Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้-29 ส.ค. นายเอกชัย ขาวสู่ เลขานุการบริหารส่วนตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เปิดเผย "ประชาไทยออนไลน์" ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวระหว่างเดินทางมาตรวจราชการ ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2547 ที่ผ่านมาว่า ระหว่างปี 2549 - 2550 นี้ รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการโครงการพัฒนาศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค หรือโครงการแลนด์บริดจ์ทับละมุ - สิชล และโครงการก่อสร้างเขื่อนลำรู่ใหญ่ เพื่อนำน้ำมาใช้ในโครงการแลนบริดจ์

นายเอกชัย เปิดเผยว่า เขื่อนลำรู่ใหญ่มีขนาดความจุน้ำ 1,250 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างกั้นคลองวังเคียงคู่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีชาวบ้านเข้าไปอยู่และทำกิน 21 ราย ในจำนวนนี้มี 7 ราย ที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อน ส่วนที่เหลือแค่เข้ามาใช้ที่ดินทำกิน เช่น ทำสวนยาง เมื่อเร็วๆ นี้ กรมชลประทานได้แต่งตั้งชาวบ้านกลุ่มนี้เข้ามาเป็นคณะกรรมการผู้ใช้น้ำในการเกษตรกรรม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้แล้ว

สำหรับ ป่าผืนดังกล่าว ยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกลำรู่ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ผ่านกิจกรรมล่องแก่ง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณวันละ 200 - 300 คน นอกจากนี้ ยังเป็นป่าที่มีกล้วยไม้ป่าที่หายากอยู่หลายชนิดด้วย

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายวิชาการและนโยบาย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า เมื่อดูตามปริมาตรความจุแล้ว เขื่อนลำรู่ น่าจะมีความสูงไม่ต่ำกว่า 60 - 70 เมตร น้ำจะท่วมพื้นที่ประมาณ 30,000-40,000 ไร่ จัดเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องทำรายการการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เต็มรูปแบบ

"ท้ายประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิงแวดล้อม กำหนดให้การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่มีความจุเกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่น้ำท่วมเกิน 10,000 ไร่ ต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการโครงการสร้างเขื่อนจะใช้เวลามาก เพราะต้องดูข้อมูลผลกระทบอย่างละเอียด ถ้าผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จากนั้นนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามลำดับ" นายหาญณรงค์ กล่าว

นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ภาครัฐจะอ้างความจำเป็นเรื่องการใช้น้ำ โดยอ้างความเห็นของคณะกรรม การผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร ที่กรมชลประทานแต่งตั้งขึ้น สุดท้ายชาวบ้านจะตกเป็นเครื่องมือของรัฐ นำไปสร้างความชอบธรรมในการสร้างเขื่อน โดยลืมมองผลกระทบที่อาจเกิดกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน

รายงานโดย : มูฮำหมัด ดือราแม
ศูนย์ข่าวภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net