำรงชีวิตอิสระและพีเอเข้ามาให้เป็นสวัสดิการคนพิการรุนแรง โดยทำเฉพาะในจังหวัดที่มีองค์กรที่มีแนวคิดนี้เข้มแข็งก่อนแล้วค่อยกระจายไปทั่วประเทศ แต่พอนำเรื่องนี้เสนอรัฐบอกไม่ได้ ต้องทำทั่วประเทศ แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณส่งผลให้แต่ละจังหวัดมีพีเอ 5 คน องค์กรคนพิการที่เริ่มต้นเรื่องดังกล่าวยอมรับวิธีนี้ก่อน แล้วค่อยปรับเอาทีหลัง สุดท้ายเรื่องพีเอก็กระท่อนกระแท่นมาถึงทุกวันนี้ 

ครั้งหนึ่งเคยลงพื้นที่เก็บการเข้าถึงบริการพีเอ เราถามพีเอของรัฐว่ามาจากไหน บางคนตอบว่าเป็นอสม.บางคนเคยเป็นอดีตนายก อบต.แล้วมีความสัมพันธ์กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดอบรมพีเอ พอเราไปสัมภาษณ์คนพิการ เขาบอกว่า มีคนมาหาก็ดีใจที่สุดแล้ว ซื้อก๋วยเตี๋ยวมาฝากก็ดีแล้ว ซึ่งคนพิการไม่ได้รับบริการที่ควรจะเป็น 

ชศรา: ตอนที่เราเคยไปดูเขาจัดอบรมพีเอ ผู้เข้าร่วมอบรมพีเอส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่ตั้งใจอบรมแต่มาเพื่อเอาเงินค่ารถ เวลาอบรม กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะให้คนพิการมาเป็นวิทยากรน้อย นอกจากนี้แล้วเนื้อหาไม่เน้นเท่ากับองค์กรคนพิการจัดเอง ได้แก่ การป้อนอาหาร การเทปัสสาวะ การล้วงถ่าย การอาบน้ำ การเข็นรถ การพาคนตาบอดเดิน 

ไซ: เราเคยไปอบรมพีเอเห็นแต่คนสูงวัยไปอบรม หากเขาไปต้องทำงานจริงน่าจะทำงานยาก อยากให้รัฐเปิดให้แรงงานข้ามชาติสมัครเป็นพีเอได้ 

ไซ ซิน

ข้อเสนอจากใจคนทำงานพีเอถึงรัฐ

สันติ: ที่ผ่านมารัฐไม่เชื่อมั่นว่า เจ้าของปัญหาคือคนที่แก้ไขปัญหาได้ รัฐไม่เชื่อว่าเจ้าของปัญหาแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด เวลาเจ้าของปัญหาเสนอว่า นี่คือปัญหาของฉัน ฉันอยากจัดการปัญหาแบบนี้ แต่รัฐคิดว่าเป็นอีกอย่าง หากรัฐต้องจัดงานบริการคนพิการเอง แล้วกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะตรวจสอบและจัดบริการคนพิการได้ดีแค่ไหน ถ้าเป็นเรื่องของคนพิการก็ควรให้องค์กรคนพิการเป็นคนดูแล ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้เกิดการให้บริการที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระของรัฐอีกด้วย

ชั่วโมงการทำงานของพีเอควรกำหนดจากคนพิการว่าต้องการความช่วยเหลือกี่ชั่วโมง เขาควรได้รู้ว่าจะได้ผู้ช่วยคนพิการกี่ชั่วโมง ไม่ใช่ตีกรอบว่า และพีเอให้บริการได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 50 บาท เงินที่ได้ก็ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนเข้ามาทำพีเอน้อย หากทำให้พีเอเป็นอาชีพได้เงินสมน้ำสมเหนือกับค่าแรง ไม่ถูกด้อยค่าเพราะทำถ่าย ทำอึได้ คิดว่าดึงความสนใจให้คนมาทำอาชีพนี้

คนพิการต้องยืดหยัด มั่นใจว่า สิ่งที่เราคิดถูกต้องและยืดกรานต้องทำแบบนั้น หากมีคนพิการุนแรงสัก 500 คนออกมาเรียกร้องว่าต้องการพีเอแบบนี้ เพราะทำให้คนพิการมีชีวิตที่ดี กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้จริง ดีกว่าจำยอมสิ่งที่รัฐยัดเยียดให้เรา 

ชศรา: อันดับแรกอยากให้พีเอเข้าสู่มาตรา 33 เหมือนอาชีพอื่น เบิกค่ารถได้ตามจริง หากค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงก็อยากให้เปลี่ยนเป็น 100 บาทต่อชั่วโมง เพราะพีเอทำงานจริง ไม่เหมือนอสม.ถ่ายรูป ให้ของเสร็จแล้วกลับ เวลาอสม.มาอบรมเพื่อเอาชมแล้วไปเบิกเงิน แต่ไม่ได้ช่วยเหลือคนพิการ และควรให้เงินกับองค์กรคนพิการมาอบรมพีเองเอง จะได้มีพีเอเยอะขึ้น คนพิการใช้ชีวิตในสังคมได้

ไซ: คนพิการอยากได้พีเอก็ไม่ได้ พีเออยากจะทำแต่ค่าแรงน้อย อยากให้บริการพีเอ มีเหมือนแกร๊บไลน์แมน หากคนพิการอยากให้พีเอมาช่วยคนพิการอยู่ตรงไหน พีเออยู่ตรงไหน คิดชั่วโมงละเท่าไร อยากให้เกิดขึ้นแบบนี้มากๆ


 

Socialบทความคุณภาพชีวิตสิทธิมนุษยชนแรงงานเสรีภาพหรือเสรีพร่องผู้ช่วยดูแลคนพิการพีเอPersoal Assistantพีเอนอกระบบแนวคิดดำรงชีวิตอิสระไอแอล
Categories: ThisAble

“งานเราสนับสนุนให้คนพิการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ ” คุยกับศิยาพร ด็อกเก็ตต์ คนดูแลคนพิการที่ออสเตรเลีย

ThisAble - Fri, 2023-08-18 16:30

ในไทยอาชีพผู้ช่วยคนพิการอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก บางคนก็เข้าใจว่าผู้ช่วยคือพี่เลี้ยง ญาติ เพื่อน ฯลฯ แต่แท้จริงแล้วอาชีพนี้มีชื่อเรียกและเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะ ความเข้าใจ และต้องเคร่งครัดไม่ต่างจากอาชีพอื่น

ผู้ช่วยคนพิการ หรือ Personal Assistant หรือเรียกสั้นๆ ว่า PA เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานแล้ว และเป็นสวัสดิการที่ต้องจัดให้โดยรัฐ อย่างไรก็ดีปัจจุบันก็ยังมีผู้ช่วยคนพิการไม่เพียงพอและคนพิการยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการนี้กันอย่างถ้วนหน้าแตกต่างจากในหลายๆ ประเทศที่ระบบผู้ช่วยคนพิการนั้นเข้าถึงคนพิการและถูกจัดให้เป็นสิทธิที่สำคัญลำดับต้นๆ เนื่องจากงานนี้ทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิต และตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เราจึงอยากชวนคุยกับผู้ช่วยคนพิการจากออสเตรเลีย จากคลิปวิดีโอในยูทิวป์แชลแนล S i Y a ออกมาเล่าประสบการณ์งานดูแลคนพิการประเทศออสเตรเลียว่า การทำงานทั้งสองที่ต่างกันอย่างไร โดยเจ้าของช่องอย่าง เปิ้ล—ศิยาพร ด็อกเก็ตต์ เธอเป็น Support Worker ที่ตั้งรกรากทำงานในเมืองบาลเลแรท รัฐวิกตอเรีย จากพนักงานนวดที่ญี่ปุ่นสู่อาชีพดูแลผู้สูงอายุ กระทั่งผันตัวเป็นคนดูแลคนพิการ งานสายนี้ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เพราะอะไรรัฐถึงให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตแต่ละวันของคนพิการ

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจงานดูแลคนพิการ

ศิยาพร : ก่อนทำงานดูแลคนพิการที่ออสเตรเลีย เรากับแฟนอยู่ประเทศญี่ปุ่น และมองหางานดูแลผู้สูงอายุเพราะสถานดูแลผู้สูงอายุอยู่ใกล้บ้าน หากทำงานนั่น เขาต้องการคนพูด-เขียนญี่ปุ่นได้ แต่เราไม่มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นเลย พูดทักทายได้เท่านั้น จึงรู้สึกว่ายาก ประกอบกับตอนนั้นพ่อสามีป่วย เรากับสามีเลยตัดสินใจว่า ย้ายไปอยู่ออสเตรเลียดีกว่า

 

ระหว่างรอวีซ่าที่ประเทศไทย ก็คิดว่าหากไปออสเตรเลียก็ต้องหางานที่มั่นคง เพราะงานเก่าทำได้แป๊ปเดียวเขาก็ปิด ยิ่งพออายุ 30 ปลายๆ แล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย ตอนนั้นก็เสิร์ชหาข้อมูลว่ามีงานอะไรที่คนไทยทำได้ มั่นคง และเป็นองค์กรใหญ่เทียบเท่ากับคนบ้านเขาได้จากเว็บไซต์ BlogGang Pantip แล้วย้อนมองว่าตนเองมีคุณบัติที่จะอาชีพอะไรได้บ้าง เราคิดว่างานดูแลผู้สูงอายุน่าจะเป็นงานที่ทำได้ หลังจากนั้นหาข้อมูลต่อว่าต้องทำอย่างไรถึงจะทำงานนี้ได้ 

 

พอไปอยู่ เราก็เข้าเรียนภาษาอังกฤษฟรีสำหรับคนต่างประเทศ เรียนไปสักก็หาข้อมูลว่าจะเรียนการดูแลผู้สูงอายุ (Aged care) ได้ที่ไหนบ้าง จนเจอที่เรียนจากการแนะนำ เรียนจบเราก็ไปสัมภาษณ์งานที่สถาบันที่เคยฝึกงาน ตอนเรียนก็ยากแล้ว สัมภาษณ์ยากกว่าอีก เราก็ตอบคำถามได้บ้างไม่ได้บ้าง จนมาถึงข้อสุดท้าย เขาถามว่า มีอะไรอยากถามไหม เราบอกว่า เราไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ แต่เชื่อว่าทำได้และทำได้ดีด้วย ขอโอกาสให้เราได้ทำงาน สัมภาษณ์เสร็จยังไม่ถึง 2 ชั่วโมง เขาโทรกลับมา ยินดีด้วยนะ คุณได้งานดูแลผู้สูงอายุ เราเรียนรู้อะไรจากงานนี้เยอะมาก เราเรียนรู้งานเยอะมาก มีอะไรที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ มันเป็นอีกโลกหนึ่งเลย 

 

โลกของงานดูแลผู้สูงอายุ

เราเข้างาน 07.15 - 19.17 บรีฟงานกันแล้วเริ่มทำงานเลย เพราะผู้สูงวัยต้องทานอาหาร 8 ไม่เกิน 9 โมงเราต้องไปเคาะประตู ทักทายสวัสดีค่ะ พร้อมตื่นไหม แล้วพาเข้าห้องน้ำ คนไหนที่พาเข้าห้องน้ำคนเดียวได้ เราจะพาเข้าห้องน้ำคนเดียว แต่บางอย่างทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีอีกคนมาช่วยทำ เช่น การใช้อุปกรณ์ยก เพราะหากเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมา เราอาจจะโดนข้อหาทำร้ายร่างกาย ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยไม่เจตนา และยังต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะที่นี่มีคนสูงอายุ 15 คน แต่มีคนดูแลแค่ 2 คน เราจะจัดการให้เขาอาบน้ำอย่างไร จะอาบน้ำพร้อมกัน 15 คนไม่ได้ เลยต้องแบ่งว่าคนนี้อาบเช้า คนนี้อาบเย็น ระหว่างที่เราจัดการเรื่องอาบน้ำ บางคนอยากเข้าห้องน้ำแต่เขาเดินเองไม่ได้ เราต้องรีบวิ่งมาช่วยเขาเข้าห้องน้ำ บางคนไปห้องน้ำไม่ทัน ปัสสาวะ อุจจาระราดพื้น เราก็ต้องทำความสะอาด เราก็จะหัวหมุน เพราะมีเหตุการณ์ให้วุ่นวายตลอดทั้งวัน 

 

พอถึงเวลากินข้าว บางคนเราต้องไปป้อนอาหารที่ที่นอนเพราะลุกขึ้นเดินไปกินเองไม่ได้ แล้วเหลือเพื่อนอีกคนอยู่โซนอาหาร ดูแลให้ผู้สูงอายุคนอื่นกินข้าว เวลาไปป้อนอาหาร เราไม่อยากเร่งรีบ แต่ก็ยังเหลืออีก 13-14 คนรอกินข้าวอยู่  ที่ทำงานจะแบ่งเป็นโซนๆ โซนที่เราอยู่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมขั้นรุนแรง (Dementia) โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย จากเป็นคนน่ารักกลายเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด บางคนไม่รู้ว่าหิว เขาต้องกินข้าว เวลาให้กินข้าว เขาจะนั่งมองอาหาร เราต้องคอยป้อนเขา บางคนก็ไม่นั่ง เดินไปเดินมาตลอดเวลา เราก็ต้องเดินตามไปป้อน บางทีกำปั้นมาจากไหนไม่รู้ซัดเข้าตรงจมูก โดนต่อยไม่รู้ตัวเพราะมัวช่วยกันใส่เสื้อผ้าแล้วเขาไม่ยอมใส่ ถึงจะอายุ 70-80 ปีแล้ว แรงเขาเยอะมาก บางคนตอนเช็ดหน้าให้ยังพูดจาดีๆ กับเราอยู่เลย เผลอแป๊บเดียวตบหน้าเรา อันนี้ความเศร้าในการทำงานดูแลผู้สูงอายุ ทำไมไม่ให้มีพนักงานดูแลเยอะกว่านี้ จะได้ดูแลกันทั่วถึง และทำงานอย่างเต็มที่

 

สัมภาษณ์ 5 รอบถึงได้ทำงานดูแลคนพิการ 

ตอนนั้นมีเปิดรับสมัครงานดูแลคนพิการ เราไปสมัครและสัมภาษณ์งานอยู่ 5 รอบ การสัมภาษณ์งานยากกว่างานดูแลผู้สูงอายุมาก เราได้เรียนรู้ว่าการสมัครงานหน่วยงานเอกชนกับหน่วยงานรัฐค่อนข้างต่างกัน เอกชนจะดูบุคลิกและให้โอกาสเราทำงาน แต่หน่วยงานราชการจะดูว่า เราตอบตรงคำถามไหม พอรอบที่ 4 ที่เราสอบไม่ผ่าน เราเขียนจดหมายไปหาผู้จัดการเขาแล้วถามว่า เพราะอะไรถึงสอบไม่ผ่าน ช่วยบอกได้ไหม เขาช่วยชี้แนะว่า เราควรตอบอย่างไร 

 

คำถามสัมภาษณ์ไม่ยากเลย เช่น คุณคิดว่าคุณมีอะไรดีที่จะเข้ามาทำงานนี้หรือยกตัวอย่างสถานการณ์ สมมติสภาพอากาศร้อน คุณต้องพาคนพิการออกไปข้างนอก คุณจะเตรียมตัวอย่างไร ฟังดูง่ายแต่ตอบให้ถูกยาก คำตอบไม่ใช่ตอบว่าใส่หมวก ทาครีมกันแดด แต่คำตอบคือ เราต้องไปดูโปรไฟล์คนพิการคนนี้ โดยถามหัวหน้างานหรือพนักงานที่รู้จักคนพิการคนนี้ดีว่า มีอะไรที่เราควรทำหรือระวัง เขาทานอาหารเนื้อสัมผัสแบบไหนได้บ้าง ทานอาหารนิ่มได้ไหม อาหารแข็งได้หรือเปล่า อาหารประเภทไหนที่ต้องเลี่ยง เราต้องตอบให้ครอบคลุมเพื่อดูแลคนพิการ แล้วเขาถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมด้วย เพราะว่าที่นี่มีหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมอยู่ เขาก็จะถามว่า หากต้องดูแลคนพิการที่มีวัฒนธรรมที่ต่างกับเราต้องทำอย่างไร ตอนตอบเราก็อ้างหัวหน้างานไว้ก่อน ไม่ว่าจะทำงานดูแลผู้สูงอายุหรือคนพิการครั้งแรก สิ่งสำคัญเราต้องไปอ่านโปรไฟล์คนที่เราดูแลให้ครบหมดทุกคน

 

ข้อท้ายๆ เขาจะถามเรื่องหลักการดูแลคนพิการ ทุกคนเสมอภาค เท่าเทียมกัน อันนี้คียเวิร์ดของการทำงาน สมมติคนที่เราดูแลชอบดูดบุหรี่ ซึ่งเรารู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพเขา แต่เราห้ามเขาไม่ได้ เพราะนั่นคือทางเลือกของเขา หากเขาอยากดูดบุหรี่ก็เอาเงินไปซื้อหรือวันนี้คนพิการไม่อยากตื่นไปทำงาน เขาจะนอนอยู่บ้าน เราก็ต้องเคารพการตัดสินใจ เขาพร้อมเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน

 

เข้าสู่งานด้านบริการคนพิการ (Disability Services)

รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงาน The National Disability Insurance Scheme เรียกสั้นๆ ว่า NDIS โดยให้ความช่วยเหลือคนพิการและกำหนดเงินช่วยเหลือคนพิการต่อปีว่าใช้เงินเท่าไหร่ แล้วค่อยมาแยกทีหลังว่าใช้ทำอะไรบ้าง คนพิการบางคนต้องการวีลแชร์ ซึ่งไม่ใช่วีลแชร์เข็นที่มีคนเข็น วีลแชร์แบบนี้ไม่ได้เหมาะกับคนพิการทุกคน เพราะแต่ละคนมีความพิการและสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน ใช้เงินค่อนข้างสูง คนพิการที่เราดูแล เขามีขาข้างเดียว เวลานั่งเขาเอียงไปด้านขวามากกว่าด้านซ้าย วีลแชร์เขาถูกออกแบบให้นั่งแล้วไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เบาเกินไป ต้องออกแบบวีลแชร์ทำให้นั่งแล้วไม่เอียง นอกจากนี้ยังมีวันให้หยุดสำหรับครอบครัวที่มีลูกพิการแล้วดูแลลูก 24 ชั่วโมง (Respite) หรือพ่อแม่มีธุระสามารถเอาลูกมาฝากที่ที่เราทำงานได้ โดยรัฐบาลกำหนดว่ามีวันหยุดพักทั้งหมดกี่คืน เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ต่อปี 

หน้าที่ของคนดูแลคนพิการ

หน้าที่ของคนดูแลคนพิการ (Support Workers) คือ ช่วยเหลือชีวิตคนพิการในแต่ละวันให้บรรลุเป้าหมาย ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เนื้องานที่รัฐบาลต้องการให้เราทำคือ ให้คนพิการเข้าสู่สังคมเหมือนคนปกติให้ได้ ไม่ว่าคนพิการชอบอะไร อยากทำอะไร ให้เขาทำได้เต็มที่โดยที่คนดูแลคนพิการอย่างพวกเราช่วยเหลือเขา สำหรับเรางานดูแลผู้พิการค่อนข้างท้าทาย โดยเฉพาะเวลาออกไปข้างนอก เช่น คนพิการคนหนึ่งชอบชอบกินแมคโดนัลด์มาก แต่เขาไม่อยากลงไปสั่ง ขอให้เราแมคไดร์ฟทรู เพราะว่าเขาอาย เขากลัว เราก็ถามเขาว่า เธอเดินได้เหมือนคนปกติ ทำไมถึงไม่อยากเข้าไป เราก็ให้เงินเขาแล้วถามเขาว่าอยากกินอะไร เราเข้าไปช่วยอ่านเมนู บางคนอ่านไม่ออก พอถึงคิวเธอก็สั่งเลย เราพยายามสร้างความมั่นใจให้เขา หลังจากนั้นก็ถามเขาว่ารู้สึกอย่างไร ชอบไหม วันหลังเราก็ลองไปสั่งไอศกรีมอีกร้านหนึ่ง

 

คุณสมบัติของที่ Support Workers ต้องมี

อย่างแรกจะต้องมีใบขับขี่ เพราะเราต้องขับรถที่ทำงานไปส่งคนพิการทำกิจกรรม (Day Placements)  และมีใบรับรองการฝึกหัด CPR กับ First Aid หากเกิดอะไรแล้วเราไม่ช่วยชีวิตคนพิการด้วยความรู้และทักษะฝึกฝนมาแล้ว ถือว่าทำผิดกฎหมาย ส่วนการให้ยา การใส่สายฉี่ การให้อาหารผ่านทางสายยาง การป้อนอาหาร ไม่จำเป็นต้องฝึกก่อนทำงานก็ได้ เดี๋ยวที่ทำงานส่งเราไปฝึกเอง

 

สิ่งสำคัญคือ ทักษะภาษาอังกฤษต้องดี อย่างการอ่าน เพราะต้องอ่านโปรไฟล์ รายงานแต่ละวันว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนพิการคนนี้บ้าง คนนี้เพิ่งไปหาหมอมาเมื่อวาน ยาตัวนี้ที่เคยให้หมอให้หยุดกินแล้ว ยาตัวนั้นเปลี่ยนเวลากิน และก็จะมีเขียนโน้ตถึงเราว่าอยากให้ทำอะไรหรือเราลืมทำอะไร นอกจากนี้แล้วยังมีทักษะด้านการเขียนรายงาน หากเราไม่มั่นใจ เราจะเรียกเพื่อนมา เล่าว่าหมอพูดว่าอะไรบ้าง แล้วให้เพื่อนพูดออกมาเป็นประโยค แล้วเราเอาที่เพื่อนพูดเขียนรายงาน 

 

วันแรกที่ไปทำงาน เราไม่รู้ว่าจะทักทาย คุยกับคนพิการอย่างไร คุยไม่รู้เรื่องเพราะบางคนไม่ออกเสียงห้องครัวงว่า Kitchen แต่เป็น Kitta ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เขาพูดตั้งแต่เด็ก ตรงประตูเลยมีเขียนไว้ว่า คนพิการพูดแบบนี้ แปลว่าอะไร วันแรกเรายิ้มอย่างเดียวเลย คนพิการจะไม่ไว้ใจเราในช่วงแรก บางคนอาจทำร้ายร่างกาย พอรู้สึกไว้ใจแล้ว เขาจะเข้ามาหาเราเอง ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจว่า งานดูแลคนพิการใช้เวลาเรียนรู้เนื้องานยังไม่พอ ยังต้องรู้ว่าคนพิการแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง บางคนเห็นแก้วกาแฟ ชา ไม่ได้ ถ้าใครวางทิ้งไว้มาแย่งดื่มเลย 

 

สถานที่ทำงานไม่เหมือนศูนย์แต่เป็นบ้าน

สถานที่ทำงานเหมือนบ้าน แต่เวลาการทำงานเหมือนโรงพยาบาล มีเวรเช้า เวรบ่าย เวรเย็น และเวรนอนที่จะต้องมีพนักงานอยู่ 1 คนเพื่อดูแลคนพิการตั้งแต่ 22.00 - 06.00 น. ของอีกวัน เราจะไม่ปล่อยให้คนพิการอยู่บ้านคนเดียวแม้เป็นตอนกลางวันก็ตาม คนพิการคนไหนต้องอยู่บ้าน ต้องมีคนหนึ่งอยู่กับเขา เพราะไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรที่เกิดอันตรายโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว 

 

บ้านแต่ละหลังจะให้คนพิการแต่ละวัยอยู่ด้วยกัน บ้านเด็กก็จะมีแต่เด็กอยู่ บ้านวัยรุ่นก็จะมีวัยรุ่นอยู่ เราได้อยู่ดูแลบ้านคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุ เพราะเขาเห็นประวัติว่าเคยทำงานดูแลผู้สูงวัยมาก่อน บ้านหลังนี้มีทั้งหมด 8 ห้องนอน และมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น เครื่องยกเพื่อยกคนพิการทางการเคลื่อนไหวไปที่วีลแชร์ มีเก้าอี้อาบน้ำที่เอนหน้าเอนหลังได้ มีอ่างอาบน้ำสำหรับคนพิการ นอกจากนี้ของมีคมหรือของที่มีอันตราย ก็จะเก็บแยกออกมาและใส่กุญแจล็อกไว้

 

เวลาเริ่มงาน

งานเราเริ่ม 06.30 - 21.20 น. หากอยู่เวรนอน เราต้องอยู่ต่อตั้งแต่  22.00 - 06.00 น. ของอีกวัน หากเราเข้าเวรเช้าต้องดูตารางกิจกรรมว่า คนพิการแต่ละคนวันนี้ใครทำกิจกรรมอะไรบ้าง ไปกี่โมง เราก็จะไปเคาะประตู ทักทาย บางคนอาบน้ำได้เอง เช็ดก้นเองได้ แต่ไม่ได้สะอาดมาก เราก็จะยืนอยู่ในห้องน้ำแล้วบอกว่าถูตรงนั้นถูตรงนี้ พาเขาแต่งตัวเลือกเสื้อผ้า สีตามที่เขาชอบ แล้วมาทำอาหารเช้ากัน อะไรที่เขาทำเองได้เราให้ทำเอง เราไม่ได้ทำให้คนทั้งหมด กินเสร็จให้เขาเอาจานไปใส่เครื่องล้างจาน พอถึงเวลาก็ไปส่งเขาทำกิจกรรม

 

ส่วนมากเริ่มทำกิจกรรมประมาณ 9 โมง โดยมีอีกหน่วยงานจัดกิจกรรมให้คนพิการทำช่วงกลางวัน ไม่ว่าจะทำอาหาร ดูหนัง เล่นดนตรี ออกไปขับรถเล่น ไปปิกนิก ไปฟาร์ม พอเขาได้ทำกิจกรรมแล้วมีเพื่อน เขามีความสุข สมมติกลับมาบ้านแล้วพรุ่งนี้คนพิการนัดกับเพื่อนทำข้าวกล่องไปกินกัน แต่เขาไม่สามารถทำได้ เราจะไปช่วยทำ และให้เขามีส่วนร่วมด้วยการหยิบของใส่ลงไป แค่นี้กลายเป็นสิ่งที่วิเศษมากสำหรับเขา เห็นจากแววตาว่าเขามีความสุขมาก

 

หลังจากส่งเขาไปทำกิจกรรมเสร็จ ระหว่างวัน ไม่ว่าจะเก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน พับผ้า เช็กยา เช็กว่ามีใครต้องพาไปหาหมอบ้าง ส่วนเวรบ่ายกับเวรเย็นควบกัน เราตั้งโต๊ะอาหาร ทำกับข้าว ให้ยา พาเขาไปเปลี่ยนชุดนอนเลยเพราะบางคนไม่ชอบอาบน้ำตอนเย็น นั่งดูทีวี บางคนอยากเข้าไว เราพาเขาเข้านอน

 

เวรนอนไม่ได้นอน 

มีอยู่ครั้งหนึ่งเราเข้าเวรนอนครั้งหนึ่งแต่ไม่ได้นอน เพราะมีคนพิการออกมาเดินนอกห้องและหาอะไรมาเคาะกำแพง ทำให้คนอื่นนอนไม่หลับ เราเลยพาเขามานั่งดูทีวีด้วยกัน แล้วเราเขียนรายงานว่า คืนนี้เป็น Active Night กี่โมงถึงกี่โมง เกิดอะไรขึ้น เพื่อรายงานกับหัวหน้าที่ช่วงเวลานั้นเราไม่ได้นอน ส่งผลให้เรื่องการจ่ายเงินเปลี่ยนรูปแบบจ่ายจากเหมาเป็นรายชั่วโมงที่เราไม่ได้นอนแทน 

 

สวัสดิการของคนดูแลคนพิการที่ออสเตรเลีย 

ตามกฎหมายแล้ว สองสัปดาห์พนักงานจะต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 76 ชั่วโมง หากทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด หน่วยงานต้องจ่ายเงินให้เราสูงกว่าเดิม หากเราทำวันเสาร์จะให้ 1.5 เท่า วันอาทิตย์ได้เพิ่ม 2 เท่า ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ได้ 2.5 หรือ 3 เท่า แต่ถ้าหากเป็นวันคริสต์มาสได้ 3 เท่าเลย ถ้าเราจำไม่ผิด ส่วนมากคนที่นี่จะเลือกไปอยู่กับครอบครัวในวันหยุดมากกว่า ไปเที่ยวไกลๆ อย่างต่างประเทศ หากวันหยุดทำงานคนพิการเรากับแฟนไม่ตรงกัน เราก็ทำงาน 

 

หากใครเป็นพนักงานบรรจุ จะได้ชั่วโมงวันหยุด 2 ชั่วโมงบ้าง 3 ชั่วโมงบ้าง ฟังดูเหมือนน้อย แต่พอสะสมไปเรื่อยๆ มันก็เยอะ บางทีได้หยุด 2-3 เดือน และใครทำงานครบ 7 ปีสามารถลางานแล้วยังได้ค่าจ้างประมาณ 2 เดือน ที่เหลือหน่วยงานรัฐกับเอกชนจะได้สวัสดิการเหมือนกัน

 

เปลี่ยนจากพนักงานฟูลไทม์เป็นพาร์ทไทม์ 

พอลาออกจากพนักงานประจำเป็นลูกจ้างชั่วคราว (Casual) บ้านเราเรียกพาร์ทไทม์ ไปทำตามอารมณ์ที่อยากจะทำโดยงานดูแลคนพิการเวลางานยืดหยุ่น งานเริ่ม 07.00 - 19.00 น. หากตอนเช้าเราไม่ว่าง ขอทำตอนบ่ายได้ไหม เขาจะไม่ถามเจาะจงว่าบ่ายกี่โมง และตอนเป็นพนักงานบรรจุทำงาน 10 - 12 ชั่วโมง งานโอเวอร์โหลด ทำให้เบิร์นเอ้าท์และไม่มีพลังทำงาน ทำให้เราดูแลคนพิการไม่เต็มที่ 

 

เรามองว่า 8 ชั่วโมงกำลังพอดี ตอนบรรจุทำงาน 12 ชั่วโมง เราออกจากบ้านหกโมงครึ่งกลับบ้านทุ่มครึ่ง พอกลับมาต้องกุลีกุจอล้างจาน ทำกับข้าว อาบน้ำ เข้านอน และไม่เจอสมาชิกในครอบครัวเลย กลายเป็นชีวิตเราอยู่ที่ทำงานมากว่า ชีวิตไม่บาลานซ์

 

อะไรที่ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียให้กับงานดูแลคนพิการขนาดนี้ 

สมัยก่อนหัวหน้าเราเล่าให้ฟังว่า คนพิการต้องอยู่รวมกัน ตอนกินข้าว วางจานให้กินข้าวเอง ใครกินไม่ทันก็โดนเพื่อนแย่งกิน เวลาอาบน้ำให้มายืนเรียงกันและฉีดน้ำ 

 

แต่พอรัฐบาลเห็นให้ความสำคัญ คนพิการควรเข้าสู่สังคมเหมือนคนปกติ ใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นงานเรามาสนับสนุนให้เขาใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ นอกจากนี้ หากรัฐบาลรู้ว่า มีเด็กพิการตั้งแต่กำเนิด เขาจะดูว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพด้านไหน และช่วยพัฒนาศักยภาพด้านนั้นได้ แล้วยังมีโรงเรียนเฉพาะของคนพิการ ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะรัฐรู้ว่าพ่อแม่คนพิการดูแลลูก 24 ชั่วโมง ซึ่งหนักกว่าพ่อแม่คนไม่พิการ สิ่งที่เราเห็นคือ รัฐไม่ทำให้คนพิการด้อยโอกาส อยากจะทำอะไร เขาสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

 

ที่นี่ต่อให้เราลืมเอายาให้คนพิการกินเกิน 2-3 ครั้ง ที่ทำงานเขาช่วยเราหาวิธีการที่ไม่ลืมให้ยา แต่ถ้าพูดจาไม่ดีกับคนพิการ แล้วมีคนไปรายงานสำนักงานใหญ่ เขาก็จะพักงานแล้วเชิญออกหรือไม่ก็ไล่ออกเลย นอกจากนี้เวลาคนรู้ว่าเราทำงานนี้ เขาขอบคุณที่เราทำงานนี้ เพราะมีคนมาทำงานแบบนี้ยาก ต้องทำงานกับคนที่มีหลากอารมณ์ มีความกดดัน แต่เราเสียสละมาทำงานให้คนพิการเข้าสู่สังคม

NDIS เป็นระบบสำหรับผู้พิการในออสเตรเลีย โดยเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลผู้พิการลิงก์เข้ากับระบบหรือความช่วยเหลือต่างๆ หากเข้ามาอยู่ในระบบของ NDIS แล้ว ก็จะได้เงินเพื่อดูแลคนพิการแต่ละคนโดยเฉพาะ


 

Livingสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตสิทธิมนุษยชนต่างประเทศงานดูแลคนพิการงานดูแลคนพิการที่ออสเตรเลียออสเตรเลียHuman RightสิทธิมนุษยชนPersonal AssistantPASupport WorkerNDISNational Disability Insurance SchemeDisability Services
Categories: ThisAble

ชมแบบนี้อย่าชมเลยคุณพรี่ รวมคำชมที่คนพิการไม่อยากได้และขอบคุณที่แจ้งให้ทราบแต่คราวหลังไม่ต้อง

ThisAble - Wed, 2023-08-16 15:46

“ตาบอดแล้วยังเดินห้างได้ สุดยอด

“พิการแล้วยังเรียนจบปริญญาได้อีก 

“สวยนะแต่ไม่น่าพิการเลย”

ใครๆ ก็อยากได้คำชม แต่ชมแบบนี้ได้จริงๆ เหรอ สัมภาษณ์คนพิการเรื่องคำชมที่คนพิการไม่อยากได้แม้จะเจตนาดีก็ตาม เพราะหลายคำพูดก็เต็มไปด้วยการเปรียบเทียบ แต่หลายคำพูดก็เป็นสิ่งที่เราก็เคยพูดไปแต่อาจไม่รู้ว่ามีปัญหาตรงไหนทำไมคนพิการจึงไม่อยากได้ 

“ว้าว เก่งจังเลยกินข้าวเองได้ด้วย” 

เก่ง - ณรงค์ศิลป์ ล้านศรี 

เก่ง : ตอนนั้นกำลังนั่งกินข้าวอยู่ในโรงอาหารมหาวิทยาลัย ไม่รู้เป็นใครมาจากไหน เขาเดินมาร้อง “ว้าว เก่งจังเลยกินข้าวเองได้ด้วย”  เราก็เอ้า เพิ่งรู้ตอนนั้นว่ามันเป็นคำชมกันได้ด้วย คำนี้มันกลายเป็นคำชมเพราะเขาเห็นเราเป็นคนพิการเขาก็เลือกตัดสินแล้วว่าทำไม่ได้ มันคือการตัดสินชั่วพริบตาเดียวจากคนอื่น ตอนนั้นเราก็ได้แต่ยิ้มแห้ง ไม่ได้พูดอะไร

การทำอะไรง่ายๆ ของคนพิการทำแล้วก็กลายเป็นสิ่งวิเศษ เป็นเพราะมายาคติต่อเรื่องคนพิการในสังคมนั้นมีการเหมารวม ความสงสาร รวมถึงศาสนาที่กล่อมเกลาความเชื่อเรื่องความพิการ ทุกอย่างรวมกันเป็นอันเดียว 

คนเราถ้าได้รับคำชมที่จริงใจก็ทำให้รู้สึกดี มีพลังบวกได้ทั้งนั้น จริงๆ ที่เขาชมก็ไม่ได้ถือว่าไม่จริงใจนะ แต่เราคิดว่ามันเกินจริง ถ้าจะชมก็ควรชมด้วยความจริงใจและไม่เกินจริง เช่น ชมเรื่องทักษะความสามารถของเรา สิ่งที่เราทำจริงๆ เช่น เราสามารถทำหนังได้ ตัดต่อวิดีโอได้ เมื่อผลงานของเราถูกใจเขาเขาก็ชม แบบนี้ทำให้เรารู้สึกดี เพราะเป็นสิ่งที่เราฝึกฝนมา 

ลองคิดดูดีๆ ว่ามันตลกไหม เมื่อคนชมกันเองในสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ชมว่ากินข้าวได้ เที่ยวได้ เดินได้ เก่งจังเลย ผมเองก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเก่งมาก ไม่ใช่เพราะกินข้าวเก่งมาก แต่เราเป็นคนมีความสามารถ แม้จะยังต้องถูกพัฒนาขัดเกลาต่อก็ตาม 

“หน้าตาก็ดี เสียดาย ไม่น่าเป็นคนพิการ”

หญิง - กนกวรรณ นาคนาม

หญิง : ช่วงที่ทำขนม เขาก็พูดว่านั่งวีลแชร์ยังทำขนมได้ เราก็อธิบายไปว่าอาจจะลำบากกว่าคนปกติทั่วไปทำ เพราะเรานั่งทำ อาจจะต้องระวังเรื่องความร้อน แต่แค่อยากทำก็ทำ รู้ว่าต้องใช้ความพยายามมากหน่อย แต่ก็ไม่ได้รู้สึกยากหรือพิเศษมากว่าคนอื่นกับแค่การนั่งทำขนม 

คำชมที่รู้สึกอิหยังวะที่สุดของเราคือ “สวยจัง ไม่น่านั่งวีลแชร์เลย” หรือ “หน้าตาก็ดี เสียดาย ไม่น่าเป็นคนพิการ” คิดไปคิดมาไม่รู้เขาชมเราหรือเปล่า เจอบ่อยๆ เราก็ขอบคุณไป แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำหน้าหรือรู้สึกยังไง หลายคนมักจะเข้ามาแบบรู้สึกเห็นใจ น่าสงสาร ทั้งที่เราไม่ได้ทำตัวให้เขาสงสารเลย เราก็แต่งหน้าทำผมให้สวยที่สุดเวลาออกไปใช้ชีวิต เพียงแค่เราต้องนั่งใช้ชีวิตเท่านั้นเอง

ก็ไม่รู้ว่าทำไมวิธีคิดคนไทยจึงคิดเรื่องคนพิการพ่วงกับความน่าสงสาร ทั้งที่หลายคนก็เหลือตัวเองได้ ออกไปใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่น แต่พอไปเจอสถานที่ที่มันเข้าถึงยาก ไม่สะดวกก็ทำให้ใช้ชีวิตลำบาก ทางที่ดีคือควรไปปรับปรุงให้คนพิการเข้าถึงง่ายขึ้น ไม่ใช่มาสงสารเรา  

อีกเรื่องที่ไม่เข้าใจคือทำไมสื่อถึงไม่นำเสนอคนพิการให้เป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิต ชอบทำให้ดูพิเศษกว่าคนทั่วไป เราอยากเห็นสื่อที่นำเสนอได้สร้างสรรค์กว่านี้ เช่น การช่วยเหลือคนพิการด้วยวิธีที่ถูกต้องทำยังไง หรือการถามก่อนการช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยทำกัน

เราเคยแต่งตัวไปเที่ยวคาเฟ่กับเพื่อนก็มีคนในอินเตอร์เน็ตมาคอมเมนต์ว่า ทำไมถึงแต่งตัวแบบนี้  พิการก็น่าจะแต่งตัวให้มันเรียบร้อยหน่อย เราก็แค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากแต่งตัวแซ่บๆ ไปเที่ยว เลยเกิดคำถามว่า เป็นคนพิการมีขอบเขตเหรอว่าต้องแต่งตัวแบบไหนหรือไม่ควรแต่งแบบไหน เป็นคนพิการห้ามแต่งหน้าแต่งตัวเหรอ ทั้งที่เราแค่ดูแลตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะสื่อที่สร้างภาพจำเดิมๆ ให้กับคนพิการที่ใช้ความน่าสงสารเรียกเรตติ้ง คนพิการแต่งตัวตามที่อยากไม่ใช่ไม่มีกาลเทศะแต่เขาก็แต่งตัวเหมาะสมตามสถานที่ เราไปเที่ยวคาเฟ่ไม่ได้ไปวัด เรื่องการแต่งตัวและหน้าตาไม่ควรถูกเอามาตัดสิน ไม่ว่าคนพิการหรือไม่พิการ

ถ้าอยากจะชมก็คือชม ไม่ต้องมีแต่ สวยก็คือสวยไม่ได้เกี่ยวกับพิการหรือไม่พิการ ไม่ต้องเสียดายที่เรานั่งวีลแชร์หรือเป็นคนพิการ จะชมก็ชม จะว่าก็ว่า ถ้าผิดก็ตำหนิไปเลย ติเพื่อก่อก็ยิ่งดี เรารับฟังนะเพราะคำติทำให้พัฒนาตัวเองได้ เราก็ยอมรับที่จะฟัง ไม่ใช่ว่าเป็นคนพิการจะผิดไม่ได้ บ้งไม่ได้ เราก็ต้องรับฟังคนอื่นด้วยเหมือนกัน 

ดีที่สุดคือปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นมนุษย์ทั่วไป ปฏิบัติให้เท่ากัน คุณชมคนอื่นแบบไหนคุณก็ชมเพื่อนคนพิการแบบนั้น 


“…เก่งมาก ขนาดเขาตาบอดยังเรียนได้เลย” 

บิ๊กเบล - กฤษณ์พงษ์ เตชะพลี

บิ๊กเบล - เหมือนเขาชมเราเพื่อเอาเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ส่วนใหญ่เราจะเจอตอนยังเป็นเด็กนักเรียน ครูชมว่าขนาดเพื่อนตาบอดยังเรียนได้เลย ทำไมพวกเธอถึงไม่ตั้งใจเรียน ทำไมไม่อยากเรียน เราฟังแล้วก็รู้สึกอึดอัด รู้สึกว่ามันเป็นคำชมที่ออกจะเป็นคำประชดมากกว่า แล้วก็เอาเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งมันก็มองได้สองมุม บางคนเขาก็อาจจะมองเป็นแรงบันดาลใจ แต่บางคนเขาอาจจะรู้สึกว่าเป็นการเอาความพิการของเราไปกดคนอื่น มีร่างกายครบกว่าแต่ไม่ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ผมรู้สึกว่าไม่โอเค มันไม่เกี่ยวกัน 

เรามักได้ยินคอนเส็ปที่ว่า เป็นคนพิการนั้นสู้ชีวิต แต่ที่จริงแล้วไม่ว่าใครๆ ก็ต้องสู้ชีวิตเหมือนกัน วิธีชมแบบนี้ทำให้คนในสังคมเข้าใจคนพิการแบบผิด แม้อีกมุมหนึ่งจะมองว่าเป็นแรงบันดาลใจได้ บางคนถึงขั้นมองเราเป็นฮีโร่ แต่ก็อาจจะมองข้ามความปกติของพวกเราออกไปก็ได้ ผมเป็นทนายความถามว่าผมเก่งกว่าคนอื่นไหม ก็ไม่ ผมก็สอบเข้าเหมือนกับคนอื่น อาจจะได้รับการส่งเสริมในเรื่องของการเข้าถึงสื่อเพราะเราเป็นคนตาบอด แต่ในเรื่องอื่นๆ เราก็ไม่ต่างกัน ผมไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอภิสิทธิ์ การเป็นทนายความก็ต้องแข่งกันที่ความรู้ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์

ประเด็นเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจตัวผมเองก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่การมองคนพิการเป็นฮีโร่มันเป็นปัญหา ยิ่งเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ผมฟังแล้วก็ไม่ได้ภูมิใจ คนที่ชมอาจจะไม่ได้คิดอะไรแต่คนที่ฟังรู้สึก แม้กระทั่งบางครั้งคนพิการด้วยกันเองก็ไม่ได้มีทักษะหรือความสามารถที่เก่งเหมือนกันไปหมด บางคนชอบชมคนพิการว่าเรียนเก่ง ซึ่งในความเป็นจริงมันก็มีคนพิการที่เรียนไม่เก่งเหมือนกัน แต่เขาอาจจะมีความสามารถด้านอื่น 

อีกมุมนึงถ้าไม่ชมแบบเวอร์ ก็จะมองแบบกดหรือน่าสงสารไปเลย คนพิการไทยก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของการทำบุญ เขามองว่าเรากลายเป็นบุคคลที่จะต้องสงเคราะห์ตลอดเวลา ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่คนพิการต้องการมากที่สุดก็คือโอกาส

ผมมองว่าการชื่นชมคนพิการนั้นทำได้ ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่าห้ามชม ห้ามด่าเลย ถ้าชมในความสามารถอันนี้เราโอเค แต่ชมด้วยการเอาความพิการมายกตัวเราแบบนั้นไม่ใช่ ชมว่าเล่นกีฬาเก่ง ชมว่ามีความตรงต่อเวลา ชมว่ามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่ใช่ชมว่าเป็นคนตาบอดแล้วขึ้นรถเมล์ได้ ออกไปเที่ยวห้างได้ เป็นคนตาบอดแล้วไม่หลงทั้งที่คนตาบอดหลงทางเยอะแยะ แต่ผมก็ไม่ได้ไปโกรธอะไรเขาแค่สงสัยว่าเขาอาจจะไม่รู้จริงๆ หรือเปล่าว่าจะต้องปฏิบัติกับคนพิการอย่างไร ถ้าชมกันเรื่องความสามารถผมว่ามันน่าภาคภูมิใจมากกว่านะ

มุมหนึ่งก็มองได้เหมือนกันว่าคนไม่มีความคาดหวังต่อคนพิการ วันนี้ยังมีคนที่มีลูกเป็นคนพิการแต่ไม่กล้าพาออกสู่สังคม เขาเลยคาดหวังคนพิการอยู่แค่นั้น ถ้าอะไรที่เกินความคาดหวังก็กลายเป็นเรื่องที่แปลกมหัศจรรย์ ทั้งที่ความจริงคือเขาควรปรับสภาพแวดล้อมให้ทุกคนเข้าถึงได้ทั่วกัน เพื่อให้คนพิการใช้ชีวิตต่อได้ ไม่ใช่ปล่อยให้คนพิการออกมาลุยเอง แล้วคอยชื่นชม

  Culture & Artสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตกฤษณ์พงษ์ เตชะพลีกนกวรรณ นาคนามณรงค์ศิลป์ ล้านศรี
Categories: ThisAble

พ่อแม่หูดีสื่อสารกับลูกหูหนวกด้วยภาษามือ : หัวใจการมีชีวิตรอดในโลกที่ไม่ได้ยินเสียง

ThisAble - Thu, 2023-08-10 13:26
ปัญหาติดหน้าจอเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวที่มีลูกหูหนวก เพราะเมื่อพ่อแม่ใช้ภาษามือไม่เป็น ลูกก็ไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจเด็กๆ จึงง่วนอยู่กับน่าจอที่มีภาพแสดงท่าทางต่างๆ  นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดขึ้น หากแต่เป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวหูหนวกต้องเจอ เมื่อการสื่อสารภาษามือยังเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก และมีน้อยคนที่เข้าใจ   รายงานสถิติคนพิการทางการได้ยินปี 2565 จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เผยว่าประเทศไทยมีคนหูหนวก 398,659 คน แต่ละปีมีคนหูหนวกใหม่เกิดขึ้นประมาณ 1,000 คน ในจำนวนนั้นมีเด็กหูหนวกที่เกิดในบ้านของคนหูดีไม่น้อย แต่ลูกหูหนวกจำนวนมากไม่ได้เริ่มภาษาแรกอย่างภาษามือ หลายครอบครัวฝึกลูกให้พูดทั้งที่ไม่ได้ยินเสียงพ่อแม่เลย และมีพ่อแม่จำนวนน้อยมากที่ได้เรียนภาษามือเพื่อคุยกับลูก Thisable.me จึงอยากชวนคุยกับ สุวัฒน์ ทองท้วม พ่อของการ์ตูน—ชยาภรณ์ ทองท้วม รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง Miss & Mister, Miss Queen, Mrs.Deaf Thailand ประจำปี 2563 พ่อที่ตัดสินใจเรียนภาษามือด้วยความตั้งใจง่ายๆ  เพราะอยากคุยกับลูกและคิดว่าภาษามือช่วยทำให้ลูกมีความรู้ และใช้ชีวิตในสังคมได้ไม่ต่างจากคนใช้ภาษาพูด      คุณรู้ว่าลูกไม่ได้ยินเสียงตอนไหน สุวัฒน์: ช่วงที่ลูกอายุ 2-3 ขวบ ตอนนั้นเราขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตอนเย็นกลับบ้าน เห็นลูกนั่งเล่นอยู่แล้วจะเอารถเข้าบ้าน เลยบีบแตรให้ลูกหลบรถ แต่ปรากฏว่า เขาไม่ขยับ ไม่หันมามองตามต้นเสียง เลยพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ แต่เครื่องมือตรวจรักษาไม่มี สุดท้ายส่งตัวมาที่โรงพยาบาลเด็กแล้วพบว่า เส้นประสาทหูลูกตึง มีค่าเฉลี่ยการได้ยินเสียง 95 เดซิเบล ใส่เครื่องช่วยฟังแล้วก็ไม่สามารถช่วยได้ และฐานะทางบ้านค่อนข้างขัดสน ไม่มีเงินผ่าตัดประสาทหูเทียม จึงตัดสินใจเลี้ยงดูลูกทั้งที่หูหนวกนี่แหละ   ก่อนหน้านี้มีอะไรเป็นสัญญาณเตือนบ้างว่าลูกมีปัญหาการได้ยิน   ช่วงตั้งครรภ์ติดเชื้อหัดเยอรมัน หลังจากนั้นไปหาหมอที่คลินิก หมอแนะนำให้เอาเด็กออกเพราะมีโอกาสคลอดออกมาแล้วพิการ พอจะไปยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ หมอลองตรวจอีกครั้ง ทารกในครรภ์แข็งแรง สมบูรณ์ดีทุกอย่าง ประกอบกับอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนครึ่งแล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง   ตอน 1-2 ขวบแรก ลูกไม่มีอาการผิดสังเกต คลอดออกมาร่างกายแข็งแรง ส่งเสียงร้องดังมากเหมือนทารกปกติทั่วไปเลย และคิดว่าหมอคนที่ 2 พูดคงเป็นความจริง    ตอนนั้นสื่อสารกับลูกอย่างไร ใช้ภาษากายสื่อสาร เช่น สะกิดเรียก พยักหน้าตอบตกลง บางทีใช้ภาษามือธรรมชาติ ถ้าเราบอกว่าทำไม่ได้ เราจะโบกมือว่าไม่ได้ เวลาเรียกกินข้าวก็ทำท่ามือหยิบข้าวใส่ปาก   เริ่มเปลี่ยนมาใช้ภาษามือตอนไหน  สมัยนั้นคนไม่รู้ว่าคนหูหนวกมีภาษาสื่อสารเป็นของตัวเอง จนกระทั่งมีนักศึกษาฝึกงานมาหาว่าที่ไหนมีเด็กพูดไม่ได้บ้าง แล้วมาเจอลูกเรา ก่อนสอนเขาพูดว่า ถ้าลูกใช้ภาษามือเป็น พ่อแม่ใช้ภาษามือไม่เป็น แล้วพ่อแม่คุยกับลูกไม่ได้จะมีประโยชน์อะไร ทุกครั้งที่มาสอน พ่อแม่ต้องมาเรียนด้วยทุกวันพุธและวันศุกร์เป็นเวลา 1 ปี    เรียนภาษามือยากมากไหม  ช่วงแรกลำบากนิดนึงเพราะไม่เคยใช้ภาษามือ เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อน แต่พอได้เรียนแล้วเพลิดเพลิน สนุก และเป็นภาษาที่สวยอ่อนช้อย ลูกเรียนตอนเด็ก ทำให้จำง่ายและจำแม่น เรามองว่าภาษามือกับภาษาพูดไม่ต่างกัน ตอนอยู่โรงเรียนหัดเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ นับเลข เหมือนกับเด็กหูดีเลย เราคิดว่าเราได้เปรียบคนอื่นด้วยซ้ำ เวลาคุยกันเป็นภาษามือในครอบครัว คนอื่นไม่รู้ว่าคุยอะไรกัน พอดุลูก สอนลูกว่า ‘อย่าทำอย่างนี้นะ มันไม่ดี’ เขาไม่รู้สึกโดนหักหน้า    มีความคิดจะฝึกให้ลูกพูดเหมือนคนทั่วๆ ไปไหม เราอยากให้ลูกพูดได้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องปรับตัว สื่อสารกับเขาในชีวิตประจำวันให้ได้ เราภูมิใจที่ลูกเราพูดไม่ได้แต่ยังมีภาษาที่สื่อสารได้ ทำให้เราคุยกับลูกรู้เรื่อง    นอกจากนี้ก็ยังได้ใช้สื่อสารกับเพื่อนลูกที่เรียนด้วยกันตั้งแต่ประถม มัธยม บางทีมาหาที่บ้านเราก็ถามเขาอยากกินอะไร ทำอะไร บางทีเขาสื่อสารกับใครไม่ได้ เราก็เป็นล่ามสื่อสารความต้องการให้   การใช้ภาษามือสื่อสารกับลูก มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่เราจะไม่เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียภาษามือกับคนอื่น แต่จะเปรียบเทียบในครอบครัวตนเอง ข้อเสียคือ ตอนที่ลูกเรียนภาษามือระดับไปถึงระดับไหนแล้วก็ไม่รู้ แต่เรายังอยู่ระดับประถม มัธยม เราตามลูกไม่ทัน สิ่งไหนที่ลูกไม่บอกให้เรารู้ จะไม่รู้เลย และเขาใช้ภาษามือเร็วมาก บางทีต้องบอกว่าทำช้าๆ พ่อแปลไม่ทัน อีกเรื่องคือเขาติดมือถือมากแต่เราก็เข้าใจว่า เวลาสื่อสารกับเพื่อนเขาจะใช้วิดีโอคอล เราก็ไม่เคยบ่นหรือว่า เรารู้ว่าเขาไม่อยากติดโทรศัพท์หรอก แต่เขาอยากคุยกับเพื่อนมากกว่า    คิดยังไงกับคนที่เรียกคนหูหนวกว่าคนใบ้ เราที่เป็นพ่อเป็นแม่ได้ยินคนเรียกลูกว่า อีใบ้ ก็สะเทือนใจ รู้สึกว่าไม่สมควร ไม่ให้เกียรติลูกเราเลย นอกจากนี้เรามองว่า คนในชุมชนสำคัญมาก หากชาวบ้านรักลูกเรา เขาก็จะไม่พูดทำร้ายจิตใจ ไม่เรียกลูกเราว่าใบ้แต่เรียกชื่อเล่นแทน   ประเทศไทยควรมีอะไรสนับสนุนพ่อแม่ที่มีลูกหูหนวก อยากให้มีโรงเรียนโสตศึกษามากขึ้น โรงเรียนพวกนี้มีน้อยมาก ไม่เหมือนโรงเรียนเด็กหูดีที่มีทุกตำบล ทุกอำเภอ แต่โรงเรียนเฉพาะทางเด็กหูหนวก 3-4 จังหวัดถึงจะมีโรงเรียนโสตศึกษา 1 โรงเรียน ถึงคนพิการจะเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี นอนฟรี แต่วันไหนที่ต้องไปรับไปส่งลูก เราต้องหยุดประกอบอาชีพ ขาดรายได้ เพราะโรงเรียนไม่ให้ค้างวันเสาร์อาทิตย์ ค่าเล่าเรียน เสื้อผ้า รองเท้าก็ไม่ฟรี หนังสือบางเล่มไม่ฟรี    ส่วนเรื่องการบังคับเรียนให้พ่อแม่ภาษามือ เราไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะพ่อแม่ต้องประกอบอาชีพ ตอนลูกเรียนที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ทุกวันศุกร์มารับลูก ครูที่โรงเรียนขอให้คุณพ่อมาถึงเที่ยงได้ไหม ก่อนลูกจะกลับบ้าน ทางโรงเรียนจะสอนภาษามือให้ฟรี แต่ติดว่าเราต้องหาเงิน เราไม่สามารถทำอย่างที่ครูแนะนำได้ เลยได้แต่เก็บความสงสัยตอนลูกอยู่กับเราที่บ้าน ถ้ามีภาษามือที่ลูกทำแล้วเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ เราก็จะถามคุณครูว่าลูกทำภาษามือแบบนี้ แปลว่าอะไร    คิดเห็นอย่างไรที่พ่อแม่ควรเรียนภาษามือ การที่พ่อแม่รู้ภาษามือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูก ทำให้ลูกรู้ว่าเรารักและทำทุกอย่างเพื่อเขา พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษามือด้วยซ้ำแต่ยังเรียนเพราะว่าอยากสื่อสารกับลูก เพื่อให้ลูกมีความรู้ อยู่ในสังคมได้ เราไม่ได้อยู่กับลูกไปตลอด ขอให้เขาอ่านออก เขียนได้ และเรียนรู้ได้มากที่สุด ไม่ใช่พอมีลูกหูหนวกก็ให้ลูกอยู่แต่บ้าน ไม่ไปไหนเลย ไม่อยากให้ผู้ปกครองคิดแบบนั้น ตอนแรกที่รู้ว่าลูกพูดไม่ได้ เราไม่เคยเอาแกไว้บ้านเลย ไม่ว่าจะไหว้พระ ไปเที่ยวงานเทศกาลต่างๆ เราจะพาลูกสาวไปด้วยตลอดเพื่อให้รู้จักเส้นทางว่า เส้นทางนี้ไปไหนได้บ้าง ขึ้นรถสายนี้จะไปสุดสายตรงไหน บางครอบครัวรู้ว่าลูกหูหนวกก็อาย ไม่กล้าพาลูกออกนอกบ้าน เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง   เรื่องที่น่าอายกว่าลูกไม่ได้ยินคือการที่พ่อแม่ไม่ยอมเรียนภาษามือเพื่อสื่อสารกับลูก ถ้าพ่อแม่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับลูก สังคมจะมองว่าคุณเป็นอย่างไร ไม่เคยคุยกับลูกเลยเหรอ ไม่เคยใส่ใจว่าภาษาที่ใช้สื่อสารกับลูกได้คือภาษาอะไร หากพ่อแม่ใช้ภาษามือไม่ได้ เวลามีปัญหาเขาก็จะไปหาคนที่สื่อสารได้แล้วพาเขาไปนู้นไปนี่ได้ ไม่ใช่พ่อแม่             Livingสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อมคนพิการทางการได้ยินคนหูหนวกลูกคนหูหนวกภาษามือภาษามือธรรมชาติพ่อแม่หูดี
Categories: ThisAble

สรุปเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง 2.0 “คนพิการตัวร้าย กับนายอยากได้บุญ”

ThisAble - Tue, 2023-07-18 16:27

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กรกฏาคมที่ผ่านมา Thisable.me ร่วมกับศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณทล จัดงานเสวนา “เสรีภาพหรือเสรีพร่อง 2.0” ในประเด็น คนพิการ สินค้าบุญกุศล มีผู้ร่วมเสวนา 3 คน ได้แก่ บุญรอด อารีวงษ์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์, มนเทียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภาและหนึ่งใน 13 คนโหวตเสียงข้างมาก และอภิชาติ บุตตะ เจ้าหน้าที่ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณทล ชวนคุยโดยญานิกา อักษรนำ

ทำไมคนพิการจึงการเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำบุญ

บุญรอด: คนอาจจมองว่าคนพิการด้อยกว่า ก็เลยทำบุญให้คนพิการ ส่วนตัวเราอยากให้มองว่าทุกคนเท่ากัน ไม่ทำบุญให้กัน ครั้งหนึ่งแม่ค้าเคยบอกว่า หนูๆ มาเอาน้ำมะพร้าวไปกินเร็ว วันนี้ป้าอาจจะขายดี เราก็งงว่า ป้าให้เราฟรี ไม่ได้เงิน แล้วจะขายดีได้ยังไง

มนเทียร: ขึ้นกับมองคนพิการอย่างไร ถ้าเป็นปัจจักก็จบที่การทำบุญแบบบุนรอด แต่หากการทำบุญทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร เสริมพลังให้กับปัจจเจกสังคม มองว่าปัญหาคนพิการไม่ได้เป็นปัญหาปัจเจก แต่สภาพแวดล้อม ระเบียบกฏหมาย วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ต่างหากที่ทำให้บุคคลสูญเสียโอกาส หากมองแบบนี้ได้การทำบุญก็จะเป็นการปรับจูนให้เท่าเทียม ถ้าสังคมเราไม่มองเรื่องเวทนานิยมมากเกินไป

อภิชาติ: ผมมองว่าสังคมส่วนใหญ่มองว่าคนพิการด้อยคุณค่า ถ้าทำบุญกับคนพิการบุญกุศลจะมากขึ้น คนก็เลยมองว่าทำบุญกับคนพิการดีกว่า

ประสบการถูกทำบุญเป็นอย่างไร

อภิชาติ: ตั้งแต่เด็กจนโตผมอาศัยอยู่แถวประปฐมเจดีย์ เวลาไปเที่ยวคนเห็นก็วิ่งเอาเงินมาให้ พอเห็นคนมอง ผมก็ไม่รู้ว่ามองทำไม ผมก็ปฏิเสธไปนะว่าไม่ใช่ขอทานแต่คนก็ยังให้เงิน ปัจจุบันผมทำงานประจำและขายลอตเตอรี่เสริม วันดีคืนดีก็เจอพี่สุดหล่อมาซื้อหวยสามใบ ซื้อเสร็จเขาเอาหวยมาตบ แปะๆๆ บางคนก็หัวเราะ บางคนก็ทำตาม ตอนนั้นผมงง คนไม่รู้หรอกว่าผมถึงจะพิการมีสิทธิความเป็นคนเหมือนกัน ไม่ใช่ของเล่น ก็อยากให้เข้าใจ

มนเทียร: ทุกวันนี้ผมก็ยังเจอแบบเข้มข้น ตอนเด็กๆ คนพิการหรือคนตาบอดมักถูกมองว่าเกิดจากกรรมไม่ดี ผู้ใหญ่ก็เล่าเรื่องกรรมไม่ดีที่เราเคยทำหรืออาจจะเคยทำแล้วย้อนมาหา ในขณะเดียวกันก็มีคนบอกว่า มองไม่เห็นแล้วธรรมชาติจะชดเชยด้วยการหยั่งรู้ฟ้าดิน นำโชคได้ ขอหวยดี ครั้งหนึ่งผมบอกไปเล่นๆ ว่า 41 เขาเอาไปกลับเป็น  14 ปรากฏว่าถูกหวยจริง คนก็แห่มา ผมคิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่แค่ความพิการ แต่เป็นปมของสังคมที่ยอมจำนนต่อความไม่เท่าเทียม มองว่าความไม่เท่าเทียมเกิดจากกรรมเก่า ใครทำดีก็จะมีชีวิตที่ดีกว่า พอผมเป็นตัวบาปถูกลงโทษ ก็มีคนเสาะแสวงหาคนอย่างผมเพื่อหาโชคลาภ ความรู้สึกนี้ยิ่งถูกตอกย้ำเข้าไป ทำให้คนรู้สึกอยากแบ่งปันให้กับคนที่โชคไม่ดีเพื่อให้ชีวิตเขาสดใสขึ้น

ผมขายลอตเตอรี่ตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย ตอนนั้นมีคนเอาเงินมายัดใส่มือ แต่เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ถ้าผมแต่งตัวไม่เรียบร้อยก็ยังมีคนเอาเหรียญ 5 มาใส่มืออยู่ มีคนมาขอหวย จะซื้อหวยก็ยังมี

บุญรอด: ในโลกโชเชียลมักจะให้กำลังใจว่า พี่บุญรอดเก่งจังเลยหรือเดี๋ยวก็ผ่านไป แบบนี้โอเค แต่สิ่งที่ไม่โอเคคือการพูดว่า พี่มีกรรมเหรอคะ หรือถามว่าไปทำอะไรในชาติที่แล้วมา ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าไปทำอะไรมาเหมือนกัน

อภิชาติ: วันหนึ่งผมขายลอตเตอรี่ใกล้บริเวณที่ต้องข้ามสะพานข้ามคลอง ระหว่างทางเจอรถเก๋งจอด เอาของมาให้ บอกว่าวันนี้วันเกิดพี่นะ เขามาพร้อมสังฆทาน น้ำแพ็คใหญ่ ผมปฏิเสธว่าเอาไปไม่ได้เพราะต้องขายหวย ถ้าถือไปก็เข็นวีลแชร์ไม่ไหว แต่เขาคะยั้นคะยอให้รับ สุดท้ายผมก็ไม่รับเพราะหากรับก็คงไม่ได้อยู่ตรงนี้ เข็นทั้งรถ ถือทั้งน้ำมันอันตราย


อภิชาติ บุตตะ

การมองคนพิการเป็นสินค้าของการทำบุญ ลดทอดคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือไม่

บุญรอด: เราว่าคนนึกถึงตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกว่าทำบุญแล้วจะได้สิ่งตอบแทน หากเจตนาต้องการทำบุญเพราะอยากสนับสนุนหรือให้แบบไม่หวังผล เราเชื่อว่าคนรับจะรู้สึกดีกว่า

มนเทียร: ผมว่าอยู่ที่พื้นฐานความคิดของคนทำบุญ บางคนมองแบบปัจเจกว่า สังคมต้องแบ่งปันกัน หากให้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อคนพิการหรือช่วยให้ชีวิตคนพิการดีขึ้น อย่างน้อยคนพวกนี้ก็อาจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ดี การให้นี้แก้ไขไม่ถูกจุดเพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ปมหลักอย่างโครงสร้าง คนเหล่านี้สำหรับผมจึงไม่ได้มีเจตนาอยากขึ้นสวรรค์อย่างเดียว

การให้แบบนี้ผมมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมีองค์กรสาธารณะหรือมูลนิธิ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะหากไม่ทำให้สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและการเมืองเติบโต เพื่อให้คนพิการมีโครงสร้างที่เป็นธรรมในการพัฒนาตัวเองก็คงไม่มีอะไรพัฒนา เรื่องหนึ่งที่ผมอยากเล่าคือ บางคนลุกให้ผมนั่งในรถเมล์เมื่อวาน แต่ไม่รับผมเข้าทำงานวันนี้ เขามีใจทำบุญ อยากแบ่งปันและให้ประโยชน์ผู้ยากไร้ แต่เมื่อเขาเป็นผู้มีอำนาจ เขากลับตัดสินผมว่าน่าจะทำงานไม่ได้ จะเห็นว่าการเลือกปฏิบัติยังคงอยู่ การทำบุญแต่ยังคงไว้ซึ่งการเลือกปฏิบัตินั้นย้อนแย้ง ไม่ได้เกิดบุญจริง

ครั้งหนึ่งไปเชียงใหม่ คนเขาพูดใส่ผมว่า “อ้ออ้อย” แปลว่า อนิจจา น่าสงสงสาร เหมือนด้อยค่าคนอื่นโดยไม่เจตนา ผมคิดว่าเขาไม่ได้มีเจตนาร้ายแต่เป็นมรดกที่รับช่วงต่อมาจากคนรุ่นก่อน แม้สังคมจะเปลี่ยนไปแต่ความเคยชินยังอยู่ในดีเอ็นเอและ ออกมาโดยอัตโนมัติ ทำให้บางคนพอเจอคนพิการก็น้ำหูน้ำตาไหล เจอหน้าผมก็ร้องไห้

อภิชาติ: ผมมองว่าเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น ตอนเอาลอตเตอรี่มาตบๆ ตัว ตอนเขาหัวเราะ การช่วยเหลือกันมันดี แต่เขาสามารถถามหรือให้โอกาสในแบบอื่นได้

คนพิการที่แต่งตัวดีมีแนวโน้มโดนกระทำน้อยกว่าไหม

มนเทียร: เรื่องนี้คือเรื่องความทับซ้อน หรือ Intersectionality เขาเอาความพิการไปทับซ้อนกับความยากจน ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่าการด้อยค่าเพราะเหตุแห่งความพิการอย่างเดียว ถ้าเราเจอผู้หญิงพิการผิวดำ เป็นคนอิสลาม เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ยิ่งทับซ้อนหลายชั้น ความรู้สึกที่ต้องทำบุญยิ่งเกิดขึ้นเพื่อช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ยาก แต่ถ้าในสังคมที่มีปฏิกริยารุนแรงก็อาจจะถึงขั้นทำร้าย แม้ การทำบุญอาจดีกว่าทำร้าย แต่ก็ไม่ดีทั้งคู่ ความพิการถูกเพิ่มดีจากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อน มีน้ำหนักของการถูกลดทอนสถานะทางสังคม ผมเองแม้หลายคนมองว่าแต่งตัวดี แต่พอเดินถือไม้เท้าขาวก็ยังโดน แต่อาจไม่หนักเท่าผมใส่เสื้อขาด รองเท้าแตะ

บุญรอด: ผมว่าสิ่งนี้เป็นปัจเจกบุคคล ถึงแต่งตัวดีแค่ไหนก็โดนได้ ขนาดเราแต่งตัวดีก็ยังโดนพูดไม่ดี


บุญรอด อารีวงษ์

คิดอย่างไรกับองค์กรที่ใช้ประโยชนน์จากการทำบุญกับคนพิการ

มนเทียร: ผมมมองว่าขึ้นอยู่กับเป้าหมายขององค์กร บุญจะต้องมีที่ยืนต่อไปในสังคมอาจเพราะผมเป็นชาวพุทธ จึงยังให้ความแตกต่างระหว่างทำบุญกับทำร้าย การทำบุญนั้นเป็นการแก้ปัญหาไปวันๆ ไม่ยั่งยืน ไม่สามารถพาสังคมก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าเป้าหมายของการทำบุญคือการเสริมพลัง เติมเต็มโอกาส ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้าย เราทุกคนล้วนต้องการเป็นเป้าหมายของการทำบุญ แต่ต้องไม่ใช่เพราะฉันเป็นคนพิการ

มีประเพณีหนึ่งในแถบอีสานเรียกการร่วมบุญว่าบุญโฮม ถ้าเราสามารถรวมบุญและเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ บุญก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ไม่ต่างกับสวัสดิการ ตัวบุญเองจึงไม่ได้เลวร้ายแต่อยู่ที่เจตนาและผลของการทำบุญ

บุญรอด: การทำบุญทำได้หลายวิธี ไม่ต้องทำกับคนพิการก็ได้ เราไม่อยากให้คนมองว่าคนพิการเป็นเหยื่อของการทำบุญ เวลาคนให้เงินเราเราก็รู้สึกไม่ดี สิ่งสำคัญคือ ต้องดูคนที่รับว่าเขาโอเคหรือเปล่า ถ้าเขาไม่โอเคก็ไปทำบุญกับคนอื่น

อภิชาติ: การทำบุญมีหลากหลาย เริ่มต้นด้วยการถาม ไม่ใช่คนพิการทุกคนคือขอทานหรือตัวเชื่อมในการส่งบุญ ถ้าทำบุญแล้วคนรับไม่เต็มใจ จะได้บุญไหม ฉะนั้นก่อนจะช่วยเหลือต้องถามความต้องการ

มนเทียร: บุญจะแท้จริงได้ต้องทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตย ยอมรับการมีส่วนร่วม ไม่ผูกขาดคนที่ให้บุญ ต้องพอใจกันทั้งสองฝ่าย บุญจึงมีแต่บวก ไม่ว่าจะเสียภาษี ขับรถดี แยกขยะ ก็ได้บุญทั้งนั้น เพราะบุญแปลว่าประโยชน์ ถ้าทำแล้วสบายใจนั่นคือประโยชน์ บุญจึงเป็นคำที่เข้าใจยาก ทุกวันนี้เราติดการทำบุญตามใจผู้ให้ ไม่ได้ทำตามความรู้สึกนึกคิดของคน เราต้องคิดถึงหัวอกของทุกคนที่ร่วมกันทำบุญด้วย

บุญแบบไหนเห็นหัวอกผู้รับ

มนเทียร: ต้องมีการตกลง ปรึกษาร่วมกัน มีโอกาสโต้แย้งถกเถียง เพราะการทำบุญอย่างเดียวไม่สามารถทำให้อยู่ดีมีสุขได้ อะไรที่บางคนอยากทำ แต่อีกคนไม่อยากได้ แบบนี้ก็ไม่ใช่บุญแล้ว

บุญรอด: ทั้งของฝ่ายควรต้องมีสิทธิเลือก จะรับหรือไม่รับก็ได้ ถ้ายัดเยียดก็อาจจะไม่ได้บุญก็ได้ ถ้าสวัสดิการดีจริง คนพิการจะไม่ต้องเป็นเหยื่อของการทำบุญอีกต่อไป

อภิชาติ: ถ้าคนพิการมีชีวิตโอเค คำว่าบุญก็จะเป็นแบบอาจารย์มณเทียร ถ้าสวัสดิการทุกคนดี เราคงไม่ต้องเห็นภาพคนสมัยก่อนที่มองว่าคนพิการต้องขอทานหรือขายลอตเตอรี่

คนพิการที่ยังต้องยอมจำนน จะมีวิธีเสริมพลังอย่างไร

อภิชาติ: ความพิการของแต่ละคนและปัจจัยที่เลือกไม่ได้ ทำให้คนพิการต้องยอมจำนน ถ้ามีโอกาสก็อยากผลักดันนโยบายที่สามารถตอบโจทย์เพื่อนคนพิการกลุ่มนั้นให้ได้

บุญรอด: ถ้าคนพิการเข้าถึงสวัสดิการที่เท่าเทียม คนพิการก็คงไม่อยากเป็นเครื่องมือบุญ และคงไม่มีใครถูกด้อยค่า

มณเทียร: ถ้ามีกฏหมาย นโยบาย รัฐบาล และสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจำนนต่อการเป็นเครื่องมือบุญ ผมใช้เวลายาวนานมากในการผลักดันกฏหมายและนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะลดความจำเป็นในการทำบุญแบบปัจเจกและการจำนนต่อความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้าตราบใดความเหลื่อมล้ำยังอยู่ คนพิการก็ยังเป็นวัตถุของการทำบุญของคนที่ต้องการไปนิพพาน จึงไม่มีวิธีใดดีกว่าการเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง แต่น่าเสียดายที่การเมืองเราไม่เปิดกว้างเพียงพอต่อการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง จึงทำให้คนพิการต้องเข้าไปสู่วงจรที่เลวร้ายทารุณ หากสังคมเปิดกว้างทุกคนก็มีโอกาสเป็นผู้ให้และรับ ไม่จำกัดผู้ให้เพียงไม่กี่คน


มณเทียร บุญตัน

จะเปลียนทัศนคติคนอย่างไร

อภิชาติ: อยากให้เปลี่ยนมุมมองที่มองว่า คนพิการด้อยคุณค่า เป็นทุกคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากัน

บุญรอด: สื่อ ละคร ละครหลังข่าวด้อยค่าคนพิการผ่านการบอกว่าต้องให้ คนพิการต้องได้รับ ดูน่าสงสาร สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังมานานมาก จึงอยากให้ตระหนักว่าทุกคนเท่ากัน คุณอาจโชคดีที่ที่ไม่พิการ แต่ยังมีคนหลายคนที่โดนกดทับผ่านสิ่งเหล่านี้อยู่

มณเทียร:  เราต้องส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย ต้องยอมรับความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง ยอมรับการเป็นผู้ร่วมทำกิจการ ยอมรับความสำเร็จและล้มเหลวโดยไม่ต้องด้อยค่าหรือซ้ำเติม ถ้าเราสร้างได้ สังคมก็จะยอมรับคนที่หลากหลาย รวมทั้งยอมรับคนพิการด้วย บุญก็จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ บุญกับประชาธิปไตยไปด้วยกันได้ถ้าใช้อย่างสร้างสรรค์ ยิ่งเราส่งเสริมมากเท่าไหร่ บุญก็จะเป็นการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าเขาจะมีลักษณะเฉพาะหรือลักษณะร่วมกันอย่างไร เราจะมีคอนเซปใหม่ของคำว่าบุญและคนพิการ

ถ้าอยากทำบุญกับคนพิการต้องทำอย่างไร

บุญรอด: อยากให้ดูเจตนาว่าทำไปเพื่ออะไร ถ้าตอบสนองความต้องการของตัวเอง ก็อยากให้พิจารณาว่าทำดีหรือเปล่า ผู้รับจะรู้สึกอย่างไร ถ้ามีคนทำแบบนี้กับคุณจะโอเคไหม

อภิชาติ: ถ้าอยากช่วยคนพิการจริงๆ ก็อยากให้ถามความต้องการ ว่าทำอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช่เข้ามาจู่โจมเลย ไม่อยากให้พี่ได้บุญแต่ผมได้บาปแบบที่เจอ

มณเทียร: เรามาร่วมกันทำบุญเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายดีกว่า ถ้าทำบุญเพื่อตอบสนองความต้องการของใครบางคน สิ่งนี้ไม่อาจเรียกว่าบุญได้ บุญที่ต่อท้ายด้วยกุศลเป็นประโยชน์ที่ทุกคนได้รับคือการสร้างสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขร่วมกัน

 

 

Socialบทความคุณภาพชีวิตการเมืองศิลป-วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนทำบุญกุศลคนพิการบริจาคเสรีภาพหรือเสรีพร่อง
Categories: ThisAble

คุยกับนิสิตจุฬาฯ เรื่องสภาพแวดล้อมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้ตอบโจทย์นิสิตพิการ

ThisAble - Thu, 2023-06-15 15:52

เขียนโดย จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำและ พลอยวรินทร์ ชิวารักษ์
งานชิ้นนี้เป็นผลงานจากรายวิชา สิทธิมนุษยชนและวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

ลองจินตนาการว่านี่คือวันทั่วไปวันหนึ่ง คุณกำลังเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัย คุณอาจต้องออกจากบ้านและเดินไปสักระยะหนึ่งเพื่อขึ้นรถสาธารณะ และต่อขึ้นรถไฟฟ้า หลังถึงสถานีที่หมาย คุณต้องเดินไปที่จุดรอรถที่บริการภายในมหาวิทยาลัย เพื่อขึ้นรถคันนั้นไปยังคณะที่คุณกำลังศึกษาอยู่อีกทีหนึ่ง และรีบขึ้นไปยังชั้น 10 ของอาคารเพื่อเข้าเรียนวิชาแรก

ทุกอย่างดูราบรื่นดี แต่ถ้าหากเราลองเพิ่มเงื่อนไขว่า คุณกำลังตาบอด หรืออาจต้องนั่งรถเข็น การเดินทางมามหาวิทยาลัยจะยังคงสะดวกสบายเช่นเดิมหรือไม่


การเข้าไม่ถึงการศึกษาอย่างสะดวกสบาย จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ทำให้คนพิการจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเพียงร้อยละ 0.18 ของคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น

ซาบะ - มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิคนพิการ ผู้ก่อตั้ง Accessibility Is Freedom และวิทยากรหลักโครงการ Chula Walk (โครงการสำรวจพื้นที่ในบริเวณจุฬาฯ ว่าเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการหรือไม่) ระบุว่า การเดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านทางเท้านั้นไม่เอื้อต่อคนใช้รถเข็นและคนพิการทางสายตา ทางเท้าไม่มีทางเดินสำหรับคนตาบอด และมีสภาพไม่สมบูรณ์ทั้งลาดเอียง หรือมีสิ่งกีดขวาง ทางลาดลงถนนใหญ่แคบเกินไป ไม่สามารถรองรับรถเข็นขนาดใหญ่ได้ และทั้งสะพานลอยและอุโมงค์ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้ข้ามฝั่งถนนเป็นหลักนั้นไม่เอื้อต่อผู้ที่ใช้รถเข็นเลย เพราะไม่มีทางลาดสำหรับขึ้นสะพานและลงอุโมงค์ให้

พลอย - สโรชา กิตติสิริพันธุ์ คนพิการทางสายตา จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้เราฟังว่า เวลารถ ปอ.พ. (รถโดยสารภายในจุฬาฯ) ไม่มา หรือฝนตกเลยไม่มีรถ เราต้องเดินจากคณะไปรถไฟฟ้า ก็ไปคนเดียวไม่ได้ (เพราะไม่มีสัญลักษณ์บอกทาง) ต้องขอให้คนช่วยพาไปหรือช่วยเรียกรถให้ แม้ว่าพลอยจะโชคดีที่บ้านอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยนักจึงสามารถนั่งรถต่อเดียวถึงได้ แต่เมื่อเข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัย ก็ยังต้องเผชิญความลำบากในการไปยังที่ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และต้องมีคนนำทางหรือคอยให้ความช่วยเหลือเป็นส่วนใหญ่อยู่ดี


พลอย-สโรชา

ชีวิตแบบใด... ที่นิสิตพิการต้องเผชิญ

จากการสัมภาษณ์พลอย ซาบะ การเก็บรวบรวมข้อมูลจากโครงการ Chula Walk และการลงพื้นที่สำรวจของผู้เขียน พบปัญหาสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคนพิการทางการมองเห็นและคนพิการทางการเคลื่อนไหวในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้

การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย

บันไดและทางลาด: หลายอาคารใช้บันไดใหญ่เพื่อเข้าสู่ตัวอาคาร โดยไม่มีทางลาด หรือมีทางลาดในมุมที่มองไม่เห็นหรือไปถึงได้ยาก

ทางข้ามถนน: ทางลาดจากฟุตบาทลงถนนแคบ ไม่รองรับรถเข็นขนาดใหญ่,​ ทางม้าลายมีน้อย สะพานลอยและอุโมงค์ที่คนใช้รถเข็นใช้งานไม่ได้มีเยอะ,​ คนไม่เคารพกฎจราจร เพิ่มความเสี่ยงแก่ผู้ใช้รถเข็น

รถ ปอ.พ.: ไม่มีเสียงบอกคนตาบอดเมื่อรถมาถึงป้าย, ไม่มีเสียงบอกว่ารถที่มาถึงป้ายเป็นสายไหน, รถบางคันไม่มีเสียงบอกเมื่อถึงป้ายต่าง ๆ, รถเข็นขึ้นได้ไม่สะดวก เนื่องจากไม่เป็นรถชานต่ำ (low floor)

สิ่งอำนวยความสะดวก (บริเวณคณะอักษรศาสตร์)

ห้องน้ำ: หากไม่เคยไปชั้นนั้น หรืออาคารนั้น จะไม่มีทางรู้ว่าอยู่ที่ไหน ต้องมีคนพาไปในครั้งแรก, คนตาบอดไม่สามารถรู้ได้ว่าห้องใดเป็นห้องน้ำหญิงหรือห้องน้ำชาย, ราวจับในห้องน้ำคนพิการไม่ได้มาตรฐาน, ประตูห้องน้ำหนัก คนกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจไม่สามารถเปิดได้, ที่ใส่สบู่อยู่ผิดที่ ทำให้หาไม่เจอว่าอยู่ตรงไหน, ไม่ได้ดูแลความสะอาดเป็นประจำ คนตาบอดจึงไม่สามารถรู้ได้เลยว่าห้องน้ำสะอาดหรือไม่

ลิฟต์: ไม่มีเสียงบอกว่าถึงชั้นไหนแล้ว ทำให้มักออกผิดชั้น, ลิฟต์บางตัวไม่มีอักษรนูนหรืออักษรเบรลล์กำกับที่ปุ่มกดชั้น, ลิฟต์แบ่งเป็นขึ้นชั้นเลขคี่กับชั้นเลขคู่ แต่ไม่มีป้ายอักษรเบรลล์บอกรายละเอียด

โรงอาหาร: ไม่มีป้ายบอกคนตาบอดว่าแต่ละร้านเป็นร้านอะไร มีเมนูอะไรบ้าง, ไม่มีเบรลล์บล็อก, ไม่มีป้ายบอกคนตาบอดว่าจุดเก็บจานและถังขยะอยู่ตรงไหน รวมถึงไม่มีป้ายบอกว่าต้องแยกขยะแบบไหนในถังใด

ห้องสมุด: ไม่มีป้ายบอกคนตาบอดว่าเป็นหนังสืออะไรบ้าง, ไม่มีเบรลล์บล็อก, ไม่มีคำอธิบายหนังสือที่คนตาบอดเข้าถึงได้ ต้องอาศัยให้เพื่อนมาช่วยดูและเลือกให้, ไม่มีบริการไฟล์หนังสือหรือหนังสือเสียงสำหรับคนตาบอด

และยังมีปัญหายิบย่อยอีกมากมาย ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ

ปัญหาพื้นที่ แก้ได้! ขอเพียงใส่ใจมากเพียงพอ

สุจิตรา จิรวาณิชกุล สถาปนิกประจำศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สภาพแวดล้อมภายในจุฬาฯ ถือว่ามีความพยายามในการจัดการให้คนพิการสามารถใช้งานได้สะดวก และยังมีการแก้ไขจุดที่บกพร่องอยู่เรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม สุจิตราพบปัญหาสำคัญคือการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ นั้นไม่เชื่อมต่อกัน เช่น จากอาคารหนึ่งไปยังอาคารหนึ่ง โดยคนพิการทางสายตาอาจเผชิญปัญหาว่าไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้ในครั้งแรกเพราะไม่รู้ทาง และคนพิการทางการเคลื่อนไหวอาจเผชิญปัญหาความไม่สะดวกต่าง ๆ ดังที่ระบุไปข้างต้น

สุจิตราเสนอวิธีแก้ไขปัญหาเป็น 2 ข้อหลัก ข้อแรก คือการปรับปรุงพื้นที่ให้สอดคล้องตามกฎหมาย เช่น แก้ไขทางลาดที่ชันเกินไป รวมถึงการมีป้ายบอกทางว่าทางเข้าอาคารหรือทางขึ้นสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวนั้นต้องไปทางไหน ข้อสอง คือการจัดทำแผนผังหรือแผนที่สำหรับคนพิการทางสายตา ที่ระบุว่าแต่ละอาคารอยู่ที่ไหน และภายในอาคารห้องต่าง ๆ อยู่จุดไหนบ้าง เพื่อให้คนตาบอดเกิดภาพจำได้ว่าจุดที่ต้องการไปอยู่ตรงไหน และสามารถไปถึงด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

ในด้านของซาบะ ซาบะเน้นย้ำให้แก้ไขจุดที่อันตรายก่อนเป็นอันดับแรก เช่น การข้ามถนนที่ยังไม่ปลอดภัย หรือทางลาดที่ชันจนทำให้ผู้ใช้รถเข็นอาจทำรถล้มลงมาได้ แล้วหลังจากนั้นจึงควรแก้ไขจุดต่อ ๆ ไปตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในด้านการนำไปปฏิบัติจริง สุจิตราพร้อมกับศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาฯ เคยนำเสนอปัญหาที่พบในบริเวณมหาวิทยาลัยแล้ว พร้อมเสนอตัวช่วยเหลือในการออกแบบพื้นที่ใหม่ร่วมกับสำนักบริหารระบบกายภาพ แต่ด้วยข้อจำกัด ทำให้ปรับปรุงแล้วเสร็จได้เพียงไม่กี่ที่เท่านั้น ทางซาบะพร้อมกับ Accessibility Is Freedom ก็เช่นกัน ที่ได้มีการสำรวจพื้นที่ในโครงการ Chula Walk พร้อมกับสำนักบริหารระบบกายภาพ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดต่อ

ซาบะเสริมข้อกังวลว่าจากประสบการณ์ของตนนั้น การปรับปรุงพื้นที่ให้เข้าถึงคนพิการนั้นมีรายละเอียดมาก และจำเป็นที่จะต้องติดตามงานกันอย่างใกล้ชิด มิเช่นนั้นอาจพลาดในรายละเอียดเล็กน้อยแต่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการที่เป็นคนพิการได้ เขาเคยพบการลืมติดราวจับในห้องน้ำ หรือติดผิดจุดและไม่สามารถแก้ไขภายหลังได้เนื่องจากกระทบมาตั้งแต่การติดตั้งท่อน้ำ

ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ

วิธีการเข้ามาเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนคนพิการนั้นไม่ซับซ้อนนัก เพราะจุฬาฯ ไม่มีโควตาพิเศษสำหรับคนพิการ โดยคนพิการต้องสอบเข้าในรอบต่าง ๆ เช่นเดียวกับนักเรียนท้ังประเทศได้ โดยไม่มีเกณฑ์กำหนดไว้ว่าสามารถเรียนในคณะใดได้บ้าง แต่วิธีการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมเป็นเหมือนมาตรฐานกลาย ๆ ว่าบางคณะไม่ได้ให้การต้อนรับนิสิตคนพิการ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิตจุฬาฯ ให้ความเห็นว่าคนตาบอดอาจเรียนได้เฉพาะในคณะที่เน้นการฟังบรรยายเป็นหลักเท่านั้น เพราะไม่สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ในห้องเรียนได้สะดวก

ในปีการศึกษา 2565 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนิสิตคนพิการกำลังศึกษาอยู่เพียง 9 คนจาก 7 คณะเท่านั้น (คณะวิทยาศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา, คณะครุศาสตร์, คณะจิตวิทยา, คณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะนิติศาสตร์) โดยมีการมอบทุนการศึกษาสำหรับนิสิตพิการ ครอบคลุมค่าเล่าเรียนทั้งหมดตลอดการศึกษา และนิสิตพิการยังสามารถขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้จากฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิตจุฬาฯ เช่น การจัดหาหอพักนิสิต เป็นต้น ส่วนการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะแก่ความต้องการของแต่ละคนนั้นจะเป็นการจัดการภายในคณะและการตกลงกับครูผู้สอนเอง

‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าศึกษา โดยมีโครงการรับนักศึกษาพิการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2546 โดยรับทั้งคนพิการทางการมองเห็น ทางการเคลื่อนไหว และทางการได้ยินที่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้ โดยในแต่ละปีมีโควตารับทั้งหมด 63 คนใน 19 คณะ มากที่สุดในกลุ่มมหาวิทยาลัยเปิด โดยเมื่อรับเข้ามาจะมีศูนย์บริการนักศึกษาพิการช่วยเหลือในเรื่องสื่อการสอน ทุนการศึกษา อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ไปจนถึงการประเมินผลการเรียนนักศึกษาพิการเพื่อเร่งเข้าช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกให้การเรียนเป็นไปได้อย่างราบรื่น

ด้านการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ศูนย์บริการฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยให้เรียนรู้เส้นทาง และอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย รวมถึงจัดหาหอพักในมหาวิทยาลัยให้พร้อมบัดดี้พักร่วมได้ และยังมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบริเวณมหาวิทยาลัยตลอดทุกปี เช่น เพิ่มปุ่มกดอักษรเบรลล์ และเสียงบอกชั้นในลิฟต์ ปรับปรุงห้องน้ำคนพิการ และเพิ่มเบรลล์บล็อกนำทาง

เพราะวันหนึ่งคุณก็อาจกลายเป็นคนพิการได้

เรื่องของคนพิการ ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แม้เราอาจไม่ได้เป็นคนพิการในวันนี้ แต่ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งเราอาจเกิดอุบัติเหตุจนขาหัก เคลื่อนไหวไม่ได้ชั่วคราว หรือเจ็บตาจนทำให้การมองเห็นไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังคงต้องมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเหมือนปกติ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง จึงจะกลับมาส่งผลต่อตัวเราเองในวันที่เราอาจจำเป็นต้องใช้มันด้วยเช่นกัน

“เดินทางได้คือพัฒนาได้ การช่วยเหลือคนอย่างยั่งยืนไม่ใช่การให้เงิน แต่เป็นการให้โอกาสการเดินทาง  ให้โอกาสการเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ” ซาบะกล่าวถึงความสำคัญในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคนพิการ และเข้าถึงคนทุกกลุ่ม โดยที่ทุกคนมีอิสระที่จำดำรงชีวิตด้วยตนเอง เขาฝากว่าการช่วยเหลือกันนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากคนพิการต้องพึ่งความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพียงอย่างเดียวโดยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็จะถือเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไปเช่นกัน

การจัดสรรพื้นที่และออกแบบการศึกษาให้เอื้อต่อคนพิการ และเข้าถึงคนทุกกลุ่ม จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรรับไปพิจารณาแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเป็นปัญหาที่เราทุกคนสามารถร่วมกันจับตามอง และช่วยส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจได้ เพราะเราทุกคนเป็นคนเท่ากัน จึงต้องมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาและการใช้ชีวิตที่เท่าเทียมกัน

อ้างอิง

คชรักษ์ แก้วสุราช.  “ธรรมศาสตร์ทำอย่างไรถึงเป็นมหาวิทยาลัยที่คนพิการอยากมาเรียน.” [ออนไลน์].  เข้า ถึงได้จาก https://thisable.me/content/2020/03/602
ฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิตจุฬาฯ.  สัมภาษณ์, 2 พฤษภาคม 2566.

มานิตย์ อินทร์พิมพ์.  นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิคนพิการ ผู้ก่อตั้ง Accessibility Is Freedom.  สัมภาษณ์, 15 พฤษภาคม 2566.

สโรชา กิตติสิริพันธุ์.  บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนพิการทางสายตา.  สัมภาษณ์, 28 เมษายน 2566.

สุจิตรา จิระวาณิชย์กุล.  สถาปนิกประจำศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  สัมภาษณ์, 2 พฤษภาคม 2566.

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.).  “10+ ปัญหาที่คนพิการต้องเจอจากการสำรวจ บริเวณจุฬาฯ ฝั่งเล็ก.” [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/sgcu.chula/ posts/pfbid032u1v3uhQ1fG2Ap3S7RUMZ89mfDRkKZkbwdfFQtZwc4zmX5DTFFMT

pSdSrDmLNUFel 

 

Livingบทความคุณภาพชีวิตสิทธิมนุษยชนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนิสิตพิการสิ่งอำนวยความสะดวก
Categories: ThisAble

เลิกภาพจำ ‘คนตาบอดใช้คอมไม่ได้’ ชวนรู้จักคนตาบอดถอดเทป

ThisAble - Tue, 2023-06-13 11:48

เชื่อว่าหลายคนอาจจะคุ้นตาโพสต์แนะนำให้ใช้บริการคนตาบอดช่วยถอดเทปผ่านหน้าเฟซบุ๊ก หนำซ้ำโพสต์เหล่านั้นยังมีตัวอย่างงานถอดเทปให้เห็นว่า คุณภาพผลงานของคนตาบอดทำได้ดีไม่แพ้คนตาดีเลย

ถึงแม้โพสต์นั้นจะมีคนกดไลก์ กดแชร์เป็นพัน แต่น่าแปลกใจที่คนจำนวนมากยังคิดว่าคนตาบอดต้องใช้อักษรเบรลล์เท่านั้น คนตาบอดทำงานเอกสารไม่ได้ หรือคนตาบอดทำงานคอมพิวเตอร์ไม่ได้ เพื่อให้หลายๆ คนมองเห็นการทำงานของคนตาบอด Thisable.me จึงชวนทิพย์—อมรรัตน์ ประทุมวงศ์ เทรนเนอร์ AI บริษัท Vulcan Coalition ซึ่งรับงานถอดเทปและขายลอตเตอรี่เป็นงานเสริม มาพูดคุยถึงประเด็นที่สังคมยังไม่เข้าใจ

จุดเริ่มต้นที่ได้มาทำงานถอดเทป

ย้อนกลับไปช่วงโควิด-19 เริ่มเข้ามา ทิพย์เล่าว่า ช่วงนั้นไม่มีงานทำ ไม่มีเงินจะกินข้าว พี่ที่รู้จักจึงแนะนำให้ลองถอดเทปดู เธอจึงลองประกาศหางานถอดเทปในเว็บ Jobse.me ซึ่งหางานสำหรับคนพิการ จนกระทั่งมีลูกค้าคนแรกจ้างถอดเทปและยังเป็นครูสอนทิพย์ถอดเทป ทั้งแนะนำโปรแกรมช่วยถอดเทป ช่วยคลี่คลายข้อสงสัยบางอย่าง เช่น ต้องถอดทุกคำพูดของเขาหรือเปล่า คำลงท้ายอย่างคำว่าอืม เออ นะคะ นะครับ ต้องถอดเทปด้วยหรือไม่ 

ลูกค้าคนแรกแนะนำให้ทิพย์ใช้โปรแกรม VLC Media (VideoLan Client) ถอดเทป ต่อมามีลูกค้าอีกคนแนะนำโปรแกรมถอดเทปเสียงบันทึกโดยเฉพาะอย่าง Express Scribe ที่พยายามลดปัญหาต่างๆ ที่ทำให้งานถอดเทปช้าลง อย่างการสลับหน้าจอไปมาระหว่างโปรแกรมเล่นเสียงและโปรแกรม Microsoft World และลดการใช้เม้าส์ มือจึงไม่ต้องขยับออกจากคีย์บอร์ด โดยมีอุปกรณ์เสริม USB Foot Pedal ที่มีหน้าตาคล้ายกับ Gaming Foot Controller และเบรคกับคันเร่งรถยนต์ ซึ่งมีที่เหยียบแทนการกดปุ่ม Play ปุ่ม Rewind และปุ่ม Forward แล้วยังมีปุ่มลัดอีกด้วย 

กระบวนการทำงานถอดเทป

ทิพย์เล่าว่าใช้โปรแกรม Express Scribe ไฟล์เสียงจะรันเข้าโปรแกรมอัตโนมัติ ทิพย์สามารถเปิดโปรแกรม Microsoft Word ถอดเทปเสียงและพิมพ์บันทึกได้เลย หากอยากหยุดไฟล์เสียงก็กด F4 เพื่อหยุดและกด F9 แต่โปรแกรมไม่ค่อยรองรับไฟล์เสียงที่ลูกค้าส่วนใหญ่ส่งมาให้อย่าง .mp4 .flv ทำให้ทิพย์ต้องใช้โปรแกรมแปลงไฟล์ให้เป็นนามสกุล .mp3 เสียก่อน แล้วถึงเริ่มงานโดยอาศัยทักษะจากสมัยเรียนวิชาพิมพ์ดีดที่โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่นและทักษะคอมพิวเตอร์ที่ได้เรียนรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาสั้นๆ 

หลังพิมพ์เสร็จ ทิพย์ใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอค่อยๆ เลื่อนอ่านทีละบรรทัด ทีละตัวอักษร คำไหนพิมพ์ไม่ถูกต้อง เช่น คำศัพท์เฉพาะ คำภาษาอังกฤษ จะใช้วิธีการวงเล็บนาทีที่พูดคำนี้เอาไว้ด้านหลัง อำนวยความสะดวกใหักับลูกค้าในการตรวจทานคำอีกครั้ง  

ทิพย์เล่าว่า อุปสรรคการทำงานถอดเทปของคนตาดีและตาบอดไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องไฟล์เสียง เช่น เสียงเบามาก คนพูดสวนกัน ทำให้ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง และการพูดคุยที่พูดภาษาไทยคำภาษาอังกฤษคำหรือคำศัพท์เฉพาะทาง เวลาตรวจความเรียบร้อยของงานก็จะต้องค้นหาว่า คำนี้ที่ถูกต้องเขียนว่าอย่างไร แต่ก็มีอุปสรรคที่ต่างกัน ได้แก่ ข้อจำกัดเรื่องช่องทางการมอบหมายงาน ทิพย์ขอให้ลูกค้าส่งไฟล์เสียงมาให้ทางอีเมล์มากกว่าไลน์ เพราะโปรแกรมอ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่สามารถอ่านข้อความในไลน์ที่ติดตั้งกับคอมพิวเตอร์ได้

ส่วนเรื่องอุปกรณ์ในการทำงาน ทิพย์ซื้อคอมพิวเตอร์ปกต ส่วนพวกโปรแกรมต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกการทำงาน เธอสามารถลงโปรแกรมได้ด้วยตนเอง 

ตาบอดเลยหูดี ถอดเทปเก่ง

จากภาพที่สื่อนำเสนอคนตาบอดออกมาร้องเพลง หรือคนพิการประเภทอื่นๆ ที่มีความสามารถพิเศษ กลายเป็นจุดเริ่มต้นความคิดที่ว่า เมื่อขาดอวัยวะบางอย่างต้องมีอะไรพิเศษทดแทน แต่ทิพย์ยืนกรานว่า ไม่เกี่ยวกันเลย คนตาบอดไม่ได้ถอดเทปได้ดีเพราะหูดีกว่า

“เราคือคนปกติทั่วไป การที่เราทำงานตรงนี้ได้ดี เป็นเพราะการฝึกฝนเองมากกว่า ไม่ใช่พรสวรรค์แต่เป็นการแสวงหา” 

จากข้อมูลของ National Geographic Thailand ในบทความเรื่อง “แรงบันดาลใจจาก “Bird Box” คนตาบอดได้ยินเสียงชัดกว่าจริงหรือ?” ได้อธิบายด้วยข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ว่า การได้ยินเสียงดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับ ‘เซลล์ขน’ ที่เป็นอวัยวะรับแรงสั่นไหวของเสียงต่อจากเยื่อแก้วหู ประสิทธิภาพการได้ยินขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเซลล์ขนไม่ใช่เพราะเป็นคนตาบอดหรือคนตาดี 

ในคนตาบอดบางคน พวกเขาก็มีความสามารถในการใช้เสียงสะท้อน (Echolocation) ได้อย่างแม่นยำคล้ายๆ กับการใช้คลื่นเสียงโซนาร์ของวาฬ โลมา และค้างคาว ซึ่งความสามารถนี้มาจากการที่สมองปรับพื้นที่เปลือกสมองส่วนการมองเห็นให้เข้ากับเปลือกสมองการรับประสาทสัมผัสอื่นๆ และการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ อย่าง Daniel Kish คนตาบอดตั้งแต่กำเนิดที่ใช้เทคนิคการระบุที่มาของเสียงโดยใช้เสียงสะท้อนในการดำรงชีวิต ปั่นจักรยานหรือปีนเขา

อ้างอิง https://ngthai.com/science/16830/how-blind-perceive-the-world/

อย่าใช้คำว่า ‘มองไม่เห็น’ เป็นข้ออ้างไม่รับคนตาบอดทำงาน 

เท่าที่สังเกต ทิพย์บอกกับเราว่าทัศนคติ สังคมและนายจ้างทำให้คนตาบอดหางานยาก ภาพเหมารวมของอาชีพคนตาบอดยังหนีไม่พ้นหมอนวดหรือขายลอตเตอรี่ เธอไม่เข้าใจเลยว่าทำไมคนชอบคิดแบบนั้น และเหมารวมว่าคนตาบอดทำงานได้แค่นี้ 

“ถ้าเป็นงานพิมพ์ตัวหนังสือ มั่นใจเลยว่าคนตาบอดทำได้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องการจัดรูปแบบหน้า คนตาดีอาจจะต้องมาช่วยดูความเรียบร้อยนิดนึงเท่านั้นเอง”

บางคนอ้างว่า คนตาบอดมองไม่เห็น ทำงานงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ แต่จากประสบการณ์การทำงานโดยตรงของทิพย์และเพื่อนคนตาบอดก็พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาสามารถทำงานบนคอมพิวเตอร์ได้ อ่านงานได้เป็นไฟล์ .doc หรือกรอกข้อมูลใน Excel ก็ได้ แต่อาจจะต้องแจ้งว่า กรอกที่คอลัมน์ไหน แถวที่เท่าไร 

“เราเจองานจ้างตอบแชทในไลน์ ในเฟซบุ๊ก เราเลยทักไปว่า เราเป็นคนตาบอด สามารถตอบแชทได้ เขาก็บอกว่าไม่รับค่ะ เพราะเดี๋ยวคุณจะตอบแชทลูกค้าไม่ได้ คิดในใจก็พิมพ์คุยกันอยู่แท้ๆ แล้วอ้างว่า ทำไม่ได้ จะให้เราพิมพ์ด่าตอนนี้เลยไหมล่ะ”

บางคนเอาเรื่องสถานที่มาอ้าง เช่น ที่ทำงานต้องขึ้นบันได ทิพย์มองว่า ตนเองเป็นคนพิการด้านการมองเห็นไม่ได้พิการทางการเคลื่อนไหวที่จะต้องใช้ลิฟต์หรือทางลาดขึ้น คนตาบอดเดินขึ้นบันไดได้ หากได้งาน ช่วงแรกก็แค่ต้องไปทำความคุ้นเคยกับสถานที่ทำงานก่อน ห้องทำงานอยู่ตรงไหน ห้องน้ำอยู่ตรงไหน

งานถอดเทปสอนให้คนตาดีรู้ว่า…

จากบทความ ‘Top 10 Misconceptions about Blind People’ เขียนโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรผู้บกพร่องและพิการทางสายตาเมืองพาสโกและเฮอร์นันโด รัฐฟอลิดา ประเทศสหรัฐอเมริกา (Lighthouse for the Visually Impaired and Blind; Pasco, Hernando and Citrus) ระบุว่า คนตาบอดทุกคนอ่านอักษรเบรลล์ได้นั้นเป็นความเชื่อที่ผิด เดี๋ยวนี้มีวิธีการอื่นๆ ให้คนตาบอดเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยการฟัง เช่น หนังสือเสียงหรือโปรแกรมอ่านหน้าจอ มากกว่าการอ่านอักษรเบรลล์

เช่นเดียวกับกับลูกค้าที่มาจ้างทิพย์ถอดเทป มักจะมีคำถามว่า พิมพ์ได้อย่างไรในเมื่อมองไม่เห็น แป้นคีย์บอร์ดมีอักษรเบรลล์เหรอ ทิพย์อธิบายให้ลูกค้าฟังว่า คนตาบอดใช้คีย์บอร์ดเหมือนคนตาดีทั่วไป ต่างกันที่ต้องลงโปรแกรมอ่านหน้าจอให้ช่วยอ่านตัวอักษรที่ปรากฎอยู่บนคอมพิวเตอร์ให้ฟัง ลูกค้าก็จะเข้าใจมากขึ้นว่า คนตาบอดทำงานได้อย่างไร รู้ว่าจะต้องช่วยเหลือคนตาบอดอย่างไรเมื่อต้องทำงานด้วยกัน 

“เราคิดว่าคนในสังคมรู้ว่า คนตาบอดทำงานได้เหมือนกับคนตาดี แต่การจ้างงานคนตาบอดกลับยังไม่เปลี่ยนแปลง”

  Culture & Artสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตการเมืองคนตาบอดตาบอดถอดเทปอมรรัตน์ ประทุมวงศ์
Categories: ThisAble
Subscribe to ประชาไท Prachatai.com aggregator - ThisAble