Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม  หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดโปรแกรม “Wonder Women เมื่อผู้หญิงทำหนัง” จัดฉายผลงานภาพยนตร์ไทย 14 เรื่องที่กำกับโดยผู้กำกับหญิงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งภาพยนตร์ต่างประเทศ Wonder Woman หนังซูเปอร์ฮีโร่ ผลงานของผู้กำกับหญิงชาวอเมริกัน แพตตี้ เจนกินส์ ใน ตลอดเดือนมีนาคม 2562 ที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ติดตามรายละเอียดโปรแกรมได้ที่ www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage

โปรแกรมฉายภาพยนตร์ ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา

1 มีนาคม เวลา 17.30 น. อาปัติ (2558) / กำกับโดย ขนิษฐา ขวัญอยู่

6 มีนาคม เวลา 17.30 น. รักนิรันดร์ (2513) / กำกับโดย ภรณี สุวรรณทัต

8 มีนาคม เวลา 17.30 น. Wonder Woman (2560) / กำกับโดย Patty Jenkins

12 มีนาคม เวลา 17.30 น. Yes or No อยากรัก ก็รักเลย (2553) / กำกับโดย สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร

14 มีนาคม เวลา 17.30 น. เด็กโต๋ (2548) / กำกับโดย อารียา สิริโสภา, นิสา คงศรี

16 มีนาคม เวลา 15.00 น. Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย (2561) / กำกับโดย บงกช เบญจรงคกุล

20 มีนาคม เวลา 17.30 น. ภุมรีสีทอง (2531) / กำกับโดย นันทนา วีระชน

22 มีนาคม เวลา 17.30 น.ปีนเกลียว (2537) / กำกับโดย อรนุช ลาดพันนา

23 มีนาคม

เวลา 13.00 น. LOVESUCKS เลิฟซัค (2558) / กำกับโดย มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล

เวลา 15.00 น. สาวคาราโอเกะ (2556) ฉายระบบฟิล์ม 35 มม. / กำกับโดย วิศรา วิจิตรวาทการ

28 มีนาคม เวลา 17.30 น. รักริษยา (2522)  ฉายระบบฟิล์ม 35 มม. / กำกับโดย ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์

29 มีนาคม เวลา 17.30 น.ข้าวเหนียวหมูปิ้ง (2549) / กำกับโดย ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ

31 มีนาคม

เวลา 13.00 น. มหาสมุทรและสุสาน (2558) / กำกับโดย พิมพกา โตวิระ

เวลา 15.00 น. ดาวคะนอง (2559) / กำกับโดย อโนชา สุวิชากรพงศ์

 

ผู้หญิงทำหนังในวงการภาพยนตร์ไทย

ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่ยาวนานมากว่า 120 ปีนั้น ผู้ชายได้ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่มาตลอด โดยเฉพาะในตำแหน่งสำคัญที่สุดอย่าง “ผู้กำกับ” แต่หากขุดค้นให้ลึกลงไป ผู้หญิงเองมีบทบาทในการทำหนังมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกเช่นกัน ตัวอย่างเช่น อลิซี กีย์ บลาเช (Alice Guy-Blaché) คนทำหนังฝรั่งเศสที่น่าจะเป็นหนึ่งใน “ผู้กำกับภาพยนตร์หญิง” คนแรกของโลก ผลิตผลงานระหว่าง ค.ศ. 1896 – 1906 ซึ่งเป็นทศวรรษแรกของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก หลังจากภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1895

ในวงการภาพยนตร์ไทย มีหลักฐานแสดงว่าผู้หญิงทำหนังคนแรกอาจจะเป็นนางซ่วน ภรรยาของหลวงสุนทรอัศวราช ผู้สร้าง ไม่คิดเลย ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ประกาศสร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2469 (แต่สุดท้ายได้ออกฉายเป็นเรื่องที่ 3 ในปีถัดมา) ตามที่หลวงสุนทรฯ ได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “เมียผมเขาจัดการทั้งหมด” (แม้กระทั่งการตัดต่อ) แต่ในประวัติศาสตร์หนังไทยอันพร่าเลือนและขาดวิ่น รวมทั้งมีเบื้องหลังอันสลับซับซ้อนนั้น คงยากที่จะระบุว่าใครคือผู้กำกับหญิงคนแรกอย่างแท้จริง หากแต่เมื่อสืบค้นจากข้อมูลที่หลงเหลืออยู่ ชื่อที่ปรากฏในเครดิตผู้กำกับชื่อแรก ๆ ได้แก่ ประเทือง ศรีสุพรรณ ช่างถ่ายภาพยนตร์หญิงคนแรกไทย  ผู้มีชื่อกำกับเรื่อง ทาษรัก (2496 – ร่วมกับ รังสี ทัศนพยัคฆ์) และ สุดที่รัก (2498) ลัดดา สารตายน ครูละครผู้มีบทบาทสำคัญช่วงละครเวทีที่เฟื่องฟูระหว่างสงคราม มีผลงานกำกับเรื่อง ไฟชีวิต (2499) และ ขบวนการเสรีจีน (2501) ในขณะที่ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ นางเอกชื่อดัง มีชื่อเป็นผู้กำกับใน ชะอำอำพราง (2498) และที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งก็คือ หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา พระชายาของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ผู้มีชื่อในฐานะผู้กำกับหลายเรื่องของละโว้ภาพยนตร์ เช่น ปักธงไชย (2500)  เชลยศักดิ์ (2501) ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าผู้กำกับหญิงเริ่มมีบทบาทในวงการภาพยนตร์ไทยมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ บทบาทผู้กำกับหญิงในวงการหนังไทยยังคงถูกจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะในยุคทองของหนัง 16 มม. ก่อนจะค่อย ๆ มีชื่อของพวกเธอปรากฏเพิ่มขึ้น เมื่ออุตสาหกรรมไทยกลับมาสู่ยุค 35 มม. ราว พ.ศ. 2515 เช่น ภรณี สุวรรณทัต ผู้จบด้านภาพยนตร์มาจากต่างประเทศ และได้กำกับ รักนิรันดร์ (2513), ลมรักทะเลใต้ (2514) เตะฝุ่น (2516) ฯลฯ อัมพร ประทีปเสน อดีตนางเอกนักบู๊ภูธร แม่ของ ม.ล. สุรีวัลย์ สุริยง ผู้กำกับ น้ำใจพ่อค้า (2514) สุรีรัตน์ล่องหน (2524) ฯลฯ  สรวงสุดา ชลลัมพี ผู้จัดละครชื่อดัง ซึ่งเคยกำกับ ดั่งเม็ดทราย (2528) พิศวาส (2530) เราสอง (2531) นันทนา วีระชน นักเขียนดังผู้คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก ภุมรีสีทอง (2530) , อรนุช ลาดพันนา น้องสาวของพันนา ฤทธิไกร ซึ่งกำกับหนังบู๊ชุด ปีนเกลียว (2536-2540) รวมทั้งนักแสดงหญิงชื่อดัง เช่น ภัทราวดี มีชูธน ผู้กำกับ รักริษยา (2522)  ชูศรี มีสมมนต์ ผู้กำกับ เมียสั่งทางไปรษณีย์ (2523) สะใภ้ตีนแดง (2525) เป็นต้น

แต่กว่าที่ผู้กำกับหญิงจะมีบทบาทในวงการหนังไทยอย่างจริงจังนั้น  อาจต้องนับตั้งแต่เริ่มมีการเปิดพื้นที่ให้แก่หนังอิสระ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีความยืดหยุ่นให้กับคนทำหนังหน้าใหม่ด้วยสาเหตุของเทคโนโลยีและโอกาสในการหาทุน ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีผู้หญิงทำหนังอิสระหลายคนที่โดดเด่นและมีทิศทางเป็นของตนเองอย่างชัดเจน เช่น สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์, หม่อมหลวงมิ่งมงคล โสณกุล, อารียา สิริโสภา, พิมพกา โตวิระ, อโนชา สุวิชากรพงศ์ ฯลฯ ในขณะเดียวที่ภาพยนตร์กระแสหลักเองก็เริ่มมีผู้กำกับหญิงเกิดขึ้นอย่างมากมาย และมีเนื้อหาที่หลากหลาย ทั้ง หนังรัก (เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (2547) –ผอูน จันทรศิริ) หนังเด็ก (อาข่าผู้น่ารัก (2546) -สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์, ข้าวเหนียวหมูปิ้ง (2549)- ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ)  หนังผี (อาปัติ (2558) –ขนิษฐา ขวัญอยู่) หนังประเด็นสิทธิทางเพศ (Yes or No อยากรัก ก็รักเลย (2553) - สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนักแสดงซึ่งผันตัวมาเป็นผู้กำกับและได้รับความสนใจจากแฟน ๆ ไม่น้อย นั่นคือ มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล  และ บงกช เบญจรงคกุล รวมไปถึง ในแวดวงหนังสั้นก็ยังมีผู้กำกับรุ่นใหม่อีกมากมายที่มีแววจะเติบโตขึ้นสู่หนังใหญ่  จึงอาจกล่าวได้ว่า กำแพงระหว่างเพศในวงการหนังไทยที่เคยมีมานั้นกำลังค่อย ๆ ถูกทลายลงไป

ถึงแม้ว่าเพศของผู้กำกับจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคุณภาพของภาพยนตร์ และการแบ่งชาย-หญิงอาจจะเป็นจารีตที่กำลังถูกท้าทายในสภาวะแห่งความลื่นไหลของโลกยุคใหม่ แต่กระแสเรียกร้องให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้กำกับที่ไม่ใช่ผู้ชายได้มีพื้นที่ในการแสดงออก ได้เล่าเรื่องและใช้ศิลปะภาพยนตร์เพื่อสื่อสารความรู้สึกและความคิด กำลังส่งเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net