ThisAble
สรุปเสวนา คนพิการอยู่ตรงไหนในการเมืองไทย?
23 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายคนพิการและภาคีร่วมภาคประชาชน ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ และสถาบันปฎิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เวทีประชาชน คนพิการอยู่ไหนในการเมืองไทย” โดยเชิญกลุ่มคนพิการหลากหลายประเภทแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองที่อยากเห็น ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร Student Center มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี กิตติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นผู้ดำเนินรายการ
คนพิการต้องเข้าถึงผู้ช่วยอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ผู้จัดการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล เสนอเรื่องบริการผู้ช่วยคนพิการหรือ Personal assistance (PA) โดยระบุว่า คนพิการทางร่างกายปี 2565 มีจำนวน 1,092,000 คน แต่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ช่วยคนพิการ 1,571 คน เมื่อเฉลี่ยดูแล้วพบว่าผู้ช่วยคนพิการ 1 คนจะต้องดูแลคนพิการ 695 คน ทำให้เห็นภาพว่า จำนวนผู้ช่วยคนพิการไม่เพียงพอกับสถานการณ์ความเป็นจริง เมื่อจำนวนผู้ช่วยคนพิการน้อยก็ทำให้ปัญหายิ่งทวีคูณความรุนแรง เขายกตัวอย่างในจังหวัดนครปฐมทั้งจังหวัดที่มีผู้ช่วยคนพิการอยู่เพียง 7 คน
นอกจากนี้สถานการณ์ของผู้ช่วยคนพิการยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าตอบแทน โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้น อีกทั้งขั้นตอนขอใช้บริการผู้ช่วยคนพิการจากภาครัฐก็มีความซับซ้อนพอสมควร และเข้าถึงยากสำหรับคนพิการรุนแรง
อรรถพลเสนอว่า อาชีพผู้ช่วยคนพิการควรถูกยกระดับให้มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับตามกฎหมาย เป็นแรงงานในระบบที่ได้รับสวัสดิการ มีการเพิ่มค่าตอบแทนที่เหมาะสม ต่อมาคือเรื่องของการลดขั้นตอนการขอบริการและเอกสาร ที่จะทำให้คนพิการเข้าถึงได้มากขึ้น เมื่อคนพิการสามารถเข้าถึงบริการผู้ช่วยคนพิการได้ก็จะลดภาระครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีเวลาพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น และมีเวลาไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังลดแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นกับตัวคนพิการได้
“สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า ควรมีการคัดสรรหรือสรรหาคนที่มีความเข้าอกเข้าใจในประเด็นคนพิการเข้าไปบริหารกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพราะที่ผ่านมาคนพิการล้วนได้แต่สวัสดิการในเชิงสงเคราะห์ ทั้งที่ในระบอบประชาธิปไตย เรื่องเหล่านี้ควรเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนคนพิการควรเข้าถึงได้”
คนหูหนวกต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง
บุญเลิศ ฆนาพรวรกาญจน์ ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เสนอว่า ประเทศไทยควรสร้างการเรียนรู้ให้กับคนพิการในเรื่องกฎหมาย สังคม และการเมืองให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะกับคนหูหนวก นอกจากนี้ยังอยากเห็นคนพิการเข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองและมีบทบาทมากขึ้น
บุญเลิศอยากเห็นคนหูหนวกมีตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว.หรือองค์กรส่วนท้องถิ่น อย่างองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยงานระดับชาติอย่างคณะกรรมาธิการกิจการต่างๆ ภายในรัฐสภา เพื่อส่งเสริมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนหูหนวกให้มากขึ้น
“ผมอยากให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิคนพิการทุกประเภทอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อพัฒนาคนพิการได้อย่างเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น”
อยากเห็นการแก้ปัญหาคนพิการที่โครงสร้าง
ไมตรี คงเรือง เลขาธิการสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนศรีสังวาลย์ เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรคนพิการจะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้จริง แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายที่ระบุว่าคนพิการเรียนฟรี แต่ภาพความเป็นจริงกลับไม่ใช่ เนื่องจากคนพิการไปเรียนไม่ได้ หลายสถานศึกษาก็ไม่รับคนพิการเข้าเรียนเนื่องจากไม่มีทางลาด ไม่มีลิฟต์ ไม่มีเบรลล์บล็อก เขาจึงอยากเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ในประเด็นเรื่องของการจ้างงานคนพิการ ไมตรีเสนอว่า แม้วันนี้จะมีกฎหมายการจ้างงานคนพิการแต่คนพิการก็ยังมีเงื่อนไขในการดำรงชีวิตอยู่ เช่น การเดินทางไปทำงาน ค่าเดินทาง สำหรับเขาแล้วเขาไม่สนใจว่าพรรคการเมืองจะให้เงินคนพิการเท่าไหร่ เพราะอยากได้การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า
“ถ้าคนพิการมีการศึกษาที่ดี ก็จะนำไปสู่การมีคุณภาพงานที่ดี สิ่งนี้คือความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น”
สิทธิคนพิการควรทั่วถึง เป็นธรรมและมีคุณภาพ
ดร.คณิตย์ ฐามณี นักวิชาการด้านการศึกษาของคนพิการ นำเสนอว่านโยบายคนพิการควรทั่วถึง เป็นธรรมและมีคุณภาพ ทั่วถึงในที่นี้ก็คือทั้งเรื่องของประเภทความพิการและเรื่องของพื้นที่ รวมถึงความรุนแรงของความพิการด้วย เช่น การศึกษาของคนพิการรุนแรงที่ถูกผลักออกไปนอกระบบ ทั้งที่คนเหล่านี้ควรถูกรวมเข้ามาอยู่ในการศึกษารวมกับผู้อื่นและได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้อง
ต่อมาเขาตั้งคำถามถึงเรื่องความเป็นธรรม ทำอย่างไรคนพิการจะเข้าถึงการศึกษาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกับคนอื่น ทำอย่างไรให้คนตาบอดสามารถอ่านหนังสือได้และรัฐจะทำอย่างไรให้คนตาบอดเข้าถึงได้มากขึ้น ขณะที่คนหูหนวกจำเป็นต้องใช้ล่ามเพื่อเข้าถึงสื่อ รัฐจะทำอย่างไรให้คนหูหนวกเข้าถึงล่ามได้เพราะทุกวันนี้มีจำนวนล่ามน้อย ส่วนคนนั่งวีลแชร์จะทำอย่างไรให้พวกเขาขึ้นไปเรียนตามอาคารเรียนได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ผลักภาระให้เป็นปัญหาของคนพิการตามลำพัง
สุดท้ายคือการแก้ปัญหาต้องมีคุณภาพและยั่งยืน การศึกษาคือเรื่องที่ต้องทำไปตลอดชีวิตตั้งแต่แรกเกิดที่เผชิญความพิการ ยิ่งช่วยเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสในการพัฒนาทั้งในเรื่องของการศึกษาและคุณภาพชีวิตได้มากเท่านั้น
กฎหมายสิ่งอำนวยความสะดวกดีแล้วแต่ยังไม่ถูกปฏิบัติจริงมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและความเท่าเทียม ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญของไทยระบุว่าสิทธิของทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นคนพิการควรได้รับความเท่าเทียมด้วย วันนี้ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการมากมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่ปัญหาก็คือยังไม่เกิดขึ้นจริง ทางเท้า ป้ายรถเมล์สะพานลอย ก็ยังไม่เอื้ออำนวยให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ยังมีวิถีชีวิตหลายอย่างที่คนพิการไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาและกลุ่มเครือข่ายคนพิการจะต้องผลักดันต่อ
มานิตย์ ระบุว่าวันนี้หากมีพรรคการเมืองไหนสามารถทำเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้นจริงและทำให้คนพิการออกไปใช้ชีวิตได้ ตนก็จะสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น
อยากให้เบี้ยความพิการ 1,000 บาท ถ้วนหน้าก่อนสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ระบุว่า การจ้างงานคนพิการตามกฎหมายโดยภาครัฐ 17,000 ตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนน้อยลง ปีแรก 24% ปีถัดมา 19% จนถึงปัจจุบันมีไม่ถึง 10% นี่เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรทำแต่กลับไม่ทำ เอกชนทำแล้ว 90% ทุกปี จึงอยากให้พรรคการเมืองที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาลผลักดันเรื่องนี้
เรื่องต่อมาที่เขาอยากเสนอคือเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาล วันนี้คนพิการหลายคนต้องไปซื้อจากพ่อค้าคนกลาง จึงอยากเสนอว่าเมื่อรัฐไม่จ้างงานคนพิการก็ขอให้เปลี่ยนเป็นโควต้าสลากได้หรือไม่ เพื่อให้คนพิการสามารถนำไปเป็นทุนในการค้าขายและมองว่าการค้าสลากเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับคนพิการ
ในเรื่องของเบี้ยความพิการ เขาเห็นหลายพรรคการเมืองเสนอตัวเลข 3,000 บาทซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยอยากเสนอให้ปรับเบี้ยความพิการเป็นถ้วนหน้า 1,000 บาททุกคนก่อน เพราะเรียกร้องมา 4-5 ปีแล้วก็ยังไม่ได้
สุดท้ายคือเรื่องของการศึกษา เขาแลกเปลี่ยนว่า วันนี้คนพิการก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ อยากเห็นระบบที่คล้ายกับการจ้างงานคนพิการ คือจัดให้เป็นโควต้า มีนักศึกษา 100 คนต้องรับคนพิการ 1 คน มหาวิทยาลัยและหน่วยงานการศึกษาต่างๆ จะได้บรรจุคนพิการเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย วันนี้ลูกของเขาก็เพิ่งถูกมหาวิทยาลัยปฏิเสธ เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เข้าถึงได้
นโยบายควรคิดโดยคนพิการเพื่อคนพิการผศ.ดร. อรุณี ลิ้มมณี นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กสตรี เสนอว่าวันนี้ผู้หญิงพิการเข้าไปมีบทบาทในสังคมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือคนขับเคลื่อนนโยบาย เป็นผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เป็นนักวิชาการ และเป็นได้อีกหลายอย่างนอกเหนือบทบาทเป็นภรรยาและเป็นแม่อย่างที่หลายคนพยายามจำกัดบทบาท ฉะนั้นการนึกถึงทุกคนจึงสำคัญ
อรุณีเป็นประธานฝ่ายเด็ก สตรี ในสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย จึงได้เห็นว่าผู้หญิงพิการเป็นกลุ่มด้อยโอกาสในด้อยโอกาส ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ชายพิการมีโอกาสที่มากกว่ากลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่มผู้หญิงเธอจึงอยากเห็นพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
สิ่งที่คนพิการเข้าไม่ถึงคือเรื่องของนโยบาย หลายนโยบายไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการจริงๆ สาเหตุมาจากคนพิการไม่ได้มีบทบาทในการทำนโยบาย ฉะนั้นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการควรมาจากคนพิการจริงๆ
2 ประเด็นสุดท้ายที่อยากขอฝาก อย่างแรกเธอตั้งคำถามเรื่องการเรียนรวม ทำไมเด็กพิการจึงต้องถูกแยกไปอยู่สถานสงเคราะห์หรือศูนย์เด็กพิการ ส่วนอีกเรื่องคือเบี้ยความพิการที่วันนี้รัฐแจกให้เฉพาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือต้องมีบัตรประชารัฐซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไม่ทั่วถึง ก็ควรปรับให้ถ้วนหน้า
“ถึงเราจะไม่ได้เป็นเมียใครหรือเป็นแม่ใครแต่เราก็มีคุณค่า”
inclusive Society
วิจิตรา รชตะนันทิกุล นักวิชาการด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า คนพิการก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งที่อยู่ในสังคม เพียงแต่มีข้อจำกัดจากสภาพทางร่างกายและสภาพแวดล้อม เธอสรุปประเด็นข้อเสนอของคนพิการในวันนี้ว่า Inclusive equality หรือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม เห็นว่าคนพิการไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ แต่ต้องการโอกาสและศักดิ์ศรี รวมถึงคุณค่าของตัวเอง
วิจิตราเสนอว่าการเสริมพลังเป็นสิ่งที่สำคัญ คือการเสริมสร้างคนพิการด้วยอาชีพและการมีงานทำ เราจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมคนพิการให้กลายเป็นผู้ประกอบการเชิงสังคม พึ่งพาและเลี้ยงดูตัวเองได้ และนำรายได้เหล่านั้นกลับไปสู่การพัฒนาสังคม ถ้าพรรคการเมืองสนับสนุนคนพิการก็สามารถพึ่งพาตัวเองได้
ต่อมาคือการเฝ้าระวังเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การกระทำความรุนแรงและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย เราทุกคนและทุกพรรคการเมืองต้องช่วยกัน โดยสร้างชุมชนและพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัวและคนพิการ เธอเสนอให้ พรรคการเมืองปรับปรุง ปฏิรูปมาตรการกลไกในการคุ้มครอง และเฝ้าระวังคนพิการในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการร้องทุกข์ร้องเรียนกล่าวโทษ การฟื้นฟูเยียวยาและการช่วยเหลือจากทุกภาคีและทุกภาคส่วน
ข้อเสนอสุดท้ายคือเรื่องของ inclusive Society หรือเรื่องของการปฏิรูปสังคม รัฐบาลก่อนเคยเสนอเรื่องของการปฏิรูปสังคมไว้ 5 ประเด็น ประเด็นที่ 1. คือเรื่องการขึ้นทะเบียนคนพิการ ที่จำนวนคนพิการในความเป็นจริงมีมากกว่า 2 ล้านคนเราจะทำอย่างไรให้เข้าถึง ประเด็นที่ 2. คือเรื่องกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เราจะทำอย่างไรให้การใช้เงินในกองทุนเกิดประโยชน์สูงสุด ประเด็นที่ 3. คือเรื่องของการจ้างงานคนพิการ ทำอย่างไรจะให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เรื่องที่ 4. คือสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางรวมถึงเทคโนโลยี สุดท้ายคือเรื่องของการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม คือควรคำนึงให้ครบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็กสตรีและผู้ด้อยโอกาส อยากให้มีสัดส่วนเป็น 2% ของ GDP
Socialรายงานพิเศษคุณภาพชีวิตการเมืองเศรษฐกิจสิทธิมนุษยชนเสวนาชีวิตคนพิการเป็นยังไงในเรือนจำ คุยกับ ภัทราพร จันทร์เจริญ นักสังคมสงเคราะห์
“ปัญหาใหญ่ของเราคือการเป็นคนพิการทำให้หางานยาก ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่อยากจ้าง นายจ้างดูอย่างไรก็ไม่คุ้ม หรือแม้อยากรับคนพิการ แต่พอมีประวัติเขาก็ไม่อยากรับ เราจึงเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่เขาเลือก
“พอไม่มีเงินใช้ เรื่องนี้ (ยาเสพติด) ก็แว็บขึ้นมาในหัวเลย ถึงเราพยายามไปทางอื่น พยายามออกห่างจากมัน แต่ไม่สำเร็จ พอถึงจุดๆ นึง ก็ต้องวกกลับเข้ามาในวงการยาเสพติดอีก” - ผู้ต้องขังพิการคดียาเสพติดเล่าให้ฟังผ่านรายการ “The Second Wall กำแพงที่ 2” ซึ่งบอกเล่าถึงชีวิตผู้ต้องขังพิการรายหนึ่งที่เผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ เขาเคยต้องโทษคดียาเสพติดมาก่อน หลังรับโทษเขากลับมาประกอบสัมมาชีพเช่นสามัญชนทั่วไป จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุทำให้กลายเป็นคนพิการ หางานไม่ได้ สุดท้ายจึงหันหลังกลับสู่วงการยาเสพติดอีกครั้ง
สำหรับสังคมไทย คนพิการกับปัญหาเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป (และแน่นอนว่าคนไม่พิการหลายคนก็เผชิญเช่นเดียวกัน) นอกจากนี้คนพิการยังเผชิญกับหน้าฉากปัญหาอีกหลายด้าน ทั้งปัญหาเรื่องการเข้าถึงระบบการศึกษา การเข้าถึงอาชีพและค่าแรงที่เป็นธรรม การเข้าถึงกายอุปกรณ์รวมถึงบริการสาธารณสุขที่ยังไม่ครอบคลุม หรือเบี้ยความพิการ 800 บาทที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพจริง
และอีกหลากหลายสาเหตุปัจจัยทางสังคมที่ล้วนผลักคนพิการเข้าสู่วงการยาเสพติด และงานผิดกฎหมายอื่นๆ จนอาจกลายเป็นผู้พลาดพลั้งทำสิ่งผิดกฏหมายและกลายเป็นผู้ต้องขังในที่สุด
คำถามถัดมาคือเมื่อคุณเป็นผู้ต้องขังพิการ คุณจะอยู่ในเรือนจำได้อย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน เมื่อเดิมทีการดำรงชีวิตก็เต็มไปด้วยอุปสรรคอยู่แล้ว การอยู่หลังกำแพงซึ่งปิดกั้นซึ่งอิสรภาพบวกกับความพิการอาจกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าพิการซ้ำซ้อนได้อย่างเต็มปาก
จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์เมื่อปี 2565 จากจำนวนผู้ต้องขังกว่าสามแสนราย มีอย่างน้อย 3,000 คนเป็นผู้ต้องขังพิการ หรือคิดเป็นหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด คำถามคือเขาอยู่กันอย่างไร มีชีวิตแบบไหน มีสิ่งอำนวยความสะดวกบ้างหรือเปล่า ความสงสัยนี้นำไปสู่การพูดคุยกับเอม - ภัทราพร จันทร์เจริญ นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ เธอเป็นคนทำวิจัยเรื่อง การเข้าถึงและใช้ประโยชน์สวัสดิการสำหรับผู้ต้องขังพิการ: กรณีศึกษาเขตบริหารเรือนจำ เขต 10 (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี) คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับคนพิการในหลากหลายเรือนจำ
หน้าที่หลักของเอม เธอดูแลกลุ่มผู้ต้องขังพิเศษ ทั้งผู้ต้องขังพิการ, ผู้สูงอายุ เด็กติดผู้ต้องขัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังติดเชื้อ HIV, และผู้ต้องขังไม่มีญาติ เธอย้ำกับเราว่า แม้ผู้ต้องขังจะรับโทษทางกฏหมาย แต่ความพิการทางร่างกายสมควรได้รับสิทธิอื่นในฐานะคนพิการดังเช่นคนพิการคนอื่นทั่วไป เพราะนี่ไม่ใช่การลงโทษซ้ำซ้อน ชวนเดินเข้าไปในรั้วเรือนจำเพื่อคุยกับเธอถึงชีวิตและสิทธิของผู้ต้องขังคนพิการ
ผู้ต้องขังพิการอยู่ส่วนไหนของเรือนจำภัทราพร: ของทัณฑสถานฯ หากมีบัตรคนพิการจะอยู่ที่สถานพยาบาลและเรือนนอนสำหรับผู้ต้องขังพิการและสูงอายุ (เรือนนอนเพทาย) ส่วนคนที่ไม่มีบัตรคนพิการจะอยู่ตามแต่ละเรือนนอน โดยในแต่ละเรือนนอนมีอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือ อสรจ..(อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ) คอยดูแลอยู่ตลอด
ตอนนี้ทางเราผลักดันให้เป็นอารยสถาปัตย์หรือ Universal design ที่ปรับสภาพแวดล้อมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย เช่น สมัยก่อนห้องน้ำจะเป็นส้วมนั่งยอง ตอนนี้ปรับเป็นส้วมเป็นแบบนั่งราบ มีอิฐบล็อกปิด และมีราวจับไว้สำหรับพยุงตัว เราเน้นเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เช่น ราวจับและทางลาดต่างๆ เพื่อปรับให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่เจาะจงเฉพาะแค่คนพิการ
จำนวนผู้ต้องขังพิการในแต่ละปีเป็นอย่างไรในทุกๆ เดือน เราจะต้องมีการรายงานจำนวนผู้ต้องขังพิการ ประเภทความพิการให้กับทางกรมราชทัณฑ์เป็นประจำ เพื่อดำเนินการจัดโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูและจัดสรรสวัสดิการให้กับคนพิการทุกๆ ปี โดยปีนี้เรามีคนพิการประมาณ 30 คน โดยในการจัดสวัสดิการของเราไม่มองว่าเป็นสัญชาติใด แต่มองความพิการของผู้ต้องขัง
ผู้ต้องขังพิการส่วนใหญ่สามารถดูแลตัวเองได้ มีนั่งรถเข็นไม่กี่คน หลายคนมีขาเทียมมาอยู่แล้ว สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ แต่ในส่วนของคนพิการจะได้รับสวัสดิการและการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับคนพิการ
คนพิการที่อยู่ภายในทัณฑสสถานฯ จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือ อสรจ. คอยดูแล ซึ่ง อสรจ. เป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมนี้จะเป็นผู้มีความรู้และทักษะพื้นฐานด้านสุขภาพ ครอบคลุมในการเฝ้าระวัง ควบคุม สนับสนุนการรักษา การป้องกันโรคติดต่อ และปัญหาสุขภาพ การอบรมดังกล่าวอิงจากหลักสูตรการฝึกอบรมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และมีเพื่อนผู้ต้องขังที่คอยช่วยกันดูแลอีกทางหนึ่ง
ส่วนกลุ่มที่เป็นคนพิการรุนแรงก็จะให้อยู่ที่สถานพยาบาล ทางนั้นจะมีอาสาสมัครคอยดูแล ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ได้รับการอบรมเรื่องสาธารณสุข ลักษณะคล้ายผู้ช่วยคนพิการ ดูแลทั้งเรื่องการเดิน การลุก และยังมีเพื่อนผู้ต้องขังช่วยกันดูแลกันและกัน
ทำไมจึงมีความสนใจเรื่องผู้ต้องขังพิการเริ่มมาจากที่เราทำงานคลุกคลีกับคนพิการมาตลอดและมองเห็นถึงปัญหาของการอยู่รวมกันของผู้พิการในพื้นที่ที่ถูกล้อมลวดหนาม พื้นที่ที่ถูกจำกัด และจำนวนคนที่มากเกินไป จนเกิดความสงสัยว่าพวกเขาจะอยู่กันได้ไหม อยู่กันยังไง จะรู้ไหมว่าตัวเองมีสวัสดิการอะไรบ้าง บางคนถูกจับด้วยคดียาและลักทรัพย์ ซึ่งจริงแล้วๆ ปัญหาอาจเกิดจากที่เขาไม่รู้ว่าตัวเองมีสวัสดิการหรือไม่ จึงทำให้พวกเขาหมดหนทางและไปทำความผิด
ผู้ต้องขังพิการก็คล้ายกับผู้ตัองขังส่วนใหญ่ที่ถูกจับด้วยคดียาเสพติด ขณะที่บางคนโดนคดีลักทรัพย์
อะไรคือสิ่งที่ผู้ต้องขังพิการเรียกร้องเขาเรียกร้องให้มีการอบรมเรื่องสิทธิคนพิการ อย่างเรื่องบัตรคนพิการ เพราะบางคนเข้ามาไม่มีบัตร ไม่รู้เลยว่าถ้าเป็นคนพิการต้องไปทำบัตร หรือพอมีบัตรคนพิการแล้วสามารถไปทำอะไรได้บ้าง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้ แต่สำหรับคนพิการบางคนที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ เราต้องติดตามญาติ ตามหาเอกสารต่างๆ เพื่อใช้สำหรับทำบัตรคนพิการ หากดำเนินการเรียบร้อยก็จะสามารถได้รับเบี้ยคนพิการ ในแต่ละปีทางเรามีการสำรวจข้อมูลคนพิการสำหรับจัดทำบัตร เมื่อเรียบร้อยแล้วจะประสานงานไปที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูศักยภาพคนพิการเพื่อทำกายอุปกรณ์
แต่ปัญหาคือสิทธิเหล่านี้ให้เฉพาะคนไทยและต้องมีบัตรคนพิการ คนที่ไม่มีบัตรและต่างชาติจะไม่ได้รับสิทธิ เช่น กายอุปกรณ์ ดังนั้นเราต้องหาทรัพยากรต่างๆ มาให้กับเขา ซึ่งขอความอนุเคราะห์ไปยังศูนย์คนพิการเพื่อขออุปกรณ์มา ซึ่งใช้ระยะเวลาพอสมควร บางคนจำเป็นต้องใช้รถเข็น walker หรือ ไม้เท้า ทางเรามีให้ยืม สำหรับเรามองว่า เราพยายามจัดสรรทรัพยากรต่างๆ เพื่อเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ถูกจำกัดร่วมกับคนอื่นได้ตามปกติ โดยไม่ให้รู้สึกว่าความพิการเป็นอุปสรรคกับเขา
ปัญหาเรื่องการรับรู้สิทธิจากที่รับรู้ว่าคนพิการมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ จึงได้ให้ข้อเสนอแนะในวิทยานิพนธ์ไว้ว่า ควรมีการเสริมชุดความรู้ในด้านดังกล่าวให้กับคนพิการ เพราะเมื่อเขาอยู่กับเรา เราสามารถที่จะเข้าถึงเขาได้ และสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของเขา การได้ให้ความรู้ทำให้เราสามารถเตรียมความพร้อมให้เขามีชุดความรู้ดังกล่าวไว้ และเมื่อวันนี้เขาออกไปสู่สังคมอีกครั้งหวังให้สามารถไปใช้ประโยชน์ในความรู้นี้ไม่มากก็น้อย หลายๆ กิจกรรมเป็นสิ่งที่คนพิการเสนอกันเอง บางคนเคลื่อนไหวยากบอกให้จัดหมากรุกให้หน่อย ข้างในจะมีกิจกรรมอยู่ตลอดโดยที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ เช่น การจัดกิจกรรมร้องเพลง การทำดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น
แล้วมีกลุ่มความพิการอื่นบ้างไหม นอกจากกลุ่มพิการทางร่างกายมีแต่น้อยมาก มีคนพิการทางการได้ยิน (หูหนวก) สมมติมีคนหูหนวกเพิ่งเข้ามาใหม่ จะมีการให้คำแนะนำต่างๆ หาคนที่สามารถสื่อสารภาษามือมาคุย และเพื่อนๆ จะพยายามสื่อสาร พาไปกินข้าว สิ่งเหล่านี้จะรู้ตั้งแต่สอบประวัติตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาภายใน ปัจจุบันล่ามภาษามือที่เฉพาะทางด้านในยังไม่มี ยกเว้นกรณีขึ้นศาลที่สามารถร้องขอได้ แต่คนข้างในก็พยายามหาวิธีคุยกันเป็นภาษามือกับเขา
ส่วนคนพิการทางจิตใจ (จิตเวช) ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาจากข้างนอก กรณีที่ต้องโทษและจำเป็นต้องรักษาตัว จึงขึั้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในการให้ไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เมื่อพร้อมศาลจะส่งตัวกลับมาควบคุมภายในต่อไป โดยในกลุ่มพิการทางจิตใจและพฤติกรรมจะมีจิตแพทย์เข้ามารักษาภายในทัณฑสถานฯ อยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ไม่เพียงแต่ผู้ต้องขังจิตเวชที่จะสามารถปรึกษาจิตแพทย์ หากแต่ผู้ต้องขังอื่นๆ สามารถที่จะพบจิตแพทย์ได้เช่นกัน
นอกจากเรื่องด้านสุขภาพ เรื่องกายอุปกรณ์ เรื่องการเสริมชุดความรู้ ที่พอจะเข้าถึงได้แล้ว จากการศึกษาพบว่ายังคงมีด้านกระบวนการยุติธรรมที่ยังมีปัญหา ทั้งเรื่องการขอล่ามภาษามือ และปัญหาการไม่รู้เข้าถึงสิทธิในการขอล่ามภาษามือ
เมื่อคนพิการได้สิทธิมากกว่าคนอื่น ถูกมองไม่ดีหรือไม่ไม่เลย เพราะมองว่าแต่ละคนมีความเข้าใจและสามารถอยู่กับได้ ช่วยเหลือพึ่งพากัน การให้สวัสดิการต่างๆ นั้น โดยทั่วไปผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับเท่ากันหมด แต่กลุ่มผู้ต้องขังพิเศษที่กล่าวไปข้างต้น กรมราชทัณฑ์มีการจัดสรรสวัสดิการให้เฉพาะกลุ่มเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับการจัดสวัสดิการอย่างเหมาะสมและเฉพาะทางกลุ่มนั้นๆ
แนวโน้มเรื่องสิทธิและสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคตจะเป็นอย่างไรปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นแนวโน้มเรื่องสิทธิและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เราพยายามและให้ความสำคัญเพื่อว่าเมื่อเขามีสภาพกายใจที่พร้อม เขาก็จะพร้อมที่จะเข้ารับการแก้ไขพัฒนาอย่างเต็มที่
จะเห็นว่ามีการจัดสรรงบประมาณมาเป็นประจำ โดยให้แต่ละเรือนจำ/ทัณฑสถานปรับใช้งบประมาณให้เหมาะสมบริบทพื้นที่ของตนเอง เช่น บางแห่งมีความจำเป็นต้องใช้ไม้เท้าก็สามารถจัดซื้อไม้เท้าไว้ บางแห่งไม่มีราวจับก็สามารถจัดสรรเองได้วันนี้มุมมองได้เปลี่ยนไป การพยายามทำให้พื้นที่ที่มีจำกัดสามารถให้ทุกคนเข้าถึงและอยู่ร่วมกันให้ได้ สามารถเข้าถึงสิทธิของตนเอง และมองว่าเป็นสิทธิที่พวกเขาควรได้จริงๆ
ท้ายที่สุด ขณะที่เขายังอยู่กับเราได้พัฒนาและแก้ไขพฤตินิสัยของเขาเท่าที่จะทำได้ การเสริมพลังและการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะพ้นโทษทั้งทางด้านกาย จิต และสังคม และการให้ทราบแหล่งสนับสนุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพ ด้านความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัยต่างๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ภายหลังพ้นโทษโดยที่ไม่มีเราแล้ว ซึ่งจะทำให้เขาทราบว่าตัวเขาเองไม่จำเป็นต้องหวนกลับมากระทำผิดอีก และจริงๆ แล้วมีหน่วยงานต่างๆ ที่คอยช่วยเหลือ เพื่อให้เขาสามารถกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพอีกครั้ง
Socialสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตการเมืองสิทธิมนุษยชนเรือนจำภัทราพร จันทร์เจริญนักสังคมสงเคราะห์วีลแชร์ผจญภัยสะพานลอยรังสิต
Socialรายงานพิเศษคุณภาพชีวิตการเมืองศิลป-วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนวีลแชร์รังสิต
ตะลุยแบบเสี่ยงตุย ข้ามแยกห้วยขวาง
Socialรายงานพิเศษคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจสิทธิมนุษยชนห้วยขวางวีลแชร์การเดินทางด
‘เพราะสโตรคไม่เลือกเวลาเกิดและอายุ’ : พรพัชรา ค่ำคูณ เจ้าของเพจบันทึกป้าหอยทาก : Stroke สาย Strong
โรคหลอดเลือดสมองหรือเรียกสั้นๆ ว่า สโตรค เป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของการเสียชีวิต และอันดับ 3 ของความพิการจากการสำรวจทั่วโลกในปี 2562 (https://pr.moph.go.th/print.php?url=pr/print/2/02/180623/) ถึงแม้ว่าสถิติจะเป็น ผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่ และเวลามีความหมายกับชีวิตผู้ป่วยชนิดที่ว่ารักษาช้าแค่ 1 นาทีหลังจากมีอาการก็ทำให้เซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ แต่โรคนี้ก็อาจเกิดกับคนที่อายุไม่มากเช่นกัน
Thisable.me ชวนคุยกับตุ้ย—พรพัชรา ค่ำคูณ เจ้าของเพจบันทึกป้าหอยทาก : Stroke สาย Strong ย้อนอดีตเล่าเรื่องราวตอนที่ได้รู้จักกับโรคนี้ครั้งแรกเมื่ออายุเพิ่งก้าวเข้าสู่เลข 3 ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสโตรค เวลา และความพิการมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง
วันที่รู้จักกับสโตรคครั้งแรก
พรพัชรา: ย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีก่อน เราไม่เคยรู้จักโรคนี้เลย จนวันหนึ่งนอนอ่านหนังสือ แล้วเผลอหลับไป พอตื่นขึ้นมารู้สึกปวดหัวจี๊ดเลยจะลุกไปเอายาพารา แต่พอลุกแล้วรู้สึกชาที่แขนไล่ลงไปยังขาและรู้สึกไม่ค่อยมีแรง หลังจากนั้นก็โทรหาเพื่อนแต่เพื่อนไม่รับสาย ก็โทรไปหารุ่นน้องที่สนิทกันแล้วเล่าอาการให้ฟังและถามความเห็นว่า ควรทำอย่างไรดี รุ่นน้องก็ตอบว่า รอดูอาการถึงตอนเช้าก่อนไหม แต่เรามองว่า อาการไม่ปกติจึงให้ยามที่อพาร์ทเมนต์เรียกแท็กซี่ไปส่งที่โรงพยาบาลเอกชน หมอแผนกฉุกเฉินเช็คการรับรู้ความรู้สึก แล้วถามว่า รู้สึกไหม เราตอบไม่ได้เลยว่ารู้สึกหรือไม่ หมอจึงส่งไป CT Scan แล้วเจอรอยเลือดแตกที่สมอง พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็งงว่าเป็นได้อย่างไร ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง
หลังจากนั้นหมอห้องฉุกเฉินปรึกษากับหมอเฉพาะทางและให้ยามาทาน ตอนนั้นร่างกายซีกหนึ่งปวกเปียก ไม่มีแรงยกแขน ยกขาเลย ผิดกับอีกด้านหนึ่งที่รู้สึกมีแรง ตอนนั้นก็คิดว่า เราจะตายไหมวะ และก็ทบทวนว่า ถ้าต้องตาย ยังมีสิ่งอะไรที่ค้างคาใจหลงเหลืออยู่ไหม แต่อีก 2-3 วินาทีต่อมา เราก็คิดได้ว่า เป็นแค่ข้างเดียว อีกข้างหนึ่งยังไม่เป็นไร มึงยังไม่ตายหรอก แต่จะเป็นมากน้อยแค่ไหน จะใช้ชีวิตอย่างไรยังไม่รู้
ตอนอยู่โรงพยาบาล เราเข้าใจว่า ตัวเองสามารถสื่อสารได้ปกติ แต่เราใช้ภาษาไทยสื่อสารพูดคุยกับคนอื่นไม่ได้และใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารแทน นอกจากนี้ยังเรียกชื่อคนที่มาเยี่ยมผิด ซึ่งเรียกเป็นชื่อเพื่อนสมัยประถมหมดเลย คนมาเยี่ยมก็งงแต่ไม่มีใครทักเพราะกลัวเรากังวล เป็นอย่างนี้ 2-3 วัน แล้วอาการก็เริ่มดีขึ้น หมอเรียกแก๊งเพื่อน 3 คนที่มาเฝ้าประจำมาดูรูปสมองและอธิบายสิ่งที่เราเป็นว่า เป็นความผิดปกติเซลล์สมอง (Cavernoma) ตั้งแต่กำเนิด เส้นเลือดตรงที่เป็นกระเปาะๆ เพิ่งมาแตกตอนโต บางคนก็มีความผิดปกติแต่ไม่เป็นอะไรเลยจนตายก็มี บริเวณที่มีรอยเลือดแตกของเราอยู่ใกล้กับประสาทการสื่อสาร ถ้าไปโดนทำให้มีปัญหาการสื่อสารและฟื้นฟูยากมาก แต่รอยเลือดเล็กมีขนาดลง จนไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแล้ว
กลับบ้านมากายภาพบ้านเราที่ขอนแก่นอยู่ต่างอำเภอ ซึ่งโรงพยาบาลประจำอำเภอไม่มีหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูเหมือนในตัวจังหวัดหรือกรุงเทพฯ แต่ที่นี่ก็มีแผนกกายภาพ จึงได้ฝึกอาทิตย์ละครั้ง แต่เรารู้สึกว่าน้อยไป อยากฝึกอย่างต่อเนื่อง จนได้นักกายภาพ ซึ่งน้องนักกายภาพแนะนำให้ฝึกเดินในน้ำ (Aquatherapy) เพราะว่า การฝึกเดินในน้ำช่วยให้ก้าวเดินได้ง่ายขึ้น ถึงล้มก็ไม่เป็นไรเพราะมีแรงพยุงจากน้ำช่วยดึงตัวไว้ แล้วยังได้ออกกำลังกายในส่วนที่ทำได้ยากบนบก เราก็โอเค ช่วงนั้นก็มีโปรแกรมฝึกทั้งบนบกและในน้ำ ร่วมกับนวดแผนไทยประคบร้อน สลับกับการทำกายภาพควบคู่กันไปซึ่งช่วยได้ดี
นอกจากทำกายภาพแล้ว เขายังเข้าใจคนไข้ว่า การอยู่เฉยๆ น่าเบื่อ จึงชวนเราไปกายภาพนอกสถานที่ แต่ละที่ก็ต้องใช้วิธีการฝึกเดินที่ต่างกัน ตอนนั้นใช้เวลาฟื้นฟู 3 เดือนก็ดีขึ้น จึงกลับมาทำงาน น้องเขาทิ้งท้ายไว้ว่า ต้องทำกายภาพต่อเนื่อง แต่เราไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องทำต่อเนื่อง คิดว่า รักษาหายแล้วก็หายเลย
เส้นเลือดในสมองแตกครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3หมอเห็นเราเดินได้ดีขึ้น รอยเลือดเล็กลง แต่ก็บอกว่าต้องมาติดตามอาการอยู่เรื่อยๆ เพราะอีกประมาณ 15 ปี อาจจะเกิดขึ้นได้อีก แต่ตอนนี้ไม่น่าเกิดขึ้นแล้ว หมอถามว่า มีข้อสงสัยอะไรไหม คำถามแรกที่ถามหมอคือ หมอคะ กินเหล้าได้ไหม (หัวเราะ) เพราะสมัยก่อนเราเป็นคนชอบเที่ยว หมอตอบว่า กินได้แต่ไม่อยากให้กิน เพราะกลัวเมาแล้วลื่นล้ม อาจจะเป็นซ้ำได้ แล้วเราถามกลับว่ากินอะไรได้บ้าง หมอตอบว่ากินได้ตามปกติ แต่อย่ากินอาหารมันๆ เค็มๆ บ่อย
พฤศจิกายน 2559 เราเป็นสโตรคครบ 1 ปี ช่วงนั้นเราไปเที่ยวเขาค้อกับแม่และเพื่อน พอกลับมา เริ่มมีความรู้สึกแปลกๆ เลยคุยกับเพื่อนว่า วันมะรืนพาไปสถาบันประสาทได้ไหม เพราะพรุ่งนี้มีอบรมยังไปไม่ได้ แต่ระหว่างอบรมเรารู้สึกว่ามือขวาอ่อนแรง จับปากกาเขียนหนังสือและจับช้อนส้อมไม่ได้แล้ว เริ่มทรงตัวไม่คอยอยู่ เดินเซ แต่ว่ายังไม่ได้บอกใครจนอบรมเสร็จ บอกให้เพื่อนไปส่งที่โรงพยาบาลเดิม มาถึงหมอให้ทำ CT Scan ปรากฏว่า เกิดซ้ำ หมอให้แอดมิทเลย หมอก็รู้สึกว่าแปลกจัง ตอนแรกคิดว่า 15 ปีถึงจะเป็นอีก แต่ปีต่อมากลับเป็นเลย ซึ่งในทางการแพทย์ ถ้าเกิดการแตกครั้งที่ 2 ก็จะมีการแตกครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 ยิ่งโอกาสเกิดถี่ขึ้นก็จะส่งผลกระทบเยอะขึ้น หมอพยายามหาวิธีรักษาโดยที่ไม่ต้องผ่าตัด เช่น การใช้รังสีเพื่อหยุดการไหลของเลือด หลังจากได้เอาฟิล์มให้หมอที่โรงเรียนแพทย์ดู หมอบอกว่าทำไม่ได้แล้ว เพราะเป็นวิธีการรักษาแบบเก่าหยุดเลือดไม่ให้ไหล แต่ใช้ตอนนี้ไม่ทันแล้ว หากดูจากฟิล์มจะพบว่า เส้นเลือดจะค่อยๆ แตกไปเรื่อยๆ จนเรานอนติดเตียงในที่สุด วิธีที่รักษาได้คือต้องผ่าตัดออก แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร อาจจะดีหรือแย่กว่าเดิมก็ได้ พอคุยกับหมอเสร็จ เรากับแม่ก็นั่งแท็กซี่ออกมาและไม่พูดไม่จากันเลย จนแม่เอ่ยปากบอกว่า ให้เราตัดสินใจ และผลเป็นอย่างไรก็ต้องรับ หากผลผ่าตัดไม่โอเคก็แค่อยู่กับแม่ที่บ้านเท่านั้นเอง
หลังจากนั้นเราก็ลังเลว่าจะผ่าตัดที่ไหน สุดท้ายตัดสินใจผ่าตัดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หมอที่โรงพยาบาลบอกว่า จุดที่จะผ่าเป็นจุดที่อันตรายจริงๆ แต่ก็ผ่าตัดได้ ตอนแรกหมอวางแผนผ่าตัดแบบรู้สึกตัว เพื่อดูว่าเรารู้สึกอ่อนแรงไหมหรือหากอาการไม่ดีจะได้หยุดผ่าตัด แต่พอรอยเลือดเล็กลงก็ไม่ต้องผ่าตัดแบบรู้สึกตัว ก็รู้สึกดีขึ้นหน่อย
พอจะได้คิวผ่าเราก็ดึงเช็งไม่ยอมคอนเฟิร์ม มองว่าถ้าผ่าตัดตอนนี้ต้องลางานเยอะ ผลการประเมินก็จะออกมาไม่ดี ถ้าผ่าตัดสักปลายปี ก็อาจได้ทำงานอีกหน่อย ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เราควรให้ความสำคัญกับร่างกายมากกว่า เพราะเดือนเมษายนเส้นเลือดในสมองก็แตกอีกรอบ อาการก็เริ่มแย่ลง เดินช้าลง เวลาเดินต้องหาอะไรเกาะ และเริ่มอ่อนแรงลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด มือเริ่มแข็ง เริ่มเกร็ง พอแตกรอบที่ 3 เราก็ไปหาหมอว่า อาการแย่ลงแล้ว จะได้คิวเมื่อไหร่ หมอก็บอกคร่าวๆ น่าจะประมาณเดือนมิถุนายน ถ้าได้คิวจะมีคนโทรมาคอนเฟิร์ม แต่พอถึงเดือนมิถุนายนก็ยังไม่มีสายจากโรงพยาบาลสักที อาการเราก็ทรุดลงทุกวัน แม่ก็เป็นห่วง กระทั่งเดือนกรกฎาคมเขาโทรมาว่าได้คิวผ่าตัดแล้ว ทุกคนดีใจกันมาก
ทุ่มพละกำลังกายภาพหลังผ่าตัด 6 เดือนหลังจากผ่าตัดประมาณ 6 เดือนเป็นระยะเวลาที่ได้ผลดีที่สุดในการฟื้นฟูสมองและร่างกาย (Golden Period) ช่วงนั้นทำกายภาพอย่างหนัก บางคนเข้าใจว่า เวลาทำกายภาพต้องมีนักกายภาพเท่านั้นถึงจะฟื้นฟูร่างกายได้สำเร็จ แต่ตามจริงนักกายภาพมีหน้าที่เป็นเหมือนเทรนเนอร์ เขามีหน้าที่ไกด์ไลน์ ดูว่าเราทำได้หรือยัง ต้องฟื้นฟูตรงจุดไหนก่อน ส่วนเราต้องเป็นคนทำเอง เราทำกายภาพฟื้นฟูที่โรงพยาบาลเอกชนประมาณครึ่งเดือน หลังจากนั้นกลับบ้านที่ขอนแก่น ก็ทำกายภาพนวด และฝังเข็มโดยแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อลดอาการเกร็ง
กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้งระหว่างที่กายภาพ เราก็คิดว่าจะฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้แค่ไหน จะกลับไปทำงานได้ไหม เพราะครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งแรกที่ 3 เดือนก็กลับมาทำงาน ใช้ชีวิตเองได้ จนกระทั่งมาหาหมอ เพื่อติดตามอาการที่กรุงเทพ แล้วนัดไปกินข้าวกับหัวหน้า หัวหน้าก็บอกว่า มือขวาใช้ไม่ได้ก็ใช้มือซ้ายสิ สมองเรายังใช้ได้อยู่ พอได้คุยกับหัวหน้ารู้สึกเบาใจขึ้นนิดนึง แต่ยังกลัวที่จะกลับไปทำงาน สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับไปและบอกกับที่บ้าน พอได้ยินอย่างนั้น คุณตาก็เดินเข้ามาคุยด้วย ถามว่าจะกลับไปทำงานทำไม เดี๋ยวเขาก็ไล่ออก ใช้มือข้างเดียวทำงานไม่ได้หรอก คนสมัยก่อนคิดว่าต้องใช้สองมือในการทำงาน เขาไม่รู้ว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ตาเป็นห่วงแต่คิดแบบคนรุ่นเก่า จึงไม่สามารถใช้ถ้อยคำแสดงความเป็นห่วงโดยใช้คำพูดไม่ให้เรารู้สึกสะเทือนใจได้ ต่างจากเพื่อนแถวบ้านที่สอนพูดภาษาอังกฤษพยายามให้กำลังใจสุดฤทธิ์ ให้ไม่ต้องสนใจคำพูดอะไรทั้งนั้น เราจำคำพูดเพื่อนเรามา แล้วบอกกับตัวเองว่า เราจะเป็นแบบนั้นให้ได้
พอกลับมาทำงาน เรารู้สึกว่าทำอะไรแล้วช้า แตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างชัดเจน จนมีคนแซวว่า ‘โอ้ย เขาประชุมเสร็จแล้วเนี่ยเพิ่งมาถึงหรอ’ ตอนนั้นน้ำตาตก ร้องไห้กลางที่ประชุม จนประชุมเสร็จแล้วเขาก็มาขอโทษ หรือมีประชุมที่อื่น ซึ่งเขาไม่รู้ว่าอะไรเกิดกับเรา พอเห็นเราพูดว่า ‘โห น้องสภาพนี้กลับบ้านไปนอนดีกว่ามั้ง’ เราก็ตอบกลับว่า ‘หนูคิดว่ามาทำงานให้ตัวเองมีคุณค่าดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ’ พี่บางคนที่ได้ยินและรู้เรื่องราวของเรา เขาก็พูดขี้นมาว่า ‘ดีแล้ว ให้น้องเขาอยู่เฉยๆ ทำไม’
เราทำกายภาพเยอะมาก เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด ไม่ได้เจอเพื่อนเลย เจอแต่นักกายภาพกับเพื่อนที่ทำงาน ช่วงนั้นรู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่เป็นตอนนี้ อยากเป็นคอมพิวเตอร์ที่กดปุ่มชัตดาวน์ตัวเอง พอดีได้อ่านหนังสือ “สามวันดี สี่วันเศร้า” ของทราย เจริญปุระ อาการในหนังสือเป็นอาการเดียวกับเราเลย นักกายภาพก็แนะนำว่า ลองไปหาจิตแพทย์ไหม พอไปโรงพยาบาล จิตแพทย์บอกว่า เราเป็นซึมเศร้า พอได้ยินแบบนั้น เราถามหมอว่า ‘เราแปลกไหม ดูอ่อนแอจัง ป่วยแล้วยังมาเป็นซึมเศร้าอีก มันดูอ่อนแอ มันดูไม่เข้มแข็ง’ หมอตอบว่า อย่าคิดแบบนั้น ไม่แปลกเลยที่เราเจอเหตุการณ์หนักๆ นับไม่ถ้วนเปลี่ยนชีวิตเราขนาดนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเศร้า และรู้สึกผิดได้ง่ายกว่าปกติทั่วไป
สโตรคเปลี่ยนชีวิตตอนที่ผ่าตัดเสร็จ หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่โรงเรียนแพทย์ ให้ลองทำนั้นทำนี่ เขาให้เรากำและแบแขนขวาก็ยังทำไม่ได้ จึงให้หัดใช้มือซ้ายเลย มือขวาใช้ไม่ได้แล้ว รู้สึกอึ้งที่หมอบอกว่าจะใช้ไม่ได้เลย แต่ตอนที่กลับไปฟื้นฟูที่โรงพยาบาลเอกชน หมอบอกว่า มือขวาใช้ไม่ได้เหมือนเดิม แต่เราสามารถให้มือขวาเป็น Helping Hand ได้ ตอนนี้เราเปลี่ยนไปใช้มือซ้ายเป็นหลัก มือขวาเอาไว้ช่วยแทน และต้องใส่อุปกรณ์พยุงประคองมือและข้อมือ (Hand Splint) ไม่ให้มือกำเวลาเดินหรือรู้สึกเกร็ง รักษาให้ข้อมือคงรูป
เนื่องจากร่างกายซึกหนึ่งอ่อนแรงและกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงจึงต้องใช้ไม้เท้าพยุงตัว เราเริ่มใช้ไม้เท้า 3 ขา ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นไม้เท้าค้ำยันศอกช่วยในการพยุงเดิน หลังจากนั้นหมอให้เปลี่ยนมาใช้ไม้เท้าขาเดียวได้แล้ว เพราะอยากให้ใช้แรงซัพพอร์ตจากอุปกรณ์ช่วยยืนให้น้อยลง แล้วออกแรงใช้กล้ามเนื้อด้านขวาเยอะๆ และยังต้องใส่อุปกรณ์เสริมที่ดามผ่านส่วนของเท้าและข้อเท้า (AFO) เพราะว่าสโตรคทำให้ข้อเท้าตก ถ้าไม่ใส่เวลาเดิน เท้าจะลากพื้น เสี่ยงล้ม นอกจากนี้เรายังรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ฝ่ามือฝ่าเท้าและตามข้อเวลาลงน้ำหนัก ยิ่งพออาการเย็นหรือเครียดจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนเหมือนเวลาเราไปไหว้พระแล้วเดินเหยียบกระเบื้องร้อนๆ ดังนั้นเวลาเดินต้องกะน้ำหนักดีๆ ถ้ารู้สึกเจ็บแสดงว่าลงน้ำหนักมากไป
ช่วงนั้นเราไม่กล้าเดินห้าง อายท่าเดิน เนื่องจากขามีแรงน้อย ร่างกายจะเกร็งที่อวัยวะส่วนอื่นให้แข็งเพื่อช่วยดึงแรงเพื่อยกเท้า สะโพกจะยกขึ้นมานิดหน่อยเวลาเดิน พอฝึกเดินมาสักระยะก็มีความมั่นใจมากขึ้น ก็เริ่มมาเดินห้างตอนดึกๆ หรือไปห้างที่คนไม่ค่อยเยอะ ถ้าไปห้างที่ต้องเดินเยอะ เราจะนั่งวีลแชร์ แต่ถ้ามาห้างใกล้ที่พัก เราจะใช้ไม้เท้าเดิน เพื่อฝึกความมั่นใจในการเดินที่สาธารณะ คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยเห็นคนที่เป็นสโตรคออกมาข้างนอก เพราะเขาอาจจะไม่มีความมั่นใจ เนื่องจากร่างกายเปลี่ยนไป การเดินไม่เหมือนเดิม ทำให้ไม่กล้าออกมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปหรือครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่สนับสนุน ก็จะไม่ค่อยเห็นคนอายุอย่างเราถือไม้เท้าหรือใส่ Hand Splint
ช่วงที่เราตัดสินใจกลับมาทำงานหลังจากผ่าตัด ผลการประเมินงานเราได้เกรดดีมาตลอด จนกระทั่งปีนี้ มีการเปลี่ยนทีมบริหาร ทำให้วิธีการพิจารณาผลการประเมินงานเปลี่ยน โดยทีมบริหารแยกเราออกจากพนักงานคนอื่นๆ และชี้แจ้งว่า เราสุขภาพไม่ดี หากเอาไปประเมินร่วมกับคนอื่นจะตัดเกรดยาก เขาให้เกรด F โดยไม่ได้มองผลงานที่ทำมาทั้งปีว่าเราทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ แต่มองที่ร่างกายเรา ทั้งที่เราทำงานได้ตามเป้าเหมือนทุกคน
ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับสโตรคคนยังเข้าใจผิดว่า หญิงแตกซ้าย ชายแตกขวา หมอบอกไม่เกี่ยว ขึ้นอยู่กับสมองที่ได้รับความกระทบกระเทือนที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า อาการของคนป่วยเป็นโรคนี้ไม่เหมือนกัน ตอนแรกยายเราไม่เข้าใจว่าทำไมหลานฉันเป็นเยอะ คนข้างบ้านก็เป็นโรคนี้ ไม่เห็นเป็นไรเลย ตอนนั้นเราเสียใจที่มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น กว่ายายจะเข้าใจใช้เวลานานเหมือนกัน นอกจากนี้คนยังเข้าใจว่าตีบมีผลกระทบน้อยกว่าแตก ซึ่งไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปเพราะโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดและอายุ
นอกจากนี้หลายคนเชื่อว่า คนเป็นสโตรคต้องมีอายุเยอะหรือโรคประจำตัวมาก่อน จริงๆ แล้วไม่จำเป็นเลย อย่างเรานี่ไง ความดันปกติ เป็นสายสุขภาพ เข้าฟิตเนส เรายังเป็นเลย บทจะมาก็มา เดี๋ยวนี้ไม่เลือกอายุแล้ว ตอนไปโรงพยาบาลก็เจอคนหลายวัยที่ป่วยเป็นโรคนี้ จึงอยากบอกว่าหากมีอาการปวดหัว รู้สึกอ่อนแรง รู้สึกชา อย่าชะล่าใจรอดูอาการก่อนหรือคิดว่าเดี๋ยวก็หาย สโตรคมีเวลาจำกัด ถ้าไปโรงพยาบาลเร็ว ยิ่งลดโอกาสพิการหรือตายได้ แม้ปัจจุบันมีโปรแกรมตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง เราสงสัยว่าช่วยได้จริงเหรอ จึงเก็บความสงสัยไปถามหมอ หมอตอบกลับว่า ไม่จริง ทำได้แค่ตรวจดูแล้วพบว่า มีสัญญาณเตือน เช่น ตรวจเจอเบาหวาน ไขมันอุดตัน แต่โปรแกรมตรวจไม่ได้บอกว่าสโตรคมาวันไหน เราต้องดูแลตัวเอง ไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็นสโตรคได้
เปอร์เซ็นต์ที่จะหายจากสโตรคแม้คนที่เป็นสโตรคอยากกลับมาใช้ชีวิตให้ได้อีกครั้ง แต่ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเก่งมากๆ แล้ว อยู่ที่ว่าเรายอมรับไหมและมีเป้าหมายว่าอยากไปถึงจุดไหน อย่างเราตั้งเป้าว่า ต้องเดินให้สวย ให้คล้ายเดิมที่สุด เวลาไปหาหมอ หมอถามว่า ยังทำงานอยู่ไหม พอบอกว่ายังทำงานอยู่ หมอจะดีใจมากที่คนป่วยสามารถมาใช้ชีวิตปกติ การที่เราใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้ ไม่ได้ความว่า ความสุขเราไม่เท่าเดิม เราแค่ปรับเปลี่ยนตามสไตล์ใหม่ที่เป็นไปได้เท่านั้นเอง เราไม่ควรให้โรคมาจำกัดการใช้ชีวิตของเรา
สโตรคและความพิการคนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากยอมรับว่าเป็นคนพิการ หลังผ่าตัด เราเสิร์ชหาเลยว่า อาการเราตรงกับนิยามความพิการหรือเปล่า ระหว่างเสิร์ชในใจภาวนาว่า อย่าใช่เลย เวลาไปห้าง พี่ชายเจอที่จอดรถคนพิการ เราก็นึกในใจว่าใช้คำอื่นได้ไหมหรือเรียกว่า Prority Person ได้ไหม
ท้ายที่สุดเรายอมรับ ถ้าพูดตามนิยามก็เป็นจริง แต่ไม่ใช่ว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย ความพิการเป็นคำสมมติที่เขาตั้งขึ้นมาให้เราดูแลตัวเองเป็นพิเศษ แต่ถามว่าอยากให้ทุกคนมาดูแลเราอย่างใกล้ชิดไหม ก็ไม่ แต่ถ้าเราขอความช่วยเหลือก็ช่วยเหลือหน่อย
ทำบัตรคนพิการเพื่อสิทธิที่ควรจะได้ตอนนั้นเราไปฝึกกายภาพกับหุ่นยนต์ แล้วหมอถามว่า คุณรู้ไหมว่าถ้าทำบัตรคนพิการ แล้วรักษาที่โรงพยาบาลได้ฟรี กายอุปกรณ์เสริมอย่าง AFO และ Hand Splint สามารถขอได้ฟรี หมอมองว่า อยากให้ใช้สิทธิที่เราเพิ่งได้รับ ไม่อยากให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ตอนแรกก็ไม่อยากทำ เพราะกังวลว่าจะมีผลต่อการใช้ชีวิตหรือการทำงานแต่หมอบอกว่า ไม่มีผลกระทบ ตอนนั้นคิดว่า ไม่น่ามีผลอะไร จึงตกลงทำ คุณหมอก็ออกใบรับรองให้
แต่พอไปเบิกจริงใช้ไม่ได้ เพราะเราใช้สิทธิประกันสังคมอยู่ ต้องจ่ายเงินเอง ถ้าจะใช้สิทธิบัตรทองคนพิการต้องไปทำเรื่องการเปลี่ยนสิทธิ ซึ่งเรายังกังวลว่าเปลี่ยนไปใช้สิทธิบัตรทองคนพิการแล้วสิทธิประกันสังคมที่จ่ายทุกเดือนเราจะยังได้สิทธิอยู่หรือเปล่า แต่เพิ่งถามรายละเอียดมา ใช้สิทธิบัตรทองคนพิการแทนได้ โดยสิทธิประกันสังคมเราก็ยังอยู่
เพจบันทึกป้าหอยทาก : Stroke สาย Strongหนึ่ง-ตอนที่เราเป็นใหม่ๆ ข้อมูลเรื่องพวกนี้หายากมาก ไม่ค่อยมีข้อมูล ยังไม่มีกลุ่มสโตรคมาคุยกันด้วยซ้ำ สอง-เราเบื่อ รู้สึกอยากหาอะไรทำให้เป็นประโยชน์ มีน้องคนหนึ่งแนะนำว่า ทำหนังสือหรือเปิดเว็บสิ แต่ทำเพจแชร์ประสบการณ์ก่อนแล้วกัน เราคิดว่าดีเหมือนกัน เพราะชอบจดบันทึกว่า วันนี้ทำอะไรบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นกับเรา ถ้ามีคอนเทนต์หรือเจอโพสต์ที่เคยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า น่าจะเป็นประโยชน์ จึงเอามาเรียบเรียงใหม่แล้วค่อยเอาลงเพจ ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ว่า เจออะไรมา เข้าใจทุกคนว่ารู้สึกอย่างไร แล้วเราแค่อยากเป็นพลังบวก ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ปรับมุมมอง และใช้ชีวิตอย่างที่เราเป็นดีกว่า ตอนแรกชวนแม่มาช่วยเขียน เพื่อให้คนอ่านเห็นมุมมองของคนดูแลผู้ป่วยว่า คนดูแลก็เหนื่อย คนเป็นก็ท้อ แต่แม่ไม่ชอบเขียน เราพยายามเขียนให้ครบทุกมุมและเขียนเก็บเอาไว้ว่าที่ผ่านมาเราพัฒนามามากน้อยแค่ไหนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ส่วนคำว่า หอยทากมาจากรรณกรรมเยาวชนชื่อ “หอยทากผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน” หลังจากอ่านแล้วรู้สึกว่า สภาพร่างกายเราที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราเดินได้ช้าลง เดินตามใครไม่ทัน คล้ายหอยทากที่ค่อยๆ คลาน อาจเดินช้าหน่อย แต่ก็ไปถึงเป้าหมายได้เหมือนกัน
บันทึกแผลกดทับ : ในวันที่กว่าจะถึงโรงพยาบาล และกว่าจะได้รักษา
เราตื่นจากภวังค์เพราะเสียงเรียกของชายบนวีลแชร์ ในเวลาที่ใครหลายคนยังคงหลับ หรือบางคนก็ตื่นออกไปเป็นแรงงานในยามเช้า อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ทำงานอยู่ที่ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เขาเป็นคนที่จะพาเราไปหาหมอกับเพื่อนคนพิการที่เป็นแผลกดทับรุนแรง
หากใครรู้จักแผลกดทับอยู่แล้วก็คงทราบดีถึงความร้ายกาจของสิ่งที่เกิดขึ้น แผลกดทับร้ายพอๆ กับชื่อของมัน เริ่มต้นจากแผลหรือรอยขีดข่วนเล็กๆ เมื่อถูกกดหรือนอนทับนานๆ เพราะขยับตัวไม่ได้ แผลก็เน่าและขยายตัวใหญ่ขึ้น กัดกินเนื้อเข้าไปเรื่อยๆ ว่ากันว่าบางรายกัดกินได้ลึกจนเห็นกระดูก คนพิการหลายคนรับรู้ถึงความเจ็บปวดของแผลแม้ร่างกายส่วนนั้นแทบจะไม่รู้สึก นอกจากแผลจะกัดกินเนื้อ แผลกดทับยังกัดจิตใจผ่านการดูแลที่มากขึ้น และชีวิตที่หายไปให้กับวังวนคนพิการติดเตียง ที่สร้างความเจ็บปวดยิ่ง
ที่เราทั้งสองคนต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เป็นเพราะการเตรียมตัวเพื่อพาคนพิการคนหนึ่งไปหาหมอนั้นต้องใช้เวลามากพอสมควรในการเตรียมตัว เตรียมรถสำหรับเคลื่อนย้าย เตรียมทีมงานสำหรับการซัพพอร์ต อีกทั้งบางครั้งยังต้องประสานงานเรื่องสิทธิการรักษา เมื่อทุกอย่างพอจะเข้าที่เข้าทางแล้ว อรรถพลก็เริ่มเล่าถึงความร้ายกาจของแผลกดทับให้เราฟัง
“แผลกดทับกับคนพิการด้านการเคลื่อนไหว หรืออัมพฤกอัมพาต โดยเฉพาะคนที่มีอาการบาดเจ็บไขสันหลัง ซึ่งร่างกายไม่มีความรู้สึกนั้นยิ่งทวีความรุนแรง ถ้านั่งหรือนอนนานๆ ก็ทำให้เกิดบาดแผล แผลจากปลายเข็มเล็กๆ สามารถลุกลามบานปลายกลายเป็นแผลใหญ่จนอาจนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตได้
“สำหรับคนที่เพิ่งพิการใหม่ๆ ไม่มีความรู้หรอกว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อป้องกัน หรือเมื่อเป็นแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร มันยากไปหมดเมื่อคุณเริ่มมีความพิการ หรือแม้แต่คนพิการที่เคยเป็นและหายแล้วก็สามารถกลับไปเป็นได้ หรือบางทีการนอนนานๆ ก็ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดแผล แต่การย้ายตัวบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดแผลได้เช่นกัน
“แผลกดทับส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนที่เป็น รวมถึงครอบครัวและคนรอบข้าง แผลทำให้วิถีชีวิตต้องวนเวียนอยู่แต่ในบ้าน อยู่บนที่นอน พ่วงมากับความต้องการการช่วยเหลือที่มากขึ้นจากคนในครอบครัว เป็นการเพิ่มภาระให้กับคนดูแลมากขึ้น สังคมและคนเหล่านี้สูญเสียโอกาสในการออกไปทำงานและใช้ชีวิต เพราะแผลกดทับใช้ระยะดูแลหรือฟื้นฟูนานพอสมควร ระหว่างทางที่เกิดขึ้นคนที่เกี่ยวข้องอาจจะเกิดความเหนื่อยล้าได้ ถ้าเรายังไม่เริ่มแก้ปัญหาสังคมก็จะเสียโอกาสต่อไปเรื่อยๆ
“แผลกดทับส่งผลต่อจิตใจตัวเองและครอบครัวด้วย เปลืองทั้งทรัพยากรที่ต้องดูแลทำแผล พ่วงความเหนื่อยล้าของผู้ดูแลที่บางคนเลิกงานมาก็ต้องกลับมาดูแลจัดการกับแผลกดทับต่อ เพราะคนพิการเองไม่สามารถจัดการตัวเองได้ทั้งหมด”
05.00 น.“ทำไมเราต้องขับรถไกลขนาดนี้ เพื่อไปโรงพยาบาล”
อรรถพลตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น นี่ไม่ใช่หนแรกของการเดินทางไกลเพื่อไปหาหมอ หลายครั้งโรงพยาบาลในพื้นที่ไม่ตอบโจทย์เรื่องการรักษาแผลกดทับ ทั้งอุปกรณ์ ทั้งการใส่ใจดูแลที่ดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาซ้ำซาก อรรถพลสะท้อนว่าคนพิการในพื้นที่หลายคนเข็ดขยาดกับการรักษาในพื้นที่ บางคนสะท้อนว่าขอตายดีกว่าถ้าจะต้องรักษาที่เดิม ความทรมานกายที่แถมด้วยความทรมานใจก็ทำให้คนพิการไม่อยากรักษา มันหนักหนามากเกินไปสำหรับพวกเขา นี่เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นสำหรับคนพิการหลายคน แม้สิทธิจะรักษาของคนพิการจะฟรี แต่ถ้าไม่มีรถ และอยู่ห่างโรงพยาบาล สิ่งนี้ก็เป็นปัญหา
รถฝ่าความมืดมุ่งหน้าไปยังอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ขับลึกเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่งก่อนที่จะไปจอดหน้าบ้านชั้นเดียว หญิงสาวผู้เป็นแม่ของคนพิการเปิดประตูต้อนรับ ก่อนจะเรียกคนในบ้านให้ออกมาช่วย “นน” ผู้ช่วยคนพิการที่มากับเราเอาเบาะมาจัดที่ทางในรถ ก่อนทั้งหมดจะเดินเข้าไปในห้อง คนพิการในผ้าห่อสีแดงถูกหิ้วลอยออกมาจากห้อง ก่อนยกขึ้นไปยังรถตู้ อรรถพลกำชับคนยกให้ระวังร่างกายโดนพื้นอันจะซ้ำเติมบาดแผลยิ่งกว่าเดิม การทำงานเป็นไปอย่างระมัดระวังมากที่สุด
“บางคนมองว่าเรื่องนี้เป็นบุญกุศล แต่พี่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องมนุษยธรรม”
อรรถพลสะท้อนให้เราฟังตอนที่อยู่บนรถ เอาเข้าจริงแล้วงานไอแอล (independent living) กลับเป็นที่รู้จักในสังคมไทยน้อย หลังเกิดความพิการหลายคนต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด สิ้นหวัง มองว่าชีวิตตัวเองไปต่อไม่ได้ บทบาทงานอย่างไอแอลพุทธมณทลและไอแอลอีกหลายที่ คือการเข้าไปเป็นเพื่อนคู่คิด ชวนคนพิการออกไปใช้ชีวิตในแบบของตนเอง รวมถึงช่วยแนะนำเรื่องสิทธิและบริการที่คนพิการอาจไม่รู้ เพื่อคืนศักดิ์และศรีสู่คนพิการอย่างที่คนจะเป็น อรรถพลย้ำกับเราว่า งานของเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปอบรมสั่งสอนคนพิการว่าต้องทำอะไร หรือไม่ต้องทำอะไร แต่เป็นการเข้าไปเป็นเพื่อนคู่คิดชวนคุย ช่วยคนพิการหาทางออกในแบบของตน โดยที่ไม่คิดแทน ครอบงำ ทำให้ เหมือนกันการตัดสินใจมาหาหมอในวันนี้ที่เป็นเรื่องของการประสานส่งต่อ อันเป็นหนึ่งในหน้างานที่ภาครัฐยังมองไม่เห็น
06.00 น.เราขับรถหลายสิบกิโลจากจังหวัดนครปฐมมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครฯ ในเช้าวันทำงานที่จราจรเริ่มติดขัดแม้พระอาทิตย์จะยังขึ้นไม่เต็มดวง เรามากันที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านใจกลางเมือง เพราะได้รับคำแนะนำว่าโรงพยาบาลแห่งนี้มีหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผลกดทับ เมื่อมาถึงเราก็ใช้เวลาสักพักใหญ่ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังเตียงของโรงพยาบาล และอรรถพลก็ต้องใช้เวลาในการหาที่จอดในโรงพยาบาลก่อนจะย้ายตัวจากรถตู้มาสู่วีลแชร์ของตัวเอง แล้วกลับมาหาเรา
การมาโรงพยาบาลครั้งแรกเป็นเรื่องที่ทุกลักทุเลพอสมควรไม่ว่าจะสำหรับใคร ทั้งการลงทะเบียนประวัติผู้ป่วย การแจ้งสิทธิการรักษา แน่นอนว่าในวันนี้เรามาด้วยการรักษาด้วยสิทธิของคนพิการหรือ ท.74 คนพิการสามารถรักษาที่ไหนก็ได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่พอยื่นสิทธิไปกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เขาก็แจ้งกลับมาว่าใช้สิทธิของคนพิการไม่ได้ เนื่องจากมีประกันสังคม จะต้องกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิก่อน แล้วให้โรงพยาบาลนั้นแจ้งย้ายถึงจะมาได้ แต่พวกเราในฐานะที่มาแล้ว และอยากจะรักษากับโรงพยาบาลที่นี่ จึงจำยอมที่จะต้องจ่ายค่ารักษาเองกันไปก่อน
อรรถพลสะท้อนให้เราฟังถึงปัญหาการใช้สิทธิของคนพิการว่า
“ในกรณีที่คนพิการทำงานอยู่ หลายคนมีสิทธิประกันสังคม ระบบก็ให้ใช้ประกันสังคมทั้งที่สิทธิคนพิการครอบคลุมกว่า เนื่องจากเลือกรักษาในโรงพยาบาลไหนก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ คำถามคือ แล้วทำไมคนพิการจึงจะไม่อยากรักษาในพื้นที่ของตัวเอง
“เราต้องย้อนกลับไปดูคุณภาพของบริการโรงพยาบาล รวมถึงการเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีความไม่เท่าเทียมกัน หลายกรณีในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม เพื่อนที่ไปใช้สิทธิก็สะท้อนเสียงคล้ายๆ กันว่า ถูกปฏิบัติแบบไม่คำนึงถึงหัวจิตหัวใจหรือความเป็นมนุษย์ บางทีก็ปล่อยให้อยู่ไปวันๆ โดยไม่ได้รับการเอาใจใส่ เราเข้าใจเงื่อนไขของโรงพยาบาลที่อาจมีความไม่พร้อม แต่นั่นจึงทำให้คนมองหาโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า
“กรณีที่สิทธิทับซ้อนกันแบบนี้ โดยหลักเขาจะให้ใช้บริการจากประกันสังคมก่อน หากจำไม่ผิด คนพิการสามารถเลือกได้ว่าอยากจะใช้สิทธิไหน แต่ต้องไปทำเรื่องแจ้ง หลังจากนี้เราก็ต้องไปดูต่อว่ามีวิธีแจ้งเปลี่ยนสิทธิอย่างไร คนพิการสามารถทำได้สะดวกมากแค่ไหน เพราะสิทธิประกันสังคมมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และต้องสำรองเงินจ่ายก่อน ต่างจากสิทธิคนพิการที่สามารถใช้ที่โรงพยาบาลไหนก็ได้และไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน ซึ่งเรื่องนี้มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญสำหรับคนพิการหลายคน เช่น ครอบครัวคนพิการหลายคนที่ไม่ค่อยมีเงิน คนพิการที่ไม่มีงานทำหรืองานที่ทำได้ค่าตอบแทนน้อย การไม่ต้องจ่ายเองก็ทำให้เบาใจไปได้มาก”
เราขึ้นลิฟต์ตรงมายังแผนกศัลยกรรมของโรงพยาบาล ผู้คนจำนวนมากเริ่มมารอกันที่หน้าแผนก เรากรอกเอกสารและวางทิ้งไว้ในตระกร้า เป็นเรื่องปกติของโรงพยาบาลรัฐที่คนต้องมารอเอาคิวตั้งแต่เช้า บางครั้งก็เช้ามืด หากเงินมากพอ หลายคนคงเลือกรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเพราะไม่ต้องรอนาน
09.30 น.โรงพยาบาลเพิ่งเริ่มรันคิวอย่างเป็นทางการ โรงพยาบาลแห่งนี้ถือได้ว่าทันสมัยพอสมควร สามารถสแกนบัตรคิวเพื่อดูเวลาได้ว่าเราจะได้เจอหมอประมาณกี่โมง ซึ่งของเราเป็นช่วง 11 โมง อรรถพลเล่าว่า วันนี้หวังให้หมอประเมินว่า ควรนอนโรงพยาบาลต่อและได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดเพราะแผลกดทับมีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ ทั้งการทำความสะอาดแผล อาหารการกิน การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน เช่น การปัสสาวะ อุจจาระ
อรรพลสะท้อนว่า นอกจากความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ต้องอาศัยโรงพยาบาลในการให้ความช่วยเหลือแล้ว ปัจจัยทางสังคมก็มีผลเช่นเดียวกัน หลายครอบครัวคนในบ้านก็ออกไปทำงาน ไม่มีเวลาช่วยทำความสะอาดแผลกดทับ ส่งผลให้แผลไม่หายและอาจติดเชื้อซ้ำได้
หลายคนไม่มีปัจจัยเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์การดูแลดีๆ แพมเพิสสำหรับผู้ใหญ่มีราคาสูงและใช้ในปริมาณมาก เบาะลมที่จะช่วยลดอาการของแผลกดทับก็มีราคาเริ่มต้นหลายพันจนไปถึงหลายหมื่น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อได้ จึงลงเอยที่คนพิการถูกปล่อยให้เป็นแผลกดทับลุกลามบานปลาย
“การเป็นแผลกดทับมีรายจ่ายค่อนข้างมาก ค่าหมอและค่าอุปกรณ์ต่างๆ ต้องมีที่นอนลมเพื่อป้องกันแผลกดทับ ค่าทำแผลรายวัน รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อเหมารถพาคนพิการออกไปโรงพยาบาล”
11.00 น.คนพิการถูกเรียกชื่อไปยังห้องตรวจ เขาถูกพาขึ้นเตียงและทำความสะอาดบริเวณแผล หมอใช้มีดปาดแผลที่เน่าออกให้กลายเป็นแผลสด ทำความสะอาดบริเวณโดนรอบ และผู้ช่วยก็สอนญาติคนพิการในการทำความสะอาดแผลที่ถูกต้อง
หลังจากที่หมอได้คุยกับอรรถพล หมอมีความเห็นว่าไม่ได้ถึงขั้นจะต้องนอนโรงพยาบาล ให้กลับบ้านไปรักษาทำความสะอาดแผลให้ดี และควรใช้บริการจากโรงพยาบาลใกล้บ้านมากกว่าเนื่องจากใกล้และสามารถรักษาได้ทันท่วงที ถึงแม้อรรถพลจะทักท้วงไปแล้วว่าคนพิการคนนี้เคยไปใช้บริจากจากโรงพยาบาลแถวบ้านแล้ว และเจอการรักษาที่ไม่ใส่ใจจนเกิดเป็นแผลกดทับเพิ่มขึ้น แต่หมอก็ยังมีความเห็นเหมือนเดิม และโรงพยาบาลก็ยังมีเคสจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ มากกว่า จึงอาจไม่เหมาะในการให้มาดูแลรักษาที่นี่
ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ในการจัดการทำความสะอาดแผลกดทับ พยาบาลก็เรียกอรรถพลไปคุยเรื่องค่ารักษา เบื้องต้นค่าทำความสะอาดเป็นเงินหลายพันบาท ขนาดที่ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลเองยังตกใจที่ว่า ทำไมค่าทำแผลถึงได้แพงขนาดนี้ แต่เนื่องจากใช้สิทธิคนพิการไม่ได้ ทางศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล จึงต้องใช้เงินจากสมาคมฯ ต้นสังกัดออกให้ไปก่อน ทั้งนี้ยังไม่ร่วมค่าอุปกรณ์การดูแลอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดแผล และเตียงลม
อรรพลเล่าว่า งานหลังจากนี้คงเป็นเรื่องของการดูแลรักษาต่อว่าจะทำอย่างไรให้อาการติดเชื้อทุเลาลง ทั้งเรื่องของการทำความสะอาดแผลที่ควรทำบ่อยๆ ประจำสม่ำเสมอ ศูนย์จะลองติดต่อไปยังศูนย์บริการสุขภาพชุมชนเพื่อประสานหาหน่วยบริการเคลื่อนที่มาดูแลเรื่องการทำความสะอาดแผล ซึ่งจะดีกว่าที่บ้านทำเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการดูแล ปรับสภาพที่บ้านให้ลดเรื่องความเสี่งที่จะติดเชื้อ เช่น ใช้มุ้งเพื่อป้องกันแมลงที่อาจมาทำให้แผลติดเชื้อ การดูแลเรื่องการปัสสาวะให้สะอาดก็มีความจำเป็นด้วย
“ความใส่ใจของรัฐต่อเรื่องแผลกดทับ คิดว่าอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ปัญหามีตั้งแต่ต้นทาง คือคนที่เริ่มมีความพิการใหม่ๆ ฉะนั้นกระบวนการดูแลควรจะใส่ใจตั้งแต่ต้น เช่น มีเบาะลมซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับที่เข้าถึงได้ และควรมีคนที่ให้ความรู้และข้อมูลกับญาติ หรือถ้าเขาไม่มีญาติ ทางโรงพยาบาลก็ควรให้ความใส่ใจต่อเรื่องนี้เป็นพิเศษเมื่อนอนอยู่โรงพยาบาล เช่น การพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง
“คนพิการหลายคนยังอยู่ภายใต้สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ เขานึกไม่ถึงว่าต้องจัดการตัวเองอย่างไร และไม่มีใจมากพอที่จะไปจัดการเรื่องเหล่านั้น ฉะนั้นระบบควรต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะถ้าปล่อยให้แผลเล็กๆ ไม่ได้รับการดูแลจัดการที่ดี ก็ทำให้แผลใหญ่ขึ้น จนติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด อาจเสียชีวิตก็มี
“อุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับรัฐไทยก็ไม่ได้ให้ความสนใจ หลายอย่างยังมีราคาแพงและเบิกไม่ได้ ทั้งที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับการดูแลตั้งแต่แรก รวมถึงกระบวนการส่งต่ออุปกรณ์ที่ควรเอากลับไปใช้ประโยชน์ในคนอื่น
“อีกเรื่องที่สำคัญคือระบบการรักษา โรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆ หรือโรงพยาบาลเอกชน คนพิการไม่ได้เข้าถึง หลายคนไม่มีเงินและต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา และทรัพยากรหรือแพทย์ที่มีความเข้าใจเฉพาะเรื่องก็มีค่อนข้างจำกัด คนพิการจึงต้องเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งเปลืองทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา
“สาธารณสุขควรเพิ่มและใส่ใจให้มากขึ้น ผ่านการกระจายไปสู่ภูมิภาคหรือแต่ละจังหวัด ทำให้เกิดศูนย์ดูแลและจัดการแผลกดทับอย่างมีระบบ เพื่อไม่ให้มีคนที่เป็นแผลกดทับรุนแรง แต่ถูกส่งตัวกลับจากโรงพยาบาล จนแผลยิ่งลุกลามเพราะที่บ้านไม่มีคนดูแลได้ดีพอ หากต้นทางจัดการได้ดีพอ คนอาจไม่เกิดแผลกดทับรุนแรง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีกว่า”
Socialบทความคุณภาพชีวิตการเมืองสิทธิมนุษยชนสุขภาพแผลกดทับอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์สรุปเสวนา “ชีวิตกู กูเลือกเองไอ้สัส” เสวนาว่าด้วยการมีชีวิตอิสระของคนพิการ
เปิดตี้เสวนา “ชีวิตกู กูเลือกเองไอ้สัส” เป็นเสวนาภายใต้หัวข้อเสรีภาพหรือเสรีพร่อง โดยเสวนานี้เป็นเสวนาสุดท้ายส่งท้ายปี 2022 ที่พูดถึงเรื่องการเลือกมีชีวิตอย่างอิสระของคนพิการ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พร-ศิริพร ชี้ทางดี สาวแซ่บชาวสวนแคสตัส, พี-ภาณุวัฒน์ ผลาเลิศ ลูกจ้างเหมาบริการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, รัก-คชรักษ์ แก้วสุราช คอนเท้นครีเอเตอร์ Thisable.me และออฟ-ศุภวัฒน์ เสมอภาค ผู้ทำงานผลักดันเรื่องขนส่งมวลชน ดำเนินรายการโดย อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ จากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณทล
ชีวิตอิสระคืออะไรพรเล่าว่า เธอพิการตั้งแต่ต้นปี 2533 จากอุบัติเหตุรถชนบนสะพานอรุณอัมรินทร์ จนกระดูกคอเคลื่อน ทำให้เหลือเพียงความรู้สึกตั้งแต่ไหล่ขึ้นมา ต่ำกว่านั้นไม่รู้สึก ตอนนี้เธอสามารถจัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันได้อยู่บ้าง เธอสะท้อนว่า
“ชีวิตอิสระคือการใช้ชีวิตได้แบบไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไข ถึงมีความพิการก็ทำอะไรได้อย่างที่คิด ก่อนพิการเราขับรถไปกับแฟน แต่รถชนและเกิดคดีความ โดนข้อหาขับรถประมาททำให้ผู้อื่นพิการ เขารับผิดชอบผ่านการเอาเราไปไว้ที่บ้าน ทุกๆ วันก็จะใส่เสื้อคลุม ใส่สายปัสสวะ เวลามีคนมาเยี่ยมเราก็อยู่ในชุดคลุมและนอน บางทีก็เอาพระมาสวดข้างๆ เราอึดอัดนะ อยากใส่ยกทรง ผมก็ไม่ได้สระเพราะเขามองว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องสระก็ได้ ถ้าออกไปข้างนอกทีก็อุ้มไปสระผมที่ร้าน ตอนออกนอกบ้านเห็นคนใส่กางเกงสวยๆ ก็บอกแฟนว่าอยากใส่กางเกง แฟนถามว่าจะใส่ทำไมทั้งๆ ที่ชุดที่เราใส่นั้นอุบาทว์มาก อยู่กับแฟนไปสักพักเราก็ท้อง คนก็งงอีกว่าใส่สายฉี่แล้วท้องได้ยังไง แต่สุดท้ายไปอัลตราซาวด์พบว่า เด็กไม่มีสมอง ก็เลยเอาเด็กออก และกลับมาอยู่บ้านตัวเอง ตลอดช่วงเวลาที่อยู่บ้านแฟน 10 ปี เราไม่ได้ติดต่อกับใครเลย ไม่มีแม้แต่เพื่อนคนพิการสักคน”
พีเล่าว่า เขาพิการเมื่อปี 2555 หลังมอเตอร์ไซต์ล้มและหลังไถลไปชนขอบฟุทพาท ตอนนี้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง และสามารถขับรถไปทำงานนอกบ้านได้
“แต่ก่อนนี้ผมเป็นคนหนึ่งที่นอนป่วยอยู่บ้าน ทำอะไรไม่ได้ จนมีโอกาสได้กายภาพบำบัดหลังจาก 2 ปีที่นอนอยู่ เขาฝึกให้เราย้ายตัว ฝึกได้สักพักก็กลับบ้านและเกิดความมั่นใจว่าเราสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้แล้วก็เลยกลับไปที่ศูนย์ฝึกอาชีพ แม้ตอนแรกมองว่าร่างกายแบบนี้จะไปทำอะไรต่อได้ แค่จะกวาดบ้านยังทำไม่ได้เลย แต่เมื่อได้ฝึกพร้อมกับความรู้สึกที่อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ก็เลยลองดูไม่เสียหาย”
ออฟนั้นพิการหลังได้รับอุบัติเหตุเมื่อปี 2549 เขาโดนยิงช่วงท้ายทอยทำให้ระดับต่ำกว่าหัวไหล่ลงไปไม่รู้สึกอะไรเลย เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีผู้ช่วยเป็นคนทำและบางทีก็ต้องมีอุปกรณ์เสริม เช่น ใช้ปากกาจิ้มโน้ตบุ้ค
“ก่อนหน้านี้ไม่รู้หรอกว่าถ้าพิการจะใช้ชีวิตยังไง พอมีอุบัติเหตุก็นึกอะไรไม่ออก ช่วงที่ป่วยก็มีคนแวะเวียนมาเยี่ยม แต่วันหนึ่งมีคนพิการขี่คอเพื่อนขึ้นมาทั้งที่ที่บ้านเป็นตึกแถวที่มีแต่บันได ผมนอนอยู่ชั้นสอง ยังพูดไม่ได้ แต่ก็พยายามสื่อสารให้เขาอ่านปาก คนที่ขึ้นมาโทรลงไปบอกคนข้างล่างว่าเราคุยอะไรกัน พอเห็นเขาขี่คอขึ้นมาเราก็อยากออกไปดูว่าคนอื่นใช้ชีวิตอย่างไร ตอนนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่เราออกไปข้างนอกด้วยความอยากของตัวเอง แต่การออกไปไม่ง่าย หมอแนะนำแค่กินยาแต่ไม่บอกว่านั่งยังไงเพื่อจะได้ออกไปเรียน ไปทำงาน ขนาดเรามั่นใจว่าตัวเองนั่งได้ แต่พอนั่งวีลแชร์ก็ยังหน้ามืดทุกที ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่านี่คือการดำรงชีวิตอิสระ รู้แต่ว่าคนอื่นใช้ชีวิตกัน ก็เลยพยายามวางแผนว่าตัวเองจะใช้ชีวิตอย่างไร จนสรุปได้ว่า ชีวิตอิสระคือการที่เราได้คิด ตัดสินใจและลงมือทำได้บางส่วน”
รักแลกเปลี่ยนว่า เมื่อก่อนเขาไม่เคยมีเพื่อนเป็นคนพิการ จนกระทั่งได้เข้าค่ายที่คนครึ่งหนึ่งพิการ ในค่ายเขาถูกบอกให้พาพี่คนพิการนั่งวีลแชร์ไปกินข้าว เขากังวลไม่รู้จะไปยังไง ต้องอุ้มคนพิการหรือไม่ กระทั่งสุดท้ายจึงรู้ว่าพี่คนพิการต่างหากที่เป็นคนขับรถพาเขาไปกินข้าว
“ผมมองว่า นิยามความอิสระของแต่ละคนนั้นต่างกัน บางคนมีเงื่อนไขเรื่องสถานที่หรือเศรษฐกิจ เพื่อนพิการบางคนออกไปไหนไม่ได้เลย และบางทีคนไม่พิการก็ตัดสินไปเองว่าเขาไปไม่ได้ ผมจึงมองว่าชีวิตอิสระสำหรับทุกคนคือการได้เลือกใช้ชีวิตตัวเอง”
พี
พีเล่าว่า ตอนพิการแรกๆ เขาไม่ได้เลือกอาหารการกิน ทั้งที่ก่อนพิการเคยได้เลือกว่าอยากกินอะไร ได้ใส่เพียงเสื้อกล้ามกางเกงขาก้วยเพราะคนใส่รู้สึกว่าใส่ง่าย
“เราอยู่แบบนั้นเกือบ 2 ปี ใส่อะไรเท่าที่มีให้ใส่ ตอนอยู่บ้านไม่รู้สึกอะไร พอต้องออกไปหาหมอก็เริ่มรู้สึกว่าคนมอง แม้เล่าตอนนี้ฟังดูตลก แต่ตอนนั้นไม่ตลกเลย ลำพังแค่เดินไม่ได้ก็รู้สึกแย่ ไม่กล้าสบตาใครอยู่แล้วเพราะคนชอบมองเหลียวหลัง ทำให้ออกไปข้างนอกแต่ละทีไม่มีความมั่นใจเลย แถมยังมีถุงฉี่แขวนข้างรถ ช่วงหลังเราบอกให้แม่เก็บมิดชิด เขาไปซื้อผ้ามาเย็บเป็นกระเป๋าใส่ เริ่มเปลี่ยนเสื้อเป็นเสื้อเชิ้ตกับกางเกงขาก้วย ถึงแม้เปลี่ยนการแต่งตัวแต่ก็ยังคงเจอสายตามองแบบสงสัย หลังจากผมไปฝึกและเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้เยอะขึ้น ผมก็มั่นใจขึ้นระดับหนึ่งแต่พอออกไปข้างนอกคนก็ยังมองเหมือนเดิม
“ตอนนั้นตั้งคำถามว่า เราจะใช้ชีวิตเพื่อแคร์สายตาคนเหรอ คำตอบคือไม่ เราจะใช้ชีวิตด้วยตัวเอง คุณจะมองด้วยความสงสารหรือเวทนาก็ทำไป ด้วยความที่เราเจอเพื่อนคนพิการน้อยเลยอาศัยวิดีโอของชาวต่างชาติในการเรียนรู้การใช้ชีวิต เช่น การย้ายตัวขึ้นชักโครกในหลายๆ แบบ หรือแม้แต่การฝึกขึ้นชักโครกที่มีไม่มีเหล็กราวจับ แม้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นแต่ทำให้ได้ประสบการณ์หลายๆ แบบ”
ออฟเล่าว่า ช่วงแรกๆ ที่สื่อสารอะไรไม่ได้เพราะเจาะคอเพื่อดูดเสมหะ เขาก็ปล่อยทุกอย่างเลยตามเลย พยาบาลบอกยังไงครอบครัวก็ทำตามเท่าที่ทำได้ พอเริ่มกลับมาอยู่บ้านช่วงแรกๆ ครอบครัวก็ยังทำเหมือนที่พยาบาลบอก จนระยะหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีความหวังกับการใช้ชีวิต
“เรากลายเป็นคนมีกิจวัตรซ้ำๆ ไปโรงพยาบาลก็หยิบเสื้อเชิ้ตมาคลุมหน้าอกกับสวมกางเกงวอร์มขายาว รองเท้าไม่ใส่ เวลาออกจากบ้านทีคนก็มารุมช่วยเราคนเดียว รู้สึกเป็นภาระกับทุกคน หลังอยู่แบบนั้นเกือบ 3 ปี ก็ตัดสินใจออกจากบ้านเพราะกดดัน ขนาดจะกินน้ำยังต้องรอเขาว่าง เราเลือกอะไรไม่ได้ ได้แค่รอ เหมือนความกดดันทุกอย่างลงที่เรา แต่ความเหน็ดเหนื่อยในการดูแลไปลงที่ครอบครัว”
รัก
ออฟเล่าว่า พอได้เจอเพื่อนคนพิการก็อยากไปเห็นว่าเขาอยู่อย่างไร มีชีวิตยังไง จากนั่งหลังตรงไม่ได้ก็ต้องฝึกนั่งให้ได้ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยคิดเลย แรกๆ อยากไปไหนต้องไหว้วานครอบครัว ตอนหลังเราก็บอกให้เขาส่งขึ้นรถ แล้วมีคนรับปลายทาง
“หากไม่มีเพื่อนคนพิการเข้ามาก็คงยากนะ เพราะการได้เห็นและพูดคุยทำให้รู้ว่า คนพิการทำงานได้ ใช้ชีวิตอยู่ได้ ได้ทำให้ครอบครัวเห็นว่าคนพิการใช้ชีวิตได้ เปลี่ยนความกังวลให้น้อยลงกลายเป็นความไว้ใจมากขึ้น”
พรเล่าว่า สำหรับเธอแล้วครอบครัวเป็นชิ้นส่วนที่เป็นพิษมาก เธอเองอยากซ่อนถุงฉี่แต่แม่อยากให้โชว์เพื่อความสงสาร เธอเองไม่สามารถถ่ายรูปด้วยความยิ้มแย้มได้เพราะแม่ต้องการให้น่าสงสาร
“เราอยากจะไปไหน เขาบอกอย่าเอารถที่บ้านไป รถคันหนึ่งราคาตั้งเท่าไหร่ เราไม่พูดกับแม่มาหลายปีแล้วเพราะความคิดทุกเรื่องคนละขั้ว แต่เราก็เถียงแรงไม่ได้เพราะสุดท้ายเขาก็คือแม่ ทุกอย่างจึงอยู่ที่ความคิด ต่อให้ปรึกษาหมอก็ไม่เหมือนมีคนพิการที่เป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิต
รักมองว่า สังคมไทยไม่มีการเตรียมองค์ความรู้เรื่องความพิการ เอาแต่บอกให้ไปกายภาพ คนในสังคมจึงมักพูดว่าถ้าจะพิการก็ขอตายดีกว่าเพราะมองไม่ออกว่าถ้าพิการแล้วจะอยู่ยังไง แต่หากมีการสนับสนุนเกิดขึ้นคนจะเข้าใจว่าพิการแล้วอยู่ยังไง
“แรกๆ มองว่าการช่วยคนพิการเป็นหน้าที่ พออยู่ไปสักพักเราก็รู้ว่าสิ่งที่ควรทำคือถามความต้องการ แม้บางเรื่องคนพิการใช้เวลาในการทำมากกว่า แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาทำไม่ได้”
อะไรขัดขวางชีวิตอิสระออฟแลกเปลี่ยนว่า พอเราเห็นคนพิการเราก็ลืมไปว่าเขาเป็นมนุษย์ ก็เลยคิดว่าจะทำอะไรกับเขาก็ได้ ไม่มองว่าเขาสามารถคิด ทำ ตัดสินใจได้ คนทำแทนโดยไม่ได้ถามจนไม่มีความพอดี
“แม้จะมีกฏหมาย แต่เรื่องคนพิการก็ถูกคิดแทนเสมอ เช่น คนอยากมีทางเท้าสวยงาม แต่เราไม่ได้ดูเลยว่ามีทางเท้าที่กว้างพอสำหรับทุกคนหรือไม่ รัฐมองคนพิการแบบสงเคราะห์และหลงลืมไปว่าเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของทัศนคติ จึงอยากให้คนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฏหมายได้เรียนรู้เรื่องความพิการ ลองมาเป็นคนพิการนั่งวีลแชร์ที่ใช้รถเมล์ เพราะหากอยากแก้ปัญหาเรื่องคนพิการก็ต้องมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจด้วยกันก่อน หากคนพิการมีส่วนร่วมในกฏหมายที่เกิดขึ้นเราก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการบังคับใช้ที่กลายเป็นเรื่องการขอความร่วมมือ”
พีแลกเปลี่ยนโดยมองว่า คนพิการต้องมีอุปการณ์อำนวยความสะดวกที่ดี อย่างรถเข็นจากรัฐที่เขาเรียก “รถถัง” ซึ่งใช้งานไม่ได้จริง หลังจากเปลี่ยนคันก็พบว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่รถเข็นที่คล่องตัวก็มีราคาสูง คนพิการที่รายได้ไม่มากก็เข้าไม่ถึง
“ถึงมีรถเข็นดียังไง แต่ถ้าเจอทางลาดปลิดวิญญาณก็แทบหงายท้องลงมาตาย ทำให้เห็นว่าอุปกรณ์ดีแค่ไหน เจอสภาพแวดล้อมแย่ก็ลำบาก รัฐควรมีสวัสดิการที่ทำให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้จริง เข้าถึงอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่ใช้ได้จริงเพราะคนเราออกไปข้างนอกก็มีโอกาสพิการได้เสมอเพราะอุบัติเหตุท้องถนนหรือโครงสร้างที่ไม่ปลอดภัย”
ทิ้งท้าย“คนพิการรุนแรงไม่มีผู้ช่วยคนพิการไม่ได้เลย อยากให้มีอาชีพผู้ช่วยที่เป็นอาชีพอันทรงเกียรติและคนพิการเข้าถึงได้ เราไม่รู้หรอกว่ามีสวัสดิการผู้ช่วยคนพิการไหม แต่เราไม่ได้ เข้าไม่ถึง ทำให้ทุกวันนี้คนพิการหลายบ้านต้องใช้แรงงานต่างด้าว” พรกล่าว
“หลายคนพูดว่าคนพิการไม่มีสิทธิเลือกซึ่งสะท้อนผ่านนโยบายของภาครัฐ แต่แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระนั้นสะท้อนให้เห็นว่าคนเราอยากมีชีวิตที่เลือกเองได้แล้วนโยบายรัฐออกแบบให้คนพิการใช้เองได้หรือไม่ เวลาคนพิการไปขึ้นรถไฟฟ้า บางทีต้องรอลิฟต์เกาะบันไดนานๆ หรือไม่ก็มี รปภ.วิ่งมาวุ่นวายกันทั้งสถานี แสดงให้เห็นว่านโยบายหรือแนวทางปฏิบัตินั้นใช้งานจริงไม่ได้ ผมคิดว่าเราไม่ควรมองว่า รัฐจะคุ้มทุนจากการทำงานเรื่องคนพิการได้อย่างไร เพราะแท้จริงแล้วการลงทุนกับคนพิการในฐานะประชาชนคนหนึ่งเพื่อให้เขาสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้นคุ้มทุนด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว” รักกล่าว
“การมีชิวิตอิสระจะทำให้คนพิการถูกมองอย่างเป็นมนุษย์เหมือนกับคนอื่นและทำให้สังคมมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและทำให้คนมองว่าทุกคนในประเทศนี้สามารถมีชีวิตได้อย่างที่ตัวเองต้องการ” ออฟแลกเปลี่ยน
Livingบทความคุณภาพชีวิตการเมืองสิทธิมนุษยชนการดำรงชีวิตอิสระคนพิการindependent livingเสรีภาพหรือเสรีพร่อง
We Fair เดินสายยื่นข้อเสนอ "รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"
We Fair เดินสายยื่นข้อเสนอ "รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา We Fair หรือ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม เดินสายยื่นชุดข้อเสนอ "รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ณ รัฐสภา เกียกกาย
We Fair เดินสายยื่นชุดข้อเสนอ "รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" แก่ 15 พรรคการเมือง โดยข้อเสนอครอบคลุม 9 ด้านตั้งแต่แรกเกิด ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ รายได้ จนถึงการพัฒนาเงินยังชีพเบี้ยคนชรา มีใจความดังนี้
ในขณะที่สวัสดิการสังคมมีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน แต่สวัสดิการยุครัฐบาลประยุทธ์ กลับเน้นระบบสงเคราะห์เชิงอุปถัมภ์ พิสูจน์ความจน การเข้าไม่ถึงสิทธิเสมอกัน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ดังนี้
1.เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท/เดือน สำหรับครอบครัวรายได้ 100,000 บาท ทำให้เด็ก 4.2 ล้านคน ได้รับเพียง 2.8 ล้านคน
2. ลูกคนจนเข้าถึงมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 4
3. งบประมาณการรักษาพยาบาลเหลื่อมล้ำ ประกันสังคม 3,959 บาท บัตรทอง 3,800 บาท ข้าราชการ 15,000 บาท
4. ที่อยู่อาศัยราคาแพง
5. แรงงานมีชั่วโมงการทำงานตรากตรำ การลาคลอดไม่เพียงพอต่อพัฒนาการเด็ก
6. แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบประกันสังคมน้อยกว่า 50%
7. การไม่รับรองกฎหมายระบบบำนาญประชาชน 5 ฉบับ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ปรับขึ้นนับตั้งแต่ปี 2554
8. เบี้ยความพิการต่ำกว่าเส้นความยากจน 3.5 เท่า
9. ระบบภาษีขาดบทบาทในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ขาดการพัฒนาภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีกำไรจากการลงทุน ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) งบประมาณการจัดสวัสดิการสังคมเหลื่อมล้ำ
เครือข่าย We Fair ในฐานะภาคประชาสังคมที่ติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ นโยบายสวัสดิการสังคม จึงได้จัดทำ “ชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เพื่อนำเสนอต่อพรรคการเมือง ในฐานะสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย และมีบทบาทในการจัดสรรภาษีงบประมาณและกระจายประโยชน์ไปยังประชาชน ซึ่งจะเป็นการสร้างเจตจำนงร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคม ระหว่างภาคประชาสังคมกับพรรคการเมือง
ประกอบด้วย
1. เงินอุดหนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า
2. การศึกษาฟรีตลอดชีวิต
3. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่าเทียม
4. การเข้าถึงสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดิน
5. งานและรายได้ที่เป็นธรรม สิทธิลาคลอด 180 วัน
6. การพัฒนาสิทธิประโยชน์ระบบประกันสังคม
7. การพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญถ้วนหน้า
8. สิทธิทางสังคม เงินอุดหนุนคนพิการ สิทธิสวัสดิการการข้ามเพศ สวัสดิการผ้าอนามัย ขนส่งสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ
9. ระบบภาษีและงบประมาณเพื่อสวัสดิการสังคม
ทั้งนี้ We Fair มีกำหนดการที่จะยื่นข้อเสนอถึงพรรคการเมืองทั้ง 15 พรรคดังนี้
17 มกราคม 2566 ณ ที่ทำการพรรค : พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคประชาชาติ พรรคสามัญชน
18 มกราคม 2566 ณ อาคารสัปปายะสภาสถาน พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย
19 มกราคม 2566 ณ อาคารสัปปายะสภาสถาน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคก้าวไกล
20 มกราคม 2566 ณ ที่ทำการพรรค พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคแรงงานสร้างชาติ
Socialข่าวคุณภาพชีวิตการเมืองWe Fairเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมรัฐสวัสดิการ"ผมอยากให้เขาเห็นงานคือสิ่งมีคุณค่า ไม่ใช่เห็นว่าพิการเลยซื้อ" กว่าจะเป็น เอกชัย วรรณแก้ว ศิลปินไร้แขน
“พอไปสมัครเรียนผมเจอแต่คำปฏิเสธ ครูใหญ่คนหนึ่งเคยพูดเมื่อ 30 ปีก่อนว่า โรงเรียนนี้คือโรงเรียนของคนปกติไม่ใช่ของคนพิการ ถ้าคุณอยากให้ลูกคุณเรียน ก็ไปเรียนโรงเรียนคนพิการ”
หลายคนอาจรู้จัก เอกชัย วรรณแก้ว ในฐานะศิลปินไร้แขน ภาพเสมือนจริงที่เขาวาดพระและบุคคลสำคัญหลายคนได้รับเสียงชื่นชมในฐานะคนทำงานศิลป์ที่การันตีด้วยรางวัลและความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ฉายอยู่เบื้องหน้าในฐานะต้นแบบของคนจำนวนมาก
แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ากว่าเขาจะมีวันนี้ เอกชัยต้องฝ่าด่านแรกของปัญหาที่คนพิการเกือบทุกคนต้องเจอ และเป็นด่านที่หินที่สุดด่านหนึ่งนั่นคือปัญหาการศึกษา แม้จะอยากเรียนมากแค่ไหนก็ตาม เอกชัยถูกโรงเรียนปฏิเสธเพราะว่าพิการ และเขาต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้มีโอกาสไปสู่ทางที่ตัวเองตั้งใจ
เราชวนเอกชัยนั่งคุยท่ามกลางภาพวาด สี พู่กันที่รายล้อม ภาพวาดทุกภาพเกิดจากความคิดและความเชื่อของเขาในฐานะนิสิตปริญญาโท คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า กว่าจะประสบความสำเร็จนั้นเขาผ่านอะไรมาบ้าง
เอกชัย : ผมมองว่าตัวเองไม่ใช่ศิลปิน แต่เป็นคนที่ชอบงานศิลปะ ชอบเขียนรูป สำหรับผมคำว่าศิลปินนั้นยิ่งใหญ่ ต้องก้าวไปเยอะกว่านี้ ศิลปินที่ผมพูดได้เต็มปากก็มีอาจารย์ถวัล ดัชนีและอาจารย์เฉลิมชัย โกสิตพิพัฒน์ ส่วนผมก็แค่พู่กันเล็กๆ ที่อยากรู้จักงานศิลปะแค่นั้นเอง
ผมชอบงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นงานเขียนรูป ประติมากรรม ภาพพิมพ์หรือการทำสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ทุกอย่างคืองานศิลปะ ไม่จำเป็นต้องเขียนรูปอย่างเดียว การร้องรำทำเพลงก็คืองานศิลปะ
เริ่มแรกผมเขียนรูปแล้วก็มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนๆ มาเห็นแล้วชอบ ตอนที่ผมเด็กๆ เพื่อนเห็นเราเขียนการ์ตูนเล่นแล้วเขาชมว่าสวย อยากให้เขียนในสมุดการบ้านและเอาลูกอมมาให้ 2-3 เม็ด ตอนนั้นผมรู้สึกว่างานมีค่าและทำตรงนี้ได้ดี
กว่าจะมีโอกาสได้เรียนหนังสือผมโดนปฏิเสธเยอะจึงได้เข้าเรียน ป.1 ตอนอายุ 13 ทั้งอยากเรียนหนังสือตั้งแต่ตอน 6 ขวบเพราะอยากอ่านหนังสือออก เราเห็นหนังสือที่พี่ซื้อมาอย่างขายหัวเราะ แล้วเราเอามาเปิดแต่อ่านไม่ออก จึงจินตนาการว่าเขาพูดอะไรกัน จนพี่เข้ามาเห็นผมหัวเราะและเกิดความสงสัยว่าอ่านออกเหรอ ผมเลยบอกว่าไม่ออก แต่จินตนาการเอา
ตอนนั้นคิดว่าถ้าอ่านหนังสือออกคงดีมาก จะได้ไม่ต้องรอพี่อ่านให้ฟัง เพราะพี่แต่ละคนก็ทำงาน ช่วยแม่ทำนา ทำไร่ เลี้ยงวัว อีกอย่างคือเราอยากมีเพื่อน พอเห็นเด็กคนอื่นไปโรงเรียนกันหมด แล้วมีเราคนเดียวที่อยู่บ้านก็ได้แต่ฟังเขาเล่าว่าโรงเรียนมีขนม
เมื่อก่อนผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการ จนครั้งหนึ่งแม่พาไปตลาดนัด พอแม่เราอุ้มเราลงจากเอว ทุกคนหยุดแล้วจ้องเรา เรารู้สึกได้ว่าสายตาเป็นสิบๆ จากแม่ค้า คนเดินซื้อของมองด้วยสายตาที่ไม่เหมือนกับสายตาของแม่ มองราวกับว่ามึงคือตัวประหลาด ผมเกลียดสายตานั้นมากและอยากกลับบ้าน จากวันนั้นจึงไม่อยากออกไปไหน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า แตกต่างจากเพื่อนตรงไหนเพราะผมเกิดมาก็อยู่กับเด็กไม่พิการ ไม่รู้ว่าพิการคืออะไร เราทำทุกอย่างเหมือนเพื่อนได้ แค่ช้ากว่าคนอื่นเท่านั้นเอง
พอไปสมัครเรียนผมเจอแต่คำปฏิเสธ ครูใหญ่คนหนึ่งเคยพูดเมื่อ 30 ปีก่อนว่า โรงเรียนนี้คือโรงเรียนของคนปกติ ไม่ใช่โรงเรียนของคนพิการ ถ้าคุณอยากให้ลูกคุณเรียน ก็ไปโรงเรียนคนพิการหรือโรงเรียนเด็กพิเศษ พ่อแม่ไปดูแล้วพบว่า 80% ของเด็กในนั้นคือคนพิการถูกทิ้งและส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
เราไปเรียกร้องสิทธิกับศึกษาธิการจังหวัดและเขารับเรื่องไว้ บอกว่าจะติดต่อกลับ แต่สุดท้ายก็เงียบไปตั้งแต่ผม 6 ขวบจนอายุ 13 รวมประมาณ 7 ปี จนผมเกิดคำถามว่าทำไมเพื่อนบางคนที่ไม่อยากเรียนกลับได้เรียน แต่ผมอยากเรียนกลับไม่ได้เรียน
จากโฆษณาเด็กไทยอยากเรียนต้องได้เรียนตอนอายุ 13 ผมดูโฆษณาหนึ่งในโทรทัศน์ เขาบอกว่าเด็กไทยทุกคนถ้าอยากเรียนต้องได้เรียน มีทุน กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) ก็เลยเอาคำพูดในโฆษณาไปถามพ่อ พ่อก็เลยไปถามผู้ใหญ่และกำนัน เขาก็แนะนำให้ลองไปที่ศึกษาธิการจังหวัดเผื่อมีทางช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
เราบอกพ่อว่า ถ้าไปครั้งนี้แล้วเงียบอีกผมจะไม่ไปอีกแล้ว เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการรอ วันนั้นพ่อยื่นเอกสารและมีลุงคนหนึ่งไม่แต่งชุดข้าราชการมาเซ็นต์ชื่อ เขาถามผมว่า ตัวเล็กมาทำอะไรลูก ผมจึงเล่าสิ่งที่เจอให้เขาฟัง
ลุงถามผมว่า ถ้าได้เรียนกับเด็กไม่พิการ ต้องมีใครคอยช่วยไหม ตอนกินข้าว เข้าห้องน้ำ ต้องมีคนช่วยไหม ผมบอกกับเขาว่า ไม่ต้องครับ ผมทำเองได้ เขาก็ยังไม่เชื่อจึงให้ผมทำให้ดู ผมก็ถอดเสื้อ กินข้าว เขียนหนังสือให้แกดูว่าผมทำได้ แต่ผมก็บอกลุงว่าผมอ่านไม่ออก ลุงแกก็เขียนชื่อแล้วให้ผมเขียนตาม ผมก็เขียนตามได้ วันนั้นเป็นวันที่ผมได้เรียน ป.1 ลุงคนนั้นคือหัวหน้าศึกษาธิการจังหวัด ขนาดวันที่ผมไปกับลุงเขา ครูใหญ่ยังปฏิเสธเหมือนเดิมและบอกว่าเราเกินเกณฑ์แล้ว ลุงจึงพูดว่า ทำไมยังไม่ได้ทดสอบแล้วตัดสินว่าเขาเรียนร่วมกับคนอื่นไม่ได้ และคุณไม่ควรปฏิเสธ
ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นจากการปลูกฝัง คนเรามองว่า คนพิการต้องถูกช่วยเหลือตลอด เพราะเห็นคนพิการ 90% เป็นขอทาน ขายล็อดเตอรี่ ผมคิดว่ากระทรวงหรือรัฐบาลกำลังเดินทางผิด เพราะเขาให้แค่เงิน ให้ของ แต่ไม่ได้ให้โอกาส ความรู้หรืออาชีพแก่คนพิการ แถมบางทีให้อาชีพแต่เป็นสิ่งที่เขาไม่ถนัด ก็เหมือนคุณบังคับเขา เช่น คนพิการต้องทอผ้าเช็ดเท้า เขาชอบไหมก็เปล่าแต่ต้องทำเพราะเลือกไม่ได้ บางองค์กรหรือรัฐก็ให้ตังค์ เงินแค่นี้จะทำอะไรได้ ฉะนั้นควรปรับและให้โอกาสคนพิการได้ลองทำตามศักยภาพ ไม่ว่าจะพิการประเภทไหน
ไม่ว่าจะใช้อะไรวาดก็ต้องฝึกผลงานของผมไม่ได้โดดเด่นอะไร แค่เขียนไปตามที่อยากเขียน มีคนเขียนสวยกว่าผมเยอะแยะ แต่สิ่งที่โดดเด่นก็คือคนอื่นใช้มือ แต่ผมต้องใช้ไหล่ ใช้เท้าเขียน ผมเคยได้ไปสอนพี่นทีป์ คนปากศิลป์ ที่เป็นสตันท์แมนแล้วเกิดอุบัติเหตุ จึงทำให้ใช้ได้แค่ปาก ผมก็ต้องเอาตัวเองมาฝึกใช้ปากวาดเพราะอาจารย์เคยสอนว่า ถ้าเราไม่รู้ อย่าไปบอกว่าเรารู้ คนจะจำในสิ่งที่เราสอนว่าคือสิ่งที่ถูก ผมจึงต้องลองใช้ปากว่าเขียนถนัดไหม ข้อดี ข้อเสียของการใช้ปากคืออะไร
รูปแบบงานผมเป็น Realism ตัดทอนมาจากองค์ประกอบส่วนต่างๆ เมื่อก่อนนี้ผมวาดแบบสมจริงสุดๆ เรียกว่า Super-Realism ต้องเก็บงานละเอียดมาก หรือแม้แต่รูปในหลวงก็เก็บเหงื่อทุกเม็ด แต่เขียนๆ ไปเรารู้สึกว่าอิ่มตัว มองว่ามีอะไรที่พัฒนาไปได้มากกว่านี้และไม่อยากให้คนไทยยึดติดกับคำว่าสวยคือเหมือนจริง แต่ดูงาน Abstract หรือ Pop-art ไม่เป็น
เคยมีคนบอกว่ารูปผมแพงแต่ไม่เห็นเหมือนเลย เราบอกอยากให้เหมือนก็ถ่ายรูปเลย เหมือนเป๊ะ ผมคิดว่ามูลค่าของของนั้นขึ้นอยู่กับสถานที่ที่มันอยู่ด้วย อย่างเหรียญหลวงปู่ทิม เมืองนอกเห็นก็มองว่าเป็นโลหะชนิดหนึ่ง แต่พอมาอยู่เมืองไทยเหรียญนี้มีมูลค่าถึงแสนสอง ช่วงหลังงานผมสอดแทรกเอกลักษณ์ส่วนตัวไว้ อย่างรูปน้ำตก มีต้นไม้ที่มีส่วนโค้งคล้ายหัวไหล่ผม สิ่งนี้แทนตัวตนของเรา
มีความพิการอยู่ในภาพบ้างไหมมีแต่ซ่อนไว้ในแต่ละภาพที่ต่างกัน ผมไม่ได้สื่อคำว่าพิการตรงๆ สำหรับผมทุกคนพิการหมด เช่น เอาไปเปรียบกับช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายมีใครบ้างที่ไม่เปลี่ยนแปลง ความพิการของผมสื่อถึงสภาพที่ไม่แน่นอน บางคนอาจจะหูได้ยินไม่เท่ากัน สายตาไม่เท่ากันก็ได้
บางคนมองว่าเท้าเป็นของต่ำคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกปลูกฝังกันมาว่าเท้าเป็นของต่ำ ถ้าพูดตามหลักการแล้วเท้ากับมืออะไรสกปรกกว่ากัน เวลาไปไหนมาไหนคุณใส่รองเท้า แต่ใช้มือจับอะไรสารพัด คนถามควรต้องเปลี่ยนคำดูถูก เป็นการชื่นชมว่าเขาโคตรพยายามเลย เขาเจ๋งว่ะ ต่างชาติเวลาเห็นเขาไม่ได้ดูถูก แต่รู้สึกเซอร์ไพร์ ไม่มองหรอกว่าต่ำไม่ต่ำ แต่ชื่นชมในสิ่งที่เขาทำไม่ได้
บางทีผมเห็นแววตาของคนซ้ำที่รู้สึกอยากได้ผมก็ขาย 10 - 20 บาท เพราะรู้สึกว่าเขาเห็นคุณค่าของงานผม แต่บางคนมาซื้องานให้ราคาเป็นหมึ่นเป็นแสน แต่รู้สึกสมเพศหรือสงสารที่ผมพิการ หรืออยากออกสื่อ ผมก็ไม่ขาย ผมอยากให้เขาเห็นงานคือสิ่งมีคุณค่า ไม่ใช่เห็นว่าพิการเลยซื้อ เพราะหากดูถูกผลงานก็เหมือนดูถูกเราไปด้วย
Livingสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตศิลป-วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนเอกชัย วรรณแก้วสรุปเสวนา “ผิดไหมถ้าฉันจะรัก” เสวนาว่าที่ว่าด้วยเสรีภาพในความรักของคนพิการ
10 ธ.ค.2565 Thisable.me, ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส.) และประชาไท จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “ผิดไหมถ้าฉันจะรัก” เสวนาว่าที่ว่าด้วยเสรีภาพในความรักของคนพิการ ชวนพูดคุยเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องความรักและความพิการ ที่ร้านดีคอมมูเน (Die Kommune) เลียบคลองทวีวัฒนา โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 คน คือ ชวนคุยกับ ออม-รณภัฏ วงศ์ภา, เจิน-ชมพูนุท บุศราคัม และเก่ง-ณรงค์ศิลป์ ล้านศรี ดำเนินรายการโดยอธิพันธ์ ว่องไว
ชมพูนุท บุศราคัมหรือเจิน นั้นทำงานด้านการตลาดและการสื่อสาร เธอพิการจากอุบัติเหตุตอนคลอด เนื่องจากเอาขาออกจึงช่วงสะโพกหลุดต้องผ่าตัดและเดินไม่ได้ และตอนนี้ก็เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย
ณรงค์ศิลป์ ล้านศรีหรือเก่ง เป็นทีมสื่อสารมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมที่พิการทางการเคลื่อนไหวจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อ 13 ปีที่แล้ว
รณภัทร วงศ์ภาหรือออม ทำงานที่ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระพุทธมณทล เขาพิการหลังถูกกระสุนยิงเข้าไขสันหลังจนทำให้เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ตอนนี้เขายังไม่มีแฟนและมีบ้างที่แอบรักข้างเดียว
รักคืออะไรเก่งมองว่า รักคือการแชร์ซึ่งกันและกัน ในขณะที่ออมมองว่า รักไม่ต้องมีรูปแบบเพราะเกิดขึ้นตามธรรมธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับความสุขของคนคนนั้น ซึ่งสามารถปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่ง เจินมองว่า รักคือการเป็นพาร์ทเนอร์กัน แชร์เรื่องราวของกันและกัน อยู่ด้วยกันและปรับตัวเข้าหากัน ใช้อีกครึ่งหนึ่งของชีวิต แชร์ความทรงจำ แชร์ความสุข เป็นคนคอยรับฟัง
ประสบการณ์ความรักเจินนั้นมีทั้งประสบการณ์มีแฟน แอบรัก หรือคนคุย แต่ละครั้งก็มีความแตกต่างกัน เมื่อเธอเป็นคนนั่งวีลแชร์หลายครั้งเธอไม่กล้าบอกว่าแอบชอบ เธอเล่าว่าตอนมีแฟนก็เป็นช่วงชีวิตที่แฮปปี้ดี เพราะเจอคนที่ดูแลดี เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดี หลังจากคบกันมาสองปี เขาบอกว่าที่ผ่านมานั้นไม่ได้รักแต่แค่สงสาร คำพูดนี้สร้างคำถามในใจว่าที่ผ่านมาคืออะไร ยิ่งเพราะมีความพิการ เธอยิ่งรู้สึกลดทอนคุณค่าในตัวเองจากคำว่าสงสารจากคนที่เข้ามาในชีวิต เธอรู้สึกว่าการนั่งวีลแชร์เป็นเงื่อนไขที่ต้องคิด ยิ่งเวลาไปไหนแล้วแฟนต้องเป็นฝ่ายช่วยเมื่อสภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้อ อีกฝ่ายอาจคิดว่าต้องดูแลเยอะ เธอจึงมองว่า ถ้าสภาพแวดล้อมรอบตัวพร้อมกว่านี้ ก็อาจจะเจอความรักที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น
หลังจากคำพูดว่าสงสารก็ทำให้การคบใครนั้นยากขึ้น เจินเล่าว่าสิ่งนี้เปลี่ยนทัศนคติเรื่องความรัก ก่อนหน้านี้เธอเคยมองว่าคนสองคนที่อยากอยู่ด้วยกันแค่รักกันก็จบ แต่พอเจอคำนั้นก็รู้ว่าไม่ใช่แค่คำว่ารักอย่างเดียว แต่ปัจจัยอื่นก็มีผลต่อความสัมพันธ์อย่างมาก
ออมเล่าว่า ความรักหลังจากพิการในช่วงแรกมีแฟนเป็นคนซัพพอร์ททุกอย่าง เช่น ขับรถมารับ แต่วันหนึ่งก็รู้สึกว่า อยากเป็นคนที่ดูแลเขาบ้าง จึงตัดสินใจขับรถ ตอนมีความสัมพันธ์เจอกับอุปสรรคเรื่องครอบครัวอีกฝ่ายที่ไม่ยอมรับ กลายเป็นไม่กล้าเปิดเผยเรื่องความรักให้พ่อแม่รู้ พอผ่านไปหลายปีก็เริ่มไม่แน่ใจว่า สิ่งนี้คือความรักหรืออะไร สุดท้ายพอโควิด-19 เข้ามาก็เริ่มห่างกัน แล้วก็เลิกกัน นอกจากความห่างที่ทำให้เลิกกัน ความพิการก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้แฟนมองว่า ไม่สามารถดูแลได้
เก่งเล่าความรักในมุมมองของ LGBT+ ว่าก่อนหน้านี้ไม่กล้าเปิดตัว แม้แต่หลังพิการก็ยังไม่กล้า เขาไม่ยอมรับตัวเอง ทำทุกอย่างอย่างแอบๆ ช่วงแรกเวลาแอบชอบใครเขาจะไม่เปิดเผยความพิการ จนวันหนึ่งมั่นใจที่จะบอกทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมดเลย เจอทั้งการให้กำลังใจ สงสาร และเฟดตัวหายไป สิ่งนี้เป็นบทเรียนมาเรื่อยๆ ว่าการเป็น LGBT+ ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ความสุขของเรา ชีวิตของเรา ถ้าคนอื่นมีความสุขได้ เราก็ควรให้เกียรติตัวเองให้มีความสุขได้เหมือนกัน เราเป็นคนที่ไม่เคยสมหวังในความรัก แต่ยังเชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความรักสมบูรณ์ได้ต่อให้สังคมตัดสินตีตรา มีหลายช่วงของชีวิตโดยเฉพาะตอนก่อนกลับไปเรียนหนังสือ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยอมรับกับความเศร้าของตัวเอง โชคดีที่มีเพื่อนดี ให้พลังใจและจินตนาการในการโอบกอดตัวเอง พอเราได้คิดตามว่าอยากจะมีชีวิตอย่างไร จากวันที่ล้มเหลวในชีวิตก็เริ่มหาหนทางเพื่อไปถึงชีวิตที่เราต้องการจริงๆ”
คนพิการไม่มีใครรักจริงหรอกเจินเล่าว่า ไม่ต้องเป็นคนพิการก็โดนหลอกได้ เธอมองว่าทุกครอบครัวก็ห่วงลูกว่าถ้าอยู่กับคนนี้จะดูแลลูกเราได้หรือเปล่า โชคดีที่ครอบครัวของเธอค่อนข้างเปิด ถ้าใครรักได้เท่าที่ครอบครัวรัก ก็ไม่ติดเลย
“หากถามว่าเป็นคนพิการจะไม่ถูกรักหรือเปล่า เราไม่เชื่อ คนเกิดมาด้วยด้วยความรัก ไม่ว่าความรักจากเพศตรงข้ามหรือคนรอบข้าง คนพิการก็ถูกรักได้ เรายังเชื่อว่าสักวันจะเจอคนที่รักในแบบที่เราเป็น”
เก่งเล่าว่า แม่ของเขามักพูดว่า ถ้าเก่งไม่พิการมีแฟนไปเยอะแล้ว พอพิการแม่บอกว่าต้องหาเงินเยอะๆ ก็จะมีคนมาชอบหัวกระไดไม่แห้ง ในขณะที่ตัวเก่งมองว่า ถ้าคนพิการสามารถดูแลตัวเองได้ เรื่องความรักก็จะมีเอง
ออมเองมองว่า ไม่กลัวถูกหลอกเพราะทั้งชีวิตก็ถูกหลอกมาเยอะแล้ว ญาติก็พูดใส่หูประจำว่าไม่มีใครรักจริงหรอก หลายครั้งก็เสียใจจนเกิดความเจ็บปวด ทำให้มีเซฟโซน ไม่กล้าไปจีบใคร
คนในสังคมมองความรักและคนพิการอย่างไรออมเล่าว่า ตอนไปดูหนังหรือกินข้าวพอเห็นคนพิการมีแฟนสวย คนก็มองเยอะ เขาอาจจะอิจฉาที่เรามีแฟนสวย ถ้าเรามั่นใจจะใช้ชีวิตเราก็ทำตัวปกติ แม้สังคมอาจจะมองว่าไม่เหมาะสมก็ตาม
เก่งมองว่า หากไปเดตแล้วสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ก็ทำให้การใช้ชีวิตของคนพิการดูไม่ปกติ ตราบใดที่ไทยยังไม่สามารถทำให้คนพิการใช้ชีวิตปกติได้ ทุกมิติของคนพิการก็จะถูกมองว่าแปลกอยู่เสมอทั้งการทำงานหรือความรัก จึงอยากส่งเสียงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำพื้นที่ให้คนพิการสามาถใช้ชีวิตได้อย่างมนุษย์ปกติคนหนึ่ง ถ้าวันนั้นมีจริงคนพิการก็ไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลก ไม่รู้สึกแปลกแยก
เจินเล่าว่า เธอเรียนในโรงเรียนต่างจังหวัดมาตลอด ที่ผ่านมารู้สึกแปลกแยกและแตกต่าง เธอเคยได้ยินเพื่อนคุยกันว่า หากเจินไปด้วย กูก็ไม่ไป กูอายเขา ไม่ได้อยากมีเพื่อนแบบนี้ อยากไปสวยๆ ทำให้เกิดคำถามว่า คนเราตัดสินกันแค่รูปลักษณ์ภายนอกจริงๆ เหรอ สิ่งนี้เปลี่ยนชุดความคิดของเธอให้ตัดสิ่งที่ไม่ดีต่อใจออกไป
“มีแฟนแรกๆ ไม่กล้าเปิดตัว อาย เพราะสังคมมองว่าคนพิการเป็นคนอีกชนชั้นด้วยความไม่พร้อมของสภาพสังคม คนทั่วไปเห็นว่าคนพิการต้องใช้ชีวิตไม่ปกติ เขาก็ช่างน้ำหนักแล้วว่าจะดูแลเราได้หรือเปล่า หากได้ชีวิตด้วยกันสักพัก เขาถึงจะเห็นว่าคนพิการก็ใช้ชีวิตได้ หาเงินได้ มีเพื่อน เวลาเจอคนดีดีที่ดูแลเราได้เราก็รู้สึกดี แต่ไม่ใช่ต้องมองว่าคนไม่พิการต้องเป็นคนดีมาดูแล ทัศนคติที่บอกว่าคนไม่พิการดูแลคนพิการเป็นคนดีมากควรเปลี่ยนและเข้าใจว่าเราเท่าเทียมกัน
เก่งมองว่า ปัจจุบันองค์ความรู้เรื่องความพิการยังมีน้อยมาก เพราะหลังจากพิการเขาก็ไม่รู้จะหาองค์ความรู้จากไหนเพื่อเตรียมตัวว่าพิการแล้วต้องทำยังไง ต้องใช้ชีวิตอย่างไร ถ้ามีองค์ความรู้นี้จะทำให้รู้ว่า คนพิการควรใช้ชีวิตอย่างไรและคนทั่วไปมีความคิดอย่างไรต่อคนพิการ
ออมมองว่า ถ้าวันหนึ่งถ้ามีสวัสดิการผู้ช่วยคนพิการก็จะทำให้คู่ของคนพิการไม่มองว่าคนพิการเป็นภาระ และมีความเข้าใจกันและกันมากขึ้น เช่นเดียวกับเก่งที่มองว่า ถ้ามีรัฐสวัสดการที่ส่งเสริมเรื่องผู้ช่วยได้จริง ตัวเขาก็สามารถจัดการตัวเองได้ ไม่ต้องรักใครสักคนเพื่อให้มาดูแลเราและไม่มาแชร์กันด้วยภาระ
เจินมองว่า ถ้ามีรัฐสวัสการทุกคนในประเทศจะมีความรักที่ดีได้ ได้มีโอกาสหันไปมองมิติอื่นนอกจากเรื่องปากท้อง ถ้าแม้แต่ตัวเองยังดูแลไม่ได้ ก็อาจเกิดความคิดว่าจะไปดูแลคนอื่นได้เหรอ
ให้ความหมายสิทธิเสรีภาพเรื่องความรักอย่างไรเจินนึกถึงความเท่าเทียม สังคมต้องมีทัศนคติของการทำให้คนเท่าเทียมกันก่อน ขณะที่เก่งนึกถึง ความรักและเสรีภาพในตัวเอง เขามองความรักเป็นเรื่องปัจเจกที่ปราศจากการคิดตัดสิน
ชมไลฟ์เสวนาที่ https://fb.watch/hSj0ued0Kv/
Socialรายงานพิเศษคุณภาพชีวิตสิทธิมนุษยชนความรักคนพิการความสัมพันธ์
Thisable.me ยื่นร้อง สนง.รถจ้างสาธารณะสนามบินดอนเมือง หลังคนขับในเครือเก็บเงินค่าวีลแชร์เพิ่ม อ้างเป็นสัมภาระใหญ่
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ต.ค.65 ทีมงาน Thisable.me ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคนนั่งวีลแชร์ได้เดินทางด้วยเครื่องบินออกจากท่าอากาศยานตรังไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง และได้ไปยังจุดรถแท็กซี่สาธารณะให้บริการผู้โดยสารบริเวณชั้น 1 อาคารจอดรถ 7 ชั้น เชื่อมกับโถงผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ เพื่อเดินทางไปยังมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน
เวลาประมาณ 19.30 น. เจ้าหน้าที่จุดรถแท็กซี่ได้เรียกให้ไปขึ้นรถ เมื่อถึงที่หมายผู้ขับแท็กซี่ได้เรียกเก็บเงินค่าโดยสารเป็นจำนวนเงิน 324 บาท ทั้งที่ค่าโดยสารที่ปรากฎบนมิเตอร์แท็กซี่ราคา 174 บาท และเมื่อรวมกับส่วนต่างเพิ่มอีก 50 บาทตามประกาศกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 แล้วก็จะเป็นเงินทั้งหมด 224 บาท
ขณะที่กำลังหาเงินจ่าย ผู้ขับแท็กซี่แจ้งราคาค่าใช้จ่ายทั้งหมด 324 บาท โดยอ้างว่า ค่าส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 100 บาทนั้นเป็นค่าวีลแชร์ และให้เหตุผลว่าวีลแชร์เป็นกระเป๋าสัมภาระขนาดใหญ่ หลังจากนั้นผู้ขับแท็กซี่เร่งให้ผู้เดินทางร่วมกับคนนั่งวีลแชร์ รีบเอากระเป๋าและวีลแชร์ลงด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่ไม่เป็นมิตร
ทั้งที่ผ่านมาทีมงานผู้ใช้วีลแชร์รายนี้เดินทางด้วยเครื่องบินจากท่าอากาศดอนเมือง และใช้บริการจุดแท็กซี่สาธารณะให้บริการผู้โดยสารบริเวณชั้น 1 หลายครั้ง ยังไม่เคยเจอผู้ขับแท็กซี่เรียกเก็บเงินค่าวีลแชร์เพิ่มเติมแต่อย่างใด
หลังจากทีมได้ค้นหาช่องทางร้องเรียนจากเว็บไซต์กูเกิ้ล และพบข้อมูลบนเว็บไซต์ว่า “Conversation. ทอท. มีมาตรการการแก้ไขปัญหาแท็กซี่ เอาเปรียบผู้โดยสาร! ไม่มีใครอยากเป็นเหยื่อ หากพบผู้ขับขี่แสดงพฤติกรรมแย่ เอาเปรียบ เรียกค่าโดยสารเกินมิเตอร์ จำไว้เลยเบอร์ 1722 ร้องเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง #ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ #ท่าอากาศยานดอนเมือง facebook.com/AOTofficial/po… Translate Tweet.” ดังนั้น จึงได้โทรหาเบอร์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่รับสายแจ้งว่าเบอร์นี้มีไว้ร้องเรียนแท็กซี่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้นหลังจากโทรติดตามความคืบหน้า 2-3 ครั้ง จากการโทรสอบถามเบอร์ 1722 และเบอร์ประชาสัมพันธ์ท่าอากาศยานดอนเมืองหลายครั้ง เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 65 ได้มีเบอร์ 02-535-3653 โทรเข้ามาแจ้งว่า ได้เรียกผู้ขับแท็กซี่ที่ถูกร้องเรียนได้ถูกเรียกเข้ามารายงานตัวและสอบสวน แต่เจ้าตัวยังไม่มารายงานตัวตามที่ถูกเรียก
วันที่ 24 พ.ย. 65 พิชญาหนึ่งในผู้เดินทาง ได้เดินทางไปยังสำนักงานการให้บริการรถจ้างสาธารณะท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อพูดคุยกับกิตติพงษ์ พึ่งพา ผู้รับผิดชอบส่วนงานการให้บริการรถจ้างสาธารณะท่าอากาศยานดอนเมืองว่า มีนโยบายกับผู้โดยสารที่เป็นคนพิการอย่างไรบ้าง กิตติพงษ์เล่าว่า ที่จุดรอแท็กซี่ท่าอากาศยานดอนเมืองจะมีช่องพิเศษสำหรับผู้โดยสารที่เป็นคนพิการที่มีความพิการเชิงประจักษ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และนักบวช
ส่วนเรื่องการเก็บค่าบริการอื่นๆ นอกเหนือจากค่าแท็กซี่ กิตติพงษ์กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการอื่น กรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษ สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI-METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 ข้อ 2 ในประกาศนี้ “สัมภาระ” หมายความว่า สินค้า สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มีการบรรจุกล่อง กระเป๋า มัดรวม หรือบรรจุหีบห่อ และที่มิได้มีการบรรจุแต่มีขนาด ปริมาณ ความกว้าง ความสูง เกินกว่าเป็นสัมภาระติดตัว แต่มิให้หมายความรวมถึงรถเข็นหรืออุปกรณ์สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย เช่น วีลแชร์ ไม้เท้า และ ข้อ 5 การเรียกเก็บค่าบริการอื่นกรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษ ให้เรียกเก็บได้ในกรณี การจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือการจ้างจากสถานที่อื่นไปยัง ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างแจ้งอัตราค่าบริการ ให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าก่อนทำการรับจ้าง
จากประกาศกระทรวงเห็นได้ว่า ไม่ได้เขียนระบุอย่างชัดเจนว่าห้ามเก็บเงินค่าอุปกรณ์สำหรับคนพิการ แต่กิตติพงษ์ยืนยันว่า อุปกรณ์ช่วยเดิน ไม่ว่าจะเป็นวีลแชร์ ไม้เท้า ผู้ขับไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ทางหน่วยงานใช้วิธีประชาสัมพันธ์เสียงตามสายและแจ้งเตือนในไลน์กลุ่ม และกิตติพงษ์ยังกล่าวว่า ผู้โดยสารเองก็ต้องสังเกตดูป้ายประกาศกระทรวงคมนาคม กรมขนส่งทางบก ติดป้ายข้อมูลไว้ให้ที่จุดรอรถแท็กซี่ ซึ่งระบุตัวอักษรเล็กๆ เขียนว่า “ไม่วัดล้อหรืออุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อน”
ส่วนเรื่องบทลงโทษผู้กระทำความผิด หากผู้ขับขี่ไม่มารายงานตัวภายใน 30 วัน จะต้องออกจากการเป็นสมาชิกหน่วยงานรับจ้างสาธารณะท่าอากาศยานดอนเมืองเท่านั้น และทางผู้เสียหายจะไม่ได้รับเงินค่าโดยสารที่จ่ายเกินไป หากผู้กระทำความผิดไม่ยอมมาสอบสวน
อย่างไรก็ดี บทลงโทษดังกล่าวยังมีช่องว่างอยู่มาก ถึงแม้จะถูกตัดสินไม่ให้รับผู้โดยสารจากท่าอากาศยานดอนเมือง แต่แท็กซี่ยังหารายได้จากการรับผู้โดยสารจากที่อื่นๆ ได้อีก และข้อประกาศกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับยังระบุเกี่ยวกับเรื่องอุปกรณ์คนพิการที่มีอยู่นั้นก็ไม่ชัดเจน หากจะร้องเรียนเพื่อให้เกิดบทลงโทษตามกฎหมายจะต้องโทร 1584 ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียนโดยกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น
Livingข่าวคุณภาพชีวิตต่างประเทศคนพิการพิการทางการเคลื่อนไหววีลแชร์ท่าอากาศยานดอนเมืองแท็กซี่ผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการอื่น กรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษ สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน
“ทำไมคนที่ครบ 32 ไม่ทำแบบเขา (คนพิการ) บ้าง ทำสิ่งดีๆ แค่นั้นแหละ” อ่านปาฐกถาคำต่อคำของ ‘นายกรัฐมนตรี’ ในวันคนพิการสากล 2565
“ทำไมคนที่ครบ 32 ไม่ทำแบบเขา (คนพิการ) บ้าง ทำสิ่งดีๆ แค่นั้นแหละ”
อ่านปาฐกถาคำต่อคำของ ‘นายกรัฐมนตรี’ ในวันคนพิการสากล 2565
(2 ธ.ค. 65) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “การปฏิรูปสู่การพัฒนาเพื่อคนทั้งมวล: พลังนวัตกรรมสู่โลกที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม” บนแนวคิด “ยุทธศาสตร์แห่งความเสมอภาค (EQUAL) ” นอกจากนี้ยังได้มอบโล่เกียรติคุณแด่คนพิการต้นแบบแห่งชาติและกล่าวปาฐกถา
โดยในปาฐกถา พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวโดยมีเนื้อหาใจความทั้งหมดว่า “สวัสดีเช้าวันที่สดใส อากาศก็ดีข้างนอก มาข้างในนี้ก็ได้เห็นบรรยากาศอันอบอุ่น ท่ามกลางพวกเราจำนวนมาก มีทั้งคนไทย ทั้งคนต่างประเทศ วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันสำคัญของผมอีกวันหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแลให้มากที่สุด เรื่องที่นายกสภาคนพิการกล่าวไปเมื่อสักครู่ผมก็ได้จดไปแล้ว แล้วจะไปติดตามว่ามันถึงไหนอย่างไรแล้ว
“อย่างที่บอกไปว่าวันนี้มีความสุขความสบายใจ และเป็นเกียรติที่ได้มาเปิดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2565 แล้วก็ขอชื่นชมที่ได้เห็นศักยภาพของคนพิการหลายท่านและหลายกลุ่ม หลายอาชีพ ทั้งในส่วนของตัวเอง ภาครัฐ เอกชนและธุรกิจ สิ่งใดก็ตามที่ทำสำหรับคนเยอะๆ เป็นเรื่องดีเพราะรัฐบาลทำไม่ได้ทั่วถึงหรอก บางทีก็มีกฎระเบียบออกมาเยอะแยะแต่ส่วนสำคัญที่สุดก็คือ ไม่มีใครจะแก้ปัญหาได้โดยลำพัง ทางรัฐบาล เอกชนและธุรกิจ ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ต้องช่วยกันมันถึงจะเดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น ขอขอบคุณทุกคนแล้วก็แสดงให้เห็นว่าพวกเรามีจิตใจที่เข้มแข็ง หลายๆ ท่านคงเห็นแล้วว่าคนพิการสู้ชีวิตจริงๆ วันนี้เป็นวันที่ค่อนข้างดีที่จะ … คือรู้สึกตื้นตัน เพราะโอกาสท่านน้อยกว่าคนอื่นเขา แต่ท่านก็พยายามสู้ชีวิตของท่านมา จนถึงวันนี้ ไม่ใช่จะได้ง่ายๆ มาตั้งแต่พิธีกร แล้วทำไมคนที่ครบ 32 ไม่ทำแบบเขา (คนพิการ) บ้าง ทำสิ่งดีๆแค่นั้นแหละ ผมขอแค่ทำสิ่งที่ดีที่งาม ที่มันถูกต้อง ผมขอแค่นั้นเอง ทุกวันนี้เขาพยายามใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ก็ขอฝากไว้ในส่วนนี้
“หากเรามีจิตใจที่เข้มแข็ง ความพิการก็ไม่ใช่อุปสรรคอะไร อาจจะไม่เหมือนคนอื่น ไม่เท่ากับคนอื่น แต่ถ้าเราดูแลซึ่งกันและกันให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผมคิดว่าเขาอยู่ได้ เราคนปกติก็ควรจะเผื่อแผ่ให้กำลังใจเขา ช่วยเหลือเขาในทุกโอกาสที่เราทำได้ เพื่อที่จะได้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ วันนี้รัฐบาลพยายามสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ให้มุ่งไปสู่สังคม สู่โอกาส หรือสังคมแห่งโอกาสของพวกเราทุกคน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรามีคนตั้ง 70 ล้าน ยอดคนพิการประมาณ 3 ล้านกว่า ซึ่งก็เป็นสัดส่วนที่มากพอสมควร คือก็ไม่อยากให้มีคนพิการ ก็มีหลายอย่างทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งอุบัติเหตุ ซึ่งนับวันก็จะมีอย่างอื่นมาเพิ่มอีก ทั้งเรื่องของสังคมผู้สูงวัย วันนี้คือสิ่งสำคัญสังคมผู้สูงอายุ ทุกคนแข็งแรงขึ้นแล้วก็อยู่นานขึ้น เพราะระบบสุขภาพเราก็ทำได้ดีขึ้น ทำอย่างไรจะทำประโยชน์ให้ตัวเองและประเทศชาติด้วย
“วันนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้มีการปฏิรูประบบการขึ้นทะเบียนคนพิการ ซึ่งเมื่อกี้ก็มีข้อเรียกร้อง 1 ข้อที่อยากให้ทำได้รวดเร็วมากขึ้น และให้ทุกท่านได้รับสวัสดิการ ที่ครอบคลุมและทั่วถึง และเราก็ได้มีการทบทวนแก้ไขระเบียบให้สามารถเข้าถึงทะเบียนได้เร็วได้ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ One stop service ทั้งโรงพยาบาล วันนี้ได้จัดตั้งนำร่องอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง, Application บัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล สามารถขอรับสิทธิ์และสวัสดิการผ่าน Application ได้เสมือนบัตรจริง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาและส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำกว่า 70,000 ราย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของคนพิการกว่า 3,000 ราย ริเริ่มโครงการจัดหาครอบครัวอุปการะคนที่ไม่มีผู้ดูแลเพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้อยู่กับครอบครัว นี่คือสิ่งที่เราเริ่มมาแล้วและจะทำให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ รัฐบาลยังให้สิทธิคนพิการและผู้ดูแลคนพิการรับสัมปทานเพื่อจำหน่ายสินค้าและบริการ รวมกว่า 14,000 ราย สร้างรายได้ให้กับคนพิการ 1,600 ล้านบาทต่อปี
“จากการประชุมเอเปคที่ผ่านมานั้นได้มีการกล่าว รับรองเอกสารเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจ หลายคนคงเข้าใจกันนะ อันนี้เป็นข้อริเริ่มของไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทุกคนทุกส่วนได้เห็นตรงกัน ในการนำพาประเทศไปสู่ความเจริญ แล้วเราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงพวกเราทุกคนในที่นี้ด้วย ที่มีความพิการ ควรได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถ ฉะนั้นในปี 2566 ก็เป็นปีสำคัญ ที่เราจะต้องขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ สานต่อขยายผลโครงการต่างๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และขับเคลื่อนงานให้สอดคล้องกับปฏิญญาว่าด้วยทศวรรษคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก 2566 ถึง 2575 เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างทั่วถึง
“ปีนี้รัฐบาลจะมีการประกาศแผนงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ปี 2566 ถึงปี 2570 เน้นการมีส่วนร่วมและการบูรณาการเข้าถึงอย่างเต็มที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้บนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมความเสมอภาคอย่างเป็นธรรม แล้วก็เข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
“โอกาสนี้ขอแสดงความยินดีกับคนพิการต้นแบบ แล้วก็หน่วยงานที่ได้รับรางวัล ในการสนับสนุนคนพิการ ประจำปี 2565 ที่ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการได้เข้าถึง สิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเสมอภาค และเท่าเทียม ขอขอบคุณสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรภาครัฐและเอกชน องค์กรด้านคนพิการ จนผู้มีเกียรติทุกท่าน ขอบคุณท่านผู้แทนสหประชาชาติ
“เราจะทำให้ดีขึ้น ดีขึ้น วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ อาทิตย์หน้าต้องดีกว่าอาทิตย์นี้ ปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้ นั่นคือสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำงานตรงนี้ ด้วยความร่วมมือของรัฐบาล เราทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติ นั่นคือหลักการของรัฐบาลเรา ไม่ได้มุ่งหวังอะไรทั้งสิ้น ยินดีที่ได้เห็นรอยยิ้มของทุกๆ ท่านที่ขึ้นมาบนเวทีนี้ ผมถึงสะท้อนใจว่า ถ้าคนปกติไม่ทำอะไรเลย ผมว่าใช้ไม่ได้ เขายังมีกำลังใจที่จะทำนู่นทำนี่ หาอาชีพทำ เป็นข้าราชการ บางคนก็ทำงานบริษัทต่างๆ ขอชื่นชมด้วยใจจริง ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคอะไรทั้งสิ้น
“ขอบคุณบรรดาผู้ประกอบการร้านค้า อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้ดูแลและช่วยเหลือรัฐบาลในการดูแล คนเหล่านี้ การทำเพื่อคนอื่น ทำให้คนมีความสุขมีความอยู่ดีกินดี สิ่งที่ท่านได้ก็คือกุศล วันนี้เรามีคำว่าบุญและกุศล บุญก็ทำกับศาสนาไป ทำพระกับวัดก็ว่าไป นี่คือกุศลทำให้คนในวันนี้เขาอยู่ได้ นี่คือกุศลของท่าน ขอให้ท่านได้รับสิ่งต่างๆ ก็คือความสุข ความภาคภูมิใจ สุขภาพแข็งแรง มีความสุขสวัสดี มีการเจริญเติบโตในธุรกิจของท่าน นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอกพวกเรา เพราะผมก็ตั้งใจแบบพวกเขาเหมือนกัน ทำกุศลให้คนอื่น เราจะได้ไปด้วยกันได้แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ก็ขอฝากไว้ด้วยแล้วกัน”
ที่มา : https://fb.watch/hg3zb3iOCn/
ที่มาภาพ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
Socialข่าวคุณภาพชีวิตการเมืองวันคนพิการสากลนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา