Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ -27 ส.ค.47 ภาคประชาชนสรุปข้อเรียกร้องแก้ไขปัญหาเขื่อนที่สร้าง-ยังไม่ได้สร้าง เสนอตัวแทนรัฐบาลพรุ่งนี้ ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านชี้รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาเดิมที่คั่งค้างก่อนสร้างปัญหาใหม่

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาประชาชนจัดเวทีสัมมนา "เขื่อนกับสิทธิชุมชน" เพื่อเป็นเวทีให้ชาวบ้านได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมองและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งนำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยอ้างอิงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก เพื่อแก้ปัญหาจากเขื่อนที่สร้างแล้วและยังไม่ได้สร้าง

โดยแม่ไฮ ขันจันทา จากเขื่อนห้วยละห้า กล่าวเปิดงานว่า ตนเดินมาจนเหนื่อยแล้ว ไปทุกองค์กร ได้เข้าร่วมกับสมัชชาคนจนร่วมกันคิด ร่วมกันต่อสู้ ไปไหนก็ไป เคยไปหาทั้งรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น โดยหลังจากการสรุปบทเรียนการต่อสู้ของพ่อครัวสมัชชาคนจน ในเดือนเมษายน 2547 ที่ผ่านมา จึงได้กลับมาคิดว่า คัดค้าน มีตำรวจลงมา แต่ที่ที่เสียไปเป็นที่ดินของพ่อแม่ เป็นที่อยู่ที่กินจึงต้องสู้เพื่อเอาคืน

"สิทธิคือ สิทธิ ความจริงคือความจริง ศีลธรรมอยู่กับเรา คนจนไม่ได้จนแต่เกิดแต่น้ำท่วมที่ถูกทำให้จน เพราะรัฐบาลไม่เคยมองชาวนาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีแต่ทับถม เขื่อนอื่นๆ ที่เคยได้ทุกข์ยากลำบากมาด้วยกัน นอนดินกินข้างหุงด้วยกันมาขอให้พร้อมใจกัน ให้คิดร่วมกัน ออกแรงช่วยกัน" แม่ไฮ กล่าว

นายบุญไล สวัสดี จากเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ตัวแทนกรณีเขื่อนที่สร้างแล้ว กล่าวว่าเขื่อนลำตะคองมีการเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2540 เนื่องจากชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคปอด ต้อตา โรคผิวหนัง จนทำให้มีคนล้มตายไปมาก ในปี2543 ได้คณะกรรมการฯ มา 1 ชุดแต่ก็ยังไม่เกิดผลใดๆ ยังไม่ความช่วยเหลือในเรื่องนี้

นอกจากนี้คนในชุมชนต้องออกไปทำงานข้างนอกเพราะสูญสียที่ดิน ไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ จากที่การกรองหญ้าขายเคยเป็นอาชีพเสริมต้องกลายมาเป็นอาชีพหลักมีรายได้ 50-60 บาท/วัน สิ่งแวดล้อมถูกทำลายเพราะสารเคมีที่ใช้ระเบิดก็ยังตกค้างอยู่ในดิน

นายบุญไล กล่าวต่อว่าสิ่งที่เรียกร้องตอนนี้คือต้องการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และรัฐบาลหันกลับมาดูแลความเจ็บป่วยของชาวบ้าน รวมทั้งการฟื้นฟูอาชีพโดยด่วน เพราะโครงการเพาะเห็ดฟางและโครงการเลี้ยงไก่ก็ไปไม่รอด หายไปหมดแล้ว รวมทั้งที่ดินที่เคยบอกว่าจะคืนให้ชาวบ้านครอบครัวละ 5 ไร่ ปัจจุบันคืนให้เพียงครอบครัวละ 3 ไร่ 2 งานแล้วยังมีการระบุว่าชาวบ้านต้องปฏิบัติตามโดยก็ยังไม่รู้เลยว่าคืออะไร

"อยากเรียกร้องความเป็นธรรมจากผลที่รัฐบาลได้กระทำ ต้องรับผิดชอบและฟื้นฟู คนที่ตายไปแล้วญาติพี่น้องก็ควรได้รับการชดเชย ซึ่งควรมีการจัดการให้สำเร็จก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่นต่อไป" นายบุญไล กล่าว

นายสุจิต ชัยบุญ จากโครงการเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ ตัวแทนกรณีเขื่อนที่ยังไม่สร้าง กล่าวว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนเป็นพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารของชาวบ้าน เช่น เห็ด หน่อไม้ อึ่งอ่าง ผักหวาน เป็นต้น ชาวบ้านจึงต่อสู้คัดค้านมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะมีมติครม.ชะลอโครงการตั้งแต่ปี 2540 แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ไว้วางใจเพราะแกนนำถูกยิงตายไป 1 คนแล้วและเมื่อชาวบ้านหยุดก็จะมีการมาดำเนินการต่อ ดังนั้นชาวบ้านจึงได้ย้ายลงมาอาศัยอยู่บริเวณก้นอ่างเพื่อไม่ให้มาสร้างเขื่อน

"เขาบอกว่าเป็นเขื่อนขนาดเล็กแต่เขื่อนเล็กหรือใหญ่ก็มีผลกระทบเหมือนกัน และที่เขาบอกว่าจะหาที่ดินให้แต่เขื่อนที่สร้างไปแล้วเขาก็ยังหาที่ดินให้ไม่ได้เลย ถ้าจะมาสร้างเขื่อนเพิ่มอีกก็ต้องให้เขาก็ปัญหาเขื่อนสร้างแล้วให้ได้ก่อน" นายสุจิต กล่าว

โดยหลังจากวงเสวนาวันนี้จะมีการรวบรวมเป็นข้อเสนอต่อตัวแทนรองนายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 ส.คนี้

รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net